Saturday, 18 May 2024
เรียนออนไลน์

ขอนแก่น - รมช.ศธ.เปิดนิทรรศการ "KKC Smart Education 2021" ตอกย้ำมาตรฐานการศึกษาของไทย! ในยุคโควิด-19 ทั้งออนไลน์ - ออนไซค์ต้องได้มาตรฐาน

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 20 ต.ค.2564 ที่ ห้องประชุมแก่นเมือง ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดนิทรรศการ "KKC Smart Education 2021: เพราะการศึกษาต้อง Move on" ซึ่งกระทวงศึกษาธิการ และสำนักงานศึกษาธิการ จ.ขอนแก่น ได้กำหนดจัดกิจกรรมขึ้น โดยมี นายสุภัทร จำปากุล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ,นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผจ.ขอนแก่น ,นายศุภชัย จันปุ่ม ศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง เข้าร่วมงานกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง ท่ามกลางมาตราการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด

คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดนโยบายในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ มีความพร้อม ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยกำหนดจุดเน้นในการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรอบรู้และใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการจัดการองค์ความรู้และยกระดับทักษะที่จำเป็นที่เน้นพัฒนาความรู้และสมรรถนะ ด้าน Digital  Literacy และเน้นหนักในเรื่องของการศึกษาแบบยกกำลัง 2 ในการพัฒนาครูให้มีความรู้ สมรรถนะและทักษะ

"ขณะเดียวกันในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา โดยพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้และระบบบริหารจัดการห้องเรียน Smart School และ Smart Classroom ซึ่งจังหวัดขอนแก่นมีแนวโน้มการขยายตัวของเมืองและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 7 เมือง ของประเทศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี สู่การพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบหรือ Smart City ได้อย่างชัดเจนและลงตัวที่สุด"

 

สพฐ. ตื่น!! เล็งลดเนื้อหาจืด เด็กเรียนออนไลน์ เน้นมุ่งกิจกรรม ช่วยดึงเด็กกลับมาตั้งใจเรียน

สพฐ. เล็งลดเนื้อหาเรียนออนไลน์ มุ่งเน้นกิจกรรม ใน 1 ชั่วโมง เรียนวิชาการแค่ 10-15 นาที ที่เหลือเป็นภาคปฏิบัติ ที่นำไปเชื่อมโยงกับอีกหลายวิชาได้ มีพี่เลี้ยงคอยประกบ ยันไม่ได้ปล่อยให้เด็กโดดเดี่ยว 

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่โรงเรียนในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เปิดเรียนภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 มาระยะหนึ่ง ขณะนี้มีโรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนในรูปแบบ On Site กว่า 1.3 หมื่นโรง ซึ่งการเปิดเรียน สพฐ.ดำเนินการในลักษณะกระจาย บางแห่งเปิดได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อของจังหวัดนั้น ๆ และการเปิดเรียนก็มีหลายรูปแบบทั้งสลับวันเรียนตามเลขที่นักเรียน หรือระดับชั้นเรียน เป็นต้น ตามบริบทความพร้อมของแต่ละพื้นที่

ส่วนในประเด็นเสียงสะท้อนของผู้ปกครองที่มองว่าการเรียนการสอนในรูปแบบ Online ยังคงเป็นการเรียนการสอนแบบเดิมเหมือนเรียนในห้องเรียน เพียงแต่สอนผ่านระบบ Online เท่านั้น ส่งผลให้ไม่สามารถดึงดูดนักเรียนให้สนใจกับการเรียนได้ เช่น นั่งเรียนไปด้วย ดูโทรศัพท์มือถือไปด้วย นั่งเรียนแต่ดูโทรทัศน์ไปด้วย เป็นต้น ซึ่งในเรื่องการเรียนการสอนที่จัดผ่านระบบ Online สพฐ.ได้มีการพัฒนาครู ให้ปรับกระบวนการ หรือ หลักคิดในการสอน เพราะการสอน Online ไม่ใช่การเรียนการสอนเหมือนในห้องเรียนปกติ โดยครูจะต้องปรับวิธีการสอน ไม่เน้นเนื้อหามากไป เน้นการปฏิบัติ เช่น ชั่วโมงเรียน 1 ชั่วโมง อาจจะเรียนเนื้อหาเพียง 10-15 นาที จากนั้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ เป็นต้น

นครศรีธรรมราช - ม.อ. ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าฯ และภาคีเครือข่าย เดินหน้าส่งมอบแท็บเล็ต โครงการ “กองทุนไอทีพี่ ม.อ. ช่วยน้องเรียนออนไลน์”

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และภาคีเครือข่าย ส่งมอบแท็บเล็ตโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยระบบออนไลน์ จำนวน 109 เครื่อง ให้กับ 20 โรงเรียนในภาคใต้ โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี พร้อมด้วย นายแพทย์เกียรติศักดิ์ ราชบริรักษ์ นายกสมาคมศิษย์เก่าฯ ร่วมส่งมอบแก่ผู้บริหารและผู้แทนจากโรงเรียนภายใต้โครงการฯ ในพื้นที่ภาคใต้ ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 64

​สำหรับโรงเรียนเป้าหมายที่เข้ารับมอบแท็บเล็ต ภายใต้โครงการ “กองทุนไอทีพี่ ม.อ. ช่วยน้องเรียนออนไลน์” ในครั้งนี้ ประกอบด้วย โรงเรียนในจังหวัดสงขลา ได้แก่ โรงเรียนชุมชนวัดควนมีด, โรงเรียนบ้านสะพานหัก, โรงเรียนบ้านหาร, โรงเรียนวัดสลักป่าเก่ามูลนิธิ และ โรงเรียนมิฟตาฮุดดีน (บ้านพลีใต้) จังหวัดสตูล ได้แก่ โรงเรียนบ้านวังปริง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ โรงเรียนวัดสระไคร, โรงเรียนบ้านนาเส, โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 6, โรงเรียนวัดนาหมอบุญ และโรงเรียนวัดไม้เสียบ จังหวัดปัตตานี ได้แก่ โรงเรียนบ้านตันหยงลุโละ, โรงเรียนบ้านคลองช้าง, โรงเรียนบ้านระแว้ง, โรงเรียนบ้านท่าเรือ และโรงเรียนมุสลิมสันติชน จังหวัดยะลา ได้แก่ โรงเรียนบ้านปงตา และจังหวัดนราธิวาส ได้แก่ โรงเรียนวัดประชุมชลธารา, โรงเรียนบ้านริแง และโรงเรียนบ้านบาตูมิตรภาพที่ 66

​โครงการ “กองทุนไอทีพี่ ม.อ. ช่วยน้องเรียนออนไลน์” เป็นความร่วมมือของสมาคมศิษย์เก่า ม.อ. และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมทั้ง ภาคีองค์กรศิษย์เก่าทุกคณะ และชมรมศิษย์เก่าระดับจังหวัด เพื่อระดมทุนจัดหาอุปกรณ์การเรียนให้นักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล - มัธยมศึกษา ในพื้นที่ 9 จังหวัดชายแดนภาคใต้

‘ดร.กมล’ ภท. เล็งต่อยอด ‘เรียนออนไลน์’ เน้นคุณภาพ-เท่าเทียม ผลักดัน จัดตั้ง ‘สถาบันพัฒนาฯ’ สร้างระบบการเรียน-สอนใหม่ ให้มีคุณภาพ

‘ดร.กมล รอดคล้าย’ ทีมการศึกษา ภท. เล็งต่อยอดเรียนออนไลน์ให้มีคุณภาพ เพื่อความเท่าเทียม สร้างระบบใหม่การจัดการสอน เปลี่ยนภาพจำของโรงเรียน นำพาคนไทยให้มีขีดความสามารถแข่งขันระดับโลก

(27 มี.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.กมล รอดคล้าย คณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา พรรคภูมิใจไทย กล่าวในรายการ ‘พรรคภูมิใจไทย พูดแล้วทำ’ เผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก ยูทูป และ TikTok พรรคภูมิใจไทย ถึงนโยบาย 'การจัดการเรียนการสอนด้วยระบบออนไลน์ (Online)'

โดยระบุว่า พรรคภูมิใจไทย ได้เสนอนโยบายการจัดการเรียนการสอนด้วยระบบออนไลน์ไว้ตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 โดยมองว่าช่องทางออนไลน์เป็นเรื่องของการจัดการศึกษาเพื่อความเท่าเทียม สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ทุกที่ ทุกเวลา มีค่าใช้จ่ายที่น้อยมาก และจะทำให้ระบบการศึกษาไทยสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีคุณภาพ ในช่วงที่ผ่านมา การศึกษาผ่านระบบออนไลน์ถือว่าประสบความสำเร็จมาก ตามที่พรรคภูมิใจไทยได้ประกาศนโยบายไว้

“ระบบนี้กำลังจะขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต เราเตรียมการอีกอย่างน้อย 3-4 เรื่อง เช่น การจัดการเรียนการสอน หรือเรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรี เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ระบบออนไลน์สามารถจัดการได้ ส่วนการฝึกงาน กิจกรรมกลุ่ม หรือห้องแลป (ห้องปฏิบัติการ) เด็กๆ หรือนักศึกษา ก็มาที่สถาบันได้เหมือนเดิม” ดร.กมล ระบุ

ดร.กมล กล่าวต่อว่า ทุกโรงเรียนในประเทศไทยซึ่งเรียนผ่านออนไซต์ (On-site) ปัจจุบัน เราสามารถสร้างระบบที่เรียกว่า เวอร์ช่วลสคูล (Virtual School) หรือออนไลน์สคูล (Online School) เป็นห้องที่ทำการเรียนการสอนได้ทุกแห่ง จุดเด่นก็คือเด็กๆ ไม่ว่าอยู่ในชนบทห่างไกล หรือโรงเรียนขนาดเล็ก จะได้เรียนกับครูเก่งๆ

นอกจากนี้ยังนำไปสู่อีก 2 ประเด็นหลักๆ ก็คือ เรากำลังจะส่งเสริมพัฒนาคุณภาพของครู ให้ครูสามารถได้รับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากระบบออนไลน์ด้วย

โดยเมื่อครูสอนเสร็จ ก็จัดทำเป็นคลิปการเรียนการสอนของตัวเอง เพื่ออัปโหลดลงไปในระบบออนไลน์ เมื่อเด็กๆ คลิกเข้าไปชม ครูที่สอนก็จะได้รายได้ เป็นรายได้แบบเพย์-เพอร์-วิว (Pay Per View) หรือชำระเงินเพื่อการรับชม แต่การจ่ายเงินตรงนี้ เด็กไม่ได้เป็นผู้จ่าย รัฐจะเข้ามาเป็นผู้จ่ายแทน

‘ครูพรีมมี่’ หนุน การศึกษาออนไลน์แก่ผู้สูงวัย ใช้ต่อยอดวิชาชีพ สร้างรายได้เลี้ยงตัวเอง สอดคล้องนโยบายเรียนรู้ตลอดชีพ ของ ‘ภท.’

(26 เม.ย. 66) ที่ห้องเรียนศาลาอเนกประสงค์ริมน้ำ วัดทองบน นายนรเสฏฐ์ เธียรประสิทธิ์ หรือ ‘ครูพรีมมี่’ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 ยานนาวา-บางคอแหลม เบอร์ 10 พรรคภูมิใจไทย ได้เข้าร่วมกิจกรรมจัดการเรียนการสอนกับกลุ่มนักเรียนผู้สูงวัย ในโรงเรียนผู้สูงอายุยานนาวา วัดทองบน ถนนพระราม 3 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่รับรองโดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เขตยานนาวา ตามหลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิต

ครูพรีมมี่ได้ใช้เวลาช่วงเว้นว่างจากกิจกรรมนันทนาการให้ห้องเรียนรู้ เพื่อขอโอกาสแนะนำตัวและนำเสนอนโยบาย อันเป็นที่ถูกใจชาวสูงวัยเขตยานนาวาอย่างมาก เพราะครูพรีมมี่ อาศัยความเป็น ‘ครู’​ สอนหนังสือมาก่อน จึงสามารถเรียกร้องความสนใจของผู้ใหญ่ในห้องเรียนได้ไม่ยาก โดยเฉพาะเมื่อได้รับไมค์มา ครูพรีมมี่ก็เริ่มต้นด้วยประโยคที่คุ้นเคยทันทีว่า “หากพวกเรากำลังสบาย จงตบมือพลัน”​ ผู้สูงวัยทุกท่านก็พร้อมรับมุกโดยพร้อมเพรียง ตบมือเสียงดัง ๆ ตามด้วยเสียงหัวเราะด้วยความเป็นกันเอง ก่อนที่ครูพรีมมี่จะขอให้ทุกคนชูมือขึ้นทั้งสองข้างและถามไปว่า “ครูพรีมมี่เบอร์อะไร” แน่นอนว่าเหล่าผู้สูงวัยต่างประสานเสียงโดยพร้อมเพรียงกันว่า  “เบอร์10”

ครูพรีมมี่ได้แนะนำตัวเองว่า จบการศึกษาปริญาตรี BBA จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นได้ทำงานกับกลุ่มซีพี ที่กรุงปักกิ่ง และไปศึกษาต่อปริญญาโท MBA สาขาการเงิน ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และได้เปิดโรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษให้กับคนจีน รวมทั้งได้เปิดคอร์สอบรมคุณครูสอนภาษาอังกฤษโรงเรียนอนุบาลที่ปักกิ่ง นับเป็นคนไทยคนแรกที่เข้าไปเปิดธุรกิจด้านการศึกษาในประเทศจีน ต่อมาบังเอิญว่ามีผู้บริหารกระทรวงการศึกษาธิการของไทยในขณะนั้น ได้ไปศึกษาดูงานที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และได้มีโอกาสพบกับครูพรีมมี่ จึงได้เชิญชวนครูพรีมมี่กลับมาช่วยประเทศไทยด้านการศึกษา เพื่อพัฒนาหลักสูตรภาษาจีนในไทย

“ผมโตมากับครอบครัวการศึกษา ที่บ้านทำโรงเรียนอนุบาล ได้ถูกปลูกฝังมาตลอดว่าต้องช่วยเหลือสังคม สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ก็คือการศึกษา พอเรามาเห็น เราก็รู้สึกว่าสิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาได้คือ การศึกษา วันนี้ยิ่งได้มาเห็นพี่ ๆ (ครูพรีมมี่อ้อนผู้สูงวัยขอเรียกพี่)​ ยังมาเรียนกันพร้อมหน้าแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้เชื่อมั่นในความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งตรงกับนโยบายของพรรค

วันนี้รู้สึกประทับใจมากที่เข้ามาเห็นคุณครูกำลังสอนเรื่องภัยคุกคามด้านออนไลน์ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคนมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ได้ให้ความรู้เรื่องออนไลน์กับผู้สูงวัย ซึ่งเหมือนกับที่ผมตั้งใจมาสนับสนุนเรื่องการศึกษาเท่าเทียมอยู่แล้ว โดยสอดคล้องกับนโยบายพรรคภูมิใจไทย ที่ผลักดันการศึกษาตลอดชีพผ่านการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งจะพัฒนาหลักสูตรให้เข้มแข็งและตอบโจทย์กับทุกช่วงวัย โดยเฉพาะให้เหมาะกับผู้สูงวัยด้วย เพราะวัยนี้การเรียนแบบในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวนั้น อาจจะไม่คล่องตัว เพราะวัยนี้แล้วอาจจะมีภาระ มีงานมีการติดพัน ต้องค้าต้องขาย ไม่สะดวกมาเรียน แต่เชื่อว่าทุกคนอยากได้โอกาสพัฒนาตนเอง ฉะนั้น ถ้ามีหลักสูตรออนไลน์ จึงจะทำให้เรียนที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้ จะทำธุระอะไรอยู่ก็สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ เพราะเป็นหลักสูตรออนดีมานด์ ขอเพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือก็สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม” ครูพรีมมี่ กล่าว

ความสำคัญคือ การสร้างหลักสูตร ไม่ได้มุ่งหมายเพียงให้มีแต่ความรู้​ แต่หวังผลให้นำไปใช้ปฏิบัติได้จริง ประกอบอาชีพ หรือสร้างอนาคตได้

“​นโยบายภูมิใจไทยตั้งเป้าหมายจะสร้างผู้ประกอบการนักธุรกิจออนไลน์ให้ได้ถึง 9 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งผู้สูงวัยชาวยานนาวาจะเป็นส่วนหนึ่งในนี้ด้วย การเรียนให้ได้มีความรู้ขึ้นมาก็ดี แต่เราจะต้องคิดต่อไปว่า จะสอนจะอบรมอย่างไรให้ทุกคนนำไปใช้ได้จริง ยกตัวอย่าง สอนให้ทำอาหาร ทำของขายแล้ว อาจจะไม่พอ ต้องมีคอร์สอบรมสอนให้รู้จักขายสินค้า นำเสนอขายแบบอินฟลูเอนเซอร์ หรือจะเป็นยูทูบเบอร์ ต้องทำอย่างไร ลองคิดดูผู้สูงวัยบางท่านอาจจะไม่มีงานทำเพราะเกษียณแล้ว แต่อาจจะสามารถไปรีวิวสินค้า หรือ มีทักษะทำอาหารขนมเก่งอยู่แล้ว แต่อาจจะเรียนเพิ่มเรื่องขายของออนไลน์ เพื่อจะเพิ่มช่องทางการตลาดให้ได้”​ ครูพรีมมี่ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top