Sunday, 19 May 2024
หมอธีระวัฒน์เหมะจุฑา

‘หมอธีระวัฒน์’ ชวนจับตา!! ‘ภาวะลองโควิด-ผลกระทบวัคซีน’ หลังพบคนไทยเสียชีวิตสูงผิดปกติ ทั้งที่เข้าสู่ช่วงหยุดการระบาดแล้ว

(14 ม.ค.67) นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ออกแถลงการณ์ร่วมต่อสถานการณ์อาการ ลองโควิด-19 และผลกระทบจากวัคซีน ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุใจความดังนี้…

แถลงการณ์ร่วมต่อสถานการณ์อาการ Long Covid-19 และผลกระทบจากวัคซีน

เนื่องในโอกาสที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงนามความร่วมมือทางด้านวิชาการและการวิจัยร่วมกับวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิตในวันนี้ จึงเห็นสมควรที่จะต้องแจ้งถึงสถานการณ์ในเรื่องภาวะลองโควิด-19 และผลกระทบต่อวัคซีนโควิด-19 ต่อพี่น้องประชาชน ดังนี้

ประการแรก - จากการที่มีประชาชนชาวไทยและทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากภาวะต่อเนื่องหลังการติดเชื้อโรคโควิด-19 หรือได้รับผลกระทบจากการได้รับวัคซีนในหลายมิติ เป็นผลทำให้มีประชาชนกลุ่มดังกล่าวเสียชีวิต หรือมีสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอลง หรือส่งผลต่อคุณภาพชีวิตแย่ลง เป็นเรื่องที่เป็นความจริงทั้งสิ้น

ประการที่สอง - อาการที่เกิดขึ้นที่ทอดยาวเป็นเวลานานเกินกว่าสามเดือนหลังจากติดเชื้อโควิดที่เรียกว่าลองโควิด (long covid) โดยมีทั้งอาการทางระบบหัวใจและปอด ระบบสมองประสาทและกล้ามเนื้อ ภาวะที่มีการอักเสบของผิวหนัง เส้นเอ็นพังผืด กล้ามเนื้อ ข้อต่างๆ ตลอดจนการปะทุขึ้นของโรคที่ไม่เคยเป็นมาก่อนหรือโรคที่สงบไปแล้ว รวมทั่งมะเร็งและการเกิดเริม งูสวัดซึ่งไวรัสเหล่านี้เป็นไวรัสที่ซ่อนอยู่ในร่างกายจากการติดเชื้อเนิ่นนานมาแล้ว และถูกกดไม่ให้แสดงตัวออกมาจากการควบคุมของระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงของร่างกาย และยังรวมถึงการนอนหลับที่ผิดปกติ หลับยากหลับกระท่อนกระแท่น จนถึงฮอร์โมนแปรปรวนทั้งผู้ชายและผู้หญิง

ประการที่สาม - มีขบวนการปกปิดข้อมูลและข้อเท็จจริงของผู้ที่ได้รับผลกระทบและเสียชีวิตจากวัคซีนทำให้ตัวเลขการรายงานผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีนต่ำกว่าความเป็นจริง รวมถึงการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารจากโซเชียลมีเดียและแอพลิเคชั่นในหลายระบบ ทำให้มีประชาชนอีกจำนวนมากยังไม่ทราบว่าตัวเองได้รับผลกระทบจากวัคซีน จึงทำให้ไม่สามารถหาแนวทางการรักษาตัวเองที่ถูกต้องได้

ในขณะเดียวกัน ‘กลุ่มแพทย์และจิตอาสาคนไทยพิทักษ์สิทธิ์’ ได้รวมตัวกันนำเสนอรายงานสถิติการเสียชีวิตของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ (excess deaths) ในปี 2565 และ ปี 2566  ทั้งๆที่เป็นช่วงที่โรคโควิด-19ได้หยุดการระบาดไปแล้ว โดยสถิติอัตราการเสียชีวิตของคนไทยในปี 2565 และ 2566 นั้น สูงเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงก่อนการเกิดโรคระบาด และมากกว่าช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการสืบสวนการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกตินั้น มีสัดส่วนอันเนื่องมาจากผลกระทบของวัคซีนมากเพียงใด

เพราะในรายงานการวิจัยสถิติในต่างประเทศพบว่า  มีผู้ที่เสียชีวิตจากวัคซีนโควิด-19 จริง และในผู้เสียชีวิตเหล่านี้ได้รับความเสียหาย ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด  ระบบทางโลหิตวิทยา ระบบทางเดินหายใจ หรือหลายระบบพร้อมกัน และมีการประเมินว่าการตายจากวัคซีนที่รายงานเข้าในระบบ VAERS  (Vaccine Adverse Event Reporting System) ของสหรัฐอเมริกาต่ำกว่าความจริงกว่า 20 เท่าตัว

ประการที่สี่ - ผลการติดตามเบื้องต้นของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกับภาควิชาอายุรศาสตร์และสาขาประสาทวิทยาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบข้อมูลจากการติดตามผลของผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งจากโรคโควิด-19 ในผู้ที่ฉีดวัคซีนในประเทศไทยเกือบ 100 รายในระยะเวลา 1 ปี พบค่าการอักเสบและโปรตีนที่แสดงให้เห็นว่าเกิดภาวะสมองเสื่อม ทั้งที่ยังไม่มีอาการและมีอาการแล้ว หรือแม้แต่ยังมีร่องรอยภาวะโรคสมองเสื่อมดำเนินต่อไปหากมีปัจจัยกระตุ้นแม้จะมีอาการป่วยดีขึ้นแล้วก็ตาม  ซึ่งจะสร้างปัญหาต่อประชากรกลุ่มนี้ต่อไปในอนาคต หากไม่รู้ตัวหรือไม่ได้หาหนทางในการป้องกันหรือเยียวยาเพื่อลดความเสี่ยงลงด้วยคำแนะนำอย่างถูกต้อง

ประการที่ห้า - นักวิจัยจากคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เผยแพร่รายงานเอาไว้ในวารสาร Nature Scientific Report เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2566 ได้กล่าวถึงประเด็นการฉีดวัคซีนหลังเข็มที่ 3 ว่าอาจจะทำให้ภูมิคุ้มกันชนิด T-Cell หมดแรง นั่นหมายความว่าการฉีดวัคซีนมากเกินไปอาจทำให้ร่างการมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงได้

ประการที่หก - สำหรับประชาชนที่สงสัยว่าสุขภาพร่างกายของตัวเองอ่อนแอลงไม่หมือนเดิม อันเนื่องมาจากภาวะลองโควิด-19 หรือไม่ หรือสงสัยว่าจะได้รับผลกระทบจากวัคซีนหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ จะทำการสร้างเครือข่าย รับข้อมูลจากประชาชน

ประการที่เจ็ด - สำหรับแนวทางการรักษาทั้งจากภาวะลองโควิด-19 หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีนในปัจจุบัน ได้มีการดำเนินการรักษาอยู่แล้วทั้งในวงการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์ทางเลือก ธรรมชาติบำบัด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร การใช้สมุนไพร และตำรับยาตลอดจนหัตถการทั้งการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนจีน ซึ่งวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต จะร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะรวบรวมกรรมวิธีการเยียวยาและรักษา ทำการวิจัย และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบในโอกาสต่อไป

ทั้งนี้ ขอเรียนเชิญแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์แผนจีน หมอพื้นบ้าน เภสัชกรผู้รักชาติทั้งหลาย ได้ร่วมกันระดมเสนอหนทางจากประสบการณ์ตรงและให้ข้อมูลการช่วยเหลือและรักษาผู้ที่เป็นภาวะลองโควิด-19 และผู้ที่ได้รับผลกระทบของวัคซีน เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้มากที่สุดอย่างเป็นระบบและเข้าสู่เป็นงานวิจัยต่อไป

ประการที่แปด - นอกจากขบวนการปกปิดข้อมูลแล้ว สังคมไทยควรตระหนักถึงความเสี่ยงอันตรายและรู้เท่าทันความเสี่ยงจากงานวิจัยในประเทศไทยที่สนับสนุนโดยทุนต่างชาติเพื่อหาหนทางการตัดต่อพันธุกรรมไวรัสจากค้างคาวเพื่อให้กลายเป็นเชื้อไวรัสในมนุษย์ อาจกลายเป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนบางกลุ่มที่ต้องการแสวงหาผลกำไรและความมั่งคั่งจากทำให้เกิดการแพร่ระบาดโรคระบาดสร้างความเสียหายต่อประชาคมโลกต่อไปในอนาคต และเห็นว่าสถาบันวิชาการในประเทศไทยควรเห็นแก่ประโยชน์ของชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์ของกลุ่มทุนต่างชาติ

สุดท้ายนี้สถานการณ์ปัญหาจากภาวะลองโควิด-19 และภาวะผลกระทบของวัคซีน จะต้องเริ่มต้นจากการยอมรับความจริง การเปิดเผยความจริงในประโยชน์และความเสี่ยงตลอดจนผลกระทบอย่างรอบด้านเท่านั้น จะทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนในการตัดสินใจและสร้างความตระหนักต่อความเสี่ยงการรับวัคซีนและไม่รับวัคซีนในอนาคต รวมถึงทำให้ประชาชนได้รับรู้เพื่อตระหนักและรีบตรวจคัดกรองความเสี่ยงก่อนที่จะเกิดอันตรายในผลกระทบต่างๆ เพื่อทำให้เกิดการแสวงหาและรวบรวมหนทางในการฟื้นฟูสุขภาพ หรือรักษาประชาชนอย่างถูกต้องต่อไป และจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลในฐานะผู้ที่สนับสนุนและรณรงค์การใช้วัคซีนมาโดยตลอด ต้องให้การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีนอย่างเต็มที่และรวดเร็วต่อไปด้วย

แถลงโดย
ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และ อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
14 มกราคม 2567

'หมอธีระวัฒน์' เผย!! พบแท่งย้วยสีขาว คล้ายหนวดปลาหมึกในคนที่ฉีด mRNA ชี้!! ปรากฏการณ์นี้ไม่พบมาก่อนที่จะมีวัคซีนโควิดและคนที่ตายจากโควิด

(20 ก.พ.67) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊ก 'ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha' ระบุว่า...

คนที่ยังไม่ตายหรือตายแล้ว จากวัคซีนโควิด mRNA พบ : แท่งย้วยสีขาว (white clot) คล้ายหนวดปลาหมึก ไม่เคยพบมาก่อน

รายละเอียด ยูทูบ John Campbell white clots USA Part 1 และ 2
(Part 1 https://youtu.be/nLl69c46JK0?si=NzXljM-mE9WY0Y2Z)
(Part 2 https://youtu.be/-o20mtbsL7Q?si=VZZgMR2d34MlI5Sc)

จากรูปจะพบของเหลวที่ดูดจากช่องท้อง บริเวณใกล้ตับอ่อน คนป่วย ที่ยังมีชีวิต และรูปจากคนป่วยที่กำลังจะเสียชีวิต รักษาด้วยการผ่าตัดไม่ทัน และตาย รวมทั้งรายอื่นที่เสียชีวิตไปแล้วและลากสิ่งที่อยู่ในหลอดเลือดแดง carotid ที่ไปเลี้ยงสมอง

ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้พบมาก่อนที่จะมีวัคซีนโควิดและไม่ได้เจอในคนที่ตายจากโควิด หรือโรคอื่น

และยังมีรายงานก่อนหน้านี้ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางพยาธิวิทยาในเยอรมนี ที่มีชื่อเสียง ที่ทำการผ่าศพชันสูตร พบลักษณะลักษณะเดียวกัน กับในที่เห็นในสหรัฐอเมริกา

‘หมอดื้อ’ ประกาศลาออก จาก ‘หน.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่’ ชี้ ลดความกังวลขององค์กร ปมวิจารณ์เรื่อง ‘วัคซีน-ไวรัสตัดต่อพันธุกรรม’

(26 เม.ย.67) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha โดยระบุว่า…

เรียนทุกท่านครับ

เนื่องจากมีความกังวลจากองค์กร ว่าหมอเอง ทางสังคมมีการใช้ชื่อขององค์กรในการให้ความเห็นเรื่องของวัคซีน / เรื่องของไวรัสตัดต่อพันธุกรรม และเรื่องอื่น ๆ

ดังนั้น หมอได้ ลาออกจากหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ แล้วครับ ในวันที่ 25/4
และเป็นผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาท ในฐานะกลุ่มแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ที่เห็นชีวิตของประชาชนเป็นที่ตั้ง

(ยังคงเป็นอาจารย์พิเศษสาขาประสาทวิทยา โดยไม่รับค่าตอบแทน)

ซึ่งทางด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ก็ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

หมอธีระวัฒน์ลาออกจาก ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ แต่เพื่อชัยชนะทาง ‘อิสรภาพ’ ในการ ‘พูดความจริง’ เดินหน้าต่อร่วมจัดเสวนา ‘อันตรายจากวัคซีนโควิด-19 ร้ายแรงกว่าที่คิด’ หอศิลป์กรุงเทพ 3 พ.ค.นี้

ตามที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยเหตุผลว่า

‘เนื่องจากมีความกังวลจากองค์กร ว่าหมอเอง ทางสังคมมีการใช้ชื่อขององค์กรในการให้ความเห็นเรื่องของวัคซีน /เรื่องของไวรัสตัดต่อพันธุกรรม และเรื่องอื่น ๆ’

ขอให้กำลังใจแด่ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ได้มีความกล้าหาญและเสียสละในการตัดสินใจครั้งนี้

การตัดสินใจครั้งนี้ไม่ใช่เป็นความพ่ายแพ้ หากแต่เป็นชัยชนะในการประกาศอิสรภาพเพื่อพูดความจริงให้ได้ตรงประเด็นได้มากยิ่งขึ้น ในฐานะ ‘ศาสตราจารย์นายแพทย์’ ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาท

และในฐานะ ‘กลุ่มแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ที่เห็นชีวิตของประชาชนเป็นที่ตั้ง’ และการลาออกครั้งนี้ไม่ได้ทำให้การทำหน้าที่ของศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑาหายไป เพราะวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต จะยังคงเดินหน้าและเคียงข้างในการนำเสนอความจริงและทางออกให้กับประเทศ ร่วมกับศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ต่อไป

ดังนั้น การจัดกิจกรรมระหว่างศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กับวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิตจะยังคงเดินหน้าต่อไปในทางวิชาการเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยความจริงที่เข้มข้นกว่าเดิม

ดังนั้น จึงจะขอแจ้งตัดชื่อหรือโลโก้ในภาพการประชาสัมพันธ์ ที่เกี่ยวข้องกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โดยได้นำแถบดำมาปิดโลโก้ทั้งหมดด้านล่างเอาไว้แล้ว สำหรับการจัดเสวนาที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 นี้ คงเหลือแต่ ‘วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต’ เท่านั้น ที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัดงานนี้เอง

ดังนั้น ช่วยกันแชร์ และขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมเสวนาครั้งที่ 2 ณ หอศิลป์กรุงเทพฯ วันที่ 3 พ.ค. เปิดข้อมูลและความจริงชัดเจนยิ่งขึ้น ในหัวข้อ ‘อันตรายจากวัคซีนร้ายแรงกว่าที่คิด’

โดย วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกมหาวิทยาลัยรังสิต จัดคลินิกแพทย์เคลื่อนที่ และการเสวนา ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ ‘อันตรายจากวัคซีนโควิด-19 ร้ายแรงกว่าที่คิด’ ในวันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน และในงานพบกับ…

10.00 น.-13.00 น. หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกมหาวิทยาลัยรังสิต เปิดให้คำปรึกษาและรักษาเบื้องต้น ภาวะลองโควิด และผลกระทบจากวัคซีน โควิด-19 ด้วยการบูรณาการ ศาสตร์การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนจีน และธรรมชาติบำบัดฟรี

13.00 น.-17.00 น. งานเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ ‘อันตรายจากวัคซีนโควิด-19 ร้ายแรงกว่าที่คิด’ โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาท, นายแพทย์ อรรถพล สุคนธาภิรมย์ กลุ่มแพทย์และจิตอาสาคนไทยพิทักษ์สิทธิ์, อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้เข้าร่วมเสวนาอีกหลายท่าน

จึงขอเรียนเชิญท่านสื่อมวลชน ผู้ป่วย และพี่น้องประชาชนที่สนใจหรือต้องการให้กำลังใจ หรือแบ่งปันข้อมูล เข้าร่วมงานในวันและเวลาดังกล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top