Sunday, 19 May 2024
เกษตรกรรม

เกษตรฯ เดินหน้า "5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย" วางหมุดหมายแผน 5 ปีพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนแม่น้ำโขงรองรับการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ดึงทุกภาคีร่วมขับเคลื่อน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อภาคการเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของแม่น้ำโขง เปิดเผยถึงผลการประชุมผ่านระบบ ZOOM ในวันนี้ (28 พ.ย.) โดยมีนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวง นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง นายทินกร อ่อนประทุม คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตร นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ประธานสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ศ.ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายกฤษฎา บุญชัย จากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนองค์กร ตัวแทนเกษตรกรจากทุกจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง ในประเด็นความก้าวหน้าของการทำงานโดยคณะอนุกรรมการฯในพื้นที่ และแผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2566 - 2570 พร้อมพิจารณาการตั้งของบประมาณในปี 2566 ตามโครงการพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของประชาชนต่อผลกระทบของแม่โขงที่เปลี่ยนแปลงไป

‘อลงกรณ์’ เร่งเครื่องพัฒนา ‘เกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง’ วางกลไกขับเคลื่อนทั่วไทย! ตั้งเป้าพัฒนาเกษตรเมือง เพิ่มพื้นที่สีเขียวตอบโจทย์เศรษฐกิจชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

วันนี้ (25 ก.พ.65) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development Project : SUAD Project) เป็นประธานการประชุมแนวทางการดำเนินงานโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองระดับเขต และระดับจังหวัด ทั่วประเทศผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ zoom cloud meeting พร้อมด้วย นายอภัย สุทธิสังข์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการทุกท่าน และเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุม โดยมี นายจิตติศักดิ์ ศรีปัญญา ผู้อำนวยการกองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน (กนท.) สป.กษ. เป็นเลขานุการการประชุม ทั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ระดับเขต และระดับจังหวัด

โดยนายอลงกรณ์ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเล็งเห็นความสำคัญการแก้ไขปัญหาภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารในเมือง เนื่องจากในปี 2562 ประเทศไทยมีประชากรในเมืองมากกว่าในชนบทเป็นครั้งแรกสะท้อนถึงการขยายตัวของเมือง(Urbanization) และชุมชนเมืองมีการผลิตอาหารได้เองไม่ถึง 10% เป็นเหตุผลสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในยุคปัจจุบันต้องเร่งขับเคลื่อนพัฒนาการเกษตรในเมือง (Urban Agriculture) โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 และยุคต่อไป (Next normal) ที่ต้องให้ความสำคัญระบบนิเวศน์เมืองเรื่องสุขภาพคนและคุณภาพเมือง

จึงต้องขับเคลื่อนเกษตรในเมืองควบคู่กับเกษตรในชนบทจึงได้มอบนโยบายให้ดำเนินการโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ มีวัตถุประสงค์ 6 ประการ ได้แก่ 1. การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง 2. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว 3. การลด PM 2.5 และลดก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) 4. การเพิ่มคุณภาพอากาศ 5. การอัพเกรดคุณภาพชีวิตของประชาชน 6. การสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ(Climate Change) ของโลก

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการระดับเขตและจังหวัดยังรับผิดชอบการขับเคลื่อนโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนโดยการปลูกไม้เศรษฐกิจเป็นทรัพย์สินและหลักทรัพย์ค้ำประกันทั้งยังนำมาคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปด้วยตามเป้าหมายCarbon Neutrality และ Carbon Zeroของประเทศไทยเพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นแรงจูงใจในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกทางหนึ่ง

นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า การบริหารโครงการเชิงโครงสร้างครอบคลุมทั้งประเทศมีกลไกคณะกรรมการระดับพื้นที่แล้วยังมีคณะกรรมการระดับคลัสเตอร์ด้วยได้แก่

(1) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองทั้งในพื้นที่ที่วัด (Green Temple)

(2) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่วิทยาลัย (Green College)

(3) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่โรงเรียน (Green School)

(4) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่มหาวิทยาลัย (Green Campus)

(5) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองระดับชุมชนและท้องถิ่น (Green Community)

(6) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่อาคารชุด (Green Condo)

(7) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นการเคหะแห่งชาติ (Green Housing )

(8) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ในพื้นที่อุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม (Green Industry)

(9) คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ในพื้นที่โรงแรม (Green Hotel)

(10)คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

(Green Bangkok)

 

กรมประมงหาทางฟื้นฟูกุ้งทะเลไทย หลังเจอวิกฤต

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลให้มีผลผลิต 400,000 ตัน ภายในปี 2566 เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาเป็นผู้นำการผลิตในตลาดโลกได้อีกครั้ง หลังจากในช่วงปลายปี 2554 ที่ประเทศไทยประสบปัญหาการระบาดของโรคตายด่วน (AHPND/EMS)ซึ่งได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงต่อวงการอุตสาหกรรมกุ้งของไทยและผลผลิตภายในประเทศยังไม่สามารถเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับปี 2553

ปัจจุบันกุ้งทะเล นับเป็นสินค้าสัตว์น้ำที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมากโดยในอดีตอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลสามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศปีละกว่าแสนล้านบาท โดยเฉพาะในปี 2553 มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกมากที่สุด คือ 437,270 ตัน มูลค่าสูงถึง 101,116 ล้านบาท แต่ในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกลดลงเหลือเพียง 201,592 ตัน คิดเป็นมูลค่า 55,893 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2553 ปริมาณลดลงถึง 53.90%  และมูลค่าลดลง 44.72% 

ล่าสุดกรมฯ ได้จัดการประชุมเพื่อหาแนวทางการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยให้ได้ตามเป้าหมาย  โดยได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของกรมประมงรวมถึงหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่มีพื้นที่การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลรวม 35 จังหวัดร่วมกำหนดทิศทางและวางแผนในการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่การผลิตเพื่อฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน 

 

'อลงกรณ์' คิกออฟ 'เพชรบุรีโมเดล' ตัวอย่างนำร่องทั่วประเทศ ขับเคลื่อนคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล

'อลงกรณ์' เดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เร่งขับเคลื่อนคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล ลุยหนัก 2 วัน 19 ตำบล หวังใช้ 'เพชรบุรีโมเดล' เป็นตัวอย่างนำร่องทั่วประเทศ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับประเทศ พร้อมด้วยนายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตร และ ดร.เรืองแสง ห้าสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเพชรบุรีโมเดล ลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี 11 ตำบลเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างการรับรู้แนวทางการทำงานของคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลในจังหวัดเพชรบุรีและนโยบายโครงการสำคัญ ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ได้มีหัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงเกษตรในส่วนภูมิภาค สำนักงานพาณิชย์จังหวัด อบต. กำนันผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครเกษตร เกษตรกรรุ่นใหม่ เกษตรแปลงใหญ่ ศพก.วิสาหกิจชุมชน ผู้แทน AIC และทีมอาสาสมัครเพชรบุรีโมเดล ฯลฯ เข้าร่วมประชุมในพื้นที่ 11 ตำบลได้แก่ ดอนยาง, หนองขนาน, หาดเจ้าสำราญ ประชุมที่วัดถิ่นปุรา ตำบลนาพันสาม และหนองพลับ ประชุมที่วัดนาพรม ตำบลช่องสะแก, บางจาน, นาวุ้ง, โพไร่หวาน ประชุมที่อบต.ช่องสะแก และ ตำบลโพพระ, สำมะโรง ประชุมที่วัดลาดโพธิ์

นอกจากนี้นายอลงกรณ์และคณะยังมีกำหนดการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องในวันนี้ (18 ต.ค.) ที่ตำบล บ้านแหลม, บางครก, ท่าแร้ง, ท่าแร้งออก, บางแก้ว, ปากทะเล, บางขุนไทร และแหลมผักเบี้ย ซึ่งจะมีการประชุมครบทั้ง 8 อำเภอของเพชรบุรีภายในเดือนนี้และเดือนหน้าต่อไป

‘อลงกรณ์’ เผย ‘กานา’ ชื่นชม ‘โครงการพระราชดำริ’ พร้อมยกย่องเป็น ‘ต้นแบบ’ การพัฒนาอย่างยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (22 ก.พ.66) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับ ดร.สิชา สิงห์สมบุญ กงสุลกิตติมศักดิ์ สาธารณรัฐกานาประจำประเทศไทย และคณะ โดยมี นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายจิตติศักดิ์ ศรีปัญญา ผู้อำนวยการกองนโยบายเทคโนโลยีและเกษตรกรรมยั่งยืน สำนักการเกษตรต่างประเทศ ผู้แทนกรมการข้าว กรมชลประทาน กรมประมง สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (112) สำหรับการประชุมหารือกันในวันนี้มีประเด็นหารือที่สำคัญ อาทิ เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model ที่เป็นแนวทางการการปฏิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืน การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพ รวมถึงความร่วมมือในด้านอื่น ๆ

นายอลงกรณ์เปิดเผยภายหลังการหารือว่าประเทศกานามีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวและเพิ่มผลผลิตภายในประเทศมากขึ้น และมีความสนใจในแนวทางพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำการเกษตรแบบ BCG Model โดยเฉพาะข้าวรักษ์โลกที่ช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมี และยังเป็นแนวทางใหม่ของการทำการเกษตรโลก เนื่องจากกานามีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการเกษตร และแรงงานไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านเกษตร เกษตรกรรมส่วนใหญ่เป็นแบบดั้งเดิม ยังไม่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากนัก ทำให้คุณภาพและปริมาณผลผลิตต่ำ

‘พิธา’ ชู นโยบาย ‘เกษตรก้าวหน้า’ แก้ปัญหาเผาป่า ตัดต้นตอ PM 2.5 ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนวิถีเกษตรกรรม

(30 มี.ค. 66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ‘Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เรื่องวิธีแก้ปัญหาไฟป่า โดยข้อความระบุว่า…

ดับจุดแดง PM2.5 ด้วยนโยบาย ‘เกษตรก้าวหน้า’

หลังจากที่ผมได้เสนอต้นตอปัญหา PM2.5 ที่เกิดจากการขยายพื้นที่ทางการเกษตรในต่างประเทศ มีคำถามเข้ามาจำนวนมาก ว่า “ถ้าไม่เผา เรามีทางเลือกอะไร”

การลบจุดแดงที่เกิดจากการเผาในภาคเกษตรจากแผนที่ มองภาพให้ใหญ่กว่านั้นคือประเทศไทยต้องเปลี่ยนจากเกษตรที่พึ่งพาการเผา เป็นภาคเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีที่มีการลงทุนมากขึ้น ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้มข้นขึ้น และสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปวัสดุเศษเหลือจากการเกษตร ให้เปลี่ยนจากขยะที่ต้องเผาทิ้งไปสร้างมูลค่า

1.) เปลี่ยนเกษตรแบบเผา เป็นเกษตรที่ใช้เครื่องจักร
สิ่งที่รัฐบาลทำได้ทันทีคือไปคุยกับธุรกิจเครื่องจักรทางการเกษตร และทำโครงการร่วมกัน เพื่อให้เกษตรกรสามารถ ซื้อเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยว (อ้อย) และเตรียมดิน (ข้าว และข้าวโพด) โดยขอรับสินเชื่อที่ดอกเบี้ย 0% พร้อมการดูแลหลังการขาย สำหรับกลุ่มเกษตรกร/ สหกรณ์/ ผู้ประกอบการในชุมชนที่ให้บริการเกษตรกรในพื้นที่จำนวนมาก รัฐบาลสามารถให้เงินสนับสนุนอีกทางสูงสุด 25% เพื่อเร่งให้ภาคเกษตรไทยในพื้นที่ต่างๆ ให้ใช้เครื่องจักรกลมากยิ่งขึ้น นอกจากจะช่วยลดการเผาแล้ว ยังเป็นการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ของภาคเกษตรกรรมของประเทศในระยะยาว

นี่คือความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็นระหว่างรัฐบาลและกลุ่มทุน พรรคก้าวไกลเราไม่ได้มองกลุ่มทุนเป็นศัตรูในทุกเรื่อง แต่ในเรื่องที่ต้องทำงานร่วมกันแล้วเกิดผลดีกับประเทศเราต้องสนับสนุนให้กลุ่มทุนสร้างการแข่งขันให้กับประชาชนคนตัวเล็ก แต่ในเรื่องที่กลุ่มทุนทำธุรกิจอย่างไม่รับผิดชอบจนเกิดผลกระทบกับประชาชน รัฐบาลก็ต้องกล้าจัดการอย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังสนับสนุนให้เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ สามารถเปลี่ยนมาเป็นการปลูกไม้ยืนต้น ที่มีความหลากหลายและมีมูลค่าได้ โดยสามารถเลือกที่ใช้เพื่อการปลดหนี้ หรือการรับเป็นรายได้ประจำเป็นรายเดือนด้วย ซึ่งจะเป็นการลดการเผาวัสดุการเกษตรในระยะยาว

2.) เปลี่ยนขยะที่ต้องเผา เป็นเงินในกระเป๋าเกษตรกร
อีกอุตสาหกรรมที่เราจำเป็นต้องทำให้เกิดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรคืออุตสาหกรรมแปรรูปเศษวัสดุการเกษตร (by-product) ทั้งฟางข้าว ใบอ้อย และต้นข้าวโพด ซึ่งไม่ใช่แค่การลดการเผา แต่เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดและทำให้ผลผลิตจากการเกษตรสร้างเงินในกระเป๋าประชาชนมากที่สุดอีกด้วย

พรรคก้าวไกลมีนโยบาย สนับสนุนงบประมาณผ่านผู้ประกอบการ/ผู้รวบรวมรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตร ทั้งฟางข้าว ใบอ้อย และต้นข้าวโพด ให้สามารถรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตรเหล่านี้ในอัตรา 1,000 บาท/ตัน เพื่อมาใช้ประโยชน์ (เช่น อาหารสัตว์ ปุ๋ยอินทรีย์) และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ (เช่น ภาชนะบรรจุ) เกษตรกรสามารถได้รับการสนับสนุนโดยการขายให้กับผู้รวบรวมรายใดก็ได้

3.) ทุนสร้างตัว 100,000-1,000,000 ล้านบาท สร้างผู้ประกอบการแปรรูปวัสดุการเกษตร
นอกจากการรับประกันราคาฝั่งเกษตรกรแล้ว ผู้ประกอบการที่นำเศษวัสดุทางการเกษตรไปแปรรูป และ/หรือไปใช้ประโยชน์ก็เป็นภาคเศรษฐกิจที่ประเทศไทยต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่จะลดการเผาในระยะยาว

ถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลหรือบริหารกระทรวงเกษตรฯ เราจะมีนโยบายจัดสรรเงินทุนหมุนเวียนปลอดดอกเบี้ย+ทุนตั้งตัว 100,000 บาท/ราย เพื่อก่อตั้งธุรกิจ และทุนสร้างตัว 1,000,000 บาท/ราย เพื่อขยายกิจการให้ยั่งยืนในระยะยาว

4.) ฟรี! รับรองมาตรฐาน GAP-GMP-เกษตรอินทรีย์ ส่งสินค้าเกษตรคุณภาพดีไปทั่วโลก
เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าถึงการเข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าประเภทพืชไร่และข้าว ซึ่งทำให้ไม่สามารถขายสินค้าเกษตรได้ราคาส่งออกต่างประเทศได้ เราจึงมีนโยบาย ‘รับรองมาตรฐาน GAP-GMP-เกษตรอินทรีย์ฟรี! ส่งสินค้าเกษตรคุณภาพดีไปทั่วโลก’

เมื่อเกษตรกรดำเนินการโดยปลอดการเผา และการดำเนินการอื่นๆ ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (หรือ GAP) เกษตรกรจะสามารถขอรับมาตรฐาน GAP และ/หรือมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ฟรี! โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เป็นเวลา 2 ปี

5.) เลิกงบไฟป่าไม่โปร่งใส ให้งบตรงไปที่ท้องถิ่นและประชาชน
สุดท้าย การลบจุดแดง PM2.5 อย่างยั่งยืน เราต้องแก้ปัญหาไฟป่า ถามว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาไฟป่าได้อย่างยั่งยืนกันแน่?

‘รัฐ’ ดีเดย์ 15 ม.ค.67 แจกโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คุณสมบัติ ‘ถือ ส.ป.ก.4-01-ทำประโยชน์ไม่น้อยกว่า 5 ปี’

(19 ต.ค.66) นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล โฆษกคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ที่ประชุม กมธ.ที่ดินฯ วานนี้ (18 ต.ค.) มีวาระการพิจารณาเรื่อง ‘นโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนการปรับปรุงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ให้เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม’ ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ติดตามการผลักดันนโยบายของรัฐบาล โดยคณะกรรมาธิการได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ข้อมูลได้แก่ ตัวแทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนจากคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และตัวแทนจากกรมที่ดิน ร่วมให้ข้อมูล 

ประเด็นสำคัญในหลักการการดำเนินนโยบาย อาทิ เร่งรัดปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง และมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ คปก. ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดรับกับการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 การจัดทำร่างระเบียบเพื่อกำหนดรูปแบบและนิยามโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พร้อมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับการจัดที่ดินซึ่งเป็นเกษตรกรที่ถือครอง ส.ป.ก.4-01 และได้ทำประโยชน์ในที่ดินมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี กำหนดวิธีการจัดที่ดินโดยจะเป็นการจัดที่ดิน เพื่อประกอบเกษตรกรรมตามการจำแนกพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดิน กำหนดหลักเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงผู้ทำประโยชน์ โดยให้สามารถเปลี่ยนมือได้ระหว่างเกษตรกรที่มีคุณสมบัติด้วยกันตามที่กฎหมายกำหนด และจำนวนเนื้อที่การถือครองยังคงเป็นไปตามที่กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด คือ เกษตรกรรมไม่เกิน 50 ไร่ และการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ไม่เกิน 100 ไร่

รวมถึงการดำเนินการออกโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรก จะสามารถแจกให้เป็นจังหวัดต้นแบบได้ภายในวันที่ 15 มกราคม 2567 เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องเกษตรกร และ ส.ป.ก. จะดำเนินการในการออกเอกสารสิทธิในรูปแบบโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในทุกจังหวัดภายใน 1 ปี และจะดำเนินการปรับปรุงเอกสารสิทธิให้กับเกษตรกรที่มีคุณสมบัติครบภายใน 5 ปี

นายฐิติกันต์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการ มีข้อสังเกตว่า โฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คือ ที่ดินที่ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ มีความต่างกับโฉนดที่ดินของกรมที่ดิน เรื่องหลักกรรมสิทธิ์ ส่วนโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่เป็นนโยบายรัฐบาลนั้น เป็นเพียงแค่สิทธิ์ แต่พยายามทำให้มีการเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ์เหมือนกันกับโฉนดที่ดิน และมีการจํากัดว่าคนที่จะมาถือสิทธิ์ต้องครอบครอง ส.ป.ก.4-01 และได้ทำประโยชน์ในที่ดินมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี การยกระดับสิทธิ์และพัฒนาสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก. เพิ่มจากเดิมที่ให้เพียงสิทธิการเข้าทำประโยชน์ ไม่สามารถซื้อ ขาย เปลี่ยนมือ โอนไปยังบุคคลอื่นได้

กรรมาธิการฯ ยังกังวลถึงเรื่องข้อพิพาทจากการประกาศแนวเขตปฏิรูปที่ดินที่ไม่ชัดเจนและทับซ้อนกับแนวเขตที่ดินประเภทอื่น อาทิ แนวเขตป่าไม้ ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินราชพัสดุ เพราะฉะนั้นก่อนจะมีนโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด จะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากหากดำเนินการไปแล้วอาจทำให้ปัญหาพื้นฐานที่มีอยู่ซับซ้อนขึ้นไปอีก ซึ่งทางกรรมาธิการยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

อีกทั้งกังวลเรื่องวิธีการตรวจสอบคุณสมบัติและวิธีการดำเนินการกับนายทุนผู้ที่ครอบครองพื้นที่เกินกว่านโยบายและ จะทวงคืนอย่างไร รวมถึงมีแนวทางติดตามและตรวจสอบการเปลี่ยนมือที่ดินหลังจากการดำเนินนโยบายอย่างไร ซึ่งทางคณะกรรมาธิการจะติดตามข้อมูลเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top