Saturday, 4 May 2024
เฉลิมชัยศรีอ่อน

กรมส่งเสริมการเกษตร แถลงข่าวออนไลน์เผยความคืบหน้าโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ จาก COVID-19 ดำเนินการได้ตามแผน เกษตรกรสามารถลดต้นทุน

 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกภาคส่วน ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบของพี่น้องเกษตรกรทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้น ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการจัดซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกร ที่ประสบปัญหาสินค้าล้นตลาด ราคาตกต่ำ เพื่อนำไปมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ภายใต้ “โครงการแบ่งปันน้ำใจ เกษตรไทยสู้ภัยโควิด-19” ซึ่งดำเนินการแล้ว 264 ครั้ง 46 จังหวัด รวมเป็นมูลค่าสินค้าทั้งสิ้น 1.2 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกร รวมถึงการช่วยกระจายผลผลิตให้กับเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในแคมเปญ  “เกษตรกรแฮปปี้”  จำนวน 2 เฟส  สามารถช่วยระบาย มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย ได้จำนวนมาก ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากพี่น้องประชาชน ทำให้ราคาผลไม้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นที่น่าพอใจ และได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการขนส่งและเป็นจุดกระจายสินค้า 

สำหรับระยะยาว กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินงานโครงการสำคัญหลายโครงการ ภายใต้โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีโครงการสำคัญหลายโครงการได้แก่ โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ซึ่งมีหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมดำเนินการ และโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) เป็นต้น ซึ่งผลการดำเนินการในแต่ละโครงการ กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการเป็นไปตามแผนที่ได้วางกรอบเอาไว้เป็นที่น่าพอใจ และพร้อมกำชับให้กรมส่งเสริมการเกษตรรายงานผลการดำเนินงานให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบอย่างต่อเนื่อง  

ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการ แบ่งตามแหล่งที่มาของงบประมาณ ประกอบด้วย 1) เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 จำนวน 12 โครงการ เช่น โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) และโครงการที่หน่วยงานระดับจังหวัดเสนอขอดำเนินการ เช่น โครงการส่งเสริมการปลูกพืชเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตร (สมุทรสงคราม) โครงการส่งเสริมการปลูกผักปลอดภัยเชิงการค้าในกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ (จังหวัดสตูล) เป็นต้น  ผลการดำเนินงานโดยภาพรวม มีการเบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 3,029 ล้านบาท คิดเป็น 56.92% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร โดยมีหลายโครงการที่ดำเนินการเบิกจ่ายเสร็จสิ้นแล้ว  และ 2) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  
จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตร (จังหวัดสมุทรสงคราม) และโครงการโรงเรือนเพาะเห็ดอัจฉริยะ (จังหวัดสระบุรี) ขณะนี้ดำเนินการเบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 1.14 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 83.37 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับ 

‘เฉลิมชัย’ ปูพรมเกษตรกรรมยั่งยืน 1.7 ล้านไร่ เดินหน้าดันฟาร์มเกษตรอินทรีย์ทุกตำบล

“เฉลิมชัย” โชว์ผลงานเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture) ปี 64 กว่า 1.7 ล้านไร่ เร่งเครื่องวางหมุดหมายฟาร์มเกษตรอินทรีย์ทุกตำบล ดึง “พอช.” ลุยชุมชนสีเขียวพร้อม ผนึก “ศธ.” ปั้นกรีนสกูล

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ (18พ.ย.) ว่าดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบ ZOOM โดยมีนายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม, นายสถาพร ใจอารีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน, นายธีระ วงษ์เจริญ ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ, นายปริญญา พรศิริชัยวัฒนา ประธานชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย, ตัวแทนหน่วยงานกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ตัวแทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์), เครือข่ายของมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย, ตัวแทนภาคเกษตรกร ร่วมในการประชุม

นายอลงกรณ์กล่าวว่า จากความร่วมมือของทุกภาคีภาคส่วน ทำให้การพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในปีนี้มีความก้าวหน้าอย่างมากจากรายงานการดำเนินงานของหลายหน่วยงานสามารถขยายพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนประจำปีงบประมาณ 2564 ได้กว่า 1,766,269.15 ไร่ ทั้งในรูปแบบของเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรอินทรีย์

นอกจากนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล (Tambom Sustainable Agriculture Development Project : TAP) ซึ่งมีเป้าหมาย 7,255 ตำบล ทั่วประเทศ โดยจะเน้นส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืนทั้งในทุกตำบล และเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เกิดเกษตรกรรมยั่งยืนกินได้ อยู่ได้ และอยู่ดี ภายใต้แนวคิด “บริหารโดยชุมชน เป็นของชุมชน เพื่อชุมชน” ใน 21 แนวทางได้แก่ 

(1) 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ 
(2) 1 ตำบล 1 ร้านค้าเกษตรตำบล
(3) 1 ตำบล 1 แปลงเกษตรอินทรีย์ 
(4) 1 ตำบล 1 Product Champion 
(5) 1 ตำบล 1 วนเกษตร 
(6) 1 ตำบล 1 กลุ่ม Young Smart 
(7) 1 ตำบล 1 เกษตรธรรมชาติ 
(8) 1 ตำบล 1 แปลงสมุนไพร 
(9) 1 ตำบล 1 เกษตรผสมผสาน 
(10) 1 ตำบล 1 กลุ่มปศุสัตว์ 
(11) 1 ตำบล 1 เครือข่ายศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม 
(12) 1 ตำบล 1 กลุ่มประมง 
(13) 1 ตำบล 1 องค์กรกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร 
(14) 1 ตำบล 1 ท่องเที่ยวเกษตร 
(15) 1 ตำบล 1 โครงการชลประทานชุมชน 
(16) 1 ตำบล 1 เครือข่าย ศพก. 
(17) 1 ตำบล 1 ธนาคารต้นไม้ (ผลิตและจำหน่ายต้นกล้า) 
(18) 1 ตำบล 1 วิสาหกิจชุมชน 
(19) 1 ตำบล 1 กลุ่มเครื่องจักรกลเกษตร 
(20) 1 ตำบล 1 ตลาดออนไลน์ 
(21) 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรพลังงาน 

ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการ ก่อนนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อการขับเคลื่อนต่อไป 

‘เฉลิมชัย’ เร่งพลิกโฉมกระทรวงเกษตรฯ ย้ำชัด พอใจผลพัฒนา-การบริหารภาครัฐคืบหน้า

‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ เร่งปฏิรูปพลิกโฉมกระทรวงเกษตรฯ พอใจผลการพัฒนาการบริหารและการบริการภาครัฐด้วยระบบดิจิทัลคืบหน้า 70% 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 และประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC)เปิดเผยวันนี้ (7 ก.พ.) ถึงผลงานความคืบหน้าของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 ประจำเดือนมกราคม 2565 ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ยุทธศาสตร์การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า จากผลการปฏิรูปการบริการและการบริหารภาครัฐของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และการดำเนินงานของศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC : Agritech and Innovation Center) มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ พอใจต่อผลการทำงานล่าสุดโดยเฉพาะการดำเนินงานด้านระบบบริการภาครัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Gov Tech) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความคืบหน้าถึง 70% จากพัฒนาบริการภาครัฐทั้งหมด 176 ระบบเปลี่ยนเป็นการบริการภาครัฐด้วยดิจิทัล (Digital Service) แล้ว 156 ระบบ ซึ่งในส่วนนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นและให้บริการแล้ว 109 ระบบหรือคิดเป็น 70% 

ส่วนการพัฒนา NSW (National Single Window) 54 ระบบ อยู่ระหว่างการพัฒนาปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ 47 ระบบ ในขณะที่ด้านระบบฐานข้อมูลดิจิทัล (Big Data) โดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติได้เชื่อมโยงข้อมูลสู่ภูมิภาคกับศูนย์ AIC เช่นศูนย์ AIC เพชรบุรี (มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี) ในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการวิจัยและพัฒนาเกลือทะเลไทยเชิงบูรณาการ การวิจัยและพัฒนาต้นแบบด้าน IT เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการด้านเกษตรกรรม และศูนย์ AIC จังหวัดเชียงราย ในการดำเนินโครงการ Flagship ร่วมกับ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมกาแฟอาราบิกา การใช้งานระบบ CKAN เพื่อจัดทำ Data Catalog เป็นต้นทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้สั่งการให้มีการจัดประชุมเรื่อง NSW เป็นการเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศและการพยากรณ์ข้อมูลราคาและตลาดสินค้าเกษตรในต่างประเทศ

สำหรับด้านเกษตรอัจฉริยะ ได้มีการรายงานการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ ปี พ.ศ. 2565 - 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และการขับเคลื่อนการบูรณาการด้านเกษตรอัจฉริยะ ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการเกษตรแม่นยำ 2 ล้านไร่ จับคู่เกษตรแปลงใหญ่ (Big Farm) กับบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ (Big Brother) โครงการความร่วมมือด้าน Smart Farming กับบริษัท ล็อกซ์เล่ย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขับเคลื่อนแปลงใหญ่เกษตรอัจฉริยะข้าว และระบบช่วยการตรวจประเมินระยะไกล (Remote Audit) หรือการตรวจผ่านระบบออนไลน์ แปลง GAP และเกษตรอินทรีย์ (Organic) (แอปพลิเคชัน Kasettrack) 

สำหรับด้าน E-Commerce ได้มีการขับเคลื่อนเรื่องแผนการกระจายผลไม้ในประเทศ และความร่วมมือด้านการเกษตรและการค้าไทย-บาห์เรน รวมทั้งโครงการ Thailand E-Commerce Village 

ส่วนงานด้านธุรกิจเกษตร (Agribusiness) มีการนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาแบรนด์ธุรกิจ SMEs ด้วยการสร้างสรรค์คาแรคเตอร์ให้โดนใจกลุ่มผู้บริโภค และการประชาสัมพันธ์การจัดงานตลาดนัด Local CIP Fair และ Character Walking Street โดยความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ในระหว่างวันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ 2565

นอกจากนี้นายอลงกรณ์ได้มอบนโยบายให้คณะอนุกรรมการด้านธุรกิจเกษตร ศึกษาจุดอ่อนจุดแข็งในเรื่องของระบบธุรกิจเกษตรแบบ Contract Farming ภายใต้กฎหมายปัจจุบันว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งที่จะต้องดำเนินการแก้ไขพัฒนาอย่างไร และการขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ด้วยคณะทำงานของ AIC ในการพัฒนาธุรกิจเกษตร 

ทางด้านผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนการทำงานของ AIC ที่ผ่านมา มีการนำเสนอความก้าวหน้าในเรื่องของการเชื่อมโยงศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) กับศูนย์ AIC โดย กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งในปัจจุบันมีการทำโครงการเชื่อมโยงองค์ความรู้ของศูนย์ AIC ผ่าน ศพก. ใน 6 เขตพื้นที่ โดยเกษตรกรสามารถนำความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเทคโนโลยีการผลิต ที่เป็นองค์ความรู้จาก AIC ไปใช้ในแปลงเกษตรได้เป็นอย่างมาก และมีการสนับสนุนงบประมาณในกิจกรรมต่างๆ เพื่อการพัฒนาเกษตรกรครบรอบด้านผ่านการดำเนินงานของศูนย์ ศพก. และเครือข่าย การนำ (INNOVATION CATALOG) มาใช้ประโยชน์กับเกษตรกรของศูนย์ AIC จังหวัดระยอง ร่วมกับศูนย์ ศพก. หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรในพื้นที่ 

'เฉลิมชัย' มั่นใจประชาธิปัตย์ได้ส.ส.เพิ่ม ย้ำปชป.ยุคนี้เปิดกว้างไม่ใจแคบให้โอกาสทุกคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการสัมมนา ส.ส. กรรมการบริหารพรรค และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมแคนทารีฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ว่า 

การสัมมนาครั้งนี้เป็นเหมือนธรรมเนียมปฏิบัติที่พรรคจัดสัมมนาสัญจรในต่างจังหวัดช่วงปิดสมัยประชุม เพื่อให้ ส.ส. กรรมการบริหารพรรค และรัฐมนตรีได้มีโอกาสพูดคุยกัน  ซึ่งการจัดสัมมนาแต่ละครั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ภายในพรรคที่ตนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่เราจะได้มีช่วงเวลาหลังจากได้ทำงานแล้วมาพูดคุย ให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้พรรคเดินไปข้างหน้า 

ซึ่งจากจำนวน ส.ส. 51 คนที่เรามี แม้จะไม่มาก แต่พลังที่จะมีมากหรือน้อยไม่ได้อยู่ที่จำนวน แต่อยู่ที่การกระทำของเราทั้งหมด เราจะทำให้มีพลังก็ได้ จะทำให้เบาอ่อนแรงเลยก็ได้ ตนจึงเรียกร้องทุกคนว่าเราคือครอบครัวเดียวกัน ขอให้ทุกคนมาช่วยกันสร้างพรรค มาช่วยกันพาประชาธิปัตย์เดินไปข้างหน้า 

“วันนี้ถึงเราจะมี ส.ส.ไม่มาก เราต้องช่วยกัน สิ่งที่จะทำให้ประชาธิปัตย์เดินไปข้างหน้า สิ่งที่จะทำให้ประชาธิปัตย์กลับคืนมาอีกครั้ง นั่นคือเราต้องเพิ่มจำนวน ส.ส.ให้ได้ สร้างความเชื่อมั่นกับพี่น้องประชาชนให้ได้ และมีนโยบายที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ ซึ่งทั้งนโยบาย ชื่อเสียงพรรค อุดมการณ์พรรค ต้องตรงกับคนที่ใช่ด้วย ถึงจะนำไปสู่ชัยชนะได้” นายเฉลิมชัยกล่าว 

พร้อมกับได้ให้คำมั่นกับ ส.ส. ประชาธิปัตย์ว่า ตนจะไม่มีวันปล่อยท่านสอบตกเด็ดขาด และมาช่วยกันสร้าง ส.ส. เพิ่ม เพราะตนเชื่อว่าเราจะกลับมาได้ จะกลับมาได้ด้วยพลัง และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกพรรค รวมทั้งการทุ่มเทการทำงาน การเสียสละ 

“ผมพูดวันนี้คือสิ่งที่ผมพยายามปฏิบัติ ผมรู้ว่าทุกคนเหนื่อยในสภาวะอย่างนี้ ก็ได้พยายามให้กำลังใจ พยายามพูดคุย แม้จะทำได้ไม่ครบ 100% อาจจะทำได้ไม่ถูกใจ 100% แต่กรรมการบริหารพรรคชุดนี้ขึ้นมาเมื่อมีการเลือกตั้งเสร็จ และต้องรับผิดชอบพรรคที่จะพาไปสู่การเลือกตั้งในครั้งหน้า ผิดพลาดหรือสำเร็จไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธความรับผิดชอบ และคงไม่มีมนุษย์คนไหนที่อยากจะล้มเหลว ผมก็เช่นเดียวกัน เรามีพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมือง เรามีผู้ใหญ่ที่ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา เรามีสมาชิก มี ส.ส. ที่มีคุณภาพ นี่คือต้นทุนการเมืองที่ดีที่สุด แต่อยู่ที่ว่าเราจะใช้สิ่งที่เรามีให้เกิดประโยชน์ เกิดประสิทธิภาพและเดินไปสู่เป้าหมายได้อย่างไรเท่านั้น” เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์กล่าว 

พร้อมกับเพิ่มเติมว่า แม้ปัจจัยการเมืองปัจจุบันเปลี่ยนไปหลายอย่าง เราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเมือง แต่ต้องไม่ทิ้งอุดมการณ์และหลักการของพรรค ถ้าเราทิ้งหลักการและอุดมการณ์ของพรรค ก็หมดสิ้นความเป็นประชาธิปัตย์ แต่ถ้า 2 อย่างนี้ยังไม่พอ ก็ต้องหาสิ่งที่มาเสริมเพื่อให้พรรคเดินไปข้างหน้าได้ ตามสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต

“ผมขอให้กำลังใจ ส.ส. และผู้สมัครทุกท่าน ยังไม่มีการเลือกตั้ง อย่าไปกลัว มี 1 สมอง 2 มือ 2 ขา เหมือนกัน อย่าไปกลัว ถ้ากลัวตั้งแต่ยังไม่ทันเลือก กลัวตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่สงครามไม่มีวันเจอคำว่าชนะหรอก ผมมั่นใจว่าท่านหัวหน้า ท่านกรรมการบริหารพรรค ท่านประธานที่ปรึกษา พร้อมที่จะยืนเคียงข้างกับพวกเราทุกคน และ ณ วันนี้ ผมก็มั่นใจว่าประชาธิปัตย์ต้องได้ ส.ส. มากกว่าเดิม 100% ไม่ใช่แค่ขอรักษา ส.ส. เท่าที่มีอยู่ ผมยืนยันด้วยเกียรติ ด้วยศักดิ์ศรี และพร้อมจะรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นของประชาธิปัตย์ทั้งหมด” 

“เฉลิมชัย” สั่งฟรุ้ทบอร์ดเร่งปลุกตลาดผลไม้ทั่วประเทศ “อลงกรณ์” ผนึก” อตก.” เปิดจุดขายขยายตลาดออนไลน์ออฟไลน์เพิ่มการบริโภคในประเทศ 40%

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาผลไม้ล่วงหน้าในคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยวันนี้(30 เม.ย.)ภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และการบริหารจัดการตลาดสดของ อ.ต.ก. พร้อมทั้งมอบนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อผลักดันการบริโภคผลไม้และผลผลิตทางการเกษตรของไทย โดยมีนายปณิธาน มีไชยโย ผู้อำนวยการ อ.ต.ก. พร้อมด้วยผู้บริหาร อ.ต.ก. ให้การต้อนรับว่า ได้มอบหมายให้ อ.ต.ก. เป็นหน่วยงานกลางผู้ประสานงานระหว่างตลาดสินค้าเกษตรทั้งหมดทั่วประเทศเพื่อส่งเสริม ผลักดันการบริโภคผลไม้ไทย


พร้อมทั้งนำผลไม้ไทยบุกตลาดออนไลน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และในส่วนของการทำการตลาดออฟไลน์ให้ดำเนินการเชิงบูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐเช่นองค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย บริษัทไปรษณีย์ไทย หอการค้า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอี. โมเดิร์นเทรด ตลาดกลางสินค้าเกษตรทั่วประเทศ โปรโมทขายผลไม้ นอกจากนี้ขอให้ อ.ต.ก. พัฒนาและปั้น Brand Ortorkor ให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและระดับสากลเพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรและเป็นแบรนด์การันตีคุณภาพสินค้าเกษตรของไทย รวมทั้งเพิ่ม จุดจำหน่ายและกระจายสินค้าเกษตรเพื่อเป็นช่องทางกระจายผลผลิตสู่ผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมอบหมายให้ อ.ต.ก. เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนและสนับสนุนตลาดเกษตรกร( Farmer Market )ในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อมากที่สุดอีกด้วย 
    นอกจากนี้นายอลงกรณ์และคณะได้ลงพื้นที่ตลาด อ.ต.ก. พบปะพูดคุยกับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการผู้ค้าทุเรียน มังคุด เงาะ ลำไย ชมพู่ มะม่วง มะพร้าว แตงโม พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนบริโภคผลไม้ไทยเพิ่มขึ้นเพื่ออุดหนุนและสนับสนุนเกษตรกรไทยในช่วงฤดูกาลผลไม้ปีนี้

“รัฐมนตรีเฉลิมชัย”นั่งไม่ติดเก้าอี้ ลุ้นส่งออกทุเรียนทะลุ 500,000 ตันทุบสถิติจีนสร้างสถิติโลก “อลงกรณ์”เผยข่าวดีจีนเปิดด่าน”ตงชิง”ต้อนรับฤดูกาลผลไม้ภาคเหนือและภาคใต้ พร้อมจับมือเครือค้าปลีกกลุ่มอาลีบาบาและกลุ่มเรนโบว์เร่งโหมตลาด33เมืองใหญ่ในแดนมังกร

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยวันนี้(18 มิ.ย.)ว่า การส่งออกทุเรียนไทยไปจีนยังเป็นไปตามแผนปฏิบัติการผลไม้ปี2565 โดยสามารถส่งออกทุเรียนจากภาคตะวันออกไปจีน ณ วันที่ 16 มิถุนายน เป็นจำนวน 485,866 ตัน และคาดว่าจะสามารถส่งออกไปจีนทะลุตัวเลข 500,000 ตันภายในสัปดาห์หน้าซึ่งนอกจากจะทำลายสถิติการส่งออกทุเรียนในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564ซึ่งมีปริมาณ 4.2 แสนตันแล้วยังเป็นการทำลายสถิติโลกที่ไทยสามารถส่งออกผลไม้สดชนิดเดียวเกินครึ่งล้านตันภายในเวลา6เดือนและยังเป็นผลไม้ที่มาจากสวนทุเรียนและล้งที่มีมาตรฐานการเกษตรที่ดีคือGAPและGMP ทั้งหมด

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้รับรายงานจากนายสมชวน   รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ.ว่า จีนได้เปิดด่านตงซิงแล้วเมื่อวานนี้( 17 มิถุนายน)โดยมีเวลาทําการ 08.00-18.00 น. ซึ่งทำให้ขณะนี้จีนได้เปิดทุกด่านนำเข้าผลไม้ไทยแล้วทั้งด่านรถด่านเรือด่านเครื่องบินและด่านรถไฟซึ่งถือเป็นช่วงจังหวะดีในการเปิดรับฤดูกาลผลไม้ภาคเหนือและภาคใต้ของเรา การเปิดด้านตงชิงเกิดขึ้นหลังจากเอกอัครราชทูตจีนเดินทางไปเยี่ยมชมสวนทุเรียน ล้งและสหกรณ์ผลไม้ที่จังหวัดจันทบุรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังต้องติดตามสถานการณ์ด่านอย่างใกล้ชิด และต้องป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด และฆ่าเชื้อสินค้าอย่างเคร่งครัด


 

“เฉลิมชัย”เดินหน้าขยายตลาดญี่ปุ่น ส่ง”อลงกรณ์”กระชับความร่วมมือกับบริษัทการค้าญี่ปุ่นหวังพัฒนาสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มส่งออกกว่าแสนล้านบาท

   รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แจ้งวันนี้(3ก.ค.)ว่า นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมศักดิ์ วิวิธเกยูรวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงโตเกียว  โชติ พึงเจริญพงศ์ คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ. นายณฐกร สุวรรณธาดา  คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ. น.ส.นิณา รัตนจินดา ผู้บริหารโปรเฟสอินเตอร์เนชั่นแนลและคณะเข้าเยี่ยมชมระบบความเย็น(Cold Chain)และรับฟังข้อมูลระบบโลจิสติกส์ ระบบเครือข่ายตลาดค้าส่งค้าปลีก รวมถึงการบริหารจัดการคลังสินค้าในการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยมายังประเทศญี่ปุ่น ณ บริษัท P.K. SIAM  เมืองโยโกฮามา จังหวัดคานากาวะ โดยมีนายรุ่งสิทธิ์ สนธิอัชชรา ผู้จัดการฝ่ายการค้า(Trading Division Manager) ให้การต้อนรับ พาชมพร้อมบรรยายสรุป โดยบริษัท พี.เค.สยาม(P.K.SIAM )เป็นบริษัทผู้นำเข้า  ผักและผลไม้รายใหญ่ในกรุงโตเกียว  อาทิ มะม่วงทุเรียน กล้วยหอม ส้มโอ มะพร้าว มังคุด  ผักสด น้ำมะนาวคั้นสด รวมถึงสินค้าแปรรูป อาหาร ผลไม้กระป๋อง เป็นต้น 

จากนั้นนายอลงกรณ์และคณะะได้เดินทางไปพบหารือกับคณะผู้บริหารของบริษัทไนไกนิตโตะซึ่งเป็นบริษัทโลจิสติกส์รายใหญ่มีการร่วมทุนกับไทยจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยมากว่า25ปีพร้อมกับเยี่ยมชมระบบขนส่งทางเรือทางอากาศซึ่งมีบริการขนส่งยางพาราและเครื่องจักรกลการเกษตรด้วย 
 

กรมประมงโชว์ผลงานเด่นเพิ่มปูทะเลสำเร็จ 4 ปี 400% 'เฉลิมชัย' เร่งขยายผลปล่อยพันธุ์ปูทะเลอีก 1.3 ล้านตัวลงทะเลประจวบคีรีขันธ์ หวังเพิ่มทรัพยากรประมงให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานพิธีปล่อยพันธุ์ปูทะเล 'โครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงบริเวณแหล่งก่อเกิดทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประจำปีงบประมาณ 2566' โดยมีนายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง นายมานพ หนูสอน รองอธิบดีกรมประมง นายมนตรี ปาน้อยนนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนสมาคมประมงประจวบคีรีขันธ์เข้าร่วม ณ คลองเขาแดง (บริเวณวัดเขาแดง) อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยกรมประมงร่วมกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จัดขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พื้นที่บริเวณป่าชายเลนในเขตจังหวัดมีฐานทรัพยากรเพื่อการผลิต ทั้งในมิติของความหลากหลายของชนิดและปริมาณสัตว์น้ำที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้บริเวณพื้นที่ป่าชายเลนทำหน้าที่นิเวศบริการที่ดีแก่ชุมชน และเพื่อสนับสนุนให้ชุมชนร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงของจังหวัดอย่างยั่งยืน รวมถึงเพิ่มผลผลิตปูทะเล สัตว์น้ำเศรษฐกิจในธรรมชาติ อันเป็นกลุ่มสัตว์น้ำที่มีบทบาทสำคัญในการประกอบอาชีพของคนในพื้นที่ อีกทั้งเป็นการขานรับนโยบายและข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มผลผลิตปูทะเลให้ได้ปริมาณ 5,000 ตัน ในปี 2566 โดยจากข้อมูลเดิมปี พ.ศ. 2561 มีผลผลิตปูทะเล เพียง 1,600 ตัน ปี พ.ศ. 2562 มีผลผลิต 3,000 ตัน ปี พ.ศ. 2563 มี 3,000 ตัน และในปี พ.ศ. 2564 ผลผลิตปูทะเลในภาพรวมทั้งประเทศ มีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่า 6,000 ตัน หรือ4ปีเพิ่ม400%โดยเป็นผลผลิตปูทะเลจากการเพาะเลี้ยง จำนวน 3,400 ตัน และจากผลผลิตการจับจากธรรมชาติ 2,800 ตัน ซึ่งเกินเป้าหมายที่กรมประมงคาดการณ์ไว้

‘เฉลิมชัย’ ปลื้ม!! ข้าวไทยครองแชมป์ข้าวที่ดีที่สุด 2 ปีซ้อน ส่งออกเบอร์ 2 ของโลก 9 เดือนแรก โกย 9 หมื่นล้านบาท

‘เฉลิมชัย’ ขอบคุณชาวนาพาไทยผงาดเบอร์ 2 ส่งออกข้าวโลกและครองแชมป์ข้าวดีที่สุดในโลก 2 ปีซ้อน พอใจส่งออกข้าว 9 เดือน 9 หมื่นล้าน เพิ่มทั้งปริมาณและมูลค่าพร้อมเดินหน้านโยบายประกันรายได้ข้าวปีที่ 4 ชี้ เป็นประโยชน์ช่วยเพิ่มรายได้ชาวนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

(14 พ.ย. 65) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แสดงความพอใจต่อการพัฒนาศักยภาพของชาวนาไทยและการส่งออกข้าวภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 และยุทธศาสตร์ ‘ตลาดนำการผลิต’ ตั้งเป้าไทยเป็นผู้นำในด้านการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลกเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและราคาโดย 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค. - ก.ย. 65) ประเทศไทยส่งออกข้าวไปต่างประเทศได้ทั้งสิ้น 5.41 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 39.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าส่งออก 2,796.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้ถึง 95,233 ล้านบาท 

สำหรับราคาส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยในเดือน ก.ย. 65 อยู่ที่ตันละ 510.8 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ที่ราคาตันละ 500.5 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ 7-8 ล้านตันทำให้ประเทศไทยกลับมาผงาดขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกในปีนี้อย่างแน่นอน

'รมว.เฉลิมชัย' มุ่งขับเคลื่อนพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก พอใจผลงาน สศก. โชว์ความสำเร็จ 3 ปี ยกระดับกลุ่มเป้าหมาย 1.32 ล้านราย สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ เกิดมูลค่า 7.8 แสนล้านบาท

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามนโยบาย '5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย' ที่มุ่งกระตุ้นการสร้างเศรษฐกิจรากฐานให้กับประเทศ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้ดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ โดยมุ่งเน้นภาพรวมในด้านต่าง ๆ ตลอดจนมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรม ซึ่งได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน เร่งดำเนินโครงการตามแผนงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไวที่สุด โดยมี สศก. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากมาตั้งแต่ปี 2563 และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนกระทรวงต่าง ๆ ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหน่วยงานอื่นของรัฐ ภายใต้ 3 แนวทางหลัก คือ แนวทางที่ 1 การพัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย (ต้นทาง) แนวทางที่ 2 พัฒนาผลิตภัณฑ์ และการให้บริการชุมชน (กลางทาง) และแนวทางที่ 3 การพัฒนาระบบบริหารจัดการและกลไกการตลาด (ปลายทาง) จนปัจจุบัน มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ รวม 22 โครงการ

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากมาตั้งแต่ปี 2563 โดย สศก. เป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการบูรณาการขับเคลื่อนแผนงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงต่าง ๆ ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหน่วยงานอื่นของรัฐ ภายใต้ 3 แนวทางหลัก คือ แนวทางที่ 1 การพัฒนาศักยภาพประชาชนกลุ่มเป้าหมาย (ต้นทาง) แนวทางที่ 2 พัฒนาผลิตภัณฑ์ และการให้บริการชุมชน (กลางทาง) และแนวทางที่ 3 การพัฒนาระบบบริหารจัดการและกลไกการตลาด (ปลายทาง) จนปัจจุบัน มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ รวม 22 โครงการ

ทั้งนี้ สศก. ได้ติดตามผลการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 -2565) พบว่า สามารถช่วยยกระดับกลุ่มเป้าหมายทั้งประชาชนผู้มีรายได้น้อย เกษตรกรรายย่อย สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ผลิต/ผู้ประกอบการได้มากกว่า 1.32 ล้านราย รวม 4,337 กลุ่ม เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนมากกว่า 15,137 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็นมูลค่าจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนมากถึง 781,066 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมของผลสำเร็จที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ส่งผลให้หน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สศก. ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพ จะร่วมกับทุกหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการ ในการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากอย่างต่อเนื่องต่อไป

ด้าน ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า สำหรับปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ มีการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ทั้งสิ้น 15 โครงการ อาทิ โครงการบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและผู้ด้อยโอกาส สามารถช่วยเข้าถึงที่ดินทำกิน และได้รับสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินทั้งเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 และเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 (ช) ได้ตามเป้าหมาย โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร สามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี เฉลี่ยครัวเรือนละ 6,298 บาท/รอบการผลิต และโครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร สามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร/ชุมชนและวิสาหกิจชุมชน 729 แห่ง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top