Saturday, 29 June 2024
อาชีพนอกฝัน

‘ศ.ดร.กนก’ ห่วง!! ความล้มเหลวการศึกษาไทย เมื่อครูดี ๆ เริ่มทนไม่ไหวกับระบบที่เป็นอยู่

ศ.ดร.กนก ชี้!! ครูโพสต์ใบลาออก ทนภาระงานเอกสารไม่ไหว สะท้อนความล้มเหลวระบบการศึกษาไทย ให้ความสำคัญงานวิชาการ มากกว่าพัฒนาการเรียน การสอน แนะ รื้อระบบแรงจูงใจ เพิ่มค่าตอบแทน ก่อนสมองไหล ไร้คนอยากเป็นแม่พิมพ์ของชาติ

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีครูสาวโรงเรียนแห่งหนึ่ง โพสต์ภาพหนังสือลาออก พร้อมข้อความสรุป หมดความอดทนกับการทำเอกสารประเมิน ตั้งใจสอน แต่แพ้คนทำเอกสารปลอม ซึ่งสะท้อนความล้มเหลวระบบการศึกษาไทย ที่ดูเหมือนจะให้แต่ความสำคัญกับงานวิชาการ มากกว่าพัฒนาการเรียนการสอน ว่า…

เป็นการฉายภาพความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย ซึ่งตนเคยสะท้อนไปหลายครั้งแล้ว เกี่ยวกับภาระงานของครู ว่าเป็นกับดักอันตรายที่ฉุดคุณภาพการศึกษาไทย เนื่องจากภาระครูในเรื่องเอกสารไม่เคยลดลง เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ระบบกำหนดให้ต้องทำทั้งงานวัดผล งานวิชาการ งานธุรการ งานงบประมาณ ฯลฯ แทนที่จะให้เวลาครูได้ทำงาน ในเรื่องการพัฒนาการเรียน การสอน อาทิ งานหลักสูตร งานแนะแนว ถ้าไม่แก้ไขเรื่องเหล่านี้ จะมีครูดี ๆ อีกจำนวนมาก ที่ทนไม่ไหวกับระบบที่เป็นอยู่ จนต้องเดินจากอาชีพแม่พิมพ์ของชาติ

นอกจากนี้ ศ.ดร.กนก ยังได้กล่าวฝากเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพครูไว้ 3 ประการ ดังนี้…

1.) ควรมีการรวบรวมข้อมูล ‘การขาดแคลนครู’ ทั้งในสาระวิชาและโรงเรียน มาใช้บริหารบุคลากรทางการศึกษา ความพยายามทางนโยบายในลักษณะนี้จะสำเร็จได้ ต้องปฏิบัติเงื่อนไขสำคัญ คือ หนึ่ง ข้อมูลสถานภาพครู (ทั้งสาระวิชาและจำนวน) ต้องเป็นปัจจุบัน และสามารถบอกได้ว่า บัญชีสถานภาพครูทั้งประเทศที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ศ.น.) ถืออยู่ในมือเป็นอย่างไร และการมีครูจริงในแต่ละโรงเรียนตรงกับบัญชีนั้นหรือไม่ เมื่อตรวจสอบข้อมูลจริงแล้ว จะเห็นว่าความเป็นจริงกับข้อมูลไม่ตรงกัน ตั้งแต่จำนวนครูไม่ตรงกัน การบรรจุครูสาระวิชาไม่ตรงกับตำแหน่งที่มี เป็นต้น 

2.) กระทรวงศึกษาธิการ ควรต้องรื้อ ‘ระบบแรงจูงใจ’ และ ‘ค่าตอบแทน’ ใหม่ เพื่อเก็บรักษาครูเก่ง ครูคุณภาพ ไว้กับนักเรียนที่ด้อยโอกาสในที่ทุรกันดารให้นานที่สุด

3.) การร่วมมือกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ผลิตครูที่สามารถส่งความรู้และทักษะให้นักเรียนได้ เป็นแนวความคิดที่ดี เพราะการผลิตครูในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เน้นสร้าง ‘นักบริหารการศึกษา’ มากกว่าสร้าง ‘ครู’ ที่จะสอนนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ ทำให้ ‘คณะศึกษาศาสตร์’ ตามมหาวิทยาลัยจะให้ความสำคัญกับเรื่องเฉพาะทางการศึกษา เช่น การบริการการศึกษา, การวัดประเมินผลการศึกษา, นโยบายการศึกษา เป็นต้น ส่วนหลักสูตรที่เน้นการเรียนการสอนโดยตรงมีน้อยมาก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top