Monday, 20 May 2024
เจแปนแอร์ไลน์

กรณีศึกษาอพยพผู้โดยสารสายการบินเจแปนฯ ได้อย่าง 'ปลอดภัย-รวดเร็ว' เพราะพนักงานฝึกฝนมาดี ผู้โดยสารก็ปฏิบัติตัวดี เชื่อฟังทุกคำแนะนำ

(4 ม.ค.67) จากกรณีเครื่องบินโดยสารแบบ แอร์บัส A350 ของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 516 (JAL) พุ่งชนเครื่องบินตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งที่เตรียมไปช่วยผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหว จนไฟลุกท่วมคาสนามบินฮาเนดะ แต่ส่วนผู้โดยสารและลูกเรือเครื่องบินพาณิชย์ 379 ชีวิตปลอดภัยนั้น เหตุผลสำคัญมาจากผู้โดยสารต่างเร่งไปที่ประตูทางออกฉุกเฉินของเครื่องบินที่กำลังลุกไหม้โดยที่ไม่ถือสัมภาระอะไรติดตัว ตามคำแนะนำของพนักงานบนเครื่องบิน

ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า การไม่นำสิ่งของมีค่าหรือสัมภาระส่วนตัวไปด้วย ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การอพยพทั้ง 379 คนบนเครื่องเป็นไปได้อย่างราบรื่น ก่อนที่เครื่องบินจะถูกไฟลุกท่วมบนรันเวย์ที่สนามบินฮาเนดะในกรุงโตเกียว เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 516 ได้กลายเป็นลูกบอลติดไฟขนาดยักษ์หลังจากชนเข้ากับเครื่องบินของหน่วยยามชายฝั่งขณะกำลังลงจอด โดยผู้ที่อยู่บนเครื่องบินซึ่งลำเล็กกว่าของหน่วยยามชายฝั่ง 5 จาก 6 คน เสียชีวิต

การอพยพผู้คนอย่างไร้ที่ติของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้คนจำนวนมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินและผู้ที่เคยเป็นลูกเรือของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์บอกกับบีบีซีว่า การอพยพที่ราบรื่นดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้เพราะพนักงานบนเครื่องได้นำการฝึกฝนที่ได้ทำมาอย่างเข้มงวดมาใช้ ส่วนผู้โดยสารก็ปฏิบัติตัวอย่างดีและเชื่อฟังคำสั่งด้านความปลอดภัย

“ผมไม่เห็นผู้โดยสารสักคนที่ลงเครื่องมาแล้วมีกระเป๋าติดตัวเลยสักคน...ถ้าคนบนเครื่องพยายามที่จะขนสัมภาระของตัวเองลงมาด้วยนั่นจะเป็นสถานการณ์ที่อันตรายมาก เพราะว่ามันจะทำให้การอพยพเป็นไปได้ช้าลง” ศาสตราจารย์เอ็ด กาแล ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยจากมหาวิทยาลัยกรีนิช กล่าว

ศาสตราจารย์กาแล ยังบอกด้วยว่า สถานะของเครื่องบินแอร์บัส A350 ลำดังกล่าว ยังทำให้การอพยพคนบนเครื่องเป็นไปได้ยากด้วย

“อุบัติเหตุนี้ห่างไกลจากสภาวะในอุดมคติที่คุณอยากให้เกิดขึ้นมาก ส่วนหัวของเครื่องบินทิ่มลงด้านล่าง ซึ่งหมายความว่ามันเป็นการยากสำหรับผู้โดยสารในเครื่องที่จะเคลื่อนที่” เขากล่าว

ทั้งนี้ มีสไลเดอร์ตรงทางออกฉุกเฉินเพียง 3 อันเท่านั้นที่ใช้การได้ แต่มันก็ไม่ได้ถูกกางอย่างเหมาะสมเนื่องจากลักษณะการลงจอดของเครื่องบิน สไลเดอร์ฉุกเฉินดังกล่าวยังชันมากด้วย ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ทางเจแปนแอร์ไลน์ยังระบุด้วยว่า ระบบกระจายเสียงในเครื่องบินลำดังกล่าวยังทำงานผิดปกติในระหว่างการอพยพด้วย ดังนั้นลูกเรือบนเครื่องจึงต้องใช้โทรโข่งและการตะโกนเอาแทน

ทางสายการบินยังระบุด้วยว่า มีผู้โดยสารหนึ่งคนที่มีรอยบอบช้ำ และอีก 13 คนที่ต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์

สายการบินเจแปนแอร์ไลน์เที่ยวบินดังกล่าว เดินทางออกจากสนามบินในซัปโปโรในเวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น และลงจอดที่ฮาเนดะก่อนเวลา 18.00 น. เพียงไม่นาน สำหรับเครื่องบินของยามชายฝั่งที่ลำเล็กกว่านั้น มีแผนที่จะนำสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปให้เหยื่อจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในวันปีใหม่ ทั้งนี้ ยังคงมีการสืบสวนสาเหตุของการชนกันครั้งนี้อยู่

อดีตลูกเรือของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์คนหนึ่งบอกกับบีบีซีว่า ผู้โดยสารบนเที่ยวบินดังกล่าวถือว่า “โชคดีอย่างสุดๆ”

“ฉันรู้สึกโล่งใจที่รู้ว่าผู้โดยสารทุกคนปลอดภัย แต่เมื่อฉันเริ่มคิดเกี่ยวกับขั้นตอนในการอพยพเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ฉันก็รู้สึกประหม่าและกลัวขึ้นมาทันที” เธอกล่าว “ขึ้นอยู่กับว่าเครื่องบินทั้งสองลำชนกันแบบไหน รวมถึงว่าไฟไหม้ลุกลามอย่างไร มันอาจจบลงด้วยเรื่องเศร้ากว่านี้ก็ได้”

ในสถานการณ์จริง มันเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ผู้โดยสารไม่ตื่นตระหนก อดีตลูกเรือที่ขอไม่เปิดเผยนาม ระบุ

“แต่สิ่งที่พวกเขาทำสำเร็จมันยากกว่าที่ใครจะจินตนาการออก ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาสามารถพาทุกคนหนีออกมาได้ เป็นผลมาจากการร่วมมือกันอย่างดีระหว่างลูกเรือและผู้โดยสารที่ปฏิบัติตามคำแนะนำ” เธอกล่าว

อดีตลูกเรือสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ผู้นี้ยังระบุด้วยว่า ลูกเรือทุกคนต้องผ่านการฝึกการช่วยเหลือและอพยพที่เข้มงวดกว่า 3 สัปดาห์ ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติงานบนสายการบินพาณิชย์ และการฝึกฝนดังกล่าวยังต้องฝึกซ้ำอยู่ทุกปี

“เราต้องผ่านการสอบข้อเขียน การอภิปรายกรณีศึกษา และการฝึกฝนสถานการณ์จำลองหลายๆ แบบ อย่างเช่นในสถานการณ์ที่เครื่องบินต้องลงจอดในน้ำ หรือถ้าเกิดมีไฟไหม้ในเครื่อง พนักงานหน่วยอื่นๆ ที่ดูแลรักษาเครื่องบินก็ต้องเข้าร่วมการฝึกนี้เช่นเดียวกัน” อดีตลูกเรือที่ออกจากบริษัทมา 10 ปีแล้ว กล่าว

นักบินอีกคนหนึ่งซึ่งทำงานในสายการบินหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีโดยไม่ขอเปิดเผยตัวตนเช่นกันว่า การฝึกฝนอย่างเข้มงวดที่ลูกเรือต้องทำ ช่วยให้การอพยพเป็นไปอย่างรวดเร็ว

“ผมต้องบอกว่ามันน่าทึ่งมาก ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีนี้คือ การฝึกฝนถูกนำมาใช้จริง คุณไม่มีเวลาคิดในสถานการณ์เช่นนี้ ดังนั้นคุณแค่ทำไปตามสิ่งที่ได้ฝึกฝนมา” เขากล่าว

ทั้งนี้ สำหรับเครื่องบินโดยสารใดๆ ก็ตาม เพื่อที่จะได้รับใบอนุญาตในระดับนานาชาติให้ทำการบินได้ ผู้ผลิตเครื่องบินจะต้องแสดงให้เห็นว่าทุกคนที่อยู่บนเครื่องสามารถออกจากเครื่องบินได้ภายในเวลา 90 วินาที โดยการทดสอบเวลาในการอพยพบางครั้งมีการใช้ผู้โดยสารจริงมาทดสอบด้วย เขาระบุเพิ่มเติม

นักบินคนนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การควบคุมความปลอดภัยด้านการบินเข้มงวดขึ้นอย่างมากหลังจากเกิดเหตุไม่คาดฝันและความผิดพลาดในอุบัติเหตุครั้งก่อนๆ

ยกตัวอย่างเช่น การชนกันของเครื่องบินโบอิ้ง 747 สองลำที่สนามบินลอส โรดีโอ ในสเปนในปี 1977 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 583 คนและถือเป็นอุบัติเหตุด้านการบินที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นตอนที่นักบินต้องปฏิบัติ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการสื่อสารทางวิทยุ ทั้งนี้ การชนกันดังกล่าวพบว่าเกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาดระหว่างลูกเรือและเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ

สายการบินเจแปนแอร์ไลน์เคยพบเจอกับหายนะเช่นกันในเดือน ส.ค. 1985 เมื่อเที่ยวบิน 123 ที่มุ่งไปโอซากา บินชนภูเขาหลังจากออกจากสนามบินฮาเนดะในโตเกียวได้ไม่นาน สำหรับสาเหตุครั้งนั้นพบว่าเกิดจากการซ่อมบำรุงเครื่องบินที่ไม่สมบูรณ์โดยโบอิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินลำดังกล่าว ในอุบัติเหตุครั้งนั้น มีเพียง 4 คนจากคนบนเครื่องทั้งหมด 524 คนที่รอดชีวิต

ในปี 2006 เจแปนแอร์ไลน์ได้เปิดสถานที่ที่คล้ายกับพิพิธภัณฑ์ใกล้กับสนามบินฮาเนดะ และจัดแสดงซากความเสียหายจากอุบัติเหตุครั้งดังกล่าว โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความตระหนักด้านความปลอดภัยให้กับพนักงานของสายการบิน

“ต่อหน้าความเจ็บปวดและความเศร้าโศกของครอบครัวผู้สูญเสีย และความไม่เชื่อใจของสาธารณชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของสายการบิน (หลังเกิดอุบัติเหตุในปี 1985) เราให้คำมั่นว่าเราจะไม่ยอมให้โศกนาฏกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นอีก” สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ระบุ

“พนักงานทุกคนตระหนักดีกว่า ผู้โดยสารฝากชีวิตและทรัพย์สินอันมีค่าไว้กับงานของเรา”

เปิด ‘8 ลำดับ’ ลูกเรือ JAL​ ช่วยอพยพผู้โดยสารให้รอดทั้งลำ ก่อนเครื่องบินจะจมอยู่ในเปลวเพลิง หลังเกิดเหตุชนกันบนรันเวย์

(5 ม.ค.67) เกียวโดนิวส์ ​รายงาน​ การตัดสินใจอย่างรวดเร็วของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและความร่วมมือของผู้โดยสาร​ คือปัจจัยสำคัญการอพยพผู้คน 379 คน​ รอดตายจากเครื่องบินเจแปนแอร์ไลน์ที่กำลังลุกไหม้ที่สนามบินฮาเนดะในกรุงโตเกียว เป็นปฏิบัติ​การที่สื่อต่างประเทศเทียบราวปาฏิหาริย์

พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทั้ง 9 คนเอาชนะอุปสรรคในระหว่างการนำคนออกจากเครื่องบินอย่างฉุกเฉิน​ หลังจากการชนกันบนรันเวย์

อุปสรรคคือ​ ทางออกสามารถใช้งานได้เพียง 3 ใน 8 ทาง ลูกเรือจึงต้องอพยพออกจากลำตัวเครื่องบินสูง 67 เมตรอย่างรวดเร็ว และเนื่องจากระบบการสื่อสารขัดข้อง​ พนักงานต้อนรับจึงสื่อสารข้อมูลกับห้องนักบินได้เพียงจำกัด ตามที่เจ้าหน้าที่ของสายการบินระบุ

“ฉันรู้สึกตกใจเหมือนมีคนเหยียบเบรก จากนั้นฉันก็เห็นเปลวไฟพลุ่งขึ้นนอกหน้าต่าง” ผู้โดยสารรายหนึ่งอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องโดยสารไม่นานหลังจากที่เที่ยวบิน 516 ลงจอดและชนเครื่องบินอีกลำหนึ่งบนรันเวย์เมื่อเวลาประมาณ 5.47 น. บ่ายวันอังคาร

ลำดับแรก พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเรียกร้องให้ผู้โดยสารที่ตื่นตกใจอยู่ในความสงบ ตามขั้นตอนป้องกันความตื่นตระหนกในกรณีฉุกเฉิน

ลำดับที่สอง หลังจากยืนยันรายงานของลูกเรือว่าเครื่องยนต์ด้านซ้ายเกิดไฟไหม้ หัวหน้าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินแจ้งห้องนักบินเพื่ออนุมัติ​คำสั่งให้ดำเนินการอพยพฉุกเฉิน

ลำดับที่สาม พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินประเมินวิธีหลบหนีอย่างรวดเร็ว​ ขณะที่ควันเข้าไปในห้องโดยสารและเด็กๆ เริ่มร้องไห้เพื่อให้ทางออกเปิด พนักงานขอให้ผู้โดยสารหมอบหรือก้มลงให้ชิดพื้นเพื่อหลีกเลี่ยงการสูดควันที่ลอยทั่ว

ลำดับที่สี่​ เมื่อสำรวจพบว่าทางออกทั้งสองที่ด้านหน้าเครื่องบินสามารถใช้งานได้ ลูกเรือก็เริ่มนำผู้โดยสารไปข้างหน้าเพื่ออพยพโดยใช้สไลด์ฉุกเฉิน

ลำดับที่ห้า​ ที่ด้านหลังของเครื่องบิน พนักงานสำรวจด้านนอกพบว่ามีเปลวไฟลุกทางด้านขวา​ เหลือเพียงด้านซ้าย​ทางออกเดียวเท่านั้นที่สามารถใช้งานได้ และยังพอมีพื้นที่เพียงพอบนพื้นสำหรับวางสไลด์ลง

แต่ระบบสื่อสารกับกัปตันบนเครื่องบินไม่ทำงาน ขณะนั้นควันเข้ามาในห้องโดยสารเพิ่มมากขึ้น พนักงานจึงตัดสินใจเปิดทางออกฉุกเฉินด้านหลังซ้ายและปล่อยสไลด์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากห้องนักบิน

ลำดับที่หก​ ทุกเสี้ยววินาทีคือชีวิต นักศึกษาวิทยาลัยจากโตเกียวได้ยินพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเตือนผู้โดยสารคนอื่นๆ อย่าพยายามหยิบสัมภาระออกจากช่องเก็บเหนือศีรษะ พวกเขาปฏิบัติตามและมุ่งหน้าไปยังทางออกอย่างรวดเร็วโดยมีเพียงของใช้ส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ เช่น สมาร์ทโฟน

ลำดับที่เจ็ด ผู้ที่มาถึงพื้นก่อนอย่างปลอดภัยจะช่วยผู้โดยสารคนอื่นๆ ที่อยู่ด้านล่างของสไลเดอร์

ลำดับสุดท้าย กัปตันตรวจดูทุกแถวจากด้านหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าผู้โดยสารคนสุดท้ายได้ออกไปแล้ว จึงลงจากทางออกฉุกเฉินด้านหลังเมื่อเวลา 18.05 น. ไม่กี่นาทีก่อนที่เครื่องบินจะจมอยู่ในเปลวเพลิงทั้งลำ

ชิเกรุ ทาคาโนะ อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักงานการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การหลบหนีเป็นไปอย่างราบรื่นเกิดขึ้นได้ทั้งจากการตอบสนองของลูกเรือและ “ผู้โดยสารที่ให้ความร่วมมือแม้ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top