Tuesday, 14 May 2024
เลือกนายก

‘เพื่อไทย’ เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 159 พร้อมยกเลิกมาตรา 272 ตัดสิทธิ์ ส.ว. เลือกนายกฯ

(16 ธ.ค. 65) เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมคณะ ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 159 และการยกเลิกมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

โดยนพ.ชลน่าน กล่าวว่า สิ่งที่พรรคเพื่อไทย มีเจตจำนง และมุ่งมั่นมาตลอดคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 โดยเฉพาะมาตราที่เห็นว่าเป็นปัญหาที่สุดในการบังคับใช้ และกระทบต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือมาตรา 272 ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติไว้ชั่วคราวว่า ให้ส.ว.250 คน สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ โดยเราพยายามยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตลอดแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากกติกาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ มีส่วนทำให้ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ คือ การต้องอาศัยเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา และต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วยในวาระรับหลักการไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกที่มีอยู่ ด้วยกลไกเหล่านี้ทำให้เรายื่นร่างแก้ไขแล้วไม่สำเร็จ ซึ่งในสมัยประชุมที่ผ่านมาเราก็ยื่นแต่ก็ถูกตีตกไปในขั้นรับหลักการ แต่เราก็ไม่ย่อท้อ เพราะตามข้อบังคับแล้วในสมัยประชุมที่เปิดมาเราสามารถยื่นแก้ไขเพิ่มเติมในมาตราที่สภาไม่รับหลักการได้

‘นันทิวัฒน์’ กระตุกต่อมจิตสำนึก ‘ส.ส. - ส.ว.’ หากรักชาติ-รักสถาบัน อย่าให้คนคิดไม่ดีได้มีอำนาจ

(10 ก.ค. 66) นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวหัวข้อ ‘เรียกหาจิตสำนึก’ ระบุว่า ใกล้วันเลือกนายกฯ ในรัฐสภา เสียงจากพรรคการเมืองอ้างว่า เสียงเพียงพอ ส.ว.ให้การสนับสนุนจริงหรือไม่จริงไม่รู้ แต่มีข่าวลือมาเข้าหูว่า มีรถขนกล้วยคว่ำแถวหน้าสภา ขอให้เป็นข่าวปลอม คนแถวนั้นไม่ได้มาจากลพบุรี ไม่กินกล้วย สาธุ

มีเสียงจาก ส.ว.หลายคนชี้แจงว่า จะเลือกตามเสียงประชาชน มีคำถามว่า ส.ว.มีไว้ทำไม คำถามนี้ ต้องไปโทรถามคุณปรีดี เพราะปรีดีเป็นคนออกแบบให้รัฐสภาไทยมี ส.ว.ตั้งแต่เริ่มแรก จะให้เหมือนรัฐสภาอังกฤษที่มีสภาขุนนาง ที่มาจากการแต่งตั้งและสืบสายสกุล เพื่อเป็นพี่เลี้ยงและคอยถ่วงดุล ส.ส. ให้ทำเพื่อประเทศชาติ ไม่ต้องคำนึงถึงเสียง ส.ส. ที่มักอ้างเสียงประชาชน

แน่นอน ประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้ง แต่ผลเลือกตั้งไม่ได้มีหลักประกันอะไรว่าจะนำพาประเทศชาติไปในทิศทางที่ถูกต้อง ฮิตเลอร์ผู้นำเผด็จการและก่อสงครามโลกครั้งที่สอง ส่งผลให้คนตายหลายล้านคนก็มาจากการเลือกตั้ง สงครามยูเครน บ้านแตกสาแหรกขาด บ้านเมืองย่อยยับ คนตายคนอพยพนับล้านคน ก็มาจากการเลือกตั้ง นั่นคือ เลือกคนผิด บ้านเมืองฉิบ….

ชัดเจนว่า พรรคแกนนำประกาศนโยบายชัดเจน ต้องการแก้ไขล้มล้าง ม.112 ผลักดันการเลือกปกครองตนเองด้วยคำสวยหรู การตัดสินใจอนาคตของตนเองของจังหวัดชายแดนภาคใต้ สุดท้ายจะจบอย่างไร ส.ส.และส.ว. จะยอมเสี่ยงหลับหูหลับตาเดินลงเหวทั้ง ๆ ที่มีคนตะโกนเตือนอย่างนั้นหรือ

อยากถามหาจิตสำนึกความรักชาติและรักสถาบันของ ส.ส.และส.ว.ทั้งหลายว่ามีอยู่จริงหรือไม่ อย่าทำตัวเป็นคนซื่อบริสุทธิ์ อย่าทำตัวเป็นคนไร้เดียงสาทางการเมือง จนไม่รู้ว่า อะไรดีหรืออะไรไม่ดีต่อประเทศชาติ อย่าจมน้ำตายเพราะเกาะตำราตะวันตกไม่ยอมปล่อย อย่าให้โอกาสคนที่คิดไม่ดีต่อสถาบันได้เป็นใหญ่

‘ครูหยุย’ เช็ก!! ตัวเลข ส.ว.โหวตเลือกพิธา  ปั่นข่าวกระพือ 20 แต่ตัวเลขแท้จริงคือ 10 

เมื่อวานนี้ (10 ก.ค. 66) เฟซบุ๊ก ‘วัลลภ ครูหยุย ตังคณานุรักษ์’ ของนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้โพสต์ภาพอินโฟกราฟิกของสำนักข่าวออนไลน์ชื่อดังแห่งหนึ่ง เปิดรายชื่อ 20 ส.ว. โหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ตามเสียงข้างมาก ส.ส. โดยได้กากบาทคนที่ตรวจสอบแล้วไม่ใช่ พร้อมระบุว่า เพื่อความชัดเจน ตามนี้เลยครับ สอบถามทุกคนในภาพมาแล้ว ตัวเลขปั่นจนข่าวเอาไปลงคือ 20 ตัวเลขแท้จริงคือ 10 ครับ"

สำหรับ ส.ว.ที่นายวัลลภระบุว่าสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 
1. นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ 
2. นพ.อำพล จินดาวัฒนะ 
3. นายทรงเดช เสนอคำ 
4. นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม
5. นายวันชัย สอนศิริ 
6. นายมณเทียร บุญตัน 
7. นางประภาศรี สุฉันทบุตร 
8. นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ 
9. นายพิศาล มาณวพัฒน์ 
และ 10. นายพีระศักดิ์ พอจิต

'วันนอร์' เคาะเริ่มโหวตเลือกนายกฯ 5 โมงเย็น 13 ก.ค. จับตา 8 ชั่วโมงแห่งการตัดสินชะตานายกฯ คนที่ 30

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยมติที่ประชุม 3 ฝ่ายเตรียมความพร้อมในการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ โดยสรุป คือ จะมีการอภิปรายและจะโหวตกันได้ในเวลา 17.00 น. โดย ส.ว. ได้เวลา 2 ชั่วโมง และ ส.ส.จากทุกพรรคการเมืองได้เวลารวม 4 ชั่วโมง

น่าจะสนุก...เมื่อเปิดประชุมรัฐสภาแล้ว เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ต่อด้วยให้สมาชิกอภิปราย ส.ว.ได้เวลาอภิปราย 2 ชั่วโมง ส.ส.ได้เวลาถึง 4 ชั่วโมง แต่ไม่มีรายละเอียดว่า ให้เวลากับคนที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีกี่นาที กี่ชั่วโมง

เข้าใจว่า 6 ชั่วโมงที่สมาชิกรัฐสภาได้มาเป็นช่วงเวลาของการซักฟอกยกแรกสำหรับชื่อ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' และจะเป็นโอกาสของพิธาในการได้อธิบายนโยบาย หรือแนวทางของพรรคก้าวไกล ที่สังคม และสมาชิกรัฐสภายังกังขาอยู่

เป็น 6 ชั่วโมง บวกกับการชี้แจงของพิธาอีก 2 ชั่วโมง รวมเป็น 8 ชั่วโมง น่าจะเป็น 8 ชั่วโมงที่น่าสนใจติดตามชมการถ่ายทอดสดเป็นอย่างยิ่ง

คอการเมืองไม่ควรพลาดสำหรับ 8 ชั่วโมงนี้ จะได้กระจ่างกันทั้งสองฝ่าย และจะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ตรงประเด็น ไม่ต้องถามกันไปมา และทำให้การสื่อสารผิดเพี้ยนไปอีก

‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ ชี้!! อย่าหลงระเริงกับ 14 ล้านเสียง หากเป็นนายกฯ ต้องดูแลคนกว่า 60 ล้านคน

(13 ก.ค.66) ที่รัฐสภาฯ การประชุมร่วมกัน พิจารณาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ได้ลุกขึ้นอภิปรายโหวต โดยในบางช่วงบางตอนระบุว่า…

“คนไทยไม่ได้มีแค่ 14 ล้าน คนไทยไม่ได้มี 25 ล้าน ท่านต้องเป็นนายกฯ ของคน 60 กว่าล้านคน เป็นนายกฯ ของประเทศไทย ไม่ใช่ของพรรคใดพรรคหนึ่ง ท่านอย่าหลงระเริงคำว่า 14 ล้านเสียง มันไม่ถึง 20% มันไม่ใช่เรื่องชี้ขาดของประเทศนี้”

‘พิธา’ มั่นใจ!! ตนยังมีคุณสมบัติ สมบูรณ์แบบทุกประการ ด้วยความชอบธรรม

(13 ก.ค. 66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล พูดอภิปรายในรัฐสภา วาระการเสนอชื่อบุคคลเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระบุว่า..

“ผมยังคงมีคุณสมบัติ สมบูรณ์แบบทุกประการ ด้วยความชอบธรรม”

‘อลงกรณ์’ เสนอ 5 หลักคิดให้ ส.ว.โหวตนายกฯ หวังทุกฝ่ายยึดสันติวิธี หลีกเลี่ยงวิกฤติการเมือง

(13 ก.ค.66) นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับการประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อความว่า…

บ้านเมืองของเรามาถึงทางแพร่งที่สำคัญในวันนี้ สืบเนื่องจากการเลือกตั้งเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว คือการโหวตเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยรัฐสภา

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลในฐานะพรรคที่ได้รับเสียงเลือกตั้งอันดับ 1 และรวบรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรรวมตัวเป็นกลุ่ม 8 พรรคการเมืองมีเสียงรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรจะได้รับเสียงสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศหรือไม่ ขึ้นกับการโหวตของสมาขิกรัฐสภาในวันนี้

สมาชิกรัฐสภา 750 ท่านประกอบด้วย…

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คนและสมาชิกวุฒิสภา 250 คนจะใช้สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง
1.สนับสนุน
2.ไม่สนับสนุน 
3.งดออกเสียง 

ผมเคยให้ความเห็นส่วนตัวว่า ในฐานะเป็นอดีต ส.ส.และสมาชิกรัฐสภา 6 สมัยได้เสนอข้อพิจารณาเป็นหลักยึดหลักคิดในการโหวต…

1. เคารพผลการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งคือ ความต้องการของประชาชน 

2. ยึดหลักการเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร พรรคที่รวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิ์และความชอบธรรมที่จะเป็นรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี

3. การออกเสียงลงมติของสมาชิกรัฐสภาเป็นเอกสิทธิ์

4. สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย เมื่อปวงชนชาวไทยคือประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยใช้สิทธิในการเลือกตั้งโดยตรงไม่ผ่านระบบผู้แทนปวงชนชาวไทยแล้ว ผู้แทนปวงชนชาวไทยพึงเคารพการตัดสินใจของปวงชนชาวไทย โดยการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยมี 2 กรณีที่ใช้สิทธิอำนาจโดยตรงไม่ผ่านระบบผู้แทนฯ คือ การเลือกตั้ง และการออกเสียงประชามติ

5. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคการเมืองมีระบบพรรคที่ต้องปฏิบัติตามมติ ซึ่งเป็นระบบที่ถือปฏิบัติทุกพรรคการเมือง เช่น พรรคประชาธิปัตย์มีมติงดออกเสียง สมาชิกพรรคและผมต้องถือปฏิบัติในทางเดียวกัน ซึ่งต่างจากสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่สังกัดพรรค

ความเห็นของผมอยู่บนหลักการประชาธิปไตย ไม่เกี่ยวกับนายพิธาหรือพรรคก้าวไกล แต่เป็นการสนับสนุนหลักการที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น 

ไม่ว่าการโหวตนายกรัฐมนตรีจะปรากฏผลเป็นประการใด ผมยอมรับเพราะผมเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เพียงหวังว่า สมาชิกวุฒิสภาผู้ทรงเกียรติและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมีความรักชาติศาสนากษัตริย์จะตัดสินใจโหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีด้วยความเป็นอิสระไม่อยู่ใต้อาณัติใด ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ผมเพียงหวังที่จะเห็นการตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งเป็นไปโดยราบรื่นและรวดเร็วตามครรลองประชาธิปไตย

ประเทศของเราอยู่ในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจและไม่ควรจะเกิดวิกฤติทางการเมืองมาซ้ำเติม

ทุกฝ่ายทั้งในและนอกสภารักประเทศชาติไม่น้อยไม่มากไปกว่ากัน อาจมีความเห็นที่แตกต่างกันแต่ไม่ใช่ความแตกแยก พึงเคารพความแตกต่างอย่างสันติวิธี

ประชาธิปไตยไม่สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยความเกลียดชัง และประเทศไม่สามารถสร้างขึ้นได้บนซากปรักหักพัง 

เรามีบทเรียนของวิกฤติทางการเมืองมาหลายครั้ง สูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อมาหลายครา ขอให้บทเรียนในอดีตเป็นอุทาหรณ์สอนใจเตือนสติทุกท่าน อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกเลย

‘ชัยธวัช’ ลั่น!! เป็นผู้แทนราษฎร ไม่ควรเมินเฉยต่อปัญหา - ต้องมีสำนึกมโนธรรม

(13 ก.ค. 66) นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พูดอภิปรายในรัฐสภา วาระการเสนอชื่อบุคคลเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระบุว่า…

“เรามีความสำนึกว่า ถ้าเมื่อไหร่เกิดปัญหาขึ้นในสังคม แล้วผู้แทนราษฎรทำเป็นมองไม่เห็น เราคงอธิบายตนเองไม่ได้ว่า เรายังมีมโนธรรมสำนึกในฐานะผู้แทนราษฎรอยู่ได้อย่างไร”

‘เสี่ยหนู’ ย้ำ!! จุดยืนภูมิใจไทยไม่เปลี่ยนแปลง ไม่หนุนพรรคแก้ ม.112 - ไม่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

(19 ก.ค. 66) ที่รัฐสภา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ว่า ของพรรคภูมิใจไทยยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังเหมือนเดิม คือไม่แก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และไม่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

เมื่อถามว่า หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคภูมิใจไทยจะมีเงื่อนไขอะไรหรือไม่นายอนุทิน กล่าวว่า มีแนวทางอยู่ 2 ข้อ ที่เป็นเรื่องหลัก คือ เรื่องมาตรา 112 และไม่เอารัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะไม่ทำ

เมื่อถามว่า มีการมองว่าหากพรรคลำดับที่ 2 จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ และเป็นพรรคลำดับที่ 3 มองอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า รอให้เกิดขึ้นก่อน ซึ่งตอนนี้มันยังไม่เกิด ตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการที่พรรคอันดับ 1 ยังจัดตั้งรัฐบาลอยู่ ยังมาไม่ถึงพรรคลำดับที่ 2 เลย

เมื่อถามว่า หากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ยังจับมือกับพรรคก้าวไกลอยู่ พรรคภูมิใจไทยจะร่วมด้วยได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ก็พูดไปแล้ว คือไม่เอา ซึ่งตนก็ยังอยู่ในแนวทางไม่แตะมาตรา 112 และไม่เอาเสียงข้างน้อย

เมื่อถามย้ำว่า แต่หากไม่มีพรรคก้าวไกลจะพิจารณารับข้อเสนอใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า อย่าเพิ่งแต่ อย่าเพิ่งถ้า

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีชื่อของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ขึ้นมาแทนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล รับได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่มีแคนดิเดตนายกฯ ตนขอบอกว่าทุกคนที่แต่ละพรรคเสนอมีความเหมาะสมตามเหตุผลของพรรคนั้น ถ้าเราไปบอกคนนู้นไม่เหมาะคนนี้ไม่เหมาะ ซึ่งไม่มีสิทธิ์ที่จะไปพูด ถ้าเราไปบอกไม่เหมาะเดี๋ยวเขาจะบอกว่าเราฝั่งเราไม่เหมาะก็ยุ่งตาย

เมื่อถามว่า โดยส่วนตัวพร้อมชิงตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เอาไว้ให้มีความชัดเจนก่อน ตอนนี้ก็ยังเหมือนเดิมสนับสนุนให้พรรคที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลทำได้สำเร็จ

‘ธงทอง’ อธิบายชัด โหวตนายกฯ ไม่ใช่ญัตติ  เป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่าข้อบังคับฯ

(19 ก.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเพจ ‘Tongthong Chandransu’ ระบุว่า…

“รัฐธรรมนูญมีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่าข้อบังคับการประชุมของรัฐสภาอย่างแน่นอน

การเสนอชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 นอกจากนั้นข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 เอง ในหมวดเก้าว่าด้วยเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ได้แยกเรื่องนี้ออกไว้เป็นการเฉพาะ และกำหนดไว้เป็นการพิเศษว่าการเสนอชื่อดังกล่าวต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถ้าคำนวณจากจำนวนเต็ม 500 ก็จะพบว่าการเสนอชื่อนี้ต้องมีผู้รับรองถึง 50 คน

โปรดสังเกตว่าบทบัญญัติมาตรา 157 และมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญก็ดี บทบัญญัติของข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหมวด 9 ก็ดี ไม่ปรากฏคำว่า “ญัตติ” อยู่ในที่ใด

ในขณะที่การเสนอญัตติทั่วไปตามข้อ 29 แห่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภาพ.ศ. 2563 กำหนดว่าต้องมีสมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่าสิบคน จึงเห็นการแยกแยะความแตกต่าง และความสำคัญของสองเรื่องนี้ออกจากกันโดยชัดเจน

ดังนี้จึงเห็นได้ว่า การเสนอชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหมวดเก้า ซึ่งกำหนดวิธีการขั้นตอนไว้โดยเฉพาะ ไม่มีเหตุผลทางกฎหมายใดที่จะนำบทบัญญัติ จากข้อบังคับการประชุมรัฐสภากรณีการเสนอญัตติทั่วไปมาปรับใช้แก่กรณี”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top