Sunday, 19 May 2024
อากาศยานไร้คนขับ

‘อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชน และครอบครัวกลาง’ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาทักษะผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อเด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาส

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เวลา 11.00 น. นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาทักษะผู้บังคับอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อเด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาส

ซึ่งจัดโดยศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอำนาจเจริญ และบริษัท แอโร กรุ๊ป (2992) จำกัด ระหว่างวันที่ 22 – 23 พฤศจิกายน 2564 ณ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ

 

“ทร.”  โต้ “ยุทธพงศ์” ปมจัดซื้ออากาศยานไร้คนขับ (UAV) ระบุ ไม่เกี่ยว บ.จัดซื้อเรือดำน้ำ  

เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ (บก.ทร.) พล.ร.ท.ปกครอง  มนธาตุผลิน  โฆษกกองทัพเรือ กล่าวถึง กรณีที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร กล่าวหาฃกองทัพเรือในกรณีการจัดหาอากาศยานไร้คนขับ (UAV) และโครงการท่าเรือดำน้ำนั้น ว่า เรื่องทั้งหมดไม่เป็นไปตามที่กล่าวหา โดยตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ไม่พบว่าบริษัทที่มายื่นข้อเสนอ UAV มีความเกี่ยวพันกับบริษัทเรือดำน้ำ และขอยืนยันว่ากองทัพเรือได้ดำเนินการจัดหา UAV ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด มีใช้งานจริงในกองทัพของหลายประเทศ มีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือในการใช้งานสูง รวมถึง ประเด็นครูภาษานั้น ทร.ได้ตรวจพบเองตั้งแต่ต้น และได้ดำเนินสั่งห้ามบุคคลเหล่านั้นเข้าพื้นที่ ตั้งแต่ ธ.ค.64 โดยขอแยกเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้ 
 
1. ประเด็นที่ระบุว่า กองทัพเรือเปลี่ยนแบบ UAV จาก Wing Loong ของประเทศจีน เป็น UAV แบบ Hermes 900 ของประเทศอิสราเอล เนื่องจากปัญหาความไม่โปร่งใสในโครงการจัดหาเรือดำน้ำของจีนโดย บริษัทที่นำ UAV แบบ Hermes 900 เข้ามาอยู่ในเครือข่ายบริษัทนายหน้าของเรือดำน้ำจีนเช่นกันนั้น กองทัพเรือขอชี้แจงว่า ได้ตรวจสอบความสัมพันธ์มของผู้ยื่นข้อเสนอ UAV ทุกรายเบื้องต้นแล้ว ไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันและไม่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหาเรือดำน้ำแต่อย่างใด ทั้งนี้การดำเนินโครงการจัดหา UAV ในครั้งนี้ เป็นการจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก โดยกำหนดคุณสมบัติและขีดสมรรถนะตามความต้องการของกองทัพเรือ ซึ่งจะต้องมีการรับรองมาตรฐานด้านการบิน มีความน่าเชื่อถือและความพร้อมใช้งาน รวมทั้งมีความสามารถในการอยู่รอดสูง ในการปฏิบัติภารกิจทั้งทางทะเลและทางบก มีใช้งานในกองทัพของประเทศผู้ผลิต มีค่าใช้จ่ายต่ำ มีการฝึกอบรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการฯ สูงสุด แต่เนื่องจากการดำเนินการจัดซื้อยังไม่เสร็จสิ้น จึงยังไม่สามารถให้รายละเอียดทั้งหมดได้
 
2. ประเด็นข้อกล่าวหาว่า UAV แบบ Hermes 900 ของอิสราเอล เป็น UAV ที่ กองทัพเรือประเทศอื่นไม่เคยใช้งานมาก่อน รวมถึงมีประวัติการตกนั้น ขอนำเรียนว่า  UAV ของทุกบริษัทที่ ทร.เชิญชวนยื่นข้อเสนอ มีใช้กันในหลายประเทศ และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ จึงขอให้วางใจว่ากองทัพเรือจะได้รับ UAV ที่ได้มาตรฐาน คุ้มค่ากับภาษีของประชาชนมาใช้งาน ส่วนเรื่องการตกของ UAV นั้น เป็นเรื่องเป็นไปได้ เหมือนการตกของเครื่องบินชนิดอื่นๆ ซึ่งจากข้อมูลการตกของ UAV ทั่วโลก อ้างอิงจากเว็บไซต์ https://dronewars.net/drone-crash-database/ พบว่ามี UAV หลายประเทศทั้งของ อิสราเอล สหรัฐอเมริกา จีน อิตาลี ตุรกี รวมถึง ประเทศอื่นๆ  มีประวัติเกิดอุบัติเหตุเหมือนกันหมด ดังนั้นการตกของ UAV อาจจะไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของระบบหรือความผิดปกติของเครื่องยนต์ แต่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การโดนต่อต้านจากฝ่ายตรงข้าม สภาพอากาศที่แปรปรวน /ทักษะ หรือประสบการณ์ของผู้บังคับเครื่อง UAV อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับความน่าเชื่อถือของระบบ มั่นใจได้ว่า ระบบ UAV ที่ ทร.จะได้รับดีที่สุดตามวัตถุประสงค์การใช้งานและความต้องการของ ทร. ในวงเงินที่กำหนด   3.”กองทัพเรือขอเรียนว่า การจัดหา UAV ในครั้งนี้ ได้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม เป็นไปตามกฎหมาย และปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน  มีเอกสารหลักฐานการดำเนินงานอย่างชัดเจน มีขั้นตอน ตอบข้อสงสัยและข้อซักถาม รวมทั้งโครงการนี้ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมการจัดทำ “ข้อตกลงคุณธรรม ประจำปี งป. 65” โดยคณะกรรมการความร่วมมือการป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) ได้จัดคณะผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคประชาชน ร่วมสังเกตและให้คำแนะนำตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ”

‘นนอ.ไทย’ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จากการแข่งขันอากาศยานไร้คนขับนานาชาติ

(21 มิ.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักเรียนนายเรืออากาศ (นนอ.)ได้เข้าร่วมการแข่งขัน อากาศยานไร้คนขับนานาชาติ (AUVSI SUAS 2023) ณ รัฐแมริแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในชื่อ ‘ทีม Pegasus’ ตัวแทนหนึ่งเดียวจากประเทศไทย และได้สร้างผลงานระดับโลก โดยได้ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 71 ทีมทั่วโลก

โดยได้ประกาศผลการแข่งขันอย่างเป็นทางการ ของนักเรียนนายเรืออากาศ ‘ทีม Pegasus’ ซึ่งสามารถคว้า รางวัลคะแนนรวมรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และรางวัลชนะเลิศ Flight Readiness Review (VDO clip presentation) ในการแข่งขันอากาศยานไร้คนขับนานาชาติโครงการ ASSOCIATION FOR UNMANNED VEHICLE SYSTEMS INTERNATIONAL STUDENT UNMANNED AERIAL SYSTEMS COMPETIITIONS (AUVSI SUAS 2023) เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. พ.ศ.66

สำหรับ ผู้ที่ชนะเลิศ (อันดับ 1) จากประเทศตุรกี รองชนะเลิศ (อันดับ 2 ประเทศไทย) รองชนะเลิศ (อันดับ 3 ประเทศอินเดีย) อันดับ 4 ประเทศอังกฤษ และ อันดับ 5 ประเทศซาอุดีอาระเบีย

‘กองทุนดีอี’ โชว์ผลสำเร็จโครงการโดรนสำรวจพื้นที่ป่า เตรียมใช้ข้อมูลเพิ่มศักยภาพดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

‘กองทุนดีอี’ โชว์ผลสำเร็จโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หลังสำรวจครบ 11 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เตรียมนำข้อมูลช่วยดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

สถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน มีการบุกรุกทำลายก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และทรัพยากรป่าไม้โดยการออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อสงวน และอนุรักษ์ป่าไม้มาโดยตลอด แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งปัญหาอีกประการด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีในการจัดทำภาพถ่ายทางอากาศซึ่งในอดีตไม่สามารถแสดงผลข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศความละเอียดสูง เพื่อกำหนดขอบเขตของพื้นที่ป่าอย่างชัดเจน หรือติดตามสถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างละเอียด อีกทั้งยังไม่มีการประยุกต์ใช้ข้อมูลเพื่อจัดการด้านภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่า น้ำป่าไหลหลาก หรือดินถล่ม เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยี

กองการบิน สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำภาพถ่ายทางอากาศและการบินลาดตระเวนทางอากาศ ด้วยอากาศยานไร้คนขับ ในการสนับสนุนภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและน้ำป่าไหลหลาก รวมถึงเพื่อพัฒนาระบบจัดเก็บ แลกเปลี่ยน และแสดงผลข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศความละเอียดสูงสำหรับสนับสนุนการจัดการพื้นที่ทำกิน ให้บริการแก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และแสดงผลข้อมูลสถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสถานการณ์ด้านไฟป่าและน้ำป่าไหลหลากในรูปแบบ real time บน web map service และ mobile application และเพื่อพัฒนาระบบติดตามและเฝ้าระวังพื้นที่ป่าและป่าอนุรักษ์ รวมทั้งพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยอากาศยานไร้คนขับในรูปแบบขึ้นลงทางดิ่ง (vertical takeoff and landing, VTOL) สำหรับการลาดตระเวนทางอากาศและการสำรวจจัดทำภาพถ่ายทางอากาศ 

โครงการดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปีงบประมาณ 2564 โดยเป้าหมายของโครงการนี้เพื่อใช้อากาศยานไร้คนขับสำหรับงานลาดตระเวน ติดตามสถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการบุกรุกทำลายและสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ต่ำกว่า 9 ล้านไร่ อีกทั้งยังเป็นฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนที่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า และป่าอนุรักษ์ ด้านการจัดพื้นที่ทำกิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงการจัดการด้านภัยธรรมชาติ เช่นไฟป่า น้ำป่าไหลหลาก หรือดินถล่ม และเป็นการเสริมศักยภาพในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากเดิมที่ใช้อากาศยานเป็นอุปกรณ์หลักเพียงอย่างเดียว ให้มีอุปกรณ์เสริมช่วยลดความเสี่ยง และสามารถเข้าพื้นที่ได้รวดเร็ว ครอบคลุมมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาช่องทางให้บริการข้อมูลที่จำเป็นแก่ประชาชน และหน่วยงานภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ข้อมูลภาพถ่ายความละเอียดสูงแบบหลายช่วงคลื่น ประกอบภาพถ่ายสีธรรมชาติ ข้อมูลสภาพภูมิประเทศแบบสามมิติ วิดีโอในรูปแบบ real time เป็นต้น ในการสนับสนุนการตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและประชาชน

สรุปผลการดำเนินงาน โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอากาศยานไร้คนขับ จำนวนทั้งสิ้น 14  ลำ โดยมีพื้นที่เป้าหมายดำเนินการใน 11 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพื้นที่ส่วนกลางในกรุงเทพมหานคร 

ปัจจุบันได้มีการทดสอบการใช้งานจริงในพื้นที่เป้าหมายที่กำหนดซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าเขา พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ไฟป่า และพื้นป่าที่มีประชาชนอยู่อาศัยทำกิน โดยกำหนดเป็นภารกิจการบินสำหรับการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ การบินลาดตระเวนพื้นที่ รวมทั้งการฝึกอบรมผู้ใช้งานให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

จากการได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีสำหรับการสำรวจที่ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการจัดการพื้นที่ทำกิน ด้วยข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ความละเอียดสูงจากอากาศยานไร้คนขับ และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ลดความเสี่ยงและการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ อีกทั้งมุ่งผลลัพธ์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ โดยการสนับสนุนจากกองทุนฯ ในครั้งนี้เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยั่งยืน

‘อากาศยานไร้คนขับ' ลำใหม่ ‘ฝีมือจีน’ พร้อมขึ้นบินเที่ยวแรกแล้ว ชี้ ช่วยปฏิบัติหลากภารกิจ ‘โลจิสติกส์-ดับเพลิง-ฝนเทียม-การสื่อสาร’

(5 เม.ย. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า บริษัทอุตสาหกรรมการบินแห่งประเทศจีน (AVIC) เผยว่าต้นแบบระบบอากาศยานไร้คนขับ (UAS) อเนกประสงค์เชิงพาณิชย์ลำใหม่ พร้อมที่จะออกขึ้นบินเที่ยวแรกแล้ว หลังจากเสร็จสิ้นการทดสอบขับเคลื่อนอัตโนมัติด้วยความเร็วสูงครั้งสุดท้ายไม่นานมานี้

ทั้งนี้ ระบบอากาศยานเอชเอช-100 (HH-100) ซึ่งพัฒนาขึ้นเองของจีน สามารถทำงานอย่างเสถียรระหว่างการทดสอบ ขณะศักยภาพควบคุมการขับเคลื่อนอัตโนมัติทำงานได้เป็นอย่างดี 

เอชเอช-100 พัฒนาโดยบริษัทเอวิก เอ็กซ์เอซี คอมเมอร์เชียล แอร์คราฟต์ จำกัด ในนครซีอัน มณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ อากาศยานไร้คนขับ และสถานีสั่งการและควบคุมภาคพื้นดิน

ระบบดังกล่าวมีต้นทุนต่ำ น้ำหนักบรรทุกสูง รวมถึงจุดแข็งอื่น ๆ โดยได้รับการออกแบบให้มีน้ำหนักขึ้นบินสูงสุด 2,000 กิโลกรัม น้ำหนักบรรทุก 700 กิโลกรัม และพิสัยการบิน 520 กิโลเมตร

เอชเอช-100 สามารถปฏิบัติภารกิจได้หลากหลาย เช่น โลจิสติกส์ระดับภูมิภาค การดับเพลิงในพื้นที่ป่าและทุ่งหญ้า การติดตามไฟไหม้ การจัดส่งสิ่งของบรรเทาภัยพิบัติ การถ่ายทอดการสื่อสาร และส่งเสริมการทำฝนเทียม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top