Friday, 10 May 2024
เหมืองทองอัครา

กพร. คุมเข้ม!! ‘อัคราฯ’ หลังรีสตาร์ตเหมืองแร่ทองคำ ต้องอยู่ใต้กม. พร้อมอุ้มชุมชน-ชาวบ้านกระทบทุกมิติ

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงกรณีภาคประชาชนขอให้ตรวจสอบ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) รวมถึงความบกพร่องในกระบวนการต่างๆ หลังเตรียมเปิดกิจการเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดพิจิตรอีกครั้ง โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้...

1.) กรณีขาดการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและชุมชนในพื้นที่การต่ออายุประทานบัตรจำนวน < แปลงของบริษัท อัคราฯ เป็นการอนุญาตให้ประกอบกิจการ ในพื้นที่เดิม ไม่ได้มีการเพิ่มหรือขยายพื้นที่ใหม่แต่อย่างใด แม้การต่ออายุประทานบัตรตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 ไม่ได้กำหนดให้ต้องจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ แต่เนื่องจาก กพร. ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็น ความต้องการ และความเดือดร้อนของประชาชนบริเวณรอบพื้นที่เหมืองแร่ของบริษัท อัคราฯ ในรัศมี 500 เมตร และในรัศมี 500 เมตร - 3 กิโลเมตรในพื้นที่จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ในช่วงปี 2558 - 2564 รวม 5 ครั้ง ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่าง เพื่อให้ทุกหลังคาเรือนมีโอกาสได้มีส่วนร่วมเท่าๆ กัน ซึ่งผลปรากฏว่าส่วนใหญ่ต้องการให้เหมืองเปิดดำเนินการ

นอกจากนี้ กพร. ยังได้มอบนโยบายให้บริษัท อัคราฯ ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้ทั่วถึงมากขึ้น และกำชับให้บริษัทฯ ส่งเสริม ช่วยเหลือ ดูแล และพัฒนาชุมชน เพื่อให้การประกอบกิจการได้รับการยอมรับมีความสัมพันธ์ที่ดี และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

2.) การเตรียมงบประมาณเพื่อรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาชุมชนเพียงร้อยละ 0.1 อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ต่างประเทศ ต้องเตรียมงบฯ ดังกล่าวร้อยละ 0.9 นอกจากการดำเนินโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่บริษัทดำเนินการด้วยความสมัครใจแล้วบริษัทยังต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของทางราชการ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัท อัคราฯ ได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อการฟื้นฟูพื้นที่โครงการมากกว่า 600 ล้านบาท และนำเงินเข้ากองทุนประกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตปีละ 10 ล้านบาท ปัจจุบันมีเงินคงเหลือสะสม 80 ล้านบาท และตามกรอบนโยบายบริหารจัดการแร่ทองคำ 2560 และ พ.ร.บ.แร่ 2560 กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุน จำนวน 4 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ กองทุนฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ และกองทุนประกันความเสี่ยง ซึ่งบริษัทต้องนำเงินเข้ากองทุนในอัตราร้อยละ 21 ของค่าภาคหลวงแร่ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 65 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ การจัดเก็บค่าภาคหลวงย้อนหลัง 6 ปี (ปี 2554 - 2559) กพร. จัดเก็บค่าภาคหลวงทองคำและเงินในอัตราก้าวหน้าหรือประมาณร้อยละ 10 ของมูลค่าแร่ จากบริษัท อัคราฯ ได้มากกว่าปีละ 500 ล้านบาท สามารถประมาณการเงินที่บริษัทต้องนำเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท ดังนั้น เงินที่จะถูกจัดสรรไปเพื่อการพัฒนาชุมชนจึงมีมากกว่าร้อยละ 1.0 ของมูลค่าแร่ นอกจากนี้ เงินค่าภาคหลวงที่จัดเก็บได้จะถูกจัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดร้อยละ 50 เพื่อใช้ในการพัฒนาชุมชนอีกด้วย

‘จิราพร’ ซัด ‘บิ๊กตู่’ ยกทรัพยากรชาติ ‘คิงส์เกต’ จี้ เปิดเผยค่าโง่หากไทยแพ้คดีเหมืองทองอัครา

“จิราพร” ซัด “บิ๊กตู่” แร่เนื้อเถือแผ่นดินให้ “คิงส์เกต” จี้ เปิดเผยค่าโง่หากไทยแพ้คดี พร้อมแฉ 11 รายการไทยขอประนีประนอม หวั่นพื้นที่สำรวจแร่ทับซ้อนที่อุทยานฯ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 ก.พ. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เป็นวันที่สอง โดยมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ทั้งนี้ น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงคดีเหมืองทองอัคราตอนหนึ่งว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการเลื่อนออกคำชี้ขาดไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง ถามว่าการเลื่อนแต่ละครั้งใครขอเลื่อน เลื่อนเพราะอะไร ใครได้หรือเสียประโยชน์ เพราะมีข้อสังเกตว่าพอเลื่อนอ่านคำชี้ขาด ไม่นานประเทศไทยจะทยอยคืนสิทธิการทำเหมือง เพิ่มพื้นที่สำรวจแร่ทองคำ และให้สิทธิอื่นๆ เกือบทุกครั้ง และตั้งแต่ประเทศไทยถูกบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด หรือ “คิงส์เกต” ฟ้องร้อง รัฐบาลไทยไม่เคยชี้แจงต่อประชาชนเลยว่าคิงส์เกต ฟ้องร้องไทยประเด็นใดบ้าง และเรียกค่าเสียหายเท่าไหร่ จากการเทียบเคียงกรณีเหมืองทองในประเทศเวเนซุเอลา ที่มีความคล้ายคลึงกันประเมินได้ว่า ถ้าไทยแพ้คดีจะต้องจ่ายขั้นต่ำประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยบอกว่าเป็นตัวเลขที่คาดการณ์ไปเอง หากเป็นเช่นนั้นตนขอถามว่าทำไมไม่กล้าบอกความจริงกับประชาชนว่าคิงส์เกตเรียกว่าค่าเสียหายเท่าไหร่ 

“อย่าอ้างว่าตอบไม่ได้เพราะเป็นความลับที่อนุญาโตตุลาการไม่ให้เปิดเผย เพราะในแถลงการณ์ของคิงส์เกตที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 61 ระบุว่า อนุญาโตตุลาการให้กระบวนการพิจารณาเป็นความลับ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามการทำหน้าที่ตามกฎหมาย การตอบคำถามส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจนิติบัญญัติ เป็นหน้าที่ตามกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์จะบ่ายเบี่ยงไม่ตอบไม่ได้ อีกทั้งกระบวนการตอนนี้อนุญาโตตุลาการพร้อมอ่านคำชี้ขาดแล้ว แต่มีการขอเลื่อนไปเรื่อยๆ” น.ส.จิราพร กล่าว 

น.ส.จิราพร กล่าวอีกว่า สรุปแล้วรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์กับคิงส์เกต จะขอยกเลิกกระบวนการอนุญาโตตุลาการหรือจะเดินหน้าเจรจากัน หรือเลือกที่จะไม่เจรจา แต่จะสู้คดีกันจนถึงที่สุด หากไทยเลือกสู้คดีจนถึงที่สุดก็มีโอกาสแพ้คดีสูงมาก และต้องจ่ายค่าโง่ในรูปแบบเงิน ทองคำ หรือทรัพยากรประเทศ ซึ่งตรงกับข้อมูลของคิงส์เกตที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 64 โดยระบุว่าคิงส์เกตมีโอกาสที่จะได้ผลลัพธ์ที่สำเร็จจากชั้นอนุญาโตตุลาการ หากการเจรจากับไทยไม่สามารถสรุปผลสำเร็จได้ หมายความว่าเขามั่นใจว่าถ้าตัดสินชี้ขาด เขาจะชนะคดีแน่นอน หากเป็นเช่นนั้นคนที่ต้องรับผิดชอบคือพล.อ.ประยุทธ์หรือประเทศ พล.อ.ประยุทธ์จะควักเงินตัวเองจ่ายหรือเอางบประมาณแผ่นดินไปจ่าย

น.ส.จิราพร อภิปรายอีกว่า ขอให้พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงตรงไปตรงมา ว่าการเปิดทางให้คิงส์เกตนำผงเงิน ผงทองคำ ที่ถูกอายัดไว้ไปขาย การให้สิทธิสำรวจแร่เกือบ 4 แสนไร่ การให้สิทธิประทานบัตร 4 แปลง เป็นส่วนหนึ่งของการประนีประนอมเจรจายอมความหรือไม่ คดียังไม่ถึงที่สุดรัฐบาลก็ให้สิทธิเปิดเหมืองทำต่อ และคาดว่าที่รออนุญาตเกือบ 6 แสนไร่ จะได้รับการอนุมัติอย่างแน่นอน เป็นไปได้อย่างไรที่คดีพิพาทในเหมืองเดิมพื้นที่ 3 พันกว่าไร่ ยังไม่ได้ข้อยุติ แต่ตอนนี้นอกจากจะได้พื้นที่เดิมคืนยังได้สิทธิใหม่เพิ่มเติม เท่ากับต้องใช้สมบัติชาติเฉียด 1 ล้านไร่ เพื่อสังเวยค่าโง่จากการใช้มาตรา 44 สั่งปิดเหมืองทองอัครา

“รายการเหล่านั้นเป็นข้อแลกเปลี่ยน ในการเจรจาประนีประนอมยอมความกันหรือไม่ คำตอบอยู่ในแถลงการณ์ของคิงส์เกต ต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 64 ระบุว่า คิงส์เกตและรัฐบาลไทย ได้ร่วมกันร้องขอคณะอนุญาโตตุลาการ ชะลอคำชี้ขาดไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 64 เพื่อขยายเวลาให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาหาข้อยุติข้อพิพาทร่วมกัน และคิงส์เกตได้เจรจากับรัฐบาลไทยเพื่อพิจารณาข้อตกลง ซึ่งจะต้องทำตามขั้นตอนมีทั้งหมด 11 รายการ ตรงนี้ชัดเจนว่ามีการเจรจาประนีประนอมยอมความกัน” น.ส.จิราพร กล่าว

สภาเดือด!! ปมเหมืองทองอัครา’ หลัง ‘ผู้กองเบิร์ด’ ลุกตอบ!! ทำ ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ประท้วงวุ่น อยากจี้ ‘บิ๊กตู่’ ให้ตอบเอง

ศึกซักฟอกวันที่สองระอุ! ส.ส. พปชร. ลุกขึ้นแจงปมเหมือนทองอัคราแทน “บิ๊กตู่” ด้าน ส.ส. เพื่อไทย-ก้าวไกลดาหน้าประท้วงวุ่น ชี้ ส.ส. อย่างจุ้น จี้ นายกฯ ตอบเอง

18 ก.พ. 65 ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณา "ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี" วันที่สอง โดยมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม

‘ผู้กองเบิร์ด’ ร.อ.จองชัย วงศ์สายทอง ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ ได้ลุกขึ้นชี้แจงเรื่องการสั่งระงับการทำเหมืองทองคำชั่วคราวทั่วประเทศ รวมถึงเหมืองทองอัคราว่า มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายบางประการที่คลาดเคลื่อนตนจึงขอชี้แจงให้ที่ประชุมเข้าใจ เรื่องความชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งเพื่อระงับข้อพิพาทในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบเหมืองแร่ทองคำ หากย้อนเวลากลับไปก่อนมีคำสั่งระงับชั่วคราวนั้น ข้อพิพาทเรื่องเหมืองทองคำถูกสะสมมายาวนาน หลายสมัยรัฐบาล มีปัญหาประท้วง การคัดค้านการทำเหมืองและปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยรอบ โดยเฉพาะกรณีเหมืองทองอัครา

ทั้งนี้น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อภิปรายรัฐบาลในประเด็นคดีเหมืองทองอัคราลุกขึ้นประท้วงร.อ.จองชัยว่า ตนได้อภิปรายซักถามไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ตนไม่ได้ถามส.ส. ดังนั้นขอให้ประธานที่ประชุมวินิจฉัยการอภิปรายของร.อ.จองชัยด้วย จากนั้นนายศุภชัย กล่าวว่า ญัตตินี้สมาชิกทุกฝ่ายมีสิทธิ์เสนอแนะข้อเท็จจริง และเสนอปัญหาต่อรัฐมนตรี ซึ่งร.อ.จองชัยก็มีสิทธิ์เสนอข้อมูลที่อาจไม่ตรงกัน ก็ให้สภาฯ และประชาชนเป็นผู้พิจารณา

ด้านร.อ.จองชัย ได้อภิปรายต่อว่า มีคณะแพทย์กลุ่มหนึ่งไปตรวจพบปัญหาจากการสุ่มตรวจประชาชนรอบเหมือง โดยตรวจพบสารพิษในเลือดและโลหะหนักหลายร้อยคน ซึ่งข้อเท็จจริงก็ไม่ทราบว่าเป็นผลโดยตรงจากการทำเหมืองแร่หรือไม่ อย่างไรก็ตามหากเป็นท่านอาศัยบริเวณรอบเหมือง เละมีประชาชนเจ็บป่วยจะคิดว่าเป็นเพราะเหตุใด หากท่านเป็นรัฐบาลและมีอำนาจสั่งการในตอนนั้นจะทำอย่างไร การที่พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจเลือกใช้มาตรา 44 เพื่อหยุดยั้งความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและพิทักษ์สิ่งแวดล้อมถือว่าเหมาะสมแล้ว แสดงถึงความเป็นผู้นำ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนร่วม และประชาชนเป็นสำคัญ และต้องเป็นการใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการใช้กฎหมายปกติก็ไม่ทราบว่าผลตรวจสอบจะเสร็จสิ้นเมื่อใด จึงต้องใช้กฎหมายพิเศษ มันเป็นเรื่องเร่งด่วน และการออกกฎหมายดังกล่าวก็ถูกต้องตามหลักนิติธรรม มีเหตุผลถูกต้อง ไม่ใช่ลุแก่อำนาจเพื่อรังแกบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) แต่ปฏิบัติต่อเหมืองแร่ทองคำทุกแห่งเท่าเทียมกัน เป็นการระงับการดำเนินการชั่วคราว ไม่ใช่การปิดเหมือง ส่วนหลักอนุญาโตตุลาการ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ดสามารถเรียกร้องค่าเสียหายเราได้ และเป็นสิทธิ์ของไทยตามปกติที่ต้องจ้างทนายความต่อสู้คดี และอนุญาโตตุลาการเป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาท ไม่ใช่การถูกฟ้องในศาลระหว่างประเทศ กระบวนการมุ่งให้มีการมีการเจรจาประนีประนอม หลายคดีก็ถอนฟ้องยอมความกัน ไม่ได้ระบุว่าใครแพ้ใครชนะ ยอมกันทั้งสองฝ่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างที่ร.อ.จองชัย อภิปรายนั้น นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นประท้วงนายศุภชัยให้ควบคุมการประชุมว่าการที่ร.อ.จองชัยดำเนินการเป็นการชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้อยู่ในญัตติ โดยนายศุภชัยพยายามชี้แจงว่าสมาชิกแต่ละฝ่ายมีสิทธิ์นำเสนอข้อมูลของตนเองในที่ประชุมได้ และเป็นสิทธิ์ของสมาชิกชี้แจงได้

ขณะที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงว่า ตนอยากถามนายกฯ ว่า จะมอบหมายให้สมาชิกตอบแทนท่านหรือไม่ จริงๆ แล้วท่านต้องเป็นคนตอบเอง ท่านรับรองในคำพูดของสมาชิกหรือไม่ อยากให้นายกฯ ได้ตอบว่าจะอนุญาตให้เอาข้อมูลที่สมาชิกนำเสนอเป็นข้อมูลที่ท่านตอบหรือไม่ หรือว่าท่านจะตอบเองในเรื่องเหมืองทองอัคราที่เสียหายหลายแสนล้าน ทำให้นายศุภชัย กล่าวว่า นายพิเชษฐ์จะประท้วงก็ประท้วง ไม่ใช่การอภิปราย ก่อนนายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ตามข้อบังคับไม่มีใครขวางท่านประธานได้เลย ท่านประธานวินิจฉัยแต่คำเดิม ซึ่งท่านเบี่ยงเบนข้อบังคับของที่ประชุมมาหลายครั้งแล้ว ประธานต้องเป็นกลาง และต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของสภาฯ อย่างเคร่งครัด

จากนั้นนายกฯ กำลังจะลุกขึ้นชี้แจง แต่นายศุภชัย ได้ห้ามไว้ พร้อมระบุว่า “ร.อ.จองชัย ยังอภิปรายไม่จบ ท่านนายกฯ ใจเย็นๆ รอนะครับ เมื่อประธานวินิจฉัยแล้วถือว่าเป็นเด็ดขาด ซึ่งตามข้อบังคับสามารถอภิปรายสนับสนุนและคัดค้านได้ ดังนั้นร.อ.จองชัย จึงสามารถอภิปรายสนับสนุนหรือคัดค้านได้”

ร.อ.จองชัย กล่าวช่วงท้ายต่อว่า รัฐบาลทำถูกแล้ว เพราะการเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้ในการนำข้อมูลลับในทางคดี มันขัดต่อหลักกฎหมายอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งส.ส.ฝ่ายค้านเคยอ้างอิงนำข้อมูลความลับมาเปิดเผย ตนขอตั้งคำถามว่าเป็นการสุ่มเสี่ยงขัดต่อกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ อาจจะเสียหายต่อรูปคดีและนำไปสู่ประเทศชาติหรือไม่ ส่วนการเจรจาไกล่เกลี่ยเกิดการประนีประนอมควบคู่กับการดำเนินการตามอนุญาโตตุลาการนั้น ก็เป็นวิธีการปฏิบัติโดยปกติสากลทั่วโลกทำกัน ดังนั้นการที่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำอีก 44 แปลง ก็เป็นการอนุญาตตามคำขอเดิมที่เคยยื่นขอไว้แล้ว ไม่ใช่การนำประโยชน์หรือแผ่นดินของชาติไปยกให้แต่อย่างใด ตนจึงขอเรียนข้อมูลที่ถูกต้องให้เข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง 

ย้อนไทม์ไลน์เหมืองทองอัครา กับ คำถามน่าคิด!! หาก ‘คิงส์เกต’ มั่นใจ ชนะคดี รับค่าชดเชย 30,000 ล้านบาท เหตุใดทางบริษัทยังคิดจะมาเจรจากับรัฐบาลไทยต่อ?

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 65 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้ลุกขึ้นชี้แจงกรณีเหมืองทองอัครา จากข้อท้วงถามของ ‘จิราพร สินธุไพร’ ส.ส.เพื่อไทย ที่จี้ถามถึงความเสียหายที่ประเทศต้องจ่าย หากแพ้คดีเหมืองทองอัครา ว่า…

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ฝ่ายไทยไม่ได้เป็นผู้เริ่มขอเจรจาเกี่ยวกับคดีเหมืองทองอัครา แต่คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ให้คำแนะนำให้ไทยเจรจากับบริษัทคิงส์เกต ซึ่งที่ผ่านมามีการเลื่อนการเจรจามาแล้ว 3 ครั้ง เนื่องจาก COVID-19 โดยเป็นการตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย แต่การเจรจามีความคืบหน้า และมีทิศทางในทางบวก ซึ่งจะมีประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย

“ประเด็นเลื่อนออกคำชี้ขาดที่ถูกกล่าวหาว่า การเลื่อนแต่ละครั้งจะมีการให้สิทธิประโยชน์เหมืองทองอัคราทุกครั้ง ยืนยันว่า เป็นความเท็จ การเลื่อนออกคำชี้ขาดไม่เกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์หรือการอนุญาตใดๆ”

ส่วนกรณีบริษัทคิงส์เกต เปิดเผยข้อมูลได้ แต่ฝ่ายไทยไม่เปิดเผยข้อมูล ขอชี้แจงว่า ตราบใดที่ยังไม่ออกคำชี้ขาด ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการได้ ส่วนข้อมูลที่บริษัทคิงส์เกตนำมาเปิดเผย มาจากข้อมูลการเจรจายุติข้อพิพาทที่ฝ่ายบริษัทคิงส์เกตอยากจะได้ และเรียกร้อง ไม่ใช่การตกลงจากทั้ง 2 ฝ่าย

สำหรับข้อกล่าวหาว่า ฝ่ายไทยจะแพ้และต้องเสียค่าโง่กว่า 30,000 ล้านบาทนั้น จากข้อมูลงบการเงินของบริษัทอัครา ซึ่งได้ประกอบกิจการเหมืองทองในประเทศตั้งแต่ 2543 จนถึง 2558 หรือ 15 ปี พบว่า มีกำไรตกปีละ 800 ล้านบาท เมื่อเทียบกับค่าเสียหายที่ ส.ส.จิราพรอ้างมา บริษัทจะต้องประกอบกิจการถึง 38 ปี

“หากบริษัทมั่นใจว่าจะชนะคดีแน่ๆ และได้รับเงิน 30,000 ล้านบาท บริษัทจะมาเจรจากับรัฐบาลไทยได้อย่างไร”

>> ไล่ไทม์ไลน์อาชญาบัตรสำรวจแร่ 44 แปลง
ส่วนการอนุญาตต่างๆ ทั้งให้สิทธิสำรวจแร่ และให้ขนผงทองคำออกไปขาย เป็นการประนีประนอมเพื่อขอถอนฟ้องคดี โดยกรณีการให้ประทานบัตร 4 แปลงนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2544 เมื่อบริษัทเริ่มเปิดเหมืองและผลิตทองคำเชิงพาณิชย์ ตรงกับสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และมีการยื่นคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่ 44 แปลง

บริษัทได้ทยอยยื่นมาตั้งแต่ 2546-2548 และในปี 2549 คำขออยู่ระหว่างการพิจารณามาตามลำดับ เตรียมเสนอขออนุมัติ แต่เกิดรัฐประหารก่อน จนมาปี 2550 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มี ครม. ให้ชะลอการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำไว้ก่อน เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายทองคำที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำนโยบายทองคำให้แล้วเสร็จ

จากนั้นผ่านมาหลายรัฐบาลมีการปรับปรุงนโยบายทองคำอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปี 2557 มีการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองว่า ประสบปัญหาสุขภาพจากการทำเหมือง อีกทั้งความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ มีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุน 

พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. จึงส่งเจ้าหน้าที่ส่งไปตรวจสอบ และมีข้อเสนอให้ยุติการทำเหมืองไว้ก่อน โดยพล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่ง คสช. ให้ยุติการขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ และการทำเหมืองชั่วคราว และให้ไปปรับปรุงนโยบายทำเหมืองใหม่ โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน เพื่อให้มีมาตรการป้องกันปัญหาสุขภาพในประชาชนที่รัดกุม

1 ส.ค. 60 ครม. มีมติรับทราบนโยบายทองคำ มีผลให้บริษัทอัคราสามารถยื่นขออาชญาบัตรพิเศษได้ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ไม่ได้มาเดินเรื่องต่อเพราะกลัวจะกระทบต่อรูปคดีนั้น และตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นเป็น 2 เท่า ทำให้บริษัทอัคราตัดสินใจมายื่นขออาชญาบัตรสำรวจแร่ ก่อนจะนำไปสู่การอนุมัติตามขั้นตอน

ทั้งนี้ หากบริษัทอัคราสำรวจแร่และสามารถประกอบการทำเหมืองทองคำได้ รัฐจะได้รับประโยชน์จากค่าภาคหลวงแร่ และค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยจากข้อมูลการประกอบการของบริษัทอัครา ในอดีต 2546-2559 รัฐได้รับประโยชน์ทางด้านภาษีทั้งหมด 5,596 ล้านบาท รวมทั้งมีการจ้างงานในพื้นที่กว่า 2,000 คน

🔎 เปิดอีกมุมด้านเศรษฐกิจ ‘เหมืองทองอัครา’

💎 ภาษีทางตรง 1,000 ลบ./ปี
💎 คืนกลับพัฒนาท้องถิ่น 60%
💎 เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ 10,000 ลบ./ปี

📝นโยบายแร่ทองคำ สำหรับใครก็ตามที่จะมาลงทุน จะต้องลงทุนด้วยเทคโนโลยีที่ดี ดูแลทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี ดูแลชุมชนที่ดี และแบ่งปันผลประโยชน์ให้ประเทศไทยมากที่สุด


ที่มา : คุณนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้สัมภาษณ์ เพจ Open Up

‘สุริยะ’ มั่นใจเจรจาคิงส์เกตจะเป็นไปด้วยดี แจง ครม.ไม่ได้อนุมัติงบเพิ่มสู้คดีคิงส์เกต

'สุริยะ' แจง ครม.ไม่ได้อนุมัติงบเพิ่มสู้คดีคิงส์เกต ชี้ เป็นเพียงการขยายกรอบเวลา รับหารือแนวทาง 'วิษณุ' เน้นการเจรจา พร้อมเตรียมบินออสเตรเลียพรุ่งนี้

เมื่อเวลา 10.55 น. วันที่ (22 ก.ย. 65) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 20 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบการอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อต่อสู้คดีกับบริษัทคิงส์เกต ในคดีเหมืองทองอัครา โดยชี้แจงว่า ในที่ประชุมครม.ไม่มีการอนุมัติงบเพิ่มเติมแต่อย่างใด เป็นข้อมูลที่คาดเคลื่อน เป็นเพียงงบเดิมที่มีการขยายกรอบระยะเวลาการสู้คดี เนื่องจากการเจรจายังไม่สิ้นสุด จึงขอชี้แจ้งว่า ไม่ได้มีการเพิ่มงบในการสู้คดีแต่อย่างใด

ชาวบ้านแห่สมัครงาน 'เหมืองทองอัครา' หลังหยุดกิจการไปเกือบ 6 ปี

เหมืองแร่ทองคำอัคราพิจิตรที่หยุดกิจการไปเกือบ 6 ปี วันนี้ประกาศรับสมัครพนักงานระดับปฏิบัติการกว่า 160 ตำแหน่ง เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ขอรับใบสมัคร ปรากฏว่าแห่กันมาเป็นพันคน หวังมีงานทำมีรายได้อยู่ใกล้บ้าน ในขณะที่เหมืองทองพร้อมเดินเครื่องปลายปี 65 หรือต้นปี 66 เชื่อมั่นเศรษฐกิจชุมชนที่เงียบเหงาจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง

(10 พ.ย. 65) นายวรงค์ สราญฤทธิชัย ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายบริหารองค์กร บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงความคืบหน้าของการดำเนินกิจการว่าขณะนี้ภายในโรงงานเริ่มดำเนินการซ่อมแซมโรงงานครั้งใหญ่ที่เรียกว่า MAJOR OVERHAUL เครื่องจักร รวมถึงอาคารสถานที่สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในโรงงาน ซึ่งดำเนินการมาแล้วเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งการซ่อมแซมเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ 

ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมการเปิดดำเนินกิจการฝ่ายบุคคลจึงได้ประกาศรับสมัครพนักงงานใน 11 แผนก 166 อัตรา โดยเชิญชวนผู้ที่สนใจมาขอรับใบสมัครได้ด้วยตนเองที่สำนักงานอัคราเพื่อชุมชน ในช่วงระหว่างวันที่ 7-16 พ.ย. 65 (เว้นวันเสาร์-อาทิตย์) หรือ จะสมัครผ่านเว็ปไซต์ ออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่บริษัทอัคราได้ประกาศอย่างเปิดเผย

ปรากฏว่าได้รับความสนใจ มีผู้แห่กันมาขอรับใบสมัครในช่วง 3 วันที่ผ่านมา มากกว่า 1 พันราย โดยมาขอใบสมัครแล้วนำเอกสารไปกรอกข้อความที่บ้านและให้นำมายื่นในวันที่ 14-16 พ.ย. 65 โดย คุณสมบัติหลัก ๆ ของผู้ที่สมัครมี 4 ข้อด้วยกันคือ 

1. เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ 
2. มีทัศนคติที่ดีต่อการทำเหมืองแร่ 
3. ถ้าเป็นคนในพื้นที่จะได้รับพิจารณาเป็นพิเศษ 
4. ต้องเป็นผู้ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

นายวรงค์ สราญฤทธิชัย ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายบริหารองค์กร บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ตอบคำถามถึงงบประมาณที่ใช้ในการ MAJOR OVERHAUL เครื่องจักร รวมถึงอาคารสถานที่สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในโรงงาน ว่า ใช้ทุนดำเนินการมากถึง 500 ล้านบาท สาเหตุเนื่องจากโรงงานหยุดกิจการมาเกือบ 6 ปีแล้ว 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top