Friday, 17 May 2024
เลี่ยงภาษี

บก.สส.สตม. รวบหนุ่มแดนมังกรหนีคดีเลี่ยงภาษีศุลกากรเสียหายกว่า 100 ล้านบาท 

บก.สส.สตม. จับกุมนายลู่ (นามสมมติ) อายุ 52 ปี สัญชาติจีน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในข้อหา ลักลอบนำเข้าสินค้า (เม็ดพลาสติก) โดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท โดยจับกุมตัวในข้อหา เป็นคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต นำส่งพนักงานสอบสวน กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.สตม. ดำเนินคดีตามกฎหมาย สถานที่จับกุม หน้าร้านอาหารแห่งหนึ่ง ในย่าน ต.บางพลี อ.บางพลี จว.สมุทรปราการ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสาธารณรัฐประชาชนจีน หน่วยปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

ประสานงานผ่านสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย แจ้งข้อมูลผู้ต้องหาตามหมายจับของสาธารณรัฐประชาชนจีน ราย นายลู่ (นามสมมติ) สัญชาติจีน อายุ 52 ปี ซึ่งมีหมายจับของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในข้อหา ลักลอบนำเข้าสินค้า (เม็ดพลาสติก) โดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร มูลค่ารวม 20 ล้านหยวน (ประมาณ 100 ล้านบาท) ผบก.สส.สตม. จึงได้สั่งการให้ ชุดปฏิบัติการ บก.สส.สตม. ทำการสืบสวนติดตามจับกุม นายลู่ สัญชาติจีน ซึ่งต่อมาสืบทราบว่า ได้หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี  ปัจจุบันพักอาศัยอยู่คอนโดแห่งหนึ่งย่านบางพลี จว.สมุทรปราการ

‘สนธิ’ บุกสรรพากรยื่นสอบ ‘ชูวิทย์’ ปมหมกเม็ดโอนที่เลี่ยงภาษี ชี้!! เป็นนิติกรรมอำพราง ทำรัฐเสียรายได้เข้าแผ่นดินเกือบพันล้าน

(21 ส.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้เดินทางเข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ให้ตรวจสอบการเสียภาษีอากร กรณีการซื้อขายที่ดินบริเวณหลังโรงแรมเดอะเดวิส บางกอก

นายสนธิ กล่าวด้วยว่า ที่มายื่นเรื่องเพราะมีคนร้องเรียนมาว่าคุณชูวิทย์ ขายที่เลี่ยงภาษีให้ตระกูลตัวเอง โดยเป็นการขายจากบริษัทของตัวเองไปให้ลูกๆ และลูกๆ นำไปขายต่อให้อีกบริษัทที่เป็นของตัวเองเช่นกัน โดยคิดราคาที่ดินในการโอนทอดแรกแก่ลูกวาละ 2 แสนบาท และนำไปโอนต่ออีกทอดหนึ่งที่เป็นบริษัทของครอบครัวเหมือนกัน

“บริษัทที่โอนมาเป็นของตัวเองแบ่งที่เป็น 4 แปลง โอนให้ลูก 4 คน หลังจากนั้นโอนต่อให้อีกบริษัทที่ลูกๆ เป็นเจ้าของ คนที่ส่งมาบอกว่าเป็นนิติกรรมอำพราง โอนครั้งแรกเสียภาษีแค่ 11 ล้าบาท แต่ถ้าเป็นนิติกรรมอำพรางคุณชูวิทย์ ต้องเสียภาษี 359 ล้านบาท ถ้าผิดจริงต้องโดนอีกเท่าตัว และรวมหมดตระกูลคุณชูวิทย์ต้องเสีย 900 กว่าล้าน ผมขี้เกียจทะเลาะกับคุณชูวิทย์ เขามั่นใจว่าเขาไม่ผิด เขาทำงานมาเขาเป็นนักบัญชี แต่ความจริงมีหนึ่งเดียว คนที่ชี้ขาดเรื่องนี้ได้น่าจะเป็นสรรพากร ผมจึงนำหลักฐานมาให้ และถ้าเป็นนิติกรรมอำพรางคุณชูวิทย์ ต้องเสียภาษี ถ้าไม่ใช่ก็จบไป ยุติธรรมมาก ไม่ต้องเถียงกัน นั่นคือสิ่งที่ผมมาวันนี้” นายสนธิ กล่าว

ทั้งนี้ ในหนังสือร้องเรียนมีการระบุว่า มีการสมรู้ร่วมคิดกันทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลบเลี่ยงภาษีอากรอันถึงชำระ อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 มาตรา 37 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

สำหรับข้อมูลที่เข้าร้องเรียนในครั้งนี้ มีรายละเอียดบางส่วนระบุดังนี้

ข้าพเจ้า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ตรวจพบหลักฐานการทำนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและการชำระภาษีที่เกิดจากการซื้อขายที่ดินที่ผิดปกติและอาจมีการจงใจหลีกเสี่ยงการชำระภาษี กรณีการซื้อขายที่ดินบริเวณหลังโรงแรมเดวิส บางกอก โฉนดที่ดินเลขที่ 1778, 1779, 3538, 3539 ระหว่างบริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ผู้ขาย กับนายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ นายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์ น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ และนายต่อตระกูล กมลวิศิษฏ์ ผู้ซื้อ และการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1778, 1779, 3538, 3539 ระหว่างนายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ นายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์ น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ และนายต่อตระกูล กมลวิศิษฏ์ ผู้ขาย กับบริษัท เดวิส ไรมอน แลนด์ ทเวนตี้โฟร์ จำกัด หรือบริษัท เดวิส 24 จำกัด ในปัจจุบัน เหตุเกิดระหว่างวันที่ 23 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2562 ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง โดยมีรายละเอียดดังนี้

ช่วงปี 2542 บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของครอบครัวนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ได้ครอบครองที่ดินบริเวณหลังโรงแรมเดวิส บางกอก จำนวน 2 แปลง เนื้อที่แปลงละ 278.5 ตารางวารวม 557 ตารางวา (ปัจจุบันเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 1778, 1779, 3538, 3539) ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1-4

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 เวลา 09.00 น. บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ได้ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 3/2562 มีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยมี น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ และนายต่อตระกูล กมลวิศิษฏ์ เข้าร่วมประชุมด้วย นายชูวิทย์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทแต่เพียงผู้เดียว อนุมัติให้บริษัทฯ ขายที่ดิน โฉนดเลขที่ 1778, 1779 ให้ผู้ถือหุ้นได้แก่ นายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ และนายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์

และในวันเดียวกัน คือวันที่ 23 กันยายน 2562 เวลา 11.00 น. บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ได้ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2562 มีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยมีนายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ และนายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์ เข้าร่วมประชุมด้วย นายชูวิทย์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทแต่เพียงผู้เดียว อนุมัติให้บริษัทฯ ขายที่ดิน โฉนดเลขที่ 3538, 3539 ให้ผู้ถือหุ้นได้แก่ น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ และนายต่อตระกูล กมลวิศิษฏ์ รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 5-8

ภายหลังจากที่ทำสัญญาซื้อขายกับผู้ซื้อรายเก่า เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 อีก 3 วันถัดมา คือวันที่ 27 กันยายน 2562 บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขายให้ลูกของนายชูวิทย์ 4 คน ได้แก่ นายต้นตระกูล นายเติมตระกูล น.ส.ตระการตา และนายต่อตระกูล คนละ 1 แปลง ระบุราคาซื้อขายที่แปลงละ 27.86 ล้านบาท รวม 4 แปลง เป็นราคา 111.4 ล้านบาท คิดเป็นตารางวาละ 200,000 บาท รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 9-12

และในวันเดียวกันนั้น นายต้นตระกูล นายเติมตระกูล น.ส.ตระการตา และนายต่อตระกูล ลูกนายชูวิทย์ทั้ง 4 คน โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินขายต่อให้บริษัท เดวิส ไรมอน แลนด์ ทเวนตี้ โฟร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตั้งไว้รอการร่วมทุนระหว่างครอบครัวกมลวิศิษฏ์ กับบริษัทไรมอน แลนด์ (มหาชน) จำกัด ระบุราคาขายที่แปลงละ 502,388,500 บาท รวม 4 แปลง ราคา 2,009,554,000 ล้านบาท คิดเป็นราคาตารางวาละ 3.6 ล้านบาทเศษ รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 14-17 ซึ่งบริษัท เดวิส ไรมอน แลนด์ ทเวนตี้ โฟร์ จำกัดมีนายต้นตระกูล กมลวิศิษฏ์ นายเติมตระกูล กมลวิศิษฏ์ น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฏ์ และนายต่อตระกูลกมลวิศิษฏ์ เป็นผู้ถือหุ้น รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 18-19 การซื้อขายที่ดินดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามูลค่าการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินเป็นการโอนที่ดิน 2 ทอดในวันเดียวกันแต่กลับซื้อขายในราคาที่ต่างกันถึง 18 เท่าตัว โดยการโอนที่ดินทอดแรกจาก ‘บริษัทกงสี’ ให้ ‘ทายาท’ ในราคา ‘ต่ำเป็นพิเศษ’ ซึ่งในวงการอสังหาฯ รู้ดีว่าเป็น ‘นิติกรรมอำพราง’ เพื่อเลี่ยงภาษีเงินได้ของบริษัทจำกัด ในที่นี้คือ บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด บริษัทกงสีของตระกูลกมลวิศิษฏ์ ซึ่งตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากร ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ทวิ(4) ที่เกี่ยวกับ ‘ภาษีเงินได้นิติบุคคล’ สาระสำคัญความว่า บริษัทจำกัดจะต้องโอนขายทรัพย์สินในราคาไม่ต่ำกว่าราคาตลาด มิฉะนั้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ‘ตามราคาตลาดในวันที่โอน’ ได้ตาม ‘ข้อเท็จจริง’ จึงถือว่าราคา 2,009 พันล้านบาทเศษ เป็น ‘ราคาตลาดในวันโอน’ ทำให้บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ต้องถูกประเมินให้มีกำไรในทางภาษีราว 1,900 ล้านบาท (หักจากราคาที่ขายให้กับนายต้นตระกูล นายเติมตระกูล น.ส.ตระการตา และนายต่อตระกูล ลูกๆ นายชูวิทย์ 111.4 ล้านบาท) และต้องเสียภาษีเงินได้ 380 ล้านบาท หรือ (1,900x20%) ซึ่งไม่สามารถยึดราคาขายให้แก่นายต้นตระกูล นายเติมตระกูล น.ส.ตระการตา และนายต่อตระกูล ลูกๆ ของ นายชูวิทย์ 4 คน เพื่อชำระภาษีเพียง 11.4 ล้านบาทเศษได้ รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 20

ซึ่งหากคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ต้องชำระตาม "ข้อเท็จจริง" คือ ภาษีเงินได้ 380 ล้านบาท บวกด้วยเบี้ยปรับ 1 เท่าตัว หรือ 380 ล้านบาท และเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (ตั้งแต่ มิถุนายน 2563-กรกฎาคม 2566) หรือราว 205 ล้านบาท รวมภาษีที่นายต้นตระกูล นายเติมตระกูล น.ส.ตระการตา และนายต่อตระกูล ลูกทั้ง 4 คนของชูวิทย์ ต้องจ่ายรวมประมาณ 965 ล้านบาท หัก 11.4 ล้านบาทที่ได้ชำระไปแล้ว เท่ากับว่าการโอนที่ดินกรณีดังกล่าวอาจมีการหลบเลี่ยงภาษีอย่างชัดเจน และทำให้รัฐเสียรายได้เข้าแผ่นดินถึง 954 ล้านบาท รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย

ลูกชาย ‘โจ ไบเดน’ โดนข้อหาเพียบ ‘เลี่ยงภาษี-พัวพันยาเสพติด’ เสี่ยงโทษหนักจำคุก 17 ปี ทำตำแหน่งประธานาธิบดีพ่อสั่นคลอน

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 66 ‘ฮันเตอร์ ไบเดน’ บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ แห่งสหรัฐฯ ถูกกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ แจ้งข้อหาหลบเลี่ยงไม่จ่ายภาษีเป็นเงิน 1.4 ล้านดอลลาร์ ท่ามกลางวีรกรรมอื้อฉาวมากมายของเจ้าตัว ทั้งการใช้ชีวิตหรูหราฟุ้งเฟ้อ มั่วโสเภณี ซื้อปืนผิดกฎหมาย และพัวพันยาเสพติด

‘ฮันเตอร์ ไบเดน’ วัย 53 ปี ถูกแจ้งความผิดอาญาร้ายแรง 3 กระทง และความผิดลหุโทษอีก 6 กระทงที่เกี่ยวข้องกับการเลี่ยงภาษี ตามข้อมูลจากเอกสารคำฟ้องที่ยื่นต่อศาลแขวงกลาง รัฐแคลิฟอร์เนีย

ฮันเตอร์ อาจต้องโทษจำคุกถึง 17 ปี หากศาลพิพากษาว่ามีความผิดจริง ขณะที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุว่า กระบวนการสอบสวนความผิดของเขายังคงดำเนินอยู่

“จำเลยไม่ได้จ่ายภาษีเป็นเงินอย่างน้อย 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามการประเมินภาษีด้วยตนเอง (self-assessed federal taxes) ตลอดระยะเวลา 4 ปี ในช่วงระหว่างปี 2016-2019” เอกสารคำฟ้องระบุ

ในทางกลับกัน ฮันเตอร์ ไบเดน ได้ใช้จ่ายเงินมหาศาลไปกับ ‘ยาเสพติด หน่วยอารักขา และเพื่อนหญิงมากหน้าหลายตา โรงแรมหรูและที่พักสำหรับเช่า รถยนต์ราคาแพง เสื้อผ้า และข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวอื่นๆ’ รวมถึงจ่ายเงินค่าบำบัดยาเสพติดอีกกว่า 70,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามข้อมูลในเอกสารคำฟ้อง

ทนายความของ ฮันเตอร์ ไบเดน ยังไม่ให้ได้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ ขณะที่ทำเนียบขาวก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ เช่นกัน

เอกสารคำฟ้องยังเผยด้วยว่า “ฮันเตอร์ ไบเดน ‘มีรายได้มหาศาล’ ระหว่างเป็นสมาชิกบอร์ดบริหารของ ‘Burisma’ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมในยูเครน รวมถึงกองทุนรวมตราสารทุนของเอกชนจีนอีกแห่งหนึ่ง”

อัยการสหรัฐฯ เผยว่า ระหว่างปี 2016-2020 ฮันเตอร์ ไบเดน มีรายได้เบื้องต้นก่อนหักภาษีมากกว่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้รวมถึงเงินเกือบ 2.3 ล้านดอลลาร์ ที่ได้จากการเป็นบอร์ดบริหารของ Burisma ในช่วงปี 2016-2019

ความเชื่อมโยงระหว่าง ‘ฮันเตอร์ ไบเดน’ กับ ‘Burisma’ กลายเป็นจุดอ่อนที่พรรครีพับลิกันเอามาใช้โจมตี ว่าเขาใช้อำนาจบารมีของ ‘ครอบครัวไบเดน’ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในต่างแดน

“จำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายภาษีรายได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการดำรงตำแหน่งในบอร์ดบริหาร Burisma ค่าธรรมเนียมจากการทำข้อตกลงกับกองทุนรวมตราสารทุนของจีน รวมถึงรายได้จากการเป็นทนาย และแหล่งอื่นๆ” เอกสารคำฟ้องระบุ

บุตรชายผู้นำสหรัฐฯ ยังมีรายได้จากการทำงานให้กับบริษัท ‘CEFC Energy Co Ltd.’ ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทด้านพลังงานของจีนอีกด้วย

ในขณะที่รายได้ของเขาเพิ่มขึ้น รายจ่ายของ ฮันเตอร์ ไบเดน ก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเอกสารคำฟ้องระบุว่า “เฉพาะในปี 2018 ฮันเตอร์ ใช้จ่ายเงินไปกว่า 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการถอนเงินสดเกือบ 772,000 ดอลลาร์, จ่ายเงินเพื่อปรนเปรอผู้หญิง 383,000 ดอลลาร์ และค่าเสื้อผ้ากับข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ อีกประมาณ 151,000 ดอลลาร์”

“จำเลยไม่ได้นำเงินทุนเหล่านี้มาจ่ายภาษีเลยในปี 2018”

เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ฮันเตอร์ ไบเดน รับสารภาพต่อศาลรัฐเดลาแวร์ในข้อหาให้การเท็จ เกี่ยวกับการใช้ยาเสพติดขณะที่ซื้อปืนผิดกฎหมาย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่บุตรของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในตำแหน่งถูกดำเนินคดีอาญา

สตม.รวบนักลงทุนชาวจีนตามหมายจับเลี่ยงภาษีมูลค่าเกือบ 20 ล้านบาท

ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม., พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์  รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.คธาธร คำเที่ยง รอง ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.อรรถพล มีเสียง รอง ผบก.กต.10 ปฏิบัติราชการ บก.ตม.3, พ.ต.อ.เพลิน กลิ่นพยอม รอง ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.จิรพงศ์ รุจิรดำรงชัย ผกก.สส.บก.ตม.3, พ.ต.อ.ปกฉัตร ชัยสุกวัฒน์ ผกก.ตม.จว.สมุทรสาคร, พ.ต.อ.นภัสพงษ์ โฆษิตสุริยมณี ผกก.ตม.จว.ชลบุรี พ.ต.ท.รัฐไกร ประยูรศร รอง ผกก.สส.บก.ตม.3 และ พ.ต.ท.วิรชา สนั่นศิลป์ รอง ผกก.สส.บก.ตม.3 ร่วมแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญ ดังนี้
สตม.รวบนักลงทุนชาวจีนตามหมายจับเลี่ยงภาษีมูลค่าเกือบ 20 ล้านบาท

ตม.จว.ชลบุรี ร่วมกับ กก.2 บก.ปอศ. จับกุม Mr.Wang (นามสมมุติ) อายุ 53 ปี  สัญชาติจีน ตามหมายจับศาลจังหวัดพัทยาที่ 60/2567 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันเคลื่อนย้ายของออกไปจากเขตปลอดอากรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร” นำตัวส่งพนักงานสอบสวน บก.ปอศ. ดำเนินคดีตามกฎหมาย สถานที่จับกุม ภายในบริษัทแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จว.ชลบุรี   

พฤติการณ์แห่งคดี Mr.Wang ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จว.ชลบุรี ได้ร่วมกันกับพวกนำสินค้าเบ็ดเตล็ด อาทิเช่น กระเป๋า ผ้าพันคอ ชุดผ้าปูที่นอน กรอบโทรศัพท์ เก้าอี้ กล่องพลาสติก โคมไฟ ไม้เซลฟี่ ข้าวโพด (ป๊อบคอร์น) ฯลฯ เข้ามาในราชอาณาจักร ตามใบขนสินค้าขาเข้า จำนวน 31 ฉบับ โดยสำแดงการใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อนำเข้าไปในเขตปลอดอากร ตามมาตรา 151 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 จำนวน 31 ฉบับ เป็นใบขนสินค้าสั่งการตรวจ "ให้เปิดตรวจ" เพื่อนำไปทำการตรวจปล่อยที่เขตปลอดอากรเอ็มที ฟรีโซน โดยวิธีการมัดลวด และพนักงานศุลกากร ที่กำกับดูแลเขตปลอดอากรได้บันทึกการตรวจรับของดังกล่าวเข้าไปเก็บในเขตปลอดอากรแล้ว แต่ในระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2562 พนักงานศุลกากรได้เข้าทำการตรวจสอบหลังการตรวจปล่อย ณ เขตปลอดอากร เอ็มที ฟรีโซน 

ในบริษัทดังกล่าว พบข้อเท็จจริงว่าสินค้าเบ็ดเตล็ดที่บริษัทฯ ได้นำเข้ามาตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 31 ฉบับนั้น ไม่ได้มีการเก็บรักษาไว้หรือคงเหลืออยู่ในเขตปลอดอากร เอ็มที ฟรีโซน และจากการตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าและส่งออกของบริษัทฯ จากระบบ CUSTOMS INFORMATION SYSTEM (CIS) ไม่พบว่าบริษัทฯ ได้มีการจัดทำใบขนสินค้าขาเข้าโอนย้ายชำระภาษีอากร (ประเภท P) เพื่อนำของออกจากเขตปลอดอากรเพื่อใช้หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร และไม่มีการจัดทำใบขนสินค้าขาออก เพื่อส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร อีกทั้งไม่พบหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรหรือหลักฐานการชำระภาษีอากรสำหรับของดังกล่าวเพื่อนำของออกจากเขตปลอดอากรในกรณีอื่นใด 

โดยได้ประเมินราคาและค่าภาษีอากร สินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้า จำนวน 31 ฉบับ ดังกล่าวมีราคารวมทั้งสิ้น 15,337,963.62 บาท อากรขาเข้ารวม 2,701,946.79 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มรวม 1,262,793.72 บาท ซึ่งพนักงานศุลกากรได้แจ้งให้บริษัทฯ จัดส่งเอกสารเพิ่มเติมเพื่อชี้แจงในประเด็นดังกล่าวแล้ว แต่บริษัทฯ ก็ไม่สามารถนำเอกสารหลักฐานมาแสดงต่อพนักงานศุลกากรเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงได้ และได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของบริษัทฯ เป็นความผิดฐานเคลื่อนย้ายของออกไปจากเขตปลอดอากร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร ตามมาตรา 242 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 เมื่อบริษัทฯ ได้รับทราบผลการตรวจสอบแล้ว มิได้แจ้งความประสงค์จะขอทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร แต่บริษัทฯ เพิกเฉย ไม่มาติดต่อขอทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร กรมศุลกากรจึงร้องทุกข์ดำเนินคดีกับบริษัทฯ และ Mr.Wang รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทั้งในฐานะนิติบุคคลและฐานะส่วนตัว 

หลังจากที่ศาลจังหวัดพัทยาได้ออกหมายจับแล้ว จากการสืบสวนของ ตม.จว.ชลบุรี ทราบว่า Mr.Wang ได้เดินทางไปที่บริษัทแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จว.ชลบุรี จึงได้ร่วมกับ กก.2 บก.ปอศ. ไปตรวจสอบ ผลการตรวจสอบพบ Mr.Wang จึงได้แสดงหมายจับและทำการจับกุม  


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top