Sunday, 12 May 2024
สินค้าด้อยคุณภาพ

'พิมพ์ภัทรา' ลั่น!! สินค้าด้อยคุณภาพต้องหมด ภายใน 6 เดือน สั่ง!! สมอ. จัดการกวาดล้างให้สิ้นซากจากท้องตลาด

(10 ต.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์สินค้าด้อยคุณภาพที่มีราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงความปลอดภัยของประชาชน กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยให้เข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชนอย่างเคร่งครัด รวมทั้งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบมาตรฐานของสินค้านำเข้าที่อยู่ในข่ายการควบคุมของ สมอ. เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าดังกล่าวเข้าประเทศ ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายภายใน 6 เดือน จะต้องกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปจากท้องตลาด

ด้าน นายวันชัย พนมชัย รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. จะเข้มงวดในทุกช่องทางเพื่อสกัดกั้นสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในราชอาณาจักร โดยเฉพาะสินค้าที่อยู่ในข่ายการควบคุมของ สมอ. จำนวน 143 รายการ ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด หากมีสินค้านำเข้าที่ใช้พิกัดและรหัสสถิติที่เชื่อมโยงไว้ ผู้นำเข้าจะต้องยื่นข้อมูลการนำเข้าผ่านระบบ NSW และได้รับใบอนุญาตก่อนรับมอบสินค้าจากกรมศุลกากร เพื่อป้องกันการนำสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่ายในประเทศ นอกจากนี้ ยังตรวจสอบการนำเข้าสินค้าที่ผ่านพิธีการทางศุลกากรผ่านระบบ e-Tracking เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของการนำเข้า และตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย รวมถึงมีการตรวจติดตามผู้รับใบอนุญาตผ่านระบบ e-Surveillance ซึ่งเป็นการนำระบบมาช่วยอำนวยความสะดวกในการแจ้งข้อมูลของผู้ได้รับอนุญาต 

นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดและทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม โดยนำระบบ e-Market surveillance มาใช้ในการตรวจติดตามสถานที่จำหน่ายทั่วประเทศ พร้อมทั้งกำชับทีมนักรบไซเบอร์ ทำหน้าที่ตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าทางโทรทัศน์ และ Platform Online ต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานอีกด้วย

“สินค้าด้อยคุณภาพราคาถูกที่ทะลักเข้ามาในไทย ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและความปลอดภัยของประชาชน สมอ. จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจควบคุมและกำกับติดตามสินค้าไม่ได้มาตรฐานในทุกช่องทาง หากผู้ผลิตและผู้นำเข้าฝ่าฝืนกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้จำหน่ายหากขายสินค้าไม่ได้มาตรฐานมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดย สมอ. จะดำเนินการกับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างถึงที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สินค้าได้อย่างปลอดภัย” นายวันชัยฯ กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ เล่นใหญ่!! พลิก สมอ. สร้างมาตรฐาน 1,000 เรื่อง เป้าหลัก!! ‘สกัดสินค้าด้อยคุณภาพ-เสริมศักยภาพภาคอุตฯ’

(9 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ขออนุมัติบอร์ด สมอ. กำหนดมาตรฐานในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ขออนุมัติไว้ 603 มาตรฐาน เป็น 744 มาตรฐาน โดยบอร์ดได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของไทยให้ผลิตสินค้าอย่างมีคุณภาพได้มาตรฐาน สามารถแข่งขันได้ในทุกเวทีการค้า ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยตั้งเป้าหมายในปี 2567 สมอ. จะต้องกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (มอก.) ให้ได้ไม่น้อยกว่า 1,000 มาตรฐาน เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ทั้ง S-curve และ New S-curve เช่น ยานยนต์สมัยใหม่, EV, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, เครื่องมือแพทย์, อุตสาหกรรมชีวภาพ, AI, ฮาลาล และ Soft power รวมทั้งตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า และเป็นกลไกสกัดสินค้าด้อยคุณภาพจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า จากการประชุมบอร์ด สมอ. เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบร่างมาตรฐาน จำนวน 32 มาตรฐาน เช่น ท่อเหล็กกล้า, คอนกรีต, ปูนซิเมนต์, เตาอบไฟฟ้าแบบตั้งโต๊ะ, เตาอบเตาปิ้งย่างเชิงพาณิชย์, เครื่องอุ่นไส้กรอก, อ่างน้ำวนและสปาน้ำวน, สายสวนภายในหลอดเลือด, ยางวัลคาไนซ์ และมาตรฐานวิธีทดสอบต่างๆ รวมทั้ง เห็นชอบรายชื่อมาตรฐานที่ สมอ. ขอกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมจากเดิมอีก 141 มาตรฐาน จากที่เคยอนุมัติไปก่อนหน้านี้แล้ว 603 มาตรฐาน รวมเป็น 744 มาตรฐาน 

ขณะที่ นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานที่ สมอ. จะทำเพิ่มเติม เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ 50 มาตรฐาน และมาตรฐานวิธีทดสอบและข้อแนะนำ 91 มาตรฐาน แบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมดังนี้ 

1) S-curve 1 มาตรฐาน 
2) New S-curve 25 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร 
3) มาตรฐานตามนโยบาย 54 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานสมุนไพร และเครื่องกลและภาชนะรับความดัน 
4) มาตรฐานส่งเสริมผู้ประกอบการ 23 มาตรฐาน 
5) มาตรฐานกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ 38 มาตรฐาน ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก ยานยนต์ และสิ่งทอ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2567 นี้ สมอ. ได้รับนโยบายจาก รัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา ที่เร่งรัดกำหนดมาตรฐานให้ได้ 1,000 มาตรฐาน โดยให้บูรณาการการทำงานร่วมกับ SDOs ของ สมอ. ทั้ง 8 สถาบันเครือข่าย ได้แก่ สถาบันอาหาร / สถาบันพลาสติก / สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย / สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย / สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ / สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ / สถาบันยานยนต์ และสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ 

รวมทั้งภาคีเครือข่าย SDOs อื่น ๆ ร่วมกันกำหนดมาตรฐานตามความเชี่ยวชาญและความถนัดของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ด้วยเล็งเห็นว่ามาตรฐานเป็นเครื่องมือสำคัญทางการค้า ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โดยหลังจากนี้ สมอ. จะเสนอบอร์ดให้ความเห็นชอบรายชื่อมาตรฐานในส่วนที่เหลือต่อไป

'รมว.ปุ้ย' เร่งออก มอก. ภาคบังคับเพิ่ม 2 เท่า สกัด 'สินค้าราคาถูก-ด้อยคุณภาพ' พังตลาดไทย

(13 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องกำลังผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยลดลง ว่า ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากการที่ผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งออกมาตรฐานบังคับใช้ หรือ มอก. ให้ได้มากกว่าที่ผ่านมา 2 เท่า เพราะเชื่อว่าอย่างน้อยจะช่วยเป็นหลักประกัน และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริโภคด้วยว่าจะเลือกใช้ของถูกแต่ไม่มีมาตรฐาน หรือของถูกที่ได้มาตรฐาน

"ยอมรับว่าการที่ภาคการผลิตชะลอตัวอาจจะเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็มีหน้าที่ในการดูแล และสนับสนุน เพราะเวลานี้ผู้ประกอบการเองนำหน้ารัฐบาลไปมาก ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้ไม่เกิดอุปสรรค ควบคู่ไปกับการสนับสนุน"

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากระทรวงฯเองก็มีมาตรการที่ดูแลผู้ประกอบการไทย และผู้บริโภค เพียงแต่การดูแลจะต้องทำให้ได้อย่างทั่วถึง โดยในส่วนของผู้บริโภคเองย่อมต้องการสินค้าที่ราคาไม่แพง แต่ประเด็นที่สำคัญคือ จะต้องมีคุณภาพด้วย ซึ่งกระทรวงฯมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง สมอ. คอยช่วยดูแลอยู่ ในการสร้างมาตรฐาน มอก.

โดยสินค้าที่จะเข้ามาจำหน่ายในไทยจะต้องได้รับการยอมรับ หรือผ่านมาตรฐาน มอก. จากการตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่ปัจจุบันมีปัญหาจากการสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือถูกมาพักไว้ตามแนวตะเข็บชายแดนก่อนนำเข้า

อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่ากระทรวงฯคงดูแลรับผิดชอบเพียงหน่วยงานเดียวไม่ไหว จะต้องมีหน่วยงานอื่นร่วมมือกันด้วย โดยก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ในการดูแลสินค้านำเข้าให้มีคุณภาพ เพราะหากสินค้าไม่มีคุณภาพเข้ามาเป็นจำนวนมากย่อมกระทบกับผู้ประกอบการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้นทุนถูกกว่า ซึ่งการดูแลจึงต้องทำควบคู่กันไปทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อไปอีกว่า ในระยะต่อไปสินค้าที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในไทย จะต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบมาตรฐาน ตั้งแต่สินค้าชิ้นเล็ก เช่นปลั๊กไฟ หากไม่ได้มาตรฐานอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิต และครอบครัว หรือเหล็ก ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความมั่นคงของประเทศ โดยปัจจุบันมีทั้งผู้ผลิตในประเทศไทย และเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศที่ผ่าน มอก. อย่างถูกต้อง และไม่ถูกต้อง

"ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกัน โดยมองว่าไม่ใช่ช่วยกันเฉพาะการนำเข้า เพราะไม่ใช่ข้อห้าม แต่สิ่งสำคัญสินค้าจะต้องได้มาตรฐาน"

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ต้องทำความเข้าใจด้วยว่ามาตรฐานมี 2 แบบ คือ มาตรฐานบังคับใช้ และมาตรฐานทั่วไป โดยที่ผ่านมากระทรวงฯพบข้อมูลแล้วว่าเรื่องมาตรฐานเริ่มมีปัญหากับผู้ประกอบการในประเทศ จึงมีการยกระดับให้เป็นมาตรการบังคับ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการออกมาตรฐานไม่ใช่สิ่งที่ทำได้โดยง่าย เพราะจะต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ตั้งแต่วิธีการผลิต และการตรวจคุณภาพ ซึ่งอาจจะไม่ทันกับจำนวนสินค้าที่หลั่งไหลเข้ามา

‘สมอ.’ เดินตามนโยบาย Quick win จาก ‘รมว.ปุ้ย’ 6 เดือน กวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพกว่า 220 ลบ.

(26 เม.ย. 67) นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการแถลงผลการดำเนินงานของ สมอ. รอบ 6 เดือน ประจำปีงบประมาณ 2567 ว่า สมอ. ยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานด้านการมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ และคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัย ตามนโยบาย Quick win ของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ในการกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปจากท้องตลาด โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ได้มาตรฐาน สร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศเป็นวงกว้าง โดย สมอ. ได้ดำเนินการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าที่อยู่ในข่ายการควบคุมของ สมอ. จำนวน 144 รายการ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องในทุกช่องทาง ทั้งการลงพื้นที่ตรวจสอบ การเฝ้าระวังผ่านระบบ NSW และตรวจติดตามการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์

โดยในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2566 - มีนาคม 2567) ได้ตรวจจับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ลักลอบผลิตและนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 191 ราย  ยึดอายัดสินค้าเป็นมูลค่ากว่า 220 ล้านบาท โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) เหล็กและวัสดุก่อสร้าง 87.70 ล้านบาท 2) ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 73.23 ล้านบาท และ 3) ยานยนต์ 54.09 ล้านบาท 

ด้านการกำหนดมาตรฐาน สมอ. ตั้งเป้ากำหนดมาตรฐานในปีนี้ 1,000 เรื่อง ครึ่งปีแรกกำหนดมาตรฐานไปแล้ว 469 เรื่อง เช่น เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ ฝารองนั่งสุขภัณฑ์ไฟฟ้า หลอดฟลูออเรสเซนส์สำหรับเปลี่ยนสีผิวเป็นสีแทน และมาตรฐานวิธีทดสอบยานยนต์ EV เป็นต้น

ทั้งนี้ ได้ประกาศให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชนเป็นสินค้าควบคุมเพิ่มอีก 24 ผลิตภัณฑ์ เช่น บันไดเลื่อน ลิฟท์ คาร์ซีท แบตเตอรี่รถ EV ภาชนะพลาสติก และภาชนะสเตนเลส เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ประกาศใช้มาตรฐานด้านการท่องเที่ยวเพื่อสนับสนุนนโยบาย Soft Power อีกจำนวน 6 มาตรฐาน ได้แก่

1) มาตรฐานการเยี่ยมชมสถานที่ทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ 2) มาตรฐานการดำเนินงานเกี่ยวกับชายหาด 3) มาตรฐานโรงแรมย้อนยุค 4) มาตรฐานร้านอาหารแบบดั้งเดิม  5) มาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และ 6) มาตรฐานการบริการนักท่องเที่ยวเพื่อสาธารณประโยชน์โดยหน่วยงานคุ้มครองพื้นที่คุ้มครองธรรมชาติ

พร้อมทั้งทบทวนมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ที่เชื่อมโยงกับนโยบาย Soft Power จำนวน 10 มาตรฐาน เช่น ข้าวเกรียบกรือโป๊ะ สุรากลั่นชุมชน ไวน์ผลไม้ เป็นต้น และได้จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายฮาลาล จำนวน 3 มาตรฐาน คือ (1) แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด (2) เส้นหมี่ และ (3) โยเกิร์ตกรอบ 

ด้านการออกใบอนุญาต สมอ. ได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการออกใบอนุญาต โดยผลงานครึ่งปีงบประมาณแรกได้ออกใบอนุญาต มอก. จำนวน 7,454 ฉบับ ใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จำนวน 1,597 ฉบับ ใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส จำนวน 132 ฉบับ และใบรับรองระบบงาน จำนวน 212 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 9,395 ฉบับ

ด้านการมาตรฐานระหว่างประเทศ สมอ. ได้เข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) และเจรจาจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ด้านการมาตรฐานกับประเทศต่างๆ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการของไทย รวมถึงปกป้องผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการไทยในเวทีการค้าโลก อาทิ

1) การเจรจาทำ FTA กับศรีลังกา ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังศรีลังกา ปีละกว่า 10,800 ล้านบาท  2) การเจรจาจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) สมอ. - BMSI (ไต้หวัน) เพื่อให้ไต้หวันยอมรับผลทดสอบและรับรอง ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่าย และระยะเวลาในการตรวจสอบสินค้า เป็นการช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าไปยังไต้หวัน ในปี 2566 กว่า 13,000 ล้านบาท

3) การเจรจากับอินเดียให้เลื่อนการบังคับใช้กฎระเบียบควบคุมคุณภาพสำหรับสินค้าแผ่นไม้ของอินเดีย ทำให้ผู้ประกอบการไทยรักษาตลาดส่งออกสินค้าไปยังอินเดีย ปีละกว่า 2,700 ล้านบาท 

และ 4) การเจรจาร่างกฎระเบียบว่าด้วยมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานสำหรับรถยนต์ใหม่ของออสเตรเลีย โดยขอให้ออสเตรเลียพิจารณากำหนดเกณฑ์การปล่อยก๊าซ CO2 อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีเวลาในการเตรียมตัว 

“6 เดือนหลังจากนี้ สมอ. จะเร่งรัดการดำเนินงานในทุก ๆ ด้าน ให้เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อเสริมแกร่งให้ภาคอุตสาหกรรมของไทย รวมทั้ง เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดให้มากยิ่งขึ้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top