Saturday, 18 May 2024
เศรษฐกิจหมุนเวียน

กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ กระทรวงเศรษฐกิจและการจ้างงานแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์ ลงนาม MOU ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าส่งเสริมและเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระดับทวิภาคีด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน 

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนายยูริ ยาร์วียาโฮ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจการดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Memorandum of Understanding on Cooperation in Circular Economy) ผ่านระบบออนไลน์ โดยรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า การจัดทำบันทึกความเข้าใจการดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนครั้งนี้ เกิดขึ้นจากเมื่อเดือนกันยายน 2562 รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ ได้ร่วมหารือกับรัฐบาลไทยเรื่องแนวปฏิบัติสำหรับความร่วมมือเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 

และแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งไทยและฟินแลนด์ต่างเล็งเห็นความสำคัญของการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน โดยเป็นกลไกสำคัญสำหรับแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน และจัดทำบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ขึ้น เพื่อส่งเสริมและเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือในระดับทวิภาคีด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การแลกเปลี่ยนความรู้ นโยบาย และกลยุทธ์ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน การดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในสาขาที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรม เคมี พลาสติก และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และการจัดการกิจการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

‘การบินไทย’ ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าสู่ ‘Net Zero 2050’ ยก 3 หลักสำคัญ บริหารทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ไม่กระทบแผนฟื้นฟูองค์กร

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 66 นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ‘TG’ เปิดเผยว่า การบินไทยกำลังเดินหน้าปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะ ภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)

ภายใต้แนวคิด ‘Zero Waste Living’ ซึ่งประกอบด้วย หลักการหลัก 3 ประการได้แก่ FROM PLANES TO PLANET-การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม, FROM WASTE TO WEALTH-การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ FROM PURPLE TO PURPOSE-จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การเดินหน้าแผนธุรกิจด้านความยั่งยืน จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น เทียบง่าย ๆ แค่การเปลี่ยนขวดนํ้าพลาสติก PET สู่วัสดุที่รีไซเคิลได้ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นราว 20% แล้ว เพราะฉะนั้น การทำงานของการบินไทย ต้องเดินหน้าภายใต้กรอบจำกัดเรื่องของแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยด้วย

“ถ้าเอาเงินมาใส่ตรงนี้ทั้งหมด มันไม่ได้ เราจะทำในสิ่งที่ไม่มีผลกระทบต่อบริษัท แต่ถ้าต้นทุนเพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ เราต้องทบทวนก่อน มิฉะนั้นจะกระทบกับแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย” นายชาย กล่าว

จากแผนธุรกิจของการบินไทยปี พ.ศ. 2566-2570 ที่ประกาศไปล่าสุดว่า จะเดินหน้าลุยหาเงิน 1.2 แสนล้านบาท คืนเจ้าหนี้ทุกรายครบภายใน 8 ปี โดยมั่นใจว่า 2566 จะสามารถทำกำไรได้ 2 หมื่นล้านบาท มีเงินสดในมือ 50,000 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกสิ้นสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 การบินไทยมีเงินสดสะสมแล้ว 51,153 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิได้ 14,795 ล้านบาท

- ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน หลายอย่างการบินไทยได้ดำเนินการมานานแล้ว เช่น การบริหารจัดการขยะอาหารและขยะพลาสติก ที่เดินเน้นการคัดแยกแล้วส่งต่อให้ผู้รับซื้อ แต่ปัจจุบันการบินไทยเริ่มนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากร ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก

ล่าสุด ได้พัฒนาเครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิง ที่ผลิตมาจากวัสดุเหลือใช้ขวดนํ้าพลาสติกที่ให้บริการผู้โดยสารบนเครื่องบิน เข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นเส้นใยพลาสติกผสมผสานกับเส้นใยไหมธรรมชาติในอัตรา 70:30 ซึ่งเครื่องแบบดังกล่าวใช้ขวด PET จำนวน 54 ขวด ต่อการผลิตชุดไทย 1 ชุด เริ่มใช้ 1 มกราคม 2567 กับพนักงานต้อนรับหญิงที่รับเข้ามาใหม่ และคาดว่าประมาณกลางปี 2567 จะปรับเปลี่ยนได้ครบทั้งหมด ซึ่งชุดเครื่องแบบใหม่นี้ นอกจากมีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลแล้ว ยังมีความคงทน และไม่ต้องซักแห้งเหมือนชุดผ้าไหม ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มได้อีก

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดรับชุดยูนิฟอร์มเก่าจากพนักงานในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ได้ยูิฟอร์มเก่ามาเกือบ 10 ตัน จากเบื้องต้นตั้งเป้าเพียง 2 ตัน ทำให้สามารถนำไปปันเป็นเส้นใยใหม่ ผลิตเป็นยูนิฟอร์มใหม่ได้อีก โดยเสื้อ 1 ตัว ใช้ผ้าเก่า 2 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน ได้เสื้อยูนิฟอร์มใหม่ 500 ตัว ซึ่งนำไปแจกจ่ายให้กับพนักงานการบินไทยทุกคน และอนาคตมีแผนที่จะต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ เพื่อลดขยะบนเครื่องบินให้ได้มากที่สุด

อีกหนึ่งแนวคิด เป็นการต่อยอดเศรษฐกิจหมุนเวียนของการบินไทย คือ การจับมือกับจิม ทอมป์สัน จัดทำ ‘Travel Kit Bag’ ที่นำอุปกรณ์ของใช้บนเครื่องบินทำมาจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ (Biodegradable) ผลิตออกมาเป็นกระเป๋าผ้าพิมพ์ลายไทยพิเศษ 6 ลาย และในกระเป๋า ยังบรรจุอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้เช่นกัน อาทิ แปรงสีฟัน ถุงเท้า ลูกกลิ้งนํ้ามันหอมระเหย ลิปบาล์ม โลชั่นทามือ ยาสีฟัน ผ้าปิดตา และไม้ช้อนรองเท้า

นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ของใช้บนเครื่องบินอื่น ๆ ที่คำนึงถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ช้อนส้อมอะลูมิเนียม ใช้ทดแทนช้อนส้อมพลาสติก แก้วนํ้า ถาดใส่อาหาร และอื่น ๆ

- ลุยเชื้อเพลิง SAF ปี 2030
ส่วนทางด้านการบิน ได้เปลี่ยนมาใช้รถบัสไฟฟ้าในการขนส่งพนักงานหรือลูกเรือจากศูนย์ปฏิบัติการไปยังสนามบิน รวมทั้งมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดภายใน 5 ปี และอีกหนึ่งโครการที่การบินไทยดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วและมีผลเป็นที่น่าพอใจคือ การใช้นํ้ามันอย่างมีประสิทธิภาพ หลักการคือ ใช้วิธีการรวบรวมข้อมูล จากสถิติเก่า ๆ นำมาวิเคราะห์ จะได้ค่าตัวหนึ่ง ที่นำมาใช้งาน ไปใช้เป็นส่วนประกอบการวางแผนการบิน วางแผนการใช้นํ้ามัน และจัดเส้นทางการบิน เพื่อให้ใช้นํ้ามมันอย่างแม่นยำไม่น้อยหรือมากเกินไป

“เรื่องของวิธีการบิน เทคนิคการบิน เช่น เครื่องบินแลนดิ้ง เข้าหลุมจอด ไม่จำเป็นต้องติดเครื่องยนต์ทั้ง 2 เครื่อง เป็นการลดใช้นํ้ามันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการใช้เครื่องบินรุ่นใหม่ๆ และเครื่องยนต์ยุคใหม่ ที่ใช้นํ้ามันลดลง”

ส่วนนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) การบินไทยมีแผนที่จะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการภายในปี ค.ศ. 2030 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในเครื่องบืนของการบินไทย ได้มีการใช้นํ้ามัน SAF อยู่บ้าง จากการบินเข้ายุโรป ที่เริ่มบังคับใช้กับผู้ผลิตและบริษัทนํ้ามันแล้ว

“การใช้นํ้ามัน SAF ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 3-4 เท่า เราต้องมีการผลักดันในหลาย ๆ ภาคส่วน จะให้ผู้ใช้เป็นคนผลักดันฝั่งเดียวเกิดได้ยาก นโยบายการใช้ SAF ผู้คุมนโยบาย ผู้ใช้ ผู้ผลิต ก็ต้องมาคุยกัน มันไม่ใช่แค่การบินไทยบอกอยากจะใช้ มันต้องกลับไปดูถึงซัพพลายเชนว่า วัตถุดิบในการผลิต SAF มาจากไหน จะบริหารจัดการกันอย่างไร มีนโยบายอย่างไร”

เปิดภารกิจ WHA ใต้ธงเศรษฐกิจหมุนเวียน ต้อง ‘ใช้ซ้ำ-แบ่งปัน-แลกเปลี่ยน-ซ่อมแซม’

(6 ก.พ.67) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการสร้างนวัตกรรมบนห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่การนำวัสดุรีไซเคิลหรือพลังงานทดแทนมาใช้ในการผลิต (Circular Supplies) การออกแบบให้ง่ายต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ (Circular Design) การเพิ่มประสิทธิภาพหรือลดการสูญเสียในการผลิต (Circular Manufacturing) ตลอดจนการใช้ของที่ผลิตขึ้นมาแล้วให้คุ้มค่าที่สุด ให้เกิด Utilization สูงที่สุดไม่ว่าจะเป็นการใช้ซ้ำ แบ่งปัน แลกเปลี่ยน หรือซ่อมแซม (Circular Consumption)

ช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายรายได้พัฒนาโมเดลธุรกิจจากแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าไปแทรกในแต่ละหน่วยธุรกิจได้ตลอดซัพพลายเชน รวมถึงบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่ได้ริเริ่มสร้างโมเดลธุรกิจที่เป็นรูปธรรมขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งอยู่ในเมกะเทรนด์ของโลก 

นายไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในธุรกิจทั้ง 4 กลุ่มของบริษัท ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจ WHA: WE SHAPE THE FUTURE ที่มุ่งสร้างอนาคตอันยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย

WHA เรามีภารกิจ Mission to the Sun ซึ่งเป็นโครงการที่รวมยุทธศาสตร์ และโครงการที่สำคัญๆ ไว้ ซึ่งจะช่วยสร้างธุรกิจใหม่ให้กับกลุ่มบริษัท และยกระดับองค์กรสู่การเป็น Technology Company ในปี 2567 โดยมีการเริ่มโครงการ Circular Economy ภายใต้ภารกิจ Mission to the Sun ไปแล้วถึง 3 โครงการ ดังนี้

1.WHA Circular Innovation เป็นการวาง Roadmap ในการปฏิรูปทางธุรกิจ และสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ของกลุ่มดับบลิวเอชเอภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 ของกลุ่มบริษัท

โดยเราได้แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม Circular Business คือ การสร้างธุรกิจใหม่ และกลุ่ม Circular Process ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการต่างๆ ภายในของเราให้ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวันนี้เราได้เริ่มศึกษาและดำเนินการไปแล้วกว่า 40 Initiatives

2.WHA Waste Management เป็นโครงการที่ชนะเลิศจากการประกวด Bootcamp ซึ่งเป็นการแข่งขันสร้างโมเดลธุรกิจในกลุ่มพนักงาน เพื่อเปลี่ยน DNA องค์กร และสร้าง Tech Mindset

โดยจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอในประเทศไทยจำนวน 12  แห่ง มีวัสดุเหลือใช้ และของเสียจากกระบวนการผลิตปีละประมาณ 500,000 ตัน ที่จำเป็นต้องบำบัดและกำจัด โดยในจำนวนของเสียทั้งหมดนี้ มีสัดส่วนถึง 65% สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น เศษโลหะ กระดาษ พลาสติก

ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป จึงอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตของเสีย (Waste Generator) และผู้บริโภคของเสีย (Waste Consumer) หรือ ผู้รับบำบัดกำจัดของเสีย (Waste Processor) ซึ่งจะช่วยให้เกิดการนำวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตของโรงงานหนึ่งไปเป็นวัตถุดิบของโรงงานอีกแห่งหนึ่ง ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนได้อย่างลงตัว ทั้ง 2 ฝ่ายได้ขยะหรือวัตถุดิบที่ตัวเองต้องการ ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำโมเดลธุรกิจที่ต้องหารือกับผู้รับบำบัดกำจัดของเสีย และตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

3.WHA Emission Trading คือ โครงการสร้างแพลตฟอร์ม Emission Trading ที่มีหน่วยงานรับรองในลักษณะเดียวกับการจำหน่ายคาร์บอนเครดิต ซึ่งน่าจะเห็นความเป็นรูปธรรมได้เร็ว เนื่องจากเป็นการต่อยอดจากโครงการ Peer-to-peer Energy Trading ที่เป็นแพลตฟอร์มเทรดพลังงานที่จะช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานและบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในรูปแบบโครงการแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox Project) แล้ว

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอพิจารณาให้เริ่มดำเนินโครงการภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ สำหรับแพลตฟอร์ม Emission Trading คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณไตรมาส 1 ปี 2567 ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 1 

นอกจาก 3 โครงการ Circular Economy ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ภายใต้ภารกิจ Mission to the Sun ยังมีอีก 2 โครงการที่จะนำไปสู่เป้าหมายการเป็น Net Zero 2050 ได้แก่ 

1.โครงการ Green Logistics ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนการเปลี่ยนการใช้รถเชิงพาณิชย์ในการขนส่งจากรถเครื่องยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจสีเขียวในแต่ละส่วนของห่วงโซ่อุปทาน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของรถยนต์ไฟฟ้า

บริษัท มีแผนที่จะจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอโดย ดับบลิวเอชเอ  ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับโครงการ Green Logistics ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม รับทราบข้อมูลในการตัดสินใจเลือกเส้นทางขนส่งสินค้าที่ประหยัด และใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ใช้เวลาน้อยที่สุด

2.โครงการ Carbon Footprint Platform ซึ่งเป็นระบบ Carbon Accounting ที่มีข้อมูลว่าในแต่ละพื้นที่ปล่อยก๊าซต่างๆ ออกมาได้เท่าไรเพื่อไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่มีปริมาณการปล่อยออกไซด์ของไนโตรเจน (NOX), ออกไซด์ของซัลเฟอร์ (SOX) จำนวนมาก และต้องการเข้าสู่ Zero Emission อาทิ ผู้ประกอบการด้านปิโตรเคมิคอลในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง 

นายไกรลักขณ์ มองว่า “สำหรับเป้าหมาย Net Zero 2050 มีระยะเวลานานอีก 27 ปี จึงมองว่ามีโอกาสที่ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป จะดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนได้อีกมาก และมองว่าการดำเนินการในปัจจุบันถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างโมเดลธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน โดยดับบลิวเอชเอ ยังจะมีโครงการในลักษณะดังกล่าวเปิดตัวออกมาอีกหลายโครงการ” 

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการกำหนดมาตรการสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน อาทิ CBAM, RE100, Green Supply Chain, Digital Product ภาคธุรกิจเริ่มมีข้อกำหนดถึงกระบวนการผลิตสินค้าที่ลดการปล่อยคาร์บอน ผู้นำเข้าสินค้าเพิ่มเงื่อนไขการจัดเก็บภาษีคาร์บอนสำหรับสินค้าที่ไม่ลดการปล่อยคาร์บอน

ในประเทศไทยเอง เริ่มเห็นกระแสความต้องการบริการสีเขียวที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่การผลิต จากผู้ผลิตสินค้าในนิคมอุตสาหกรรมและบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หลายบริษัทที่มาลงทุนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องพลังงาน เช่น การผลิตพลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) ซึ่งผู้ให้บริการนิคมอุตสาหกรรมในหลายประเทศยังไม่สามารถทำ RE100 ได้ แต่ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียน 100%  

ทั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีแผนการขยายฐานการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย อาทิ บริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่มีแผนเข้ามาลงทุน Data Center ในประเทศไทย ซึ่งต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้เอง ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่เพียงแต่สามารถช่วยลดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นำมาซึ่งภาวะโลกร้อนเท่านั้น แต่ยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ รวมถึงสร้าง Business Model หรือรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถสร้างผลกำไรให้กับกิจการไปพร้อมกับการดำเนินการตามเป้าหมายความยั่งยืน 

“WHA Circular Economy จึงถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายการเจริญเติบโตทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top