Monday, 6 May 2024
สารเคมี

ตร.-กรมโรงงานฯ-อย. บุกค้นบริษัทนำเข้าสารเคมี ย่านลาดกระบัง เตรียมตรวจสอบรายชื่อสั่งซื้อ หาจุดเชื่อมโยงคดี ‘แอม ไซยาไนด์’

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 66 เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน ตำรวจกองบังคับการสืบสวนสอบสวนนครบาล 3 นำหมายค้นศาลอาญามีนบุรี เข้าตรวจค้นห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง ลักษณะเป็นอาคารพาณิชย์ 2 คูหา สูง 4 ชั้น ประกอบธุรกิจจำหน่ายวัสดุและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ ตั้งอยู่บนถนนเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ

โดยการตรวจค้นครั้งนี้ ตำรวจได้ข้อมูลมาจากการเก็บหลักฐานขวดไซยาไนด์ ที่พบในถุงดำที่ แอม ว่าจ้างให้นายตะวัน หลานของนายแด้ นำถุงดังกล่าวไปทิ้ง โดยเมื่อตรวจสอบหมายเลขการผลิตข้างขวดไซยาไนด์ดังกล่าว พบว่าตรงกับหมายเลขการผลิตที่บริษัทนี้ได้ทำการจำหน่าย

จึงนำกำลังเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม และชุดขยายผลของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ามาตรวจค้น หาพยานหลักฐานเพิ่มเติม

สำหรับบริษัทนี้ ลักษณะเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น 2 คูหา ด้านหน้าปิดประตูเหล็กเอาไว้ ส่วนด้านในมีกล่องเก็บผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่แสดงหมายค้น พนักงานที่ดูแลบริษัทก็ได้นำเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นด้านใน แต่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปถ่ายภาพ

ขณะที่ นายวราวุฒิ พิทักษ์จำนงค์ อายุ 46 ปี เจ้าของร้านฮาร์ดแวร์ ซึ่งอยู่ติดกับบริษัทที่ตำรวจเข้าตรวจค้น บอกว่า บริษัทนี้เปิดมาได้ 3-4 ปีแล้ว เป็นโกดังเก็บสินค้าประเภทสารเคมี และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ ตนรู้จักกับเจ้าของ แต่ไม่ได้คุยกันลึก ๆ ก่อนหน้านี้ โกดังไม่ปิดประตูด้านหน้า แต่ที่ปิด เพราะฝุ่นเยอะ เจ้าของกลัวของจะเสียหาย ซึ่งมีพนักงาน 3-4 คน คอยดูแลแพ็กของอยู่ แต่ถ้ามีลูกค้ามารับของก็จะเปิดโกดังและปิดทันที และเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ตนเห็นว่าตำรวจสอบสวนกลาง เข้ามาตรวจค้นแล้ว ประมาณ 2 ครั้ง

ด้าน พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิศมัย คณะทำงานชุดคลี่คลายคดี เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจค้น แต่เบื้องต้นไม่พบสารไซยาไนด์ และมีข้อมูลว่า มีการจำหน่ายจริง ซึ่งทางบริษัทให้การว่า บริษัทจะรับสารไซยาไนด์ต่อมาจากบริษัทที่นำเข้ามาอีกทีหนึ่ง แล้วนำมาจำหน่ายให้กับผู้ซื้อ ซึ่งไม่ได้มีการสต็อกสินค้า แต่จะต้องให้ผู้ซื้อสั่งสินค้าเข้ามาแล้ว จึงจะสั่งจากบริษัทนำเข้ามาแล้วส่งให้ผู้ซื้อทันที

สำหรับการซื้อขายสารไซยาไนด์ ในปริมาณไม่เกิน 1,000 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน ไม่ต้องมีใบอนุญาต โดยยอมรับว่า จุดนี้เป็นช่องโหว่ให้บุคคลทั่วไปสามารถครอบครอง และซื้อขายสารดังกล่าวได้ โดยหลังจากนี้ จะดำเนินการตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ซื้อสารไซยาไนด์จากบริษัทนี้ทุกราย เพื่อหาความเชื่อมโยงกับคดีของแอม เพราะยังไม่มีข้อมูลว่า แอม ซื้อสารไซยาไนด์จากบริษัทนี้โดยตรงหรือไม่ แต่เบื้องต้นพบว่า เลขการผลิตตรงกันกับขวดที่เป็นหลักฐานที่พบในคดี

ทั้งนี้ กรณีนางสรารัตน์ รังสิวุฒาพรณ์ หรือ ‘แอม ไซยาไนด์’ ก่อเหตุวางต่อเนื่อง ตำรวจยังคงเดินหน้ารวบรวมพยานหลักฐาน ออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มเติมอีกรายคดี โดยทางสำนักข่าวได้รวบรวมหมายจับทั้งหมด เป็นข้อมูล ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 มีรายละเอียด ดังนี้

‘รมว.ปุ้ย’ ยัน!! ‘ก.อุตฯ’ เร่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ กรณีไฟไหม้โกดังลักลอบเก็บสารเคมี อยุธยา พร้อมสั่งลงโทษผู้กระทำผิด

เมื่อวานนี้ (7 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายวันมูหะหมัด นอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม โดยนางสาวพิมพฤดา ตันจรารักษ์ สมาชิสภาผู้แทนราษฎร จ.พระนครศรีอยุธยา พรรคภูมิใจไทย ได้ยื่นกระทู้สดถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับการดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีเพลิงไหม้ของเสียอันตรายที่ลักลอบเก็บในโกดัง อ.ภาชี จ.อยุธยา ทั้งในส่วนของการนำของเสียไปกำจัดบำบัด บทลงโทษ การเยียวยา และการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงว่า...

นับตั้งแต่กระทรวงฯ ตรวจพบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในโกดังและบริเวณโดยรอบพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการยึดอายัดของเสียอันตรายในโกดังดังกล่าว จำนวนกว่า 4,000 ตัน รวมทั้งยึดอายัดรถบรรทุกและรถแบคโฮที่ใช้ในการลักลอบขนถ่ายของเสียอันตรายไว้เป็นของกลาง พร้อมทั้งดำเนินคดี และสั่งการเจ้าของที่ดิน ผู้เช่าที่ดิน ผู้ขนส่ง และผู้ลักลอบนำของเสียอันตรายมาเก็บไว้ที่โกดังดังกล่าว อีกทั้ง กระทรวงอุตสาหกรรมใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด สั่งปิดโรงงานและเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานของบริษัทเอกชนสองรายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเมื่อปี 2566

ภายหลังจากเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรม จ.พระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในบริเวณโกดังหลังที่ 1 และ 2 จากทั้งหมด 5 โกดัง มีของเสียอันตรายถูกเพลิงไหม้จำนวน 13 กระบะ และรถบรรทุกของกลางถูกเพลิงไหม้จำนวน 1 คัน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยภายหลังจากการควบคุมเพลิงเอาไว้ได้ กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังจุดความร้อนและตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยรอบสถานที่เกิดเหตุอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน พบว่า คุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป มีค่าไม่เกินมาตรฐาน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบ กระทรวงอุตสาหกรรมจะทำการตรวจวัดคุณภาพน้ำและอากาศอย่าต่อเนื่อง รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังไม่ให้เหตุการณ์เพลิงไหม้เกิดขึ้นอีก จึงขอให้พี่น้องประชาชนโดยรอบในพื้นที่ดังกล่าว มีความมั่นใจได้ว่าสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ 

ส่วนสาเหตุของการเกิดเหตุเพลิงไหม้พบหลักฐาน เช่น ขวดและถังใส่น้ำมัน พร้อมธูปและระเบิดปิงปองในพื้นที่เกิดเหตุหลายจุด เป็นเหตุให้เชื่อได้ว่ามีผู้ไม่หวังดีกระทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้โดยสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการสืบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษโดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและประชาชนโดยรอบพื้นที่ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของของเสียอันตรายไม่ให้มีการกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมในทันที จากนั้นจะทำการจำแนกของเสียทั้งหมด เพื่อนำของเสียอันตรายในส่วนที่ถูกเพลิงไหม้และของเสียที่มีการรั่วไหลหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนไปกำจัดบำบัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการก่อนโดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 

สำหรับการกำจัดบำบัดของเสียอันตรายที่เหลือทั้งหมดในโกดังและพื้นที่โดยรอบ และการทำการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ จากการประเมินคาดว่าต้องใช้งบประมาณอีกกว่า 50 ล้านบาท เพื่อนำของเสียอันตรายทั้งหมดที่เหลือไปกำจัดบำบัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยภายหลังจากการปรับปรุงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่เสร็จสิ้นแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมจะฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมดคืนจากบริษัทและผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดต่อไป

“ดิฉันขอให้พี่น้องประชาชนโดยรอบในพื้นที่ดังกล่าวมีความมั่นใจได้ว่า สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ กระทรวงฯ มีนโยบายให้ความสำคัญและมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการลักลอบกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงานทั้งระบบ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้ยกระดับปรับแก้กฎหมายโดยการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 นำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle: PPP) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ กำหนดความรับผิดตั้งแต่ต้นทางโรงงานจนกว่ากากอุตสาหกรรมจะได้รับการกำจัดบำบัดจนแล้วเสร็จ” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังเร่งปรับแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรงงานในหลายประเด็น  ได้แก่...

(1) การเพิ่มบทกำหนดโทษให้มีการจำคุกและการปรับในอัตราสูง แก่ผู้ที่กระทำความผิดด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้อายุความในการดำเนินคดีเพิ่มขึ้น จากเดิมมีอายุความเพียง 1 ปีเท่านั้น เพื่อให้เกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าที่กระทำผิด 

(2) การเพิ่มฐานอำนาจให้สามารถสั่งการให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขปรับปรุงหรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เรียบร้อยเป็นปกติ ซึ่งปัจจุบันหากสั่งปิดโรงงานแม้จะมีผลให้โรงงานถูกเพิกถอนใบอนุญาตแต่การสิ้นสภาพการเป็นโรงงานจะทำให้ไม่สามารถถูกสั่งการตามกฎหมายโรงงานได้อีกต่อไป 

และ (3) การจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนงบประมาณในการป้องกันการแพร่กระจายของมลพิษโดยเร่งด่วนได้ ตลอดจนป้องกันหรือยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายในทันที จนกว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้หรือจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว  

“ในนามของกระทรวงอุตสาหกรรม ดิฉันมีความห่วงใยพี่น้อง และมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งกระทรวงฯ ได้จัดชุดเฝ้าระวังการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นซ้ำอีก พร้อมจัดทำแผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวปิดท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top