Tuesday, 1 July 2025
เทคโนโลยีสีเขียว

‘เอเชีย’ จ่อขึ้นแท่น ‘ผู้นำโลก’ ด้านเทคโนโลยีสีเขียวเกิดใหม่ หลายประเทศมุ่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

(29 มี.ค. 68) สำนักข่าวซินหัวรายงานจากการประชุมเอเชียโป๋อ๋าว ปี 2025 ในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน ระบุว่าเอเชียกำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในด้านเทคโนโลยีใหม่อันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีศักยภาพเป็นผู้นำด้านวัสดุแบตเตอรี่ขั้นสูง พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และอื่น ๆ ด้วยกำลังการผลิตทางอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและการสนับสนุนทางนโยบาย

รายงาน ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน : รายงานเอเชียและโลกประจำปี 2025-การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : เอเชียก้าวสู่เส้นทางสีเขียว’ (Sustainable Development: Asia and the World Annual Report 2025 -Addressing Climate Change: Asia Going Green) ของการประชุมฯ ได้เน้นย้ำความก้าวหน้าด้านพลังงานหมุนเวียนของภูมิภาคเอเชีย

ปัจจุบันจีนมีกำลังการผลิตพลังงานใหม่จากพลังงานหมุนเวียนสูงถึงร้อยละ 85 ส่วนอินโดนีเซียและสิงคโปร์กำลังพยายามพัฒนาการดักจับและกักเก็บคาร์บอน ขณะเดียวกันจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เป็นผู้นำในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการใช้พลังงานไฟฟ้าในการขนส่ง

จีนยังเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมไฮโดรเจนอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่กำลังเติบโตของเอเชีย โดยเอเชียครองส่วนแบ่งเกือบร้อยละ 70 ของกำลังการผลิตพลังงานไฮโดรเจนทั่วโลก ส่วนกลุ่มปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และซาอุดีอาระเบีย ต่างกำหนดเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ

ขณะประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนได้พัฒนายุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศระดับชาติที่มีความครอบคลุมรอบด้าน เพื่อดำเนินการตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) และแผนการปรับตัวระดับประเทศ (NAP)

อย่างไรก็ดี แม้มีความก้าวหน้าอย่างมากและบางประเทศแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจสร้างความยั่งยืน แต่อีกหลายประเทศยังคงต้องดำเนินงานอีกมากเพื่อบรรลุเป้าหมาย

บทบาทของเอเชียในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเอเชียเป็นบ้านหลังใหญ่ของประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ราวครึ่งหนึ่งของโลก และครองส่วนแบ่งการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก

นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ตอบโจทย์เกษตรกรรมอัจฉริยะ

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน "Green Tech" หรือ "เทคโนโลยีสีเขียว" เป็นแนวคิดที่เน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานสะอาด การลดมลพิษ หรือการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนวคิดนี้ไม่เพียงช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งเสริมเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานในระยะยาว

โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานทดแทน การลดของเสีย และการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร แนวคิดนี้ครอบคลุมไปถึงหลากหลายสาขา เช่น พลังงานหมุนเวียน ระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีการรีไซเคิล และเกษตรกรรมอัจฉริยะ เป็นต้น ซึ่งแนวปฏิบัติเหล่านี้สามารถบริหารจัดการได้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ผ่านมา ทางกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ได้ให้การสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ในการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว (Green Tech) เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมการใช้ พลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน, ส่งเสริมพลังงานทดแทน ด้วย เทคโนโลยีแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวลสามารถใช้แทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ลดการพึ่งพาพลังงานจากแหล่งที่ไม่ยั่งยืน รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดของเสียและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 ทางกองทุนดีอี ได้มุ่งเน้นส่งเสริมเทคโนโลยี Green Tech อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมเกษตรกรรมอัจฉริยะ (Smart Farming) ทั้งการใช้เทคโนโลยี IoT และ AI เพื่อลดการใช้สารเคมีและเพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืน โดยได้ให้ทุนสนับสนุนกับ กรมประมง เพื่อดำเนินโครงการ “ระบบดิจิทัลต้นแบบการตรวจ วินิจฉัยและให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรค ของสัตว์น้ำระยะไกล (Telemedicine for Aquaculture Animal Health)” ด้วยการนำเทคโนโลยี AI Visual Inspection มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับโรคของสัตว์น้ำโดยการใช้ภาพถ่ายหรือภาพเคลื่อนไหว (VDO) จากโทรศัพท์มือถือหรือ Tablet ในการจับภาพสัตว์น้ำที่มีความผิดปกติและส่งภาพถ่ายหรือภาพเคลื่อนไหว (VDO) นั้น ๆ ผ่าน Web Application ของระบบ" ไปยังกรมประมงที่มีระบบ AI ที่ผ่านกระบวนการนำข้อมูล Training set สอนให้กับคอมพิวเตอร์แล้วได้ Model (AI Model) เอาไว้อย่างแม่นยำเพื่อให้สามารถตรวจสอบคัดกรองโรคของสัตว์น้ำเบื้องต้น ซึ่งกระบวนการทั้งหมดสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากรในด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน ยังทำให้สามารถวิเคราะห์และคัดกรองได้ทันทีว่าภาพของสัตว์น้ำแต่ละภาพที่ส่งมานั้นเข้าข่ายการวินิจฉัยเบื้องต้น ว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคใด ประกอบกับมีระบบวิเคราะห์ข้อมูลประกอบต่าง ๆ เช่น 1)
ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 2) ประวัติข้อมูลการเลี้ยง 3) ผลการตรวจร่างกาย 4) ผลการตรวจสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาช่วยให้สัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญสามารถวิเคราะห์และคัดกรองโรคเหล่านั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าโรคของสัตว์นั้นจะเกิดจากปัจจัยแวดล้อมแบบใดและปัญหาอยู่ที่ส่วนใด และเมื่อได้รับข้อมูลที่วิเคราะห์ว่ามีแนวโน้มจะเป็นโรคประเภทใดแล้วเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงก็จะสามารถทราบได้ถึงการวินิจฉัยเบื้องต้นของสัตว์น้ำชนิดนั้น ๆ พร้อมกับคำแนะนำเบื้องต้นของการเริ่มต้นรักษาและแก้ไข ดังนั้น เกษตรกรสามารถพิจารณาจากคำแนะนำเบื้องต้นและทำการตัดสินใจดำเนินการต่าง ๆ ได้ในภายหลัง

อย่างไรก็ดี โครงการนี้เป็นเพียงหนึ่งแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่ช่วยลดการสูญเสียสัตว์น้ำ พร้อมทั้งเพิ่มผลผลิต และยังได้ช่วยในมิติด้านแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้อีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top