Monday, 20 May 2024
เศรษฐกิจสีน้ำเงิน

'อลงกรณ์' เร่งเดินหน้าเศรษฐกิจสีน้ำเงิน(Blue Economy) เผยปี2565 'ปลาทู' เพิ่ม 63% ชี้มาตรการปิดอ่าวของกรมประมงบรรลุความสำเร็จภายใต้นโยบาย '3ป.' ของรัฐมนตรีเกษตรฯ.

พร้อมประกาศปิดอ่าวไทยดีเดย์ 15 ก.พ. คุ้มครองพ่อแม่พันธุ์ปลาทูและสัตว์น้ำมีไข่ หวังเพิ่มผลผลิตและฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานในพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในพื้นที่ทะเลอ่าวไทย ประจำปี 2566 เพื่อคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์ปลาทูและสัตว์น้ำมีไข่ให้แพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน 

โดยมี นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกรมประมง สมาคมประมง องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น เข้าร่วม ณ สวนสาธารณะปากน้ำปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่บริเวณอ่าวไทยทั้งหมด แบ่งเป็น บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง 2 ช่วงระยะเวลา ได้แก่ ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถึงอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม – 14 มิถุนายน 2566 

ในบริเวณอาณาเขตตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และบริเวณพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก 2 ช่วงระยะเวลา ได้แก่ ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคม 2566 ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในฝั่งตะวันตกของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร และระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในด้านเหนือของจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี  

สำหรับพิธีประกาศปิดอ่าวฯ ในวันนี้ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และกล่าวคำปฏิญาณตนที่บริเวณด้านหน้าอ่าวประจวบฯ พร้อมกล่าวเปิดพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ มีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในพื้นที่ทะเลอ่าวไทย ประจำปี 2566 พร้อมทั้งได้มอบแผ่นป้ายเงินอุดหนุนโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านประมงให้กับผู้แทนองค์กรประมงท้องถิ่นทั่วประเทศ จำนวน 200 ชุมชน 

โดยมอบให้กับผู้แทนสมาคมประมงพื้นบ้าน และมอบป้ายเงินอุดหนุนให้แก่ประธานองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในเขตจังหวัดชุมพร จำนวน 4 ชุมชน ได้แก่ สมาคมประมงด่านสวี หมู่ที่ 3 ตำบลด่านสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ชุมชนประมงท้องถิ่นบ้านควนเสาธง หมู่ที่ 9 ตำบลตะโก อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร กลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านกลางอ่าว 1 หมู่ที่ 13 ตำบลบางมะพร้าว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร กลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านกลางอ่าว 2 หมู่ที่14 ตำบลบางมะพร้าว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ประธานองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในเขตจังหวัดชุมพรประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 3 ชุมชน ได้แก่ กลุ่มแปรรูปอาหารทะเลบ้านเขาแดง ตำบลเขาแดง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านปากคลอง ตำบลบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนประมงและการท่องเที่ยวบางสะพาน ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และประธานองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นจังหวัดเพชรบุรี จำนวน 3 ชุมชน ได้แก่ 

กลุ่มประมงพัฒนาสาหร่ายทะเลเพชรบุรี ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ตำบลบางขุนไทร อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง ตำบลนาพันสาม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี และได้มอบพันธุ์สัตว์น้ำให้แก่ตัวแทนชุมชนประมงท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวนรวมทั้งสิ้น 215,000 ตัว ประกอบด้วย กุ้งกุลาดำ 200,000 ตัว กุ้งแชบ๊วย 10,000 ตัว และปลากะพง 5,000 ตัว

 

จากนั้นนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดแผ่นป้ายประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ มีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ทะเลอ่าวไทย ประจำปี 2566 พร้อมพิธีปล่อยเรือตรวจประมงทะเลออกปฏิบัติงานในพื้นที่ ประกอบด้วย เรือตรวจประมงทะเลขนาด 60 ฟุต เรือตรวจประมงทะเล ขนาด 38 ฟุต เรือตรวจประมงทะเลขนาด 24 ฟุต เรือตรวจประมงทะเลขนาด 19 ฟุต และเรือยางตรวจประมงทะเล และได้เยี่ยมชมนิทรรศการจากหน่วยงานกรมประมงและนิทรรศการหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อาทิ นิทรรศการการจัดตู้แสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่เพาะพันธ์เพื่อการอนุรักษ์พร้อมบอร์ดแสดงข้อมูล นิทรรศการผลการศึกษาทางวิชาการมาตรการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน บริเวณอ่าวไทยตอนกลาง อ่าวไทยรูปตัว ก นิทรรศการมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลางและมาตรการปิดอ่าวไทยตอนในในภาพรวม รวมไปถึงมาตรการที่เกี่ยวข้อง นิทรรศการการลงทะเบียนเพื่อขอรับใบอนุญาตประมงพื้นบ้านและเตรียมความพร้อมก่อนลงทะเบียนขอรับใบอนุญาตประมงพื้นบ้าน นิทรรศการการควบคุมการทำประมงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมชุมชนประมง การอนุรักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (MMPA) นิทรรศการการจัดทำหนังสือคนประจำเรือ (Sea book) ฯลฯ

'อลงกรณ์' จับมือสภาอุตสาหกรรมฯ.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy)เดินหน้าโครงการเรือธง“สาหร่าย-พืชแห่งอนาคต” มุ่งเป้าสร้างรายได้ประชาชนทดแทนนำเข้าตอบโจทย์ลดโลกร้อน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท เปิดเผยวันนี้(20 ธ.ค.) ว่า มูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท (WCF : Worldview Climate Foundation) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)โดยการนำของ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. ได้จัดทำบันทึกความร่วมมือ (MoU) ระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับ มูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท ในการพัฒนาสาหร่ายรวมถึงพืชน้ำและพืชชายฝั่งอื่นในประเทศไทย เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน 

เนื่องด้วยประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาว 3,148 กม. มีป่าชายเลนไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านไร่ และมีประชากรในจังหวัดชายฝั่งทะเล ประมาณ 26 ล้านคน มีศักยภาพในการพัฒนาสาหร่ายให้เป็นโครงการเรือธง(flagship project)ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน(Blue Economy)โดยใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการพัฒนาสาหร่ายให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สร้างงานสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชน ยกระดับอัพเกรดภาคเกษตรของไทยสู่เกษตรมูลค่าสูงและลดการนำเข้าสาหร่ายจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการขาดดุลการค้าและเพิ่มความมั่นคงทางอาหารของประเทศได้ในระยะยาว เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง มุ่งสนับสนุนส่งเสริมการผลิตและแปรรูปสาหร่ายทะเลเป็นพืชแห่งอนาคตตัวใหม่ 

นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน การผลิตสาหร่ายทะเลเติบโตอย่างรวดเร็ว มีผลผลิตทั้งหมดทั่วโลกไม่น้อยกว่า 35 ล้านตัน มีมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท นอกจากสาหร่ายจะเป็นซูเปอร์ฟู้ดที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์สูง ยังมีสรรพคุณในการนำไปสกัดเพื่อใช้ผลิตอาหารเสริม อาหารสัตว์ เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ ปุ๋ย พลาสติกชีวภาพสำหรับบรรจุภัณฑ์ กระดาษ สิ่งทอ สารกระตุ้นทางชีวภาพ (bio stimulants) และเชื้อเพลิงชีวภาพ 

ยิ่งกว่านั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมสาหร่ายยังมีส่วนสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

รวมทั้งตอบโจทย์วาระเศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืน (Sustainable Ocean Economy) เพื่อเป็นส่วนร่วมในทศวรรษวิทยาศาสตร์มหาสมุทรแห่งสหประชาชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (พ.ศ. 2564-พ.ศ. 2573) และการลดภาวะโลกร้อนจากผลกระทบของก๊าซเรือนกระจกภายใต้

“ถือเป็นความร่วมมือที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน(blue economy)ในการใช้ทรัพยากรในทะเลและมหาสมุทรอย่างยั่งยืนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การยกระดับคุณภาพชีวิต และการมีงานทำในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาสุขภาพของระบบนิเวศน์ในมหาสมุทร
รวมถึงผลประโยชน์ด้านอื่นๆเช่น การกักเก็บคาร์บอน การปกป้องชายฝั่ง คุณค่าทางวัฒนธรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ

ทั้งนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ มูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท จะร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานที่ประกอบไปด้วยทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในครั้งนี้ให้เกิดผลสำเร็จ ผ่านการทำโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของความร่วมมือ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป”นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top