Friday, 10 May 2024
สหภาพโซเวียต

อดีต 'รมว.คลัง'​ เผยเอกสารลับสหรัฐฯ ที่เคยรับปากรัสเซีย ระบุ!! จะไม่ขยายเขตนาโตแม้แต่นิ้วเดียว

อดีต รมว.คลัง เผยเอกสาร เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯและยุโรป ร่วมเจรจาให้คำมั่นกับ “มิคาอิล กอร์บาชอฟ” อดีตผู้นำโซเวียต ว่า จะไม่ขยายขอบเขตของนาโต “แม้แต่นิ้วเดียว” แต่กลับเบี้ยว นำไปสู่สงครามยูเครน

ไม่นานมานี้​ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 'Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล'​ เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนว่า...

“กอร์บาชอฟบอกว่า: แม้แต่นิ้วเดียว เข้าใจไม่ตรง”

รูป 1 สื่อ Russia Beyond สัมภาษณ์กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต เกี่ยวกับ ‘แม้แต่นิ้วเดียว’ ปรากฏว่าคำตอบน่าสนใจมาก

สื่อถามว่า: ปัญหาหลักอย่างหนึ่ง เกี่ยวข้องกับยูเครน ก็คือการขยายเขตโดยนาโต้ไปทางตะวันออก คุณคิดว่าประเทศตะวันตกที่วางแผนเกี่ยวกับยุโรปตะวันออกโกหกกับคุณหรือเปล่า?

กรณีที่เจมส์ เบเคอร์สัญญาว่านาโต้จะไม่ขยายไปทางตะวันออก ‘แม้แต่นิ้วเดียว’ นั้น ทำไมคุณไม่เรียกร้องให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร?

กอร์บาชอฟ: ไม่มีการพูดคุยหัวข้อ ‘การขยายเขตนาโต้’ เลย แม้ในห้วงเวลาต่อจากนั้น (หลังปี 1990) ผมพูดอย่างรับผิดชอบเต็มที่

และไม่มีประเทศยุโรปตะวันออกใดที่ยกประเด็นนี้ขึ้น แม้ภายหลังข้อตกลง Warsaw Pact ยกเลิกไปแล้วในปี 1991 ส่วนผู้นำตะวันตกก็ไม่ได้ยกขึ้นเช่นกัน

ประเด็นหนึ่งที่เรายกขึ้นพูดกัน คือโครงสร้างของนาโต้จะไม่ขยายเข้าไปในเยอรมันตะวันออกหลังรวมประเทศ คำพูดของเบเคอร์เป็นเรื่องนี้ โคลและเกนซเลอร์พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้

(ประเทศตะวันตก) ได้มีการทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ตามข้อตกลงทางการเมืองแล้ว ข้อตกลงสุดท้ายเรื่องเยอรมนีระบุว่าจะไม่มีโครงสร้างทางทหารใหม่ในเยอรมันตะวันออก จะไม่วางอาวุธ weapon of mass destruction ที่นั่น และประเทศตะวันตกก็ยอมปฏิบัติตามนั้น

ดังนั้น โปรดอย่าไปเล่าขานกันว่ากอร์บาชอฟและรัฐบาลสหภาพโซเวียตไม่ทันเกม และถูกตะวันตกหลอกลวง

ถ้าจะมีความไม่ทันเกม ก็คือห้วงเวลาหลังจากสหภาพโซเวียตแตกสลายกลายเป็นรัสเซียแล้ว(คือกอร์บาชอฟพ้นตำแหน่งไปแล้ว) รัฐบาลรัสเซียไม่ได้ประท้วงการขยายเขตนาโต้ตั้งแต่เริ่มต้น(ในปี 1999)

(If there was naïveté, it was later, when the issue arose. Russia at first did not object.)

สหรัฐและนาโต้ตัดสินใจขยายเขตนาโต้ไปทิศตะวันออกในปี 1993 (ในปีนั้น เริ่มเจรจากับโปแลนด์) ผมเห็นว่าเป็นการตัดสินใจผิดพลาดตั้งแต่แรก และการขยายเขตดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์และคำมั่นที่ให้กับเราไว้ในปี 1990

(It was definitely a violation of the spirit of the statements and assurances made to us in 1990.)

กรณีเยอรมนีนั้น มีการระบุไว้เป็นเอกสารสัญญาและประเทศตะวันตกก็ปฏิบัติตาม

(With regards to Germany, they were legally enshrined and are being observed.)

สัมภาษณ์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 .. 2014 เกิดขึ้นหลังจากรัสเซียในสมัยปูติน บุกเข้าไปในแหลมไครเมียในเดือน ก.. 2014 การที่สื่อมาสัมภาษณ์กอร์บาชอฟ ก็คงจะเพื่อเอาเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ มาอ้างสนับสนุนการบุกดังกล่าว

แต่เมื่อกอร์บาชอฟสัมภาษณ์เช่นนั้น สื่อสหรัฐก็เอาไปขยายความเพื่อลบล้าง ‘แม้แต่นิ้วเดียว’

ผมวิเคราะห์ว่า ตรงนี้ กอร์บาชอฟพูดตรงกับเหตุการณ์ และการเจรจาเน้นทำเป็นสัญญาเกี่ยวกับเยอรมันตะวันออกเท่านั้น ไม่ได้มีการทำสัญญาเกี่ยวกับประเทศยุโรปตะวันออกอื่นด้วยเลย

เป็นเพราะเหตุใด?

รูป 2 แสดงสมาชิกนาโต้ปัจจุบัน โดยประเทศสมาชิกใหม่หลังปี 1990 ที่อยู่ระหว่างสองลูกศรสีน้ำเงิน ก็คือประเทศที่เดิมอยู่ภายใต้ร่มเงาของสหภาพโซเวียต

รูป 3 แสดงการรับสมาชิกใหม่ของนาโต้ โดยก่อนเยอรมนีรวมตัวมี 3 รอบ ในรอบที่หนึ่งปี 1952 รับกรีซกับตุรกี รอบที่สองปี 1955 รับเยอรมันตะวันตก รอบที่สามปี 1982 รับสเปน

ส่วนประเทศยุโรปตะวันออกนั้น เริ่มรับในรอบที่สี่เป็นต้นไป เริ่มด้วยปี 1999 เชค ฮังการี โปแลนด์ ปี 2005 ล๊อตใหญ่ บุลกาเรีย เอสโตเนีย แลตเวีย ฯลฯ

สรุปแล้ว ในการประชุมปี 1990 ที่เบเคอร์กล่าวถึง ‘แม้แต่นิ้วเดียว’ นั้น มุ่งไปที่เส้นแบ่งเขตอิทธิพลหลักระหว่างนาโต้กับสหภาพโซเวียตในขณะนั้น

3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ‘ไลก้า’ ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ กลายเป็นสุนัขอวกาศตัวแรกของโลก 

วันนี้ เมื่อ 66 ปีก่อน ‘ไลก้า’ (Leika แปลว่า เห่า) สุนัขอวกาศตัวแรกของโลก ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศไปโคจรรอบโลกด้วยยานสปุตนิค 2 ของสหภาพโซเวียต ตามโครงการสปุตนิค

สำหรับ ‘ไลก้า’ สุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกีเพศเมีย ถูกจับมาจากข้างถนนในกรุงมอสโก และถูกนำมาใช้ทดลองในครั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ยานสปุตนิก 2 ไม่ได้ออกแบบให้กลับสู่โลกอย่างสมบูรณ์ เรื่องของไลก้าจึงจบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่ไม่อาจรู้แน่ชัดนัก 

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ประเมินว่า ไลก้ามีชีวิตอยู่ได้ ระหว่าง 4-10 วันในวงโคจร บางคนบอกว่า อาหารมื้อท้าย ๆ ของไลก้ามีภาวะเป็นพิษ บางส่วนก็อ้างว่าเกิดจากภาวะขาดออกซิเจนเมื่อแบตเตอรี่หมด

ยานสปุตนิก 2 อยู่ในวงโคจรนาน 163 วัน โคจรรอบโลกครบรอบในเวลา 1 ชั่วโมง 42 นาที รวม 2,370 รอบ ตกลงสู่โลกและไหม้สลายหมดไปในอากาศเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2501 จากนั้นอีก 40 ปีให้หลัง อนุสาวรีย์ของสุนัขอวกาศไลก้าก็ได้มีการสร้างขึ้นนอกกรุงมอสโก 

‘Vasily Arkhipov’ ทหารเรือชาวโซเวียตแห่งวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา ผู้ใช้สติยับยั้งสงครามนิวเคลียร์ และช่วยมนุษยชาติให้รอดพ้นจากวันสิ้นโลก

‘Vasily Arkhipov’ ผู้ที่ช่วยให้โลกใบนี้รอดพ้นจากสงครามนิวเคลียร์

‘มนุษย์’ หรือ ‘Homo sapiens’ ดำรงอยู่เผ่าพันธุ์บนโลกมาประมาณ 300,000 ปี หรือมากกว่า 109 ล้านวัน แต่วันที่อันตรายที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นวันที่เผ่าพันธุ์ของมนุษย์น่าจะเข้าใกล้ความหายนะยิ่งกว่าครั้งใด ๆ ชนิดที่เรียกว่า ‘เกือบล้างโลก’ นั้น เกิดขึ้นเมื่อ 61 ปีที่แล้ว ในวันที่ 27 ตุลาคม 1962 และบุคคลที่น่าจะทำหน้าที่ช่วยโลกให้รอดพ้นจากหายนะมากกว่าใคร ๆ ก็คือ ‘Vasily Aleksandrovich Arkhipov’ นายทหารเรือโซเวียตผู้ที่มีชีวิตอย่างเงียบสงบและเรียบง่าย

Arkhipov เกิดในครอบครัวชาวนาในเมือง Staraya Kupavna ใกล้กับกรุงมอสโก เขาได้รับการศึกษาในโรงเรียนทหารเรือชั้นสูง ‘Pacific Higher’ และเข้าร่วมสงครามโซเวียต–ญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม 1945 โดยปฏิบัติหน้าที่บนเรือกวาดทุ่นระเบิด จากนั้นเขาไปเรียนที่โรงเรียนทหารเรือชั้นสูง ‘Azerbaijan’ และสำเร็จการศึกษาในปี 1947

รัศมีการยิงของขีปนาวุธสหภาพโซเวียตจากคิวบา

ในช่วงวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา ชายผู้นี้เป็นผู้หยุดยั้งวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาไม่ให้กลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ อันที่จริงแล้ว Vasily Arkhipov น่าจะเป็น ‘บุคคลที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่’ เขาเป็นต้นเรือ (Executive officer) แห่งเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ B-59 ของโซเวียต (Hotel-class ballistic missile submarine K-19) ปฏิเสธที่จะเห็นชอบกับคำสั่งของกัปตันที่ให้ยิงตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์ใส่เรือรบสหรัฐฯ อันจะเป็นการจุดชนวนสิ่งที่อาจก่อให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจได้

ในวันนั้น Arkhipov ต้นเรือประจำเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ B-59 ของสหภาพโซเวียตแล่นอยู่ในน่านน้ำสากลใกล้คิวบา ในช่วงที่ความตึงเครียดของวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาถึงจุดสูงสุด ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อเครื่องบินสอดแนม U-2 ของสหรัฐฯ ถ่ายภาพหลักฐานการสร้างฐานขีปนาวุธขึ้นใหม่ในคิวบา ปรากฏว่า ที่ปรึกษาทางทหารโซเวียตกำลังช่วยสร้างฐานยิงดังกล่าว ซึ่งสามารถยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ไปยังแผ่นดินสหรัฐอเมริกาที่อยู่ห่างออกไปไม่ถึง 100 ไมล์ได้อย่างง่ายดาย และสหรัฐฯ อาจไม่สามารถป้องกันได้

เรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ B-59 ของสหภาพโซเวียต

นั่นจึงนำไปสู่การเผชิญหน้าที่ร้ายแรงที่สุดของสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต เป็นเวลา 13 วันแห่งความเสี่ยงสูงระหว่าง 2 มหาอำนาจนิวเคลียร์ ที่ดูเหมือนกำลังจะกลายเป็นก้าวที่ย่างพลาด

เริ่มต้นจาก ‘John F. Kennedy’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ออกคำสั่งในสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘การปิดล้อมคิวบา’ โดยตั้งกองเรือรบนอกชายฝั่งของเกาะ เพื่อป้องกันไม่ให้เรือสินค้าโซเวียต ซึ่งบรรทุกขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์ไปยังคิวบา และเรียกร้องให้สหภาพโซเวียตถอนขีปนาวุธที่ติดตั้งในคิวบา

ในวันที่ 27 ตุลาคม 1962 เรือดำน้ำ B-59 ของโซเวียตซึ่งดำอยู่ใต้น้ำมาหลายวัน ถูกไล่ต้อนโดยเรือพิฆาตสหรัฐฯ 11 ลำ และ ‘USS Randolph’ เรือบรรทุกเครื่องบิน โดยเรือรบของสหรัฐฯ ได้เริ่มทิ้งระเบิดน้ำลึกรอบ ๆ เรือดำน้ำ

จุดจบในกรณีนี้ ไม่ใช่แค่ชะตากรรมของเรือดำน้ำและลูกเรือเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโลกทั้งใบด้วย ด้วยพวกเขาถูกตัดขาดจากโลกภายนอก จึงขาดการติดต่อทางวิทยุกับมอสโก ตัวเรือถูกกระแทกด้วยแรงอัดจากการระเบิดของระเบิดน้ำลึก เครื่องปรับอากาศพังเสียหาย อุณหภูมิและระดับคาร์บอนไดออกไซด์ของเรือที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และข้อสรุปที่ชัดเจนที่สุดสำหรับเจ้าหน้าที่ประจำเรือดำน้ำ B-59 ก็คือ ‘สงครามโลกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว’ แต่สิ่งหนึ่งที่ฝ่ายสหรัฐฯ ไม่รู้ คือ เรือดำน้ำ B-59 มีอาวุธ คือ ‘ตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์’ ขนาด 10 กิโลตัน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเรือได้รับอนุญาตจากมอสโกให้ยิงมันได้โดยไม่ต้องได้รับการยืนยัน

เรือรบสหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดน้ำลึกใกล้เรือดำน้ำ B-59 เพื่อพยายามบังคับให้มันขึ้นสู่ผิวน้ำ และนายทหารระดับสูงของเรือ 2 คน ตกลงตัดสินใจที่จะใช้ ‘ตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์’ ทำลายเรือรบสหรัฐฯ แต่ Arkhipov ต้นเรือปฏิเสธที่จะเห็นด้วยกับคำสั่งใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมเป็นเอกฉันท์จากเจ้าหน้าที่ระดับสูงประจำเรือ 3 คน แม้ว่าเหตุผลทุกประการที่เชื่อได้ว่า เรือรบสหรัฐฯ กำลังพยายามจะจมพวกเขา

“พวกเราต่างพากันคิดว่า จุดจบมันก็คงแค่นี้แหละ” ‘Vadim Orov’ ลูกเรือของเรือดำน้ำ B-59 ให้สัมภาษณ์กับทาง ‘National Geographic’ ในปี 2016 “เรารู้สึกเหมือนกำลังนั่งอยู่ในถังโลหะซึ่งมีคนใช้ค้อนทุบอยู่ตลอดเวลา”

แม้กระทั่ง ‘Valentin Savitsky’ กัปตันเรือ ซึ่งตามรายงานจากสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ บอกว่า เขาพูดออกมาว่า “เราจะต้องระเบิดพวกมันเดี๋ยวนี้!! ไม่งั้นเราจะตาย แต่เราจะจมพวกมันทั้งหมด เราจะไม่ยอมกลายเป็นความอับอายของกองทัพเรือแห่งสหภาพโซเวียต”

เรือดำน้ำ B-59 กลับขึ้นสู่ผิวน้ำ มุ่งหน้าออกจากคิวบา และแล่นกลับไปยังสหภาพโซเวียต

โชคดีที่ไม่ใช่เพียงแค่ดุลยพินิจของกัปตันแต่เพียงผู้เดียว ในการยิงตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์ แต่เจ้าหน้าที่อาวุโสประจำเรือดำน้ำทั้ง 3 คน ต้องเห็นด้วยทั้งหมด และ Vasily Arkhipov ต้นเรือวัย 36 ปี ได้ปฏิเสธที่จะให้ความยินยอม เขาโน้มน้าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเรือดำน้ำอีก 2 คนว่า แท้จริงแล้วการทิ้งระเบิดน้ำลึกของเรือรบสหรัฐฯ เป็นการกระทำเพื่อส่งสัญญาณให้เรือดำน้ำ B-59 ขึ้นสู่ผิวน้ำ เพราะเรือรบของสหรัฐฯ ไม่มีทางเลือกอื่นที่จะติดต่อสื่อสารกับเรือดำน้ำโซเวียตได้

ดังนั้น หากพวกเขายิงตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์ จะเป็นความผิดพลาดร้ายแรงที่สุด ในที่สุดแล้วเรือดำน้ำ B-59 ต้องกลับขึ้นสู่ผิวน้ำและเดินทางมุ่งหน้าออกจากคิวบา เพื่อแล่นกลับไปยังสหภาพโซเวียต

นาวาอากาศตรี ‘Rudolf Anderson’ นักบิน U-2 ของสหรัฐฯ เป็นผู้เสียชีวิตเพียงรายเดียวในวิกฤติครั้งนั้น

ความกล้าหาญด้วยความเยือกเย็นของ Arkhipov ไม่ได้เป็นจุดสิ้นสุดของวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา ในวันเดียวกันนั้นเอง นาวาอากาศตรี ‘Rudolf Anderson’ นักบิน U-2 ของสหรัฐฯ ก็ถูกยิงตกและเสียชีวิตขณะปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนเหนือคิวบา Anderson เป็นผู้เสียชีวิตรายแรกและรายเดียวในวิกฤติอันเป็นเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ได้ หากประธานาธิบดี Kennedy ไม่ได้สรุปว่า ‘Nikita Sergeyevich Khrushchev’ นายกรัฐมนตรีโซเวียต ไม่ได้เป็นผู้ออกคำสั่งให้ยิงเครื่องบิน U-2 ของสหรัฐฯ

‘John F. Kennedy’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ ‘Nikita Khrushchev’ นายกรัฐมนตรีโซเวียต

การติดต่อพูดคุยอย่างใกล้ชิดครั้งนั้น ทำให้ผู้นำทั้ง 2 ต่างสงบสติอารมณ์ลง พวกเขาเปิดการเจรจาแบบ Backchannel ซึ่งท้ายที่สุด จึงนำไปสู่การถอนขีปนาวุธในคิวบาของสหภาพโซเวียต และการถอนขีปนาวุธของสหรัฐฯ ในตุรกีในเวลาต่อมาเพื่อเป็นการตอบแทน และถือเป็นการสิ้นสุดของการเข้าใกล้จุดจบของโลก ด้วยสงครามนิวเคลียร์มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาจนถึงทุกวันนี้

การกระทำของ Arkhipov สมควรได้รับการยกย่องเป็นพิเศษ เพราะ Arkhipov ติดอยู่ในเรือดำน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยดีเซล ซึ่งอยู่ห่างจากมาตุภูมิหลายพันไมล์ เขาถูกแรงกระแทกจากระเบิดลึกซึ่งอาจทำให้ลูกเรือเสียชีวิตทั้งหมดได้ หากเขายอมรับการตัดสินใจยิงตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์ ก็อาจจะทำให้กองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ กลายเป็นจุล และคร่าชีวิตลูกเรืออเมริกันอีกหลายพันคน ซึ่งนั่นอาจทำให้ประธานาธิบดี Kennedy และนายกรัฐมนตรี Khrushchev ไม่สามารถถอยออกจากขอบเหวแห่งหายนะนี้ได้ และวันที่อันตรายที่สุดในประวัติศาสตร์ของ มนุษยชาติ อาจเป็นวันสุดท้ายของพวกเราทุกคน

‘Elena’ ผู้เป็นลูกสาว และ ‘Sergei’ หลานชายของ Vasily Arkhipov กับรางวัล ‘The Future of Life Award’

สำหรับความกล้าหาญของเขา จึงทำให้ในปี 2017 Arkhipov เป็นคนแรกที่ได้รับรางวัล ‘Future of Life’ จาก ‘Future of Life Institute’ (FLI) องค์กรไม่แสวงผลกำไร ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเคมบริดจ์ โดย Arkhipov เสียชีวิตลงเมื่อปี 2008 ก่อนที่จะมีข่าวเกี่ยวกับเรื่องราวการกระทำของเขา จนกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

ซึ่ง ‘Max Tegmark’ ประธาน FLI กล่าวในพิธีมอบรางวัลนี้ ว่า “Vasily Arkhipov อาจเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่”

ระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1945

นับตั้งแต่การทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1945 ก็ไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามอีกเลย แต่ในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียทวีความรุนแรงขึ้นจากสงครามในยูเครน จนเริ่มมีการนำประเด็นการใช้อาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมากล่าวถึง

มนุษยชาติจะต้องตระหนักรู้ถึงพลังอันน่าสะพรึงกลัวของ ‘วันสิ้นโลก’ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากอาวุธเหล่านี้ให้ดี ดังเช่น ‘Vasily Arkhipov’ ผู้ซึ่งในช่วงเวลาของการตัดสินใจ ในความเป็นและความตายนั้น เขาตัดสินใจเลือกให้มนุษยชาติ มีชีวิตอยู่มากกว่าการสูญสลายไปจนหมดสิ้น

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

‘Operation Wedding’ ภารกิจหนีตายของชาวรัสเซียเชื้อสายยิว ลงทุนเหมาเที่ยวบิน เพื่อจี้เครื่องบินหนีออกจาก ‘สหภาพโซเวียต’

หลังจากสงครามหกวัน ปี 1967 ‘สหภาพโซเวียต’ ได้ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับ ‘อิสราเอล’ เกิดผลกระทบต่อการยื่นขอวีซ่าของคนรัสเซียเชื้อสายยิว ที่ส่วนใหญ่ได้ทำการยื่นขอทั้งครอบครัวเพื่อเดินทางออกจากสหภาพโซเวียต ผลที่เกิดขึ้นคือการขอวีซ่าของพวกเขา ‘ถูกระงับ’ หรือ ‘ถูกปฏิเสธ’

หนึ่งในเงื่อนไขของผู้ขอวีซ่าเดินทางออกจากสหภาพโซเวียตคือ ‘การลาออกจากงาน’ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงอย่างมาก เพราะเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยสังคม ซึ่งมีความผิดทางอาญา

การยื่นขอวีซ่าเพื่อออกจากสหภาพโซเวียต มีผลสำเร็จกับแค่บางคน ในขณะที่อีกหลายคนถูกปฏิเสธ ซึ่งมีผลทันทีและมีผลในระยะยาว คำร้องขอวีซ่าของพวกเขาจะถูกเพิกเฉยไปอีกหลายปี

ในหน่วย OVIR (Office of Visas and Registration) ซึ่งเป็นแผนกหนึ่งใน MVD (กระทรวงกิจการภายในของสหภาพโซเวียต) ที่รับผิดชอบในการออกวีซ่า ได้ให้เหตุผลที่สำหรับคำปฏิเสธว่า “บุคคลเหล่านี้ได้รับการเข้าถึงข้อมูลที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหภาพโซเวียตในบางช่วงเวลา จึงไม่สามารถอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศได้”


ทำให้คนเหล่านี้ถูกเรียกว่า ‘Refusenik’ แปลว่า ‘ผู้ถูกปฏิเสธ’ ส่วนใหญ่หมายถึงชาวรัสเซียเชื้อสายยิว ซึ่งถูกปฏิเสธการขออพยพย้ายถิ่นจากสหภาพโซเวียตไปยังประเทศอิสราเอล ด้วยเหตุนี้ ทำให้ ‘Operation Wedding’ ถือกำเนิดขึ้นมา

‘Operation Wedding’ เป็นปฏิบัติการจี้เครื่องบินโดยกลุ่มหนุ่มสาวชาวโซเวียตเชื้อสายยิว ผู้ซึ่งถูกปฏิเสธการขอวีซ่าออกสหภาพโซเวียต เพื่ออพยพไปอยู่ยังอิสราเอล พวกเขาจึงคิดวางแผนที่จะ ‘จี้’ เครื่องบินเพื่อหลบหนีจากสหภาพโซเวียต 

แน่นอนว่า แรกเริ่มของความคิดทุกอย่างดูง่ายและเป็นไปได้ทั้งหมด พวกเขาวางแผนใช้วิธีปลอมตัวเป็นครอบครัวเพื่อเดินทางไปงานแต่งงานของญาติในต่างเมืองด้วยสายการบินท้องถิ่น 

โดยสมาชิกในกลุ่มจะซื้อตั๋วทุกใบบนเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก 12 ที่นั่ง (Antonov An-2) ทำให้ในเที่ยวบินดังกล่าวไม่มีผู้โดยสารอื่นเลย จึงไม่มี ‘ผู้บริสุทธิ์’ ที่ไม่เกี่ยวข้องจะได้รับอันตราย 

นอกจากนี้พวกเขาจะบังคับให้นักบินและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องลงจากเครื่องบิน แล้วให้ ‘Mark Dymshits’ ผู้เป็นอดีตนักบินทหาร และเป็นนักบินของกลุ่มเข้าควบคุมเครื่องบิน และบินขึ้นสู่ท้องฟ้าเหนือพรมแดนโซเวียตไปยังสวีเดน แล้วมุ่งหน้าไปยังอิสราเอล


ปฏิบัติการนี้ เกิดขึ้นในวันที่ 15 มิถุนายน 1970 หลังจากมาถึงสนามบิน Smolnoye (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นสนามบิน Rzhevka) ใกล้นครเลนินกราด กลุ่ม ‘แขกงานแต่งงาน’ ยังไม่ทันที่จะขึ้นเครื่องบินเลย ทั้งหมดก็ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ของ MVD 

พวกเขาทั้งหมดถูกตั้งข้อหากบฏ มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ภายใต้มาตรา 64 ของประมวลกฎหมายอาญาของ RSFSR 

โดย ‘Mark Dymshits’ และ ‘Eduard Kuznetsov’ ถูกตัดสินให้ต้องรับโทษประหารชีวิต แต่หลังจากการประท้วงจากนานาประเทศ จึงถูกตัดสินจำคุก 15 ปีแทน 

-Yosef Mendelevitch และ Yuri Fedorov ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี
-Aleksey Murzhenko ถูกตัดสินจำคุก 14 ปี
-Sylva Zalmanson (ภรรยาของ Kuznetsov และเป็นสตรีผู้เดียวที่ถูกพิจารณาคดี) ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี 
-Arie (Leib) Knokh ถูกตัดสินจำคุก 13 ปี 
-Anatoli Altmann ถูกตัดสินจำคุก 12 ปี 
-Boris Penson และ Wolf Zalmanson (พี่ชายของ Sylva และ Israel) ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี
-Israel Zalmanson ถูกตัดสินจำคุก 8 ปี
-Mendel Bodnya ถูกตัดสินจำคุก 4 ปี 

ในขณะที่สื่อโซเวียตพาดหัวว่า ‘อาชญากรได้รับการลงโทษ’ แต่ก็มีผู้คนมากมายในฟากฝั่งของโลกตะวันตกเรียกร้องให้ ‘ปล่อยตัวคนเหล่านี้!’ 

ภายหลังเมื่อม่านเหล็กแห่งอิสรภาพเปิดออก ชาวโซเวียตกว่า 300,000 คน ก็สามารถอพยพออกนอกประเทศได้ ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มนี้มีสถานะเป็นผู้จ่ายค่าอิสรภาพให้กับชาวโซเวียตทุกคนที่ได้รับอนุญาตให้อพยพ


การอพยพชาวยิวจากสหภาพโซเวียตก่อนและหลังการพิจารณาคดี Operation Wedding (the First Leningrad Trial) ครั้งแรก ตามด้วยการปราบปรามชาวยิว และมีการเคลื่อนไหวที่ไม่เห็นด้วยทั่วสหภาพโซเวียต นักเคลื่อนไหวถูกจับกุม ศูนย์ชั่วคราวเพื่อศึกษาภาษาฮีบรูและโตราห์ถูกปิด 

ในขณะเดียวกันการประณามจากนานาประเทศทำให้ทางการโซเวียตต้องเพิ่มโควตาการย้ายถิ่นฐานอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 1960 ถึง 1970 มีชาวยิวในโซเวียตเพียง 3-4,000 คนเท่านั้นที่สามารถอพยพออกจากสหภาพโซเวียตได้ แต่หลังจากการพิจารณาคดีในช่วงระหว่างปี 1971 ถึง 1980 มีผู้ได้รับวีซ่าถึง 347,100 คน เพื่ออพยพออกจากสหภาพโซเวียต และ 245,951 คนเป็นชาวรัสเซียเชื้อสายยิว


ในเดือนสิงหาคม 1974 Sylva Zalmanson ได้รับการปล่อยตัว โดยเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนนักโทษอิสราเอลกับสายลับของสหภาพโซเวียต หรือ ‘Yuri Linov’ ในเบอร์ลิน 

หลังจากนั้นเธอก็อพยพไปยังอิสราเอล เดือนกันยายนในปีต่อ ๆ มาเธอได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวสามี Edward Kuznetsov และผู้ถูกปฏิเสธคนอื่น ๆ จนในที่สุดวันที่ 27 เมษายน 1979 Kuznetsov ก็ได้รับการปล่อยตัว และอพยพไปอยู่กับภรรยาของเขาที่อิสราเอล 

ทางด้าน Mark Dymshits ก็ได้รับการปล่อยตัวในเวลาเดียวกันพร้อมกับผู้ถูกปฏิเสธที่มีชื่อเสียงของสหภาพโซเวียตอีกสามคน ได้แก่ Aleksandr Ginzburg, Valentin Moroz และ Georgy Vins 

การปล่อยตัวผู้ถูกปฏิเสธทั้งห้าเกิดขึ้นหลังจากการเจรจาอันยาวนาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนนักโทษกับสหภาพโซเวียต โดยสาลับโซเวียตสองคน Rudolf Chernyaev และ Valdik Enger ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 50 ปีในสหรัฐฯ 

หลังจากอพยพไปอิสราเอล Kuznetsov ได้เป็นหัวหน้าแผนกข่าวของ ‘Radio Liberty’ (1983-1990) และเป็นหัวหน้าบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ภาษารัสเซียที่ใหญ่ที่สุดในอิสราเอล Вести (1990-1999) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษารัสเซียที่ได้รับความนิยมสูงสุดนอกประเทศโซเวียตรัสเซีย


‘คณะกรรมการปลดปล่อยสามชาวเลนินกราด’ นำโดย Tilman Bishop วุฒิสมาชิกแห่งมลรัฐโคโลราโด ได้จัดการรณรงค์ทางการทูต เพื่อให้มีการปล่อยตัวนักโทษที่เหลือ 

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1981 Mendelevitch ก็ได้รับการปล่อยตัวและอพยพไปอยู่กับครอบครัวในอิสราเอล เขาเรียกร้องให้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อปลดปล่อยสมาชิกอีกสองคนของกลุ่ม ได้แก่ Fedorov และ Murzhenko ผู้ซึ่งไม่ใช่ชาวยิว เหยื่อของการเลือกปฏิบัติจากสหภาพโซเวียต และได้เรียกร้องให้มีการประท้วงต่อไป

วันที่ 15 มิถุนายน 1984 Aleksei Murzhenko ก็ได้รับการปล่อยตัวเพียงเพื่อจะถูกจับอีกครั้งด้วยข้อหา ‘ละเมิดทัณฑ์บน’ ต่อในเดือนมิถุนายน 1985 หลังจากติดคุกมา 15 ปี Yuri Fedorov ก็ได้รับการปล่อยตัวภายใต้ข้อกำหนดในการตั้งถิ่นฐาน แต่เขายังคงถูกปฏิเสธการให้วีซ่าไปจนถึงปี 1988 

และเมื่อเขาเดินทางไปอเมริกาในปี 1998 เขาได้ก่อตั้ง The Gratitude Fund เพื่อระลึกถึงผู้ต่อต้านสหภาพโซเวียต ที่ทำ ‘สงครามต่อต้านอำนาจของโซเวียตและยอมสละเสรีภาพส่วนบุคคลและชีวิตเพื่อประชาธิปไตย’


อีก 45 ปีต่อมาในปี 2016 Anat Zalmanson-Kuznetsov ผู้สร้างภาพยนตร์ ซึ่งเป็นบุตรสาวของ Eduard Kuznetsov และ Sylva Zalmanson ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘Operation Wedding’ สารคดีเกี่ยวกับการหักหลังที่กำกับโดยเธอเอง เพื่อเปิดเผยถึงเรื่องราวของพ่อแม่ของเธอซึ่งเป็นตัวเอกในกลุ่ม ‘วีรบุรุษ’ ของโลกตะวันตก แต่เป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ ในสายตาของสหภาพโซเวียต 

จึงนับเรื่องตลกมาก ๆ ที่การจี้เครื่องบินโดยสารในสหภาพโซเวียตกลับกลายเป็นเรื่องที่ถูกต้องในมุมมองภายใต้การโฆษณาชวนเชื่อของ ‘สื่อตะวันตก’ ทั้ง ๆ ที่การจี้เครื่องบินโดยสารในประเทศตะวันตกก็ถือเป็นการก่ออาชญากรรมร้ายแรง ทั้ง ๆ ที่ได้มีชาวรัสเซียเป็นจำนวนมากที่อพยพหลบหนีออกจากสหภาพโซเวียตด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่การจี้เครื่องบินโดยสารและไม่ได้ใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด 

โลกตะวันตกโดยสื่อตะวันตกจึงทำตัวเป็นผู้ตัดสินถูกผิดด้วยบรรทัดฐานที่บิดเบี้ยวและเป็นเช่นนี้มาโดยตลอดจนกระทั่งทุกวันนี้ 

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล 
 

‘Project Azorian’ ปฏิบัติการ ‘ลวง-ลับ-พราง’ ของสหรัฐอเมริกา ใช้ CIA แฝงตัวกู้ซากเรือดำน้ำ K-129 หวังล้วงข้อมูลขีปนาวุธโซเวียต

Project Azorian (โครงการอะโซเรียน) เป็นโครงการของสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (CIA) เพื่อการกู้ซากเรือดำน้ำ K-129 ของโซเวียตที่จมจากพื้นมหาสมุทรแปซิฟิกในปี 1975 โดยเรือ Hughes Glomar Explorer ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ เรือดำน้ำ K-129 จมในปี 1968 ที่ประมาณ 1,600 ไมล์ (2,600 กม.) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฮาวาย โดย Project Azorian เป็นหนึ่งในปฏิบัติการข่าวกรองที่ซับซ้อน ราคาแพง และเป็นความลับที่สุดในห้วงสงครามเย็น โดยมีมูลค่าราว 800 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน


(เรือดำน้ำ K-129)

เรือดำน้ำ K-129 หรือที่กองทัพเรือโซเวียตเรียกเรือชั้นนี้ว่า Project 629 แต่สหรัฐฯ และกองทัพนาโต้เรียกว่า ‘Golf’ ด้วยระหว่างขับน้ำ 2,700 ตัน ความยาว 100 เมตร ความกว้าง 8.5 เมตร เป็นเรือดำน้ำใช้เครื่องยนต์ดีเซล 3 เครื่อง และมอเตอร์ไฟฟ้าอีก 3 เครื่อง สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 17 นอต (31 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ปฏิบัติงานในทะเลได้ 70 วัน และมีลูกเรือ 83 นาย เรือดำน้ำชั้นนี้ติดตั้งขีปนาวุธนำวิถี (Ballistic Missile Submarine) โดยมีท่อยิงขีปนาวุธ 3 ท่อ สามารถติดตั้งขีปนาวุธทางยุทธวิธี (Tactical Ballistic Missiles) แบบ R11 FM หรือ ‘Scud’

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1968 กัปตัน Vladimir I. Kobzar และลูกเรือดำน้ำ K-129 นำเรือดำน้ำ K-129 ปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนครั้งที่ 3 ของเรือลำนี้ รายงานจากเรือส่งกลับมาว่า การแล่นตามทิศทางที่กำหนดเป็นไปด้วยความราบรื่น แต่เมื่อเรือดำน้ำ K-129 ข้ามเส้นรุ้งที่ 180 (180th meridian) ก็ขาดการติดต่อ แม้จะมีความพยายามติดต่อกับเรือจากฐานทัพเรือ Kamchatka แต่ไม่มีการตอบรับใด ๆ จากเรือลำนี้ กระทั่งเวลาล่วงเลยไปจนถึงกลางเดือนมีนาคม กองทัพเรือโซเวียตจึงประกาศว่าเรือลำนี้สูญหาย การค้นหาและกู้ภัยทางอากาศบนพื้นผิวมหาสมุทรและใต้ทะเล จากทางแปซิฟิกเหนือบริเวณตั้งแต่ Kamchatka ไปจนถึง Vladivostok จึงเริ่มขึ้น เมษายน 1968 กองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของสหภาพโซเวียต และอากาศยานถูกสังเกตว่า มีการเคลื่อนย้ายกำลังไปยังตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการค้นหาที่มีความผิดปกติบางอย่าง สำนักงานข่าวกรองทางเรือสหรัฐอเมริกา (ONI) ประเมินว่า เป็นปฏิกิริยาที่น่าจะเกิดขึ้นจากการสูญเสียเรือดำน้ำของโซเวียต การค้นหาด้วยเรือผิวน้ำของโซเวียตมีศูนย์กลางอยู่บริเวณซึ่งทราบว่า เกี่ยวข้องกับเส้นทางลาดตระเวนเรือดำน้ำดีเซลติดขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ ชั้น ‘Golf’ II (SSB) ของโซเวียต เรือดำน้ำแบบนี้บรรทุกขีปนาวุธนิวเคลียร์ 3 ลูกในเรือ และประจำการในระยะยิงขีปนาวุธไปยังชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ หลังจากการค้นหาหลายสัปดาห์โซเวียตก็ยังไม่สามารถค้นหาเรือแม้แต่ร่องรอยหรือซากเรือที่จมได้ และปฏิบัติการของกองเรือแปซิฟิกของโซเวียตก็จึงค่อย ๆ กลับคืนสู่สภาวะปกติ 

ขณะเดียวกันกองทัพเรืออเมริกันก็ได้เริ่มค้นหาจากเครือข่ายของระบบเฝ้าระวังเสียง ( SOSUS ) ซึ่งเป็นระบบโซนาร์แบบพาสซีฟที่พัฒนาโดยกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาเพื่อติดตามเรือดำน้ำของโซเวียต ระบบดังกล่าวที่อยู่ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกได้ทำการตรวจสอบการบันทึก โดยหวังว่าจะตรวจพบการระเบิดที่เกี่ยวข้องกับการสูญหายของเรือดำน้ำ K-129 ลำดังกล่าว กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูล Acoustic (คลื่นเสียงที่เดินทางผ่านตัวกลาง

ต่าง ๆ) จากที่ตั้ง AFTAC 4 แห่ง และ Array ณ สถานีทหารเรือ Adak มลรัฐ Alaska ใช้ SOSUS ค้นหาซากเรือดำน้ำภายใน 5 ไมล์ทะเล ซึ่งสถานที่นี้อยู่ห่างจากพื้นที่ค้นหาของกองทัพเรือโซเวียตหลายร้อยไมล์ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกทางเรือ (NAVFAC) Point Sur ทางตอนใต้ของเมือง Monterrey มลรัฐ California สามารถแยกลายเซ็นโซนิคในการบันทึก Array ความถี่ต่ำของเหตุการณ์การระเบิดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 1968 โดยใช้วันที่และเวลาของเหตุการณ์จาก NavFac Point Sur NavFac Adak และ US West Coast NAVFAC ก็สามารถแยกเหตุการณ์ Acoustic ได้เช่นกัน ด้วย SOSUS 5 เส้น ในที่สุดหน่วยสืบราชการลับของกองทัพเรือสหรัฐฯก็สามารถก็กำหนดพิกัดที่แน่นอนของซากเรือดำน้ำ K-129 โดยระบุตำแหน่งว่า อยู่ใกล้กับละติจูด 40.1 ° N และลองจิจูด 179.9 ° E (ใกล้เคียงกับเส้นวันที่ระหว่างประเทศ) 

(ซากเรือดำน้ำ K-129 ถ่ายด้วยกล้องควบคุมระยะไกลของหุ่นยนต์ของเรือ USS Halibut)

ทั้งนี้ กรกฎาคม 1968 กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้เริ่ม ‘ปฏิบัติการ Sand Dollar’ ด้วยเรือดำน้ำ USS Halibut จากฐานทัพเรือ Pearl Harbor ไปยังจุดจมของซากเรือดำน้ำ K-129 วัตถุประสงค์ของปฏิบัติการ Sand Dollar คือ การค้นหาและถ่ายภาพซากเรือดำน้ำ K-129 โดย USS Halibut เป็นเรือดำน้ำที่สามารถใช้อุปกรณ์ค้นหาใต้น้ำลึกซึ่ง และเป็นเรือดำน้ำที่มีอุปกรณ์พิเศษเพียงชนิดเดียวของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในขณะนั้น โดย USS Halibut พบซากเรือดำน้ำ K-129 หลังจากการค้นหา 3 สัปดาห์ โดยการใช้กล้องควบคุมระยะไกลของหุ่นยนต์ (แต่ต้องใช้เวลาค้นหาเกือบห้าเดือนกว่าจะพบซากเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ USS Scorpion ในมหาสมุทรแอตแลนติกในปี 1968 เช่นกัน) USS Halibut ใช้เวลาหลายสัปดาห์ต่อมาในการถ่ายภาพแบบ Closed up กว่า 20,000 ภาพในทุกแง่มุมของซาก K-129 ซึ่งเป็นข้อมูลลับที่ USS Halibut ได้ถูกหน่วยงานพิเศษของประธานาธิบดีใช้อ้างอิง ซึ่งลงนามโดยประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson ในปี 1968

ต่อมาในปี 1970 จากการถ่ายภาพชุดนี้ Melvin Laird และ Henry Kissinger ซึ่งในขณะนั้นเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติได้เสนอแผนลับในการกู้ซาก K-129 เพื่อให้สหรัฐฯ สามารถศึกษาเทคโนโลยีขีปนาวุธนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียต และอาจกู้คืนวัสดุที่ใช้ในการเข้ารหัส ข้อเสนอนี้ได้รับการยอมรับจากประธานาธิบดี Richard Nixon และ CIA ได้รับมอบภารกิจในการกู้ซาก K-129 ด้วยโครงการ Project Azorian อันเป็นชื่อปฏิบัติการกู้เรือในครั้งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการลับสุดยอดที่ปฏิบัติการในช่วงสงครามเย็นของสหรัฐอเมริกา เป็นปฏิบัติการที่มีค่าใช้จ่ายมากที่สุดตลอดช่วงสงครามเย็น ต้องใช้เวลาถึง 6 ปี ในการเตรียมการ ภายหลังจากการจมของเรือดำน้ำ K-129 ในปี 1968 ฝ่ายสหรัฐฯ จำต้องรอเวลาและวางแผนให้ปฏิบัติการนี้

ต้องทำให้ดูเหมือนเป็นงานของพลเรือนมากกว่าจะเป็นงานด้านการทหาร การจะเคลื่อนสรรพกำลังไปยังจุดที่เรือดำน้ำโซเวียตจมอยู่ก็เป็นความท้าทายแรก และความท้าทายอย่างต่อมาคือการนำเรือดำน้ำขนาด 2,700 ตัน ขึ้นมาจากใต้ทะเลโดยมิให้พวกโซเวียตล่วงรู้ เป็นอีกความท้าทายที่ยากลำบากของฝ่ายอเมริกัน

(เรือ GSF Explorer)

ทั้งนี้ เรือ GSF Explorer เดิมคือ เรือ USNS Hughes Glomar Explorer (T-AG-193) ต่อโดย Global Marine Development Inc. หน่วยงานวิจัยและพัฒนาของ Global Marine Inc. ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการขุดเจาะนอกชายฝั่งน้ำลึกได้รับสัญญาให้ออกแบบและสร้าง Hughes Glomar Explorer เพื่อกู้เรือดำน้ำโซเวียตที่จมอย่างลับ ๆ เรือถูกสร้างขึ้นที่อู่ต่อเรือ Sun ใกล้เมือง Chester มลรัฐ Pennsylvania โดย Howard Hughes มหาเศรษฐีนักธุรกิจซึ่งมี บริษัทต่าง ๆ มากมาย และเป็นผู้รับเหมาเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร เครื่องบิน และสัญญาดาวเทียมหลายประเภทของสหรัฐฯ ตกลงที่จะให้ชื่อของเขาโดยอ้างว่า เป็นโครงการเรือขุดแมงกานีสจากพื้นมหาสมุทร แต่ Hughes และบริษัทของเขาไม่มีส่วนร่วมในโครงการเลย โดยมีการจัดฉากเซ็นสัญญาว่าจ้างอย่างเป็นทางการให้บริษัทของเขา ออกแบบสร้างเรือขุดเจาะลำนี้ขึ้นมา ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 1972 เรือก็ถูกปล่อยลงน้ำ ด้วยระวางขับน้ำ 57,000 ตัน ยาว 619 ฟุต (189 ม.) ในชื่อ เรือ Hughes Glomar Explorer (HGE) มีความยาว 189 เมตร กว้าง 35 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้า โดยมีความเร็วสูงสุด 10 นอต (19 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ลูกเรือประจำ 160 นาย 

หากมองเรือลำนี้จากภายนอก จะเห็นเป็นเรือขุดเจาะธรรมดาทั่วไปที่มีแท่นขุดเจาะขนาดใหญ่อยู่กลางลำเรือและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ดูแล้วสมกับงานที่กำลังจะไปทำ แต่ทว่าภายในลำตัวเรือ HGE มีช่องเปิดขนาดใหญ่ที่สามารถนำเรือดำน้ำขนาดเล็กและขนาดใหญ่เข้ามาภายในได้ รวมทั้งยังมีปั้นจั่นขนาดใหญ่ที่เหมือนกับแขนมหึมา สามารถดำลงไปหยิบจับสิ่งอยู่ใต้ทะเลเข้ามาตรงช่องเปิดขนาดใหญ่ที่มีอยู่บริเวณกลางลำตัวเรือได้ อุปกรณ์กู้มีลักษณะเป็นกรงเล็บจักรกลขนาดใหญ่ ซึ่ง Lockheed สร้างมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘Capture Vehicle’ แต่เรียกกันติดปากว่า Clementine ยานจับได้รับการออกแบบให้ลดระดับลงสู่พื้นมหาสมุทรจับลำตัวเรือดำน้ำเป้าหมาย จากนั้นก็ดึงส่วนนั้นขึ้นในที่ยึด ข้อกำหนดประการหนึ่งของเทคโนโลยีนี้คือ การรักษาฐานลอยน้ำให้มั่นคง และอยู่ในตำแหน่งเหนือจุดคงที่พอดี คือ 16,000 ฟุต (4,900 ม.) ใต้พื้นผิวมหาสมุทร ตัวยานจับจะถูกลดระดับ และยกขึ้นบนท่อร้อยสายแบบเดียวกับที่ใช้กับแท่นขุดเจาะน้ำมัน ท่อเหล็กยาว 30 ฟุต (9.1 ม.) แต่ละส่วนถูกร้อยเข้าด้วยกันเป็นก้ามปูผ่านรูตรงกลางเรือ โครงแบบนี้ออกแบบโดย Western Gear Corp. จากเมือง Everett มลรัฐ Washington เมื่อกรงเล็บจับได้สำเร็จ ‘วัตถุเป้าหมาย’ จะถูกดึงขึ้นเข้าไปในตัวเรือ HGE กระบวนการกู้ซากทั้งหมดเกิดขึ้นใต้น้ำห่างจากการมองเห็นของเรือลำอื่น เครื่องบิน หรือดาวเทียมสอดแนม

จุดเก็บกู้ของ K-129 โดยอาศัยจุดตัดของวงกลมสามวงที่ทำเครื่องหมายระยะทางไปยัง Long Beach, CA, Pearl Harbor, HI และ Petropavlovsk, Kamchatka ซากเรือดำน้ำ K-129 จมที่ความลึกกว่า 16,000 ฟุต (4,900 ม.) และด้วยเหตุนี้ปฏิบัติการกู้ซากเรือจึงอยู่เลยระดับความลึกของปฏิบัติการกู้เรือใด ๆ ที่เคยพยายามมาก่อน เรือ Hughes Glomar Explorer เดินทาง 3,008 ไมล์ทะเล (5,571 กม.) จากเมือง Long beach มลรัฐ California เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 1974 มาถึงสถานที่กู้ซากเรือดำน้ำ K-129 ในวันที่ 4 กรกฎาคม 1974 และใช้เวลากู้ซากเรือดำน้ำ K-129 นานกว่าหนึ่งเดือน ในช่วงเวลานี้มีเรือรบของกองทัพเรือโซเวียตอย่างน้อยสองลำเข้ามาสำรวจตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติงานของเรือ Hughes Glomar Explorer ได้แก่เรือลากจูงในมหาสมุทร SB-10 และเรือตรวจวัดระยะขีปนาวุธของโซเวียต Chazma 

เรือดำน้ำขนาดเล็กและนักประดาน้ำในชุดดำน้ำลึกที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ เรือดำน้ำขนาดเล็กดำลงไปยังซากเรือมรณะของโซเวียตลำนี้ ทีมกู้ซากเรือติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะนำเรือดำน้ำลำนี้เข้าไปภายในช่องที่อยู่ภายในลำตัวเรือ Hughes Glomar Explorer ปั้นจั่นขนาดใหญ่ ถูกหย่อนลงไปในน้ำ ดำดิ่งลงไปหาเรือดำน้ำโซเวียตที่จอดสงบนิ่งอยู่ใต้ทะเล มือของมันหยิบเรือดำน้ำโซเวียตราวกับมือของมนุษย์ที่หยิบจับสิ่งของ ค่อย ๆ ดึงขึ้นมาอย่างช้า ๆ แต่ในขณะที่เหลือระยะทางอีกเพียงครึ่งหนึ่งก่อนที่ซากเรือดำน้ำโซเวียตจะไปถึงช่องภายในลำตัวเรือ Hughes Glomar Explorer หนึ่งในแขนเหล็กขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่ล็อกลำตัวเรือดำน้ำ K-129 เอาไว้เกิดขัดข้องขึ้น มันหยุดทำงานและทำให้ลำตัวเรือดำน้ำโซเวียตเอียงตะแคงข้าง ส่งผลให้ประตูท่อยิงขีปนาวุธเปิดออกพร้อมกับขีปนาวุธที่ค่อย ๆ ไหลออกมาจากท่อ โดยโผล่ออกมาจากท่ออย่างช้า ๆ ซึ่งทีมกู้ซากเรือไม่สามารถทำอะไรได้เลย พวกเขาต่างพากันสวดภาวนาไม่ให้เกิดหายนะร้ายแรงขึ้น เพราะขีปนาวุธเหล่านี้เมื่อมันหล่นลงไปกระแทกกับพื้นทะเลอาจเกิดการระเบิดขึ้นได้ และชีวิตทุกคนที่อยู่ในบริเวณนี้จะต้องตายเพราะแรงระเบิด เมื่อขีปนาวุธโผล่พ้นท่อยิงออกมา มันจึงร่วงหล่นลงไปสู่จุดที่เรือดำน้ำ K-129 เคยจมอยู่อย่างรวดเร็ว ทุกคนบนเรือต่างกลั้นหายใจและพากันหาที่ยึดจับบนตัวเรือเอาไว้ เมื่อเสียงของการกระแทกดังขึ้นและเงียบหายไป จึงทำให้ทุกคนโล่งอกหลังจากลุ้นกันจนตัวโก่งกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่นนี้

แต่เมื่อซากเรือดำน้ำ K-129 เกิดเอียงตะแคงข้างเช่นนี้ เลยส่งผลให้น้ำหนักของลำตัวเรือกดทับไปที่อีกด้านหนึ่งของแขนเหล็กขนาดใหญ่ที่ล็อกลำตัวเรือเอาไว้ ส่งผลให้รับน้ำหนักไม่ไหว และทำให้หักพร้อมกับลำตัวเรือดำน้ำที่ฉีกขาด วินาทีนั้นทุกคนบนเรือ Hughes Glomar Explorer ต้องลุ้นระทึกอีกครั้ง เพราะลำตัวทั้งลำอาจจะหล่นลงไปกระแทกเข้ากับขีปนาวุธที่หล่นลงไปก่อนหน้านี้ และอาจทำให้เกิดการระเบิดขึ้นได้ เสียงสวดมนต์และร้องเรียกหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของลูกเรือดังขึ้นอีกครั้ง คราวนี้ทุกคนต่างคิดว่า ไม่รอดแน่แล้ว จนกระทั่งเวลาผ่านไปหลายนาที เมื่อไม่มีการระเบิดเกิดขึ้นหรือมีสัญญาณอันตรายใด ๆ จึงทำให้รู้ว่าปลอดภัยแล้ว แต่ผลก็คือ เรือ HGE ต้องประสบความล้มเหลวขั้นวิกฤตส่งผลให้ส่วนข้างหน้าแตกออกเป็นสองส่วน ชิ้นส่วนที่มีพื้นที่การเดินเรือที่สำคัญและส่วนตรงกลางตกลงสู่พื้นมหาสมุทร ดังนั้นพื้นที่แล่นเรือตรงกลางและส่วนหลังของ K-129 จึงถือว่า การกู้เรือดำน้ำ K-129 ไม่สำเร็จ สิ่งที่ถูกดึงขึ้นมาอย่างแน่นอนจัดอยู่ในประเภท Secret Noforn หรือ Top Secret แต่โซเวียตสันนิษฐานว่า สหรัฐฯ สามารถกู้ตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์ คู่มือปฏิบัติการ สมุดรหัส และเครื่องเข้ารหัสได้

นอกจากนี้ แหล่งข่าว (ไม่เป็นทางการ) อีกราย ระบุว่า สหรัฐฯ สามารถกู้ส่วนหัวเรือได้ซึ่งบรรจุตอร์ปิโดนิวเคลียร์ 2 ลูก แต่ไม่มีอุปกรณ์เข้ารหัสหรือสมุดรหัส Seymour Hersh จาก The New York Times ได้เปิดเผยรายละเอียดบางส่วนของ Project Azorian ในปี 1974 แต่ไม่ได้รับการตีพิมพ์เพราะด้วยแรงกดดัน William Colby จากผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาง (CIA) หลายเดือนหลังจากปฏิบัติการกอบกู้เสร็จสิ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1975 LA Times ได้ออกข่าวสั้น ๆ เกี่ยวกับปฏิบัติการนี้ ทำให้ The New York Times ต้องเผยแพร่เรื่องนี้ที่เขียนโดย Seymour Hersh และ Jack Anderson เล่นเรื่องนี้ต่อในรายการโทรทัศน์เมื่อเดือนมีนาคม 1975 สื่อเรียกโครงการนี้ว่า Project Jennifer ซึ่งในปี 2010 ได้รับการเปิดเผยว่า ชื่อนี้ไม่ถูกต้องเนื่องจาก Project Jennifer เป็นชื่อเรียกระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล Project Azorian

รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศว่า ในส่วนที่กู้ขึ้นมาได้นั้นเป็นศพของลูกเรือหกคน แต่เนื่องจากมีการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสี ศพจึงถูกฝังในทะเลในตู้เหล็กเมื่อกันยายน 1974 โดยจัดพิธีอย่างสมเกียรติยศทางทหารบริเวณประมาณ 90 ไมล์ทะเล (167 กิโลเมตร) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฮาวาย วิดีโอเทปของพิธีนั้นถูกมอบให้กับรัสเซียโดย Robert Gates ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ ขณะเยือนกรุงมอสโกในเดือนตุลาคม 1992 และที่สุดแล้วบรรดาญาติของลูกเรือก็ได้ชมวิดีโอนี้ในอีกไม่กี่ปีต่อมา การกู้ซากเรือดำน้ำ K-129 ถูกระบุว่า ประสบความล้มเหลวโดยสามารถกู้คืนชิ้นส่วนที่ไม่สำคัญของเรือดำน้ำได้เพียงเล็กน้อย แต่ CIA โต้แย้งในคดีเสรีภาพในการให้ข้อมูลข่าวสารว่า อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวต้องถูกเก็บเป็นความลับเนื่องจาก "การรับทราบอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ จะเป็นการเปิดเผยลักษณะและวัตถุประสงค์ของโครงการ" คำตอบนี้ได้เข้าสู่ศัพท์เฉพาะทางกฎหมายอันเป็นคำตอบในลักษณะ Glomar หรือ Glomarization คือ ‘ไม่ยืนยันหรือปฏิเสธ’

(การจัดพิธีศพลูกเรือประจำเรือดำน้ำ K-129 แบบทหารเรืออย่างเต็มรูปแบบและส่งร่างของพวกเขากลับคืนสู่ท้องทะเลอีกครั้ง)

ในปี 2018 ไฟล์ภาพถ่ายวิดีโอเทปและหลักฐานเอกสารอื่น ๆ ยังคงถูกปกปิดต่อสาธารณะ ภาพไม่กี่ภาพปรากฏในสารคดีปี 2010 แสดงให้เห็นซากเรือดำน้ำ K-129 ได้แก่ ส่วนหัวเรือโดยที่ช่องเก็บขีปนาวุธได้รับความเสียหายอย่างหนัก แสดงให้เห็นตัวท่อขีปนาวุธเพียงท่อเดียวที่ติดอยู่กับลำตัว สรุปแล้วเวลาและงบประมาณมหาศาลที่ถูกทุ่มเทเพื่อกู้ซากเรือดำน้ำลำนี้ให้ได้ทั้งลำ กลายเป็นได้มาเพียงส่วนหัวของเรือดำน้ำ ความยาว 11.5 เมตรเท่านั้น ที่สามารถดึงขึ้นไปจนถึงช่องเก็บภายในลำตัวเรือ Hughes Glomar Explorer สิ่งที่หวังว่าจะได้พบทั้ง ขีปนาวุธ เครื่องยนต์ของเรือ และสมุดรหัสของโซเวียต กลายเป็นการคว้าน้ำเหลว แต่ชิ้นส่วนของหัวเรือดำน้ำที่ถูกกู้ขึ้นมาได้ ทีมกู้ซากเรือทำการตรวจสอบภายในพบว่า มีศพของลูกเรืออยู่ภายในนั้นจำนวน 6 ศพที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี แม้ฝ่ายอเมริกันจะเป็นผู้ที่ตั้งใจที่ลักลอบกู้เรือลำนี้กลับไปเพื่อศึกษา แต่ก็ยังให้เกียรติผู้วายชนม์ทุกศพที่พบ ด้วยการจัดพิธีศพแบบทหารเรืออย่างเต็มรูปแบบ และส่งร่างของพวกเขากลับคืนสู่ท้องทะเลอีกครั้ง

อนึ่งสำหรับจุดที่เรือรบของกองทัพเรือสหรัฐฯ เองจม กองทัพเรือสหรัฐฯ จะประสานกองทัพเรือหรือรัฐบาลเจ้าของพื้นที่บริเวณนั้นให้กันเขตเป็นอนุสรณ์สถาน หรือ สุสานสงครามทางทะเล War Grave โดยห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าไปรวบกวนหรือเข้าใกล้บริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวา เรื่องของการประกาศพื้นที่เป็น อนุสรณ์สถาน หรือ สุสานสงครามทางทะเล War Grave และสามารถใช้ พ.ร.บ.ในการประกาศเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุทางทะเล ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทั่วโลกรับรู้ โดยเฉพาะชาวเรือทุกประเทศจะรักษา จรรยาบรรณในเรื่องการประกาศเขตอนุสรณ์สถาน หรือ สุสานสงครามทางทะเล War Grave เป็นอย่างดี โดยจะไม่มีการเข้าไปรบกวนอย่างเด็ดขาด 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top