Friday, 17 May 2024
เพจปลอม

อย่าหลงเชื่อ!! ‘ตำรวจไซเบอร์’ แนะ 10 แนวทางระวังภัย ‘เพจปลอม’ สวมรอยเฟซบุ๊กจริง ลวงขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

โฆษก บช.สอท. เตือนภัยระวังมิจฉาชีพหลอกลวงขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ระวังเจอเพจเฟซบุ๊กปลอม สวมรอยลอกเลียนแบบเพจเฟซบุ๊กจริง อย่าหลงเชื่อ

(12 มี.ค.66) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัย กรณีการหลอกลวงขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ระวังเจอเพจในเฟซบุ๊กปลอม ลอกเลียนแบบของเพจในเฟซบุ๊กจริง ดังนี้

ที่ผ่านมาได้รับรายงานจากกองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) พบว่ามีประชาชนตกเป็นเหยื่อจากการซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้าเฉลี่ยกว่า 1,900 รายต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่สินค้าที่มักถูกหลอกลวง ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ ผลไม้ บัตรคอนเสิร์ต รถจักรยานยนต์มือสอง และปลาแซลมอน เป็นต้น

โดยภัยจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์มีหลากหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่การซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า หรือซื้อสินค้าแต่ได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือได้ไม่ตรงปก หรือซื้อสินค้าแต่ได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ไปจนถึงการใช้หลักฐานการโอนเงินปลอมเพื่อหลอกลวงผู้ขาย เป็นต้น โดยส่วนใหญ่มิจฉาชีพมักจะสร้างความน่าเชื่อถือของร้านค้า การการันตีสินค้า การรีวิวสินค้าปลอม รวมไปถึงการโฆษณาสรรพคุณเกินจริง

นอกจากนี้ยังมีการสร้างเพจในเฟซบุ๊กปลอมตั้งชื่อลอกเลียนแบบให้เหมือน หรือคล้ายคลึงกับเพจในเฟซบุ๊กที่มีการซื้อขายสินค้าจริง โดยการคัดลอกรูปภาพสินค้า และเนื้อหาจากเพจจริงมาใช้ เมื่อหลอกลวงผู้เสียหายได้หลายรายก็จะเปลี่ยนชื่อเพจ หรือสินค้าไปเรื่อยๆ หรือสร้างเพจปลอมขึ้นมาใหม่ ยกตัวอย่างเช่น มีผู้เสียหายถูกหลอกลวงซื้อโทรศัพท์มือถือโทรศัพท์ซิมเน็ตรายปี ผ่านเพจปลอม Moblie2you ซึ่งเพจจริงคือ Mobile2youmbk หรือกรณีปลอมเพจหลายเพจขายทุเรียนของดาราท่านหนึ่ง เป็นต้น

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานในด้านการป้องกันปราบปราม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง

ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา บช.สอท. ได้เร่งปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง มีปฏิบัติการสำคัญเมื่อต้นเดือน มี.ค.66 ระดมตรวจค้นกว่า 40 จุด ทั่วประเทศภายใต้ยุทธการ “ ปิด Job - Shop ทิพย์ ” หลอกขายสินค้าและบริการผ่านโลกออนไลน์ มีประชาชนหลายรายได้ความเสียหายหลายล้านบาท สามารถทำการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับกว่า 30 ราย ตรวจยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ถึงแม้จะมีข้อดีหลายๆ ประการ ไม่ว่าจะสะดวกสบาย มีให้เลือกหลากหลาย สามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าแต่ละแหล่งได้ ติดตามโปรโมชันต่าง ๆ ได้ ที่สำคัญสามารถสั่งซื้อได้ตลอดเวลา แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนโดยมิชอบ

‘กรมการจัดหางาน’ เตือนภัย!! มิจฉาชีพปลอมเพจบริษัทจัดหางาน แอบอ้างใช้ชื่อ - โลโก้บริษัท รับสมัครคนทำงานเรือสำราญ

(12 ก.ย. 66) อธิบดีกรมการจัดหางาน เตือนภัย มิจฉาชีพอ้างชื่อบริษัทจัดหางานถูกกฎหมาย สร้างเพจรับสมัครคนทำงานเรือสำราญต่างประเทศ หลอกขอข้อมูลส่วนบุคคล ย้ำกรมฯ เอาผิดตาม พรบ.จัดหางานฯ มีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่กรมการจัดหางาน เผยแพร่ข่าว  บริษัทจัดหางานซึ่งประกอบธุรกิจเรือสำราญ จำนวน 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทจัดหางาน ญาณดา จำกัด บริษัทจัดหางาน เอเซียน แมนพาวเวอร์ จำกัด และบริษัทจัดหางาน บีเอสซี แมแนจเม้นท์ จำกัด เตรียมรับสมัครคนไทย ทำงานบนเรือสำราญต่างประเทศ จำนวน 2,602 อัตรา เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 นั้น 

ล่าสุดมีผู้แอบอ้างใช้ชื่อและโลโก้ของบริษัทจัดหางานดังกล่าวเป็นรูปโปรไฟล์ เพื่อโพสต์ข้อความรับสมัครคนหางานทางเพจเฟซบุ๊ก โดยขึ้นข้อความว่าเป็นการรับสมัครผ่านกรมการจัดหางาน จนมีคนหางานให้ความสนใจกดไลก์ กดแชร์มากกว่า 500 ครั้ง เมื่อคนหางานหลงเชื่อเข้าไปสอบถาม แอดมินเพจจะทำการแจ้งรายละเอียดผ่านทางอินบอกซ์ก่อนขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ สำเนาทะเบียนบ้านและเอกสารสำคัญอื่น ๆ 

นายไพโรจน์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่พบผู้เสียหาย แต่หากท่านใดรู้ตัวว่าถูกหลอกลวงจากกรณีดังกล่าว สามารถรวบรวมหลักฐานเพื่อแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ในส่วนของกรมการจัดหางานจะดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับผู้ชักชวนและหลอกลวงคนหางานตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งการโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3 - 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้กรมฯ จะแจ้งไปที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อเอาผิดและดำเนินการในส่วน ที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศ สามารถใช้บริการกับบริษัทจัดหางานที่จดทะเบียนกับกรมการจัดหางานถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 137 บริษัท โดยก่อนหลงเชื่อโอนเงินหรือส่งเอกสารหลักฐานสำคัญให้ผู้ใด ควรตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่เว็บไซต์กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน doe.go.th/ipd ซึ่งมีที่อยู่และช่องทางติดต่อที่ถูกต้องของบริษัทจัดหางานระบุไว้อย่างชัดเจน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ตำรวจไซเบอร์ เตือนประชาชน CF สินค้าผ่านไลฟ์สดเฟซบุ๊ก ระวังถูกเพจปลอมสวมรอยหลอกให้โอนเงิน

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ได้รับรายงานจากศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าที่ผ่านมายังคงมีผู้เสียหายหลายรายตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ จากการถูกหลอกลวงขายสินค้าผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของการซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า เนื่องจากผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพใช้เพจร้านค้าปลอมที่สร้างเลียนแบบเพจร้านค้าจริงติดต่อมาหลังจากที่ผู้เสียหายได้ทำการสั่งซื้อสินค้าในระหว่างการไลฟ์สดของเพจร้านค้าต่างๆ โดยผู้เสียหายจะพิมพ์รหัสสินค้าที่ต้องการจะจองสั่งซื้อ (CF, Confirm) หากผู้เสียหายเป็นผู้ได้รับสิทธิในการซื้อสินค้าดังกล่าว จะมีข้อความจากระบบตอบรับอัตโนมัติของเพจจริงแจ้งมายังกล่องข้อความ (Inbox) บัญชีเฟซบุ๊กของผู้เสียหาย เพื่อยืนยันคำสั่งซื้อสินค้า แจ้งรหัสการสั่งซื้อ ราคา และช่องทางการชำระเงิน ซึ่งก่อนหน้านี้มิจฉาชีพได้แฝงตัวอยู่ในเพจจริงดังกล่าว เมื่อเห็นผู้เสียหายสั่งซื้อสินค้าแล้วจะฉวยโอกาสใช้เพจปลอมติดต่อไปยังบัญชีเฟซบุ๊กผู้เสียหาย โดยแอบอ้างเป็นร้านค้าจริง ส่งหมายเลขบัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ที่เตรียมไว้ให้ผู้เสียหายทำการโอนเงิน เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ระมัดระวัง เพราะเห็นว่าเป็นชื่อเพจ รูปโปรไฟล์เพจใกล้เคียงหรือเหมือนกับเพจจริง จึงทำให้หลงเชื่อว่าเป็นเพจร้านค้าจริง จึงทำการโอนเงินชำระค่าสินค้าไปให้มิจฉาชีพ กระทั่งภายหลังทราบว่าถูกหลอกลวงและได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ จากสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 - วันที่ 14 ต.ค.66 พบว่า การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์กว่า 137,719 เรื่อง หรือคิดเป็น 40.12% จากเรื่องการรับแจ้งความทั้งหมด สูงเป็นลำดับที่ 1 โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 4 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด รองลงมาจากการหลอกลวงให้ลงทุน การข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) และการหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงาน

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. โดยกำชับการขับเคลื่อนนโยบายในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงขายสินค้าหรือบริการผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว มิจฉาชีพมักจะมองหาเพจขายสินค้าที่มีชื่อเสียง หรือมีผู้ติดตามจำนวนมาก แล้วคัดลอกภาพโปรไฟล์ ตั้งชื่อเลียนแบบ หรือตั้งชื่อคล้ายกับเพจจริง เพื่อหลอกลวงประชาชน ที่ผ่านมา บช.สอท. ได้เร่งปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง มีคดีสำคัญๆ หลายคดี สามารถทำการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้หลายราย ตรวจยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ถึงแม้จะมีข้อดีหลายๆ ประการ แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนโดยมิชอบ

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ พร้อมแนวทางการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้

1.พึงระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง
2.ระวังการได้รับแจ้งว่าเป็นผู้โชคดี ได้รับสิทธิพิเศษ หรือได้รับรางวัลต่างๆ แต่มีการให้โอนเงินไปก่อนถึงจะได้รับสินค้า โดยมีการอ้างว่าเป็นค่าภาษี ค่าธรรมเนียม ฯลฯ อย่าได้โอนเงินเด็ดขาด
3.ระวังช่องทางขายสินค้าปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพจเฟซบุ๊กปลอม หรือเพจลอกเลียนแบบเพจจริง โดยเพจจริงควรจะมีผู้ติดตามสูง มีการสร้างขึ้นมานานแล้ว มีรายละเอียดการติดต่อร้านชัดเจนสามารถโทรศัพท์ไปสอบถามได้
4.หากต้องการซื้อสินค้ากับเพจเฟซบุ๊กใด ให้ไปที่ความโปร่งใสของเพจ เพื่อตรวจสอบก่อนว่าเพจนั้นมีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ มีผู้จัดการเพจ หรือผู้ดูแลอยู่ในประเทศหรือไม่
5.เมื่อสนใจต้องการซื้อสินค้ากับเพจใดๆ ควรจะส่งข้อความไปยังเพจจริงนั้นก่อน ระหว่างหรือหลังการไลฟ์สดหากมีเพจใดๆ ติดต่อมาแล้วไม่มีประวัติการสนทนา เชื่อได้ว่าเป็นเพจปลอมของมิจฉาชีพอย่างแน่นอน
6.ทุกครั้งก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า ให้ตรวจสอบประวัติของร้าน และชื่อหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ว่าเป็นช่องทางการรับเงินจริงหรือไม่ มีประวัติไม่ดีหรือไม่ โดยตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ค้นหาทั่วไป เช่น Google, Blacklistseller เป็นต้น
7.กดรายงานบัญชี หรือเพจในเฟซบุ๊กปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อ

'กวี ชูกิจเกษม' เตือนแฟนคลับ!! เพจหลักตนมีแค่เพจเดียว หลังมิจฉาชีพออนไลน์ สร้างเพจปลอมหลอกคนพุ่ง

(24 ม.ค.67) จากเฟซบุ๊กหลัก 'กวี ชูกิจเกษม' โดยคุณกวี ชูกิจเกษม นักลงทุน VI และนักวิเคราะห์ที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Head of Research and Content. บล.Pi ได้ออกมาแจ้งเตือนประชาชน หลังจากมีมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อตนไปปั้นเพจปลอม เพื่อหลอกลวงให้คนมาลงทุน ว่า...

ว่าด้วยเรื่อง ขณะนี้ เพจปลอมกลับมาแอบอ้างสวมรอยระบาดจำนวนมาก (อีกแล้ว) ซึ่งเป็นเรื่องเหนือการควบคุมได้ทั้งของทางทีมงานเอง และ Admin นะคะ ไม่สามารถยับยั้งหรือยุติให้หมดไปได้เลยจริงๆ 🥲

ตามที่ได้เรียนแจ้งเสมอๆ ให้รับทราบโดยทั่วกันทุกครั้ง ว่าพี่กวี 'คุณกวี ชูกิจเกษม' มีช่องทางการติดตามบน Facebook fanpage แค่ที่เพจนี้ (กวี ชูกิจเกษม) เท่านั้น และช่องสำหรับเรียนรู้เรื่องการลงทุน ที่ Vee Investment Academy บน Youtube Channel 

ทั้งนี้ หากมีการเอ่ยหรือแอบอ้างสวมรอยเป็น 'คุณกวี ชูกิจเกษม' ไม่ว่าจะเป็นการลงภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือภาพโฆษณาคอร์สเรียนใดๆ ที่มีความผิดปกติ หรือไม่น่าไว้วางใจ รวมถึงการสื่อความไปในทิศทางเชื้อเชิญ ชักชวน ให้เข้ากลุ่มลับ กลุ่มส่วนตัว หรือทำธุรกรรมลงทุนใดๆ ขอเรียนแจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน ณ ตรงนี้นะคะ ว่าไม่เป็นข้อเท็จจริงประการใดๆ จึงอยากให้ทุกท่านมีวิจารณญาณตรวจสอบให้ดีและศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทำลงทุนที่ใดๆ กับใคร 

⚠️เพราะหากเกิดความเสียหายขึ้นมาแล้วนั้น โอกาสได้รับคืนน้อยมากๆ แทบจะเป็นศูนย์เลยก็ว่าได้ ฉะนั้นจงอย่าตัดสินใจผลีผลามเพียงแค่คำโปรยสั้นๆไม่กี่ประโยคที่มิจฉาชีพแต่งขึ้นมาเพียงเพื่อหวังให้ท่านนักลงทุนเชื่อสนิทใจ โดยมักใช้ผลตอบแทนที่น่าสนใจมาเป็นตัวหลอกล่อให้เหยื่อตกหลุมพราง 

✅หากท่านไหนพบเจอรบกวนช่วยกันกด report ให้ด้วยนะคะ เพื่อเป็นเสียงส่วนหนึ่งในการช่วยกันยับยั้งกันผู้ถูกหลอก

เพจจริงที่แค่เพจนี้ >> https://www.facebook.com/Kavee.Chukitkasem?mibextid=ZbWKwL

‘น้ำ รพีภัทร’ โพสต์เตือน!! หลังเจอ ‘เพจปลอม’ สร้างเรื่อง กุข่าวรักร้าว-โปรโมตเว็บพนัน วอนแฟนๆ ช่วยกดรีพอร์ต

(28 ก.พ. 67) ทำเอาเเฟนคลับพากันแตกตื่น หลังจากที่เฟซบุ๊ก ‘น้ำ รพีภัทร - Nam Rapeepat’ ที่มียอดกดไลก์หลักพัน ยอดผู้ติดตามหลักแสน ซึ่งไม่ใช่เฟซฯ หลักของ ‘น้ำ รพีภัทร เอกพันธ์กุล’ ที่มียอดผู้ติดตามกว่า 1.5 ล้าน ได้ออกมาโพสต์ภาพ ‘น้ำ รพีภัทร’ กับภรรยาสาว ในวันแต่งงาน พร้อมเขียนเเคปชันระบุว่า “ปัญหาที่สะสมมานาน สุดท้ายมันก็ไปกันไม่ไหวแบบนี้ก็แยกกันไปถูกแล้ว”

แต่ที่ทำแฟน ๆ พากันสะดุดเห็นจะเป็นการแปะลิงก์เว็บพนันนี่แหละ เลยทำให้แฟน ๆ พากันแคปภาพดังกล่าวไปแจ้งข่าวในเพจใหญ่ของ ‘น้ำ รพีภัทร’ เพื่อให้จัดการหากเป็นเฟซบุ๊กปลอม แถมบอกแฟนคลับให้ช่วยกันรีพอร์ตอีกด้วย

ล่าสุด น้ำ รพีภัทร ได้นำโพสต์ดังกล่าวมาประกาศพร้อมวอนช่วยกันรีพอร์ต โดยระบุว่า…

"เพจปลอมสร้างเรื่องอีกแล้วครับ วุ่นวายแต่เช้าเลย นอกจากโพสต์เรื่องไม่จริงแล้ว ยังมีการแปะลิงก์เว็บพนันด้วย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและสร้างความเสียหายกับเพจจริง และคนที่หลงเชื่อ
เพจปลอมคนตาม 1.2 แสน กดรีพอร์ตได้เลยนะครับ เพจจริงติดตาม 1.5 ล้านแล้ว ฝากด้วยนะครับพี่น้อง"

'รัดเกล้า' เผย!! 'ธนาคารออมสิน' ถูกเพจปลอมแอบอ้าง ยัน!! ไม่มีนโยบายให้เงินกู้ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์

(7 มี.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณีธนาคารออมสิน เปิดให้กู้สินเชื่อผ่านเพจชื่อ 'ออมสิน สินเชื่อเพื่อประชาชนทุกคน' นั้น จากการตรวจสอบโดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นข่าวปลอม โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบกับธนาคารออมสิน กระทรวงการคลัง ซึ่งยืนยันว่า กรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลเรื่องธนาคารออมสิน เปิดให้กู้สินเชื่อผ่านเพจบนเฟซบุ๊ก (Facebook) ชื่อ 'ออมสิน สินเชื่อเพื่อประชาชนทุกคน' นั้น ประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลเท็จ โดยเพจดังกล่าว ไม่ใช่เพจของธนาคารและไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับธนาคารออมสิน

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ธนาคารออมสินไม่มีนโยบายให้เงินกู้ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook แอปพลิเคชัน LINE และ Messenger แต่อย่างใด โดยเพจดังกล่าวได้แอบอ้างนำชื่อและตราสัญลักษณ์ธนาคารออมสินไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งยังเผยแพร่ข้อมูลปลอม อันแสดงเจตนาจงใจหลอกลวงประชาชน

"ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อเพจแอบอ้างดังกล่าวที่ โดยสามารถติดตามข่าวสารจากสื่อช่องทางหลักของธนาคารได้ที่เว็บไซต์ www.gsb.or.th, แอปพลิเคชัน MyMo, Social Media ช่องทาง GSB Society และ GSB Now เท่านั้น" รองโฆษกรัฐบาล กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top