Monday, 20 May 2024
อุดมการณ์

ทัวร์ลง 'ปิยบุตร' หลังแย้งเรื่องอุดมการณ์ 'ชัชชาติ' ด้าน 'โบว์ ณัฏฐา' ให้กำลังใจ ไม่เห็นด้วยกับพวกถล่มด่า

(4 ก.ค. 65 ) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า เมื่อผมฟังคำอธิบายเรื่องค่าโดยสารสีเขียวของอาจารย์ชัชชาติ และเห็นว่าวิธีคิดของแก คือ นีโอลิเบอรัลที่เน้นการแข่งขันเอกชน และให้เอกชนดำเนินการเป็นหลัก รัฐแทบไม่มีบทบาททางเศรษฐกิจและสังคม ทันใดนั้น ผมก็โดนทัวร์ลงทันที

วัฒนธรรม “ทัวร์ลง” ทำให้คนจำนวนมาก “เลือก” ที่จะไม่พูดถึงเรื่องที่เสี่ยงทำให้ “ทัวร์ลง”

ต่อไป เมื่อมีกลุ่มบุคคลทำหน้าที่ชี้เป้าให้ “ทัวร์ลง” มากขึ้น ก็ทำให้คนที่ต้องการวิจารณ์เรื่องใด เลือกที่จะไม่วิจารณ์ในที่สาธารณะ เกิดการเซนเซอร์ตนเองมากขึ้น

สังคมนี้ มีเครื่องมือจำกัดแสดงความเห็น ตั้งแต่ ขนาดเบา คือ “ทัวร์ลง” ตามมาด้วย “ล่าแม่มด” ไปไกลก็ “ฟ้องคดีใช้กฎหมายปิดปาก”

นายปิยบุตรยังตอบคอมเม้นต์ว่า ถ้าวัฒนธรรม “ทัวร์ลง” ทำงานได้ดีในโลกโซเชียล ประกอบกับพื้นที่โซเชียลบีบให้คนต้องพูดสั้น เขียนสั้น สื่อต้องพาดหัวหวือหวาเพื่อเรียกยอดไลค์ยอดวิว และคนส่วนใหญ่มักอ่านแต่พาดหัว

สภาพเช่นนี้ ต่อไป ปัญญาชนหรือบุคคลสาธารณะจะเลือกไม่แสดงความคิดเห็นที่แหลมคมแต่อาจพาไปสู่การถกเถียงหรือ controversial มากขึ้น เลือกที่จะไม่แสดงออกซึ่งความเห็นที่ แม้ฝ่ายเดียวกัน ฟังแล้วอาจจะแสลงหู เพราะ ความเห็นแบบนี้ เสียงต่อโดนทัวร์ลง และเสียการยอมรับนับถือ หรือความนิยมไป

นอกจากนี้ ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ Bow Nuttaa Mahattana นักเคลื่อนไหวสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน คอมเม้นต์ว่า เห็นใจอาจารย์นะคะครั้งนี้ สิ่งที่อาจารย์พูด เรื่องการยกพวกถล่มด่าหรือที่เรียกว่าทัวร์ลง และ cancel culture ต่าง ๆ คือสิ่งที่โบว์เคยพูดมาก่อนแล้วเป็นปี ๆ แต่ก็มีกลุ่มคนที่ส่งเสริมวัฒนธรรมแบบนั้นมาก่อน โดยไม่เคยมีการท้วงติงใด ๆ จนวันนี้ ภายใต้คำว่าเสรีภาพในการพูด

‘เชาว์’ สะกิตใจสมาชิก ‘ปชป.’ ร่วมปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่  ลั่น!! ถึงเวลา ‘ถอย’ เพื่อ ‘ถอด’ บทเรียน และก้าวไปข้างหน้า

‘สัจจัง เว อัมตะ วาจา’... วาจาจริงเป็นสิ่งไม่ตาย นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกรัฐบาล ได้หยิบยกเอาคำขวัญของพรรคประชาธิปัตย์มาสะท้อนการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านจากยุคตกต่ำที่สุดที่คณะกรรมการบริหารพรรค คนของพรรคจะต้องรักษาคำพูด รับผิดชอบต่อคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน โดยได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก เป็นเครื่องสะกิดเตือนในชาวประชาธิปัตย์ไว้อย่างน่าสนใจยิ่งเรื่อง ถึงชาวพรรคประชาธิปัตย์ ได้เวลาถอยเพื่อถอดบทเรียน มีเนื้อหาระบุว่า…

ตนเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ในฐานะสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ท่ามกลางวิกฤติความตกต่ำของพรรคอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน กระทั่งการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาพรรคได้ ส.ส.มาเพียง 25 คน จนนำไปสู่การ แสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งด้วยการลาออก จากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรค ต้องพ้นตำแหน่งไปโดยปริยายด้วย

“ผมเชื่อว่าหลายคน ทั้งที่เป็นสมาชิกพรรคและไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค คงจับตาดูว่า ก้าวต่อไปของประชาธิปัตย์จะเดินไปทิศทางไหน เพราะ 78 ปี บนเส้นทางการเมือง และการต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านมรสุมมาหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่รุนแรงเท่านี้ เพราะต้องยอมรับความจริงว่า ความตกต่ำของพรรคที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องถูกดิสรัปจากการสื่อสารสมัยใหม่ ที่ถูกนำมาใช้ในทางการเมืองเท่านั้น อุดมการณ์การเมือง ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งที่สุดของพรรคก็ถูกตั้งคำถามอย่างมาก นับจากที่ประชุมพรรคตัดสินใจมีมติร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สวนทางกับคำมั่นที่อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ไว้กับประชาชน จนท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจาก ส.ส.เพื่อรักษาจุดยืนทางการเมือง

ผมยังจำคำพูดวันนั้นของท่านอภิสิทธิ์ได้ดี ท่านบอกว่า “ยิ่งใหญ่กว่ามติพรรค คือ สัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ” ท่านบอกด้วยว่า ในวันนั้นท่านเหลือทางเดียวที่จะรักษาเกียรติภูมิไม่เฉพาะตัวเอง แต่เป็นเกียรติภูมิของตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่มีคำขวัญว่า สจฺ จํ เว อมตา วาจา ที่จะต้องรักษาคำพูด และรับผิดชอบกับคำพูดที่กล่าวไว้กับพี่น้องประชาชน” นายเชาว์ ระบุ

อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุต่อไปว่า ที่เท้าความไปไกล เพื่อตอกย้ำว่า ถึงเวลาที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ ต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของพรรค เราไม่เหมือนพรรคเฉพาะกิจ ที่ตั้งขึ้นมาแล้วก็ดับสูญไปตามตัวบุคคล แต่ประชาธิปัตย์ เป็นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา เป็นที่พักพิงให้ประชาชนมาเนิ่นนาน เราจะกลับไปอยู่ในจุดที่ประชาชนศรัทธาไว้วางใจอีกครั้งได้อย่างไร ในสถานการณ์ ที่เรากำลังขาดบุคลากรที่โดดเด่น บวกกับสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนไป จำเป็นต้องเฟ้นหาผู้นำทางที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ ที่สำคัญต้องมากบารมี บททดสอบนี้จึงไม่ใช่แค่ ส.ส.เท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของพรรค ซึ่งผมทราบมาว่า วันที่ 21 มิถุนายนนี้ กรรมการบริหารพรรคจะมีประชุมเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งผู้บริหารชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 9 กรกฎาคม 2566

“น่าแปลกใจที่ทั้งพรรคเต็มไปด้วยความเงียบงัน ไม่มีการเปิดตัวผู้อาสามาเป็นหัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรคคนใหม่ ไม่มีการรณรงค์หาเสียงเหมือนอดีตที่ผ่านมาที่เราเคยเป็นต้นแบบระบบประชาธิปไตยภายในพรรค มีการแข่งขันกันอย่างเสรีเหมือนทุกครั้ง แต่กลับมีกระแสเล็ดลอดซุบซิบในในวงแคบ ๆ ว่า มีการ ล็อกสเปก บุคคลที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ไว้แล้ว โดยกลุ่มอดีตผู้บริหารที่กุมเสียงว่าที่ ส.ส.ชุดปัจจุบันได้กว่า 17 คน ซึ่งตามข้อบังคับพรรคจะให้น้ำหนักโหวต ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเป้าต้องการที่จะร่วมรัฐบาล ตนทราบมาว่าหลายคนอึดอัดกับท่าที ที่กำลังเป็นอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้ เพราะทุกคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคเสมือนการปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่ เป็นการถอยเพื่อถอดบทเรียน รับฟังเสียงจากสมาชิกส่วนใหญ่ให้มีส่วนร่วมด้วย ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสุดท้ายที่ควรกระทำ เพราะถ้าหวังร่วมรัฐบาลเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจรักษาจุดยืนของพรรค การเลือกตั้งครั้งต่อไปเราอาจจะไม่มีที่ยืนในสภาฯ แม้แต่ที่เดียว” นายเชาว์ ระบุทิ้งท้าย

อุดมการณ์ 10 ข้อของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคก่อตั้งพรรคสมัยนายควง อภัยวงศ์ เมื่อ 78 ปีทีีผ่านมา ชาวประชาธิปัตย์ต้องหยิบขึ้นมาพิจารณาไตร่ตรอง โดยเฉพาะ 3 ข้อสำคัญ ต่อต้านเผด็จการ ไม่ทุจริตคอรัปชั่น และกระจายอำนาจ

การตัดสินใจโดยมติพรรคนำประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมถอยของประชาธิปัตย์หรือไม่ สังคมภายนอกมองว่า ‘กอดขาเผด็จการ ร่วมรัฐบาล’ โดยลืมวาจา ลืมคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน

ถ้าชาวประชาธิปัตย์ยอมรับความจริง สิ่งที่เชาร์นำเสนอมานั่นคือความจริง ถ้าชาวประชาธิปัตย์หวังจะนำพาพรรคให้ฟื้นกลับคืนมาเฟื้องฟูอีกครั้ง จะต้องนั่งลงตรึกตรอง สุมหัวคิดถอดบทเรียนจากอดีตที่ผ่านมา เพื่อหาทางออกร่วมกันภายใต้การมีส่วนร่วมของชาวประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ ไม่ใช่สุมหัวคิด ล็อคสเปกผู้นำพรรคที่กระสันต์อย่างเป็นรัฐบาล โดยไม่ใส่ใจต่อสภาพของพรรค และอนาคตของพรรค เชื่อว่า ถ้าประชาธิปัตย์ยังเดินไปภายใต้การกุมบังเหียนของคนบางกลุ่มจากขั้วอำนาจเก่า ล็อคสเปกผู้นำพรรคตามที่เชาร์ให้ข้อมูลมา ยิ่งจะทำให้ประชาธิปัตย์ตกต่ำลงไปอีก และการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะเป็นพรรคต่ำสิบ และอนาคตจะไม่มีที่ยืน ไม่แตกต่างจากพรรคกิจสังคม พรรคความหวังใหม่ ที่เคยยิ่งใหญ่ แต่ถึงเวลาก็ดับสลายไป

แต่ความเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาธิปัตย์ ที่สืบทอดเจตนารมณ์-อุดมการณ์ของผู้ก่อตั้งพรรคมายาวนาน 78 ปี สภาพเช่นนั้นไม่ควรเกิดขึ้น เพียงแต่ชาวประชาธิปัตย์กล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นมาประกาศจุดยืน แนวทางของพรรค และกล้าพอที่จะปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่หรือไม่ในสถานการณ์ที่ภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป

วันนี้ประชาธิปัตย์ขาดบุคลากรที่ทรงคุณภาพที่จะเข้ามานำพาพรรค ถามว่าตำแหน่งหัวหน้าว่างมาเดือนกว่า จนถึงวันนี้มีใครกล้าลุกขึ้นมาประกาศตัวลงชิงหัวหน้าพรรคสักคนไหม ยังไม่เห็นมี มีแต่ข่าวลือว่า น่าจะเป็นคนนั้นคนนี้ลงชิง แต่ข้อเท็จจริง คือไม่มีใครเปิดตัวออกมาเลยแม้แต่คนเดียว เงียบสนิทอย่างที่เชาร์ว่าจริงๆ เหลือเวลาไม่ถึงเดือนจะเลือกหัวหน้าพรรคแล้ว ถ้าเป็นสมัยก่อนประชาธิปไตยจะเบ่งบานสพลั่งเต็มหัวใจชาวประชาธิปัตย์ เดินสายพบปะ แสดงวิสัยทัศน์กับบรรดาโหวตเตอร์กับครึกโครม

สถานการณ์ที่เงียบงันของประชาธิปัตย์ ดูวิเวกวังเวงวิโหวเหวเหลือเกิน เศร้าสร้อย หดหู่ใจ เจ้าหน้าที่พรรคยังซุบซิบกันเลยว่า ถ้าคนนี้ลงสมัครเป็นฉัน ฉันก็ไม่เลือก และถ้าเขามาเราจะอยู่กันอย่างไร?

ร้องไห้เถิด ถ้าจะร้องเพื่อจะลุก ถอยเถอะ ถ้าจะถอยเพื่อทบทวน และก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างหาญกล้าและท้าทาย ถอยมาดับเครื่อง เช็คเครื่อง สตาร์ท เดินรถใหม่

เรื่อง : นายหัวไทร

‘ขยัน’ อดีต สส.ลำพูน มั่นใจ!! สมาชิก ปชป.จะเลือกทางที่ถูกต้อง เพื่อสานต่ออุดมการณ์พรรค มากกว่าตอบแทนบุญคุณตัวบุคคล

(23 ก.ค. 66) นายขยัน วิพรหมชัย อดีต สส.ลำพูน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเลือกตั้งหัวหน้า และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่จะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 6 ส.ค. 66 ว่า จากการที่ได้พูดคุยกับสมาชิกในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือ ส่วนใหญ่ยังมั่นใจว่าจะสามารถผ่านไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะเมื่อผู้อาวุโสที่สืบทอดอุดมการณ์และจุดยืนที่มั่นคงของพรรคมากว่า 50 ปี หลายท่านต่างช่วยกันประคับประคอง ให้พรรคยืนหยัดความเป็นสถาบันของบ้านเมืองที่ประชาชนสามารถยึดเหนี่ยวได้ ด้วยความเป็นห่วงว่าพรรคจะกลายเป็นพรรคเฉพาะกิจเฉพาะกาล ท่านชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค จึงออกมาเรียกร้องให้สมาชิกทุกท่านช่วยกันรักษาพรรค เพื่อเป็นหลักของประเทศชาติและประชาชนต่อไป

นายขยัน กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวมีความเชื่อมั่นต่อจุดยืน และอุดมการณ์ของผู้อาวุโสของพรรคทุกท่าน โดยเฉพาะท่านชวนฯ ที่ต้องถือว่าเป็นเสาหลักของพรรคมากว่า 30 ปี ด้วยหลักคิดที่สำคัญคือพรรคต้องมีหลักคิดที่ถูกต้องเพื่อประเทศชาติ และประชาชนมากกว่า เป็นเครื่องมือเพื่อตอบแทนบุญคุณของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลไดบุคคลหนึ่ง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้สืบทอดอุดมการณ์นี้กันมารุ่นต่อรุ่นในระยะเวลา 78 ปี ที่ผ่านมา

“ผมเชื่อว่าสมาชิกพรรรคทุกคน ก็คงจะยึดมั่นในอุดมการณ์และจุดยืนนี้เช่นกัน ผมจึงเชื่อว่าด้วยความเป็นชาวประชาธิปัตย์ ทุกคนจะสามารถเลือกหนทางที่ถูกต้อง เพื่อพรรคประชาธิปัตย์ของเราต่อไป” นายขยัน กล่าวทิ้งท้าย

‘ราเมศ’ ออกโรงป้อง หลักการ ‘ชวน’ ไม่ใช่มรดกความขัดแย้ง แต่เป็นเรื่องของความถูกผิด-อุดมการณ์พรรค ที่ทุกคนต้องเรียนรู้

(25 ส.ค. 66) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงประเด็นมติที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ว่า…

“ต้องยอมรับว่ามีข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงในหลายประเด็น การประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนวันที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี ในส่วนของนายชวน หลีกภัย ที่ได้แจ้งต่อที่ประชุมและได้บอกเหตุผลว่าเหตุอันใดที่มีความจำเป็นต้องโหวตไม่เห็นชอบ ไม่มีผู้ใดขัดข้อง มติที่ประชุมเป็นไปตามที่โฆษกที่ประชุม สส.คือนางสาวสุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ได้ออกมาแถลงผลการประชุมคือ ที่ประชุมมีมติให้งดออกเสียง กรณีของนายชวน จึงไม่ใช่การฝ่าฝืนมติที่ประชุมแต่อย่างใด

นายชวนได้อยู่พรรคมานาน เป็นบุคคลที่ยึดมั่นในหลักความถูกต้อง อะไรที่ไม่ถูกต้อง นายชวนไม่ทำอยู่แล้ว และแนวคิดของนายชวน ในเรื่องการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคไทยรักไทย พรรคเพื่อไทย ท่านได้ต่อสู้มาโดยตลอด ไม่ใช่ความเคียดแค้นส่วนตน แต่เป็นเรื่องความถูกผิด เป็นเรื่องของอุดมการณ์พรรค ประชาชนภาคใต้ยังจดจำการเลือกปฏิบัติกับพี่น้องในภาคใต้ การแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ไม่ได้ยึดกฎหมายบ้านเมือง เหตุการณ์ที่กรือเซะที่ตากใบ การทุจริตโครงการจำนำข้าว เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เห็นว่าอุดมการณ์ในทางการเมือง ความซื่อสัตย์สุจริตการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอีกหลายเรื่อง มันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

นายชวน หลีกภัย คือ ‘เสาหลักของพรรคประชาธิปัตย์’ ผมเชื่อว่าถ้าไม่มีคนชื่อ ‘ชวน หลีกภัย’ ประชาธิปัตย์ไม่สามารถอยู่อย่างยั่งยืนได้ในวันนี้ และเชื่อว่าทุกคนในพรรคระลึกถึงบุญคุณของนายชวน ที่ได้ทำประโยชน์ให้กับพรรคตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คงไม่มีใครคิดขับท่านชวนออกจากพรรค วันที่คนของพรรคเพื่อไทยแกล้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีการยุบพรรคประชาธิปัตย์ ท่านชวน คือคนที่ต่อสู้และต่อสู้ด้วยความยากลำบากจนชนะคดีพรรคไม่ถูกยุบ แนวคิดประสบการณ์ในทางการเมืองคือสิ่งสำคัญที่คนรุ่นหลังมีความจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อนำหลักการที่ดีไปปรับประยุกต์ใช้ในการนำพาพรรควันข้างหน้า เชื่อว่าทุกคนยอมรับว่าการเมืองเปลี่ยนไปมาก แต่พรรคประชาธิปัตย์มีหลักคิดที่ดีมีสิ่งที่ดีอยู่แล้ว เราทุกคนจะทำอย่างไรที่จะซึมซับสิ่งเหล่านี้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในวันข้างหน้า”

นายราเมศ กล่าวตอนท้ายว่า ขณะนี้ก็ต้องแจ้งพี่น้องประชาชนว่า พรรคประชาธิปัตย์ขอประกาศตัวเป็นฝ่ายค้านอย่างเต็มรูปแบบ ทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา ทำหน้าที่แทนพี่น้องประชาชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศอย่างเต็มที่ ฝ่ายค้านคงไม่ใช่แค่การตรวจสอบอย่างเดียว แต่จะรวมถึงการทำงานในเชิงรุกที่ตนในฐานะโฆษกพรรคได้แถลงไว้ก่อนพรรคอื่น คือจะใช้กลไกของฝ่ายนิติบัญญัติในการผลักดันแก้ปัญหาให้กับประชาชน รวมถึงการยกร่างและการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้การขับเคลื่อนในการแก้ปัญหามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนทั่วทั้งประเทศ ที่จำต้องมีการสังคายนากฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top