Saturday, 4 May 2024
อนุรักษ์นิยม

วิเคราะห์ฉากทัศน์ ‘ทิศทางประเทศไทย’ ภายใต้ขั้วรัฐบาล ‘อนุรักษ์นิยม vs เสรีนิยม’

นับถอยหลังจากนี้เหลือเวลาเพียงไม่อีกกี่วันก็จะถึง 'การเลือกตั้งปี 2566' ที่จะมีขึ้นวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ขณะที่มีการประเมินว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนจะตื่นตัวออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งอย่างคึกคัก มากกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2562  

ทั้งนี้ เห็นได้จากการเลือกตั้งนอกเขตเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ลงทะเบียนกว่า 2 ล้านคน และมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์กว่า 90%

ขณะที่ ในสนามการเลือกตั้งต่างแข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยในภาพใหญ่เป็นการแข่งขันกันระหว่าง 2 ขั้วที่เรียกว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยม หรือ พรรคฟากรัฐบาล ที่นำโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับฝ่ายเสรีนิยม หรือ ฟากฝ่ายค้าน ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล

เมื่อดูตามผลโพลของสำนักต่าง ๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ พบว่าฝ่ายเสรีนิยมมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมสูงกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกระแสความนิยมในตัวนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ที่มีคะแนนนิยมพุ่งอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันฝ่ายเสรีนิยม 2 พรรคที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้รับความนิยมรวมกันมากถึง 68-84%

แต่ทว่า การจัดตั้งรัฐบาลนั้น มีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา เพราะพรรคที่ได้จำนวน ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 อาจไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ได้ ซึ่งได้ปรากฏให้เห็นแล้วเมื่อครั้งเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา 

ส่วนการฉากทัศน์หลังการเลือกตั้งในครั้งนี้ จะเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองประเทศไทยอย่างไร หากพรรคอย่างกระแสแรงอย่าง พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

หากว่ากันตามระบอบประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้พรรคมีคะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 1 เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็เป็นไปได้ที่ พรรคเพื่อไทย จะได้เป็นรัฐบาล แต่จากการประเมินกระแสล่าสุด แม้ว่า เพื่อไทยจะได้คะแนนเสียงเยอะที่สุด แต่ก็ยังไม่ถึงกับแลนด์สไลด์ตามเป้า 

ดังนั้น หากเพื่อไทย อยากเป็นรัฐบาล ต้องได้ ส.ส. 376 ขึ้นไป จึงจำเป็นต้องไปดึงพันธมิตรฝ่ายที่คุยกันรู้เรื่องมาก่อน ซึ่งก็น่าจะเป็น ‘ก้าวไกล’ เพราะอย่างน้อยเคยร่วมเป็นฝ่ายค้านมาถึง 4 ปี และถือว่าอยู่ในขั้วเสรีนิยมด้วยกัน รวมถึงพรรคเล็ก ๆ ในฝั่งเดียวกัน แต่หากเสียงยังไม่พอ อาจต้องถึงพรรคต่างขั้วมาร่วม เพราะมีพรรคที่พร้อมเข้าร่วมแต่ขอให้ได้เป็นรัฐบาล

ถ้าเสียงยังไม่พอ อาจจะต้องพึ่งเสียง สว.มาเพิ่มอีก เพื่อรวมเสียงทั้งหมดให้ได้ 376 ขึ้นไป แต่อย่างไรก็ดี หากเพื่อไทยได้เก้าอี้ ส.ส. ไม่เยอะจริง อาจจะถูกต่อรองเก้าอี้กระทรวงสำคัญ ไปถึงขั้นเก้าอี้ ‘นายกรัฐมนตรี’ และเป็นไปได้ที่เพื่อไทยอาจจะยอม เพราะต้องการเป็นรัฐบาลไว้ก่อน เนื่องจากห่างหายมานาน และยังมีเรื่องสำคัญคือ การพา ‘ทักษิณ ชินวัตร’ กลับบ้านมาเลี้ยงหลาน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้คือความหวังและอาจจะเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายของทักษิณ หากเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล

ท้ายที่สุด ถ้าเพื่อไทย - ก้าวไกล และพรรคร่วมสามารถตกลงจัดสรรตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้อย่างลงตัว ในแง่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาจจะทำได้ทันที ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน อาจจะเกิดเหตุชุมนุมทางการเมืองขนาดเล็ก จากกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามบ้างในช่วงแรกของการเป็นรัฐบาล 

แต่ในกรณีที่ฝั่งอนุรักษ์นิยม นำโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลเดิมรวมเสียงกันได้เกิน 126 เสียง บวกกับ สว.อีก 250 เสียง จัดตั้งรัฐบาลเหมือนเมื่อครั้งปี 2562 ในกรณีนี้ มีความเป็นไปได้ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ จะได้เป็นนายกฯ ต่อไป เพราะมีแต้มต่ออยู่ที่ สว. เพียงแต่มีเงื่อนไขพรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องได้ ส.ส. 25 เสียงขึ้นไป

ถ้าโฉมหน้าการเมืองหลังเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ ในแง่การบริหารราชการแผ่นดินคงไม่ต่างไปจากเดิม แต่จะเกิดการต่อรองทางการเมืองสูง และเสถียรภาพของรัฐบาลจะไม่มั่นคง เพราะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย การผลักดันกฎหมายจะทำได้ยาก มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่ครบ 4 ปี แม้ว่าจะหลังจากตั้งรัฐบาลเสร็จ จะมี ส.ส.ย้ายพรรคมาร่วมด้วยก็ตาม 

และที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า พลเอกประยุทธ์ จะเหลือวาระการดำรงตำแหน่งอีกเพียง 2 ปีเท่านั้น ยกเว้นจะไปแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อครบวาระแล้ว หลังจากนั้นจะให้ใครขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกฯ แทน ตรงนี้อาจจะต้องกำหนดให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง

แน่นอนว่า รัฐบาลจะมีความเปราะบางสูง เป็นต้นว่า หาก พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีไม่ผ่าน ก็ความเสี่ยงที่จะต้องยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่ อีกทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีความเสี่ยงถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจสูง นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเกิดการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต เพราะภาพความเป็นผู้นำที่มีความเด็ดขาดของพลเอกประยุทธ์ เชื่อว่าจะไม่ยอมเจรจากับฝ่ายใดง่าย ๆ และหากเกิดภาพเช่นนี้จริง จะยิ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัว

แต่หากฝ่ายอนุรักษ์นิยม มองว่า พลเอกประยุทธ์ เหลือเวลาอีกเพียง 2 ปี ไม่เหมาะนั่งนายกฯต่อ หันมาสนับสนุนให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ ขึ้นมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแทน ก็จะเป็นการวนไปสู่ภาพของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ แต่จะต่างกันที่ในครั้งนี้ฐานเสียงไม่แน่นเหมือนครั้งที่ผ่านมา เพราะอดีต ส.ส. จำนวนหนึ่งได้ย้ายออกไปสังกัดพรรคอื่นแล้ว 

เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ การต่อรองทางการเมืองที่สูงมาก เสถียรภาพรัฐบาลไม่มั่นคง และอาจจะมีการชุมนุมใหญ่ทางการเมืองตามมา แต่ความรุนแรงอาจจะแตกต่างกัน เพราะด้วยบุคลิกของพลเอกประวิตร ที่มีความประนีประนอมมากกว่านั่นเอง  

แต่อย่างไรก็ตาม ผลสรุปของการเมืองหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ และโฉมหน้ารัฐบาลจะออกมาอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหน้าใหม่ หรือหน้าเก่า อำนาจส่วนหนึ่งอยู่ที่ปลายปากกาของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่จะเป็นส่วนสำคัญร่วมกำหนดทิศทางของประเทศ

‘ดร.เสรี’ เตือน ‘ฝ่ายอนุรักษ์นิยม’ อย่าคิดถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตน ชี้!! ตราบใดที่ยังแบ่งพรรคแบ่งพวกกันอยู่อย่างนี้ จะแพ้เลือกตั้งทุกครั้ง

เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 66 ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยระบุว่า…

“ตราบใดที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมยังแบ่งเป็นหลายพรรคอย่างที่เป็นอยู่อย่างนี้ เลือกตั้งอีกกี่ครั้งกี่ทีก็จะพ่ายแพ้กับฝ่ายตรงกันข้าม ที่นำเสนอผลประโยชน์มากมาย

คนกลุ่มหนึ่งก็เสพติดประชานิยม คิดแต่จะเอาผลประโยชน์ส่วนตน ไม่สนใจว่าคนที่นำเสนอนโยบายประชานิยมทำร้ายประเทศชาติแค่ไหน

อีกกลุ่มหนึ่ง ก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง คิดแต่จะเปลี่ยน แต่จะเปลี่ยนไปอย่างไร ไม่สนใจรายละเอียดว่าจะเปลี่ยนไปทางดีหรือทางร้าย

ประกอบกับคนนำเสนอการเปลี่ยนก็หน้าตาดี พูดเก่ง นำเสนอผลประโยชน์ (ที่ทำจริงไม่ได้) มาหลอกล่อให้คนเลือก คนที่อยากได้สิ่งที่เขานำเสนอก็เลือกคนที่เลือก 2 พรรคนี้ เขาไม่คิดมากหรอกค่ะ เขาตั้งใจจะเลือกของเขา ไม่สนใจว่าพรรคอื่นจะนำเสนออะไร เขาปักใจ ยังไงก็เลือกพรรคที่เสนอผลประโยชน์ที่โดนใจ

ส่วนคนที่ไม่เอา 2 พรรคนี้ มีพรรคให้เลือกหลายพรรค แต่ละพรรคก็มีข้อเสนอดีๆ มีคนดีๆ มานำเสนอเป็นผู้แทน สุดท้ายก็เลือกกันแบบเบี้ยหัวแตก แบ่งคะแนนกันเอง

หลายพื้นที่ เมื่อเอาคะแนนฝ่ายอนุรักษ์นิยมทุกพรรคมารวมกัน คะแนนมากกว่า 2 พรรคที่ได้ ส.ส. มากเป็นที่ 1 และที่ 2 รวมกัน
.
ถ้าหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป พรรคการเมืองเสนอจะให้ ประชาชนเชื่อข้อเสนอ พอใจ อยากได้ สื่อช่วยเชียร์ ในที่สุดพวกเขาก็ชนะ และจะชนะตลอดไป

พูดเรื่องแบ่งคะแนนกันมาตั้งแต่ปี 2548 ไม่มีใครฟัง เลือกตั้งทุกครั้ง พรรคประชานิยมชนะถล่มทลาย และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป

เมื่อไหร่จะคิดได้กันเสียทีนะ ถ้ายังคิดกันไม่ได้ ทั้งนักการเมืองและประชาชนผู้ลงคะแนนเลือก ก็อย่าหวังว่าจะชนะคนที่เขากล้าสัญญาว่าจะให้สวัสดิการเกินจริงเลยนะคะ”

‘ปิยบุตร’ ติง ‘ก้าวไกล’ ถูกอนุรักษ์นิยมวางเกม ปล่อยพ่นเรื่อง ‘เพ้อฝัน-เอามัน’ ถ้าถึงเวลาตัวเองมาเป็นรัฐบาล ก็ทำไม่ได้ กลับกันสิ่งที่พวกเขาทำ ‘เป็นไปได้’

(12 ธ.ค. 66) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า…

พลังฝ่ายอนุรักษ์และชนชั้นปกครองที่สนธิกำลังกันทำ ‘Passive Revolution’ (ปฏิวัติจากเบื้องบน ปฏิวัติที่ไม่ปฏิวัติ ปฏิวัติเพื่อหยุดการเปลี่ยนแปลง หยุดไม่ให้ชนชั้นผู้ถูกปกครองขึ้นครองอำนาจได้) ได้ใช้การทำสงครามทางความคิด หรือ ‘War of Position’ เพื่อแย่งชิงความคิดและฐานมวลชน

เช่น

การเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่พรรคก้าวไกลเสนอ เป็นไปไม่ได้ภายในระยะเวลาอันสั้นนี้

สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอ เป็นเรื่องเพ้อฝัน เสนอเอามัน เสนอเอาแต้ม และไม่รับผิดชอบกับสังคม ถึงเวลาตัวเองมาเป็นรัฐบาล ก็ทำไม่ได้

แต่การเปลี่ยนแปลงก็ต้องเกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลตัวแทนพลังอนุรักษ์และชนชั้นปกครอง จะทำให้ดู โดยไม่ต้องทำแบบก้าวไกล

ไม่ต้องเปลี่ยนใหญ่ ไม่ต้องรื้อ

เปลี่ยนได้ ถ้ารู้จักประนอมอำนาจ ถ้าใช้กลไกแบบที่เป็นอยู่ให้เป็น เราก็สามารถทำประโยชน์ให้ประชาชนได้แล้ว ดีกว่าฝันไปวันๆ แต่ไม่มีโอกาสใช้อำนาจเปลี่ยนแปลง

ยกเลิกเกณฑ์ทหารรึ ไม่ต้องแก้กฎหมายหรอก ใช้การบริหารจัดการจำนวน ก็เลิกโดยปริยายได้

ยกเลิก กอ.รมน. หรือ ไม่ต้อง แต่เปลี่ยนบทบาทแทน

ทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือ ทำสิ แต่ทำทั้งฉบับ สุดท้ายจะไม่ได้ทำ

เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ คนหาเช้ากินค่ำ ได้เติบโต ขยายเค้ก พื้นที่ให้กว้างกว่าเดิม แต่ยังไงก็ไม่มีทางท้าทายทุนผูกขาดขนาดใหญ่ได้ ฯลฯ

พรรคก้าวไกล นักการเมืองของพรรคก้าวไกล จะสู้กับสงครามทางความคิดรอบใหม่นี้ได้อย่างไร ในห้วงเวลาที่เขามีอำนาจรัฐและงบประมาณ และจะทำให้ดูให้ได้ด้วย

ผมเห็นว่า ถ้า สส.พรรคก้าวไกล (บางคน หลายๆ คน) ยังคงใช้วิธีแบบเดิม เช่น

ตามจับว่ารัฐบาลไม่ทำตามที่หาเสียงไว้

ทำไมรัฐบาลไม่ทำตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ

พร้อมเติมสีสันด้วยการแซะผ่านคำคม ภาพล้อเลียน ตามโลกโซเชียล

ทำแค่นี้ ไม่เพียงพอต่อการเอาชนะสงครามทางความคิดรอบนี้ได้

พวกเขากำลังสร้างชุดอธิบายว่า “แบบก้าวไกลเป็นไปไม่ได้ แบบเขาเป็นไปได้”

แบบก้าวไกล ‘เสี่ยง’ ไปเจออะไรไม่รู้ แบบเขาอาจมาทีละนิด มาช้า แต่ชัวร์ และได้อะไรบ้าง

ถ้า สส.บางคนหรือหลายคน ยังคงสู้ด้วยการอธิบายแค่ว่า ‘ตระบัดสัตย์’ ไม่ทำตามที่หาเสียง ทำเท่านี้ ก็ได้แค่ทำลายความชอบธรรม แต่มันไม่ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไม่ได้สร้างความหวังให้ผู้คนว่า สังคมใหม่ที่ก้าวไกลกำลังสร้าง คืออะไร? หน้าตาแบบไหน?

นอกจากนี้ ยังไม่ได้ชี้นำความคิดมวลชนด้วย

พรรคและ สส. มีหน้าที่ ทำให้คนมหาศาลเชื่อได้ว่า สิ่งที่ กก. เสนอ เป็นไปได้ในวันพรุ่ง ทำให้คนมีความหวัง วาดภาพให้เห็นเป็นรูปธรรม

ถ้า 4 ปีนี้ ยังทำไม่ได้ หรือไม่มากพอ แล้วจะหาคะแนนเสียงเพิ่มอีก 6-7 ล้านจากไหน?

‘อิรัก’ ออกกฎหมายต่อต้าน LGBTQ  โทษจำคุกสูงสุด 15 ปี แค่ส่งเสริมก็ถือว่าผิด 

(28 เม.ย. 67) รัฐสภาอิรักผ่านกฎหมายลงโทษผู้ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันโดยมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี ในความเคลื่อนไหวที่รัฐสภาอิรักระบุว่า มีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาคุณค่าทางศาสนา

เอกสารสำเนากฎหมายระบุว่า กฎหมายนี้มีเป้าหมาย เพื่อปกป้องสังคมอิรักจากความเสื่อมทรามทางศีลธรรมและกระแสการเรียกร้องให้มีพฤติกรรมรักร่วมเพศที่กำลังครอบงำโลก

กฏหมายนี้ได้รับการสนับสนุนจากพรรคมุสลิมนิกายชีอะห์หัวอนุรักษ์ ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภาอิรัก

กฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการค้าประเวณีและการรักร่วมเพศ” กำหนดให้บุคคลใดที่มีความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน จะต้องโทษจำคุกอย่างน้อย 10 ปีและสูงสุด 15 ปี และต้องโทษจำคุกอย่างน้อย 7 ปีสำหรับใครก็ตามที่ส่งเสริมการรักร่วมเพศหรือการค้าประเวณี

กฎหมายยังกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงเพศทางชีวภาพถือเป็นอาชญากรรม และลงโทษคนข้ามเพศและแพทย์ที่ทำการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ โดยมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี

เดิมร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอให้มีโทษประหารชีวิตด้วย แต่ได้รับการแก้ไขก่อนที่จะผ่านการพิจารณา ภายหลังการต่อต้านอย่างรุนแรงจากสหรัฐฯ และชาติยุโรป

ก่อนหน้านี้ อิรักไม่ได้กำหนดความผิดทางอาญาต่อกิจกรรมทางเพศของคนเพศเดียวกันอย่างชัดเจน แม้ว่าจะมีการใช้มาตราศีลธรรมที่กำหนดไว้อย่างหลวม ๆ ในประมวลกฎหมายอาญาเพื่อกำหนดเป้าหมายกลุ่ม LGBTQ และเคยเกิดกรณีที่ชาว LGBTQ ถูกกลุ่มสังหารเช่นกัน

ราชา ยูเนส รองผู้อำนวยการฝ่ายสิทธิ LGBTQ ขององค์กรฮิวแมนไรต์สวอตช์ กล่าวว่า “การที่รัฐสภาอิรักผ่านกฎหมายต่อต้าน LGBT ถือเป็นการตอกย้ำประวัติการละเมิดสิทธิของกลุ่ม LGBTQ ที่น่าตกใจของอิรัก และส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน”

ด้าน ราซอว์ ซาลิฮี จากแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล บอกว่า “การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของ LGBTI ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และทำให้ชาวอิรักตกอยู่ในความเสี่ยง ซึ่งชีวิตของพวกเขาถูกไล่ล่าทุกวัน”

ในปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองใหญ่ ๆ ของอิรักได้วิพากษ์วิจารณ์สิทธิของ LGBTQ มากขึ้น โดยธงสีรุ้งมักถูกเผาในการประท้วงโดยกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะห์อนุรักษ์นิยม

ปัจจุบัน มีมากกว่า 60 ประเทศที่กำหนดความผิดทางอาญาสำหรับพฤติกรรมของคนรักเพศเดียวกัน ขณะที่มีกว่า 130 ประเทศรับรองหรือเปิดกว้างต่อความรักทุกรูปแบบ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top