Friday, 17 May 2024
เทศกาลสงกรานต์

เทศบาลนครเชียงใหม่ ชวนเที่ยวเทศกาล “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ประจำปี 2566” 

เทศบาลนครเชียงใหม่ ชวนเที่ยวเทศกาลงานประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่ “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ประจำปี 2566” ตั้งแต่วันที่ 12-16 เมษายน 2566

อีกหนึ่งเทศกาลที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ รอคอยกับ “เทศกาลงานประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่” ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีของเดือนเมษายน โดยปีนี้ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้มีการจัดเตรียมกิจกรรม “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ประจำปี 2566” เพื่อร่วมส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม และฟื้นฟูประเพณีล้านนาดั้งเดิม ผ่าน 14 กิจกรรม ทั่วเขตเทศบาลฯ ตั้งแต่วันที่ 12-16 เมษายน 2566

นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เชิญชวนพี่น้องในจังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดใกล้เคียง, นักท่องเที่ยวจากทั่วเมืองไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เตรียมตัววางแผนการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร และเส้นทางต่างๆ ที่จะนำทุกท่านร่วมสืบสานประเพณีล้านนากว่า 727 ปี และทำบุญไปพร้อมๆ กัน ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จะอิ่มใจไปกับพี่น้องชาวเชียงใหม่ 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติห่วงใยการเดินทางของพี่น้องประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2566 จัดทำสปอตรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกในการขับขี่ปลอดภัย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีภารกิจและความรับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัย และ
อำนวยความสะดวกด้านการจราจรแก่ประชาชน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ประชาชนจำนวนมากต้องใช้รถใช้ถนนเพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนา และท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าปกติ 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้จัดทำสปอตประชาสัมพันธ์รณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2566 ขึ้น เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

‘ยูเนสโก’ รับ ‘ประเพณีสงกรานต์ของไทย’ เข้าพิจารณา เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

(11 เม.ย.66) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ตัวแทนเด็กและเยาวชนจากโรงเรียนวรราชาทินัดดามาตุ จ.ปทุมธานี เข้าพบพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อประชาสัมพันธ์ประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด ‘สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล’ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม 

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการประวัติ ความเป็นมาและความสำคัญของวันสงกรานต์ ชมกิจกรรมการสาธิตชุดรดน้ำขอพร 4 ภาค และร่วมสรงน้ำพระพุทธชินราช โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนคนไทยร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ของไทย รดน้ำดำหัวแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณและเล่นสงกรานต์อย่างสุภาพเพื่อสืบทอดรักษาวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทยเป็นมรดกล้ำค่าของชาติ ในนามของรัฐบาลขอร่วมส่งมอบความปรารถนาดีให้แก่คนไทยทุกคน พร้อมขอให้คิดถึงคนอื่น ๆ ให้มากขึ้น นอกจากคนในครอบครัวแล้วขอให้คำนึงถึงสังคมส่วนรวมและประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และขอให้ทุกคนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีความสุข มีจิตใจโอบอ้อมอารี เผื่อแผ่แบ่งปันความสุขไปให้ทุกคนรอบข้าง รักและสามัคคีกันเพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไปด้วยกันและเพื่อบ้านเมืองของเราทุกคน พร้อมเน้นย้ำว่า เยาวชนคืออนาคตของประเทศ ขอจงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาในอนาคต ขอให้ประสบความสำเร็จ มีการงานที่ดีสามารถดูแลพ่อแม่ได้ และมีความคิดที่ดี ร่วมกันลดความขัดแย้งเพื่อให้ประเทศชาติสงบสุข

 

ในปี 2566 องค์การยูเนสโกได้รับรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมของไทย ‘สงกรานต์ในประเทศไทย’ (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เข้าวาระการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีเพื่อเผยแพร่คุณค่า อัตลักษณ์ความงามของประเพณีสงกรานต์ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกได้รับรู้และเข้าใจอย่างถูกต้องในคุณค่าที่แท้จริงของประเพณีวัฒนธรรมของไทย โดยมีการจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด ‘สงกรานต์วิถีไทย ใช้น้ำคุ้มค่า ชีวาปลอดภัย’ ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ 

ผบ.มทบ.25 ตรวจเยี่ยมจุดบริการประชาชนห้วงเทศกาลสงกรานต์ 2566

วันที่ 14 เมษายน 2566 พลตรี ชินวิช เจริญพิบูลย์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 พร้อมด้วย คุณ อุไรวรรณ เจริญพิบูลย์ ประธานสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขา มณฑลทหารบกที่ 25 เข้าตรวจเยี่ยมให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ ณ จุดบริการประชาชน สี่แยกเทพธานี หน้าห้างสรรพสินค้าโรบินสันสุรินทร์ ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการอำนวยความสะดวก บริการประชาชน 

ตำรวจภาค 4 ตรวจเข้มสถานบริการทั่วอีสานเหนือ สร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวก่อนเทศกาลสงกรานต์

พล.ต.ท.สรายุทธ สงวนโภคัย ผบช.ภ.4 ได้สั่งการให้ตำรวจภาค 4 ตรวจสอบสถานบริการ และแหล่งอบายมุข ต่างๆในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคอีสานตอนบน โดยนำกำลังตำรวจประกอบด้วย ตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์, ขอนแก่น, นครพนม, บึงกาฬ, มหาสารคาม, มุกดาหาร, ร้อยเอ็ด, เลย, สกลนคร, หนองคาย, หนองบัวลำภู, อุดรธานี และตำรวจจาก บก.สส.ภ.4 ทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมทั้งฝ่ายปกครอง เข้าร่วมปฏิบัติการด้วย เน้นตรวจสอบจับกุมสถานบริการที่ผิดกฎหมาย ยาเสพติด เด็กและเยาวชนที่เข้ามาเที่ยวสถานบริการ อาวุธปืน และแหล่งอบายมุข รวมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการประมาณ 1,000 นาย ร่วมกันตรวจสถานบริการในพื้นที่รับผิดชอบ ตั้งแต่กลางดึก ของคืนวันที่ 29 มี.ค.67 ถึงเวลาประมาณ 02.00 น.ของวันที่ 30 มี.ค.67  

ผลการปฏิบัติ ได้ทำการตรวจสอบใบอนุญาตสถานบริการ 32 แห่ง พบว่ามีใบอนุญาต ตรวจสอบสารเสพติดผู้มาใช้บริการกว่า 1,000 คน ตรวจสอบอายุนักเที่ยวในสถานบริการกว่า 2,700 คน  นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ตรวจตราดูแลความปลอดภัยประชาชนที่ไปเที่ยว และประชาสัมพันธ์ กำชับผู้ประกอบการทุกแห่ง มิให้จัดให้มีการมั่วสุม จำหน่ายหรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด, ระมัดระวัง มิให้มีการพกพาอาวุธ โดยเฉพาะอาวุธปืน มีด หรือสิ่งที่จะเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น เข้าไปในสถานบริการ, มิให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าใช้บริการและปิดสถานบริการตามเวลาที่กฎหมายกำหนด

พล.ต.ท.สรายุทธ สงวนโภคัย ผบช.ภ.4 กล่าวว่า ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร. ที่ให้กวดขันปราบปราม จับกุมสถานบริการผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่จะมาเที่ยวภาคอีสานในช่วงเทศกาลสงกรานต์อีกด้วย สำหรับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ใกล้จะถึงนี้ ตนได้สั่งกำชับให้ตำรวจทุกพื้นที่เข้มงวดในการตรวจตราสถานบริการ จับกุมแหล่งอบายมุข ยาเสพติด อาวุธปืน และดูแลความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด พล.ต.ท.สรายุทธ กล่าวทิ้งท้าย

'พล.ต.อ.กิตติ์รัฐฯ' ประชุมมาตรการปฏิบัติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 กำชับความพร้อมดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวกการจราจร และลดอุบัติเหตุทางถนน ตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ พร้อมเปิดโครงการฝากบ้าน 4.0 วันที่ 11-21 เมษายนนี้

วันนี้ (5 เม.ย.67) เวลา 11.00 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ณ ห้องประชุม ศปก.ตร. ชั้น 20 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข , พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี , พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ,พล.ต.ท.สำราญ นวลมา, พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ , พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. และข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ฯ กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดงาน “มหาสงกรานต์ World Songkran Festival” ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ระหว่างวันที่ 1-21 เมษายน 2567 นอกจากนี้ ได้กำหนดให้วันที่ 12-16 เมษายน 2567 เป็นวันหยุดราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติคาดว่าจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือเดินทางท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวหรือสถานที่จัดงานมหาสงกรานต์ทั่วประเทศ เพื่อให้การดูแลรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความสงบเรียบร้อยในทุกพื้นที่ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล , ตำรวจภูธรภาค 1-9 , กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง , กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด , กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว , สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง , กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมพื้นที่จัดกิจกรรมสงกรานต์ และระดมกวาดล้างอาชญากรรมทุกประเภท ทั้งอาชญากรรมทั่วไปและอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ช่วงก่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 1-10 เมษายน 2567 และจัดทำ “โครงการร่วมใจ ยกระดับความปลอดภัยบ้านประชาชนช่วงเทศกาลสำคัญ (ฝากบ้าน 4.0)” ระหว่างวันที่ 11-21 เมษายน 2567 รวมระยะเวลา 11 วัน โดยให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชัน “OBS” หรือที่สถานีตำรวจ และให้หน่วยดำเนินการคืนบ้านที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้เรียบร้อยภายในวันที่ 22 เมษายน 2567 

มาตรการป้องกันเหตุการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ ให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล , ตำรวจภูธรภาค 1-9 , กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง , กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กำหนดแผนเผชิญเหตุ หรือมาตรการในการป้องกันการฉวยโอกาสของผู้ไม่หวังดีหรือผู้เสียผลประโยชน์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจรักษาความปลอดภัยสถานที่เชิงสัญลักษณ์ สถานที่ราชการ สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม และสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ เป็นต้น นอกจากนี้ ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองปราบปรามการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ทุกมิติ และให้สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ โรงพยาบาลตำรวจ และกองบินตำรวจ จัดเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่และเครื่องมืออุปกรณ์ ให้สามารถสนับสนุนการปฏิบัติโดยเร็วที่สุดเมื่อเกิดเหตุ 

มาตรการบังคับใช้กฎหมายและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร แบ่งเป็น ช่วงก่อนควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 4-10 เมษายน 2567 , ช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2567 และช่วงหลังควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 18-24 เมษายน 2567 ให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล , ตำรวจภูธรภาค 1-9 , กองบังคับการตำรวจจราจร และกองบังคับการตำรวจทางหลวง เตรียมความพร้อมกำลังพล สำรวจ ปรับปรุงเครื่องหมายจราจร ประสานขอคืนพื้นที่จุดซ่อมแซมผิวถนนให้มากที่สุด รวมทั้งสำรวจเส้นทางสำรอง ทางเลี่ยง ทางลัด จัดทำข้อมูลเส้นทางประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชน จัดกำลังอำนวยความสะดวกในจุดที่มีการจราจรหนาแน่น พิจารณาเส้นทางที่จะกำหนดเป็นเส้นทางเดินรถพิเศษ (Reversible Lane) โดยเปิดช่องทางพิเศษขาออก 9 สาย 10 จังหวัด รวมระยะทาง 219 กิโลเมตร ส่วนขากลับเปิดช่องทางพิเศษ 9 สาย 14 จังหวัด รวมระยะทาง 238 กิโลเมตร รวมทั้งกำหนดเส้นทางที่ห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เดินรถในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด และกำชับตำรวจทางหลวงและตำรวจท้องที่จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เพื่อลงไปแก้ปัญหาและอำนวยความสะดวกพี่น้องประชาชนหากเกิดอุบัติเหตุหรือต้องการความช่วยเหลือ อย่างรวดเร็วทันท่วงที

นอกจากนี้ ได้กำชับให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อมุ่งเน้นการลดอุบัติเหตุทางถนนตามมาตรการ 10 ข้อหาหลัก และพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 กรณีห้ามจำหน่ายสุราในเวลาห้าม ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่กฎหมายกำหนด ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี และบุคคลที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ รวมทั้งกรณีเกิดอุบัติเหตุจราจรที่มีคู่กรณี หรือมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ให้พนักงานสอบสวนทำการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกราย และดำเนินคดีให้ครบทุกข้อหา ส่วนผู้ขับขี่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ให้ขยายผลถึงผู้จำหน่าย ผู้ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร

มาตรการประชาสัมพันธ์ ให้โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งโฆษกทุกหน่วย และกองสารนิเทศ ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสาร แจ้งเตือน และขอความร่วมมือประชาชนในการป้องกันอาชญากรรม การประทุษร้ายต่อทรัพย์ หรืออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งประชาสัมพันธ์เส้นทางในการเดินทางให้เกิดความสะดวก ปลอดภัย โดยประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เช่น สวพ.91 , จส100 ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ไปยังพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ

นอกจากนี้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ฯ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติวางมาตรการดูแลพี่น้องประชาชนในช่วงเทศการสงกรานต์ทุกมิติอย่างเต็มที่ ร่วมทั้งการดูแลความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้มีการเกิดอุบัติเหตุให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนต้องการแจ้งเหตุ ขอความช่วยเหลือ สามารถใช้หมายเลขสายด่วน 191 หรือสายด่วนตำรวจทางหลวง 1193 หรือในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สายด่วนกองบังคับการตำรวจจราจร 1197 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

‘ขนส่งทางบก-ศูนย์อาชีวะอาสา’ ร่วมมืออำนวยความสะดวกช่วง ‘สงกรานต์’ เปิดบริการ ‘ตรวจรถ-ซ่อมรถฟรี’ 104 จุดทั่วประเทศ ดีเดย์ 11-17 เมษายนนี้

(9 เม.ย.67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี พ.ศ. 2567 รัฐบาล โดยกรมการขนส่งทางบกและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดทำโครงการบูรณาการตั้งจุดบริการอำนวยความสะดวกเพื่อความปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน  โดยจะจัดกิจกรรมตั้งจุดบริการตรวจรถ/ซ่อมรถ ‘ฟรี’ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 11 -17 เมษายน 2567 เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน สร้างจิตสำนึกการขับขี่อย่างปลอดภัย 

นายคารม กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนา และมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อดำเนินมาตรการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในทุกมิติ ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนโยบายของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุในการเดินทางในช่วงเทศกาลฯ โดยกรมการขนส่งทางบกและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาหรือ ศูนย์อาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน (Fix it Center) ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมการจัดตั้งจุดบริการร่วมฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยกำหนดให้มีจุดบริการร่วมฯ จำนวน 104 จุดทั่วประเทศ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนสายหลักที่มีการจราจรหนาแน่นและสายรอง โดยจุดบริการดังกล่าวจะให้บริการตรวจเช็คสภาพรถเบื้องต้นเพื่อความปลอดภัย ให้ความช่วยเหลือผู้เดินทางกรณีฉุกเฉิน บริการรถยก (บางพื้นที่) บริการนวดผ่อนคลาย บริการผ้าเย็น น้ำดื่ม ข้อมูลเส้นทางและแหล่งท่องเที่ยว รายชื่ออู่รถที่เปิดให้บริการ เป็นต้น ซึ่งบริการเหล่านี้เป็นการให้บริการ ‘ฟรี’ 

“สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้จัดนักเรียน นักศึกษาปฏิบัติหน้าที่ ในการให้บริการอำนวยความสะดวก แต่ละจุดอย่างน้อยจุดละ 5 คน และในการเดินทางของประชาชน ให้ความช่วยเหลือประชาชนและผู้เดินทาง เพื่อป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุ ที่เกิดจากความบกพร่องของตัวรถ ตรวจรถ ซ่อมรถ และผู้ขับรถที่เหนื่อยล้าและง่วงนอน และยังมีบริการ กาแฟ น้ำดื่ม ผ้าเย็น ทุกอย่างบริการฟรี ณ ทุกจุดบริการ ซึ่งความร่วมมือกันระหว่างกรมการขนส่งทางบกและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นการแสดงเจตจำนงในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างจริงจัง อีกทั้ง ยังช่วยส่งเสริมและพัฒนาทักษะนักเรียน/นักศึกษา ให้นำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคม มีจิตอาสาช่วยเหลือผู้อื่น ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำกิจกรรมที่นำไปสู่การลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งร่วมกันกำหนดแนวทางและเป้าหมายในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้มีความสอดคล้องกันทั่วประเทศ” นายคารม กล่าว

ตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมดูแลและอำนวยความสะดวกการจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการตำรวจทางหลวง ภายใต้ การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. , พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. , พล.ต.ต. คงกฤช เลิศสิทธิกุล ผบก.ทล. กองบังคับการตำรวจทางหลวง ได้ประสานความร่วมมือกับ กรมทางหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร  การลดและป้องกันอุบัติเหตุ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย.2567 โดยจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกในเส้นทางหลัก ,เส้นทางรอง โดยเฉพาะในจุดที่มีการจราจรหนาแน่น พิจารณาการเปิดช่องทางเดินรถพิเศษ (Reversible Lane) โดยเปิดช่องทางพิเศษขาออก 9 สายทาง 10 จังหวัด รวมระยะทาง 219 กิโลเมตร ส่วนขากลับเปิดช่องทางพิเศษ 9 สายทาง 14 จังหวัด รวมระยะทาง 238 กิโลเมตร รวมทั้งกำหนดเส้นทางรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป ห้ามเดินรถ ซึ่งได้เทศกาลสงกรานต์ 2567 นี้ ได้เพิ่มทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) รวม 8 เส้นทาง เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด และได้กำชับสถานีตำรวจทางหลวงทั้ง 41 สถานีทั่วประเทศ จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว ประสานรถยก รถสไลด์ พร้อมแก้ปัญหาและอำนวยความสะดวกพี่น้องประชาชนผู้ใช้ทาง กรณีเกิดอุบัติเหตุหรือรถเสีย ที่ต้องการความช่วยเหลือ ดำเนินการอย่างรวดเร็วทันท่วงที พร้อมทั้งมีมาตราการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นตามมาตรการ 10 ข้อหาหลัก

ที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การขับรถเร็ว ,ขับรถขณะเมาสุรา ฯลฯ หากมีอุบัติเหตุจราจรที่มีคู่กรณี หรือมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ให้พนักงานสอบสวนทำการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกราย และดำเนินคดีให้ครบทุกข้อหา ส่วนผู้ขับขี่ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ให้ขยายผลถึงผู้จำหน่าย ผู้ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร การบริการและประชาสัมพันธ์ เตรียมความพร้อมหน่วยบริการตำรวจทางหลวง จำนวน 205 หน่วย ที่ตั้งอยู่บนถนนสายหลักทั่วประเทศ ให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนเข้าพักและใช้บริการได้  ซึ่งในหน่วยบริการ จะมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องพัก อาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ และมีจุดตรวจสภาพรถยนต์เบื้องต้น โดยได้รับความร่วมมือจาก สถาบันอาชีวะฯ ในพื้นที่ และประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลที่สายด่วนตำรวจทางหลวง 1193 หรือ Facebook ตำรวจทางหลวง ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ การดูแลและอำนวยความสะดวกการจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 เป็นไปตามนโยบายของ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่ต้องการให้พี่น้องประชาชน ได้รับความสะดวกความปลอดภัย ในการเดินทาง และมีความสุขในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 นี้ โดย ตำรวจสอบสวนกลาง จะยังคงทำหน้าที่ในการดูแลพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องต่อไปในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หากพบอุบัติเหตุหรือต้องการสอบถามเส้นทาง โทรสายด่วน 1193 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

ย้อนประวัติศาสตร์ 'สงกรานต์' ในแต่ละชาติ ปรับไปบ้างตามเวลา แต่สุขสันต์มิเคยเปลี่ยน

ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ไทยของเรา สงกรานต์ที่ 'ยูเนสโก' ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ 'สงกรานต์ในประเทศไทย' เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ 

บทความนี้ผมจะเขียนเล่าในมุมที่ไม่ดรามา โดยจะเรียบเรียงเรื่องราวของสงกรานต์ที่น่าสนใจเพื่อให้อ่านกันเพลิน ๆ นะครับ

เริ่มต้นเรื่อง โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าสงกรานต์แบบบ้านเรามาจากอินเดีย แต่คำว่าสงกรานต์เรายืมคำนี้มาจากอินเดียแน่ ๆ เพราะคำว่า 'สงกรานต์' หรือ 'สํกฺรานฺติ' เป็นคำในภาษาสันสกฤตแปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้าย คือการที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งเข้าสู่อีกราศีหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นทุกเดือน แต่จะมีเดือนที่สำคัญมากก็คือเดือนที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า 'มหาสงกรานต์' ซึ่งในช่วงมหาสงกรานต์นี้ ดินแดนชมพูทวีปเขาจะมีเมนูอาหารและกิจกรรมพิเศษ เช่น...

บังกลาเทศ : เขาจะมีการเดินพาเหรดและเมนูพิเศษ 'ปันตาภัต' คือข้าวสวยแช่น้ำที่เสิร์ฟพร้อมปลาทอด กินพร้อมหอมแดงและพริกเขียว คล้าย ๆ ข้าวแช่บ้านเรา 

ศรีลังกา : ชาวพุทธสิงหลและชาวฮินดูทมิฬ จะมีการฉลองปีใหม่ร่วมกัน ผู้คนจะทำความสะอาดบ้าน จุดตะเกียงน้ำมัน และทานเมนูพิเศษ 'คิริภัต' คือข้าวกะทิ 

ส่วนในอุษาคเนย์ : ประเพณีสงกรานต์ในแต่ละแห่งก็จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก เช่น คนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเรียกกันว่า 'สงกรานต์' ทางล้านนาเรียกว่า 'ปี๋ใหม่เมือง' ทางเขมรเรียกว่า 'ซ็องกราน' ส่วนมอญเรียกว่า 'ซงกราน' ทางพม่าเรียกว่า 'ทิงยัน' โดยจุดเชื่อมกันของเทศกาลนี้ ถ้าไม่นับการสาดน้ำ ก็จะมีการรดน้ำประแป้ง การละเล่นพื้นบ้าน การรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป นอกจากนี้ก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ส่วนเรื่องอาหารการกินหรือกิจกรรมที่พิเศษเหมือนชมพูทวีปไหม? มันก็มีอยู่บ้างครับ 

ตัวอย่างเช่นที่ 'พม่า' เขาจะมีเมนูพิเศษคือ 'ม่งโลงเหย่ป่อ' ซึ่งเป็นข้าวเหนียวปั้นไส้น้ำตาล คล้าย ๆ ขนมต้มบ้านเรา ทำกินเฉพาะเทศกาลนี้ พร้อมด้วยมหกรรมสาดน้ำ (ต้องเรียกมหกรรมเพราะสาดยับจริง ๆ) ซึ่งพม่านี้เขามีนิทานเรื่องการสาดน้ำที่ค่อนข้างจะเป็นโศกนาฏกรรม แต่เขาเชื่อว่านี่คือหลักฐานการ 'สาดน้ำ' ที่เก่าที่สุด (ทำไม? มันถึงมาผูกกับการสาดน้ำที่สนุกสนานก็ไม่รู้) 

เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในพงศาวดารพม่าฉบับอูกะลา ในสมัยของ 'พระเจ้านรสีหบดี' หรือ 'พระเจ้าหนีจีน' แห่งพุกาม ที่ชื่อว่าหนีจีน เพราะกองทัพมองโกลของพระเจ้ากุบไลข่านยกมาตีพุกาม พระองค์ต้านไม่ไหวก็เลยหนีลงมาทางพม่าตอนล่าง ซึ่งร่วมสมัยกับ 'พญามังราย' แห่งเชียงใหม่ 'พ่อขุนรามคำแหง' แห่งสุโขทัย และ 'พระยางำเมือง' แห่งพะเยา ซึ่งไม่ได้มีบันทึกเรื่องสงกรานต์ไว้เหมือนพุกาม เรื่องของเรื่องเป็นอย่างนี้ 

พระเจ้านรสีหบดีมีพระเหสีชื่อ 'พระนางพวาซอ' และมีพระสนมอีกหลายองค์ พระสนมที่โดดเด่นคือ 'พระสนมซอลง' และ 'พระสนมซอเม่า' ทุก ๆ สงกรานต์ซึ่งเป็นฤดูเดือนที่อากาศร้อน พระองค์มักเสด็จฯ ลงสรงพระกระยาสนานหรือสระผม บริเวณท่าน้ำเป็นเวลานาน ๆ บ่อย ๆ 

ที่นี้พะองค์คงนึกสนุกและอยากจะหยอกล้อ 'พระสนมซอลง' จึงรับสั่งให้พระสนมองค์อื่น ๆ และนางข้าหลวงสาดน้ำใส่พระสนมซอลงแบบไม่ให้รู้ตัว พอโดนรุมสาดแบบไม่ทันตั้งตัว ผมเผ้าเสื้อผ้าก็เปียกปอนไปหมด จนทำให้พระสนมซอลงรู้สึกอับอาย โดยไม่ได้คิดว่านี่คือการล้อเล่นสาดน้ำในหมู่คนที่คุ้นเคยกัน 

จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พระสนมซอลงคิดแค้น ว่าพระเจ้านรสีหบดีออกอุบายกลั่นแกล้ง จึงคิดจะเอาคืน โดยแอบใส่ยาพิษลงไปในพระกระยาหารของพระเจ้านรสีหบดี (คุณพระ!!!) ซึ่งปกติแล้วหน้าที่ยกพระยาหารขึ้นถวายพระเจ้านรสีหบดีเป็นหน้าที่ของพระสนมซอลง แต่วันนั้นพระสนมซอลงแกล้งป่วย จึงขอร้องให้ 'พระสนมซอเม่า' ทำหน้าที่แทน

ระหว่างที่กำลังเชิญพระกระยาหารขึ้นถวายนั้น ปรากฏว่ามีสุนัขหลวงทรงเลี้ยงตามเห่าพระสนมซอเม่า พระสนมซอเม่าคิดว่ามันคงหิว ด้วยความสงสารจึงแอบนำอาหารบางส่วนโยนให้กิน พอสุนัขหลวงกินมันก็ตายทันที พอความทราบถึงพระเจ้านรสีหบดี พระองค์จึงให้สอบสวน จนได้ความตามจริงว่าพระสนมซอลงลอบวางยาพิษ ผลก็คือ 'พระสนมซอลง' ต้องโทษประหารชีวิต ทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจผิดของพระสนมนั่นเอง

จบแบบโศกนาฏกรรม 

แต่ในประวัติสงกรานต์พม่า ที่มาของการเล่นสาดน้ำในปัจจุบันที่เก่าแก่ที่สุดก็คือการสาดน้ำใส่ 'พระสนมซอลง' นี่แหละ ทั้งยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยพุกามที่เล่าเรื่องราวของการเล่นน้ำสงกรานต์ มีภาพของการเทน้ำจากหม้อน้ำราดใส่กันประกอบอีกด้วย ผมว่ายอมพม่าเขาไปเหอะ นี่ยังไม่รวมภาพใน The Graphic เมื่อ ค.ศ. 1888 ที่ปรากฏคนพม่าสาดน้ำใส่ฝรั่งอังกฤษนะ ซึ่งอันนี้เขาดรามากันไปเยอะแล้ว ผมไม่เล่าล่ะ 

'สงกรานต์พม่า' จัดขึ้นช่วงเดือน 5 (เมษายน) ของไทย พม่าเรียกว่า 'เดือนดะกู' ส่วนสงกรานต์ในภาษาพม่าเรียกว่า 'เหย่บะแวด่อ' (คำว่า 'เหย่' แปลว่า 'พิธีน้ำ' ส่วน 'บะแวด่อ' แปลว่า 'เทศกาล') รัฐบาลพม่ากำหนดประเพณีสงกรานต์ให้ตรงกับวันที่ 13-17 เมษายนของทุกปี ซึ่งสงกรานต์บ้านเขานี้จัดอย่างจริงจัง สาดกันจริงจังแบบไม่มีคำว่า 'ไม่เปียก'

มาที่ 'สงกรานต์ลาว' ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14-16 เมษายนของทุกปี โดยออกเป็น 3 วัน วันแรกเรียกว่า 'วันสังขารล่วง' ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปและเตรียมรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามา วันที่สองเรียกว่า 'วันเนา' ถือเป็นวันแห่งครอบครัว ญาติพี่น้องจะมารวมตัวกันเพื่อบายศรีสู่ขวัญให้แก่ผู้อาวุโส และวันสุดท้ายเรียกว่า 'วันสังขารขึ้น' ถือว่าเป็นวันปีใหม่ที่แท้จริง จะมีการอวยชัยให้พรซึ่งกันและกัน มีการสรงน้ำพระและการแห่นางสังขาร ซึ่งเป็นนางสงกรานต์ของลาวแล้วก็มีการสาดน้ำกันพอกรุบกริบ 

'สงกรานต์กัมพูชา' ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวกัมพูชาเรียกกันว่าเทศกาล “โจลชนัมทเมย” เป็นช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ในแต่ละปีรัฐบาลกัมพูชาอาจจะกำหนดให้จัดขึ้นในวันที่ 13-15 หรือ 14-16 เมษายน มีกิจกรรมคล้าย ๆ กันแบ่งงานสงกรานต์ออกเป็น 3 วัน วันแรกทำบุญตักบาตร มีการขนทรายเข้าวัดเพื่อเตรียมก่อพระเจดีย์ทราย วันที่สองเป็นวันของครอบครัว ช่วงค่ำก็จะมาร่วมกันก่อพระเจดีย์ทราย ส่วนในวันที่สาม จะมีการละเล่นรื่นเริงต่าง ๆ สรงน้ำพระพุทธรูป และรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคล 

'สงกรานต์สิบสองปันนา' สงกรานต์ของชาวไต หรือชาวไท ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน โดยเฉพาะเมืองเชียงรุ่ง จะจัดงานสงกรานต์ในช่วงวันที่ 13-15 เมษายน เรียกว่าเทศกาล 'พัวสุ่ยเจี๋ย' โดยกิจกรรมหลัก ๆ ที่มีในงานสงกรานต์สิบสองปันนาก็คือ 'การแข่งขันเรือมังกร' ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของเทศกาลนี้ นอกจากนี้ก็จะมีการ 'ระบำนกยูง' ที่มีความเชื่อว่านกยูงนำพาความโชคดีมาให้ นอกจากนี้ก็ยังมีการร้องรำทำเพลง การเล่นน้ำ และการรดน้ำดำหัวให้กันและกัน 

'สงกรานต์ของประเทศไทย' แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้มีบันทึกการเล่นสาดน้ำเหมือนอย่างของพม่า แต่เทศกาลของเราก็มีความลุ่มลึกอย่างมีนัยยะสำคัญทั้งผูกพันกับการรำลึกถึงบรรพบุรุษ ครอบครัว ด้วยความชุ่มฉ่ำทั้งการสรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัว และธรรมเนียมประกอบที่ดีงามไม่แพ้ใคร ๆ อย่างเช่น... 

ภาคเหนือเรามีพิธีความเชื่อเรื่อง 'ปู่สังกรานต์' หรือ 'ย่าสังกรานต์' จึงเป็นเหตุแห่งการจุดประทัดไล่เคราะห์ นอกจากนี้บางแห่งจะมีการทำขนมที่ไว้เฉลิมฉลองสงกรานต์ คือกาละแม ข้าวเหนียวแดงใส่ถั่วลิสงคั่ว ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวแตน นางเล็ด ไปถวายวัด เพื่อไปเป็นเสบียงส่งไปให้บรรพบุรุษ 

ภาคอีสาน เราก็มีพิธีเสียเคราะห์ที่ใช้กระทงห้อง ใส่อาหารคาว-หวาน ไปทำพิธีในวัดเมือจบจะนำกระทงไปไว้ในป่าหรือทางแพร่งเพื่อเซ่นผีนำเอาสิ่งไม่ดีออกจากตน ตัวอย่างเช่น วัดไชยศรี จ.ขอนแก่น มีการทำบุญอัฐิบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เรียกว่า 'สักอนิจจา' มีการ 'แห่ต้นดอกไม้' ที่นาแห้ว จ.เลย ซึ่งทำถวายเป็นพุทธบูชาเพื่อความเป็นมงคลและสร้างความสามัคคีคนในชุมชน (เห็นไหม? สาดน้ำใส่กันมันแค่ส่วนประกอบ) 

ภาคกลางส่วนใหญ่มักประกอบกิจกรรมทางศาสนาเป็นหลัก นอกจากนั้นก็จะมีงานที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง สงกรานต์มอญ ที่ยังรักษาวัฒนธรรมของชาวรามัญ-ไทย ไว้อย่างงดงาม ทั้งที่ปากเกร็ด จ.นนทบุรี บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร หรืออย่างที่พระประแดง จ.สมุทรปราการ 

ภาคใต้บ้านเราจะเรียกว่า 'วันว่าง' ไม่ทำงาน ไม่ตัดเล็บ ตัดผม ก่อนจะเข้าวัดในวันว่างนี้เพราะเชื่อว่าเทวดาองค์เก่าเมื่อปีก่อนไม่อยู่ จึงต้องพึ่งบารมีพระพุทธก่อนที่วันเถลิงศกจะเข้ามาพร้อมเทวดาองค์ใหม่ก็จะมาประจำเมือง โดยจะแต่งชุดสวย ชุดใหม่ รอรับกันในวันนี้ 

ถึงตรงนี้ที่สงกรานต์คือ กิจกรรมสำคัญที่ผมอยากจะชวนให้ท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่านไปค้นหาและสัมผัสความดีงามเหล่านั้นด้วยตัวของท่านเอง ซึ่งผมเชื่อว่าแม้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะทำให้ประเพณีสงกรานต์เปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ความเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านของปี ความรื่นเริงสนุกสนานและการระลึกถึงบรรพบุรุษ ครอบครัว ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ จะยังคงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่และสืบทอดต่อไปอีกนานเท่านาน สุขสันต์วันสงกรานต์นะครับ

'พล.ต.ท.สำราญฯ' ลงพื้นที่ชายแดนใต้ แถลงผลการจับกุมยาเสพติด 4 เครือข่าย และตรวจเยี่ยมฐานปฏิบัติการ กำชับมาตรการดูแลประชาชน ในช่วงเทศกาลรายอ และเทศกาลสงกรานต์

วันนี้ (12 เม.ย.67) เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์ปฎิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า อ.เมือง จ.ยะลา พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร./ผบ.ศปก.ตร.สน. และ พล.ต.ท.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผบช.ภ.9/รอง ผบ.ศปก.ตร.สน.(1) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ได้ร่วมแถลงผลการจับกุมเครือข่ายยาเสพติดรายสำคัญในพื้นที่ จำนวน 4 เครือข่าย ผู้ต้องหา 10 คน ตรวจยึดยาเสพติด ไอช์ จำนวน 681 กก., ยาบ้า จำนวน 930,000 เม็ด, อาวุธปืน 2 กระบอก และตรวจยึดทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายยาเสพติดมูลค่าประมาณ 3,900,000 บาท พร้อมทั้งได้ประชุมกำชับการปฏิบัติหน้าที่ของกำลังพล ให้มีความพร้อมอำนวยความสะดวกด้านจราจร สามารถดูแลประชาชนในห้วงเทศกาลรายอ และเทศกาลสงกรานต์

ต่อมาช่วงบ่าย พล.ต.ท.สำราญ ฯ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยฐาน มว.ฉก.นปพ.นธ.21 อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และฐาน มว.ฉก.นปพ.ปน.32 อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เพื่อรับฟังปัญหาของหน่วยและร่วมกันกำหนดแนวทางแก้ไข ตลอดจนการวางมาตรการการปฏิบัติในการป้องกันหน่วย การป้องกันการโจมตี รวมถึงการปฎิบัติการเชิงรุกและรับ เพื่อให้เกิดผลการปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งได้มอบสิ่งของเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจกำลังพลประจำฐานปฏิบัติการ โดยเชื่อมั่นว่ากำลังพลในพื้นที่มีพร้อมที่จะดูแลและอำนวยความสะดวกประชาชนในพื้นที่ในห้วงเทศกาลดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top