Wednesday, 26 June 2024
เรือดำน้ำไททัน

เปิดปูม ‘ไททัน’ มีคนเตือนเรื่องความปลอดภัย แต่สุดท้าย ตัวคนเตือนกลับโดน ‘ไล่ออก’

สื่อต่างประเทศเผยเรือดำน้ำ ‘ไททัน’ ของบริษัท OceanGate ซึ่งสูญหายระหว่างพาผู้บริหารและนักท่องเที่ยวลงไปสำรวจซากเรือไททานิคเมื่อวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.) เคยถูกเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนเรื่องความปลอดภัยตั้งแต่ปี 2018 ก่อนที่คนเตือนจะถูก ‘ไล่ออก’

เรือดำน้ำไททันซึ่งมีซีอีโอของ OceanGate เป็นกัปตันผู้ควบคุมเรือ พร้อมผู้โดยสารอีก 4 คน ซึ่งได้แก่ เฮมิช ฮาร์ดิง (Hamish Harding) มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ พอล-อองรี นาร์เจอเลต (Paul-Henri Nargeolet) นักดำน้ำมืออาชีพฝรั่งเศส และ 2 พ่อลูกมหาเศรษฐีปากีสถาน คาดว่าจะยังเหลือออกซิเจนเพียงพอจนถึงเวลา 10.00 GMT วันนี้ (22 มิ.ย.) หรือประมาณ 17.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย

เรือดำน้ำไททันความยาว 6.7 เมตร ของบริษัท OceanGate ซึ่งมีฐานในเมืองเอเวอเร็ตต์ รัฐวอชิงตัน ถูกส่งลงไปใต้ทะเลลึกครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2018 โดยดำลงไปถึงระดับความลึก 4,000 เมตร ตามข้อมูลของเว็บไซต์บริษัท และเคยดำลงไปยังซากเรือไททานิคบนพื้นมหาสมุทรแอตแลนติกที่ความลึก 3,800 เมตร ครั้งแรกในปี 2021

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรมหลายคน รวมถึงอดีตพนักงานคนหนึ่งได้เคยแสดงความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของเรือดำน้ำไททัน เนื่องจาก OceanGate เลือกที่จะไม่ขอการรับรองจากหน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยที่ได้รับความเชื่อถือ เช่น American Bureau of Shipping ซึ่งเป็นสมาคมจำแนกประเภทการเดินเรือของอเมริกา หรือบริษัท DNV ของทางยุโรป

วิล โคห์เนน (Will Kohnen) ประธานคณะกรรมการสอบทานด้านยานดำน้ำของ Marine Technology Society ระบุในจดหมายลงวันที่ 27 มี.ค. ปี 2018 ที่ส่งไปถึง สต็อกตัน รัช ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ OceanGate ซึ่งเป็นผู้ควบคุมเรือดำน้ำที่สูญหาย โดยเขาได้ย้ำเตือนความกังวลของคนในแวดวงอุตสาหกรรมเรื่องที่ OceanGate ไม่ได้นำเรือไททันผ่านกระบวนการรับรองด้านการออกแบบ การผลิต และการทดสอบกับหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ

ก่อนหน้านั้น เดวิด ล็อคริดจ์ (David Lochridge) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางทะเลของ OceanGate ได้ส่งรายงานด้านวิศวกรรมไปยังผู้บริหารของบริษัท ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการวิจัยและพัฒนายานดำน้ำลำนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของวัสดุที่ใช้ผลิตลำตัวเรือ (hull) และการที่บริษัทไม่ได้ดำเนินการทดสอบอย่างเข้มข้นว่าตัวเรือจะสามารถทนต่อแรงดันมหาศาลใต้ทะเลลึกได้หรือไม่

OceanGate ได้เรียกประชุมในวันถัดมาเพื่อหารือข้อกังวลของ ล็อคริดจ์ ซึ่งในตอนท้ายเจ้าตัวยืนยันว่ารับไม่ได้กับการออกแบบยานดำน้ำของทางบริษัท และจะไม่เซ็นอนุญาตให้ส่งคนลงไปกับเรือลำนี้จนกว่าจะมีการทดสอบเพิ่มเติม

จุดยืนของ ล็อคริดจ์ ทำให้เขาถูก OceanGate ไล่ออกในเวลาต่อมา นอกจากนี้ทางบริษัทยังได้ยื่นฟ้องเอาผิดกับเขาในปีเดียวกัน ฐานนำข้อมูลลับภายในบริษัทไปหารือกับบุคคลภายนอกอย่างน้อย 2 คน

ล็อคริดจ์ ได้ยื่นฟ้องกลับในเดือน ส.ค. ปี 2018 โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาของ OceanGate และอ้างว่าบริษัทแห่งนี้พยายามข่มขู่ “ผู้เปิดเผยความจริง (whistleblowers) ไม่ให้ออกมาแฉปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้โดยสารที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่”

ขณะเดียวกัน เดวิด พ็อก (David Pogue) ผู้สื่อข่าว CBS ซึ่งเคยมีประสบการณ์ร่วมทดสอบเรือดำน้ำไททัน ก็ออกมาทวีตข้อความเมื่อวันอังคาร (20) ว่า ยานลำนี้เคย “ขาดการติดต่อ” กับเรือแม่หลายชั่วโมงระหว่างที่ดำลงไปใต้ทะเลเมื่อปี 2022 และสิ่งที่ลูกเรือทำในตอนนั้นก็คือการ ‘ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต’ เพื่อไม่ให้นักข่าวแชร์ข้อผิดพลาดนี้ออกไป

“พวกเขายังสามารถส่งข้อความสั้นๆ ไปยังเรือดำน้ำได้ แต่ไม่รู้ว่ามันอยู่ในตำแหน่งไหน” พ็อก ระบุ

“สถานการณ์ตอนนั้นทั้งเงียบและตึงเครียด พวกเขาตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อไม่ให้เราสามารถทวีตข้อมูลออกไปได้”

อ้างอิง : รอยเตอร์, Insider
 

‘เรือดำน้ำไททัน’ ระเบิด โศกนาฏกรรมใต้พื้นมหาสมุทรที่โลกต้องจดจำ

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2023 ได้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่สร้างความสะเทือนใจให้คนทั้งโลก ภายหลังจาก ‘เรือดำน้ำไททัน’ (Titan) หรือ เรือดำน้ำนำเที่ยวขนาดเล็ก เพื่อพาลูกเรือทัวร์ชมซากของ ‘เรือไททานิก’ ขาดการติดต่อและสูญหายไป หลังจากที่เรือดำน้ำไททันดำลงไปได้ไม่นาน จนนำไปสู่ปฏิบัติการค้นหาครั้งใหญ่ และไม่กี่วันต่อมา หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาแถลงข่าวยืนยันว่า พบซากชิ้นส่วนของเรือไททัน โดยคาดว่าเกิดการระเบิด เนื่องจากแรงดันน้ำมหาศาลใต้มหาสมุทร

สำหรับ ‘เรือดำน้ำไททัน’ (Titan) ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้บริการทัวร์ชมซาก ‘เรือไททานิก’ ของ บริษัท โอเชียนเกต (Oceangate) โครงสร้างมีลักษณะคล้ายท่อเหล็กขนาดใหญ่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์และไทเทเนียม ระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 4 ตัว Innerspace 1002 Electric Thrusters รองรับภารกิจต่อเนื่อง 96 ชั่วโมง พร้อมดำน้ำลึกสูงสุด 4,000 เมตร

ซึ่งราคาค่าตั๋วเดินทางของลูกค้าที่ต้องการทัวร์ชมซากเรือไททานิก อยู่ที่ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 8.7 ล้านบาท โดยใช้เวลาเดินทางไป-กลับ ทั้งหมด 8 วัน โดย ‘เรือวิจัยโพลาร์พรินซ์’ (Polar Prince) จะขนเรือดำน้ำไททันไปยังกลางมหาสมุทรแอตแลนติก เริ่มต้นจากเมืองเซนต์จอห์น รัฐนิวฟาวด์แลนด์ แคนาดา เดินทางระยะทาง 700 กิโลเมตรไปยังซากเรือไททานิก โดยออกเดินทางตั้งแต่วันศุกร์ที่ 16 มิ.ย. 2023 พร้อมผู้โดยสาร 5 คน (รวมพลขับ) ได้แก่

-ฮามิช ฮาร์ดิง นักธุรกิจและนักสำรวจชาวอังกฤษวัย 58 ปี
-ชาห์ซาดา ดาวู้ด นักธุรกิจชาวอังกฤษวัย 48 ปี
-สุเลมาน ดาวู้ด ลูกชายของชาห์ซาดา วัย 19 ปี
-พอล-อองรี นาร์โจเลต นักสำรวจชาวฝรั่งเศสวัย 77 ปี ฉายา ‘Mr.Titanic’
-สต็อกตัน รัช ผู้บริหารของโอเชียนเกต วัย 61 ปี

แต่หลังจากที่เรือดำน้ำไททันดำลงไปได้เพียง 90 นาที โดยใช้ความเร็ว 5.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อลงสู่ความลึก 3,800 เมตร ไททันได้ขาดการติดต่อกับเรือแม่ ทั้งที่โดยปกติแล้วไททันจะต้องติดต่อกับเรือแม่ซึ่งเป็นสถานีควบคุมบนผิวน้ำทุก 15 นาที และไททันก็ไม่ได้กลับขึ้นสู่ผิวน้ำตามเวลาที่กำหนดไว้คือ 16.30 น. และนั่นคือจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ ‘เรือดำน้ำสาบสูญใต้ทะเล’ โดยหน่วยเรือยามฝั่งของสหรัฐฯ ได้รับแจ้งเหตุ ก่อนที่ปฏิบัติการค้นหากู้ภัยจะเริ่มต้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่บัดนั้น

แต่สุดท้ายปฏิบัติการค้นหากู้ภัยเรือดำน้ำไททันประสบความล้มเหลว โดยมีรายงานว่า เรือค้นหาได้ยินเสียงระเบิดจากใต้น้ำ ซึ่งคาดว่าเกิดจากการที่เรือไททันถูกบีบอัดด้วยแรงกดของน้ำทะเล เนื่องจากเรือลงไปยังความลึกที่เกินกว่าความแข็งแรงของวัสดุที่ใช้ทำตัวเรือจะทนทานได้ ต่อมา ได้มีการส่งยานสำรวจไร้คนขับลงไปตรวจสอบ สิ่งที่พบก็คือ ‘เศษซากชิ้นส่วนของเรือดำน้ำไททัน’ อันเป็นหลักฐานที่ยืนยันอย่างชัดเจนว่า ลูกเรือทั้ง 5 คนนั้นได้เสียชีวิตแล้ว

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความไม่สมบูรณ์ของเรือดำน้ำไททันก็ถูกเปิดโปงออกมาเป็นระยะ ๆ เช่น วัสดุที่ใช้ทำตัวเรือหรือเปลือกเรือ ซึ่งมีความสำคัญที่สุด เพราะจะต้องรับแรงกดของน้ำเมื่อลงสู่ความลึก เป็นวัสดุที่ไม่ได้ผ่านการทดสอบอย่างจริงจัง

ข้อบกพร่องของเรือดำน้ำไททันที่เคยถูกตรวจพบและได้รับการทักท้วง แต่ไม่ถูกแก้ไขใด ๆ ได้กลายเป็นตราบาปของโศกนาฏกรรม ตอกย้ำให้เห็นถึงความดื้อดึงของผู้มีอำนาจ เห็นแก่ผลประโยชน์ที่จะได้รับมากกว่าที่จะยึดมั่นในมาตรฐานวิชาชีพ จนนำไปสู่การสูญเสียครั้งใหญ่ที่ไม่มีอะไรสามารถย้อนคืนกลับมาได้อีก

แม้เศษชิ้นส่วนของเรือดำน้ำไททันจะถูกกู้ขึ้นมาได้แล้วบางส่วน แต่จิตวิญญาณของเรือไททัน และลูกเรือทั้ง 5 คน ได้ดำดิ่งลงสู่ห้วงมหาสมุทรแอตแลนติก และคงจะอยู่เคียงข้างซากเรือไททานิกตลอดไป

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top