Sunday, 12 May 2024
เพลงพระราชนิพนธ์

บทเพลงพระราชนิพนธ์แห่งความสุข  จากองค์พระมหากษัตริย์สู่พสกนิกรชาวไทย 

ประเทศไทยของเราเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่จากเดิมที่นับเอาวันที่ ๑ เมษายนของทุกปีเป็นวันปีใหม่แบบของไทยเรา โดยนับเนื่องกันมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเรามีเพลงประจำปีใหม่ไทยของเราหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ซึ่งแต่งทำนองและเรียบเรียงโดย 'พระเจนดุริยางค์' (ปิติ วาทยะกร) แต่งคำร้องโดย 'ขุนวิจิตรมาตรา' (สง่า กาญจนพันธุ์) โดยมีชื่อเพลงว่า 'เถลิงศก' และเริ่มใช้ขับร้องต้อนรับปีใหม่แบบไทยในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ โดยระบุชัดในเนื้อร้องท่อนนึงว่า...

“วันที่หนึ่งเมษายน ตั้งต้นปีใหม่
แสงตะวันพร่างพรายใส สว่างแจ่มจ้า
เสียงระฆังเหง่งหง่างก้อง ร้องทักทายมา
ไตรรงค์ร่าระเริงปลิว พลิ้วพลิ้วเล่นลม.....” 

แต่ร้องกันได้เพียงแค่ ๖ ปีก็มาถึงยุค ‘เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย’ … ‘จอมพล ป.พิบูลสงคราม’ ที่มีความต้องการให้ประเทศไทยมีความเป็นสากลเหมือนอารยประเทศในทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะ ‘วันปีใหม่’ ซึ่งน่าจะนับเอาตามหลักสากล จึงได้ออกกฎหมายและประกาศ ‘พระราชบัญญัติ ปีปฏิทินพุทธศักราช ๒๔๘๓’ โดยยกเลิกปีใหม่แบบเดิมและให้เริ่มนับเอาวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นปีแรกแห่งการนับปีใหม่ตามหลักสากล เพลง 'เถลิงศก' เพลงปีใหม่เดิมก็เป็นอันเลิกใช้ โดยมีเพลงที่อาจจะอนุมานในการร้องหรือเปิดในช่วงปีใหม่ในช่วงของท่านจอมพลก็คือเพลงประกอบการเต้นลีลาศหรือรำวงมาตรฐานโดยวงสุนทราภรณ์ เช่น ‘รื่นเริงเถลิงศก’ / ‘รำวงปีใหม่’

ส่วนบทเพลงสำคัญที่เปรียบเสมือนพรจากฟ้า เป็นของขวัญของปวงชนชาวไทยในทุกวันขึ้นปีใหม่ เกิดขึ้นเมื่อวันส่งท้ายปี พ.ศ. ๒๔๙๔ นั่นก็คือบทเพลงพระราชนิพนธ์ ‘พรปีใหม่’

‘พรปีใหม่’ เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๓ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นบทเพลงที่ส่งต่อความสุขใจ ความปรารถนาดี จากพระองค์ท่าน สู่พสกนิกรชาวไทยของพระองค์ 

หลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จนิวัตประเทศไทยและประทับในประเทศไทยเป็นการถาวร ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ จนถึงวาระขึ้นปีใหม่ครั้งนั้น พระองค์มีพระราชประสงค์จะพระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรด้วยเพลง 

สำหรับบทเพลง ‘พรปีใหม่’ นี้ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไม่ได้เริ่มต้นแต่งใหม่ทั้งหมดในคืนวันก่อนปีใหม่ปี ๒๔๙๔ - ๒๔๙๕ แล้วนำไปบรรเลงเลยอย่างที่ทุกคนเข้าใจ แต่จริง ๆ แล้วพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองมานานก่อนหน้านั้นแล้วบางส่วน ก่อนจะมาปรับปรุง เพิ่มเติมจนจบ จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทยซึ่งเป็นคำอวยพรปีใหม่ ลงไปจนครบซึ่งก็พอดีกับการจะพระราชทานในค่ำคืนวันนั้นพอดี ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสเล่าเบื้องหลังการพระราชนิพนธ์เพลง ‘พรปีใหม่’ พระราชทานแก่คณะกรรมการโครงการ ‘ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์’ ที่เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ ความว่า...

“...เพลงพรปีใหม่ คนก็ว่าแต่งในวันปีใหม่ หรือวันก่อนวันปีใหม่ แท้จริงแต่งมานาน ก่อนที่จะออกปีใหม่เป็นปีหรือสองปี แล้วก็แต่งแบบทุลักทุเล ตอนนั้นไม่สบาย คืออยู่ที่เมืองนอก ไปมีอุบัติเหตุ หมอบอกว่าห้ามเล่นแซกโซโฟน แต่ว่าท่านจักรพันธ์อยู่ด้วย ก็ให้ท่านเป่าแซกโซโฟน ท่านก็เป่ามีเสียงออกมาได้ แต่ท่านไม่รู้ว่านิ้วจะวางอย่างไร ลงท้ายก็เอานิ้วของเราใส่บนแซกโซโฟน แล้วท่านก็เป่า ลงท้ายท่านก็เล่นแซกโซโฟนได้ และเมื่อหมออนุญาตให้เป่าแซกโซโฟน ก็เลยเริ่มเล่นเป็นเพลงที่แต่งเอาเอง คนหนึ่งเล่นส่วนหลัก แล้วอีกคนก็เล่นต่อสลับกันไปอย่างนี้แล้วจดเอาไว้มาถึงปลายปี ก็เลยนึกว่าเอ๊ะ...เราแต่งเพลงสำหรับให้พรปีใหม่ ก็เอาอันนี้ที่แต่งไว้แล้วมีคนแต่งสองคนไม่รู้ว่าเป็นเพลง ก็มาปรับปรุงให้เป็นเพลงได้…”

เพลงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ที่ได้รับพระราชทานชื่อว่า ‘พรปีใหม่’ เดินทางไปถึงวงดนตรี ๒ วง ในคืนวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งทั้ง ๒ วงกำลังบรรเลงดนตรีส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่อยู่ ๒ แห่ง โดยวงแรกคือวงดนตรีของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแสดงอยู่ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

อีกวงคือวงสุนทราภรณ์ ซึ่งกำลังแสดงอยู่ที่ศาลาเฉลิมไทย เมื่อทั้ง ๒ วงได้รับบทเพลงพระราชนิพนธ์ ก็ได้นำไปเรียบเรียงเพื่อใช้สำหรับการบรรเลงเป็นวงและเตรียมการขับร้องอยู่สักพักก่อนที่จะนำไปบรรเลงและขับร้องเมื่อเข้าสู่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งนอกจากจะสร้างความประหลาดใจจากบทเพลงใหม่ที่ได้รับพระราชทานมาแล้วนั้น ผู้ที่ได้รับชม รับฟัง บทเพลงพระราชนิพนธ์ ‘พรปีใหม่’ ในครั้งนั้น ล้วน ตื่นเต้น ตื้นตัน และปลาบปลื้มไปกับความสุขที่ได้รับพรจากฟ้า จากพระเจ้าแผ่นดินผู้รักผสกนิกรของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง (ผมพิมพ์ไปนึกภาพตามไปยังขนลุกเลย) 

“สวัสดีปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาเราท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาเราท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมหฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ”

นับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ มาถึงปัจจุบัน กว่า ๗๑ ปี ที่ชาวไทยได้ร้องเพลง ‘พรปีใหม่’ ในทุกช่วงเทศกาลฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขและการเดินหน้าต่อไปในทุก ๆ ปีแล้วนั้น เพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ยังแสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ไทยของเรา ที่อยากเห็นปวงชนชาวไทยมีความสุข อยู่ดีกินดี มีความสุขในบ้าน ในเมือง ที่ร่มเย็นด้วยพระบารมี ตลอดทั้งปีใหม่และตลอดไป

'เปอร์-โอลอฟ คินด์เกรน' มือกีตาร์คลาสสิก ผู้ชื่นชมเพลงพระราชนิพนธ์ ในหลวง ร.9 ขอตัดใจไม่เล่นเพลงพระราชนิพนธ์อีก เหตุเพราะถูกบางกลุ่ม 'ยัดเยียดความรัก'

(30 มี.ค.67) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'ดำรงค์ นาวิกไพบูลย์' อินฟลูเอนเซอร์ทางการเมืองชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความชวนคิด ระบุว่า...

เห็นภาพนี้แล้วคุณอาจจะงง ตาฝรั่งนี่ใครวะ

เขาคือ เปอร์-โอลอฟ คินด์เกรน (Per-Olov Kindgren) มือกีตาร์คลาสสิกชาวสวีเดน ที่มีชื่อเสียงมากในยูทูบยุคแรกเริ่ม และก็มีคนติดตามแกมากถึง 2.23 คนเลยทีเดียว

เมื่อ 16 ปีที่แล้ว แกเลือกหยิบเพลงพระราชนิพนธ์ H.M. Blue (ชะตาชีวิต) ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาบรรเลง ซึ่งเขาก็ให้เครดิตในหลวงในฐานะผู้พระราชนิพนธ์ และเมื่อเผยแพร่ออกไปแล้ว ก็มีฝรั่งหลายคนเขามาแสดงความชื่นชม ทั้งตัวเขาและบทเพลง

บางคนถึงกับอุทานว่า "กษัตริย์ไทยต้องเป็นกษัตริย์ที่เจ๋งที่สุดในโลกแน่ๆ"

เสียงตอบรับโคตรดีย์

ดี 

ดีมาก 

ดีสุด ๆ

จนกระทั่ง #มีสลิ่มมาปักเข่า

----

คือ คินด์เกรน เขาก็บอกนะฮะว่า เขานั้นไม่รู้จักในหลวงของเราเลย เพียงบังเอิญได้รับฟังเพลง HM Blue แล้วชอบ ถึงได้เพิ่งรู้ว่าผู้แต่งเป็นกษัตริย์

แต่เขานั้นเป็นนักดนตรี เขาสนใจเฉพาะดนตรี

แต่สลิ่ม ก็ยังคงความเป็นสลิ่ม คลั่งใคล้เจ้าแบบไม่ลืมหูลืมตา ไปพยายาม "ยัดเยียดความรัก" ในในหลวงให้คนต่างชาติที่ไม่ได้รู้เรื่อง หรือเกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย

พูดกันแบบแฟร์ๆ ตา คินด์เกรน เขาเป็นคนสวีเดน ที่ประเทศของเขาก็มีสถาบันพระมหากษัตริย์ของเขา ซึ่งมันก็ไม่มีเหตุผลที่เขาจะมาจงรักภักดีกับกษัตริย์ชาติอื่น ที่ไม่ใช่ราชวงศ์สวีเดนอยู่แล้ว

แต่สิ่งที่เราทำได้ คือการให้ความรู้กับคนต่างชาติว่า ในหลวงของเรานั้น ทรงเป็นผู้ประเสริฐ เพียรพยายามให้ความช่วยเหลือพสกนิกรผู้ยากจนและทุกข์ยากของพระองค์ ให้สามารถลืมตาอ้าปาก นำมาซึ่งความผาสุขและความเจริญให้แก่ประชาชน ผู้คน และมวลมนุษยชาติมากเพียงไหน 

ซึ่งการเป็นคนดี สร้างคุณูประการให้แก่ผู้อื่น ให้แก่เพื่อนมนุษย์ เป็นสิ่งที่ผู้คนทุกผู้นาม ทุกเชื้อชาติ ต่างก็ให้การยอมรับโดยดุษฎี อยู่แล้ว

ผมเองเมื่อครั้งอยู่ที่ออสเตรเลีย เพื่อนจากหลายชาติที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ชอบถามว่า “ทำไมคนไทยรักในหลวงของคุณจัง ?” ผมตอบว่า “ถ้ามีใครสักคนที่อุทิศตนทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมมาตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี คุณจะรักและเทิดทูนเค้ามั้ย? นั่นแหละเหตุผลว่าทำไมคนไทยรักในหลวงของพวกเรา”

คำตอบแบบนี้ ไม่ว่าใครก็ต่างให้การยอมรับ และเห็นว่าชอบด้วยเหตุผล

---

แต่สิ่งที่สลิ่มไปทำต่อ ตาคินด์เกรน นั้นไม่ใช่แบบผม 

พอเขาไม่รู้จักในหลวง ก็ไปด่าเค้าว่าทำไมคุณไม่รู้ - ไม่รู้ได้ไง – ทำไมคุณไม่รักในหลวง

มารุมถล่มเยอะๆ เข้า โดยที่ไม่มีการให้ความรู้อะไรกับเค้าเลย (เพราะสลิ่มไม่มีความรู้ ผิดกับคนรักสถาบันที่มีสติสัมปชัญญะ)

ตาคินด์เกรนเลยประกาศว่า “จากนี้ไปกูจะไม่เล่นเพลงพระราชนิพนธ์แล้ว (โว้ย)” ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เขาเขียนคอมเมนต์บอกแฟนคลับของเขา (ก่อนที่สลิ่มจะมา) ว่ายังมีเพลงพระราชนิพนธ์เจ๋ง ๆ อีกนะ เดี๋ยวจะทยอยเล่นให้ฟัง

Chief หายเลยทีนี้

และ 16 ปีนับจากนั้น คินด์เกรน ก็ไม่เล่นเพลงพระราชนิพนธ์อีกเลย (เนื่องจากรำคาญสลิ่ม)

----

นี่คือตัวอย่างของภัยร้ายจาก “#สันดานสลิ่ม” และเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงควรจะแยกสลิ่มออกจากคนรักสถาบัน

ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะแพ้ก้าวไกล เพราะยังไงสลิ่มก็ไม่มีทางชนะ

เด็กรุ่นใหม่ เป็นรุ่นที่เกิดมาไม่ทันเห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานอย่างหนัก เพราะเวลานั้นทรงชราภาพมากแล้ว ดังนั้นเด็กรุ่นใหม่จะไม่อิน

แต่ถ้าได้รับการถ่ายทอดเรื่องราวที่ดีจากคนรักสถาบันที่มีความรู้ คนรุ่นใหม่ก็พร้อมจะเข้าใจ และรักในสถาบันและราชวงศ์จักรี

ในขณะที่ สันดานแบบสลิ่ม ไปบังคับขู่เข็ญให้เขารัก จะมีแต่ทำให้คนรุ่นใหม่นั้นถอยห่าง วิ่งเข้าไปหาก้าวไกล

สุดท้ายแล้ว กลุ่มคนที่จะเอาชนะกระแสพรรคก้าวไกลได้ ก็คือ กลุ่มคนรักสถาบัน ที่ไม่มีพวกสลิ่มไปปนอยู่ในนั้น และเราควรปล่อยให้พวกสลิ่มนั้น ตายไปพร้อมกับความแก่ชราของพวกเขาได้แล้ว

‘บรูโน มาส์’ โชว์เปียโน เพลงพระราชนิพนธ์ สร้างความประทับใจ ให้กับแฟนเพลงชาวไทย 

(31 มี.ค.67) สำหรับคอนเสิร์ตศิลปินชื่อดัง บรูโน มาส์ ที่จัดขึ้นในประเทศไทย ในวันที่ 30 และ 31 มีนาคม 2567 ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน คอนเสิร์ตในครั้งนี้ มีการเล่นเพลงพระราชนิพนธ์ Still on my mind ของในหลวงรัชกาลที่ 9 สร้างความประทับใจให้กับแฟนเพลงชาวไทยเป็นอย่างมาก 

ดนตรีในสวน ‘เฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.10’ วันนี้ที่ ‘สวนรถไฟ’ จัดอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อให้ปชช. ได้สัมผัสกับ บทเพลงพระราชนิพนธ์

(28 เม.ย. 67) ทุกวันที่ 28 ของทุกเดือน ตลอดปี พ.ศ.2567 คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์การจัดงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 กำหนดให้จัดกิจกรรมดนตรีในสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยความร่วมมือของกรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร รวมถึงเหล่าศิลปิน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมรับฟังบทเพลงอันไพเราะและทรงคุณค่า

เช่น เพลงพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และบทเพลงทั่วไป ในบรรยากาศสวนสวยใจกลางกรุงเทพมหานคร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดปีมหามงคล และเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ

โดยในวันที่ 28 เม.ย.2567 กิจกรรมดนตรีในสวน มีกำหนดจัดขึ้น ณ สวนวชิรเบญจทัศ หรือ สวนรถไฟ ประชาชนสามารถร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่ 17.00 น. เป็นต้นไป นอกจากบทเพลงจากวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์แล้ว ยังมีกลุ่มศิลปินนำโดย คุณโฉมฉาย อรุณฉาน และศิลปินรุ่นใหม่ จากการประกวดในรายการเพลงเอกร่วมขับร้องบทเพลงอันไพเราะ เช่น ธัช กิตติธัช แชมป์รายการเพลงเอกซีซัน 1 แบ๊งค์ เฉลิมรัฐ จุลโลบล แชมป์รายการเพลงเอกซีซัน 2 เซม ภานุรุจ พงพิทักษ์กุล แชมป์รายการเพลงเอกซีซัน 3 และ โอ๋ ชุติมา แก้วเนียม ผู้ร่วมประกวดรายการเพลงเอกซีซัน 2

ในปีมหามงคลนี้ ทางคณะกรรมการฯ ก็ขอเชิญชวนประชาชนคนไทย ร่วมแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ โดยเข้าร่วมกิจกรรมที่รัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชนทั่วประเทศ พร้อมใจจัดขึ้นตลอดทั้งปีนี้

สำหรับการจัดกิจกรรมดนตรี นับเป็น Soft Power สาขาหนึ่ง จาก 11 สาขา ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และเป็นสื่อกลางที่สร้างความสามัคคีกลมเกลียวของคนในชาติ ช่วยส่งเสริมความรัก ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทำให้ประเทศไทยเกิดความสงบสุขภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top