Sunday, 19 May 2024
เศรษฐพุฒิสุทธิวาทนฤพุฒิ

กมธ.งบ 67 เดือด!! ที่ประชุมรุมฉะแบงก์ชาติ โวย 'ผู้ว่า ธปท.' ไม่มาชี้แจงเอง หลังติดภารกิจด่วน

(10 ม.ค. 67) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 2 มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานกมธ. เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งได้พิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจ

โดยเชิญผู้แทนจากกระทรวงการคลัง สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ มาให้ข้อมูล

ในช่วงแรกของการประชุม กมธ. จากพรรคเพื่อไทย ได้แก่ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ และนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีตสส.เชียงราย แสดงความไม่พอใจ ต่อผู้แทน ธปท. หลังจากนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. ไม่มาชี้แจงด้วยตัวเอง ทั้งที่การประชุมกมธ.ในวาระนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งผู้แทนของ ธปท. ยืนยันว่านายเศรษฐพุฒิ มีภารกิจเร่งด่วน แต่ยืนยันว่าตนได้รับมอบหมาย จากผู้ว่าฯ ธปท. ให้มาชี้แจงต่อ กมธ. อย่างเป็นทางการ

จากนั้น กมธ.ในสัดส่วนพรรคเพื่อไทย หลายคนได้ท้วงติงการทำงานของ ธปท.หลายเรื่อง โดยเฉพาะการปล่อยให้เกิดช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝาก ห่างกันมาก จนสร้างภาระให้กับประชาชนที่เป็นหนี้จำนวนมาก ซึ่งต้องประสบปัญหามาตั้งแต่การระบาดของโควิด-19

ดังนั้น แม้ ธปท. จะมีหน้าที่ดูแลธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้สถานะของธนาคารมีความมั่นคง เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเงินของประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งควรพิจารณาถึงความเดือดร้อนของประชาชนด้วย หลังจากธนาคารพาณิชย์ ทำกำไรได้มากถึง 2 แสนล้านบาท

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้สอบถามผู้แทน ทั้ง 4 หน่วยงาน ถ้าจะนิยามความหมายของคำว่า วิกฤตเศรษฐกิจ จะต้องนิยามว่าอย่างไร และจะต้องมีปัจจัยอะไรบ้างที่แสดงให้เห็นถึงความเป็น วิกฤตเศรษฐกิจ

ด้านผู้แทน ธปท. ยืนยันว่า ธปท.โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน จากการปรับตัวที่สูงขึ้นของดอกเบี้ย กนง. จึงมีมาตรการไปยังธนาคารเอกชน ให้ลงไปดูแลลูกหนี้ เพื่อให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งก่อนและหลังเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอล นอกจากนี้การปรับดอกเบี้ย นโยบายในปัจจุบัน กนง.มองว่ามีความเหมาะสม กับศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ และสอดคล้องกับการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ

ตัวแทน ธปท. กล่าวว่า ส่วนการนิยามคำว่า วิกฤตเศรษฐกิจ จะต้องพิจารณาข้อมูลรอบด้าน และหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น เช่น สถาบันการเงินที่มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมาก จนกระทบต่อสถานะธนาคาร การเกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นเวลานาน หรือการเกิดวิกฤตจากสถานการณ์ไม่คาดคิด เช่น โควิด-19 พอจะเห็นได้ว่าเป็นตัวอย่างของคำว่า ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’ หรือแม้แต่ปัญหาอุทกภัยที่เคยทำให้การเจริญเติบโตเศรษฐกิจของประเทศติดลบ จนต้องออก พ.ร.ก. ในช่วงเวลาขณะนั้น

ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ สวยหรู!! แรงกระเพื่อมสั่น ‘รัฐบาล’ สะเทือน ‘ผู้ว่าธปท.’

ต้อนรับปีมังกร 9 ธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการออกมา มีกำไรมากกว่า 2.26 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2566 

9 ธนาคารพาณิชย์ มีผลประกอบการดีทุกธนาคาร ไล่จาก ‘SCB’ ทำกำไรได้สูงสุด รองลงมา เป็น ‘KBANK’ และอันดับที่ 3 ‘BBL’ และ มีถึง 3 ธนาคาร ที่สามารถทำกำไรได้สูงสุดในรอบ 10 ปี นำโดย BBL, KTB และ TTB ซึ่งหากดูกำไรสุทธิโดยรวมทั้ง 9 ธนาคาร สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 226,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.44% หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 192,578 ล้านบาท 

รวมทั้งธนาคารขนาดกลาง ‘TISCO’ ปีนี้มีกำไรขึ้นมาอยู่ที่ 7,302 ล้านบาท เป็นผลงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน

กำไรกลุ่ม ‘ธนาคาร’ เลยกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอย่างมาก หลังมีการหยิบยกประเด็น ‘กำไร’ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ ‘NIM’ ว่า สูงเกินไปหรือไม่? โดยที่ประชาชนเป็นเสมือนผู้รับ ‘ภาระดอกเบี้ย’ ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์บางธนาคารสามารถทำกำไรสุทธิได้เติบโตสูงสุดในปีนี้ 

หากมาดูถึงปัจจัยที่ทำให้หลายธนาคารมีกำไรสุทธิสูงสุด ส่วนหนึ่งย่อมมาจาก ‘รายได้ดอกเบี้ย’ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในปัจจุบันที่ 2.50% ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลประกอบการปีนี้อย่างมาก

ในปี 2566 มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จำนวน 5 ครั้ง จากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทั้งหมด 6 ครั้ง เพิ่มจาก 1.25% ในปี 2565 มาอยู่ที่ 2.50% หรือปรับสูงขึ้นเท่าตัว

อีกด้านของงบการเงิน ในการ ‘ตั้งสำรองหนี้เสีย’ สำหรับธนาคารทั้ง 9 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยธนาคารที่มีการตั้งสำรองสูงที่สุด คือ KBANK ตั้งสำรองสูงถึง 5.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่ KTB ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นถึง 52% หรือ 3.7 หมื่นล้านบาทหากเทียบกับปีก่อนหน้า, BAY ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 33.64%, TTB เพิ่มขึ้น 21% ส่งผลให้สำรองโดยรวมทั้ง 9 แบงก์ เพิ่มมาอยู่ที่ 229,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.03% จากปีก่อน ที่สำรองอยู่ที่ 193,104 ล้านบาท 

ในส่วน ‘หนี้เสีย’ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ ‘NPL’ พบว่า โดยรวมปรับลดลง มาอยู่ที่ 498,720 ล้านบาท ลดลง 0.13% จาก 499,358 ล้านบาท แต่บางธนาคาร หนี้เสียยังปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับคุณภาพหนี้ที่อาจตกชั้นในระยะข้างหน้า เช่น SCB หนี้เสียเพิ่มขึ้นที่ 1.58%, KBANK 1.84%, BAY เพิ่มขึ้น 14.2%, TISCO เพิ่มขึ้น 14.2%, LHFG เพิ่มขึ้น 20% และ CIMBT เพิ่มขึ้นเกือบ 6%

ประเด็นดังกล่าวเริ่มกลายเป็นแรงกระเพื่อมต่อรัฐบาล เพราะในมุมมองของประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ รู้สึกถึงความเดือดร้อนจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง โดยช่วงค่ำวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทวีตข้อความว่า…

“จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SMEs อีกด้วย

ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชน ไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ”

และวันที่ 8 มกราคม 2567 นายกฯ เศรษฐา ก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ออกมาติงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจว่า “ความจริงแล้วเราพูดคุยกันตลอดอยู่แล้วในเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย ตนมีจุดยืนชัดเจนว่า ‘ผมไม่เห็นด้วย’ แต่ท่าน (แบงก์ชาติ) ก็มีอำนาจในการขึ้น”

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ปัจจุบันเงินเฟ้อต่ำมาก ดังนั้น อาจจะต้องฝากให้พิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย และระบุว่าหลังจากนี้จะมีการพูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 มกราคม 2567 ถึงกรณีที่เอกชนเริ่มเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างไรหรือไม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 10 มกราคม 2567 ได้มีการพูดคุยกับ รมช.คลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในเวลา 13.30 น. โดยมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง เป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญและนำข้อมูลมาหยิบยกกัน

และคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องว่า แรงกระเพื่อมนี้ จะส่งผลอย่างไรกับความสัมพันธ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย กับรัฐบาลที่นำโดย นายกฯ เศรษฐา ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย ในภาวะที่โครงการ Digital Wallet ที่ก็ยังคงไม่สามารถหาจุดลงตัวในการดำเนินการได้

เรื่อง : The PALM

'ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ' ชี้!! ศก.ไทยมีการฟื้นตัว แต่ล่าช้ากว่าที่คาด ยัน!! ไม่สามารถแก้ไขด้วยมาตรการกระตุ้นระยะสั้นของรัฐบาล

(24 ม.ค.67) ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันว่า ‘เศรษฐกิจประเทศไทย’ วิกฤตแล้วหรือไม่ โดยล่าสุด นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวต่างประเทศ รอยเตอร์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว เพียงแต่ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ที่ต่ำกว่าคาดการณ์ แต่ก็ไม่ได้บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต

นายเศรษฐพุฒิ บอกว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และไม่สามารถแก้ไขด้วยมาตรการกระตุ้นระยะสั้นของรัฐบาล และสิ่งที่เกิดขึ้น คือ เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวแต่ล่าช้ากว่าที่คาดไว้ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับคำว่า ‘วิกฤต’

ถามต่อว่า ถ้าต้องการเพิ่มอัตราการขยายตัวที่มีศักยภาพระยะยาว ทำอย่างไร 

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ บอกว่า ต้องดำเนินการเรื่องของโครงสร้าง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่ไม่ใช่การใช้มาตรการกระตุ้นระยะสั้น ส่วนประเด็นของอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบ คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน ม.ค., ก.พ. หรืออาจถึงเดือน มี.ค. แต่เศรษฐกิจไทยไม่ได้เผชิญภาวะเงินฝืด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และในระยะยาวเงินเฟ้อจะยังคงเป็นบวก 

ประเด็น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ผู้ว่าแบงก์ชาติ ระบุว่า อยู่ในภาวะที่เป็นกลาง และมีเพียง 2 ประเทศในโลกที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำกว่าไทย คือ ญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์

ส่วนการพบกันของ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ และ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นไปด้วยดี โดยเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์ ขณะที่รักษาความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารแห่งประเทศไทย

‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ ส่งหนังสือด่วนถึง ครม. เตือน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ก่อหนี้มหาศาล

(24 เม.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 22 เม.ย.67 เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 เม.ย.67 มองว่าโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ ต้องใช้เงินจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดภาระหนี้ผูกพันต่อรัฐบาลในอนาคตดังนี้…

1. ความจำเป็น โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ 

1.1 ควรดูแลครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิผลคุ้มค่า และใช้งบประมาณลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ 15 ล้านคน ซึ่งดำเนินการได้ทันที และใช้งบประมาณเพียง 150,000 ล้านบาท และควรทำแบบแบ่งเป็นระยะ (phasing) เพื่อลดผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลัง โดยความจำเป็นกระตุ้นการบริโภคในวงกว้างมีไม่มาก โดยในปี 2566 การบริโภคภาคเอกชนของไทยขยายตัวร้อยละ 7.1 เทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงปี 2553 - 2565 ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 3 ต่อปี

1.2 โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ก่อให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว และหากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น เกณฑ์การประเมินของ Moody’s ได้กำหนดอัตราส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ของประเทศในกลุ่ม Baal (Rating ของไทยในปัจจุบัน) ไว้ว่าไม่ควรเกินร้อยละ 11 มองว่า โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะทำให้มีอัตราสูงกว่าเกณฑ์ในปี 2568 หากไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมภาครัฐและภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น

1.3 การเพิ่มวงเงินกู้ปีงบประมาณ 2568 จนเกือบเต็มกรอบที่กฎหมายกำหนด ทำให้เหลือวงเงินกู้ได้อีกราว 5,000 ล้านบาท เทียบกับวงเงินคงเหลือเฉลี่ยในปีก่อนๆ มากกว่า 100,000 ล้านบาท อาจกระทบการจัดสรรวงเงินจากงบประมาณปี 2567 ทำให้งบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นลดลงจนอาจไม่เพียงพอรองรับกรณีฉุกเฉิน ภายใต้สถานการณ์การเมืองโลกความไม่แน่นอนสูงและภาวะภัยธรรมชาติมีความรุนแรงมากขึ้น

1.4 รัฐบาลควรคำถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณ 500,000 ล้านบาท ไปใช้ลงทุนแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ตัวอย่างการใช้งบประมาณที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการพัฒนาบุคลากรการแพทย์ (ใช้งบเฉลี่ย 3.8 ล้านบาทต่อตำแหน่ง) สร้างบุคลากรการแพทย์ได้กว่า 130,000 ตำแหน่ง โครงการ เรียนฟรี 15 ปี สำหรับนักเรียนทั่วประเทศ (83,000 ล้านบาทต่อปี) สนับสนุนได้นานถึง 6 ปี โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม - ชุมพร (40,000 ล้านบาทต่อสาย) พัฒนาได้กว่า 10 สาย โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (190,000 ล้านบาทต่อสาย) พัฒนาได้กว่า 2 สาย

>> 2. แหล่งเงินสำหรับดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

วงเงิน 500,000 ล้านบาท นำมาจากงบประมาณรายจ่าย และกู้เงินจาก ธ.ก.ส. โดยรัฐบาล รับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ต้องไม่ขัดแย้งกับการควบคุมระบบเงินตรา และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร ควรมีความชัดเจนทางกฎหมายว่าการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจและอยู่ภายใต้กฎหมาย วัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.

เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้อง และรอบคอบ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา ธปท. ในฐานะผู้กำกับดูแลความเสี่ยงและฐานะของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีข้อกังวลว่า การที่รัฐบาลจะมอบหมายให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยยังมีภาระหนี้คงค้างกับ ธ.ก.ส. ถึงประมาณ 800,000 ล้านบาท

>> 3. ผู้พัฒนาระบบสำหรับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

นับว่ามีความซับซ้อนและต้องรองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก จึงต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ มีความเสถียร และมีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอ เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk) ธปท. จึงห่วงใยในการพัฒนาและดำเนินการระบบ จึงควรใช้ระบบพร้อมเพย์ และ Thai QR Payment เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ลดต้นทุนในการพัฒนาระบบ และใช้ประโยชน์สูงสุด จากโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่

ด้วยเงื่อนไขของการใช้สิทธิที่มีความซับซ้อนในหลายมิติ รวมทั้งเป็นระบบเปิด (Open-loop) ต้องเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการหลากหลาย ควรกำหนดโครงสร้าง และสถาปัตยกรรมของระบบที่ชัดเจน ตลอดจนวางแผนการพัฒนาและทดสอบที่รัดกุมครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ รองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก ไม่ให้ติดขัด หรือเกิดการใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของโครงการ

>> 4. การบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต

หน่วยงานที่รับผิดชอบควรกำหนดกลไกลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต ในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประเด็นที่ปัญหาพึงคาดหมายได้ตั้งแต่เริ่มแรก เช่น แนวทางการตรวจสอบรายได้และทรัพย์สินของผู้เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด การป้องกันการลงทะเบียนเป็นร้านค้าปลอม การกำหนดประเภทและขนาดของร้านค้าเพื่อรองรับเงื่อนไขการใช้จ่ายประเภทสินค้าต้องห้าม

ธปท. มีความเห็นว่า การพิจารณากรอบหลักการและ รายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นโครงการมีรายละเอียดซับซ้อน ใช้งบประมาณจำนวนมาก กระทบต่อภาระการคลังในระยะยาว มีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ จึงต้องรัดกุมอย่างเต็มที่ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนและนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมทั้งจัดทำแนวทางหรือมาตรการแก้ไขประเด็นปัญหาหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมด้วย

‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ เผยกับสื่อนอก ยัน!! จะดำเนินนโยบายอย่างอิสระ เมิน!! แรงกดดันทางการเมือง หลังโดนให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย

เมื่อวานนี้ (29 เม.ย.67) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘Street Signs Asia’ ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซีของสหรัฐฯ ในวันที่ 29 เม.ย. ว่า ธปท.จะตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเป็นอิสระ โดยไม่สนใจแรงกดดันทางการเมือง

‘ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์’ นายเศรษฐพุฒิกล่าว พร้อมระบุเสริมว่า แม้จะเผชิญเสียงเรียกร้องให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ ธปท.ไม่ได้ดำเนินการตามเสียงเรียกร้องเหล่านั้น เพราะไม่ใช่การดำเนินการอย่างเป็นอิสระ

"ผมคิดว่ากรอบการบริหารจัดการค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมานั้นอิงตามสิ่งที่เรารู้สึกว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับเศรษฐกิจประเทศ ไม่ได้พิจารณาเกี่ยวกับการผ่อนคลายแรงกดดันทางการเมืองหรือแรงกดดันอื่น ๆ"

ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ธปท.มีมติตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ในการประชุมนโยบายครั้งล่าสุดในเดือน เม.ย. แต่ธปท.ถูกรัฐบาล รวมถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กดดันอย่างหนักให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ซีเอ็นบีซีระบุว่า การปรับลดต้นทุนการกู้ยืมเงินมีแนวโน้มจะกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากส่งเสริมให้ธุรกิจกู้เงินมาลงทุนและหนุนให้ผู้บริโภคใช้จ่ายเงิน

นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า "หากพิจารณาเหตุผลที่ทำให้เศรษฐกิจไทยซบเซา จะเห็นได้ว่าแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสิ่งที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยเลย"

ขณะเดียวกัน นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันนั้นสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว และสอดคล้องกับความพยายามในการลดภาระหนี้สินในระบบอย่างเป็นระบบระเบียบ ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการไม่เพิ่มภาระหนี้สินภาคครัวเรือนมากเกินไป ในขณะเดียวกันก็ไม่ส่งเสริมให้ประชาชนก่อหนี้ก้อนใหม่เพิ่มมากเกินไป

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า อุปสรรคเชิงโครงสร้างได้ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีความไม่แน่นอน โดยจำเป็นต้องเพิ่มผลิตภาพเนื่องจากไทยกำลังเผชิญความท้าทายด้านประชากรศาสตร์โดยมีกำลังแรงงานลดน้อยลง

นอกจากนี้ นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ไทยจำเป็นต้องให้ความสนใจเรื่องการลงทุนสาธารณะ ไม่ใช่มาตรการกระตุ้นระยะสั้น

'ขุนคลัง' รับ!! 'ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ' มีอิสระในเรื่องนโยบายการเงิน  แต่ทั้งหมดต้องเป็นไปเพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐ

(7 พ.ค.67) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางมาสักการะศาลพระภูมิเจ้าที่ และศาลตายายประจำทำเนียบรัฐบาล ภายหลังรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

จากนั้น นายพิชัย ให้สัมภาษณ์ว่าวันนี้เป็นวันเข้าทำงานอย่างเป็นทางการของตน ซึ่งจะเข้าทำงานทั้งสองที่ คือที่ทำเนียบรัฐบาล และที่กระทรวงการคลัง ซึ่งจะมีการหารือเป็นการภายใน แต่ตนทราบอยู่แล้วว่าภารกิจเร่งด่วนคืออะไร ซึ่งตนจะใช้หน้าที่และความรับผิดชอบที่มีอยู่ในการสะสาง และจัดการปัญหาที่คิดว่าจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น และดีต่อผลประโยชน์ของประเทศโดยตนจะทำอย่างสุดความสามารถ

เมื่อถามว่า สัปดาห์นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ตนคิดว่าประเด็นดังกล่าวจะเป็นงานประจำไปแล้ว ซึ่งต้องมีการพูดคุย และมีการรายงานความคืบหน้าอยู่ตลอด

เมื่อถามว่า จะมีการแถลงข่าวหรือรายงานความคืบหน้าอย่างไรเมื่อมีการแบ่งงานให้กับรมช.คลัง นายพิชัย กล่าวว่า ตนขอหารือในช่วงบ่ายนี้ก่อน ซึ่งตนมีข้อมูลอยู่แล้ว

เมื่อถามถึงโปรเจกต์ของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจจากนี้จะมีอะไรหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ตนคิดว่าทุกคนทราบผลลัพธ์ และเห็นปัญหาเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะอยู่ในสายอาชีพใด เพียงแต่ทุกคนมองปัญหา และมีวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน ฉะนั้น เราคงต้องหาข้อยุติที่ตกผลึกแล้ว และพยายามทำให้ทุกคนเข้าใจร่วมกันมากที่สุดเพื่อนำมาซึ่งแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด

เมื่อถามว่า จะต้องมีการพูดคุยปัญหากับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการพูดคุยกัน ซึ่งเป็นทั้งหน้าที่ และความรับผิดชอบของตน ร่วมกับธปท. ที่เราจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้เครื่องจักรสองเครื่องทั้งนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินให้สอดคล้อง และเดินไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก่อนจะเดินทางได้เราต้องตกผลึก และทำความเข้าใจก่อนว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร

เมื่อถามว่า หากมีโอกาสจะพูดคุยกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธปท.หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า แน่นอน เป็นหน้าที่ที่ต้องพูดคุยอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า มองเป็นเรื่องยากหรือไม่ที่จะพูดคุยกับผู้ว่าธปท. นายพิชัย กล่าวว่า ตนเชื่อว่าผู้ว่าธปท. จะคุยด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล ประกอบกับในอดีตตนเคยสัมผัสกันอยู่แล้วบ้างในช่วงที่ทำงานด้านการธนาคาร ฉะนั้น จึงคิดว่าจะพูดคุยกัน และไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกันได้

เมื่อถามถึงกระแสข่าวการแก้ไขกฎหมายให้ธปท. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล นายพิชัย กล่าวว่า ตนมองว่าเรื่องนี้มาดูกันอีกทีดีกว่าว่าใช่ปัญหาหรือไม่

เมื่อถามถึงกระแสต่อต้านเนื่องจากมองว่าธปท.ควรเป็นอิสระ นายพิชัย กล่าวว่า ก็เป็นธรรมชาติ และทุกคนต้องมีความเห็นต่าง แต่ถ้าคุยกันแล้วตกผลึกได้ ตนก็เชื่อว่าความเห็นต่างก็จะค่อย ๆ แคบลง และนำมาซึ่งข้อสรุปที่ดี

เมื่อถามว่า ในฐานะเป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจมองว่าธปท. ควรอยู่ภายใต้กำกับของรัฐบาลหรือเป็นอิสระ นายพิชัย กล่าวว่า จริง ๆ ท่านก็อิสระอยู่แล้วในเรื่องนโยบายการเงิน ซึ่งตนมองว่าความอิสระนั้นก็มีมาตลอด และสามารถกำหนด และตัดสินได้ด้วยวิจารณญาณ รวมถึงคนที่เข้ามาร่วมกันตัดสินนโยบาย ซึ่งทั้งหมดก็ต้องเป็นไปเพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐ

เมื่อถามว่า เมื่อเข้ามาเป็นรมว.คลัง ปัญหาที่นายกฯ และพรรคเพื่อไทยพูดถึงจะหมดไปหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ตนยังไม่ขอตอบ ขอให้ได้หารือกับท่านก่อน ส่วนจะมีโปรเจกต์อื่น ๆ มาดูแลประชาชนในช่วงนี้หรือไม่นั้น ก็จะเป็นเรื่องคู่ขนานในการที่เราจะหาเครื่องมือมาผลักดันขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่พร้อมกับแก้ปัญหาเดิม ซึ่งคนร่วมผลักดันจริง ๆ คือประชาชนจริง และหน่วยงานทั้งหมด ฉะนั้น หากเราแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ก็จะมีแรงขับเคลื่อน ก็น่าจะเป็นวิถีทางที่ดีที่สุด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top