Sunday, 5 May 2024
เด็กจบใหม่

‘บริษัทเอกชนจีน’ กว่า 10,000 ราย จับมือ ‘สถาบันศึกษาจีน’  เพื่อช่วย ‘เด็กจบใหม่’ หางานทำ ชี้ จะจัดกิจกรรมรับสมัครงานกว่า 100 เมือง

(30 เม.ย.66) สำนักงานข่าวซินหัวรายงานว่า กลุ่มผู้ประกอบการเอกชนจีนมากกว่า 10,000 ราย ได้ร่วมมือกับกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ดำเนินโครงการส่งเสริมการจ้างงานที่จะช่วยเหลือเหล่าบัณฑิตจบใหม่หางานทำ

รายงานระบุว่าโครงการข้างต้นจะจัดกลุ่มผู้ประกอบการดำเนินกิจกรรมรับสมัครงานแบบพิเศษในกว่า 100 เมืองที่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่หนาแน่น โดยมีกำหนดดำเนินโครงการจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม

‘สภาพัฒน์ฯ’ เผย ตลาดแรงงานของไทยกำลังเผชิญวิกฤต ส่งสัญญาณเตือน!! เด็กจบ ป.ตรี ‘ว่างงานพุ่ง-ได้เงินเดือนต่ำ’

‘สภาพัฒน์ฯ’ เปิดข้อมูลปัญหาของตลาดแรงงานของไทย แจ้งสัญญาณเตือน เด็กจบปริญญาตรี ว่างงานเพียบ ได้เงินเดือนต่ำ และแถมต้องทำงานต่ำกว่าระดับมากขึ้น

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานข้อมูลปัญหาของตลาดแรงงานของไทย และ การว่างงาน พบว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง และตลาดแรงงานของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังพบปัญหาคุณภาพของแรงงานและความไม่สอดคล้องของตลาดแรงงาน (Labor mismatching) ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการยกระดับการผลิตของไทยในอนาคต

ข้อมูลความต้องการแรงงานล่าสุด
จากข้อมูลการสำรวจความต้องการแรงงานจากโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในช่วงปี 2561 - 2565 พบว่าความต้องการแรงงานรวมเพิ่มขึ้นจาก 95,566 คนในปี 2561 เป็น 168,992 คนในปี 2565 แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้น ลดลงจาก 30.1% ของความต้องการแรงงานรวม ในปี 2561 เหลือเพียง 17.2% ในปี 2565 เท่านั้น

ส่วนสัดส่วนความต้องการแรงงานในการศึกษาระดับ ปวช. - ปวส. ลดลงเล็กน้อยจาก 23.7% ในปี 2561 เป็น 22.5% ในปี 2565 ขณะที่สัดส่วนความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 6 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 เพิ่มขึ้นจาก 41.1% ในปี 2561 เป็น 57.3% ในปี 2565 

อีกทั้งเมื่อพิจารณาเฉพาะความต้องการแรงงานเพียงสองระดับการศึกษา คือ ปริญญาตรีขึ้นไปและระดับ ปวช. และ ปวส. พบว่า สัดส่วนเฉลี่ยของความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปลดลง โดยเฉลี่ยในช่วงปี 2561 - 2565 อยู่ที่ 45.6% ขณะที่สัดส่วนเฉลี่ยของความต้องการแรงงานที่มีการศึกษาในระดับ ปวช. และ ปวส. กลับเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยปี 2561 - 2565 อยู่ที่ 54.4%

เปิดความต้องการแรงงานของบริษัท EEC
เมื่อพิจารณาข้อมูลความต้องการแรงงานของบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพื้นที่ EEC ในปี 2565 จำแนกตามการศึกษา จำนวน 419 โครงการ ซึ่งมีความต้องการแรงงานรวม 52,322 คนนั้น พบว่า ระดับการศึกษาที่มีความต้องการมากที่สุด มีดังนี้

- ความต้องการแรงงานระดับ ป.6 ถึง ม.6 มีสัดส่วนถึง 59.1%
- ความต้องการแรงงานระดับ ปวช. - ปวส. อยู่ที่ 25.2%
- ความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปอยู่ที่ 14.7% เท่านั้น

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ระดับการศึกษาที่มีความต้องการ มากที่สุด มีดังนี้

- ความต้องการแรงงานระดับ ป. 6 ถึง ม.6 มีสัดส่วน 63.9 และ 63.2% ตามลำดับ
- ความต้องการแรงงาน ระดับ ปวช. - ปวส. อยู่ที่ 22.5% และ 23.6% ตามลำดับ
- ความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปอยู่ที่ 13.5% และ 12.9% ตามลำดับ

โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความต้องการแรงงานระดับ ปวช. และ ปวส. ในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณากำลังแรงงาน โดยอ้างอิงจากจำนวนนักเรียน นักศึกษาที่อยู่ในภาคอุดมศึกษา (ระดับปริญญาตรีขึ้นไป) พบว่า ในปี 2564 มีจำนวนนักศึกษา ในระดับอุดมศึกษารวม 1,902,692 คน แม้จะลดลงจากจำนวน 2,171,663 ในปี 2561 แต่ยังสูงกว่าเมื่อเทียบกับนักเรียนที่อยู่ในระดับ ปวช. และ ปวส. ในปี 2564 ที่มีจำนวน 374,962 คน

ดังนั้น จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อน ให้เห็นถึงสถานการณ์ตลาดแรงงานที่เผชิญกับปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างกำลังแรงงานที่ผลิตออกมา (ด้าน Supply) และความต้องการของตลาด (ด้าน Demand) นั่นคือ มีแรงงานจบใหม่ที่เข้าสู่ตลาดที่จบอุดมศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสัดส่วนสูงมาก

ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้แรงงานในระดับปริญญาตรีต้องทำงานต่ำกว่าระดับมากขึ้น และสัดส่วนผู้ว่างงานในระดับปริญญาตรีจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดของตลาดแรงงานไทยในระยะต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top