Tuesday, 14 May 2024
ส่งออกข้าว

“เฉลิมชัย” มอบ “อลงกรณ์” ลงพื้นที่หน้าด่านหนองคาย-อุดรฯ สัปดาห์หน้า ประสานผู้ประกอบการ ”ไทย-ลาว-จีน” ร่วมมือส่งออกข้าว-ยางพารา-ผลไม้ บนเส้นทางรถไฟสายใหม่รับมือฤดูกาลผลิตปี 2565

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กรกอ.)และประธานคณะทำงานจัดทำแผนแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบเปิด

เผยวันนี้(21ม.ค.)ว่า ในวันพฤหัสบดีสัปดาห์หน้าจะเดินทางไปหนองคาย-อุดรฯ เพื่อหารือกับผู้ประกอบการ ”ไทย-ลาว-จีน” ด้านโลจิสติกส์เพื่อร่วมมือกันในการสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา ผัก ผลไม้กล้วยไม้ สินค้าประมงและสินค้าปศุสัตว์บนเส้นทางรถไฟลาว-จีน 

สำหรับฤดูกาลผลิตปี 2565 ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวมทั้งการติดตามความคืบหน้าของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีทางด้านการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรอาหารและโครงการโลจิสติกส์ปาร์คตลอดจนการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ไนโตรเจนฟรีสเซอร์และระบบตรวจสอบย้อนกลับเพื่อการส่งออก

“ประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวสาร จำนวน 20 ตู้ ปริมาณ 500 ตันโดยใช้เส้นทางรถไฟสายจีน-ลาวโดยมีจุดหมายปลายทางที่มหานครฉงชิ่ง (Chongqing)ในภาคตะวันตกของจีนเป็น Shipment แรกซึ่งสามารถผ่านการตรวจตราและออกใบรับรองจากด่านตรวจพืชที่หนองคายขนส่งถึงท่าบกท่านาและผ่านการเห็นชอบของด่านศุลกากรลาวแล้วรอขบวนรถขนส่งสินค้าเพื่อเดินทางออกจากสถานีเวียงจันทน์ใต้ไปมหานครฉงชิ่ง ก่อนหน้านี้ได้รับรายงานคลาดเคลื่อนจากหน่วยงานว่าขนส่งไปฉงชิ่งแล้วรวมทั้งจำนวนน้ำหนักซึ่งได้ช่วยประสานงานกับทางลาวและได้รับความร่วมมืออย่างดีในการอนุมัติผ่านด่านศุลกากรและกระทรวงเกษตรของลาว เมื่อขบวนรถไฟขนส่งมาถึงก็พร้อมออกเดินทางได้ทันที

การขนส่งระบบรางเป็นระบบใหม่จากไทยผ่านแดนลาวเพื่อขยายโอกาสทางการค้าภายใต้การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ ภาคเกษตรกรและภาคเอกชนตามนโยบายการพัฒนาโลจิสติกส์เกษตรและยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตเพื่อการส่งออกของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์กับ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งทั้ง 2 ท่านได้ดำเนินการเจรจากับทางการจีนและลาวทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการตลอดมาโดยเฉพาะในภาวะที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแล้วระลอกเล่าซึ่งทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบากแต่ด้วยความมุ่งมั่นและความร่วมมือของทุกฝ่ายจึงสามารถฝ่าฟันอุปสรรคมาได้และถอดบทเรียนปัญหามาสู่การขับเคลื่อนไปข้างหน้าร่วมกัน” 

‘เฉลิมชัย’ ปลื้ม!! ข้าวไทยครองแชมป์ข้าวที่ดีที่สุด 2 ปีซ้อน ส่งออกเบอร์ 2 ของโลก 9 เดือนแรก โกย 9 หมื่นล้านบาท

‘เฉลิมชัย’ ขอบคุณชาวนาพาไทยผงาดเบอร์ 2 ส่งออกข้าวโลกและครองแชมป์ข้าวดีที่สุดในโลก 2 ปีซ้อน พอใจส่งออกข้าว 9 เดือน 9 หมื่นล้าน เพิ่มทั้งปริมาณและมูลค่าพร้อมเดินหน้านโยบายประกันรายได้ข้าวปีที่ 4 ชี้ เป็นประโยชน์ช่วยเพิ่มรายได้ชาวนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

(14 พ.ย. 65) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แสดงความพอใจต่อการพัฒนาศักยภาพของชาวนาไทยและการส่งออกข้าวภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 และยุทธศาสตร์ ‘ตลาดนำการผลิต’ ตั้งเป้าไทยเป็นผู้นำในด้านการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลกเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและราคาโดย 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค. - ก.ย. 65) ประเทศไทยส่งออกข้าวไปต่างประเทศได้ทั้งสิ้น 5.41 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 39.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าส่งออก 2,796.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้ถึง 95,233 ล้านบาท 

สำหรับราคาส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยในเดือน ก.ย. 65 อยู่ที่ตันละ 510.8 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ที่ราคาตันละ 500.5 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ 7-8 ล้านตันทำให้ประเทศไทยกลับมาผงาดขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกในปีนี้อย่างแน่นอน

'อินเดีย' ห้ามส่งออกข้าวกระทบประชากรหลายล้านคน ด้านไทยพร้อม หลังผลผลิตเพียงพอ เหลือพอส่งออกเพิ่ม

ไม่นานมานี้ สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ได้ห้ามส่งออกข้าวขาว ที่ไม่ใช้พันธุ์บาสมาติ (Basmati) เมื่อวันที่ 20 ก.ค. เสี่ยงสั่นคลอนตลาดข้าวทั่วโลก มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อปากท้องของประชาชนหลายล้านคน โดยเฉพาะเอเชียและแอฟริกา

เหตุผลเพราะรัฐบาลอินเดียต้องการควบคุมราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นภายในประเทศ และรับประกันว่าจะมีปริมาณข้าวราคาเหมาะสมเพียงพอภายในประเทศ 

ทั้งนี้ อินเดียมีสัดส่วนส่งออกข้าว กว่า 40% ของการค้าข้าวทั่วโลก โดยมีมาเลเซีย, สิงคโปร์ เป็นสองประเทศในอาเซียนที่พึ่งพาข้าวจากอินเดียมาก รวมทั้งแอฟริกา, ตะวันออกกลาง, แอฟริกาเหนือ (MENA) โดยประเทศจิบูตี, ไลบีเรีย, กาตาร์, แกมเบีย และคูเวต มีความเสี่ยงมากที่สุด ตามรายงานของธนาคารบาร์เคลย์

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งกรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ ที่ประจำอยู่ในประเทศที่มีการผลิตข้าว ส่งออกข้าว หรือนำเข้าข้าว ให้ติดตามสถานการณ์ข้าวอย่างใกล้ชิด หลังจากที่อินเดียได้ประกาศห้ามส่งออกข้าวขาว ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา เพื่อนำข้อมูลหรือแนวโน้มที่เกิดขึ้น มากำหนดแผนและมาตรการในเรื่องข้าวของไทยต่อไป

ทั้งนี้ ในส่วนของกรมการค้าต่างประเทศ ขอให้ติดตามสถานการณ์การส่งออกว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างไร ประเทศไหนมีความต้องการเพิ่มขึ้น สถานการณ์ด้านราคาส่งออกเป็นอย่างไร กรมการค้าภายใน ให้ติดตามสถานการณ์สต็อกในประเทศ ราคาข้าวเปลือกในประเทศ และทูตพาณิชย์ ให้ติดตามว่าแต่ละประเทศมีมาตรการและนโยบายในเรื่องข้าวอย่างไร มีความต้องการเพิ่มขึ้นหรือไม่

นายกีรติกล่าวว่า เมื่อเห็นภาพชัดเจนแล้วว่าทิศทางข้าว จะเป็นไปอย่างไร กระทรวงพาณิชย์จะมาทำแผนและมาตรการในเรื่องข้าว ซึ่งมีสมมติฐานตั้งแต่เบาไปหาหนัก แล้วแต่ว่าสถานการณ์ข้าวในตลาดโลกว่ามีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ถ้ายังคงเป็นปกติ ไม่มีอะไร ก็ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้กลไกตลาดขับเคลื่อนต่อไป แต่ถ้าเริ่มเห็นสัญญาณความต้องการข้าวที่สูงขึ้น ก็จะมาพิจารณาว่าจะใช้มาตรการอะไร ซึ่งมองว่าอาจจะไม่ต้องใช้เลยก็ได้ เพราะไทยเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวรายสำคัญของโลก ผลผลิตมีเพียงพอ และเหลือที่จะส่งออก

"ผมมองว่าน่า 1-2 สัปดาห์ จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าแนวโน้มตลาดข้าวโลกจะเป็นอย่างไร เบื้องต้น ในประเทศไม่มีปัญหาขาดแคลนแน่นอน เพราะไทยเป็นประเทศผู้ผลิตข้าว และเหลือส่งออก แต่จะส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวมากกว่า การส่งออกปีนี้ น่าจะเกิน 8 ล้านตัน จากที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้ และราคาข้าวในประเทศจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น" นายกีรติกล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์มีความเป็นห่วงในเรื่องของภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญมากกว่า โดยมีการประเมินกันว่าจะเกิดต่อเนื่อง 1-3 ปี ซึ่งน่าจะมีผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าวของไทย และทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวไทยลดลง โดยล่าสุดได้มีการหารือกับปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว เพื่อร่วมกันทำแผนรับมือ เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตลดลง

'ศูนย์วิจัยกสิกร' มอง!! ส่งออกข้าวไทยปี 67 อาจจะลดลง -13% หากอินเดียกลับมาส่งออกข้าวแข่งกับไทย หลังจบการเลือกตั้ง

(12 ก.พ. 67) Business Tomorrow เผย ตัวเลขปี 2566 ซึ่งเป็นปีทองส่งออกข้าวไทย เนื่องจากการส่งออกข้าวไทยมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 5 ปีอยู่ที่ 5,144 ล้าน ดอลลาร์ หรือเติบโต +29% (YoY) โดยเป็นการเติบโตทั้งด้านราคาที่ +13.8% (YoY) ตามราคาข้าวโลกที่ปรับสูงขึ้น ภายใต้ปัจจัยหลัก 2 ประการด้วยกัน ได้แก่...

1. อินเดียงดส่งออกข้าว และปริมาณที่เติบโต +14% (YoY) (จาก 7.7 ล้านตันเป็น 8.8 ล้านตัน)

2. แรงหนุนซื้อหลักจาก อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ (ไทยส่งออกไป 3 ประเทศ นี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย +590% (YoY) และมีสัดส่วนปริมาณส่งออกรวม +26%)

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรมองปี 2567 ได้คาดการณ์ว่า การส่งออกข้าวไทยจะลดลง จากคำสั่งซื้อใหม่ของผู้ซื้อหลักที่อาจลดลงจากที่ได้เร่งนำเข้าไปแล้วในปีก่อนแม้บางส่วนจะถูกชดเชยด้วยการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับอินโดนีเซียและจีน ขณะที่ไทยคงเผชิญเอลนีโญในช่วงไตรมาสแรกของปีที่จะทำให้เกิดภัยแล้ง สะท้อนจากข้อมูลของ NOAA1 ที่คาดว่า เอลนีโญที่กำลังดำเนินอยู่จากดัชนี Ocean Nino Index (ONI) ที่สูงกว่า 0.5 องศาเซลเซียส อาจต่อเนื่องถึงในเดือน มี.ค.2567 

อีกทั้งปริมาตรน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ท้ังประเทศในวันที่ 7 ก.พ.2567 ลดลง -8% (YoY) กดดัน 2 ผลผลิตข้าวนาปรัง อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่เอลนีโญจะอ่อนกำลังลงและ เข้าสู่ภาวะเป็นกลางมากขึ้นตั้งแต่เดือนเม.ย. 2567 จึงอาจกระทบผลผลิตข้าวนาปีไม่มาก ส่งผลต่อภาพรวมผลผลิตข้าวไทยในปีนี้ให้ยังอยู่ในระดับสูงที่ราว 31 ล้านตันข้าวเปลือกซึ่งมีเพียงพอเพื่อการส่งออก

>> อินเดียอาจกลับมาส่งออกข้าวในช่วงครึ่งหลังปี 67

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญอย่างนโยบายส่งออกข้าวอินเดียในปี 2567 จะกระทบการส่งออกข้าวไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากอินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวหลักอันดับ 1 ของโลกที่ครองสัดส่วนปริมาณส่งออกราว 40% โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีความเป็นไปได้ที่อินเดียจะยกเลิกการห้ามส่งออกข้าวขาวในช่วงครึ่งหลังของ ปี 2567 หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งในเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้

เนื่องจากเหตุผลทางการเมืองในช่วงก่อนเลือกตั้งที่พรรครัฐบาลอินเดียของโมดีต้องการรักษาความนิยม และเพื่อควบคุมเงินเฟ้อภายในประเทศ จึงใช้มาตรการห้ามส่งออกข้าว (ข้าวขาว) ซึ่งคาดว่าคงมีความจำเป็นน้อยลงหากการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ประกอบกับ USDA2 คาดว่า ผลผลิตข้าวของอินเดียในปี 2567 อาจลดลงไม่มากที่ 2.8% (YoY)

ดังนั้นการที่อินเดียน่าจะกลับมาส่งออกข้าวทำให้ไทยเผชิญการแข่งขันด้านราคากับอินเดีย ซึ่งจะกดดันการส่งออกข้าวขาวไทยในปี 2567 ให้ลดลง -17% (YoY) (จาก 4.8 ล้านตันเป็น 4 ล้านตัน) ซึ่งเป็นประเภทข้าวที่ไทยส่งออกมากที่สุด คิดเป็น 51% ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดของไทย ทั้งนี้ไทยมีราคาส่งออกข้าวขาวสูงกว่าอินเดีย จึงกระทบส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวขาวไทยในตลาดโลกให้ลดลง

อย่างไรก็ดีแม้ว่าการส่งออกข้าวขาวจะมีปริมาณลดลงแต่ไทยยังมีโอกาสในการส่งออกข้าวหอมมะลิ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ไทยอาจมีปริมาณส่งออกข้าวหอมมะลิ เพิ่มขึ้น +5% (YoY) (จาก 1.32 ล้านตันเป็น 1.39 ล้านตัน) โดยข้าวหอมมะลิ แม้จะมีสัดส่วนปริมาณส่งออกไม่มากที่ 18% แต่เป็นข้าวเกรดพรีเมียมที่มีราคาขายสูง มีคุณภาพและมีโอกาสโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิอันดับ 1 ของไทย ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย +2.1% ต่อ ปีในปี 2557-2561 เป็นเฉลี่ย +5.2% ต่อปีในปี 2562-2566

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2567 ภาพรวมมูลค่าส่งออกข้าวไทย อาจลดลง -13% (YoY) จาก 5,144 ล้านดอลลาร์ เป็น 4,495 ล้าน ดอลลาร์ เนื่องจากปริมาณการส่งออกข้าวลดลง -10% (YoY) จาก 8.8 ล้านตัน เป็น 7.9 ล้านตัน และราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยลดลง -3% (YoY) จาก 587 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 569 ดอลลาร์ต่อตัน โดย สาเหตุหลักมาจากแรงฉุดของมูลค่าการส่งออกข้าวขาวที่ลดลงทั้งในด้านปริมาณ และราคา เนื่องจากศูนย์วิจัยกสิกรอาจกลับมาส่งออกข้าวขาวหลังการเลือกตั้ง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top