Tuesday, 14 May 2024
ส่งออกไทย

‘พาณิชย์ฯ’ เผยตัวเลขส่งออกไทย ก.ย.66 พลิกบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง

(24 ต.ค.66) นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกันยายน 2566 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 25,476 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 2.1 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากตลาดคาดว่า หดตัวร้อยละ 1.75-2.00

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,383 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 8.3 ส่งผลให้เดือนกันยายน ไทยเกินดุลการค้า 2,093 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.66) การส่งออก มีมูลค่ารวม 213,069 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 3.8 การนำเข้า มีมูลค่ารวม 218,902 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ 9 เดือนแรกปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 5,833 ล้านดอลลาร์

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกของไทย ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีน อาทิ ทุเรียน และมังคุด รวมทั้งการส่งออกข้าวที่ขยายตัวได้ดีในตลาดแอฟริกาใต้และอินโดนีเซีย ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่ขยายตัวต่อเนื่อง ยังคงเป็นสินค้าที่เติบโตตามเมกะเทรนด์ เช่น โซลาร์เซลล์ และโทรศัพท์มือถือ

‘มะพร้าวน้ำหอมไทย’ จ่อขึ้นแท่นสินค้าดาวเด่นในงาน ‘CIIE’ ครั้งที่ 6 หลังฮอตฮิตในตลาดจีน เอื้อโอกาสธุรกิจเติบโต-สานฝันผู้ส่งออกไทย

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. สำนักข่าวซินหัว, ราชบุรี รายงานข่าวความโด่งดังของอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี จากการเป็นที่ตั้งของตลาดน้ำอายุนับศตวรรษ อีกทั้งเป็นพื้นที่ผลิต ‘มะพร้าวน้ำหอม’ แห่งสำคัญของไทย ซึ่งมีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์และรสชาติหอมหวาน โดยปัจจุบันเหล่าคนงานที่สายการประกอบในอำเภอแห่งนี้ กำลังสาละวนกับการบรรจุมะพร้าวที่ปอกเปลือกแล้วลงหีบห่อเพื่อเตรียมจัดส่งสู่จีน

นายณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน ผู้ส่งออกมะพร้าววัย 53 ปี จากดำเนินสะดวก รู้สึกตื่นเต้นที่มีโอกาสได้แนะนำผลิตภัณฑ์มะพร้าวของตนแก่กลุ่มลูกค้าชาวจีนอีกครั้ง ในฐานะผู้จัดแสดงของงานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน (CIIE) ครั้งที่ 6 ในนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน

นายณรงค์ศักดิ์ ซึ่งเป็นประธานบริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด (NC Coconut) เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวของจีนว่า เขารู้สึกยินดีและตื่นเต้นที่ได้ร่วมงานมหกรรมการค้าที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ในจีนอีกครั้ง โดยปีนี้นับเป็นการกลับมาจัดแสดงครั้งสำคัญ หลังจากต้องระงับไปก่อนหน้านี้เนื่องจากการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

นายณรงค์ศักดิ์เกิดมาในครอบครัวเกษตรกรและได้เพาะปลูกมะพร้าวกับพ่อแม่ตั้งแต่วัยเด็ก เขาหลงรักมะพร้าว รู้ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะปลูกมะพร้าวให้ได้พันธุ์ดีที่สุด และสามารถบอกได้ว่า มะพร้าวแบบไหนมีรสชาติอร่อยแค่เพียงกวาดสายตามอง

เมื่อปี 2009 นายณรงค์ศักดิ์จัดตั้งบริษัทมะพร้าวของตนเองที่มีชื่อว่า ‘เอ็นซี โคโคนัท’ ซึ่งปัจจุบันแปรรูปมะพร้าวราว 20 ล้านลูกต่อปี และมีจีนเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของบริษัทฯ คิดเป็นราวร้อยละ 60-70 ของยอดส่งออกทั้งหมด

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ มะพร้าวน้ำหอมของไทยเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ลูกค้าชาวจีน และงานมหกรรมฯ มีบทบาทสำคัญในการขยายธุรกิจของณรงค์ศักดิ์ในตลาดจีน โดยเขากล่าวว่างานมหกรรมฯ เป็นเวทีเสริมสร้างการเชื่อมต่อและความร่วมมือระหว่างผู้ค้าชาวจีนและทั่วโลก ทั้งยังมอบโอกาสการนำเสนอแบรนด์และผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงของเรา รวมถึงเพิ่มการมองเห็นผ่านการตลาดและการส่งเสริมการตลาด

นายณรงค์ศักดิ์ร่วมงานมหกรรมฯ ครั้งแรกในปี 2018 หลังจากได้รับคำเชิญจากหุ้นส่วนทางธุรกิจในจีน ประสบการณ์ครั้งแรกของเขาในฐานะผู้เยี่ยมชมเป็นไปอย่างน่าประทับใจ งานครั้งนั้นถูกจัดเตรียมขึ้นเป็นอย่างดี พื้นที่นิทรรศการมีขนาดใหญ่มาก และพร้อมพรั่งด้วยหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย

นายณรงค์ศักดิ์ระบุว่า งานมหกรรมฯ เป็นเสมือนหน้าต่างบานสำคัญสำหรับผลไม้ที่มีคุณภาพสูงจากทั่วโลกในการเข้าสู่ตลาดจีน โดยในปี 2019 เอ็นซี โคโคนัท เริ่มจัดแสดงผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่งานมหกรรมฯ ครั้งที่ 2 ผ่านหุ้นส่วนทางธุรกิจ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมากจากลูกค้าและทำให้ณรงค์ศักดิ์มองเห็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมและขยับขยายการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในตลาดจีน

สำหรับงานมหกรรมฯ ครั้งที่ 6 ประจำปีนี้ ซึ่งมีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 5-10 พ.ย. ในเซี่ยงไฮ้ บริษัทของณรงค์ศักดิ์พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ นอกเหนือจากกลุ่มผลิตภัณฑ์มะพร้าวอ่อนซึ่งส่งออกสู่จีนเป็นหลัก

การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ คาดว่าจะเป็นโอกาสกระตุ้นการเติบโตในตลาดจีน เนื่องจากน้ำมะพร้าวน้ำหอมแบบบรรจุขวดสอดรับกับวิถีชีวิตแบบสุขภาพดี และความต้องการที่เพิ่มสูงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และการเข้าร่วมงานมหกรรมฯ ยังมอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคต

นายณรงค์ศักดิ์เสริมว่า น้ำมะพร้าวพร้อมดื่มนี้ถูกผลิตโดยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของเรา ซึ่งทำให้สามารถจัดเก็บได้นานถึงหนึ่งปีโดยไม่ต้องแช่เย็น ส่งผลให้มีราคาที่อิงตามท้องตลาด และยังคงไว้ซึ่งลักษณะทางธรรมชาติ

“ตลาดจีนมีขนาดใหญ่มากและมีศักยภาพการบริโภคมหาศาล งานมหกรรมฯ จึงเอื้อให้เราได้แบ่งปันโอกาสการพัฒนาของจีน ซึ่งหมายถึงการที่ธุรกิจขนาดย่อมอย่างพวกเราสามารถบรรลุความฝันอันยิ่งใหญ่ได้” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

‘กระทรวงพาณิชย์’ ประกาศหมัดเด็ด ‘5 ด้าน’ ดันยอดส่งออกไทยปี 67 ทะลุ 10 ล้านล้าน

(16 พ.ย.66) ที่กระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อทำแผนการผลักดันการส่งออกของไทยในปี 2567 โดยภายหลังการหารือ ที่ประชุมได้รับทราบการตั้งเป้าหมายการส่งออกของไทยปีหน้า

เบื้องต้น ประเมินว่า จะขยายตัว 1.99% หรือประมาณ 2% โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 287,754 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท

นายภูมิธรรม ระบุว่า ในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์จะรักษารับการเติบโตในปีที่ผ่านมาให้เป็นบวกต่อไป หลังจากเห็นสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนน่าจะมาจากกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล น่าจะจบลงในระยะเวลาอันใกล้ เพื่อให้การค้าระหว่างประเทศกลับมาอยู่ในสถานการณ์ปกติมีความเสี่ยงเกิดขึ้น

พร้อมกันนี้ยังได้ประกาศแผนการเร่งรัดการส่งออกของไทย โดยได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน 5 ด้าน ดังนี้ 

1.เปิดประตูโอกาสทางการค้าสู่ตลาดใหม่ ควบคู่การรักษาตลาดเดิม 

โดยเดินสายสร้างสัมพันธ์ทั่วโลก เร่งผลักดันการเจรจา FTA ขยายการค้าไปยังเมืองรอง แผน 100 วัน ได้สร้างมูลค่าการสั่งซื้อรวมกันแล้วกว่า 490 ล้านบาท จากการผลักดันสินค้าไทยไปจัดแสดง ณ งาน CAEXPO ในหนานหนิงและงาน CIIE ในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และประเทศไทยได้ถูกเพิ่มในระบบ E-visa ของประเทศซาอุดิอาราเบียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

โดยแผน 1 ปี จะมีกิจกรรม Goodwill จำนวน 24 กิจกรรม กิจกรรมเปิดตลาดเชิงรุก มี Trade Mission 17 กิจกรรม ในประเทศมัลดีฟส์ อาเซียน ยุโรป UK รัสเซีย งานแสดงสินค้าไทย 12 กิจกรรม ในจีน อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา รวมถึงการขยายการค้าไปยังเมืองรอง 6 กิจกรรม 

พร้อมทั้งจัดทำ MOU กับเมืองรองเพิ่ม เช่น แอฟริกา (โจฮันเนสเบิร์ก โมซัมบิก) จีน (กว่างซีจ้วง เจ้อเจียง ซานซี เฮยหลงเจียง ฝูเจี้ยน) ภายใต้ยุทธศาสตร์ ‘การค้าเชิงรุกรายมณฑลจีน’ และต่อยอด MOU ที่ลงนามแล้ว รวมไปถึงการขยายช่องทางการค้าใหม่ๆ เช่น การเจาะธุรกิจ Horeca ในยุโรปและเร่งสรุปผลการเจรจา FTA กับคู่เจรจาต่าง ๆ 

2.ทูตพาณิชย์ ทำงานเชิงรุก

โดยร่วมทำงานกับพาณิชย์จังหวัดให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เชื่อมโยงสินค้าท้องถิ่นสู่ตลาดโลก โดยได้มอบนโยบายต่อทูตพาณิชย์ในการเร่งหาช่องทางการค้าใหม่ๆ เช่น การค้นหา Influencer ทั้งในไทยและต่างประเทศที่มีผู้ติดตามมากเพื่อเพิ่มการรับรู้สินค้าไทย และใช้ร้านอาหาร Thai Select เป็นเสมือนที่จัดแสดงสินค้าภูมิปัญญาไทยและช่องทางส่งออกวัตถุดิบอาหารและเครื่องปรุงรสของไทย 

รวมทั้งบูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกันระหว่างทูตพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด และทัพหน้าของไทยในต่างแดน อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ BOI เพื่อช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทย โดยในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 นี้ นายกรัฐมนตรีจะมอบนโยบายการทำงานให้กับทูตทั่วโลก โดยกระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอการขับเคลื่อนนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกต่อนายกรัฐมนตรี สำหรับแผน 1 ปีจะดำเนินการหาช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ให้มากขึ้น เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทย ในประเทศประจำการเขตอาณาและเพิ่มบทบาททูตพาณิชย์ ให้เป็นคู่คิดของผู้ประกอบการ SMEs ‘พาณิชย์คู่คิด SMEs’ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะรายเล็กให้สามารถส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น

3. ส่งเสริม SOFT POWER เป้าหมายรุกสู่เวทีโลก 

ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้า/บริการไทยด้วยแบรนด์ นวัตกรรม และการออกแบบ และส่งเสริมสู่ตลาดโลก โดยมีเป้าหมายในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ อาหาร ดิจิทัล คอนเทนต์ มวลไทย ท่องเที่ยว หนังสือ และเกม ล่าสุดจากการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร Anuga ที่เยอรมนี สร้างมูลค่า 5,318.05 ล้านบาท และกลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ สร้างรายได้กว่า 2,620.13 ล้านบาท 

ทั้งนี้ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2566 นี้ จะจัดงาน Muay Thai Global Power ณ ไอคอนสยาม การร่วมงาน Asia TV Forum and Market ที่สิงคโปร์ รวมทั้งในวันนี้ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวไว้ด้วยกัน 

สำหรับแผน 1 ปี จะมีการเปิดตัว SOFT POWER Global Brand จำนวน 9 กิจกรรม ทั้งในส่วนของการ re-branding Thai select, เครื่องหมาย Thailand Trust mark, Demark เป็นต้น การส่งเสริมดิจิทัลคอนเทนต์ 19 กิจกรรม กลุ่มสินค้าอาหาร 76 กิจกรรม หนังสือ 2 กิจกรรม และสนับสนุนนักออกแบบไทยผ่านโครงการต่างๆ 

4.ปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล 

โดยปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ปรับบทบาทเป็นรัฐสนับสนุน โดยแผน quick win 100 วันที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ การปรับปรุง พ.ร.บ. สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ พ.ศ.2537 การปรับปรุงเว็บไซต์กรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การหารือกับภาคเอกชนร่วม ยกร่างแผนเร่งรัดการส่งออกและการค้าชายแดน quick win 100 วัน 

ส่วนแผน 1 ปี จะเดินหน้าทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ในการแก้ไขปัญหา/อุปสรรคทางการค้า โดยต่อยอดคณะทำงานร่วมกระทรวงพาณิชย์

5. ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ 

เริ่มตั้งแต่การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว โดยแผน quick win 100 วันที่จะดำเนินการ เช่น การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2 (ปี 2566 - 2570) การจัดเจรจาการค้าธุรกิจออนไลน์ และการส่งเสริมการขายสินค้า TOP Thai บนแพลตฟอร์มออนไลน์พันธมิตร อาทิ Shopee ในมาเลเซีย และ Rakuten ในญี่ปุ่น 

การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ อาทิ การสัมมนาเสริมสร้างทรัพย์สินทางปัญญาผู้ส่งออกไทย และการเสวนา export 5 F รวมทั้งการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ อาทิ นำผู้ประกอบการร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ Automechanika ที่ยูเออี งาน APPEX ที่สหรัฐฯ และงาน Medica ที่เยอรมนี 

ส่วนกิจกรรมที่ได้ดำเนินการแล้ว ทั้ง การจัด Virtual Showroom และ Online Business Matching  ในสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารกลุ่ม BCG สร้างมูลค่า 5.30 ล้านบาท และงานแสดงสินค้า AUTOMECHANIKA DUBAI 2023 มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมกว่า 30 ราย มูลค่าการสั่งซื้อ 2,991.27 ล้านบาท

ขณะเดียวกันในปีนี้ได้เตรียมแผนงานรองรับไว้กว่า 300 กิจกรรม อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 8 กิจกรรม เช่น การตั้งร้าน Top Thai บน Amazon ของอังกฤษ การขยายความร่วมมือกับ LetsTango.com ในยูเออี การส่งเสริมการขายกับแพลตฟอร์มพันธมิตร การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว 14 กิจกรรม 

โดยจะนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสีเขียวในยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา การยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ 108 กิจกรรม โดยการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในไทยและการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ 177 กิจกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในด้านการค้าระหว่างประเทศ

KKP Research ชี้!! ส่งออกไทยเข้าสู่ภาวะอ่อนแรง แบก ศก.เหนื่อย ซ้ำ!! ถูกจีนส่งสินค้าราคาถูกตีตลาด ในขณะที่ไทยขาดสินค้าดาวรุ่ง

(12 มี.ค. 67) สำนักวิจัย KKP Research ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ภาคส่งออกที่พัฒนามาค่อนข้างมากและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากว่า 30 ปี กำลังมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยเริ่มมีปัญหาภาคส่งออกที่กำลังอ่อนแรงไว้ว่า...

- ไทยเป็นฐานการผลิตของสินค้าโลกเก่า กล่าวคือ สินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเป็นสินค้าที่โลกมีความต้องการลดลงเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและความต้องการของตลาด ขณะที่ไทยยังไม่สามารถดึงดูดและพัฒนาเทคโนโลยีของสินค้าที่เข้ามาทดแทนได้ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์สันดาปและชิ้นส่วนยานยนต์ ที่กำลังถูกตีตลาดจากรถยนต์ไฟฟ้า, Hard Disk Drive (HDD) ที่กำลังถูกแทนที่ด้วย Solid State Drive (SSD) รวมถึงผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ความต้องการตลาดโลกลดลงตามกระแสเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น

- ประเทศไทยไม่มีสินค้าดาวรุ่งในโลกใหม่ สินค้าที่กำลังเติบโตได้ดีและเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นในตลาดโลกตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ Smart phone, Semiconductor, และ SSD ไทยกลับมีส่วนแบ่งตลาดลดลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สุดท้าย คือ สินค้าที่ยังพอมีโอกาสเป็นกลุ่มสินค้าซับซ้อนต่ำ สินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น คือ กลุ่มสินค้าเกษตรและสินค้าที่ไม่มีความซับซ้อนในการผลิต และมีมูลค่าเพิ่มไม่มากนัก เช่น ผลไม้สด เนื้อสัตว์แปรรูป ยางรถยนต์ ซึ่งอาจยังเป็นสินค้าสำคัญของภาคส่งออกไทยต่อไปได้ (ยกเว้นยางพาราและข้าวที่มีไทยมีส่วนแบ่งตลาดลดลงอย่างเห็นได้ชัด)

อย่างไรก็ดี ความต้องการสินค้ากลุ่มนี้ในตลาดโลกไม่ได้มีสัดส่วนเปลี่ยนไป และขนาดมูลค่าการส่งออกทั่วโลกของสินค้ากลุ่มนี้ไม่ได้สูงมากนัก โดยสินค้าเกษตรสำคัญของไทยคือข้าวมีแนวโน้มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดียมากขึ้นเรื่อยๆ 

ในขณะเดียวกัน เห็นได้ชัดว่าประเทศคู่แข่งเริ่มปรับเปลี่ยนโครงสร้างสินค้าส่งออกไปเป็นสินค้าใหม่ๆ มากขึ้น เช่น เวียดนามได้กลายเป็นฐานการส่งออก Smartphone แผงวงจรไฟฟ้า และ Solar cell ในตลาดโลกมากขึ้น หรือมาเลเซียที่หันมาส่งออกสินค้าโลกใหม่ เช่น SSD มากขึ้นในตลาดโลก และเริ่มลดการส่งออกสินค้าโลกเก่าอย่าง HDD ลง

- ด้านเศรษฐกิจไทยยังถูกตีตลาดจากจีนมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ไทยพึ่งพาจีนในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของโลก แต่ปัจจุบันสินค้าหลายชนิด จีนผลิตได้เองในต้นทุนที่ถูกกว่าและส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายมาที่ไทยโดยตรง 

KKP Research มองว่าปรากฏการณ์นี้กระทบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการแข่งขันที่ยิ่งลดลง จากการที่ภาคการผลิตของไทยแข่งยากขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกของจีนที่ราคาถูกกว่า ทั้งสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เหล็ก รถยนต์โดยเฉพาะรถไฟฟ้า EV เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ยางรถยนต์

ด้านมูลค่าเพิ่มของสินค้าส่งออกไทยลดลง เหตุจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่รุนแรงขึ้น ทำให้สหรัฐฯ ลดการนำเข้าสินค้าโดยตรงจากจีน ผู้ประกอบการจีนจึงโยกย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่นเพื่อใช้เป็นช่องทางในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ (Re-routing) รวมถึงไทย เช่น การส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ (Solar PV) ของไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ในภาพรวมเป็นเพียงแค่ทางผ่านของแผงโซลาร์เซลล์จากจีนไปยังตลาดสหรัฐฯ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทยน้อยมาก ดังนั้น หากแนวโน้ม Re-routing ขยายวงกว้างขึ้นไปยังสินค้าอื่นๆ จะทำให้มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในประเทศ ไม่เพิ่มขึ้นแม้การส่งออกจะยังเติบโตได้ก็ตาม

- ด้านจีนเข้ามาทำธุรกิจในไทยโดยตรงมากขึ้น เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจและเข้ามาเจาะตลาดในไทยโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจในภาคบริการอื่นๆ โดยในปัจจุบันการลงทุนโดยตรง (FDI) จากจีนเร่งตัวขึ้นจนเป็นอันดับหนึ่งตั้งแต่ปี 2022 แซงหน้าญี่ปุ่นที่เคยเป็นแหล่งเงินลงทุนโดยตรงรายใหญ่ในไทย ในแง่หนึ่งการลงทุนที่เพิ่มขึ้นนี้อาจเป็นผลดีต่อการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แต่ก็จะทำให้ธุรกิจไทยเองต้องเร่งปรับตัวรับการแข่งขันในตลาดในประเทศที่จะดุเดือดขึ้น

ความท้าทายนี้ ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 มิติ คือ...

(1) ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลง จากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง และจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เพราะ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจกว่าครึ่งหนึ่งมาจากภาคการส่งออกสินค้า 

(2) แรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงตกงานหรือรายได้ไม่โต 

และ (3) ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจไม่กลับไปสูงเหมือนในอดีต สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในระยะยาว

ทั้งนี้ สำหรับแนวทางออก KKP Research แนะนำว่าผลกระทบด้านลบทั้งหมดนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น หากแต่ต้องหานโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง (Supply-side structural reform policy) โดยดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระดับการพัฒนาและจุดแข็งของเศรษฐกิจไทย เร่งเพิ่มศักยภาพของแรงงานให้มีความสามารถในการรองรับการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น รวมไปถึงดึงดูดแรงงานที่มีทักษะจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ อีกทั้งควรลดข้อจำกัดและกฎระเบียบในการทำธุรกิจ เพื่อเสริมให้ศักยภาพที่อ่อนแรงลงของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นกลับมาเติบโตได้ดีขึ้นในระยะยาว 

นอกจากนี้ ควรมีการประเมินและหาแนวทางบรรเทาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ จากการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

ส่งออกมีนาคมไทย ติดลบ 10.9% ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ลบ 4% หยุดสถิติส่งออกไทยโต 7 เดือนติด สู่ติดลบแรกในรอบ 8 เดือน

(29 เม.ย. 67) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ เปิดเผยว่า การค้าระหว่างประเทศ หรือการส่งออกเดือนมีนาคม 2567 พบว่ามีมูลค่า 24,960.6 ล้านดอลลาร์ หดตัว 10.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ส่วนการนำเข้ามูลค่า 26,123.8 ล้านดอลลาร์ ขาดดุล 1,163.3 ล้านดอลลาร์

สาเหตุจากฐานการส่งออกที่สูงในเดือนเดียวกันของปี 2566 แต่ยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของมูลค่าการส่งออกย้อนหลัง 5 ปี จากปัจจัยหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน และขยายตัวต่ำ ปัญหาความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ การดำเนินนโยบายทางการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยอย่างเข้มงวดยาวนาน ส่งผลต่อกำลังซื้อปัญหาหนี้สิน และการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ

หากพิจารณาในภาพรวม 3 เดือนแรก หรือไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 พบว่า มีมูลค่า 70,995.3 ล้านดอลลาร์ หดตัว 0.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 การนำเข้า มีมูลค่า 75,470.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.8% ดุลการค้า ไตรมาสแรกของปี 2567 ขาดดุล 4,475.2 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (827,139 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ 3.6 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 2.3


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top