Tuesday, 14 May 2024
เอ็กโกกรุ๊ป

‘เอ็กโก’ โชว์กำไร Q2/66 แตะ 2.6 พันล้านบาท ชูกลยุทธ์ ‘4S’ เสริมแกร่ง-ต่อยอดธุรกิจโตอย่างยั่งยืน

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 มีรายได้รวม 15,593 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงาน 2,652 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพาจู อีเอส ในเกาหลีใต้ ตอกย้ำความมั่นใจการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าหยุนหลินในไต้หวัน มีความคืบหน้าและเป็นไปตามแผน พร้อมงัดกลยุทธ์ ‘4S’ สร้างรายได้ เสริมแกร่งธุรกิจ ต่อยอดการเติบโตอย่างยั่งยืน

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานในครึ่งปีแรกของปี 2566 เอ็กโก กรุ๊ป ยังคงสามารถบริหารจัดการพอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าและต้นทุนเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าทุกแห่งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้สามารถสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งความสามารถในการบริหารจัดการโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงาน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเอเพ็กซ์ ในสหรัฐอเมริกา ที่สามารถก่อสร้างพร้อมกันได้ถึง 5 โครงการ ได้แก่ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Storage) ซึ่งมีจำนวนรวม 657 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าเอ็กโก โคเจนเนอเรชั่น (ส่วนขยาย) ที่มีความก้าวหน้ากว่า 78% และโครงการโรงไฟฟ้าหยุนหลิน ในไต้หวัน ที่มีความคืบหน้าในการก่อสร้างได้ตามแผนงาน ในขณะที่ธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ดังเช่นโครงการทีพีเอ็น ก็มีความพร้อมที่จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้

สำหรับผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 เอ็กโก กรุ๊ป มีรายได้รวมทั้งสิ้น 15,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน 2,652 ล้านบาท ลดลง 18% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่งใน สปป.ลาว ได้แก่ น้ำเทิน 1 น้ำเทิน 2 และไซยะบุรี มีปริมาณการขายไฟฟ้าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำลดลงและมีการซ่อมบำรุง รวมทั้งโรงไฟฟ้าขนอมมีรายได้ค่าความพร้อมจ่าย (AP) ลดลง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากรายได้ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพาจู อีเอส ในเกาหลีใต้ ในขณะที่มีกำไรสุทธิ 1,460 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 288% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ด้านความคืบหน้าทางธุรกิจจนถึงปัจจุบัน เอ็กโก กรุ๊ป มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้น 115 เมกะวัตต์ จากโครงการพลังงานหมุนเวียนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างของเอเพ็กซ์ ในสหรัฐอเมริกา จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการ โครงการพลังงานลม 1 โครงการ และโครงการระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ 2 โครงการ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เอง 2 ใน 3 ส่วน และจำหน่ายโครงการออกไป 1 ใน 3 ส่วน ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ของเอ็กโก กรุ๊ป ในรูปแบบไฮบริด 

สำหรับความคืบหน้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งหยุนหลิน ในไต้หวัน มีกังหันลมที่ติดตั้งแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน จำนวนทั้งสิ้น 20 ชุด โดยมีกำลังผลิตรวม 144 เมกะวัตต์ และสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสะสมแล้วมากกว่า 620 กิกะวัตต์ชั่วโมง ปัจจุบันการก่อสร้างมีความคืบหน้ามากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ประกอบกับโครงการอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานด้านพลังงานของภาครัฐไต้หวัน (Taiwanese Bureau of Energy) เพื่อขอเลื่อนกำหนดแล้วเสร็จของโครงการตามที่ระบุไว้ในสัญญาบริหารจัดการให้สามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2567 ซึ่งการหารือมีความคืบหน้าเป็นลำดับ ทั้งนี้ โครงการอยู่ระหว่างเจรจาปรับโครงสร้างการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนภายในปีนี้

“ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความท้าทายมากขึ้นในปัจจุบัน เอ็กโก กรุ๊ป ยังคงเดินหน้าต่อยอดธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานอย่างยั่งยืน ด้วยการบริหารธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ ‘4S’ เพื่อสร้างรายได้ให้บริษัทอย่างรวดเร็วและเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 

1) Strengthen financial performance เสริมความแข็งแกร่งในการแข่งขันด้านการเงิน 
2) Select high quality project ให้ความสำคัญกับการลงทุนในรูปแบบ M&A ทั้งโรงไฟฟ้า Conventional และ Renewable ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อรับรู้รายได้ทันที 
3) Speed up projects under construction เร่งรัดบริหารโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนงาน 
4) Streamline portfolio and improve operation บริหารพอร์ตโฟลิโอ โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน 36 แห่ง และธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งกลยุทธ์ ‘4S’ สอดคล้องกับหนึ่งในพันธกิจหลักของบริษัทที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน” นายเทพรัตน์ กล่าวสรุป

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ ขยายการลงทุน-สร้างโอกาสเติบโตในสหรัฐฯ  เข้าถือหุ้น 50% ใน ‘พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ’ 

(11 ก.ย. 66) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เดินหน้าขยายการลงทุนในสหรัฐอเมริกาต่อเนื่อง ด้วยการเข้าถือหุ้น 50% ใน ‘พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ’ (Compass Portfolio) กำลังผลิตรวม 1,304 เมกะวัตต์ การซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วจะช่วยสร้างโอกาสการเติบโตให้แก่เอ็กโก กรุ๊ป ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะสามารถรับรู้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นได้ทันที

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก คัมแพซ ทู แอลแอลซี (EGCO Compass II, LLC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่เอ็กโกถือหุ้นทั้งหมดและจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับบริษัทในเครือโลตัส อินฟราสตรักเชอร์ พาร์ทเนอร์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 เพื่อเข้าถือหุ้นสัดส่วน 50% ใน ‘พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ’ ซึ่งเป็นพอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้า พลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 3 แห่ง ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบด้วยมาร์คัส ฮุก เอ็นเนอร์ยี่ แอลพี (มาร์คัส ฮุก) เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 912 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่นอกเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย ในขณะที่มิลฟอร์ด พาวเวอร์ แอลแอลซี (มิลฟอร์ด) เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 205 เมกะวัตต์ และไดตัน พาวเวอร์ (ไดตัน) เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 187 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งสองแห่งนี้ตั้งอยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์

โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ใกล้กับศูนย์กลางของเมืองใหญ่ที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงมาก ได้แก่ ฟิลาเดลเฟีย บอสตัน และพรอวิเดนซ์ โดยพื้นที่เหล่านี้มีข้อจำกัดอย่างมากในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ และมีนโยบายมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เสริมความมั่นคงให้แก่ระบบ ‘พอร์ตโฟลิโอคัมแพซ’ ได้รับประโยชน์จากการที่โรงไฟฟ้ามาร์คัส ฮุก มีสัญญาระยะยาวในการขายกำลังผลิตส่วนใหญ่ให้แก่ลองไอส์แลนด์ พาวเวอร์ ออธอริที (The Long Island Power Authority - LIPA) และขายกำลังผลิตส่วนที่เหลือในตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าพีเจเอ็ม (PJM) ในขณะที่โรงไฟฟ้ามิลฟอร์ดและโรงไฟฟ้าไดตันขายกำลังผลิตให้แก่ตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้านิวอิงแลนด์ (ISO-NE) โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ยังขายไฟฟ้าและให้บริการเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าให้แก่ตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าในพื้นที่ที่แต่ละโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ คือ PJM และ ISO-NE

“การลงทุนใน ‘พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ’ จะสร้างการเติบโตเพิ่มขึ้นให้แก่เอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการเข้าซื้อหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีคุณภาพสูง ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนและกำไรได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานของโลกไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต” นายเทพรัตน์ กล่าวสรุป

ทั้งนี้ การซื้อขายหุ้นจะสำเร็จหลังจากดำเนินการตามเงื่อนไขต่าง ๆ ในการปิดรายการซื้อขายแล้วเสร็จ

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ คว้ารางวัล ‘องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน’ ปี 66 ตอกย้ำ!! ความมุ่งมั่นผลักดันการเคารพสิทธิมนุษยชนในองค์กร

(22 ก.ย. 66) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป คว้ารางวัล ‘องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566’ ประเภทองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ระดับดี ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากกรมคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยชูการพัฒนานโยบายด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านและครอบคลุม เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ (Non-discrimination) และต่อต้านการล่วงละเมิด (Anti-harassment)

โดยนางสาวสลิล ติระวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายบริหารองค์กร เอ็กโก กรุ๊ป เป็นผู้แทนเข้ารับประกาศนียบัตรจากพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในงานประกาศรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 ซึ่งจัดโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้

นางสาวสลิล ติระวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายบริหารองค์กร เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจบนหลักการกำกับกิจการที่ดี โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยตระหนักและให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับอย่างเสมอภาค

ในรอบปีที่ผ่านมา เอ็กโก กรุ๊ป ได้ประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในทุกขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ พร้อมนำผลการประเมินมาทบทวนและปรับปรุงนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน โดยมุ่งเน้นหลักการไม่เลือกปฏิบัติและการต่อต้านการล่วงละเมิด พร้อมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรทุกระดับ เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติต่อกันอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ตลอดจนพัฒนากระบวนการแจ้งเบาะแสและการสอบสวนในกรณีที่มีเรื่องร้องเรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในรอบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทไม่ได้รับข้อร้องเรียน รวมถึงไม่พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อันจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด

“การได้รับรางวัล ‘องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน’ ระดับดี ต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของเอ็กโก กรุ๊ป ในการส่งเสริมและผลักดันการเคารพสิทธิมนุษยชนให้อยู่ในกระบวนการดำเนินธุรกิจทุกมิติและปลูกฝังให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียม รวมถึงส่งเสริมเสรีภาพอันชอบธรรมของแต่ละบุคคล เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกภายในองค์กรและสังคมภายนอกอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับหนึ่งในพันธกิจสำคัญของเรา ในการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมและใส่ใจต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม” นางสาวสลิล กล่าว

สำหรับการพิจารณามอบรางวัล ‘องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน’ ดำเนินการโดย คณะกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาชนสังคม ที่ดำเนินงานตามภารกิจโดยเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับองค์กรอื่น ๆ ในการส่งเสริมสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน โดยมีองค์กรที่ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลฯ ประจำปี 2566 รวมทั้งสิ้น 109 รางวัล

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ เปิดให้บริการ ‘ระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปอีสาน’ ช่วยลดต้นทุน - เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง - มุ่งเป้า Net Zero

เมื่อวานนี้ (4 ต.ค. 66) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ประกาศเปิดให้บริการ ‘ระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ ไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ’ อย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (TPN) ซึ่งเอ็กโก กรุ๊ป ถือหุ้นในสัดส่วน 44.6% โดยระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสนับสนุนการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมเสริมทัพธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ในกลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงและสาธารณูปโภคของเอ็กโก กรุ๊ป

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า การเปิดให้บริการระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมาช่วยเสริมทัพธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ในกลุ่มธุรกิจเชื้อเพลิงและสาธารณูปโภคของเอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

โดยคาร์บอนเครดิตจะเป็นของผู้มาใช้บริการระบบขนส่งน้ำมันทางท่อและคลังน้ำมันของ TPN และยังสอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของเอ็กโก กรุ๊ป ในการบรรลุการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 (ปี ค.ศ.2050)

นอกจากนี้ โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศและสอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งน้ำมันมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งลดปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุบนถนน

TPN ดำเนินธุรกิจให้บริการระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและให้บริการคลังน้ำมัน โดยระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีระยะทางรวม 342 กิโลเมตร และมีกำลัง การขนส่งสูงสุดต่อปีอยู่ที่ 5,443 ล้านลิตร ซึ่งจะเชื่อมต่อคลังน้ำมันของ บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (Thappline) ในจังหวัดสระบุรี ไปยังคลังน้ำมันขนาด 157 ล้านลิตร ของ TPN ที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นคลังที่มีความทันสมัยและมีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีรถน้ำมันของกลุ่มลูกค้าบริษัทค้าปลีกน้ำมันชั้นนำของประเทศใช้บริการและมารับน้ำมันออกแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ ปลื้ม!! ขายกรีนบอนด์ 7 พันล้านหมดเกลี้ยง เล็งนำเงินหนุนโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ Net Zero

(3 พ.ย. 66) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (หุ้นกู้กรีนบอนด์) เป็นครั้งแรก ต่อนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ รวมมูลค่า 7,000 ล้านบาท ด้วยยอดจองท่วมท้นกว่า 3 เท่าของมูลค่าการเสนอขาย สะท้อนความเชื่อมั่นต่อทิศทางการเติบโตของบริษัทสู่การพัฒนาพลังงานสะอาดและการบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 (2050)

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ได้เสนอขายหุ้นกู้กรีนบอนด์เป็นครั้งแรก มูลค่ารวม 7,000 ล้านบาท ต่อนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ ในวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2566 และจัดออกหุ้นกู้ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากกว่า 80 ราย ที่แจ้งความจำนงความต้องการลงทุนเป็นจำนวนกว่า 20,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.15 เท่าของ มูลค่าการเสนอขายเดิมที่ 6,500 ล้านบาท 

บริษัทจึงเพิ่มหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoes) อีก 500 ล้านบาท เพื่อตอบสนองความต้องการและช่วยขยายฐานนักลงทุนใหม่ โดย นักลงทุนที่สนใจจองซื้อหุ้นกู้ในครั้งนี้ ได้แก่ กองทุนภายใต้การบริหารของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย ธนาคารพาณิชย์ กลุ่มสหกรณ์ และนักลงทุนประเภทอื่น ๆ

สำหรับหุ้นกู้กรีนบอนด์ของเอ็กโก กรุ๊ป เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ จำนวน 5 ชุด รวมมูลค่าทั้งหมด 7,000 ล้าน ประกอบด้วย 

หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.35% จำนวน 1,000 ล้านบาท 
หุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.71% จำนวน 700 ล้านบาท 
หุ้นกู้อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.02% จำนวน 500 ล้านบาท 
หุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.32% จำนวน 1,000 ล้านบาท
หุ้นกู้อายุ 15 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.65% จำนวน 3,800 ล้านบาท 

โดยหุ้นกู้กรีนบอนด์นี้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ AA+ จากทริสเรทติ้ง และจัดออกภายใต้โครงการหุ้นกู้ของเอ็กโก กรุ๊ป ปี 2566 วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยมีธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทำหน้าที่เป็น Joint Green Structuring Advisors และเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ในครั้งนี้

“เอ็กโก กรุ๊ป ขอบคุณนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ที่ให้ความเชื่อมั่นและจองหุ้นกู้กรีนบอนด์อย่างท่วมท้น โดยเฉพาะประเภทหุ้นกู้อายุ 15 ปี แม้สภาวะตลาดในปัจจุบันมีความผันผวนทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน การสนับสนุนดังกล่าวทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสม โดยบริษัทมีแผนจะนำวงเงินระดมทุนนี้ไปใช้ชำระคืนเงินทุนสำหรับโครงการเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประเภทพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมของบริษัทและบริษัทในเครือ ภายใต้กรอบการจัดหาเงินทุนเพื่อโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 (2050)” นายเทพรัตน์ กล่าว

เปิดประวัติ ‘เทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ ผู้ว่าฯ ‘กฟผ.’ คนใหม่ ‘คว่ำหวอด-เชี่ยวชาญ’ สายงานด้านพลังงานแบบรู้ลึก

เมื่อวานนี้ (3 มี.ค. 67) คณะรัฐมนตรี (ครม.) วาระพิเศษ มีติเห็นชอบการแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ คนที่ 16 ซึ่งกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้เห็นชอบในรายละเอียดแล้ว

สำหรับการเสนอแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าฯ กฟผ. คนใหม่ ครั้งนี้ ถือว่าค้างมาจากรัฐบาลก่อน โดยจากนี้ไปจะต้องไปดูมติครม.ก่อนว่าเมื่อครม.มีมติแล้วนายเทพรัตน์ จะเริ่มเข้าทำงานอย่างเป็นทางการเมื่อใดต่อไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา คณะกรรมการ กฟผ. ในการประชุมครั้งที่ 1/2567 ได้มีมติเห็นชอบการยืนยันเสนอชื่อ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กฟผ. คนใหม่ ตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ เพื่อแทนนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร อดีตผู้ว่าฯ กฟผ. ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

จากการตรวจสอบพบว่า ก่อนหน้านี้นายเทพรัตน์ได้เคยลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. เมื่อปี 2563 แต่พลาดตำแหน่ง จนกระทั่งเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 นายเทพรัตน์ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งรองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้รับตำแหน่ง ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของเอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟผ.  เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563

>> ส่วนประวัติของ ‘เทพรัตน์ เทพพิทักษ์’ ประกอบด้วย   

- วันเกิด : 31 ก.ค. 2508 
- อายุ : 58 ปี

>> ประวัติการศึกษา

- ระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
- ปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์ สาขา Electricity Industry Management and Technology มหาวิทยาลัยสแตรธไคลด์ (University of Strathclyde) สหราชอาณาจักร 

>> ประวัติการอบรม

- หลักสูตร Advanced Management Program จาก Harvard Business School สหรัฐอเมริกา
- หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร 
- หลักสูตร Senior Executive Program จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ 
- หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน จากสถาบันวิทยาการพลังงาน 
- หลักสูตรผู้นำผู้สร้างแรงบันดาลใจสำหรับผู้บริหารระดับสูง จากสถาบันพระปกเกล้า

>> ประวัติการทำงาน 

- ปี 2560 - 2561 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ 
- ปี 2561 - 2563 ดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน 
- ปี 2563 - ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top