Sunday, 12 May 2024
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

สมอ. คุมเข้ม!! ‘หลอดไฟแอลอีดี - ยางหล่อดอกซ้ำ’ ย้ำต้องได้มาตรฐาน มีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้

สมอ. ควบคุมหลอดไฟแอลอีดี และยางหล่อดอกซ้ำสำหรับรถบรรทุก ต้องได้มาตรฐาน มอก. มีผลบังคับใช้ 29 มีนาคม 2565 และ 5 พฤษภาคม 2565 เตือนผู้ประกอบการทุกราย ก่อนทำ นำเข้า ต้องขออนุญาตจาก สมอ.  

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม และการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า โดยกำหนดเป็นนโยบายสำคัญและได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ดำเนินการ เนื่องจากเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินงานด้านการมาตรฐานของประเทศ ทั้งการกำหนดมาตรฐาน การควบคุมและกำกับติดตามการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน 

“การดำเนินงานด้านการกำหนดมาตรฐานของ สมอ. มีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะการคุ้มครองประชาชนที่ต้องได้รับการดูแลด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไป เพื่อให้การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ สามารถแข่งขันทางการค้าได้อย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ซึ่งผมได้กำชับกับสมอ. ให้เร่งรัดดำเนินการ โดยเฉพาะมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชนให้ประกาศเป็นสินค้าควบคุมเป็นอันดับแรก” นายสุริยะฯ กล่าว

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ดำเนินงานตามนโยบายท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด โดยประกาศควบคุมสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนแล้วจำนวน 127 รายการ รวมถึงสินค้า 3 รายการ ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ ได้แก่ หลอดแอลอีดีเปลี่ยนทดแทนขั้วคู่ มอก.2779-2562 และหลอดแอลอีดีมีบัลลาสต์ในตัว มอก.2780-2562 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 มีนาคม 2565 และยางหล่อดอกซ้ำสำหรับรถบรรทุก รถบัส และรถพ่วง มอก.2979-2562 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 นี้ด้วย 

ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายที่จะทำ หรือนำเข้าสินค้าดังกล่าว ต้องได้รับอนุญาตจาก สมอ. ก่อน เพื่อดำเนินการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัย โดยสินค้าทุกชิ้นจะต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐานบังคับคู่กับ QR code เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลผู้รับใบอนุญาตได้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย ผู้ทำหรือนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จำหน่ายสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแสดงเครื่องหมายมาตรฐานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

เลขาธิการ สมอ. กล่าวต่อว่า มาตรฐานหลอดแอลอีดีเปลี่ยนทดแทนขั้วคู่ ซึ่งโดยทั่วไปอาจเรียกว่า หลอดแอลอีดีชนิด T5, T8 หรือ หลอดแอลอีดีแบบยาว จะควบคุมเรื่องความปลอดภัยในขณะใช้งาน เพื่อป้องกันไฟรั่ว  ไฟดูด ควบคุมอุณหภูมิของขั้วหลอดในภาวะไฟฟ้าวิกฤติ และการติดไฟ เป็นต้น ขณะนี้มีผู้ยื่นขออนุญาตแล้วจำนวน 3 ราย เป็นผู้ทำ 1 ราย ผู้นำเข้า 2 ราย  

'รมว.พิมพ์ภัทรา' กำชับ 'สมอ.' เชิญ 8 สถาบันเครือข่าย เร่งกำหนดมาตรฐานให้ได้ตามเป้าหมาย ทันยุคอุตฯ ใหม่

(6 พ.ย. 66) นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ให้เชิญ 8 สถาบันเครือข่าย ได้แก่...

- สถาบันอาหาร 
- สถาบันพลาสติก 
- สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย  
- สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย  
- สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ 
- สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  
- สถาบันยานยนต์ 
- และ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ 

ซึ่งทั้งหมดเป็นหน่วยงานเครือข่ายที่มีภารกิจสนับสนุนการดำเนินงานด้านการมาตรฐานของ สมอ. ทั้งการจัดทำมาตรฐาน และการตรวจสอบคุณภาพของสินค้า โดย สมอ. ให้การยอมรับว่าหน่วยงานเหล่านี้สามารถกำหนดมาตรฐานได้ หรือที่เรียกว่า SDOs (Standards Developing Organizations) มาประชุมหารือเพื่อพิจารณาแนวทางการกำหนดมาตรฐานในปี 2567

ทั้งนี้ สมอ.ได้มอบหมายนโยบายให้ SDOs ทั้ง 8 หน่วยงานเร่งรัดจัดทำมาตรฐานในปีนี้ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 100 เรื่อง เสริมเติมจากที่ สมอ. ได้วางแผนกำหนดมาตรฐานไว้แล้ว 600 เรื่อง เพื่อให้เป็นไปตามแผนแม่บทการกำหนดมาตรฐานระยะ 5 ปี ของ สมอ. (พ.ศ.2566-2570) ที่มีอยู่จำนวน 1,777 เรื่อง เพื่อรองรับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เช่น มาตรฐาน EV, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, เครื่องมือแพทย์, อุตสาหกรรมชีวภาพ, AI,  ฮาลาล และ Soft power

ปัจจุบัน สมอ. มี SDOs จำนวน 43 หน่วยงาน ที่มีศักยภาพสามารถกำหนดมาตรฐานเพื่อให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุม 81 สาขา เช่น สาขาเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ, สีและวาร์นิช, วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์, นาโนเทคโนโลยี, ปิโตรเลียม,  ยางและผลิตภัณฑ์ยาง, ระบบการจัดการความเสี่ยง  อาชีวอนามัยและความปลอดภัย, ระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร, การยศาสตร์, ความรับผิดชอบต่อสังคม, ดิจิทัล, ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม, หนังและผลิตภัณฑ์หนัง, ก๊าซธรรมชาติ, แบตเตอรี่, การสื่อสารโทรคมนาคม, ยานพาหนะไฟฟ้า เป็นต้น

“เบื้องต้น สถาบันยานยนต์ จะเร่งจัดทำมาตรฐานด้านความปลอดภัยของยานยนต์สมัยใหม่ รวมทั้งรถไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์อื่นๆ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะเร่งทำมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) เพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ที่พยายามขโมยข้อมูลสำคัญต่างๆ ของบุคคลหรือองค์กร เช่น บัญชีเงินฝาก ข้อมูลประจำตัว ข้อมูลด้านสุขภาพ หรือข้อมูลสำคัญขององค์กร เป็นต้น สถาบันสิ่งทอ จะจัดทำมาตรฐานด้านความปลอดภัยของสิ่งทอและด้านการป้องกันไฟ เช่น ผ้าม่าน, พรม, ถุงมือกันบาด และถุงมือกันสารเคมี เป็นต้น ทั้งนี้ สมอ. จะรวบรวมรายชื่อมาตรฐานที่ SDOs จะดำเนินการจัดทำทั้งหมด เสนอบอร์ด สมอ. ให้ความเห็นชอบต่อไป” นายวันชัยฯ กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ เล่นใหญ่!! พลิก สมอ. สร้างมาตรฐาน 1,000 เรื่อง เป้าหลัก!! ‘สกัดสินค้าด้อยคุณภาพ-เสริมศักยภาพภาคอุตฯ’

(9 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ขออนุมัติบอร์ด สมอ. กำหนดมาตรฐานในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ขออนุมัติไว้ 603 มาตรฐาน เป็น 744 มาตรฐาน โดยบอร์ดได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของไทยให้ผลิตสินค้าอย่างมีคุณภาพได้มาตรฐาน สามารถแข่งขันได้ในทุกเวทีการค้า ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยตั้งเป้าหมายในปี 2567 สมอ. จะต้องกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (มอก.) ให้ได้ไม่น้อยกว่า 1,000 มาตรฐาน เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ทั้ง S-curve และ New S-curve เช่น ยานยนต์สมัยใหม่, EV, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, เครื่องมือแพทย์, อุตสาหกรรมชีวภาพ, AI, ฮาลาล และ Soft power รวมทั้งตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า และเป็นกลไกสกัดสินค้าด้อยคุณภาพจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า จากการประชุมบอร์ด สมอ. เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบร่างมาตรฐาน จำนวน 32 มาตรฐาน เช่น ท่อเหล็กกล้า, คอนกรีต, ปูนซิเมนต์, เตาอบไฟฟ้าแบบตั้งโต๊ะ, เตาอบเตาปิ้งย่างเชิงพาณิชย์, เครื่องอุ่นไส้กรอก, อ่างน้ำวนและสปาน้ำวน, สายสวนภายในหลอดเลือด, ยางวัลคาไนซ์ และมาตรฐานวิธีทดสอบต่างๆ รวมทั้ง เห็นชอบรายชื่อมาตรฐานที่ สมอ. ขอกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมจากเดิมอีก 141 มาตรฐาน จากที่เคยอนุมัติไปก่อนหน้านี้แล้ว 603 มาตรฐาน รวมเป็น 744 มาตรฐาน 

ขณะที่ นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานที่ สมอ. จะทำเพิ่มเติม เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ 50 มาตรฐาน และมาตรฐานวิธีทดสอบและข้อแนะนำ 91 มาตรฐาน แบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมดังนี้ 

1) S-curve 1 มาตรฐาน 
2) New S-curve 25 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร 
3) มาตรฐานตามนโยบาย 54 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานสมุนไพร และเครื่องกลและภาชนะรับความดัน 
4) มาตรฐานส่งเสริมผู้ประกอบการ 23 มาตรฐาน 
5) มาตรฐานกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ 38 มาตรฐาน ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก ยานยนต์ และสิ่งทอ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2567 นี้ สมอ. ได้รับนโยบายจาก รัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา ที่เร่งรัดกำหนดมาตรฐานให้ได้ 1,000 มาตรฐาน โดยให้บูรณาการการทำงานร่วมกับ SDOs ของ สมอ. ทั้ง 8 สถาบันเครือข่าย ได้แก่ สถาบันอาหาร / สถาบันพลาสติก / สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย / สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย / สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ / สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ / สถาบันยานยนต์ และสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ 

รวมทั้งภาคีเครือข่าย SDOs อื่น ๆ ร่วมกันกำหนดมาตรฐานตามความเชี่ยวชาญและความถนัดของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ด้วยเล็งเห็นว่ามาตรฐานเป็นเครื่องมือสำคัญทางการค้า ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โดยหลังจากนี้ สมอ. จะเสนอบอร์ดให้ความเห็นชอบรายชื่อมาตรฐานในส่วนที่เหลือต่อไป

'รมว.ปุ้ย' สั่งเข้ม!! 'สมอ.' ระดม 20 หน่วยงานพระกาฬ 'ร่วมสกัด-ตรวจโรงงาน' บล็อกสินค้าด้อยคุณภาพเข้าไทย

(16 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีที่สินค้าด้อยคุณภาพราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า ภาชนะพลาสติก และภาชนะเมลามีน ฯลฯ ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับประชาชน ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ออกมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงยังได้กำชับให้เข้มงวดในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า 

นอกจากนี้ ยังให้เร่งตรวจสอบผู้นำเข้าสินค้าที่เป็นสินค้าควบคุมของ สมอ. ทั้ง 144 รายการ โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ให้เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้ 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. รับข้อสั่งการของท่านรัฐมนตรีพิมพ์ภัทราฯ โดยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ได้เชิญหน่วยตรวจ (Inspection Body - IB) ซึ่งเป็น Outsource ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก สมอ. ทั้ง 20 หน่วยงาน เช่น สถาบันยานยนต์, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, สถาบันสิ่งทอ, บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล อินสเปคชั่น กรุ๊ป จำกัด, บริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอ็นไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด และบริษัท แบงค็อก เซอร์ติฟิเคชั่น จำกัด เป็นต้น 

ทั้งนี้ เพื่อมาประชุมหารือเพื่อหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน เพื่อสกัดกั้นสินค้าไม่ได้มาตรฐานไม่ให้เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้ รวมทั้งเตรียมความพร้อมของบุคลากรให้สามารถรองรับกับปริมาณงานตรวจโรงงานที่จะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนมาตรฐานบังคับที่จะมีผลบังคับใช้ในปลายปี 2567 เพิ่มอีกกว่า 40 มาตรฐาน เนื่องจาก IB เหล่านี้ ได้รับการแต่งตั้งจาก สมอ. ให้เป็นหน่วยตรวจโรงงานแทน สมอ. สามารถตรวจติดตามโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. แล้ว เพื่อควบคุมสินค้าให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยมาตรฐานในการตรวจโรงงานของ สมอ. และ IB ที่เป็น Outsource ใช้เกณฑ์ในการตรวจที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

'รมว.ปุ้ย' ยกเคส 'พาวเวอร์แบงก์' คนไทยควรเลือกสินค้ามาตรฐาน 'มอก.' ส่วนภาครัฐเร่งกวาดล้างไม่หยุด ล่าสุดอายัดสินค้าห่วยแล้วกว่า 142 ล้าน

(27 ก.พ.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีเครื่องบินโดยสารสายการบินไทยเเอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ FD3188 ขณะกำลังบินจากสนามบินดอนเมือง มุ่งหน้านครศรีธรรมราช มีเหตุการณ์พาวเวอร์แบงก์ของผู้โดยสารระเบิดบนเครื่องบิน ตนเองซึ่งเป็นหนึ่งในผู้โดยสารที่อยู่บนเครื่องบินลำนั้นด้วย เข้าใจเลยว่าต้องมีสติเท่านั้นที่จะควบคุมสถานการณ์ท่ามกลางความแตกตื่นตกใจของผู้โดยสารทั้ง 186 ชีวิตได้ ก่อนที่ลูกเรือบนเครื่องบินสามารถดับไฟได้สำเร็จ 

ในฐานะที่เป็นเจ้ากระทรวงที่ดูแลสินค้าให้มีความปลอดภัยต่อประชาชน จึงสั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้มงวดในการตรวจควบคุมพาวเวอร์แบงก์ทุกขนาดทุกยี่ห้อที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดและทางออนไลน์ต้องได้มาตรฐาน เนื่องจากพาวเวอร์แบงก์เป็นหนึ่งในสินค้าในจำนวน 144 รายการ ที่เป็นสินค้าควบคุมของ สมอ. โดยเฉพาะพาวเวอร์แบงก์ที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านให้เพิ่มความถี่ในการตรวจควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สินค้าได้อย่างปลอดภัย และขอฝากถึงประชาชนให้เลือกใช้พาวเวอร์แบงค์ที่มีเครื่องหมาย มอก. และ QR Code ที่ปรากฏอยู่บนสินค้าเท่านั้น โดยสามารถสแกนเพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของผู้ผลิตและผู้จำหน่าย รวมถึงคุณภาพของสินค้าว่าเป็นไปตามที่ระบุหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามที่ระบุสามารถร้องเรียนกลับมาที่ สมอ. ได้ทันที 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ต่อกรณีดังกล่าว สมอ. มิได้นิ่งนอนใจ หลังจากได้รับข้อสั่งการจากท่านรัฐมนตรีพิมพ์ภัทราฯ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประสานเพื่อตรวจสอบขยายผลอย่างเร่งด่วนถึงแหล่งที่มา รายละเอียดสินค้า และการขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้อง สมอ. จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบการรายนี้อย่างถึงที่สุด เนื่องจากพาวเวอร์แบงค์เป็นสินค้าควบคุมของ สมอ. การทำและนำเข้าจะต้องได้รับอนุญาตจาก สมอ. ก่อน รวมถึงผู้จำหน่ายจะต้องขายเฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น มิฉะนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย 

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตแล้วจำนวน 97 ใบอนุญาต แบ่งเป็นผู้ผลิตในประเทศจำนวน 8 ใบอนุญาต และผู้นำเข้าจำนวน 89 ใบอนุญาต สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้รับใบอนุญาตได้ที่เว็บไซต์ สมอ. www.tisi.go.th โดยพาวเวอร์แบงก์ที่ได้มาตรฐานจะผ่านการตรวจสอบจากห้องแล็ปอย่างเข้มข้นประมาณ 20 รายการ เช่น สามารถทนความร้อนได้สูงถึง 70 องศาเซลเซียส หากลืมวางไว้ในรถยนต์ที่จอดตากแดด หรือที่ที่มีอุณหภูมิสูง ก็ยังอยู่ในสภาพปกติ ไม่บวมพอง หรือโก่งงอ ทนต่อการตกกระแทก ไม่แตกหักเสียหายง่าย ทนต่อความดันอากาศต่ำ 

หากอยู่บนเครื่องบินจะไม่เกิดการรั่วซึมหรือเกิดการระเบิด หรือในกรณีที่ลืมชาร์จทิ้งไว้นาน ๆ ก็จะไม่ก่อให้เกิดประกายไฟ และลุกไหม้ และหากเกิดประกายไฟ เปลวไฟจะดับเองได้โดยไม่เกิดการลุกลาม จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าพาวเวอร์แบงก์ที่มี มอก. มีความปลอดภัยสูง และจะไม่เป็นอันตรายขณะใช้งาน สำหรับการเลือกซื้อพาวเวอร์แบงค์ที่ได้มาตรฐานนอกจากจะให้สังเกตเครื่องหมาย มอก. และ QR Code ที่ปรากฏอยู่บนสินค้าทุกครั้งแล้ว 

นอกจากนี้ วิธีการเก็บรักษาและการใช้งานก็มีส่วนสำคัญไม่ให้พาวเวอร์แบงก์หมดอายุการใช้งานก่อนเวลาอันควร เช่น ไม่ควรเก็บพาวเวอร์แบงก์ไว้ใกล้แหล่งความร้อน หรือรับแสงแดดโดยตรง ไม่ควรเก็บไว้ใกล้แก๊สที่ติดไฟได้ ความชื้น น้ำ หรือของเหลว ไม่ควรถอดชิ้นส่วน เปิด เผา หรือสอดแทรกสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในพาวเวอร์แบงก์ ไม่ควรให้พาวเวอร์แบงก์ถูกกระแทก ถูกกดทับ งอ หรือเจาะ ไม่ใช้งานในขณะเปียกน้ำหรือได้รับความเสียหายเพื่อป้องกันการช็อกไฟฟ้า และควรอ่านข้อควรปฏิบัติที่ให้มากับพาวเวอร์แบงค์ด้วยทุกครั้ง เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างถูกวิธีและมีความปลอดภัย 

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ผ่านมา สมอ. ได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องในการกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปจากท้องตลาด ภายใต้ภารกิจ Quick Win ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีพิมพ์ภัทราฯ ทั้งที่จำหน่ายในท้องตลาด และทางออนไลน์ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน จนถึงขณะนี้ สมอ. ได้ตรวจจับและยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานไปแล้วกว่า 142 ล้านบาท มีทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก วัสดุก่อสร้าง สีย้อมสังเคราะห์ เมลามีน และพลาสติก เป็นต้น จึงขอฝากถึงผู้ประกอบการหากท่านทำหรือนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ท่านจะถูกดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด ซึ่งบทลงโทษสำหรับผู้ทำและนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เลขาธิการ สมอ. กล่าว

'รมว.ปุ้ย' เร่งออก มอก. ภาคบังคับเพิ่ม 2 เท่า สกัด 'สินค้าราคาถูก-ด้อยคุณภาพ' พังตลาดไทย

(13 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องกำลังผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยลดลง ว่า ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากการที่ผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งออกมาตรฐานบังคับใช้ หรือ มอก. ให้ได้มากกว่าที่ผ่านมา 2 เท่า เพราะเชื่อว่าอย่างน้อยจะช่วยเป็นหลักประกัน และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้บริโภคด้วยว่าจะเลือกใช้ของถูกแต่ไม่มีมาตรฐาน หรือของถูกที่ได้มาตรฐาน

"ยอมรับว่าการที่ภาคการผลิตชะลอตัวอาจจะเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็มีหน้าที่ในการดูแล และสนับสนุน เพราะเวลานี้ผู้ประกอบการเองนำหน้ารัฐบาลไปมาก ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้ไม่เกิดอุปสรรค ควบคู่ไปกับการสนับสนุน"

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากระทรวงฯเองก็มีมาตรการที่ดูแลผู้ประกอบการไทย และผู้บริโภค เพียงแต่การดูแลจะต้องทำให้ได้อย่างทั่วถึง โดยในส่วนของผู้บริโภคเองย่อมต้องการสินค้าที่ราคาไม่แพง แต่ประเด็นที่สำคัญคือ จะต้องมีคุณภาพด้วย ซึ่งกระทรวงฯมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง สมอ. คอยช่วยดูแลอยู่ ในการสร้างมาตรฐาน มอก.

โดยสินค้าที่จะเข้ามาจำหน่ายในไทยจะต้องได้รับการยอมรับ หรือผ่านมาตรฐาน มอก. จากการตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่ปัจจุบันมีปัญหาจากการสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือถูกมาพักไว้ตามแนวตะเข็บชายแดนก่อนนำเข้า

อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่ากระทรวงฯคงดูแลรับผิดชอบเพียงหน่วยงานเดียวไม่ไหว จะต้องมีหน่วยงานอื่นร่วมมือกันด้วย โดยก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกับกระทรวงพาณิชย์ในการดูแลสินค้านำเข้าให้มีคุณภาพ เพราะหากสินค้าไม่มีคุณภาพเข้ามาเป็นจำนวนมากย่อมกระทบกับผู้ประกอบการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้นทุนถูกกว่า ซึ่งการดูแลจึงต้องทำควบคู่กันไปทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อไปอีกว่า ในระยะต่อไปสินค้าที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในไทย จะต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบมาตรฐาน ตั้งแต่สินค้าชิ้นเล็ก เช่นปลั๊กไฟ หากไม่ได้มาตรฐานอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิต และครอบครัว หรือเหล็ก ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความมั่นคงของประเทศ โดยปัจจุบันมีทั้งผู้ผลิตในประเทศไทย และเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศที่ผ่าน มอก. อย่างถูกต้อง และไม่ถูกต้อง

"ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกัน โดยมองว่าไม่ใช่ช่วยกันเฉพาะการนำเข้า เพราะไม่ใช่ข้อห้าม แต่สิ่งสำคัญสินค้าจะต้องได้มาตรฐาน"

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ต้องทำความเข้าใจด้วยว่ามาตรฐานมี 2 แบบ คือ มาตรฐานบังคับใช้ และมาตรฐานทั่วไป โดยที่ผ่านมากระทรวงฯพบข้อมูลแล้วว่าเรื่องมาตรฐานเริ่มมีปัญหากับผู้ประกอบการในประเทศ จึงมีการยกระดับให้เป็นมาตรการบังคับ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการออกมาตรฐานไม่ใช่สิ่งที่ทำได้โดยง่าย เพราะจะต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ตั้งแต่วิธีการผลิต และการตรวจคุณภาพ ซึ่งอาจจะไม่ทันกับจำนวนสินค้าที่หลั่งไหลเข้ามา

'รมว.ปุ้ย' ชวนคนไทยซื้อหาสินค้ามาตรฐาน 'สมอ.' รับประกันราคาถูกกว่าท้องตลาด 25-29 มี.ค. ณ สมอ.

เมื่อวานนี้ (25 มี.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ‘มหกรรมสินค้าคุณภาพได้มาตรฐานราคาโรงงาน เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี การสถาปนาสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม’ ว่า ตลอดระยะเวลา 55 ปี ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ดำเนินงานด้านการมาตรฐานของประเทศ เพื่อผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนนำการมาตรฐานไปใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า ขณะเดียวกันก็คุ้มครองผู้บริโภคให้มีความปลอดภัยจากการใช้สินค้าด้วยการกำกับ ดูแล คุณภาพของสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาด และทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. มุ่งมั่นดำเนินงานด้านการมาตรฐานเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ตามภารกิจที่สำคัญทั้งการกำหนดมาตรฐานที่ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การตรวจสอบและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐานของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 

ตลอดระยะเวลา 55 ปี สมอ. ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรม และคุ้มครองประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยการมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบัน สมอ.ได้พัฒนาการให้บริการผู้ประกอบการและประชาชนด้วยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยในปีนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษที่ สมอ. มีการดำเนินงานมาครบรอบ 55 ปี ในวันที่ 25 มีนาคม 2567 จึงได้จัดงาน ‘มหกรรมสินค้าคุณภาพได้มาตรฐานราคาโรงงาน เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี การสถาปนาสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม’ ขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่ สมอ. ครบรอบ 55 ปี และสืบทอดเจตนารมณ์ในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่มีมาตรฐาน ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดค่าครองชีพให้ประชาชน โดยนำผู้ประกอบการกว่า 50 ราย 92 บูธ ที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน มอก. มาร่วมออกร้านจำหน่ายสินค้าคุณภาพดี มีมาตรฐาน ในราคาโรงงาน ซึ่งถูกกว่าท้องตลาด 20 - 50% ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ เครื่องซักผ้า พัดลม ทีวี ตู้เย็น เครื่องดูดฝุ่น เตาไมโครเวฟ เตาปิ้งย่าง กระทะไฟฟ้า ไดร์เป่าผม เครื่องม้วนผม ลำโพง เครื่องเสียง หลอดไฟ โคมไฟ ปลั๊กพ่วง พาวเวอร์แบงค์ และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมี รองเท้า อุปกรณ์กีฬา ภาชนะเมลามีน ภาชนะพลาสติก ภาชนะเทฟลอน ของเล่น หมวกกันน็อก หน้ากากอนามัย เครื่องกรองน้ำดื่ม น้ำตาลทราย รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ และสินค้า OTOP ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และงานบริการที่ได้รับการรับรอง มอก. S จึงขอเชิญชวนประชาชนมาเลือกซื้อสินค้าคุณภาพมาตรฐานภายในงาน รับประกันราคาถูกกว่าท้องตลาด ตั้งแต่วันที่ 25 - 29 มีนาคม 2567 เวลา 08.30 - 18.00 น. ณ บริเวณโดยรอบอาคาร สมอ. ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ (เยื้องกับโรงพยาบาลรามาธิบดี)

‘สมอ.’ คุมเข้มมาตรฐานสินค้ายอดฮิต ‘ลาบูบู้’ ต้องใช้วัสดุไม่ลามไฟ-ค่าโลหะหนักไม่เกินเกณฑ์

(30 เม.ย. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะยังคงดำเนินการกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพภายใต้ภารกิจ Quick win ของ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด และต่อเนื่องในทุกช่องทาง รวมถึงการตรวจสอบแพลตฟอร์มการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ต่าง ๆ เช่น อาร์ตทอย ลาบูบู้ ที่มีกระแสความนิยมและมีประเด็นของมิจฉาชีพหลอกผู้บริโภคให้จ่ายเงินแล้วไม่ส่งสินค้าให้นั้น

“กรณีนี้จริง ๆ เป็นความรับผิดชอบของหลายส่วนงาน ทั้งนี้ ในภารกิจของ สมอ.นั้น จะเป็นด้านการกำกับมาตรฐาน ซึ่งครอบคลุมการดูแลมาตรฐานของเล่นสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ฉะนั้น หากสินค้า เช่น ลาบูบู้ตัวไหนระบุอายุผู้เล่นว่าเป็นของสำหรับเด็ก จะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานตามที่ สมอ. กำกับ” นางรัดเกล้ากล่าว

นางรัดเกล้ากล่าวว่า ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของวัสดุของสินค้าเป็นหลัก ได้แก่ วัสดุที่ใช้ ไม่ลามไฟ และไม่มีค่าโลหะหนักเกินเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้ รมว.อุตสาหกรรมได้ กำชับตรวจตรามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ประชาชนมั่นใจ

นางรัดเกล้า ยังเปิดข้อมูลว่า สมอ. ที่มีนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. ดูแลนั้นได้แถลงผลการทำงานรอบ 6 เดือน ประจำปีงบประมาณ 2567 ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยได้ดำเนินการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าที่อยู่ในข่ายการควบคุมของ สมอ. จำนวน 144 รายการ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องในทุกช่องทาง ทั้งการลงพื้นที่ตรวจสอบ การเฝ้าระวังผ่านระบบ NSW และตรวจติดตามการจําหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 66 - มีนาคม 67) ได้ตรวจจับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ลักลอบผลิต และนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 191 ราย ยึดอายัดสินค้าเป็นมูลค่ากว่า 220 ล้านบาท โดย 3 อันดับแรก ได้แก่

-เหล็กและวัสดุก่อสร้าง 87.70 ล้านบาท
-ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 73.23 ล้านบาท
-ยานยนต์ 54.09 ล้านบาท

นอกจากนี้ สมอ.ตั้งเป้ากำหนดมาตรฐานในปีนี้ 1,000 เรื่อง โดยครึ่งปีแรกกำหนดมาตรฐานไปแล้ว 469 เรื่อง

นางรัดเกล้ากล่าวว่า นอกจากนี้ สมอ. ได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการออกใบอนุญาต โดยผลงานครึ่งปีงบประมาณแรกได้ออกใบอนุญาต มอก. จำนวน 7,454 ฉบับ ใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จำนวน 1,597 ฉบับ ใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส จำนวน 132 ฉบับ และใบรับรองระบบงาน จำนวน 212 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 9,395 ฉบับ

ขณะที่ด้านการมาตรฐานระหว่างประเทศ สมอ. ได้เข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) และเจรจาจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ด้านการมาตรฐานกับประเทศต่าง ๆ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการของไทย รวมถึงปกป้องผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการไทยในเวทีการค้าโลก

“สมอ. ยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานด้านการมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ และคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัย ขณะเดียวกันวันนี้ 30 เมษายนของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภคในปี 2522 ดังนั้นขอให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภค มั่นใจว่า สมอ. ได้ดูแลและจะดูแลคุณภาพสินค้า ก่อนออกใบอนุญาต เพื่อผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครองสิทธิ ให้ได้รับความเป็นธรรม ไม่ถูกหลอก หรือถูกชักจูงด้วยการโฆษณาเกินจริงอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง” นางรัดเกล้ากล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top