Saturday, 11 May 2024
เครื่องแบบนักเรียน

‘ชัยวุฒิ’ โพสต์ถึงลูก อยากให้เป็นเด็กดี และอยู่ร่วมกับทุกคนในสังคม ได้อย่างมีความสุข

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงความรู้สึกที่ได้เห็นลูกสาวฝาแฝดของตน ในชุดเครื่องแบบนักเรียนและมีรอยยิ้มน่ารักสดใสตามวัย โดยระบุว่า ...

มีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นลูกใส่ชุดนี้ อยากให้หนูเป็นเด็กดี มีความรู้และสามารถอยู่ร่วมกับทุกคนในสังคมได้อย่างมีความสุข

ปล.ปีนรั้วเข้าโรงเรียนผมไม่ห่วงครับ ผมห่วงเด็กปีนรั้วออกครับ

หลังจากที่ได้มีคนเห็นโพสต์ข้อความนี้แล้ว ก็ได้มีคอมเมนต์ตอบแบบน่ารักๆ ตามมาหลากหลายเช่น 

“เห็นด้วยครับ ลูกผมก็ชอบใส่ชุดนักเรียนไปโรงเรียน เหมือนเพื่อนๆ ชีวิตวัยเรียนก็ปกติ มีความสุขดีครับ”

“เด็กน้อยของพ่อแม่น่ารักเสมอ”

“น่ารักที่สุดค่ะสาวน้อย”

“น่ารักจังเลย”

‘มาร์ค พิทบูล’ อัดคลิปเดือด ซัดปมดราม่า  ชี้ ‘ชุดนักเรียน’ มันคือความเท่าเทียม ไม่ใช่การกดขี่ 

ยังคงเป็นประเด็นดราม่าที่ถูกพูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ กรณีดราม่าเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ โดยการแต่งตัวไปรเวทและย้อมสีผมไปเรียน ซึ่งมีหลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวมีทั้งเห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย ล่าสุด "มาร์ค พิทบูล" ได้ออกมาโพสต์คลิปวีดีโอ ผ่าน TikTok @pitbullmark เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวโดยระบุว่า 

การมีชุดนักเรียนมันเป็นยังไง มันจะตายหรือไง ชุดนักเรียนมันคือความเท่าเทียม ไม่ใช่การกดขี่ ทุกคนใส่ชุดเหมือนกัน ถ้าให้ต่างคนต่างใส่ เด็ก ๆ ก็จะเกิดการแข่งขัน บ้านรวย บ้านจน

ย้ำว่า กฎระเบียบบางอย่างเพื่อความปลอดภัยของตัวนักเรียนเอง "เด็กเปรต" พร้อมยกตัวอย่างว่า ถ้าใส่ชุดนักเรียนไปไหนมาไหน ปลอดภัยแน่นอน เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่เห็น และช่วยคุ้มครอง

และพูดถึงการใช้เสรีภาพเกินขอบเขต ถ้าโดนครูตี ใช้ความรุนแรง ก็พร้อมที่จะปกป้อง คุณทำมาหากินเองเมื่อไหร่ จะมีใครไปยุ่งกับคุณ 

‘ดร. หิมาลัย’ ชี้ ‘หยก’ ยังมีทางเลือก หากไม่อยากใส่เครื่องแบบ แนะให้เรียน กศน.- Home School

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 66 ดร. หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้ประสานงานพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้เล่าถึงประเด็น เสรีภาพทางการศึกษา ผ่านรายการ ‘คุยกับ ดร. หิมาลัย’ โดยระบุว่า…

เรื่องของเสรีภาพในสถานศึกษา ซึ่งนำเอาน้องหยกมาเป็นกรณีศึกษา ซึ่งเราก็จะรู้จักเขาในมุมของนักต่อสู้ ที่แสดงออกตามความเชื่อความคิดของตัวเอง ที่โดดเด่นที่สุดก็คือการต่อสู้ในการเรียกร้องเพื่อการต่อต้านมาตรา 112 น้องหยกมีการต่อสู้ที่ชัดเจนและรุนแรง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างรวดเร็ว

สำหรับเรื่องสิทธิเสรีภาพในโรงเรียน ซึ่งน้องหยกย้อมผมไปเรียนแต่งตัวไปรเวทตามสบายไปเรียน และเลือกเข้าเรียนเฉพาะวิชาที่ตัวเองชอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ ที่น้องหยกกำลังเรียกร้องนั้นมันมีความถูกต้องหรือว่ามีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน ในปี 2559 นั้นเคยมีงานวิจัย ซึ่งทำการวิจัยในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา มีการทำวิจัยว่าการแต่งเครื่องแบบนักเรียนนั้นมีผลต่อการเรียนอย่างไร ซึ่งก็ได้ผลออกมาว่าการแต่งเครื่องแบบนักเรียนนั้นจะเพิ่ม การเข้าเรียนของนักเรียนในระดับชั้นมัธยม ในขณะเดียวกันนั้นก็เพิ่มการอยู่ในห้องเรียนของครูในระดับประถม นักเรียนเมื่อใส่เครื่องแบบนักเรียนแล้วจะมีการเข้าเรียนที่ตรงเวลามากขึ้น การตั้งใจเรียนก็มีมากขึ้นและการส่งเสียงรบกวนในห้องเรียนนั้นก็มีน้อยลง เครื่องแบบนักเรียนนั้น เป็นแบรนด์เนมที่ราคาถูกที่สุดในโลก การใส่เครื่องแบบ นักเรียนนั้นจะได้รับความเอาใจใส่จากบุคคลรอบข้าง เมื่อใส่เครื่องแบบนักเรียนแล้วสังคมรอบข้างจะช่วยกันดูแล สังเกตได้ว่าเมื่อใส่เครื่องแบบนักเรียนแล้วและมีปัญหา ก็จะมีผู้ใหญ่เข้ามาถามว่ามีปัญหาอะไรมีอะไรให้ช่วยหรือไม่

ถ้าเราไม่อยากใส่เครื่องแบบนักเรียนนั้นเราก็ยังมีทางเลือกเช่นการเรียน กศน. การศึกษานอกโรงเรียน การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเราไม่ต้องแต่งเครื่องแบบเลย ก็แค่แต่งชุดให้สุภาพในการเข้าห้องสอบ หรือเลือกเรียนในระบบ Home School ทางเลือกเหล่านี้น้องหยกก็สามารถเลือกที่จะเรียนได้

เรื่องของหยกนั้น ยังมีกรณีเรื่องของผู้ปกครองอีกด้วย ซึ่งถ้าบุคคลที่อ้างตัวเป็นผู้ปกครองของน้องหยกนั้นไม่ใช่ผู้ปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมายการมอบตัวของน้องหยกก็ย่อมจะ ไม่ถูกต้องตามไปด้วย

'ดร.นิว' ถาม!! 'ธนาธร' 1 ธันวาบอกลาเครื่องแบบ แต่ผ่านมา 3 ปี ลูกๆ คุณบอกลาเครื่องแบบหรือยัง

(2 ธ.ค.66) ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ดร.นิว นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า "ครบรอบ 3 ปีแล้วนะครับ วันนี้คุณธนาธรให้ลูกๆ ของตัวเองใส่ชุดปกติไปโรงเรียนแล้วหรือยัง? ลูกๆ ของคุณธนาธรบอกลาเครื่องแบบที่เป็นวัฒนธรรมแห่งการกดขี่แล้วหรือยัง? อย่าบอกนะว่าคุณธนาธรเก่งแต่ยุลูกชาวบ้าน? ลูกตัวเองเป็นเทวดาหรืออย่างไร? ทำไมเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม? ไหนว่าคนเท่ากัน?"

ทั้งนี้เมื่อ 1 ธ.ค.2564 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ว่า "ชื่นชมในความกล้าหาญของนักเรียนที่ใส่ชุดปกติไปโรงเรียน

ทุกคนในวันนี้ วัฒนธรรมแห่งการกดขี่กำลังถูกทำลายในทุกที่ช่วยกันห้ามไม่ให้มีใครถูกดำเนินคดี/ถูกไล่ออก หรือถูกลงโทษ เพียงเพราะยืนหยัดต่อสู้ระบอบอำนาจนิยม #1ธันวาบอกลาเครื่องแบบ"

‘ฝรั่งเศส’ เตรียมทดลอง ‘แต่งชุด นร.’ หวังลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมเพิ่มวิชาให้ศึกษาความหมายของ ‘เพลงชาติ’ ให้ลึกซึ้ง

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 67 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่า ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง กล่าวถึงเครื่องแบบนักเรียน ว่าสามารถลดความไม่เท่าเทียม หรือความเหลื่อมล้ำระหว่างครอบครัว... 

ในเวลาเดียวกัน เครื่องแบบนักเรียนคือการกำหนดแนวทาง ที่เป็นเงื่อนไขของการเคารพและการให้เกียรติ ด้วยเหตุนี้ นับตั้งแต่ปีการศึกษาปัจจุบันเป็นต้นไป กระทรวงศึกษาธิการฝรั่งเศส มีแผนการให้สถานศึกษาของรัฐ 100 แห่งในประเทศ ร่วมโครงการนำร่องการสวมเครื่องแบบนักเรียน โดยสถานศึกษาสามารถเข้าร่วมได้ตามความสมัครใจ

หากการทดลองดังกล่าวได้ผลดี จะมีการบัญญัติเป็นกฎหมาย และบังคับใช้ในระดับเดียวกัน สำหรับสถานศึกษาของรัฐทั่วประเทศ ในปี 2569 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่มาครงจะดำรงตำแหน่งผู้นำฝรั่งเศส ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ ในปี 2570 และจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส ที่นักเรียนในโรงเรียนของรัฐต้องสวมเครื่องแบบ

นอกจากนี้ ผู้นำฝรั่งเศสกล่าวถึงแผนการให้นักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เรียนรู้และมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ต่อความหมายของเพลง ‘ลามาร์แซแยซ’ (La Marseillaise) ซึ่งเป็นเพลงชาติ และการกำหนดให้วรรณกรรม ภาพยนตร์ และการละครเป็นวิชาบังคับ ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2568 โดยผู้นำฝรั่งเศสเชื่อว่า เป็นวิชาที่จะสามารถสร้างความมั่นใจ ฝึกฝนการพูดในสถานที่สาธารณะ และการเรียนรู้เนื้อหาที่มีคุณค่า

‘ฝรั่งเศส’ เสนอ!! ‘เสื้อแขนยาวสีน้ำเงิน-กางเกงขายาวสีเทา’ เป็นชุดนร. หลังประกาศเดินหน้าทดลองสวมเครื่องแบบนร. หวังลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 67 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยอ้างข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ลา ฟิกาโร ซึ่งสัมภาษณ์แหล่งข่าวในรัฐบาลฝรั่งเศส เกี่ยวกับนโยบายของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ในการให้สถานศึกษาของรัฐ 100 แห่ง ทดลองการสวมเครื่องแบบนักเรียนนั้น ว่าแม้ผู้บริหารของโรงเรียนแต่ละแห่งสามารถกำหนดแนวทางของเครื่องแบบได้เอง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฝรั่งเศสเสนอแนะการสวมเสื้อแขนยาวหรือสเวตเตอร์สีน้ำเงิน กับกางเกงขายาวสีเทา เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกัน

ทั้งนี้ มาครงกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าเครื่องแบบนักเรียน สามารถลดความไม่เท่าเทียม หรือความเหลื่อมล้ำระหว่างครอบครัวได้ ขณะเดียวกัน เครื่องแบบนักเรียนคือการกำหนดแนวทาง ที่เป็นเงื่อนไขของการเคารพและการให้เกียรติ สำหรับโครงการนำร่องการสวมเครื่องแบบนักเรียน สถานศึกษาสามารถเข้าร่วมได้ตามความสมัครใจ

หากการทดลองดังกล่าวได้ผลดี จะมีการบัญญัติเป็นกฎหมาย และบังคับใช้ในระดับเดียวกัน สำหรับสถานศึกษาของรัฐทั่วประเทศ ในปี 2569 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่มาครงจะดำรงตำแหน่งผู้นำฝรั่งเศส ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ ในปี 2570 และจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส ที่นักเรียนในโรงเรียนของรัฐต้องสวมเครื่องแบบ

นอกจากนี้ ผู้นำฝรั่งเศสกล่าวถึงแผนการ ให้นักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เรียนรู้และมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ต่อความหมายของเพลง ‘ลา มาร์แซแยซ’ ( La Marseillaise ) ซึ่งเป็นเพลงชาติ และการกำหนดให้วรรณกรรม ภาพยนตร์ และการละครเป็นวิชาบังคับ ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2568 โดยมาครงเชื่อว่า เป็นวิชาที่จะสามารถสร้างความมั่นใจ ฝึกฝนการพูดในสถานที่สาธารณะ และการศึกษาเนื้อหาที่มีคุณค่า เกี่ยวกับความเป็นฝรั่งเศส

เปิด 10 ชุดนักเรียนสวยที่สุดในโลก จะมีประเทศไหนบ้าง มาดูกันเลย!! ✨✨

1. เกาหลีใต้ = ผู้หญิงมักจะสวมกระโปรงกับเสื้อเชิ้ต ส่วนผู้ชายจะเป็นกางเกงขายาว เสื้อเชิ้ต ผูกเน็คไทหูกระต่าย ให้ดูลูกคุณ ซึ่งโดยรวมการออกแบบนั้นจะพิถีพิถันและสะดุดตามีสไตล์อยู่เสมอ

2. ไทย = การออกแบบไม่ยุ่งยากจุกจิก กับเนื้อผ้าและสีผ้า มีเพียงแค่เชิ้ตสีขาวกับกระโปรง ก็สร้างความประทับใจได้ไม่ต่างกัน จนเป็นกระแสฮิตที่จีนและเวียดนาม

3. ญี่ปุ่น = การสวมเครื่องแบบนักเรียน เป็นข้อบังคับใน ม.ต้น และ ม.ปลายส่วนใหญ่
โดยผู้ชายจะสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว แจ็คเก็ตสีเข้ม ส่วนผู้หญิงจะสวมเสื้อสีขาว แจ็กเก็ตสีเข้ม บวกกับกระโปรงที่มีเน็คไท หรือก็คือชุดทหารเรือ

4. เวียดนาม = ชุดนักเรียนหญิง จะพัฒนามาจากชุดอ่าวหญ่าย ที่เป็นชุดเเต่งกายประจําชาติ ใส่แล้วจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

5. ภูฏาน = จะสวมเครื่องแบบตามชุดประจําชาติของประเทศ

6. อังกฤษ = ปัจจุบันเครื่องแบบนักเรียนของอังกฤษส่วนใหญ่ จะมีสีหลักเป็นสีเขียวเข้ม สื่อถึงความสงบและเอื้อเฟื้อ

7. ฮ่องกง = ฮ่องกงได้สร้างรูปแบบเพิ่มเติม โดยใช้สีฟ้าหรือสีขาวเป็นสีพื้นฐาน โดยมีการผสมเฉดสีการตัดเย็บและการประดับตกแต่งที่แตกต่างกันตามแต่ละโรงเรียน

8. จีน = โรงเรียนส่วนใหญ่ยังคงรักษาเอกลักษณ์แบบดั้งเดิมเอาไว้ โดยเด็กประถมจะแต่งเครื่องแบบคล้ายทหาร ใส่เสื้อสีขาวกับผ้าพันคอสีแดง ส่วนนักเรียนหญิงระดับมัธยมปลาย อนุญาตให้สวมชุดจีนโบราณได้ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างเสื้อเชิ้ตที่มีสไตล์จากชุดกี่เพ้า พร้อมสวมคู่กับกระโปรง

9. มาเลเซีย = เด็กผู้หญิงจะสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว สวมทับด้วยชุดกระโปรงสีฟ้าที่เป็นเอกลักษณ์ เรียกได้ว่าเป็นชุดนักเรียนที่กลายเป็นแฟชันสําหรับนักท่องเที่ยว ฮิตไม่แพ้ชุดนักเรียนไทยเลย ส่วนเด็กผู้ชายมักสวมเสื้อเชิ้ตสีขาวกับกางเกงสีขาวหรือสีอื่น ๆ

10. ศรีลังกา = เครื่องแบบส่วนใหญ่จะเป็นสีขาว มีเพียงสีน้ำเงินเท่านั้นที่จะมิกซ์เข้ากัน และเด็กผู้หญิงทุกวัยจะสวมเสื้อผ้าที่มีโทนสีขาวเป็นหลัก ให้ดูเรียบง่าย และสะดุดตา

‘รร.ดัง’ ถูกติง!! เหตุชุดนักเรียนห้อง EP พิเศษกว่าเพื่อน ชาวเน็ตแนะ ควรพิจารณาอีกรอบ หวั่นเกิดการแบ่งแยก

(25 เม.ย. 67) สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลให้ค่าใช้จ่ายทางการศึกษามีสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ปกครองต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเรื่องการเรียนของบุตรหลาน ไม่ว่าจะเป็นค่าชุดนักเรียน ชุดลูกเสือ ชุดพละ ค่าอุปกรณ์การเรียน หรือค่าหนังสือเรียน

ซึ่งเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ก็มีกระแสเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดยเสนอให้ปรับลดชุดนักเรียน ชุดลูกเสือ

อย่างไรก็ตาม กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ทันที หลังจากที่เพจ ‘โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์’ โพสต์ข้อความระบุเกี่ยวกับเครื่องแบบและเครื่องแต่งกายนักเรียนประจำปีการศึกษา 2567 ดังนี้

- ห้องเรียนทั่วไป
- ห้องเรียนส่งเสริมความสามารถพิเศษวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์(Gifted)
- ห้องเรียน English Program (EP)

หลังจากโพสต์ไปไม่นาน มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะชุดนักเรียนห้อง EP ที่กลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเหตุใดโรงเรียนถึงมีชุดสำหรับห้องเรียน EP ขึ้นมาแบบนี้ จะเป็นการสร้างภาระให้ผู้ปกครองหรือไม่ เพราะต้องเสียเงินซื้อชุดนักเรียนเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังตั้งคำถามถึงทรงผมที่โรงเรียนยังมีกฎระเบียบที่ชัดเจน ในขณะที่โรงเรียนอื่น ๆ เริ่มผ่อนคลาย ให้เสรีทรงผมกันบ้างแล้ว และหลายคนตั้งคำถามว่าการกระทำแบบนี้ เป็นการสร้างความเท่าเทียมกันหรือไม่

ซึ่งข้อความของชาวเน็ตที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น มีดังนี้...

- มีห้องเรียน EP คือทางเลือกที่ดี แต่ความเหลื่อมล้ำก็ยังมีอยู่ ชุดควรเป็นไปในทางเดียวกันนะคะ เปลี่ยนแค่ตัวอักษรชื่อที่ปัก ก็เพียงพอแล้ว และเน้นหลักสูตรสื่อการเรียนการสอนที่น่าสนใจแทน ความแตกต่างที่ชุดมันดูแบ่งแยก ทั้ง ๆ ที่มีการรณรงค์เรื่องนี้กันหนักมาก ต้องการสร้างความแตกต่างพอเข้าใจ แต่แบบที่ทำอยู่มันทำให้เกิดการเปรียบเทียบเอาเสียมากกว่านะคะ อยากฝากให้คณะคุณครูพิจารณาอีกครั้ง จากใจศิษย์เก่า ที่อยากให้ รร.ดูดีขึ้นนะคะ

-  เสรีทรงผมได้แล้วครับ กระทรวงเขาบอกเสรีทรงผมนานแล้ว 5555
- หนึ่งเดียวไปไหน? การตั้งห้องเรียนพิเศษนี้ที่การแต่งกายมีความไม่เสมอภาคกันรวมถึงค่าเทอมก็น่าจะเหลื่อมล้ำกัน อยากทราบว่าได้รับตัวอย่างหรืออิทธิพลจากกระทรวงหรือสถานศึกษาใดหรือครับ (อยากให้ทางโรงเรียนมองและให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ ไม่ใช่ตอบกลับแต่กลุ่มคนที่สนใจในโปรแกรมนั้น จากศิษย์เก่า บ.ส.ที่อยากฟังเหตุผลของทางโรงเรียนครับ)

- ความเท่าเทียมจะเกิดกี่โมง ถ้าชุดนักเรียนยังแบ่งแยกอยู่แบบนี้
- ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกแบบนี้เลยค่ะ จากใจศิษย์เก่าค่ะ
- ชุดเด็ก EP น่ารักดี ไม่เถียง แต่ความเท่าเทียมจะเกิดกี่โมง ถ้าชุดนักเรียนยังแบ่งแยกอยู่แบบนี้
- โอ้ว มีห้องเรียน EP แล้ว ชุดก็เปลี่ยน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top