Monday, 6 May 2024
เกษตรกรไทย

‘อลงกรณ์’ ปลื้ม ผลงานประกันรายได้ชาวนา ดันเงินหมุนเวียนนับล้านล้านบาท 

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็น 1 ใน 5 พืชเศรษฐกิจหลัก ภายใต้นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ได้แก่ ข้าว, มันสำปะหลัง, ยางพารา, ปาล์ม, น้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ “ไม่ใช่ภาระแต่เป็นธุระของรัฐบาล” ในการบริหารนโยบายให้สำเร็จตามที่แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นโครงการที่เกษตรกรพึงพอใจมากที่สุดโครงการหนึ่งของรัฐบาล

เพราะสามารถสร้างหลักประกันรายได้ (Universal basic income) จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในช่วงที่เกิดความผันผวนของราคาผลผลิตทางการเกษตร จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจวิกฤตไปทั่วโลก ซึ่งนี่ถือเป็นนโยบายเรือธง (Flagship policy) ของพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาล

สำหรับโครงการประกันรายได้ชาวนาเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์แห่งอนาคตในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition period) ของการปฏิรูปภาคเกษตรเพื่อสร้างศักยภาพใหม่ของประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี (2563-2567) ที่เริ่มมาแล้วตั้งแต่ปี 2563 ขับเคลื่อนด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ตั้งแต่… 

‘ต้นน้ำ’ การผลิตมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุนพัฒนาพันธ์ุสร้างมาตรฐานเชื่อมโยง 

‘กลางน้ำ’ การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม 

และ ‘ปลายน้ำ’ การตลาดแบบออนไลน์/ออฟไลน์ ทั้งตลาดในและต่างประเทศตามโมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต

“โครงการนี้ได้ช่วยพัฒนาฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและครอบครัวเกือบ 30 ล้านคน ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีแรงงานและการจ้างงานมากที่สุด อีกทั้งเป็นฐานรากสำคัญของประเทศ ทำให้สามารถรักษาการผลิตสินค้าเกษตรสร้างรายได้ในการส่งออกให้กับประเทศของเราจนเป็นอันดับต้นของสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (มองในมุมของการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและการนำรายได้เข้าประเทศ) ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่และภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว มีตัวเลขการส่งออกที่ลดลง

“ประการสำคัญ คือ เงินประกันรายได้ที่เกษตรกรได้รับ เกิดจากการทำงานแบบหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน จากหยาดเหงื่อแรงกาย ไม่ใช่การแจกจ่ายแบบให้เปล่า (Free rider) จำนวนหลายแสนล้านบาทเหมือนโครงการอื่น ๆ ของรัฐ”

นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ภาคเกษตรในรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์ กำลังนำภาคเกษตรกรรมเข้าสู่มิติใหม่โดยเฉพาะเกษตรอัจฉริยะแนวทางเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) ที่ใช้บิ๊กดาตา (Big Data) และดิจิทัลเทคโนโลยี (Digital Technology) รวมถึงการทำเกษตรแปลงใหญ่ซึ่งพัฒนาขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 5,000 แปลง รวมพื้นที่กว่า 6 ล้านไร่ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงและสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรรวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเกษตรและประเทศในระยะยาวอย่างยั่งยืน เน้นการบูรณาการความร่วมมือทำงานเชิงรุกกับทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคเกษตรกร ด้วยการสร้างกลไกเชิงโครงสร้างและระบบเพื่อขับเคลื่อนด้วยแนวทางใหม่ ๆ ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตร...

‘ดร.เฉลิมชัย’ พร้อมร่วมเจรจา CPTPP ย้ำจุดยืนชัดเจน!! เกษตรกรต้องไม่เสียเปรียบ ยึดผลประโยชน์เกษตรกรต้องมาก่อน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงประเด็นการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ของประเทศไทย ว่า ในส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความพร้อมในการร่วมเจรจาความตกลง CPTPP ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาล และทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ได้ศึกษาในรายละเอียด ประเด็นผลดี ผลเสีย และความพร้อมของไทยมาโดยตลอด โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอยืนยันว่า ภาคเกษตรไทยต้องไม่เสียเปรียบ โดยกรอบการเจรจาจะยึดผลประโยชน์เกษตรกรเป็นหลักถ้าหากประเทศไทยตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP ในครั้งนี้

สำหรับการจัดทำกรอบการเจรจาเพื่อรับพันธกรณีความตกลง CPTPP ในส่วนของผลต่อภาคการเกษตร มี 2 ประเด็นหลักสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องคำนึงถึง คือ ด้านพันธุ์พืช และด้านการค้าสินค้าให้กับประเทศไทย ซึ่ง ด้านพันธุ์พืช เงื่อนไขการเข้าร่วมความตกลง CPTPP กำหนดให้ประเทศที่เข้าร่วมจะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญา UPOV1991 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ทำให้หลายฝ่ายกังวลในประเด็นต่างๆ อาทิ เกษตรกรไม่สามารถเก็บส่วนขยายพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้ และเมล็ดพันธุ์พืชของไทยถูกผูกขาดทางการค้า ซึ่งประเด็นดังกล่าว ไทยจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวหลายปี ทั้งการทำความเข้าใจสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน เกษตรกร และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 

การเตรียมความพร้อมภาคการเกษตร ทั้งด้านความต้องการใช้พันธุ์พืชของเกษตรกร การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการผลิตพันธุ์และการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชให้เกษตรกร การจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรพันธุกรรมพืชของประเทศ เพื่อรวบรวมลักษณะประจำพันธุ์ของพันธุ์พื้นเมือง สำหรับใช้อ้างอิงป้องกันไม่ให้มีการนำพันธุ์พื้นเมืองหรือพันธุ์ท้องถิ่นไปจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ตลอดจนการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 

โดยจะต้องหารือกับทุกภาคส่วนพิจารณากำหนดเงื่อนไขให้เกษตรกรรายย่อย สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้ตามวิถีดั้งเดิมของเกษตรกร และอยู่ภายใต้ความเหมาะสมของบริบทประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมการ ดังนั้น การเจรจาในประเด็นด้านพันธุ์พืช กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดประเด็นที่จะเจรจาขอสงวนสิทธิ์ไว้หรือขอเว้นการปฏิบัติเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นสำคัญ หรือเจรจาขอระยะเวลาในการปรับตัว  เพื่อเตรียมความพร้อม เป็นระยะเวลาประมาณ 10 ปี ถึงจะพร้อมปฏิบัติตามสัตยาบันอนุสัญญา UPOV1991

ด้านการค้าสินค้า เนื่องด้วยสมาชิก CPTPP มีการยกเลิกหรือลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันในระดับที่สูงมากถึงร้อยละ 95 – 100 ซึ่งแน่นอนว่า จะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรของไทยที่มีศักยภาพแข่งขันน้อย เช่น กลุ่มสินค้าปศุสัตว์และสินค้าประมงบางรายการ จึงจำเป็นต้องมีระยะเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย 

โดยจะเห็นได้ว่าประเทศสมาชิกเดิมอย่างญี่ปุ่นและเวียดนาม ขอใช้ระยะเวลาในการลดภาษีนานถึง 21 ปี นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลเรื่องการยกเว้นการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ หรือ Special Safeguard (SSG) กับประเทศสมาชิก CPTPP แต่ประเทศไทย เราได้ใช้มาตรการ SSG ซึ่งผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) สำหรับสินค้าเกษตร 23 รายการเพื่อรองรับผลกระทบในกรณีที่มีปริมาณการนำเข้าสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นผิดปกติหรือราคานำเข้าที่ลดต่ำลงอย่างผิดปกติ 

จะเห็นได้จากปี 2563 และ 2564 ไทยได้ใช้ประโยชน์จากมาตรการ SSG กับสินค้ามะพร้าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเมื่อมีการนำเข้าเกินกว่าระดับปริมาณนำเข้าที่กำหนด ก็จะมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การเจรจาในประเด็นด้านการค้า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอสงวนการบังคับใช้มาตรการ SSG ของไทยสำหรับสินค้าเกษตรทั้ง 23 รายการไว้ตามเดิม

“เฉลิมชัย” เร่งรับมือผลไม้ฤดูการผลิตปี 65 ล่วงหน้า! มอบ “อลงกรณ์” ลุยเหนือติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดพร้อมตรวจด่านเชียงแสน - เชียงของ เผย! ‘ไทย’ ได้เปรียบดุลการค้าผักผลไม้จีนกว่า 3 เท่าตัว

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดมาตรการที่เข้มงวดโดยเฉพาะด่านนำเข้าจีน และส่งผลต่อการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรผลไม้ของไทย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการและบริหารการจัดการผลไม้ (Fruit Board) มีความเป็นห่วงสถานการณ์และได้เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรและภาคการเกษตรของไทย จึงได้มอบหมายให้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ ลงพื้นที่ภาคเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่เชียงใหม่ ลำพูนและเชียงรายระหว่างวันที่ 11-15 ม.ค.

โดยจะติดตามความคืบหน้าในหลายด้านได้แก่การบริหารจัดการผลไม้ของภาคเหนือ ฤดูการผลิตปี 2565(ลำไย) ความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.)ภาคเหนือ การขับเคลื่อนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center :AIC) จังหวัดเชียงใหม่ลำพูนและเชียงราย พร้อมตรวจเยี่ยมด่านเชียงของและด่านเชียงแสนในการส่งออกผลไม้และสินค้าเกษตรทางบกและทางเรือลำน้ำโขง โดยเฉพาะมาตรการ SPS และโควิดฟรี(Covid Free) และแนวทางแก้ไขปัญหาการขนส่งผ่านด่านบ่อเตนและด่านโมฮ่าน

การประชุมหารือกับวิสาหกิจชุมชนเพื่อพัฒนากาแฟอาราบิก้า(Arabica) ตลอดห่วงโซ่อุปทาน การบริหารจัดการน้ำของโครงการชลประทานภาคเหนือตอนบนและการขับเคลื่อนโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนภาคเหนือ เพื่อพัฒนาการเกษตรในเมืองและส่งเสริมเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อแก้ปัญหา pm.2.5และลดก๊าซเรือนกระจกตอบโจทย์ Climate Change ตามแนวทาง COP26

 

 

‘พิธา’ วอนขอ ส.ส. โหวตหนุน ‘สุราก้าวหน้า’ ชี้!! เพื่ออนาคตเกษตรกร-ผู้ประกอบการรายย่อย

พิธา อภิปรายโค้งสุดท้าย ‘สุราก้าวหน้า’ เทียบกฎกระทรวงกับร่างสุราก้าวหน้าแตกต่างชัดเจน ยังคงกีดกันการค้ารายย่อยหนุนทุนใหญ่ผูกขาดเหมือนเดิม พร้อมกระตุกจิตสำนึก ส.ส. โหวตเสร็จคงจะกลับไปกินเหล้านอกต่อไม่ว่ากัน แต่ขอโหวตเพื่ออนาคตของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยด้วย

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนร่างแก้ไข พ.ร.บ.สรรพสามิต หรือร่างกฎหมาย ‘สุราก้าวหน้า’ ที่กำลังมีการอภิปรายในวาระ 2 และจะมีการลงมติวาระ 3 ในวันนี้ พร้อมชี้ข้อเปรียบเทียบกับกฎกระทรวง ว่าด้วยการผลิตสุรา ที่ออกมาใหม่โดยรัฐบาลเมื่อวานนี้

พิธาระบุว่าหลักการที่สำคัญที่สุดในการพิจาราเรื่องนี้ คือการเอาสภาพข้อเท็จจริงและศักยภาพของผู้ประกอบการ มาเทียบกับร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า และกฎกระทรวงที่ออกมาเมื่อวานนี้ ว่าสิ่งใดที่เหมาะสมกับข้อเท็จจริงของประเทศและศักยภาพของผู้ประกอบการมากกว่ากัน

ซึ่งหากเป็นกฎกระทรวงที่ออกมาเมื่อวานนี้ กล่าวได้ว่าเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนจากล็อกเก่ามาเป็นล็อกใหม่เท่านั้น หากพิจารณาตามข้อเท็จจริง ผู้ประกอบการจินหรือรำ ทั้งที่เชียงใหม่ หนองคาย สงขลา สุราษฎร์ธานี ที่เป็นผู้ประกอบการระดับโลก ส่งออกไปได้ 17 ประเทศ ชนะการประกวดทั้งที่ปารีส โตเกียว ฮ่องกง ชนะคู่แข่งจากออสเตรเลีย อาร์เจนติน่าจะไม่ได้รับการปลดล็อกจากกฎกระทรวงฉบับนี้ ด้วยการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำ 30,000 ลิตรต่อวันที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย รวมทั้งการที่ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็น

‘ภูมิใจไทย’ ผุดไอเดีย ‘ผันน้ำยวม’ เติมน้ำให้เขื่อนภูมิพล ช่วยเกษตรกรสู้ภัยแล้ง ลั่น!! ‘ภท.’ ยืนเคียงข้างเกษตรกรไทย

(25 ก.พ. 66) นายวีระกร คำประกอบ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครสวรรค์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันภัยแล้งของพรรคภูมิใจไทยว่า จากการศึกษาพบว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องการน้ำ 18,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี แบ่งเป็น

3,500 ล้าน ลบ.ม.สำหรับขับไล่น้ำเค็ม และรักษาระบบนิเวศเพื่อไม่ให้น้ำเค็มเข้าใน กทม. หรืออาจจะขึ้นไปถึงพระนครศรีอยุธยาได้, 2,500 ล้าน ลบ.ม. สำหรับผลิตน้ำประปา

3,000 ล้าน ลบ.ม.สำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้ปริมาณน้ำค่อนข้างมาก

1,000 ล้าน ลบ.ม.สำหรับการปศุสัตว์

ที่กล่าวไปรวมกัน 10,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และยังมีส่วนของภาคการเกษตร ชาวนา ชาวไร่ ที่ต้องการน้ำอีกประมาณปีละ 8,000 ล้าน ลบ.ม.

“เพราะฉะนั้น ปีหนึ่ง เราต้องใช้น้ำ 18,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เฉลี่ยประมาณปีละ 4,000 ล้าน ลบ.ม. และในช่วงที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาขาดแคลนน้ำถึง 8,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ทำให้เกิดภาวะภัยแล้ง คำถามมีว่า จะเอาน้ำที่ไหนมาช่วยเหลือพี่น้องชาวนาชาวไร่” นายวีระกร ระบุ

นายวีระกร ซึ่งเป็นอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวต่อว่า พรรคภูมิใจไทย จึงได้เสนอทางออก โดยการผันน้ำจากลำน้ำยวม ที่มีต้นน้ำ อยู่ที่ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน และไหลลงใต้ไปลงแม่น้ำเมยแล้วออกนอกประเทศ ไปยังแม่น้ำสาละวิน ที่ไหลไปเข้าประเทศเมียนมา โดยแทนที่เราจะปล่อยน้ำออกไปนอกประเทศ เราก็ปิดประตูน้ำที่ปากแม่น้ำยวม และตั้งสถานีสูบน้ำข้ามภูเขาสูงประมาณ 160 เมตร เพื่อไหลลงน้ำแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่

นายวีระกร อธิบายต่อว่า เพื่อให้น้ำไหลลงเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ซึ่งปัจจุบันเขื่อนภูมิพลสามารถกักเก็บน้ำ ได้ 13,500 ล้าน ลบ.ม. แต่ตลอดระยะเวลาที่เกิดเอลนีโญ ช่วงปี 2555-2563 มีน้ำเฉลี่ยอยู่ไม่เกิน 5,000 ล้าน ลบ.ม. เพราะฉะนั้น เขื่อนภูมิพล ยังมีพื้นที่สามารถกักเก็บน้ำได้อีกประมาณ 8,500 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี เมื่อเราปิดไม่ให้น้ำยวมไหลออกไปนอกประเทศ แล้วสูบน้ำมายังเขื่อนภูมิพล โดยน้ำยวมจะสามารถสูบข้ามเขามาได้ประมาณปีละ 2,000 กว่าล้าน ลบ.ม.

นายวีระกร กล่าวอีกว่า ปริมาณน้ำ 2,000 กว่าล้าน ลบ.ม.จากแม่น้ำยวมก็ถือว่า ยังไม่เพียงพอ และอาจจะต้องมีเฟส 2 โดยการต่อท่อจากแม่น้ำสาละวิน บริเวณชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน เอามาลงประตูน้ำที่ปิดตรงปากแม่น้ำยวม เมื่อเป็นเช่นนี้ ในอนาคต เราก็จะมีน้ำยวมมาช่วยให้กับพี่น้องประชาชนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ขาดแคลนน้ำประมาณปีละ 4,000-8,000 ล้าน ลบ.ม. ได้อย่างเพียงพอ โดยเราจะสูบน้ำเฉพาะในหน้าฝน ซึ่งเป็นช่วงที่พี่น้องในพื้นที่ลุ่มน้ำยวมเดือดร้อนจากน้ำท่วม แต่ในหน้าแล้งเราจะไม่แตะต้องเลย

“เป็นการผันน้ำ เพื่อเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนภูมิพล และเป็นการเติมน้ำต้นทุนให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวนากว่า 27 จังหวัด ในลุ่มน้ำภาคกลางทั้งหมด ที่จะเป็นนโยบายหลักของพรรคภูมิใจไทย ในการทำให้พี่น้องชาวนา ชาวไร่ ได้มีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตร นี่คือ คำสัญญาของพรรคภูมิใจไทย ที่ขอยืนเคียงข้างพี่น้องเกษตรกรไทย” นายวีระกร ระบุ


ที่มา : https://www.naewna.com/politic/713530

‘พปชร.’ ชูนโยบาย ‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’ พร้อมตั้งกองทุนปุ๋ยประชารัฐ ช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูก เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย

(28 เม.ย.66) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ โฆษกคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคพปชร. กล่าวว่า มีนโยบายปุ๋ยคนละครึ่ง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร ให้ครอบคลุมเกษตรกร จำนวน 8 ล้านครัวเรือน สามารถซื้อปุ๋ยได้ในราคาถูก โดยรัฐบาลจะช่วยอุดหนุน 50 % และจะตั้งกองทุนปุ๋ยประชารัฐ เพื่อรักษาเสถียรภาพ ลดต้นทุนการเพาะปลูก ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน จึงขอฝากเลือกพรรคพปชร.และผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคทุกเขตทั่วทั้งประเทศ เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง และพลิกฟื้นเศรษฐกิจ พลิกโฉมประเทศไทย เพื่อก้าวหน้าไปอย่างยั่งยืน  

“พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ให้ความสำคัญกับเกษตรกรทุกกลุ่ม มีนโยบายด้านการเกษตรออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ฉะนั้นเกษตรกรไทยจึงควรทำให้พืชผลทางการเกษตรมีศักยภาพในการแข่งขัน โดยรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยดูแลให้เกษตรกรมีต้นทุนการเพาะปลูกที่ต่ำ อีกทั้ง จำหน่ายผลผลิตเกษตรให้ได้ในราคาสูง” 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top