Sunday, 12 May 2024
เครดิตบูโร

'กรณ์' ขอทีมเศรษฐกิจรัฐบาล เร่งพิจารณาแก้หนี้ 13 ล้านบัญชี แก้ปัญหาติดเครดิตบูโร ยิ่งช้า คนเดือดร้อน ติดเครดิตบูโรเพิ่มวันละ 1 หมื่นคน ย้ำเป็นหนี้จากนโบบายรัฐ จะทอดทิ้งไม่ได้ เตือนค่าไฟ ก.ย.นี้พุ่ง ส่วนลดรัฐ ไม่ช่วยคนเดือดร้อน

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณี ครม.มอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แยกสถานะลูกหนี้ เพื่อหามาตรการช่วยเหลือ ด้วยการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินทั่วประเทศว่า การแก้ปัญหาหนี้ ไม่ใช่แค่อีเวนต์จัดมหกรรม แต่ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและใช้ได้ทันที ซึ่งตนเองได้เสนอมาตรการพักชำระเงินต้น 2 ปี , ลดดอกเบี้ยให้เหลือ 1% หนึ่งปี , แขวนดอกเบี้ยค่าปรับไว้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังจะหยิบนำไปพิจารณาหรือไม่

"อย่าลืมว่าหนี้ 13 ล้านบัญชี เกิดจากนโยบายรัฐ ที่ประชาชนต้องกู้ช่วงโควิดระบาด รัฐจะทอดทิ้งไม่ได้ บัญชีเหล่านี้ตกเหวเป็นหนี้เสียไปแล้ว 3 ล้านบัญชี และกำลังจะเป็นหนี้เสียอีก 10 ล้านบัญชี ถ้ารัฐยังไม่มีมาตรการชัดเจน ทุกวันที่ผ่านไปจะมีคนติดเครดิตบูโรเพิ่มขึ้นอีก วันละ 1 หมื่นคน ก็หวังว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล จะออกมาตรการโดยเร็ว เพราะเรื่องนี้เรื่องใหญ่ ท่านรองนายกฯ บอกว่าเรื่องนี้ไม่ง่าย พรรคกล้าเราพร้อมช่วยคิดช่วยทำ ขอให้บอกมา" นายกรณ์ กล่าว

 

‘กรณ์’ โต้ ‘เพจแบงก์ชาติ’ บิดเบือนนโยบาย ชพก. ย้ำชัดขอยกเลิก "แบล็กลิสต์" ไม่เกี่ยวเลิกเครดิตบูโร

‘กรณ์’ ซัดเพจแบงก์ชาติ บิดเบือน นโยบาย ยันไม่ได้ยกเลิกเครดิตบูโร ย้ำ "ยกเลิกแบล็กลิสต์-ใช้เครดิตสกอร์" จวกแบงก์ชาติ มีหน้าที่ดูแลลดต้นทุนการเงินประชาชน ไม่ใช่มาสร้างความสับสนให้สังคม  

( 6 มี.ค. 66) นายกรณ์ จาติกวณิช โพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้ กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย ปล่อยคลิป กล่าวหานโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์ของพรรคชาติพัฒนากล้า โดยขึ้นพาดหัวในคลิปลงเพจ ธนาคารแห่งประเทศไทยว่า "มีเรื่องของเครดิตบูโรด้วยว่าอยากให้ลบ" ซึ่ง ไม่ตรงต่อข้อเท็จจริงแต่อย่างใด จนทำให้นายกรณ์ ต้องโพสต์ตอบโต้ในเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า ตนไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติแกล้งไม่รู้ หรือไม่รู้จริง ว่าข้อเสนอเรื่องเครดิตบูโรของ พรรคชาติพัฒนากล้าคืออะไร แค่ประโยคแรกที่ที่พิธีกรพูดว่ามีข้อเสนอเรื่องเครดิตบูโรว่า ‘อยากให้ลบ (เครดิตบูโร)’ และมีภาพขยายประเด็นว่าลบไม่ได้เพราะอะไร ก็ทำให้มีคำถามแล้ว ซึ่งข้อเสนอเรา "ไม่มีการลบข้อมูลใดๆ" ของใคร และ "ไม่มีการยุบหรือลบเครดิตบูโร" แต่เป็นการเสนอให้แก้กฎหมาย เพื่อสามารถนำข้อมูลการใช้ชีวิตทางการเงินของผู้กู้ทั้งหมดมาประมวลรวมเป็นเครดิตสกอร์ (Credit score)  แก้ปัญหาการเกิดสภาพ ‘บัญชีดำ’ หรือ แบล็กลิสต์ นั่นเอง

CEO เครดิตบูโร’ เตือน!! หนี้เสียรถยนต์พุ่งสูงต่อเนื่อง หลัง ‘คนเจน​ Y’ ผ่อนไม่ไหว หวั่นทำเศรษฐกิจไทยพัง

เมื่อไม่นานนี้ นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ ‘Surapol Opasatien’ กรณีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาหนี้เสียกลุ่มประเภทรถยนต์ ที่มีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น และอาจจะส่งผลกระทบระดับพังเศรษฐกิจไทยได้ โดยระบุว่า…

ข้อมูล​สถิติที่ทำขึ้นมาเพื่อเป็นสัญญานเตือนภัยในหลายปีมานี้​ เริ่มมีผู้คนให้ความสนใจมากขึ้น​
เรื่องหนี้ชาวบ้าน​ มีผู้ใหญ่กล่าวว่า​ มันไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจ​พังแต่มันทำให้เศรษฐกิจ​หงอย​ ซึม​ แต่ถ้ามันไปทำให้ระบบสถาบันการเงินเสียหาย​ อันนั้นแหละ​ จะเป็นเรื่องความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจ​จะพัง

กลับมาดูตัวเลขกันครับ​ หนี้รถยนต์​ในระบบเครดิต​บูโร​ยอดรวม 2.6 ล้านล้านบาท ในไตรมาสที่​ 1 มีสัญญาใหม่ที่ได้รับอนุมัติประมาณ​ 3.5 แสนบัญชี​ 53% เป็นคนเจน​ Y​ ขนาดของวงเงินที่ได้รับอนุมัติช่วง​ 5 แสนถึงสองล้าน คิดเป็น​ 67%

มาดูเส้นกราฟในภาพตรงกลางครับ​ สีแดงคือ หนี้เสียค้างเกิน​ 90 วัน ตอนนี้มาอยู่แถว 7% ของยอดหนี้​ 2.6 ล้านล้านบาทแระ​ เส้นสีเหลืองที่พุ่งขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสที่​ 4 ปี​ 2564​ มาจนถึงปัจจุบันไตรมาสที่​ 1 ปี​ 2566​ คือหนี้ที่ค้าง​ 1, 2, หรือ​ 3 งวด แต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย​ ไปๆ มาๆ​ เรียกกันตามภาษาสินเชื่อคือ ‘เลี้ยงงวด’ กันอยู่​ ตรงนี้แหละ ที่มีความเป็นห่วงกันว่า​ 1.9 แสนล้านที่กลับไม่ได้ไปไม่ถึงจะไหลไปเป็นหนี้เสียเท่าใด​ ค่างวดที่ต้องส่งต่อเดือนเทียบกับรายได้แต่ละเดือนยังไหวมั้ย​

ภาพด้านล่างคือการเอาข้อมูล​จำนวนบัญชีและจำนวนเงินที่เป็นหนี้มีปัญหามาแยกดูในแต่ละช่วงเวลาและยังแยกตามอาการว่า​ คนเจนไหนเป็นเจ้าของบัญชีที่เริ่มตั้งแต่ค้าง​ 1, 2, 3 และเกิน​ 3 งวดตามสีนะครับ​ เหลือง​ ส้ม​ แดง​ เราจะพบว่าแท่งกราฟมันยกตัวขึ้นเพราะกลุ่มสีเหลืองมันยกตัวขึ้น​ สีเหลือง คือค้างชำระ​ 31-60 วันครับ​ และมันยกตรงกลุ่มเจน​ Y​ ค่อนข้างชัด

มันจึงไม่แปลกที่จะมีข่าวออกมาว่า​ สินเชื่อรถยนต์​ปล่อยกู้ยาก​ คนได้รับสินเชื่อยาก​ ปฎิเส​ธสินเชื่อเยอะ​ จนกระทบกับคนที่ขายรถยนต์​ เพราะบ้านเรามันกู้เงินมาซื้อกันมากกว่าซื้อสด​

ในอนาคตเราคงจะได้เห็น​ หนี้เสียจากรถยนต์​ที่รักโลก​ รักสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแน่ๆ​ จองๆ กันเยอะ​ ยังไงก็ช่วยวางแผนผ่อนจ่ายให้ดีด้วยนะครับ​ อย่าคิดแค่เอาส่วนที่ประหยัดค่าน้ำมันมาจ่ายค่างวดนะครับ... คิดเยอะ ๆ นะครับ

ข้อมูล​จากการบรรยายให้กับสมาชิกเครดิตบูโร​ให้ทราบ​ ให้ระวังการพิจารณา​ ให้เป็นข้อมู​ลในการบริหารและจัดการความเสี่ยง​

 

‘เครดิตบูโร’ เปิด ‘หนี้เน่า’ ไตรมาส 2  ตัวเลขทะลุ 1 ล้านล้าน หนี้รถยนต์พุ่ง 18%

เครดิตบูโร เปิดข้อมูลหนี้เสีย ไตรมาส 2 พุ่งทะลุ 1ล้านล้าน จากไตรมาสแรกที่ 9.5 แสนล้าน คาดหนี้เสียเพิ่มต่อตัวต่อเนื่องหลังจากนี้ จากเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่เต็มที่ ห่วงหนี้เสียรถยนต์พุ่ง 2 แสนล้าน เพิ่มขึ้นถึง 18%

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับ หนี้เสีย, หนี้มีปัญหา, หนี้ NPLs, หนี้ปรับโครงสร้าง โดยระบุว่า 

1. ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 จากการประมวลผลจากฐานข้อมูลสถิติที่เอาตัวตนออกไปแล้วของเครดิตบูโรพบข้อเท็จจริงว่า หนี้ครัวเรือนไทยทั้งก้อนหลังการปรับปรุงข้อมูลโดย ธปท. เรามีตัวเลขอยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาทคิดเป็น 90.6% ของ GDP ที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจของเรามีปัญหาในเรื่องนี้ 

“เรามีปัญหาแล้ว เรามีปัญหาอยู่เรามีปัญหาต่อ (อีกซักพัก) เรายังออกจากกับดักตรงนี้ไม่ได้ในเวลานี้”

2. ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย 13.45 ล้านล้านบาทจัดเก็บอยู่ในระบบของเครดิตบูโรครับ ครอบคลุม 32 ล้านลูกหนี้ที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงินไทยกว่า 135 แห่ง

หนี้เสียไปแล้วรอการแก้ไขในตอนนี้กลับมาแตะระดับ 1 ล้านล้านบาทอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2566 ที่ระดับ 1.03 ล้านล้านบาทคิดเป็น 7.7% เมื่อไตรมาส 1 ปี 2566 มันอยู่ที่ 9.5 แสนล้านบาทครับ คำถามคือมันจะไปต่อหรือไม่ คำตอบคือมันต้องไปต่อแน่ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจแบบยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และทั่วถึง

ประกอบกับจะมีการชักคืนมาตรการช่วยเหลือออกตามแผน แล้วกลับไปใช้มาตรการตามปกติเดิมมารองรับ ตามการคาดการณ์จะไม่ไหลมาแบบรุนแรง แต่มีโอกาสเพิ่มแน่ ๆ ท่านที่สนใจพิจารณาได้จากกราฟสีแดงที่ปรากฏในภาพด้านล่างนะครับ

หนี้ตัวที่สองคือหนี้เสียที่เอาไปปรับโครงสร้าง เอาไปซ่อม เพื่อให้กลับมาเป็นหนี้ดี จ่ายได้ ตรงนี้มีจำนวน 9.8 แสนล้านบาทครับ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่อยู่ที่ระดับ 8 แสนล้านบาท

แน่นอนว่ามาจากการเร่งเข้าไปช่วยเหลือ, ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการที่ออกแบบมาโดย ธปท. 
ทุกท่านที่สนใจดูได้จากเส้นสีดำนะครับ ดูว่ากราฟมันเชิดหัวขึ้น ถ้าปรับแล้วรอดก็เป็นหนี้ดี, ถ้าปรับแล้วทำไม่ได้ ยังจ่ายไม่ได้ก็ต้องปรับอีกหรือปล่อยไหลเป็นหนี้เสีย

3. ไส้ในของหนี้ที่เสียไปแล้วหรือหนี้ NPLs ประกอบด้วย หนี้กู้ซื้อรถยนต์เกือบ 2 แสนล้านบาท หนี้กู้ซื้อบ้าน ที่อยู่อาศัย 1.8 แสนล้านบาท หนี้ Ploan 2.5 แสนล้านบาท บัตรเครดิต 5.6 หมื่นล้านบาท หนี้เกษตร 7.2 หมื่นล้านบาท เป็นต้น ที่น่าสังเกตคือหนี้กู้มาซื้อรถยนต์นั้นมันเพิ่มขึ้นจากกลางปีที่แล้ว มิถุนายน 2565 สูงถึง 18% อันนี้ต้องยอมรับว่ากลิ่นไม่ค่อยดี

แม้ว่าทุก ๆ คนกำลังรอกลิ่นแห่งความเจริญงอกงามทางเศรษฐกิจในอนาคตตามที่แต่ละคนวาดหวังแต่กลิ่นแห่งความเป็นจริงวันนี้และในระยะอันใกล้มันส่งผ่านตัวเลขออกมาแบบทำให้ไม่สบายใจ ไม่สบายเนื้อสบายตัวเอาเสียเลยในเวลานี้

เส้นกราฟสีเหลืองคือหนี้ที่กำลังจะเสีย หนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ หนี้ SM กราฟปักหัวลงจาก 6 แสนล้านบาท มาเป็น 4.75 แสนล้านบาท พระเอกยังคงเป็นหนี้กู้มาซื้อรถยนต์นะครับ 2 แสนล้านบาท

หนี้เสียต้องเร่งแก้ไข เริ่มต้นได้อย่างไรให้ยั่งยืน มาตรการที่ช่วยให้ยืน จะต้องคืนในปลายปี แล้วชีวีตจะเดินไปอย่างไร

'อรรถวิชช์' ไขก๊อก!! ลาออกรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ลุยงานภาคประชาชน เดินหน้าโปรเจกต์แก้กฎหมายเครดิตบูโร ชวนทุกฝ่ายขับเคลื่อน

(11 ต.ค. 66) ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เปิดเผยว่า ตนจะไปทำโปรเจกต์เสนอร่างแก้ไขกฎหมายเครดิตบูโร ฉบับประชาชน ให้ทันสมัยสามารถเข้าถึงสินเชื่ออย่างเป็นธรรม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งกลุ่มภาคประชาชน เครือข่ายลูกหนี้ ธนาคาร และพรรคการเมืองต่างๆ มาร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย จึงตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า โดยได้แจ้งต่อประธานและหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้าแล้ว

"คนจำนวนมาก เกินกว่า 5 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ในระบบ ไม่มีเงินทุนกลับมาฟื้นอาชีพ ฟื้นกิจการได้ การแก้ไขกฎหมายเครดิตบูโร จะเป็นกลไกสำคัญในปฏิรูประบบสินเชื่อ การลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า จะทำให้คล่องตัวมากขึ้น ในการแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่าย ในการขับเคลื่อนร่างแก้ไขกฎหมายนี้ให้สำเร็จ" ดร.อรรถวิชช์ กล่าว

ดร.อรรถวิชช์ กล่าวด้วยว่า ผมได้ร่างกฎหมายแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตไว้แล้ว โดยผมได้หารือกับคุณกรณ์ จาติกวณิช ในรายละเอียดกฎหมายแล้ว ท่านก็พร้อมให้การสนับสนุน ผมหวังว่าการลาออกมาเดินสายพูดคุย ชี้แจงกับกลุ่มและพรรคการเมืองต่างๆ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

‘อรรถวิชช์’ จับมือภาคปชช.-นักการเงิน ร่างกม. ‘ปฏิรูปเครดิตบูโร’ ปลดล็อกลูกหนี้ ไม่ต้องติดในระบบแบล็กลิสต์นานกว่า 3 ปี

(5 พ.ย.66) ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต สส.กทม. เปิดเผยว่า หลังจากลาออกจากรองหัวหน้าชาติพัฒนากล้า ลงมาลุยภาคประชาชนเต็มตัว ได้รับความกรุณาจากพี่ๆ หลากหลายวงการ ทั้งผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มที่ใกล้ชิดกับผู้เดือดร้อน มาร่วมกันร่างกฎหมายปฏิรูปเครดิตบูโรสำเร็จแล้วครับ

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ร่างฉบับนี้จะเป็นการ ‘ยุติการแช่แข็งลูกหนี้’ ลดความเดือดร้อนประชาชน ไม่ต้องติดในระบบแบล็กลิสต์กว่า 3 ปี เราสร้างกติกาใหม่ในการแจ้งข้อมูลเครดิต และการทำลายข้อมูลเก่าที่เกินความจำเป็น ให้เป็นธรรมกับประชาชน ได้มีโอกาสฟื้นตัวและได้รับสินเชื่อที่เป็นธรรม ไม่ต้องโดนดอกเบี้ยสูงของหนี้นอกระบบ  

“สัปดาห์หน้าผมจะไปยื่นต่อท่านประธานสภาฯ เพื่อตรวจร่างกฎหมายและเตรียมขอรายชื่อจากพี่น้องประชาชน 10,000 รายชื่อ ผมขอขอบคุณพี่ๆ ที่ร่วมช่วยร่างตั้งแต่ คุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, คุณอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการองค์กรของผู้บริโภค, คุณ นิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ อดีตผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ, พี่ๆ จากสถาบันการเงินต่างๆ ที่ร่วมให้ความเห็นและเสนอร่างกฎหมายร่วมกัน” นายอรรถวิชช์ กล่าว

นายอรรถวิชช์ กล่าวด้วยว่า งานนี้เราขอให้ประชาชนเป็นหลังพิงให้เราทำกฎหมายให้สำเร็จนะครับ โดยจะมีเว็บไซต์ให้ร่วมกันลงชื่อเร็วๆ นี้ และผมเชื่อว่าท่าน สส.-สว.จะให้การสนับสนุนร่างของพวกเราต่อไป

'รมช.คลัง-กฤษฎา' ชง ครม.ช่วยหนี้นอกระบบ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท  พ่วงช่วยเหลือลูกหนี้รหัส 21 รับผลพวงจากโควิด-19 พ้นเครดิตบูโร

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผย 'คลัง' ชง ครม.ช่วยหนี้นอกระบบ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท พร้อมช่วยเหลือลูกหนี้รหัส 21 พ้นเครดิตบูโร

(12 ธ.ค.66) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม.วันนี้ มีการช่วยเหลือหนี้นอกระบบ โดยได้มีการพูดคุยธนาคารออมสินกับกระทรวงการคลังได้มีการหารือกันช่วยเหลือกันแก้หนี้นอกระบบ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการลงทะเบียนอยู่

โดยจะมีการทำมาตรการรองรับให้ธนาคารออมสินออกสินเชื่อออกมาให้รัฐรองรับความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบ ซึ่งถือเป็นโครงการใหม่

ขณะที่เกษตรกรก็จะช่วยหนี้นอกระบบผ่านทางธนาคาร ธกส.โดยวงเงินรวมที่ธนาคาร ธกส.กับธนาครออมสินนำมาใช้มีถึง 15,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายกฤษฎากล่าวว่า อีกมาตรการหนึ่งคือเงินที่เคยอนุมัติเงิน วงเงินที่เคยอนุมัติไปแล้ว และเหลือที่ยังไม่ได้ใช้ จะนำวงเงินนี้มาให้ธนาคารออมสินมาช่วยลูกหนี้รหัส 21 ที่ประสบปัญหาจากสถานการณ์ โควิด-19 ได้หลุดจากประวัติเครดิตบูโร

‘อรรถวิชช์’ ดัน!! ปฏิรูปเครดิตบูโร ล่า 10,000 รายชื่อ แก้กฏหมาย

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต สส.กทม. ซึ่งได้ให้คำแนะนำรัฐบาลถึงการแก้หนี้นอกระบบ พร้อมทั้งการปฏิรูปกฎหมายเครดิตบูโร ยุติแช่แข็งลูกหนี้ และเตรียมรวม 10,000 รายชื่อ เสนอกฎหมายเข้าสภาฯ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.67 ระบุว่า...

ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบมีปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะคนที่ติดหนี้นอกระบบแล้วโดนดอกเบี้ยสุดโหด ไม่สามารถกลับเข้ามากู้เงินในระบบได้ เนื่องจากธนาคารไม่ปล่อยกู้ให้ เพราะติดแบล็กลิสต์กับธนาคาร ถึงแม้จะจ่ายหนี้หมดแล้วก็ตาม เนื่องจากมีประวัติข้อมูลต่างๆ ค้างอยู่ในระบบข้อมูลเครดิตถึง 3 ปี ซึ่งทางธนาคารจะใช้มาประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ ทำให้ประชาชนผู้ที่มีประวัติ เสียโอกาสในการขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อนำมาลงทุนธุรกิจ 

ขณะที่ประชาชนบางท่านที่ไม่ได้มีเจตนาหนีหนี้ แต่เกิดจากการหลงลืม เช่น ลืมจ่ายค่าบัตรเครดิตไปเพียงครั้งเดียวก็สามารถติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโรได้เช่นกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วควรพิจารณาจากนิสัยการใช้เงินของลูกหนี้ประกอบด้วยว่ามีพฤติกรรมอย่างไร 

จากจุดนี้ ผมจึงพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายเครดิตบูโร เช่น ชำระหนี้หมดแล้วต้องลบข้อมูลหนี้บัญชีนั้นทันที หรือกลับมาจ่ายได้ปกติหกเดือนติดต่อกัน ก็ควรลบข้อมูลค้างเก่าในบัญชีนั้นเช่นกัน ลูกหนี้จะได้มีโอกาสกู้ในระบบได้บ้าง ซึ่งผมนำเสนอให้ใช้ระบบคะแนนเครดิต Credit Scoring ใครคะแนนเครดิตดีได้ดอกเบี้ยต่ำ ใครคะแนนเครดิตต่ำได้ดอกเบี้ยสูง ถ้าทำแบบนี้ จะเกิดการแข่งขันเรื่องดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์กันมากขึ้น

ส่วนคำถามที่ว่าการเปลี่ยนเป็นระบบ Credit Scoring มีผลดีหรือผลเสียอย่างไร ขอตอบว่าไม่มีผลเสีย แต่จะมีผลดี คือ ธนาคารปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้น โดยมีระบบการประเมินที่เป็นสากล การใช้ระบบ Credit scoring เป็นการแจ้ง ‘คะแนน’ ที่จะนำเอา ‘ข้อมูลดี’ มาประกอบด้วย เช่น รายได้ การจ่ายเงินค่าน้ำ ค่าไฟ ระบบการจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์บนแอปพลิเคชันต่างๆ 

ตัวอย่างที่มีให้เห็นชัดเจน ก็เช่นกรณี ‘บังฮาซัน’ สู้ชีวิต อินฟลูเอนเซอร์คนดัง ขายอาหารทะเลให้ชุมชน เก็บเงินสด 30 ล้าน สร้างบ้านเอง เพราะไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ เนื่องจาก ‘เคย’ ติดหนี้บัตรเงินสดสมัยที่ยังทำงานสู้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ แต่จะมีสักกี่คน ที่มีความสามารถหาเงินได้แบบนี้ โดยไม่ต้องใช้ทุนตั้งตัว

อย่างไรเสีย เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ สามารถทำโดยการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด โดยเฉพาะ ด้วยการแก้ไขให้ใช้ระบบ Credit Scoring เป็นรูปแบบการจำแนกคุณภาพสินเชื่อของบุคคลตามจริง แทนที่ระบบแบล็กลิสต์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น และรักษาระบบสินเชื่อให้เป็นไปตามความจริง ซึ่งขณะนี้ได้ร่างกฎหมายปฏิรูปเครดิตบูโร โดยจะรวบรวมรายชื่อประชาชนไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2567 นี้

'เครดิตบูโร' ชี้!! หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งแตะ 91% ต่อ GDP หวั่น!! ครัวเรือนผ่อนบ้านรถไม่ไหว เสี่ยงถูกยึด

เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการประกาศสถิติหนี้ครัวเรือนออกมาด้วยตัวเลขที่น่าตกใจ โดยเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ได้มีการรายงานหนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่สามของปี 2566 โดยผลออกมาว่า มีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.9% นับว่ายังอยู่ช่วงอันตรายมาตลอดตั้งไตรมาสแรกที่ +90.7 และเพิ่มขึ้นมาสู่ +90.8% ในไตรมาสที่ 2 

(22 ก.พ. 67) นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ได้กล่าวบน Facebook ว่าหนี้ครัวเรือนไทยตอนนี้อยู่ในระบบอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท หรือ ราว +91% ต่อ GDP ซึ่งเมื่อเทียบกับนานาประเทศ ถ้าเกิน 80% ถือว่าเป็นระดับที่อันตรายแล้ว

หากมองย้อนหลังลงไป หนี้ครัวเรือนไทยเข้าสู่โซนอันตรายหรือมากกว่า +80% ตั้งแต่ปี 2556 และพุ่งสูงขึ้นมาตลอดจนแตะ +85.9% ในปี 2558 จากวิกฤตน้ำท่วมที่ส่งต่อภาระไปแก่ครัวเรือน แม้หลังปี 2558 หนี้จะหมดและทยอยลดลง แต่ในปี 2019 - 2020 หนี้ได้ก่อตัวขึ้นจนดีดขึ้นสูงถึง +94.7% อีกทั้งนโยบายพักหนี้นั้นทำให้หนี้ยังคงค้างอยู่ในระบบ แม้จะหนี้จะลดลงมาในปีต่อมา แต่ก็ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับอันตราย

นายสุรพล เสริมว่า จากข้อมูลเครดิตบูโร มีสินเชื่อรวมที่ 13.7 ล้านล้านบาท ซึ่งมี 3 ก้อนที่น่าเป็นห่วง คือ...

- หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 
- สินเชื่อค้างชำระ แต่ไม่เกิน 90 วัน (SM) 
- สินเชื่อที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง (TDR) ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง 

นายสุรพล ยังย้ำว่า หนี้เสียกลับมาทะลุ 1.05 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 ที่ 28% สินเชื่อรถ และสินเชื่อบ้านน่าเป็นห่วง ลูกหนี้หลายรายผ่อนรถไม่ไหว ปล่อยให้รถถูกยึด ทำให้มีรถเข้าสู่ตลาดประมูลถึง 2 แสนคัน ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย สินเชื่อบ้านก็เช่นกัน ที่มีพอร์ตหนี้เสียถึง 1.8 แสนล้านบาท เติบโตถึง 7% เท่ากับมีบ้านที่กำลังจะถูกยึดถึง 1.8 แสนหลังหากไม่สามารถแก้ปัญหาในการชำระหนี้ได้

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์หนี้ครัวเรือนว่า ในไตรมาส 3 ปี 2566 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่คาดว่าในไตรมาส 4 ปี 2566 นี้น่าจะอยู่ราว 91% โดยกลุ่มครัวเรือนที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งอาจส่งผลให้ NPL ทยอยปรับเพิ่มขึ้น (ในกลุ่มเปราะบาง) แต่ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ ทำให้ SMEs ขนาดเล็กและครัวเรือนกลุ่มเปราะต้องจับตาดูไว้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top