Saturday, 4 May 2024
แก้หนี้

'สนธิรัตน์' ผุด 'สารคามโมเดล' ผลักดันเศรษฐกิจฐานราก “แก้หนี้ เพิ่มทุน สร้างรายได้เพิ่ม”

'สนธิรัตน์' ลั่น พร้อมผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการชุมชน-ผลักดันเศรษฐกิจฐานราก แก้หนี้ เพิ่มทุน สร้างรายได้เพิ่ม ดัน สภาองค์กรชุมชน-องค์กรสวัสดิการชุมชน เป็นหัวหอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ชม คนสารคามมีศักยภาพ พร้อมนำร่องเป็นสารคามโมเดล มั่นใจ ยกระดับคุณภาพชีวิตฐานรากอยู่ดี กินดี

วันที่ (26 ส.ค. 2565) ที่โรงแรมพิมานอินน์ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) พร้อมด้วยนายสุพล ฟองงาม รองหัวหน้าพรรค และประธานภาคอีสาน นายบุญส่ง ชเลธร รองเลขาธิการพรรค นางทิพย์พาพร ตันติสุนทร กรรมการบริหารพรรค นายสุทธิชัย จรูญเนตร รองประธานภาคอีสาน และว่าที่ผู้แสดงเจตจำนงเป็นผู้สมัคร สส. ภาคอีสาน จากจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร อุดรธานี และมหาสารคาม ร่วมพบปะแกนนำจากสภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน วิสาหกิจชุมชน ในระดับอำเภอ จำนวนกว่า 150 คน ในเวทีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพื่ออนาคตไทย 

โดยนายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ตนมาในฐานะคนที่ทำเรื่องเศรษฐกิจฐานรากมาก่อน ภายใต้ปรัชญาใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ที่ผ่านมาไม่เคยทิ้งเรื่องเศรษฐกิจฐานรากไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหน ถือเป็นหัวใจการทำงานหลักของตน ซึ่งมองว่าที่ผ่านมาการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ของกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ สิ่งที่กลุ่มทำถือเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่มาก ซึ่งความเข้มแข็งของชุมชนเกิดจากคนในชุมชนพึ่งพาตนเอง ขณะที่องค์กรสวัสดิการชุมชนที่ผ่านมาช่วยตัวเองอย่างเดียว เคยมีการร้องขอให้ออกพ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการชุมชนมา 16 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า 

“อย่ามองว่าผมเป็นนักการเมือง เพราะตัวพรรคการเมืองเองจะไม่มีความหมาย หากไม่จับมือทำงานกับพี่น้องประชาชนจริง ๆ ผมตั้งใจมาหาวิธีทำงานร่วมกับท่าน ขอมาทำงานร่วมกัน มารับฟังว่าพี่น้องประชาชนอยากได้อะไรจริง ๆ เช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมระบบสวัสดิการชุมชน ถ้าหากอยากได้จริง ผม และพรรคสร้างอนาคตไทย พร้อมที่จะขับเคลื่อนไปกับพวกท่าน โดยผมจะเสนอเป็นหนึ่งในนโยบายพรรค เพื่อทำให้พ.ร.บ.นี้เกิดขึ้นได้จริง”

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ตนมา จ.มหาสารคาม เพราะประชาชนที่นี่เข้มแข็งมาก ดังนั้นเราต้องเริ่มจากจุดที่เข้มแข็ง สร้างให้เป็นโมเดลเพื่อขยายไปสู่จังหวัดอื่น ๆ แม้ว่าจะทำได้ไม่ทั้งหมดในช่วงเวลานี้ แต่หลังจากที่ขับเคลื่อนจนได้พ.ร.บ.แล้ว ตนมั่นใจว่า จะสามารถจะผลักดันให้เกิดขึ้นทั่วประเทศได้ ตนเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะใช้สารคามโมเดลเป็นตัวตั้งของกองทุนสวัสดิการชุมชน 

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจฐานราก ถือเป็นหนึ่งในนโยบาย 5 สร้างของพรรค ความเข้มแข็งชุมชนคือหัวใจสำคัญของประเทศ การสร้างเศรษฐกิจฐานรากของพรรค จะทำควบคู่กับไปใน 3 ด้าน คือการแก้หนี้ เพิ่มทุน สร้างรายได้เพิ่ม ภายใต้แนวคิดขับเคลื่อนกลุ่มที่มีศักยภาพ 10-50 คน โดยขณะนี้ได้เริ่มนำร่องแล้วในพื้นที่ จ.มหาสารคาม ในกลุ่มเกษตรกรปลูกข้าว ซึ่งประสบปัญหาในเรื่องราคาตกต่ำ โดยเข้าไปช่วยในการลดต้นทุนการผลิต และผลักดันราคาขายให้มากกว่าท้องตลาด 0.50 สตางค์ – 1 บาทต่อกิโลกรัม โดยร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์ (ธกส.) กลุ่มรถเกี่ยวข้าวในพื้นที่ ซึ่งในช่วงบ่ายวันนี้ ตนจะเข้าไปพูดคุยกับกลุ่มชาวนาที่ได้นำร่องไว้ และจะขยายโครงการนี้ไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ในประเทศต่อไป 

รัฐผนึก 'SME D Bank - SAM' แก้หนี้ SME หวังฟื้นการจ้างงาน - เศรษฐกิจขยายตัว

เมื่อวันที่ (29 ส.ค. 65) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่นโยบายรัฐบาลมุ่งส่งเสริมและดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสภาพคล่อง และที่มีปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ (NPLs) ให้ฟื้นกลับมาเดินหน้าทางธุรกิจต่อได้ ทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank และ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางธุรกิจในรูปแบบหน่วยงานรัฐกับหน่วยงานรัฐ (G To G) เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มหนี้ด้อยคุณภาพ ให้สามารถกลับมาพลิกฟื้น อยู่รอด และเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าว ถือเป็นเป็นครั้งแรกของภาครัฐที่ร่วมบูรณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นหนี้อย่างยาวนาน โดยจะนำร่องช่วยกลุ่มหนี้ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกันที่เกิดขึ้นก่อนปี 2558 เงินต้นรวม ประมาณ 8,000 ล้านบาท และเมื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านกระบวนการแก้ปัญหาต่าง ๆ จาก บสส. แล้ว ทาง ธพว. พร้อมต่อยอดผ่านกระบวนการด้านการเงิน และการพัฒนา ในโครงการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ลดวงเงินผ่อนชำระเหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ และเติมทุนใหม่เสริมสภาพคล่อง นำไปใช้บริหารจัดการธุรกิจ ซื้อวัตถุดิบ เพิ่มกำลังการผลิต หรือสร้างมาตรฐาน

นายกฯ แจ้งข่าวดี แก้หนี้ครัวเรือนคืบหน้า ช่วยกลุ่มเปราะบางได้รับความเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า...

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ ผมมีข่าวดี ที่เป็นความคืบหน้า สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลได้ประกาศให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” โดยล่าสุดก็ได้มีการกำหนดให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ คิดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) แบบ "ลดต้น ลดดอก" ซึ่งจะต้องคิดดอกเบี้ยจาก "เงินต้นคงเหลือ" ในแต่ละงวด ไม่ใช่คิดดอกเบี้ยแบบ "เงินต้นคงที่" (Flat rate) แบบเดิม ที่ทำให้ลูกค้า/ผู้ที่เช่าซื้อเสียเปรียบบริษัทเช่าซื้อ หรือลีสซิ่ง

นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อใหม่ ได้แก่ (1) รถยนต์ใหม่ : คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 10% ต่อปี (2) รถยนต์ใช้แล้ว : คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี (3) รถจักรยานยนต์ : คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 23% ต่อปี และสำหรับผู้ที่สามารถปิดบัญชีได้ก่อน ก็จะต้องให้ "ส่วนลด" กับผู้เช่าซื้อด้วย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน ภายหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว (หรือวันที่ 11 มกราคม 2566) ครับ

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและพยายามช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง มีหนี้สินติดตัว ให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น เช่น ผลักดันให้การเปลี่ยน "ฐานคำนวณดอกเบี้ย" จากเดิมที่คิดดอกเบี้ยจากยอด "เงินต้นคงค้างทั้งหมด" มาเป็นการคิดดอกเบี้ยจาก "เงินต้นเฉพาะเดือนที่ผิดนัดชำระ" เท่านั้น หลักการนี้ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การคิดดอกเบี้ยในประเทศไทย เป็นการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชนที่เป็นหนี้ ขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะบรรดาเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา มนุษย์เงินเดือน คนหาเช้ากินค่ำ ที่มีความจำเป็นจะต้องกู้หนี้ยืมสิน เพื่อมาใช้ดำรงชีวิต และเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ ตลอดจนกลุ่มลูกหนี้นอกระบบ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ให้ชำระดอกเบี้ยลดลงอีกด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัด "มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้" เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขหนี้ครัวเรือนให้ประชาชน เราได้เดินสายไปทุกจังหวัด ทั่วประเทศ สามารถลดปัญหาหนี้สินประชาชนได้ กว่า 200,000 ราย มูลหนี้มากกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชน-ลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการเก็บตกและต่อยอด จึงจัดให้มี "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้" เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ที่รายได้ยังไม่กลับมาเต็มที่ และอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งภายหลังจากดำเนินการมาได้ 2 สัปดาห์ ณ 14 ตุลาคม 2565 มีคำขอแก้หนี้เข้ามาแล้ว 158,539 รายการ จากลูกหนี้ 62,595 ราย เฉลี่ยคนละ 2-3 รายการ ส่วนใหญ่เป็นบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น

แก้หนี้กันเถอะ!กับ "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้" | NEWS GEN TIMES EP.75

แก้หนี้กันเถอะ!กับ 'มหกรรมร่วมใจแก้หนี้'

ครั้งที่ 1 ผ่านไปแล้วเหลืออีก 4 ครั้ง ใครมีปัญหาหนี้สินรีบไปงานนี้ด่วน

.

NEWS GEN TIMES ชวนคิด กับ กิตติธัช

.

โดย อ.ต้อม - กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระและอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง .

‘รัฐบาล’ โชว์ผล ‘แก้หนี้ครัวเรือน’ ดีขึ้นต่อเนื่อง ยัน!! เดินหน้าต่อ เพื่อเคลื่อน ศก.ไทยในภาพรวม

(19 ธ.ค. 65) นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินการ ‘ปี 2565 ปีแห่งการแก้หนี้’ ภายใต้นโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ให้ทุกส่วนราชการ สถาบันการเงินภาครัฐและเอกชน ร่วมแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ได้อย่างจริงจังนั้น ทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 2 ปี 2565 เหลือ 88.2% ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ 89.1% และไตรมาส 4 ปี 2564 ที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงถึง 90% 

โดยหนี้ครัวเรือน 4 อันดับแรก ได้แก่

1. เงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 34.6 ของหนี้ครัวเรือนรวม 
2. เงินกู้เพื่อการบริโภคอุปโภคส่วนบุคคลสัดส่วนร้อยละ 28.0 ของหนี้ครัวเรือนรวม 
3. เงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจ สัดส่วนร้อยละ 18.2 ของหนี้ครัวเรือนรวม 
และ 4. เงินกู้เพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ สัดส่วนร้อยละ 12.3 ของหนี้ครัวเรือนรวม

นายธนกร กล่าวว่า รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนผ่านมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ 

1. การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยปฏิรูปรูปแบบการชำระหนี้ อาทิ การปรับปรุงรูปแบบการจ่ายชำระหนี้คืน จากรายปีเป็นรายเดือน ชำระคืนค่างวดแบบเฉลี่ยเท่ากันทุกเดือน ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระจาก 15 ปี เป็น 25 ปี ปรับปรุงลำดับการตัดชำระหนี้ โดยนำไปตัดเงินต้นก่อน แล้วจึงตัดดอกเบี้ย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เหลือร้อยละ 2 ต่อปี เป็นต้น

2. การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เช่น การประกาศกรอบอัตราค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ที่ช่วยคุ้มครองลูกหนี้ ไม่ให้ถูกเรียกเก็บเงินในการทวงถามหนี้เกินความจำเป็น

3. การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการครู ยุบยอดหนี้โดยใช้ทรัพย์สินและรายได้ของครูในอนาคต เพื่อให้ยอดหนี้ลดลงและสามารถชำระคืนได้จากเงินเดือน การปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 5 

4. หนี้สินข้าราชการตำรวจ การขอความร่วมมือสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พักชำระหนี้เงินต้น ปรับลดอัตราการถือหุ้นรายเดือน จัดทำโครงการปล่อยเงินกู้ระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำ และการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

‘ปชป.’ ปล่อยหมัดเด็ดโค้งสุดท้าย ชูแก้หนี้ครัวเรือน ทำได้ใน 90 วัน ยัน!! ไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ แนะ ปชช.ดูนโยบายประกอบการตัดสินใจ

(11 พ.ค. 66) ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันแถลงข่าว ‘มาตรการแก้หนี้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ 90 วัน ทำได้จริง’ โดย นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบาย นายเกียรติ สิทธีอมร และ ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ จันทรทัต ทีมเศรษฐกิจ

โดยนายพิสิฐ กล่าวว่า แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน กับกลุ่มที่มีเงินเดือนและเกษตรกร ในกลุ่มที่มีเงินเดือนซึ่งถือเป็นปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการครู ที่ถูกฟ้องเรียกหนี้ 50,000 ราย พรรคฯ มีแนวทางแก้ไข 6 ประการ แก้ได้ในระยเวลาอันสั้น ทำได้ใน 90 วัน คือ

1.) แก้หนี้ครัวเรือนโดยอัดฉีดเงิน 1 ล้านล้านบาท
2.) กำกับตรวจสอบการชักจูงให้ประชาชนก่อหนี้ได้ง่ายเกินไป
3.) ลดยอดหนี้โดยหักจากเงินเดือนไม่เกิน 4% เพื่อให้เหลือใช้
4.) ปลดล็อกนำเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ กบข. และกองทุนสำรองเลี้ยงชี้พ เพื่อมาลดหนี้บ้าน
5.) แก้ไข พ.ร.บ.ล้มละลาย ให้ประชาชนฟื้นฟูหนี้ได้ และ แก้ พ.ร.บ.เช็ค ยกเลิกโทษจำคุก กรณีเช็คเด้ง ให้มีเฉพาะคดีทางแพ่ง
6.) ปรับโครงสร้างหนี้แก้ไขกฎหมายเช่าซื้อที่ไม่เป็นธรรม ที่ผ่านมาการเช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์กรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้ขาย พรรคฯ จะทำให้ความเป็นเจ้าของเป็นของลูกหนี้ สามารถใช้เป็นหลักประกันได้

“เราเชื่อว่าถ้าดำเนิการตามที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ เราจะสามารถลดหนี้ครัวเรือนได้จากปัจจุบัน 87% ให้เหลือต่ำว่า 80% ของจีดีพี หรือลดได้ 1 ล้านล้านบาท โดยไม่สร้างหนี้สาธารณะ และเราสามารถแก้หนี้ได้โดยไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเลย” นายพิสิฐ กล่าว

ด้านนายเกียรติ กล่าวว่า หากประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลจะลดรายจ่ายใน 90 วัน ดังนี้

1.) ลดค่าไฟ 1-1.5 บาท ต่อหน่วย ยกเลิกค่าเอฟทีทั้งหมด
2.) ปรับราคาก๊าซป้อนโรงไฟฟ้าและค่าผ่านท่อให้เป็นธรรม
3.) กำหนดสัดส่วนการผลิตระหว่างฯ กับเอกชน แก้ปัญหากำลังการผลิตสำรองเกิน
4.) ทบทวนราคา สัญญารับซื้อไฟฟ้า และการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนค่าน้ำมัน จะลดได้ 2-3 บาท ต่อลิตร โดยกำกับค่าการกลั่น ค่าการตลาดให้เป็นธรรม
5.) ทบทวนโครงสร้างราคาและภาษีให้สะท้อนต้นทุนจริง
6.) ทบทวนเงินเข้ากองทุน ทบทวนการกำหนดราคาไบโอดีเซล และแก๊สโซฮอล์

นายเกียรติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังจะลดก๊าซหุงต้ม โดยลดลง 80-100 บาท ต่อถัง (15 กก.) ตรวจสอบปริมาณการผลิต นำเข้าและใช้ในประเทศจริง ตรวจสอบต้นทุนและปริมาณที่ผลิตในประเทศ ทบทวนสูตรคำนวณราคาทุกกลุ่มผู้ใช้ แก้ปัญหาการลักลอบส่งไปต่างประเทศ ยกเลิกสิทธิพิเศษกับทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

“ใกล้เลือกตั้งแล้ว อยากฝากถึงประชาชนให้พิจารณาตัวนโยบายของพรรคต่าง ๆ เพราะสะท้อนถึงแนวคิดของพรรคนั้น ๆ ซึ่งนโยบายของประชาธิปัตย์จะทำให้ลดหนี้ครัวเรือนจาก 87% เหลือน้อยกว่า 80% ของจีดีพี โดยไม่สร้างหนี้สาธารณะ ไม่เป็นภาระลูกหลาน เราแก้หนี้ได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณใด ๆ เพราะเราดำเนินการโดยมาตรการทางกฎหมาย ซึ่งแตกต่างจากอีกหลายพรรค” นายเกียรติ กล่าว

ขณะที่ ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าวว่า 3 มาตรการ ที่ประชาธิปัตย์ทำได้ทันทีเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน คือ 1.) ลดค่าใช้จ่าย 2.) ลดภาระหนี้สินประชาชน และ 3.) เพิ่มรายได้ โดยในส่วนของการเพิ่มรายได้ ภายใน 90 วัน เราสามารถหารายได้เพิ่มจากการค้าชายแดนและการรับนักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งจากการลงพื้นที่ที่มีการค้าขายทั้งเข้า-ออกสามารถทำได้ดีขึ้น ถ้ามีการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย จะทำให้การค้าชายแดนภาคใต้เติบโตขึ้นอีกหลายเท่าตัว

ม.ร.ว.ศศิพฤนท์​กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวนั้นต้องรีบเจรจา หารือกับกลุ่มบริษัททัวร์เอเจนซี โดยเฉพาะเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อจำนวนมาก และมาพักเป็นเวลานาน ให้กลุ่มบริษัททัวร์เอเจนซีมีความพร้อมรองรับการท่องเที่ยวในช่องไฮซีซันที่กำลังจะมาถึง ซึ่งจะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจไปสู่ฐานรากอย่างทั่วถึง รวมทั้งพ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย จะต้องจัดให้กลุ่มนี้มีพื้นที่ในการค้าขาย ยกระดับคุณภาพให้เป็นที่ถูกใจนักท่องเที่ยวที่เข้ามา รวมไปถึงการปรับแก้เรื่องการเข้าเมือง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล สร้างงาน สร้างเงินในกระเป๋าให้กับประชาชน

‘อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ’ ชี้ เศรษฐกิจไทยแก้ยาก-ซับซ้อน ต้องใช้เวลา เชื่อ!! ไม่มีรัฐบาลไหนสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวคนเดียว

(11 พ.ค. 66) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวระหว่างการเป็นประธานเปิดงาน ‘MONEY EXPO 2023’ ว่า โลกยุคเรากําลังเผชิญปัญหาและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมขั้นวิกฤต และเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งปัญหาโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำ คอร์รัปชัน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและคุณภาพ ประชากร โรคอุบัติใหม่ หรือความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยี

ดังนั้น โจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจวันนี้ ยาก ซับซ้อน กว้างขวาง และใช้เวลา ซึ่งจะไม่มีรัฐบาลไหน หรือบุคคลใดที่วิเศษวิโสยังไงจะเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ทันที การบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจต้องเป็นเรื่องของทุกคน โดยเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจใหม่ ที่ต้องเป็นเศรษฐกิจสีเขียว ดำเนินธุรกิจด้วยพลังงานสะอาด ควบคู่กับ กรีนไฟแนนซ์ให้เป็นทางรอดของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

“การป้องกันบรรเทาความรุนแรงของปัญหา และพลิกวิกฤตให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ จึงต้องเป็นเรื่องของทุกคน และการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มที่ตัวเรา” นายประสาร กล่าว

ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน บอกว่า นโยบายของพรรคการเมืองที่กำลังจะเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการพักหนี้ หรือช่วยเหลือเอสเอ็มอี ยืนยันว่า ทางธนาคารออมสินพร้อมที่จะจัดทำมาตรการรองรับได้ ในฐานะธนาคารเพื่อสังคม

ขณะที่นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า นโยบายพักหนี้เกษตรกรของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่นำเสนอกันนั้น หากเป็นส่วนที่เกี่ยวข้อบกับทางธนาคาร ก็พร้อมดำเนินการตามนโยบายได้ทันที เพียงแต่เรายังไม่เห็นรายละเอียดของโครงการ จึงต้องขอดูรายละเอียด การชดเชยค่าดำเนินการใดๆ ให้ชัดเจนก่อน เพราะเราเป็นธนาคารที่ต้องดูแลลูกค้าหลายภาคส่วน

‘ธนกร’ หนุนรัฐฯ แก้หนี้ ‘ใน-นอก’ ระบบครบวงจร  กวาดล้างมาเฟียเงินกู้ ทวงหนี้โหด ฟอกเงินบาป

(22 พ.ย. 66) นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ตนขอสนับสนุนที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเตรียมแถลงประกาศแก้หนี้สินให้กับประชาชน ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ เพราะเรื่องหนี้สิน เป็นเรื่องสำคัญมากกับชีวิตความเป็นอยู่โดยตรงของพี่น้องประชาชน ขอให้นายกฯ และรัฐบาลทำอย่างจริงจังแบบครบวงจร พร้อมยกให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดและต่อเนื่องจนเห็นผลเป็นรูปธรรม

การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่ส่วนใหญ่มาจากเงินที่อยู่นอกระบบสถาบันการเงิน ต้องมีกฎหมายควบคุมการคิดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด หากการให้กู้ยืมเงินนอกระบบต้องไม่คิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี หากคิดดอกเบี้ยโหดสูงกว่านั้นถือว่าผิดกฎหมาย 

นอกจากนั้น รัฐบาล โดยฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควรลงไปตรวจสอบผู้ที่เป็นเจ้าหนี้ที่มักจะปล่อยเงินกู้จำนวนมาก ว่ามีแหล่งเงินมาจากไหนมาจากเงินสีเทา ธุรกิจผิดกฎหมาย การพนัน และยาเสพติดด้วยหรือไม่ เป็นการฟอกเงินผ่านการให้กู้ยืมอีกทอดหนึ่งหรือไม่

“ผมจึงขอให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้ ดำเนินการกวาดล้างมาเฟียผู้มีอิทธิพลในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ที่อาจใช้ช่องทางนี้นำเงินสีเทาผิดกฎหมาย มาฟอกผ่านการปล่อยกู้ให้แก่ประชาชน และมีทีมทวงหนี้โหดไปทำร้ายร่างกายลูกหนี้ที่ผิดนัด จนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตตามที่เป็นข่าวมาจำนวนมากแล้ว” นายธนกร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ปัญหาหนี้สินจะช่วยประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระยะยาวได้อย่างไร นายธนกร กล่าวว่า คนเป็นหนี้ก็ต้องใช้ แต่จะทำอย่างไรหากไม่มีรายได้ที่เพียงพอใช้หนี้ สุดท้ายแล้วก็อาจจะกลับมาเป็นหนี้ใหม่อีก ตนจึงมองว่ารัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการฝึกทักษะอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน ต้องทำควบคู่ไปกับการช่วยปลดลดหนี้สิน จะเป็นทางออกช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถยืนด้วยตัวเองอย่างมั่นคง และจะเป็นการแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนแบบยั่งยืน

“พรรครวมไทยสร้างชาติผ่าน 4 กระทรวง ก็เดินหน้าโครงการฝึกทักษะอาชีพ เพิ่มรายได้สร้างเศรษฐกิจในชุมชนต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้ความรู้ ความเข้าใจวินัยการใช้เงิน เพื่อลดปัญหาหนี้ครัวเรือน หากรัฐบาลมีนโยบายแก้หนี้ทั้งในและนอกระบบออกมาช่วยประชาชนเพิ่มเติมด้วย ก็เชื่อว่า จะเป็นการทั้งสร้างรายได้ให้ประชาชนมีเพียงพอ ควบคู่ การแก้หนี้สิน จะทำให้มีความมั่นคงในชีวิต เกิดความเข้มแข็งยั่งยืนได้ในอนาคต” นายธนกร กล่าว

เปิดแนวทางแก้หนี้ครัวเรือนไทย ‘ระยะยาว’ ก่อน ‘นายกฯ เศรษฐา’ คิกออฟแผนแก้หนี้ครั้งใหญ่!!

‘หนี้ครัวเรือน’ ปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ที่ถูกพยายามแก้มาแล้วหลายครั้งในหลาย ๆ รัฐบาล ปัจจุบันนี้ ถึงคิวของ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ที่จะเข้ามาจัดการปัญหานี้ให้หมดไป แต่ก่อนที่ท่านนายกฯ จะประกาศแผนแก้หนี้ ‘ฉบับเศรษฐา’ ลองมาดูแผนแก้หนี้ที่ทาง THE STATES TIMES สรุปย่อยมาให้ไปพลาง ๆ ก่อน พร้อมแล้ว ไปดูเล้ยย…

‘เศรษฐา’ ประกาศสางหนี้นอกระบบคนไทย 5 หมื่นล้าน ดอกห้ามเกินร้อยละ 15 ถ้าจ่ายเกินแล้วก็เลิกแล้วต่อกัน

(28 พ.ย. 66) ที่ตึกสันติไมตรี หลังใน ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย, นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง และ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าววาระแห่งชาติ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

โดย นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลเห็นปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยมานาน และเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยจำนวนมาก วันนี้เราจะเอาจริงเอาจัง ทำให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวัง และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทย ในวันนี้เราได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครอง ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน และฝ่ายตำรวจที่ช่วยกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมาย จะมาทำงานร่วมกัน แก้ไขทั้งเรื่องหนี้ และมีเรื่องของความสัมพันธ์ในระดับชุมชนที่ละเอียดอ่อน นอกจากการแก้ไขหนี้แล้ว รัฐบาลก็จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนขึ้นไปถึงระดับมหภาค ยกระดับความเป็นอยู่ ทำให้ไม่กลับไปมีหนี้ล้นพ้นตัวอีก

นายเศรษฐา กล่าวว่า ปัญหาหนี้นอกระบบได้กัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลายประการ รัฐบาลได้ประเมินจำนวนครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งตนคิดว่าเลขนี้ น่าจะประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ และปัญหาจริงๆ น่าจะมีมากกว่านั้น คนที่ไม่ได้เป็นหนี้อาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ หนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ต้องเจอกับความเปราะบางที่เกิดขึ้นจากหนี้สิน ที่ใช้เท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด พวกเขาไม่สามารถแม้แต่จะฝัน หรือทำตามแพสชั่นได้ ปิดโอกาสการต่อยอดไปหลายอย่าง ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ ส่งผลกระทบเป็นโดมิโนไปยังทุกภาคส่วน สำหรับตน หนี้นอกระบบถือว่าเป็น Modern World Slavery เป็นการค้าทาสในยุคใหม่ที่ได้พรากอิสรภาพ ความฝัน ไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้

นายเศรษฐา กล่าวว่า ปัญหานี้เรื้อรัง และใหญ่ เกินกว่าที่จะแก้ปัญหาได้โดยไม่มีภาครัฐเป็นตัวกลาง ในวันนี้รัฐบาลจึงต้องบูรณาการหลายภาคส่วนเข้ามาทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับไปอยู่ในวงจรหนี้สินนอกระบบอีก โดยภาครัฐจะรับบทบาทเป็นตัวกลางสำคัญในการไกล่เกลี่ยพร้อมกันทั้งหมด ดูแลทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการจนถึงการปิดหนี้ การทำสัญญา ที่หลายครั้งไม่เป็นไปตามกฎหมาย มีดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม และกระบวนการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง ต้องจัดให้ทำสัญญาที่เป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย พูดง่ายๆ คือ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ภาครัฐจะต้องทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อทำให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสหายใจ มีกำลังใจพอจะดำเนินชีวิต หาเงินมาปิดหนี้ให้ได้

นายกฯ กล่าวว่า ในความตั้งใจนี้ ตนได้สั่งการในช่วงต้นเดือน พ.ย. ให้ตำรวจและมหาดไทยไปทำการบ้านมา โดยทั้ง 2 หน่วยงานต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ให้ดีกว่าในอดีตที่เคยแยกกันทำพูดให้ชัดๆ คือ การแก้หนี้นอกระบบจะต้องทำด้วยกันแบบ End-to-end ต้องมีมาตรการต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับเข้าไปอยู่ในวงจรอีก และทั้งสองหน่วยงานจะต้องเข้าใจกระบวนการ ทำงานของกันและกัน ต้องทำให้กระบวนการทำงานไม่ซ้ำซ้อน มีขอบเขตหน้าที่ และความรับผิดชอบร่วมกัน ที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นจนจบ จะมีการทำฐานข้อมูลกลาง นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความโปร่งใสตั้งแต่ต้นจนจบ มีการให้เลขตรวจสอบ (Tracking ID) ที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ติดตามผลได้ มีวิธีการเข้าสู่กระบวนการหลายรูปแบบ เพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน และต้องมีการสื่อสารกับประชาชนถึงความคืบหน้าต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา จะต้องมีกระบวนการถ่วงดุลระหว่างหน่วยงาน เพราะบางกรณีที่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ตนก็ขอให้ทุกส่วนทำงานอย่างตรงไปตรงมา เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยให้ถูกต้อง เพื่อแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กัน ตนขอฝากให้ทั้งสองหน่วยงานทำงานอย่างมีเป้าหมาย มีเป้าประสงค์ (KPI) ร่วมกัน และกรอบเวลาที่ชัดเจน และตนจะติดตามดูผลอย่างใกล้ชิด

นายกฯ กล่าวว่า หลังจากขั้นตอนการไกล่เกลี่ยแล้ว รัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ โดยกระทรวงการคลังจะเข้ามาช่วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน ทั้งการช่วยปรับระยะเวลา เงื่อนไข และ กระบวนการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เบียดบังการใช้ชีวิตจนทำให้พี่น้องท้อถอย แน่นอนว่ารัฐบาลก็จะระมัดระวังไม่สร้างภาวะอันตรายทางศีลธรรม ในมาตรการการช่วยเหลือทั้งหมด การแก้ไขหนี้ในวันนี้คงไม่ใช่ยาปาฏิหาริย์ที่จะทำให้หนี้นอกระบบไม่เกิดขึ้นอีก แต่ตนมั่นใจว่า ด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้น จนไม่จำเป็นต้องก่อหนี้อีกในอนาคต และจะเพิ่มโอกาสให้พี่น้องประชาชนรายเล็ก รายย่อย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น นอกจากหนี้นอกระบบแล้ววันที่ 12 ธ.ค.นี้ จะมีการแถลงเรื่องภาพรวมหนี้แบบครบวงจร ซึ่งจะครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบ และหนี้นอกระบบอีกครั้งนึง และตนจะทำให้โครงการนี้ช่วยปลดปล่อยพี่น้องประชาชนจากการเป็นทาสหนี้นอกระบบ ลืมชีวิตที่เคยลำบาก มีกำลัง มีแรงใจ ที่จะทำตามความฝัน นับจากนี้เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ จะมีหลักเกณฑ์เรื่องดอกเบี้ยอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ห้ามคิดเกินร้อยละ 15 ต่อปี และต้องดูว่าตั้งแต่เป็นหนี้ไปแล้วจ่ายเงินไปแล้วเท่าไหร่ หากจ่ายเกินไปแล้วก็ต้องยกเลิกต่อกัน

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการสำรวจอย่างจริงจังหรือไม่ว่า จำนวนหนี้นอกระบบมีเท่าไหร่ และมาตรการแก้หนี้นี้เหมือนทุกอย่างจะเป็นแบบเดิมที่เคยทำกันมาแล้ว จะทำอย่างไรไม่ให้มีปัญหาหนี้นอกระบบเช่นเดิมอีก นายเศรษฐา กล่าวว่า การแก้หนี้ครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ทำแบบบูรณาการ ครั้งนี้ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายมั่นคง จะให้เจ้าหนี้มาเจรจา และกระทรวงการคลังที่จะเข้ามาช่วยเหลือ อีกทั้งยังจะมีการแก้หนี้ในระบบด้วย ตรงนี้จะเป็นอีกส่วนที่จะทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ โดยจะมีการแถลงวันที่ 12 ธ.ค. เราจะนำการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและในระบบมาประสานกัน เพื่อทำให้ประชาชนกลับมาเป็นหนี้ยากขึ้น การจะไม่ให้เป็นหนี้เลยคงลำบาก แต่เราจะทำให้เป็นธรรมตามที่กฎหมายกำหนด

เมื่อถามว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศมีเยอะ ผู้ที่เข้ามาบริหารประเทศส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอีลิท อาจไม่เห็นความชัดเจนของปัญหา นายเศรษฐา กล่าวว่า การที่เรามีวันนี้ คือ พูดคุยระหว่างฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง กระทรวงการคลัง เชื่อว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่นำทุกภาคส่วนมาบูรณาการกัน ไม่ใช่ว่าเรามองไม่เห็น ถ้ามองไม่เห็นคงไม่มานั่งกันวันนี้ ยืนยันเรื่องนี้เราให้ความสำคัญ การยกระดับเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องสำคัญ นโยบายของรัฐบาลมีอีกหลายเรื่องที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนดีขึ้น เราต้องเริ่มจากลดค่าใช้จ่ายก่อน ซึ่งตนทำแล้ว ทั้งลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร แต่เรื่องหนี้นอกระบบเราต้องแก้ไขอย่างจริงจัง วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในวันที่ 8 ธ.ค.จะมีการประชุมนายอำเภอและผู้กำกับทั่วประเทศ โดยจะให้นโยบาย มอบ KPI ติดตามผลงานอย่างต่อเนื่อง จะไม่เหมือนที่เคยทำกันมา

เมื่อถามว่า คนที่ปล่อยกู้นอกระบบส่วนใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพล หากไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการการไกล่เกลี่ย จะดำเนินการอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลเราไม่ยอมรับผู้มีอิทธิพลนอกระบบ หรือเป็นมาเฟีย ตรงนี้ต้องจัดการไป บ้านเมืองมีกฎหมาย อัตราดอกเบี้ยที่คิดไว้ต้องชัดเจน โดยเราจะเรียกทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้มาคุย 

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ขอยืนยันจะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ที่รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาตินี้ ไปดำเนินการอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพต่อไป โดยเราจะใช้เครือข่ายและกลไกการทำงานที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ และใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนม และได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็ง ที่เราจะใช้ในการขับเคลื่อนภารกิจนี้ ที่ผ่านมาในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น กระทรวงมหาดไทย ได้มีการดำเนินการผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและระดับอำเภอ โดยนายอำเภอจะมีบทบาทในฐานะประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ยร่วมกับพี่น้องประชาชนในนามคณะผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งนายอำเภอก็ได้ใช้อำนาจหน้าที่ดำเนินการให้คู่พิพาททำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ตามเงื่อนไขของหลักกฎหมาย

นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับมาตรการล่าสุดของรัฐบาลนั้น จะเป็นการต่อยอดให้เราสามารถช่วยเหลือประชาชนในเชิงรุกได้มากขึ้นผ่านศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ทางกระทรวงมหาดไทยขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนถูกข่มขู่คุกคามหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมมาลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.เป็นต้นไป ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ในศาลากลางจังหวัดทุกแห่ง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ในที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง และในส่วนของกรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง เพื่อที่กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรวบรวมข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้แก่พี่น้องประชาชนเป็นรายๆ ไป เพราะแต่ละเคสก็มีความเฉพาะตัวที่ต่างกัน

นายอนุทิน กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการการบังคับใช้กฎหมายกับเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งมีพฤติกรรมข่มขู่ใช้ความรุนแรง หรือเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น ทางฝ่ายปกครองจะประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งในส่วนนี้จะมีความสอดคล้องกับงานปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการอยู่ด้วย เพราะหนึ่งในกลุ่มผู้มีอิทธิพลก็คือกลุ่มเจ้าหนี้นอกระบบด้วย ถือว่า Watch List ที่เรามีอยู่ ก็จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการจับตาพฤติกรรมกัน เชื่อว่าหลังการแถลงในวันนี้ ทุกฝ่ายคงร่วมมือกันอย่างเต็มที่ และหากชุมชนช่วยกันสอดส่อง ตักเตือนให้ลด ละ เลิก พฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เราก็น่าจะไม่ต้องมีคดีความเพิ่มขึ้นมาก และจะโฟกัสกับการแก้ปัญหาหนี้สิน เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ตั้งหลักได้ต่อไป 

ขณะที่ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สตช.รับผิดชอบบังคับใช้กฎหมาย เราเห็นความเดือดร้อนการท้วงโดยใช้ความรุนแรง โดยมีสายด่วน 1559 เพื่อรับแจ้งปัญหา มอบหมายให้ตำรวจตรวจตราพื้นที่อย่างเข้มข้น เพื่อสำรวจข้อมูลผู้ประกอบการหนี้นอกระบบทั้งหมด โดยตั้งแต่ 1 ต.ค.2566 ถึงปัจจุบัน สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 134 ราย ยึดของกลางมูลค่า 8 ล้านบาท ทั้งนี้ ผบ.ตร.พร้อมทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน เพื่อให้เกิดการติดตามผลอย่างโปร่งใส 

ส่วน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวว่า นายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังดูแลลูกหนี้นอกระบบ ภายหลังที่ปรับโครงสร้างหรือไกล่เกลี่ยกันเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีธนาคารของรัฐดูแล อย่างธนาคารออมสิน และเรามีโครงการอยู่แล้วในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งจะให้กู้รายหนึ่งไม่เกิน 50,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปี และอีกส่วน จะเป็นเรื่องของโครงการสินเชื่อสำหรับอาชีพอิสระรายย่อยเพื่อส่งเสริมอาชีพ ซึ่งนี่จะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ให้กู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ระยะเวลาสูงสุด 8 ปี อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย นอกจากนี้ ทาง ธ.ก.ส.ก็มีโครงการเพื่อรองรับ หากใครจะนำที่ดินมาฝากขาย หรือติดจำนองที่เกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ทาง ธ.ก.ส.จะมีวงเงินให้กับเกษตรกรต่อราย 2.5 ล้านบาท ในการแก้ไขเรื่องที่ดินทำกิน

"สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะดำเนินการให้ถูกกฎหมาย เรามีช่องทางให้ขออนุญาตเรื่อง pico finance ซึ่งมีผู้มาขออนุญาตแล้วพันกว่ารายทั่วประเทศ ซึ่งเรามีทุนจดทะเบียนให้ผู้ประกอบการแต่ละราย 5 ล้านบาท" นายกฤษฎา กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top