Monday, 13 May 2024
เด็กกำพร้า

‘เด็กหมาป่า’ เด็กกำพร้าเยอรมันที่ถูกลืม ผลพวงของสงครามโลกครั้งที่ 2 กับชะตากรรมอันโหดร้ายจากความหิว ความหนาว และการสูญเสียตัวตน

‘เด็กหมาป่า’ (Wolf children) เด็กกำพร้าเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

‘เด็กหมาป่า’ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเด็กที่เคยอาศัยอยู่กับฝูงหมาป่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างในอินเดีย แต่เป็นเรื่องราวของเด็กกำพร้าเร่ร่อนชาวเยอรมันและชาวเยอรมันเชื้อสายลิทัวเนีย ซึ่งมีอยู่ใน ‘ปรัสเซียตะวันออก’ (‘ปรัสเซีย’ คือชื่อเดิมของ ‘เยอรมนี’ ซึ่งในอดีตมีพื้นที่กว้างขวางกว่าในปัจจุบัน) เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เด็กหมาป่าส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้าที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากการอพยพของพลเมืองปรัสเซียตะวันออก เพื่อหลบหนีการบุกของ ‘กองทัพแดง’ (สหภาพโซเวียต) เมื่อต้นปี 1945 โดยหลายคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย จึงต้องไปอาศัยอยู่ในป่าของปรัสเซียตะวันออกหรือถูกรับเลี้ยงโดยครอบครัวชาวลิทัวเนีย

การรุกปรัสเซียตะวันออกของกองทัพแดงในช่วงปลายปี 1944 ถึงต้นปี 1945 ทำให้ประชาชนชาวเยอรมันทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กหลายล้านคนต้องอพยพหลบหนี แต่เมื่อผู้ใหญ่จำนวนมากเสียชีวิตหรือบาดเจ็บระหว่างการโจมตีด้วยระเบิด หรือความหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวที่รุนแรงโดยไม่มีอาหารและที่พักพิง เด็กกำพร้าหลายพันคนจึงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และต้องหลบหนีเข้าไปในป่าโดยรอบ ถูกบังคับให้ดูแลตัวเองและต้องเผชิญกับการตอบโต้ที่รุนแรง หากถูกทหารโซเวียตจับได้ โดยเด็กโตมักพยายามรวบรวมพี่น้องไว้ด้วยกัน และเอาชีวิตรอดด้วยการค้นหาอาหารและที่พักพิง กลายเป็นความสำคัญอันดับหนึ่งของพวกเขา

เด็กหมาป่าจำนวนมากเดินทางไปหาอาหารในป่าของลิทัวเนียที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งต่อมาเด็กส่วนหนึ่งได้รับการรับเลี้ยงโดยเกษตรกรชาวลิทัวเนียในชนบท และเรียกพวกเด็กหมาป่าเหล่านี้ว่า ‘Vokietukai’ (เยอรมันตัวน้อย) และมักจะแบ่งปันอาหารและที่พักให้พวกเด็กหมาป่า

เด็กหมาป่าเหล่านี้ส่วนใหญ่เดินทางไปกลับมาหลายครั้ง เพื่อหาอาหารให้แม่หรือพี่น้องที่ป่วย โดยเดินทางไปตามรางรถไฟ บางครั้งก็นั่งบนรถหรือระหว่างตู้รถไฟ และกระโดดลงก่อนถึงสถานีที่ควบคุมโดยโซเวียต หลังทศวรรษ 1990 เด็ก ๆ ถูกเรียกว่าเป็น ‘เด็กหมาป่า’ เพราะพวกเขาใช้ชีวิตเหมือนหมาป่าที่เดินเตร่อยู่ในป่า

เกษตรกรชาวลิทัวเนียที่ขายผลิตภัณฑ์ของตนในเมืองเล็ก ๆ ของปรัสเซียตะวันออกในปี 1946 ได้พากันมองหาเด็กหมาป่าเพื่อให้มาช่วยพวกเขาในการทำงานประจำวัน และด้วยเหตุนี้ เด็กหมาป่าจำนวนมากจึงหลั่งไหลไปยังภูมิภาคบอลติกตะวันออกเป็นประจำ เพื่อรับอาหารแลกกับแรงงานหรือข้าวของต่าง ๆ ที่พวกเขาสามารถหามาได้ เกษตรกรชาวลิทัวเนียรับเลี้ยงเด็กที่อายุน้อยบางส่วน และเด็กหลายคนก็อยู่ในฟาร์มที่ลิทัวเนียเป็นการถาวร ตามการประมาณการคร่าว ๆ มีเด็กเยอรมันราว 45,000 คนอาศัยอยู่ในลิทัวเนียในปี 1948 แต่ไม่ปรากฏสถิติที่แน่นอน

ชาวลิทัวเนียที่ช่วยเหลือเด็ก ๆ ชาวเยอรมันต้องพยายามซ่อนเด็ก ๆ จากทางการโซเวียต เพราะการรับเลี้ยงเด็กเยอรมันนั้นเสี่ยงต่อการถูกลงโทษอย่างรุนแรง หากถูกตรวจพบ โดยพวกเขาได้ทำการเปลี่ยนชื่อของเด็กชาวเยอรมันจำนวนมาก และหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1990 พวกเขาจึงสามารถเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงได้ เด็กหมาป่ามากมายได้รับชื่อและนามสกุลใหม่และกลายเป็นชาวลิทัวเนียโดยไม่มีทางเลือก เนื่องจากถูกห้ามไม่ให้เลือกเป็นเยอรมัน ไม่มีรายงานเหตุการณ์ของเด็กหมาป่าในสื่อเลย และเหตุการณ์เหล่านี้เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชนเมื่อปี 1990 หลังจากการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก

คำแถลงอย่างเป็นทางการของรัฐบาลโซเวียตและโปแลนด์ในขณะนั้นคือ “ไม่มีชาวเยอรมันในพื้นที่เหล่านี้ และนี่เป็นตำแหน่งอย่างเป็นทางการของพวกเขาตั้งแต่ต้นตาม ‘ข้อตกลงพ็อทซ์ดัม’ (Potsdam Declaration) ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488”

ต่อมา ‘Ruth Kibelka’ เด็กหมาป่าคนหนึ่งได้ทำการค้นคว้าและตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับ ‘Wolfkinder’ ซึ่งมีบันทึกทางประวัติศาสตร์บางส่วนที่เด็กหมาป่าหลายคนจากปรัสเซียตะวันออกได้มอบให้ โดยบรรยายว่า ครอบครัวของพวกเขาถูกกดดันโดยกองกำลังโซเวียตที่กำลังรุกคืบในขณะที่พวกเขาพยายามหลบหนี พวกเขาถูกส่งกลับไปยังบ้านเกิดในปรัสเซียตะวันออก และพบว่าบ้านของพวกเขาถูกทำลายจนเสียหายหมด บางคนถูกไล่ออกจากบ้าน และบางคนก็เสียชีวิตจากความอดอยาก เจ็บป่วย และเป็นไข้ไทฟอยด์ เด็กกำพร้าต้องหาทางเอาชีวิตรอดจนกลายเป็นเด็กหมาป่า

เด็กหมาป่าหลายร้อยคนถูกค้นพบในลิทัวเนียหลังจากที่แยกตัวออกจากรัสเซีย ปัจจุบันมีเด็กหมาป่าเกือบ 100 คนที่ยังคงอาศัยอยู่ที่นั่น ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เหล่าเด็กหมาป่าได้ต่อสู้เพื่อสัญชาติเยอรมันของพวกเขา โดยพวกเขามีสมาคมของตัวเอง แต่สำนักงานบริหารกลางภายในกระทรวงมหาดไทยของเยอรมนี ยึดถือแนวคิดที่ว่า “บุคคลที่ออกจากดินแดน ‘Königsberg’ (ปรัสเซียตะวันออกเดิม ปัจจุบันคือ ‘Kaliningrád’ ของรัสเซีย) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ได้สละสัญชาติเยอรมันของตนแล้ว”

นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต บรรดาเด็กหมาป่าได้เดินทางไปค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของพวกเขา เพื่อกลับคืนมาเป็นชาวเยอรมันอีกครั้ง สภากาชาดเยอรมันช่วยค้นหาและระบุสมาชิกในครอบครัวของเด็กหมาป่าที่ขาดการติดต่อระหว่างกัน นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ชะตากรรมของผู้สูญหายอีกประมาณ 200,000 คนได้รับการชี้แจงแล้ว แต่ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวเยอรมันที่ถูกจับเข้าคุกและเสียชีวิตยังคงไม่ได้รับการเปิดเผย ปัจจุบันรัฐบาลเยอรมันได้ให้ความสนใจและให้ความสนับสนุนในการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของเด็กหมาป่ามากขึ้น เพื่อให้คนเหล่านี้ได้รับสัญชาติเยอรมันกลับคืน

เด็กกำพร้าชาวญี่ปุ่นที่ถูกทิ้งไว้ในจีน : หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เด็กกำพร้าชาวญี่ปุ่นในประเทศจีนส่วนใหญ่ถูกครอบครัวชาวญี่ปุ่นทิ้งไว้ หลังจากการส่งชาวญี่ปุ่นออกจากหูหลู่เต่า ตามตัวเลขของรัฐบาลจีนเด็กชาวญี่ปุ่นประมาณ 4,000 คนถูกทิ้งไว้ข้างหลังในจีน หลังสงคราม เด็กชาวญี่ปุ่น 90% ในมองโกเลียในและจีนตะวันออกเฉียงเหนือ (แมนจูกัวในขณะนั้น) ถูกรับเลี้ยงโดยครอบครัวชาวจีนในชนบท

ในปี 1980 เด็กกำพร้าเริ่มเดินทางกลับไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพวกเขา แต่กลับต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ เนื่องจากพวกเขาขาดทักษะภาษาญี่ปุ่น และประสบปัญหาในการหางานที่มั่นคงทำ

ณ เดือนสิงหาคม 2004 มีเด็กกำพร้าญี่ปุ่นที่เติบโตในจีนจำนวน 2,476 คน ได้ตั้งถิ่นฐานในญี่ปุ่น ตามตัวเลขของกระทรวงแรงงานของญี่ปุ่น พวกเขาได้รับเงินรายเดือนจำนวน 20,000-30,000 เยนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ในปี 2003 มีเด็กกำพร้า 612 คนยื่นฟ้องรัฐบาลญี่ปุ่น โดยอ้างว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องรับผิดชอบต่อการที่พวกเขาถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โจทก์แต่ละคนขอเงินจำนวน 33 ล้านเยน

นอกจากเด็กกำพร้าแล้ว ยังมีผู้หญิงชาวญี่ปุ่นส่วนหนึ่งก็ถูกทิ้งไว้ในจีนอีกด้วย ผู้หญิงญี่ปุ่นเหล่านี้ส่วนใหญ่ต่อมาได้แต่งงานกับชายชาวจีน และกลายเป็นที่รู้จักในนาม ‘ภรรยาที่ตกค้างในสงคราม’ เนื่องจากพวกเขามีลูกกับผู้ชายชาวจีน ผู้หญิงเหล่านี้จึงไม่ได้รับอนุญาตให้พาครอบครัวชาวจีนของพวกเธอ กลับมาอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่นเหมือนผู้ชายญี่ปุ่นที่สามารถพาภรรยาต่างชาติกลับญี่ปุ่นพร้อมกับพวกเขาได้ ทำให้ส่วนใหญ่ยังคงต้องตกค้างอยู่ในจีน เนื่องจากญี่ปุ่นมีกฎหมายที่อนุญาตให้เฉพาะเด็กที่มีพ่อเป็นชาวญี่ปุ่นเท่านั้นที่จะสามารถขอสมัครเพื่อเป็นพลเมืองของญี่ปุ่นได้

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

ชื่นชม!! นักเรียน ป.5 กำพร้าแต่ใจสู้ หารายได้เลี้ยงตัวเอง ขายนมเปรี้ยวตามสี่แยกตอนเลิก ฝัน!! อยากเป็นหมอช่วยคน

ทุกวันในช่วงเย็นถึงค่ำมืด ผู้ใช้รถใช้ถนนที่ผ่านมาจอดติดไฟแดงบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง จะเห็นเด็กผู้ชายสวมชุดนักเรียน เดินหิ้วถุงนมเปรี้ยวขายที่บริเวณแยกไฟแดง ซึ่งลักษณะท่าทางของเด็กชายนั้นมาในลักษณะที่สุภาพอ่อนโยน ไม่ว่าคนที่นั่งอยู่ในรถ จะซื้อหรือไม่ซื้อ พ่อค้าตัวน้อยคนนี้ก็จะโค้งคำนับอย่างนอบน้อม จึงเป็นภาพที่ติดตาผู้ขับขี่ที่สัญจรอยู่บริเวณนี้เป็นประจำ หลายคนที่เห็นกริยามารยาทก็อดที่จะเปิดกระจกลงมา ถามไถ่ ทักทายและช่วยอุดหนุน แต่ก็ไม่ใช่ว่าพ่อค้าตัวน้อยจะขายได้ทุกวัน บางวันขายไม่ได้เลยก็มี 

(12 ก.พ. 67) ผู้สื่อข่าวได้ติดตามตรวจสอบ จนพบว่าเด็กนักเรียนชายคนนี้ คือ เด็กชายพรพิพัฒน์ ด้วงนาม ชื่อเล่น น้องแม็ก อายุ 13 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดสำนักกะท้อน ต.สำนักท้อน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง มีพี่สาวร่วมบิดามารดา 1 คน ชื่อ นางสาวณัฐธิดา แก้วตา ชื่อเล่นน้องตอง อายุ 17 ปี บิดา ชื่อนายปรีชา ใจสุข เสียชีวิตตั้งแต่น้องแม็กยังเด็ก ส่วนมารดาชื่อนางสาวประหยัด ด้วงนาม เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อปี พ.ศ 2564 น้องแม็กจึงเป็นเด็กกำพร้าบิดามารดา ต้องใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพัง เนื่องจากพี่สาวก็ไปอยู่กับญาติ ส่วนตัวแม็กได้มาขออาศัยอยู่กับนางสมหมาย วิเชียรวัฒน์ อายุ 41 ปี หรือ น้าแอน เพื่อนของแม่ ที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่แม่ยังมีชีวิตอยู่ น้าแอนเลี้ยงดูน้องแม็กเหมือนลูกหลาน แต่น้องแม็กเป็นเด็กมีความคิดเหมือนผู้ใหญ่ เมื่อมาอาศัยอยู่ก็ไม่ได้อยู่ฟรีๆ น้องแม็กตัดสินใจจ่ายค่าเช่าเดือนละ 300 บาท ค่ากินอยู่วันละ 40 บาท ซึ่งได้มาจากการขายนมเปรี้ยวทุกวันหลังเลิกเรียน 

ชีวิตประจำวันของน้องแม็ก จะตื่นนอนแต่เช้าตรู่ อาบน้ำ หลังจากนั้นตนเองต้องเดินไปโรงเรียนเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร เมื่อเลิกเรียนต้องรีบกลับบ้าน เพื่อเตรียมตัวไปรับจ้างขายนมเปรี้ยว น้องแม็กจะเดินเร่ขายนมเปรี้ยวตามสี่แยกไฟแดง เพื่อนำเงินมาเลี้ยงชีพตนเองและเก็บไว้สำหรับการเรียนต่อในอนาคต ซึ่งในแต่ละวันขายได้ประมาณวันละ 10 ถุง จะได้ค่าจ้างถุงละ 20 บาท แต่บางวันก็ขายไม่ได้เลย ซึ่งวันจันทร์-ศุกร์ จะเร่ขาย ถึง 3 ทุ่ม และ ในช่วงวันหยุดจะขายนมตั้งแต่บ่ายจนถึงประมาณ 4 ทุ่ม 

ครูที่โรงเรียนทุกคน ยอมรับว่า น้องเป็นเด็กที่มีหัวใจแกร่งมาก ทั้งเรียนดี ขยันและอดทน ซึ่งทางโรงเรียนก็พยายามหาทางช่วยเหลือเรื่องทุนการศึกษา เพราะเรียนที่โรงเรียนนี้มาตั้งแต่อนุบาลและเคยได้รับทุนการศึกษา แต่พอมาปีนี้ ไม่มีรายชื่อ ไม่รู้ว่าหลุดไปได้อย่างไร ก็พยายามขอจากหน่วยงานอื่นให้อีกแต่ผลยังไม่ออก

ด้านนางสมหมาย วิเชียรวัฒน์ อายุ 41 ปี เป็นผู้ดูแลเลี้ยงดู บอกว่า เลี้ยงดูน้องแม็กเหมือนลูก ตั้งแต่บิดามารดาเสียชีวิตไป นิสัยของน้องแม็กเป็นคนน่ารักอัธยาศัยดี รักเพื่อน รักพี่น้อง เป็นคนขยันอดทนทำงานหนักได้ ช่วยทำงานบ้าน ล้างจาน

ด้านเด็กชายพรพิพัฒน์ หรือ น้องแม็ก ยอมรับว่า ทุกวันเกิดความเหงา เพราะคิดถึงแม่ แต่ก็อดทน เวลาไปขายของก็ขายได้ไม่มาก แต่ก็ยังมีรายได้มาจุนเจือเลี้ยงตัวเอง เพราะต้องจ่ายค่ากินวันละ 40 บาท แต่ก็กินได้ทั้งวัน ส่วนค่าที่อยู่อาศัย จ่ายเป็นค่าน้ำไฟเดือนละ 300 บาท บางเดือนขายของไม่ได้ ก็ติดไว้ก่อน พอขายได้ค่อยเอามาจ่าย อนาคตอยากเป็นหมอเพราะอยากรักษาคนจะได้ไม่เป็นเหมือนแม่ สิ่งที่ฝันอยากได้ตอนนี้คือเงินมาเป็นทุนการศึกษา ส่งตัวเองเรียนหมอ หากได้เป็นหมอจะได้รักษาผู้ป่วยได้บุญได้ช่วยเหลือผู้อื่น

สำหรับผู้ใจบุญ ต้องการช่วยเหลือทุนการศึกษา บัญชี ธ. ออมสิน ชื่อ เพื่อการศึกษา เด็กชายพรพิพัฒน์ ด้วงนาม เลขที่ 020433381769


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top