Thursday, 16 May 2024
อาชญากรรมไซเบอร์

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ เครือซีพี รวมพลังแฉกลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ หวังต้านอาชญากรรมไซเบอร์

วันที่ 10 ก.พ. 66 เวลา 15.00 น. ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารฝึกอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้แทนลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ว่าด้วยการประชาสัมพันธ์สื่อสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้แทนลงนาม ทั้งนี้มีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้แทนบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้าร่วมพิธีฯ 

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ สืบเนื่องจากสถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรืออาชญากรรมไซเบอร์ในปัจจุบันมีสถิติที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีประชาชนเป็นจำนวนมากที่หลงกลตกเป็นเหยื่อจนได้รับความเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สิน ซึ่งในบางรายถึงกับต้องสูญเสียชีวิต ซึ่งจากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2565 – 6 ก.พ. 2566  มีการรับแจ้งความอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวนทั้งสิ้น 192,031 คดี รวมมูลค่าความเสียหาย 29,546,732,805 บาท สามารถติดตามอายัดบัญชี  65,872 บัญชี อายัดได้ทัน 445,265,908 บาท

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญ และห่วงใยประชาชน จึงบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (Public Private Partnership (PPP) เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายในการยับยั้ง ป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกัน (Cyber Vaccine) แก่ประชาชนเพื่อให้รู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่างๆ ของมิจฉาชีพ ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินงานได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ไปยังประชาชน 

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่อาชญากรรมไซเบอร์ได้พัฒนารูปแบบกลลวงอย่างหลากหลายและรุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาความมั่นคงระดับชาติ เพราะส่งผลกระทบทั้งต่อการดำเนินชีวิตของคนไทย และความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ในการประชุม World Economic Forum 2023 ได้จัดให้ 'ภัยคุกคามไซเบอร์' เป็น 1 ใน 5 ความเสี่ยงที่สำคัญระดับโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าผลกระทบจากการโจมตีทางไซเบอร์ จะสูงถึง 10.5 ล้านล้านเหรียญภายในปี 2025 นั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มบริษัทในเครือฯ ในฐานะของผู้นำธุรกิจภาคเอกชน จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำร่องด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับกลโกงต่างๆ ของอาชญากรรมไซเบอร์เป็นองค์กรแรก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไซเบอร์วัคซีนให้ประชาชนชาวไทยมีความรู้เท่าทันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ซึ่งการร่วมสร้างความตื่นรู้ให้สังคมไทยในครั้งนี้ สอดคล้องกับค่านิยม 3 ประโยชน์ที่เครือฯ ยึดมั่นในการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ

โดยเครือฯ ได้ระดมสรรพกำลังของกลุ่มธุรกิจในเครือ เพื่อร่วมประชาสัมพันธ์กลโกงของอาชญกรรมไซเบอร์ในทุกช่องทางการสื่อสารอย่างเต็มศักยภาพรวมระยะเวลา 2 ปี ทั้งจากกลุ่มโทรคมนาคมและร้านค้าปลีกค้าส่ง คือการส่ง SMS เตือนภัยผ่านเครือข่ายทรูมูฟ เอช ซึ่งมีผู้ใช้บริการรวม 37 ล้านเลขหมาย ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้วในเดือนมกราคมที่ผ่านมา การเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อภายในลักษณะต่างๆ ในร้านเซเว่น – อีเลฟเว่นกว่า 13,000 สาขาประเทศ ซึ่งมีจำนวนลูกค้าเข้าใช้บริการ 11,404,314 คนต่อวัน ในแม็คโคร 152 สาขา และโลตัสมากกว่า 2,000 สาขา การประชาสัมพันธ์รายการในสถานีข่าว TNN16 และช่อง True4U การจัดกิจกรรมแฮกกาธอนในกลุ่มเยาวชน คิดค้นไอเดียรับมือกลโกง รวมถึงการกระจายข่าวสารผ่านพนักงานกว่า 361,570 คนทั่วประเทศ ซึ่งความหลากหลายทางธุรกิจฯ ของเครือ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ข่าวสารเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง และทำให้ประชาชนรู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่างๆ ของมิจฉาชีพได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดความสูญเสียทั้งต่อประชาชนและประเทศชาติที่อาจเกิดขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการจัดการเสวนา “จุดกระแส On Stage” ดำเนินรายการโดย คุณกรรชัย  กำเนิดพลอย ในหัวข้อ “แฉสารพัดกลโกงมิจฉาชีพหลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์” ซึ่งมีผู้ร่วมแชร์ประสบการณ์ ได้แก่ คุณมยุรา เศวตศิลา นักแสดงชื่อดัง, คุณภาณุพงศ์  หอมวันทา ยูทูปเบอร์เจ้าของช่อง Epic Time,  ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมกระบวนการกลโกง Call Center  และผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเคยตกเป็นเหยื่อกลโกงแอพออนไลน์ดูดเงินโดยแอบอ้างสรรพากร โดยมีความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่าโครงการความร่วมมือครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนไทย เพราะความรู้ผ่านสื่อต่างๆ จะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกมิจฉาชีพออนไลน์หลอกลวง และจากที่เคยตกอยู่ในสถานะของเหยื่อมาแล้วนั้น ทำให้มั่นใจมากว่า ถ้ารู้ทันกลโกงก่อนจะไม่ตกเป็นเหยื่ออย่างที่ผ่านมา และหวังว่าการสื่อสารประชาสัมพันธ์ถึงกลโกงผ่านช่องทางที่หลากหลาย จะเข้าถึงคนไทยทุกกลุ่มทั่วประเทศได้ รวมถึง “ความร่วมมือของภาคเอกชน ต้านภัยออนไลน์ด้วยวัคซีนไซเบอร์” โดย พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และคุณศิริพร  เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) 

‘ดีอี’ ผนึกกำลัง ‘ตำรวจไซเบอร์’ เดินหน้าปราบอาชญากรรมไซเบอร์เด็ดขาด จับ 4 คดีรวด รวบ ‘มิจฉาชีพหลอกคนพิการสแกนหน้าเปิดบัญชีม้า - ราชาแอบถ่าย - เว็บพนันออนไลน์ - ยูทูปเบอร์อาวุธปืน’ พบของกลางเพียบ

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 นายประเสริฐ  จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ซึ่งนำมาขับเคลื่อนโดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. หรือ ตำรวจไซเบอร์ เฝ้าระวังการเกิดอาชญากรรมกับกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้พิการ หรือผู้สูงอายุที่มีโอกาสตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการหลอกให้ลงทุน หลอกเปิดบัญชีม้า หรือ แม้กระทั่งการพนันออนไลน์ และนำมาสู่ปฏิบัติการตรวจค้นจับกุมมิจฉาชีพออนไลน์ 4 คดี ทั้งกรณี 2 ผัวเมียหลอกคนพิการสแกนหน้าเปิดบัญชีม้า การทลาย 2 เว็บพนันออนไลน์ ตรวจยึดเงินสดและทรัพย์สินกว่า 150 ล้านบาท แล้วยังพบยอดเงินหมุนเวียนกว่า 13,000 ล้านบาทต่อปี  รวมไปถึง การจับกุมตัว KINGSPY ราชาแอบถ่าย” พบภาพและคลิปแอบถ่ายกว่า 60,000 ไฟล์ รวมกว่า 1.41 TB และ จับยูทูปเบอร์ Tacticool BoB พร้อมยึดอาวุธปืนและเครื่องกระสุนหลายรายการ 

1. ‘ปฏิบัติการ FAKE PROFILE จับ 2 สามีภรรยา หลอกคนพิการสแกนหน้าเปิดบัญชีม้า’ ซึ่งผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้พิการถูกหลอกจากบัญชีเฟซบุ๊กอวตารอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากฝ่ายบุคคลของบริษัทต่างๆ ขอนัดสัมภาษณ์งานกับผู้เสียหาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐาน และจับกุมนางสาวบุสราภรณ์ อายุ 28 ปี ชาวอุดรธานี และ นายประมวล อายุ 36 ปี ชาวบึงกาฬ ซึ่งเป็นสามี ทำหน้าที่คอยขับรถพาผู้ต้องหาไปหลอกลวงเหยื่อตามสถานที่ต่างๆ  พร้อมกับดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันเอาไปเสีย ซึ่งเอกสารของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน , ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน , นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ อันเป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง, นำบัตรของผู้อื่นไปใช้แสดงว่าตนเป็นเจ้าของบัตร

2. จับกุม 2 เว็บไซต์พนันออนไลน์ พร้อมยึดทรัพย์กว่า 150 ล้านบาท ได้แก่ ufabet-jc.com และ play.beer777.com ซึ่งพบว่ามียอดเงินหมุนเวียนรวมกันกว่า 13,000 ล้านบาทต่อปี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถรวบรวมพยานหลักฐานจนสามารถขออำนาจศาลออกหมายค้นและหมายจับผู้ร่วมกระทำผิดที่เกี่ยวข้องของทั้ง 2 เว็บไซต์ รวมทั้งสิ้น 20 รายทั้งกลุ่มผู้รับผลประโยชน์ เจ้าของเว็บไซต์ โปรแกรมเมอร์ พนักงาน ผู้ดูแลเรื่องการเงินและบัญชีม้า 

3. จับกุมผู้ใช้แอปพลิเคชัน X (twitter) ที่ชื่อ ‘Kingspy’ หรือ ‘ราชาแอบถ่าย’ ซึ่งมีการเผยแพร่ภาพลามกอนาจารกว่า 60,000 ไฟล์ ซึ่งได้รับแจ้งเบาะแสการกระทำผิดจาก The Scientia Program (โปรแกรมซายเอนเทีย) ซึ่งขับเคลื่อนโดยกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่ดำเนินการในประเทศไทย ให้ตรวจสอบบัญชีบนแอปพลิเคชัน X  ที่มักโพสต์เชิญชวนให้เข้ากลุ่มชื่อ ‘KING SPYCAM’ ใน LINE Official Account มีผู้ติดตามจำนวน 596 คน มีระบบตอบรับอัตโนมัติเพื่อยืนยันการเข้ากลุ่มและต้องเสียบริการจำนวน 150 บาทต่อคน ซึ่งได้มีการสอบสวนจนพบว่า นายณัฐพร คือผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน X ชื่อบัญชี ‘ราชาแอบถ่าย’ ซึ่งต่อมาได้ถูกระงับบัญชีจึงสร้างบัญชี X (twitter) ขึ้นมาอีกบัญชีหนึ่งชื่อบัญชี CODE มี ID:@CODE1380077 สำหรับโพสต์เชิญชวนให้เข้ากลุ่มลับโดยแนบลิงก์ไลน์และเรียกเก็บเงินจากสมาชิก และจากการจับกุมยังตรวจสอบพบภาพสื่อลามกอนาจารทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในลักษณะแอบถ่าย รวมไฟล์ที่ตรวจพบจำนวน 62,773 ไฟล์ รวมความจุประมาณ 1.4 เทราไบต์ หรือ 1,400 จิกะไบต์

4. จับกุมยูทูปเบอร์Tacticool BoB พร้อมยึดอาวุธปืนและเครื่องกระสุนหลายรายการ โดยพบว่าบัญชีเฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อ ‘Pun Tacticool Bob’ และ ‘Tacticool Bob แทคติคูลบ็อบ’ เป็นเพจที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการยิงปืน การแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับอาวุธปืน โดยมีนายตฤณสิษฐ์ อายุ 33 ปี เป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กแฟนเพจและ YouTube ช่อง ‘Tacticool BoB แทคติคูลบ็อบ’ ที่มีผู้ติดตามประมาณ 1.95 หมื่นราย และจากการสืบสวนยังพบว่านายตฤณสิษฐ์ มีพฤติการณ์ในการดัดแปลงอาวุธปืนอีกด้วย ซึ่งผลการตรวจค้น พบอาวุธปืน 85 กระบอก และเครื่องกระสุนกว่า 6,000 นัด รวมทั้งหมดกว่า 95 รายการ

กระทรวงดีอี ได้ดำเนินการเร่งรัดการป้องกันปราบปรามภัยออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องพี่น้องประชาชนให้ปลอดภัยจากอาชญกรออนไลน์ รวมทั้งป้องกันการละเมิดความเป็นส่วนตัวของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนรวมทั้งกลุ่มเปราะบางต่างๆ ขณะเดียวกันก็ได้มีการเร่งรรัดการปราบปรามเว็บพนันออนไลน์และอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องด้วย 

‘วราวุธ’ นำทีม พม.ผนึก ‘AIS’ เดินหน้าเสริมสร้างพลเมืองดิจิทัล หนุนคนไทยท่องโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย-รู้ทันภัยไซเบอร์

(25 ก.พ.67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า อาชญากรรมทางไซเบอร์ถือเป็นภัยคุกคาม ที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชนอย่างมาก ทุกฝ่ายจึงจำเป็นต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับคนไทย พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการส่งเสริมความรู้และทักษะที่จำเป็น ต่อการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนใช้งานโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย

โดยครั้งนี้เป็นความร่วมมือกับ AIS ในการนำหลักสูตร ‘อุ่นใจไซเบอร์’ ให้บุคลากรของเรากว่า 11,000 คน ได้เรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะทางดิจิทัล ตลอดจนการขยายผลองค์ความรู้ไปยังประชาชนคนทุกช่วงวัย อาทิ ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ สตรี และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และไม่ตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในโลกออนไลน์

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า AIS ในฐานะผู้ให้บริการด้านดิจิทัลเราไม่เพียงเดินหน้าเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่งเพื่อคนไทยเพียงเท่านั้น แต่เรายังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านการยกระดับทักษะดิจิทัลของคนไทยที่เราเชื่อว่าการเสริมสร้างองค์ความรู้คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านภัยไซเบอร์ได้อย่างยั่งยืน

ซึ่งทำให้ที่ผ่านมาเราได้พัฒนาการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัลอย่าง หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่มีเนื้อหาแกนหลักสำคัญที่ถูกแบ่งออกเป็น 4P / 4ป ประกอบไปด้วย Practice ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม, Personality ปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์, Protection เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์ และ Participation รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม ซึ่งหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ถูกขยายผลไปยังบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผ่านความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่วันนี้ได้เรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์นี้แล้วกว่า 320,000 คน”

“โดยครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือครั้งสำคัญกับหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิตของประชาชนอย่าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ที่ครอบคลุมทุกทักษะในโลกดิจิทัลอย่างแท้จริง เข้าไปให้บุคลากรของกระทรวงฯ ได้ศึกษาเรียนรู้ และส่งต่อไปยังประชาชนคนไทยทุกช่วงวัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงฯ ได้เสริมทักษะดิจิทัล รู้เท่าทันภัยไซเบอร์ สามารถใช้งานออนไลน์ได้อย่างถูกต้องปลอดภัยและสร้างสรรค์” นายสมชัย กล่าวทิ้งท้าย

โดยการทำงานร่วมกันครั้งนี้ได้ปรับเนื้อหาของหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ให้สอดคล้องกับทักษะที่มีความจำเป็นต่อการเป็นพลเมืองดิจิทัลสำหรับผู้เรียนแต่ละกลุ่มให้มีความเหมาะสม เช่น การเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในหลักสูตรสำหรับผู้ปฏิบัติงานในองค์กร เป็นต้น

โดยสามารถเข้าไปเรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ได้ที่ www.learndiaunjaicyber.ais.co.th, แอปพลิเคชัน อุ่นใจ CYBER, www.m-society.go.th, www.dop.go.th และแอปพลิเคชัน Gold by DOP


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top