Wednesday, 8 May 2024
สายการบินแห่งชาติ

'การบินไทย’ โชว์กำไรไตรมาส 3 กว่า 3.9 พันล้านบาท แง้ม!! เปิดเส้นทางบินใหม่ ขยายฝูงบินดันรายได้ต่อเนื่อง

(12 พ.ย. 65) รายงานข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันนี้ (11 ต.ค.) การบินไทยได้รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 3,920 ล้านบาท เทียบกับการขาดทุน 5,310 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 32,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 582% จากไตรมาส 3 ของปี 2564 

อย่างไรก็ดีมีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า 30,890 ล้านบาท อันเป็นผลจากการเพิ่มความถี่เที่ยวบินจากช่วง 6 เดือนแรกของปี ได้แก่ เส้นทางลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต เจนไน เบงกาลูรู นิวเดลี มุมไบ ละฮอร์ การาจีอิสลามาบัด ฮานอย โฮจิมินห์ พนมเปญ จาการ์ตา ธากา เดนปาซาร์ ไทเป สิงคโปร์ โคเปนเฮเกน มิวนิก และซูริค และกลับไปทำการบินในเส้นทางเดิมก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่ เส้นทาง ปีนัง โตเกียว (ฮาเนดะ) และบรัสเซลส์ ประกอบกับอัตราบรรทุกผู้โดยสารรวมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากเป็น 77.0% เทียบกับ 9.9% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564  

ในขณะเดียวกันบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายจ่ายรวมทั้งสิ้น 28,940 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อน 186% จากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณขนส่งตามจำนวนเส้นทางบินและเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันถึง 44% ซึ่งเป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันเครื่องบินปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อนถึง 80% ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชีได้รายงานผลการสอบทาน แบบให้ข้อสรุปแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นครั้งแรกตั้งแต่เข้าแผนฟื้นฟู

ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินจำนวน 3,672 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีการปรับปรุงดอกเบี้ยจ่ายตามแผนฟื้นฟูกิจการจำนวน 2,160 ล้านบาท และแม้จะมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้และการขายทรัพย์สินในส่วนของรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว แต่บริษัทฯ ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากการตีมูลค่าทางบัญชีอันเนื่องมาจากการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ 

อีกทั้งยังมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ส่งผลให้บริษัทฯ มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นค่าใช้จ่ายรวม 5,212 ล้านบาท และมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิจำนวน 4,780 ล้านบาท เป็นส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 4,785 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ และบริษัทย่อยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าทั้งในส่วนของเครื่องบินและอื่นๆ เป็นกำไรจำนวน 6,181 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 3,100 ล้านบาท ทั้งนี้ EBITDA สำหรับบริษัทฯ มากกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนคือเงื่อนไขหนึ่งในการออกจากแผนฟื้นฟู 

การบินไทยฟื้นตัว คงสถานะสายการบินแห่งชาติ คาด!! พร้อมกลับเข้าตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 4 ปี 67

(16 พ.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมที่ รัฐบาลสามารถแก้ปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้อย่างคืบหน้าในระดับหนึ่ง ซึ่งขอให้เร่งรัดแก้ปัญหาให้เร็วขึ้น เพื่อให้ได้กลับคืนสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งฝากดูแลเจ้าหน้าที่พนักงานของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ ไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ ให้ได้รับความเป็นธรรมและสามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมั่นใจ

สำหรับมติที่สำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการดำเนินการปรับโครงสร้างทุน การแปลงหนี้เป็นทุนและการจัดสรรเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิม ไม่จัดสรรและเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดย การบินไทย จะดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุนและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน PPO ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 ซึ่งจะทำให้มีส่วนของผู้ถือหุ้น จำนวน 28,685 ล้านบาท เพื่อให้สามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ภายในไตรมาส 4 ปี 2567

ส่วนการปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ ไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ มีอากาศยานที่ใช้ทำการบินรวม 64 ลำ ซึ่งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการขออนุญาตจัดหาอากาศยานเพิ่มเติมโดยเช่าดำเนินงาน 13 ลำ และมีอากาศยานที่อยู่ระหว่างจัดหาตามแผนการจัดหาอากาศยานปี 2567-2568 อีกจำนวน 9 ลำ 

ทั้งนี้ยังคงสถานะสายการบินแห่งชาติ เนื่องจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 83.93% ถือเป็นสัดส่วนการถือหุ้นที่มีความเหมาะสมสำหรับการกำหนดให้เป็นสายการบินแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการดำเนินภารกิจสำคัญต่าง ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ รวมถึงให้สามารถกลับเข้าร่วมในคณะกรรมการต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการการจัดสรรเวลาเข้า-ออก ของเที่ยวบิน คณะกรรมการของผู้แทนของรัฐบาลเพื่อพิจารณาจัดทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นประจำ

นอกจากนี้ในการติดตามหนี้สินที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีสิทธิเรียกร้องและทุนทรัพย์สูง โดยธนาคารเจ้าหนี้ ได้แก่ ธนาคารออมสิน และ ธนาคารกรุงไทย โดยได้นำเงินฝากในบัญชีกองทุนบำเหน็จพนักงานการบินไทยหักกลบหนี้ตามมูลหนี้ ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีต่อธนาคารต่อไป

'การบินไทย' ตั้งลำ!! โชว์รายได้สวยไตรมาส 2 ปี 66 พา 'บริษัท-บริษัทย่อย' ทำกำไรสูงสุดในรอบ 20 ปี

(11 ส.ค. 66) รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 บริษัท และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 37,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 21,526 ล้านบาท หรือ 73.7% แต่ลดลง 9.9% จากไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามปกติของธุรกิจที่ไตรมาส 2 จะเป็นช่วงที่มีผู้โดยสารเดินทางต่ำที่สุดในช่วงปี

โดยบริษัทได้เพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่เป็นที่นิยม อาทิ ประเทศญี่ปุ่นและจีน มีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.35 ล้านคน และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.2% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 60.3%

บริษัท และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 28,805 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 22,825 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 8,576 ล้านบาท ดีกว่าไตรมาส 2 ปี 2565 ที่ขาดทุน 1,299 ล้านบาท โดยในไตรมาส 2 ของปี 2566 นี้เป็นไตรมาส 2 ที่บริษัท และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานสูงสุดในรอบ 20 ปี

ทั้งนี้ บริษัทและบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,967 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 2,643 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัท และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท

ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 3,213 ล้านบาท เป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 2,262 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 9,307 ล้านบาท

สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัท และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 78,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 32,706 ล้านบาท

ในขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 57,280 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 37,175 ล้านบาท บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 21,609 ล้านบาท ดีกว่างวดเดียวกันของปี 2565 ที่ขาดทุน 4,469 ล้านบาท

โดยบริษัทและบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 7,515 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นรายได้รวม 344 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 14,795 ล้านบาท

ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 6,457 ล้านบาท เป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 14,776 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 23,361 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทและบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 67 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 47 ลำ โดยบริษัทเพิ่งรับเครื่องบินลำตัวกว้างจากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบินในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจำนวน 2 ลำ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.0 ชั่วโมงต่อวัน

โดยเป็นส่วนของการบินไทย 14.0 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 76.9% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 192.8% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 81.4% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 49.2% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่ง รวมทั้งสิ้น 6.87 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 126.7%

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 223,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 25,140 ล้านบาท (12.7%) หนี้สินรวมจำนวน 279,571 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 10,369 ล้านบาท (3.9%)

ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 56,253 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 14,771 ล้านบาท

และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทจึงมีเงินสดคงเหลือจำนวน 51,153 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 เพิ่มขึ้น 16,613 ล้านบาท จาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565

'การบินไทย' รีแคป!! 2 ทศวรรษแห่งการโบยบิน รันธุรกิจเคียงคู่ 'รักษ์โลก' ในทุกกระบวนการ

เมื่อวานนี้ (25 ต.ค.66) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดงานแถลงข่าว 'FROM PURPLE TO PURPOSE' การปรับเปลี่ยนเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงที่ผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทยเข้ากับแนวคิดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) อย่างลงตัว โดยจะเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป โดยมี นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ พร้อมด้วย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคณะผู้บริหารร่วมแถลงข่าว

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การบินไทยดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากอุตสาหกรรมการบินมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมและโครงการริเริ่มต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบการลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะด้วยการนำวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้วกลับมาพัฒนาสร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ภายใต้แนวคิด Zero Waste Living ซึ่งประกอบด้วยหลักการหลัก 3 ประการ ได้แก่ 

FROM PLANES TO PLANET-การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม
FROM WASTE TO WEALTH-การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 
FROM PURPLE TO PURPOSE-จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติ และได้รับการยอมรับในเรื่องความสวยงาม ได้รับการจดจำและเป็นสิ่งแสดงออกถึงเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเป็นสายการบินแห่งชาติที่เปรียบเสมือนประตูบานแรกที่เปิดต้อนรับผู้โดยสารจากประเทศต่าง ๆ มาเป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ได้ถูกนำมาตัดเย็บด้วยเส้นไหมไทยถักทอผสมผสานกับเส้นใยแปรรูปจากวัสดุรีไซเคิล คงไว้ซึ่งความงดงามในความเป็นไทยที่เพิ่มคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัวด้วยประโยชน์ใช้สอยครบถ้วน โดดเด่นในเรื่องความง่ายในการดูแลรักษา การคงรูปแต่ให้ความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการใช้งาน และยังได้มีการทดสอบในด้านความปลอดภัยที่เป็นตามมาตรฐานสากล

เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นดังกล่าวจะปรากฏในทุกที่สาธารณะทั่วโลกและทุกชั้นบริการบนเครื่องบิน ในฐานะเครื่องแบบของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทย ซึ่งจะสวมใส่พร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป 

ที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานด้วยการนำเครื่องบินและเครื่องยนต์สมัยใหม่ที่มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงและการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำมาใช้ในการให้บริการ และปรับปรุงการปฏิบัติการบิน อาทิ การนำเทคนิค Single Engine Taxi และการลดน้ำหนักการบรรทุกมาปรับใช้ในการปฏิบัติการบิน เป็นต้น 

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งรวมถึงการจัดทำแผนการนำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF-Sustainable Aviation Fuel) มาใช้ทำการบิน และการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากกิจกรรมการบิน อาทิ กิจกรรมครัวการบิน กิจกรรมสายช่าง กิจกรรมการบริการภาคพื้น ตลอดจนกิจกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนทางสังคม อาทิ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากภาคการเกษตรของเกษตรชาวไทยและผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่บริษัทฯ กำหนดไว้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top