Sunday, 19 May 2024
แผ่นดินเกิด

อินเดีย อินดี้! ยี้แผ่นดินเกิด เกิดภาวะสมองไหล แห่หนี ‘ขุดทอง’ ต่างประเทศ

ทำไมอินเดียจึงกลายเป็นชาติที่พลเมืองสมองไหลมากที่สุดในโลก?

เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2021 ที่ผ่านมาหลังจากที่ แจ็ค ดอร์ซีย์ ผู้ก่อตั้ง Twitter ประกาศลาออกจากตำแหน่ง CEO และได้มีการแต่งตั้ง ปราค อัครวาล วิศวกรไอที เชื้อสายอินเดียแท้ๆ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของ Twitter แทน สร้างความฮือฮาให้ความชาวอินเดียทั่วประเทศเป็นอย่างมาก ที่ต่างก็ภูมิใจที่ได้เห็นคนที่เกิด เติบโต และเรียนจบจากสถาบันในอินเดีย สามารถก้าวขึ้นไปถึงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของ Twitter สื่อโซเชียลแถวหน้าที่สร้างกระแสอิทธิพลในโลกได้ 

และไม่ใช่แค่เฉพาะ ปราค อัครวาล คนเดียวที่ทำได้ ยังมีชาวอินเดียอีกหลายคนที่ประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ อาทิ สัตยา นาเดลลา CEO ของบริษัท Microsoft, อาร์วิน คริชนา ที่เคยก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของ IBM หรือ อาเจย์ บันกา รับตำแหน่ง CEO ให้กับ Mastercard 

นอกเหนือจากแวดวงธุรกิจ ไอที ยังมีชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยที่ได้รับบทบาทสำคัญทางการเมืองในประเทศมหาอำนาจ ยกตัวอย่างเช่น ฮาร์จิต ซิงค์ ซัจจาน นักการเมืองอินเดีย-ซิกข์ จากแคว้นปัญจาบ สามารถก้าวขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหมของแคนาดา หรือแม้แต่ กมลา แฮริส รองประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน ลูกครึ่งจาไมก้า-อินเดีย ที่มีคุณแม่เป็นชาวอินเดียแท้ๆ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ และทำงานวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในสหรัฐอเมริกา 

ถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างชัดเจนถึงศักยภาพของชาวอินเดีย ที่เป็นที่ยอมรับจากคนทั่วโลก แต่ก็สะท้อนปัญหาอีกด้านหนึ่งที่รัฐบาลอินเดียจะมองข้ามไปไม่ได้ก็คือปัญหา "สมองไหล" 

หากพิจารณาว่ามีพลเมืองชาติใดบ้างที่นิยมโยกย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกราก ทำงานในต่างประเทศ หลายคนอาจนึกถึงจีน หรือ ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศแรกๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว อินเดียคือประเทศที่มีพลเมืองย้ายถิ่นฐานไปต่างประเทศมากที่สุดในโลก

จากข้อมูลของ UN World Migration Report พบว่า เฉพาะในปี 2020 ปีเดียว มีชาวอินเดียย้ายถิ่นฐานไปต่างประเทศมากกว่า 17.3 ล้านคน และในจำนวนนี้ มีคนระดับอภิมหาเศรษฐี ที่มีอยู่เพียง 2% ของประชากรอินเดีย ตัดสินใจโยกทุน ย้ายถิ่นไปประเทศอื่นมากถึง 5,000 คนในปีเดียวกัน 

และบางครั้งก็ไม่ได้แค่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ อาศัยทำงานในต่างแดนเท่านั้น บางคนถึงกับสละสัญชาติอินเดียไปเลยก็มีไม่น้อย ทางรัฐบาลอินเดียได้เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมามีชาวอินเดียมากถึง 6 แสนคน ทิ้งสัญชาติไปเป็นชาวต่างชาติโดยสมบูรณ์ เท่ากับว่า อินเดียก็จะสูญเสียทรัพยากรบุคคลเหล่านี้ไปอย่างถาวร

จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมอินเดียจึงเกิดปัญหา “สมองไหล” อย่างมากมาย นับเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลอันมีค่าของอินเดียให้กับชาติอื่น แทนที่พวกเขาจะอยู่ทำงาน ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอินเดียในอนาคต

ซึ่งปัญหานี้เกิดจากหลายสาเหตุ และเหตุผลหลักอันดับแรก หนีไม่พ้นค่าจ้างแรงงานในตลาดต่างประเทศที่สูงกว่าอยู่ทำงานในอินเดียมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์ และ ไอที เทคโนโลยี เป็นสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการอย่างมากทั่วโลก ที่ชาติชั้นนำในยุโรปต่างยินดีที่จะเสนอเงื่อนไขการย้ายถิ่นฐานให้กับผู้เชี่ยวชาญในสาขาเหล่านี้ 

แต่นอกจากเรื่องค่าแรงที่เย้ายวนแล้ว ก็ยังมีเหตุผลด้านความล้ำหน้าด้านศาสตร์เทคโนโลยีขั้นสูงของชาติมหาอำนาจตะวันตก ที่ทำให้นักศึกษาอินเดียจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะเดินทางไปต่อยอดความรู้เพิ่มเติม ซึ่งกลายเป็นช่องทางที่สถาบันชาติตะวันตกใช้ดึงนักศึกษาระดับหัวกะทิจากอินเดีย ผ่านโครงการทุนการศึกษาและสวัสดิการ มารองรับนักศึกษาที่มีผลการเรียนไปเลิศไปศึกษาต่อ และมักจะได้สิทธิ์อยู่ต่อ ทำงาน และย้ายถิ่นฐานต่อได้อย่างเป็นระบบ 

ส่วนนักธุรกิจชั้นนำในอินเดียก็มองว่า การย้ายถิ่นฐานเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยขยายฐานธุรกิจของตนให้ก้าวขึ้นไปสู่ระดับสากล เป็นการต่อยอดจากตลาดในอินเดียได้เป็นอย่างดี 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top