Wednesday, 8 May 2024
สแกนใบหน้า

ตำรวจไซเบอร์ แนะนำประชาชนสแกนใบหน้ายืนยันตัวตนที่สถาบันการเงิน ตัดวงจรภัยออนไลน์

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอประชาสัมพันธ์แนะนำประชาชนให้ดำเนินการสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อตัดวงจรการกระทำผิดของมิจฉาชีพ ป้องกันภัยทางการเงินออนไลน์ ดังนี้

ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการประกาศเผยแพร่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ซึ่งกำหนดให้มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.66 ที่ผ่านมาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน คุ้มครองประชาชนซึ่งถูกหลอกลวงจนสูญเสียทรัพย์สิน ผ่านทางโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์จากมิจฉาชีพ โดย พ.ร.ก. ดังกล่าวมีสาระสำคัญ เช่น สถาบันการเงินมีอำนาจและหน้าที่ยับยั้งธุรกรรมทางการเงินที่ต้องสงสัย ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องและเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด  ผู้เสียหายสามารถแจ้งธนาคารเพื่ออายัดเงินในบัญชีด้วยความรวดเร็ว  ผู้เสียหายสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ทั่วราชอาณาจักร และมีบทกำหนดโทษสำหรับผู้รับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝาก รวมไปถึงการซื้อขายเลขหมายโทรศัพท์ ซึ่งลงทะเบียนแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมามีการกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีปฏิบัติที่สำคัญเข้าทำการตรวจค้นทั่วประเทศกว่า 40 จุด สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้หลายราย ตรวจยึดซิมโทรศัพท์ของกลางได้รวมกว่า 110,000 ซิม เพื่อตัดวงจรการครอบครองซิมโทรศัพท์มือถือของมิจฉาชีพนำไปใช้หลอกลวงประชาชน

ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำหนดแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้ทำสถาบันการเงินปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน ภายใต้มาตรการการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ลดช่องทางของมิจฉาชีพที่ใช้ในการเข้าถึงประชาชน ซึ่งมีมาตรการที่สำคัญ คือ 1.มาตรการป้องกัน 2.มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมที่ต้องสงสัย 3.มาตรการตอบสนองและรับมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านมาตรการป้องกัน เช่น การยกเลิกการแนบ link ทางข้อความสั้น (SMS) และอีเมล  การปรับปรุงระบบการรักษาความปลอดภัยบน Mobile Banking ให้เป็นปัจจุบัน และการให้ประชน หรือลูกค้าทำการยืนยันตัวตนด้วยใบหน้า เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมการเงินผ่าน Mobile Banking ในกรณีการเปิดบัญชีแบบไม่เห็นใบหน้า (non-face-to-face)  กรณีการโอนเงินตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไปต่อครั้ง กรณียอดรวมของการโอนเงินทุก 200,000 บาทต่อวัน และกรณีการเปลี่ยนวงเงินในการทำธุรกรรม ซึ่งกำหนดให้แล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.66 นั้น  

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร และซื้อขายหมายเลขโทรศัพท์โดยผิดกฎหมาย ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมประเภทดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถยับยั้งความเสียหายได้ทันท่วงที รวมถึงสร้างการรับรู้ให้กับภาคประชาชนเพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา บช.สอท. ยังคงมุ่งหน้าปราบปรามจับกุมอาชญากรไซเบอร์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งนี้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ถือเป็นกฎหมายที่สำคัญ ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดัน และวางมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญของการหลอกลวงออนไลน์ ทำให้ภัยจากอาชญากรรมออนไลน์ลดลงอย่างต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามฝากประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนเตรียมความพร้อมและเร่งดำเนินการเข้าไปยืนยันตัวตนด้วยการสแกนใบหน้าที่สถาบันการเงิน หรือธนาคารสาขาต่างๆ หรือตามช่องทางที่ธนาคารนั้นได้กำหนดเอาไว้ เพื่อให้การทำธุรกรรมการเงินไม่ติดขัด เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเพื่อเป็นการตัดวงจรการกระทำผิดของมิจฉาชีพก่อนจะนำเอาทรัพย์สินของประชาชนหลบหนีไป

AOT จ่อใช้ระบบสแกนใบหน้าขึ้นเครื่อง ยกระดับการบิน ไม่ต้องโชว์ ‘ตั๋ว - บัตรปชช.’

AOT เตรียมใช้การสแกนใบหน้า แทนโชว์ ‘ตั๋ว - บัตรประชาชน’ ยกระดับด้านบริการ นำร่องเปิดใช้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ - ดอนเมือง ภายในปี 2567

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า AOT อยู่ในระหว่างผลักดันและพัฒนาระบบ Biomatic เข้ามาใช้ในท่าอากาศยาน โดยจะมีระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (automated biometric identification system) เทคโนโลยี facial recognition (สแกนใบหน้า) เพื่อใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสาร หลังผู้โดยสารเช็กอินผ่านเคาน์เตอร์, ผ่านระบบมือถือ หรือเครื่องเช็คอินอัตโนมัติ 

หลังจากนั้นระบบ biometric จะนำข้อมูลใบหน้าผู้โดยสารมาสร้างเป็นข้อมูล One ID เก็บไว้ ส่งผลให้ผู้โดยสารสามารถเข้าใช้บริการจุดต่าง ๆ ภายในสนามบิน ไม่ว่าจะเป็น จุดตรวจค้นสัมภาระ จุดตรวจบัตรโดยสารก่อนขึ้นเครื่อง ณ ประตูทางออกขึ้นเครื่องได้ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องใช้การยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนคู่กับ boarding passอีกต่อไป

ผู้โดยสารที่มาเช็กอินที่เคาน์เตอร์เช็กอินปกติ หรือที่เครื่อง CUSS หากผู้โดยสารให้การยินยอมใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ระบบ biometric จะนำข้อมูลใบหน้าผู้โดยสารผสานรวมกับข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสาร สร้างเป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการตรวจสอบยืนยันตัวตน เรียกว่าข้อมูล One ID

เมื่อดำเนินการสำเร็จ ผู้โดยสารจะใช้เพียงใบหน้าสแกนเพื่อโหลดกระเป๋าสัมภาระที่เครื่อง CUBD รวมถึงใช้ยืนยันตัวตนแทนการใช้ boarding pass ณ จุดตรวจค้น และในขั้นตอนการตรวจบัตรโดยสารก่อนขึ้นเครื่อง ณ ประตูทางออกขึ้นเครื่องด้วย โดยทุกขั้นตอนไม่ต้องแสดงหลักฐานตั๋วโดยสารและบัตรประชาชน

โดยระบบ biometric ใช้เวลาน้อย มีความแม่นยำสูง และช่วยลดระยะเวลาในการรอคิวในการตรวจสอบแต่ละจุดให้บริการ ซึ่งขณะนี้ AOT ได้ติดตั้ง พัฒนาและอยู่ระหว่างทดสอบระบบร่วมกับสายการบิน คาดว่าจะมีความพร้อมให้บริการในช่วงกลางปี 2567


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top