Saturday, 18 May 2024
สินค้าไม่ได้มาตรฐาน

‘สุริยะ’ กำชับ สมอ. ยกระดับมาตรการเข้มข้น สกัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานก่อนถึงมือผู้บริโภค

‘สุริยะ’ กำชับ สมอ. ยกระดับมาตรการเข้มข้นป้องกันสินค้าไม่ได้มาตรฐานทะลักเข้ามาในประเทศ เตรียมบูรณาการกรมศุลกากรสุ่มตรวจหน้าด่านทั่วประเทศ พร้อมบูรณาการความร่วมมือ สคบ. อย. ตรวจควบคุมสินค้าอุปโภค บริโภค ป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับผู้บริโภค 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ สมอ. เพิ่มมาตรการเชิงรุกในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาด และทางออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่มีการโฆษณาผ่านทางทีวีดิจิทัล และสื่อออนไลน์ ในช่วงที่ประชาชนต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น อย. และ สคบ. ร่วมกันทำงานเชิงรุกเพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้าในท้องตลาดอย่างเข้มงวด 

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยภายหลังเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ สมอ. ว่า สมอ. จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจควบคุมไม่ให้สินค้าด้อยคุณภาพทะลักเข้ามาในประเทศเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ด้วย 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 

1.) บูรณาการความร่วมมือกับกรมศุลกากรในการสุ่มตรวจสินค้าที่ด่านศุลกากรทั่วประเทศ 
2.) เพิ่มความถี่ในการตรวจติดตามเมื่อผู้รับใบอนุญาตได้นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศ โดยบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 
3.) สมอ. จะตรวจติดตาม ณ โรงงานที่ตั้งในต่างประเทศทันทีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย เพราะที่ผ่านมา สมอ. ไม่สามารถส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปตรวจโรงงานในต่างประเทศได้ 

'รมว.ปุ้ย' สั่งเข้ม!! 'สมอ.' ระดม 20 หน่วยงานพระกาฬ 'ร่วมสกัด-ตรวจโรงงาน' บล็อกสินค้าด้อยคุณภาพเข้าไทย

(16 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีที่สินค้าด้อยคุณภาพราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า ภาชนะพลาสติก และภาชนะเมลามีน ฯลฯ ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับประชาชน ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ออกมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงยังได้กำชับให้เข้มงวดในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า 

นอกจากนี้ ยังให้เร่งตรวจสอบผู้นำเข้าสินค้าที่เป็นสินค้าควบคุมของ สมอ. ทั้ง 144 รายการ โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ให้เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้ 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. รับข้อสั่งการของท่านรัฐมนตรีพิมพ์ภัทราฯ โดยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ได้เชิญหน่วยตรวจ (Inspection Body - IB) ซึ่งเป็น Outsource ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก สมอ. ทั้ง 20 หน่วยงาน เช่น สถาบันยานยนต์, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, สถาบันสิ่งทอ, บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล อินสเปคชั่น กรุ๊ป จำกัด, บริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอ็นไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด และบริษัท แบงค็อก เซอร์ติฟิเคชั่น จำกัด เป็นต้น 

ทั้งนี้ เพื่อมาประชุมหารือเพื่อหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน เพื่อสกัดกั้นสินค้าไม่ได้มาตรฐานไม่ให้เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้ รวมทั้งเตรียมความพร้อมของบุคลากรให้สามารถรองรับกับปริมาณงานตรวจโรงงานที่จะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนมาตรฐานบังคับที่จะมีผลบังคับใช้ในปลายปี 2567 เพิ่มอีกกว่า 40 มาตรฐาน เนื่องจาก IB เหล่านี้ ได้รับการแต่งตั้งจาก สมอ. ให้เป็นหน่วยตรวจโรงงานแทน สมอ. สามารถตรวจติดตามโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. แล้ว เพื่อควบคุมสินค้าให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยมาตรฐานในการตรวจโรงงานของ สมอ. และ IB ที่เป็น Outsource ใช้เกณฑ์ในการตรวจที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top