Friday, 17 May 2024
เหมืองแร่

‘บิ๊กป้อม’ สั่งคุมเข้ม ‘มาตรการทำเหมืองแร่’ ย้ำหลักใช้แร่อย่างยั่งยืน - เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

(15 มี.ค.66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมได้รับรายงาน แนวทางการดำเนินการส่งเสริมกิจกรรมเมืองแร่ โดยจะมีการพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการที่เข้าร่วมรับสมัคร เพื่อรับรางวัลเหมืองแร่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีธรรมาภิบาล พร้อมทั้งจัดให้มีกิจกรรมเหมืองแร่ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีธรรมาภิบาล ประจำปี พ.ศ.2566 และรับทราบ รมว.ทส. ได้เข้าร่วมการประชุมเสวนาโต๊ะกลม ระดับรัฐมนตรี ณ ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ในหัวข้อบทบาทของรัฐบาลในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานแร่ธาตุที่สำคัญ และการพัฒนาอุตสาหกรรม อย่างยั่งยืน 

พร้อมทั้งได้กล่าวปาฐกถาแสดงบทบาทของไทย ในเวทีระดับโลกต่อการพัฒนาแร่ โดยใช้หลักการใช้ทรัพยากรแร่อย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยึดหลัก BCG Model และแนวทางการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์แร่ อย่างคุ้มค่าเพื่อให้ เป็นสมบัติของคนรุ่นต่อไป โดยเน้นกระบวนการรีไซเคิล และอัปไซเคิล เพื่อลดการใช้ทรัพยากรแร่ และได้มีการหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ความร่วมมือในการสร้างศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านการพัฒนาแร่ธาตุที่สำคัญ ระหว่างภูมิภาค แอฟริกา-เอเชียตะวันตก-เอเชียกลาง

‘หมู่บ้านอีต่อง-เหมืองปิล๊อก’ ดินแดนสวรรค์กลางหุบเขา สัมผัสธรรมชาติ วัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ควรค่าแก่การมาพักผ่อน

‘หมู่บ้านอีต่อง’ ที่แห่งนี้ในยามหลังฝนพรำ จะถูกโอบล้อมไปด้วยไอหมอก งดงามมาก ราวกับดินแดนในฝัน

หมู่บ้านอีต่องเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ติดกับชายแดนไทยพม่า ทางฝั่งจังหวัดกาญจนบุรี เป็นหมู่บ้านโบราณที่มีการทำเหมืองแร่มาแต่สมัยก่อน โดยมีผู้ประกอบการทำเหมืองแร่หลายแห่งในหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันเหมืองแร่ก็ได้ปิดตัวลงไป เหลือไว้เพียงสถานที่ท่องเที่ยวภายในหมู่บ้านอีต่องเท่านั้น ซึ่งที่นี่ถือเป็นอันซีนไทยแลนด์ที่ซุกซ่อนอยู่หลังม่านหมอกของจังหวัดกาญจนบุรี

การเดินทางขึ้นสู่หมู่บ้านอีต่องจากตัวเมืองกาญจนบุรีใช้เส้นทาง ถนนทางหลวงชนบทสาย กจ.4088 อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี (กาญจนบุรี-ทองผาภูมิ) เริ่มจากตัวเมืองกาญจนบุรี ไปยังอำเภอทองผาภูมิ ระยะทางประมาณ 212 กิโลเมตร ใช้เส้นทาง ทล.323 และมุ่งเข้าสู่ตัวอำเภอทองผาภูมิผ่าน ทล.3272 และเข้าสู่ทางหลวงชนบทสาย กจ.4088 โดยจะมีป้ายแนะนำเส้นทางเป็นระยะ ซึ่งจะผ่านสถานที่ท่องเที่ยว อย่างอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ น้ำตกจ๊อกกระดิ่น เนินช้างศึก และไปสุดที่หมู่บ้านอีต่อง โดยตลอดเส้นทางจะเป็นทางลาดยางอย่างดี แต่เมื่อมาถึงช่วงที่เป็นทางขึ้นเขาสู่หมู่บ้านอีต่อง ประมาณ 30 กิโลเมตร ทางจะค่อนข้างอันตรายมีความแคบและถนนขรุขระเป็นบางช่วง ผู้ขับขี่รถขึ้นไปเองควรใช้ความระมัดระวังในการขับขี่อย่างสูง และต้องมีความชำนาญในการขับขี่ แต่ก็ถือว่าไม่ยากจนเกินไป ในการขึ้นสู่หมู่บ้านอีต่อง

จุดไฮไลท์ที่อยากจะแนะนำให้กับทุกคน โดยเฉพาะคนที่ชอบถ่ายรูปก็คือบริเวณเหมืองปิล๊อก ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเหมืองเก่า ปัจจุบันยังคงหลงเหลือ เครื่องมือทำเหมืองโบราณ และยานพาหนะที่ใช้ทำเหมืองไว้อยู่ สามารถใช้เป็นพร๊อบในการถ่ายรูปชิลๆ รับรองว่าทุกคนจะได้รูปภาพสวยๆ เก็บความประทับใจกลับไปอย่างแน่นอน 

และอีกจุดนอกจากเครื่องมือทำเหมืองแล้วภายในเหมืองปิล๊อกแล้ว ก็ยังมีน้ำตกเล็กๆ ที่ไหลลงในบ่อน้ำกลางป่า ซึ่งเป็นภาพบรรยากาศที่สวยงามสุดจะบรรยายจริงๆ ป่าไม้และต้นหญ้าสีเขียวขจีมีไอหมอกลอยละล่องอยู่เต็มพื้นที่ป่า ไปจนถึงน้ำตก ซึ่งในบ่อน้ำที่น้ำตกไหลลงมานั้น มีความใสสะอาดและมีปลาคราฟอาศัยอยู่ด้วย ที่ตรงนี้เปรียบดั่งดินแดนในฝัน เหมือนหลุดเข้าไปอยู่อีกโลกหนึ่งเลยก็ว่าได้ ต้นไม้ในบริเวณนี้ดูสวยงามและแปลกตา ผสมกับสายหมอกหนา ยิ่งทำให้ดูน่าค้นหาและสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับเราเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้บนถนนทางหลวงชนบทสาย กจ.4088 ก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอย่างน้ำตกจ๊อกกระดิ่น ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ มีลักษณะเป็นน้ำตกที่ไหลลงสู่หน้าผาสูงประมาณ 34 เมตร และยังมีเขาช้างเผือก เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิมีความสูงจากระดับน้ำทะเลอยู่ที่ 1,249 เมตร เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบการผจญภัย ก็มีจุดไฮไลต์อยู่ตรงที่ “สันคมมีด” ซึ่งเป็นเส้นทางเดินบนสันเขาแคบ ๆ นอกจากนี้ใกล้กับหมู่บ้านอีต่องยังมีจุดชมวิวเนินช้างศึก เป็นภูเขาสูงที่สามารถมองเห็นวิวโดยรอบได้ 360 องศา เหมาะแก่การขึ้นมาดูพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้าและอาทิตย์ตกดินในยามเย็นอีกด้วย

หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่แขวงทางหลวงชนบทกาญจนบุรี โทร 0-3460-0567

เรื่อง : กันย์ ฉันทภิญญา Content Manager

'ซาอุฯ' ขุดพบเหมืองทองคำใหม่ ยาวนับ 100 กิโลเมตร คุณภาพเกรดพรีเมี่ยม ตีมูลค่าเกือบ 1,800 ล้านล้านบาท

อู้ฟู่ทั้งน้ำมันดิบและทองคำ หลัง 'ซาอุฯ' ขุดเจอเหมืองทองคำใหม่ยาวนับ 100 กิโลเมตรในประเทศ ตีมูลค่าเกือบ 1,800 ล้านล้านบาท คาดเป็นศูนย์กลางทองคำใหม่ในตะวันออกกลาง หนุนดึงดูดต่างชาติมาลงทุนทางตรงในอุตสาหกรรมเหมืองของซาอุฯ

(11 ม.ค.67) BTimes รายงานว่า ทาง 'ซาอุดี อาระเบียน ไมน์นิ่ง' ซึ่งเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมขุดเหมืองแร่และโลหะธรรมชาติในประเทศซาอุดีอาระเบีย เปิดเผยว่า ได้ขุดค้นพบเหมืองแร่ทองคำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ในภูมิภาคมักกะห์ในประเทศซาอุดีอาระเบีย 

โดยจุดที่ขุดค้นเจอทองคำมีลักษณะเป็นเหมืองทองคำแนวนาวทอดตัวเป็นระยะความยาว 100 กิโลเมตรทางตอนใต้ของเหมืองทองคำมาน ซูราห์-มาสซาราห์ ในเมืองมาอาเดน 

เจ้าหน้าที่สำรวจและขุดเจาะ เปิดเผยว่า ตัวอย่างแร่ทองคำที่สุ่มเก็บจาก 2 จุดในแนวเหมืองทองคำ ซึ่งอยู่ลึกลงไปถึง 400 เมตร และอยู่ติดกับมันซูราห์ มัสซาราห์ ตรวจพบว่า เป็นแหล่งสะสมทองคำคุณภาพระดับสูง วัดได้ 10.4 กรัมต่อตัน และ 20.6 กรัมต่อตัน ทำให้มูลค่ายิ่งมากขึ้น ที่สำคัญ ขั้นตอนการสกัดแร่ทองคำจะง่ายขึ้นกว่าปกติ 

(ภูมิภาคมันซูราห์ มัสซาราห์ ในประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นแหล่งที่มีทองคำมากเกือบ 7 ล้านออนซ์นับถึงสิ้นปี 2023 และมีกำลังการผลิตทองคำถึงปีละ 250,000 ออนซ์)

การขุดค้นพบในครั้งนี้ ทำให้เหมืองทองคำในบริเวณดังกล่าวมีทองคำสะสมรวมมากกว่า 200 ตัน ตีมูลค่ามากถึง 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า 1,750 ล้านล้านบาท 

ขณะที่ในปี 2020 เหมืองทองคำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศรัสเซียที่มีชื่อว่า 'ซูคอย ลอก' มีทองคำสะสมราว 40 ล้านออนซ์ และเหมืองทองคำในประเทศแอฟริกาใต้ที่มีชื่อว่า 'เซาท์ ดีพ' มีทองคำสะสมราว 32.8 ล้านออนซ์ อย่างไรก็ตาม ในด้านการผลิตทองคำ กลับพบว่าเหมืองทองคำเนวาด้าในสหรัฐอเมริกาเป็นรายใหญ่ที่สุดด้วยกำลังการผลิตสูงถึงปีละ 3.3 ล้านออนซ์ คิดเป็น 3% ของกำลังการผลิตทองคำทั่วโลก 

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้เคยประกาศนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคใหม่ โดยหวังที่จะลดน้ำหนักการพึ่งพาส่งออกน้ำมันดิบ ในฐานะเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลกมาเป็นเวลานาน ทำให้มองหาช่องทางที่จะผลักดันภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น การท่องเที่ยว การบริการ และการเงิน รวมไปถึงการขุดเหมือง ที่จะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

ซึ่งการค้นพบทองคำในครั้งนี้ อาจช่วยให้ซาอุดีอาระเบีย ลดการนำเข้าโลหะมีค่าได้ 

ทั้งนี้ ในปี 2021 ซาอุดีอาระเบียนำเข้าทองคำมูลค่า 36,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.28 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นสินค้านำเข้ามากเป็นอันดับ 4 รองจากปิโตรเลียมกลั่น อุปกรณ์กระจายเสียง และ ยานพาหนะ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top