Saturday, 4 May 2024
สมอ

'สมอ.'​ เข้ม!! มาตรฐาน 'หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว'​ ป้องกันแพร่เชื้อ​ อ้างอิงตามมาตรฐานสากล

สมอ. เข้ม!! มาตรฐานหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว ให้สอดคล้องตามสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาด เพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคมากยิ่งขึ้น โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากล เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตนได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งออกมาตรฐานหน้ากากอนามัย รวมทั้งอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง หากมาตรฐานฉบับใดไม่ทันสมัยก็ให้ทบทวนแก้ไขปรับปรุง เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ผลิตสินค้าให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อการนำไปใช้ และลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยให้ครอบคลุมการใช้งานทุกประเภท ทั้งเพื่อป้องกันฝุ่น pm 2.5 ป้องกันโรคติดต่ออื่นๆ ที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ รวมถึงป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น โดยเฉพาะโรคโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน หน้ากากอนามัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชนที่ต้องใส่เมื่อออกนอกเคหสถาน ทำให้ปริมาณความต้องการใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา กมอ. ได้มีมติเห็นชอบมาตรฐานหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว มอก.2424-25xx ที่ สมอ. ได้แก้ไขใหม่ จากมาตรฐานเดิม มอก.2424-2562 เพื่อให้สอดคล้องกับสินค้าที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ที่มีหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายประเภท รวมทั้งสอดคล้องกับมาตรฐานต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคทางการค้าการส่งออกของผู้ประกอบการไทยในอนาคต โดยเร่งรัดให้ สมอ. ดำเนินการประกาศเป็นสินค้าควบคุมในคราวเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ภายในปีนี้ 

นอกจากนี้ กมอ. ยังได้เห็นชอบมาตรฐานอื่นๆ อีกรวม 49 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานมือจับประตูและราวจับสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ เครื่องชั่งและบรรจุข้าวสาร เครื่องเรียงขวดพลาสติก ดวงโดมไฟฟ้า สายไฟฟ้าสำหรับอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า น้ำตาลทราย และแป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานฉบับเดิม มอก.2424-2562 ครอบคลุมเฉพาะหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียวที่ใช้ป้องกันอนุภาค เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากบุคคลหนึ่งไปสู่บุคคลหนึ่ง ได้แก้ไขเป็น มาตรฐานหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว มอก.2424-25xx โดยมีสาระสำคัญของการแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับสินค้าที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ที่มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบจีบ แบบถุงหรือแบบปากเป็ด และแบบถ้วย โดยเพิ่มความเข้มข้นรายการทดสอบประสิทธิภาพการหายใจมากขึ้น และมีการแบ่งประเภทและระดับการป้องกันใหม่ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน  

‘สุริยะ’ ชูนโยบาย BCG ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด ผ่านเวทีประชุมเอเปคด้านมาตรฐานอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตฯ ชูนโยบาย BCG โชว์ศักยภาพเจ้าภาพการประชุมเอเปคด้านมาตรฐาน จับมือ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค พลิกฟื้นเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) หรือ เอเปค 2022 ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 พร้อมแสดงจุดยืนและบทบาทของไทยในเวทีการค้าโลก เพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ตามแนวคิด “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.”  

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานและการรับรองของเอเปค (Sub-Committee on Standards and Conformance: SCSC) ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม SCSC ครั้งที่ 2/2565 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 18 - 20 สิงหาคม 2565  ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแชงกรี-ลา จังหวัดเชียงใหม่ และผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ สมอ. ได้ผลักดันภารกิจสำคัญเพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล 4 ด้าน ได้แก่ 1.) การพัฒนาและผลักดันกิจกรรมด้านมาตรฐานและการรับรองเกี่ยวกับ BCG Model 2.) สนับสนุนและส่งเสริมแนวทางใหม่ เพื่อให้ฟื้นตัวจากโควิด-19 และฟื้นฟูการค้าและการลงทุน 3.) ส่งเสริมด้านนวัตกรรมและดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนตลาดและเชื่อมโยงสู่สากล และ 4.) สนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการค้าให้ผู้ประกอบการรายย่อย (MSMEs)  โดยมีผู้แทนจาก 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน จีนฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม เข้าร่วมประชุมกว่า 80 คน ภายใต้หัวข้อ "Open. Connect. Balance." หรือ "เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล" ผ่านแนวคิด โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) 

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในครั้งนี้มุ่งผลลัพธ์ที่สำคัญ ได้แก่ (1) การปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกันกับมาตรฐานระหว่างประเทศโดยมุ่งเน้นมาตรฐานเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (2) การจัดกิจกรรม/การประชุมเชิงปฏิบัติการ/การสัมมนาเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 และ BCG Model เช่น แนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ การส่งเสริมความโปร่งใสในการออกกฎระเบียบ การออกใบรับรองดิจิทัล และเทคโนโลยีเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

‘สมอ.’ ร่วม ‘DSI’ บุกทลายโกดังเก็บสินค้าย่านบางขุนเทียน พบ ‘หม้ออบลมร้อน-ไดร์เป่าผม’ เพียบ รวมมูลค่า 7 ล้านบาท!!

(29 มี.ค. 66) นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา สมอ.ได้ประสานความร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เข้าตรวจค้นโกดังเก็บสินค้าย่านบางขุนเทียน กทม. และกระทุ่มแบน สมุทรสาคร พบสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐานกว่า 30 รายการ กว่า 23,000 ชิ้น มูลค่ารวมกว่า 7 ล้านบาท จึงยึดอายัดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ DSI ได้นำทีมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจค้นโกดังเก็บสินค้าจำนวน 2 แห่ง แห่งแรกในพื้นที่ย่านบางขุนเทียน พบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าควบคุมของ สมอ. ตาม พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 เช่น หม้อหุงข้าว ไดร์เป่าผม ที่ม้วนผม หลอดไฟ และเพาเวอร์แบงก์ ฯลฯ ไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. เเละไม่แสดงชื่อผู้รับใบอนุญาต จำนวนกว่า 2,900 ชิ้น มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท

แห่งที่ 2 เป็นโกดังเก็บสินค้าในอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร พบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เตาอบไฟฟ้า หม้ออบลมร้อน ไดร์เป่าผม ที่หนีบผม และโคมไฟ ฯลฯ กว่า 32 รายการ ไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. และไม่แสดงชื่อผู้รับใบอนุญาต จำนวนกว่า 20,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 6 ล้านบาท จึงยึดอายัดเพื่อดำเนินการตามกฎหมายทันที ทั้งนี้ สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ สมอ.ควบคุม หากไม่ได้มาตรฐานอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตของประชาชนได้

จากการตรวจสอบเบื้องต้นผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย รายแรกเป็นผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าจาก สมอ. และรายที่ 2 เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าจาก สมอ. ซึ่งทั้ง 2 รายนี้ มีความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ต้องระวางโทษกรณีมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และนำเข้าสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

'รมว.ปุ้ย' สั่งสมอ.เร่ง 8 มาตรการเชิงรุก กวาดล้างสินค้าไร้มาตรฐานสิ้นซาก

(18 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยกระดับความเข้มข้นของ 8 มาตรการเชิงรุกภายใต้ภารกิจ Quick win ในการตรวจติดตามการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดและทางออนไลน์อย่างเข้มงวด เพื่อกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปจากท้องตลาด 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่อยู่ในการควบคุมของ สมอ. ทั้ง 143 รายการ ที่มีการโฆษณาผ่านทางทีวีดิจิทัลและสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งหากไม่ได้มาตรฐานอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 

ทั้งนี้ จึงได้สั่งการให้ สมอ. เข้มงวดกับร้านค้าออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์มที่มีการโฆษณาขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ รวมถึงการรีวิวขายสินค้า หรือโฆษณาโบรชัวร์ออนไลน์ ซึ่งถือเป็นกระบวนการหนึ่งในการขายสินค้าด้วยเช่นกัน หากสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าควบคุมที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน จะต้องมีคุณภาพตามมาตรฐาน ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงมือผู้บริโภค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า สมอ. ได้ดำเนินการกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องในทุกช่องทาง

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบแพลตฟอร์มการจำหน่ายสินค้าออนไลน์พบว่ายังมีแพลตฟอร์มบางแห่งที่โฆษณาขายสินค้าโดยไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. และ QR Code ทำให้ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นสินค้าได้มาตรฐานหรือไม่ 

สมอ. จึงได้เชิญผู้จำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า ติ๊กต๊อก เซ็นทรัลเทรดดิ้ง ไลน์คอมพานี บุญถาวร สยามโกลบอลเฮาส์ ออฟฟิศเมท ฯลฯ กว่า 300 ราย เข้าร่วมหารือ เพื่อหาแนวทางในการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน

โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เช่น กระทะไฟฟ้า เตาปิ้งย่าง หม้ออบลมร้อน พัดลม ไดร์เป่าผม ที่หนีบผม ปลั๊กพ่วง เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมายังพบการกระทำความผิดอยู่บ่อยครั้ง

สมอ. จึงต้องดำเนินการอย่างเข้มงวด โดยกำชับให้ผู้ค้าดำเนินการดังนี้ 

-ตรวจสอบสินค้าว่าเป็นสินค้าควบคุมของ สมอ.หรือไม่  

-หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นสินค้าควบคุม ให้ตรวจสอบต่อไปว่าได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. ถูกต้องแล้วหรือไม่ หากถูกต้องแล้วสามารถโฆษณาและจำหน่ายได้ 
-ภาพที่ใช้ในการโฆษณาเพื่อการจำหน่ายสินค้า ต้องให้เห็นเครื่องหมายมาตรฐาน และ QR Code อย่างชัดเจน 

"สมอ. จะตรวจติดตามอย่างเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป หากพบว่าร้านค้าออนไลน์หรือแพลตฟอร์มรายใดยังไม่ปฏิบัติตาม จะดำเนินการตามกฎหมายทันที"

‘รมว.ปุ้ย’ เร่ง!! สมอ. ประกาศสินค้าควบคุม 46 รายการ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน-คุ้มครองความปลอดภัย ปชช.

(17 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. กำหนดมาตรฐานเพื่อให้ทันกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ตลอดจนคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า 

โดยในปีนี้ สมอ. ได้ขออนุมัติบอร์ดกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ไว้ทั้งสิ้นจำนวน 600 เรื่อง แบ่งเป็นมาตรฐานกำหนดใหม่ 443 เรื่อง และมาตรฐานเดิมที่ต้องทบทวนอีกจำนวน 157 เรื่อง ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve 105 เรื่อง เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ กลุ่ม New S-curve 120 เรื่อง เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร ฯลฯ กลุ่มมาตรฐานตามนโยบาย 32 เรื่อง เช่น นวัตกรรม สมุนไพร ฯลฯ กลุ่มส่งเสริมผู้ประกอบการ 163 เรื่อง เช่น หลอดรังสีอัลตราไวโอเลตใช้สำหรับการทำผิวสีแทน สายไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ ฯลฯ และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ 23 เรื่อง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งในจำนวน 600 เรื่องนี้ เตรียมประกาศเป็นสินค้าควบคุมเพื่อความปลอดภัยของประชาชนจำนวน 46 เรื่อง เพิ่มเติมจากที่ สมอ. ประกาศไปแล้ว 144 เรื่อง 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าที่จะประกาศเป็นสินค้าควบคุมภายในปี 2567 นี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 46 เรื่อง แบ่งเป็นมาตรฐานบังคับใหม่ 25 เรื่อง เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า การชนด้านข้างและด้านหน้าของรถยนต์ ตู้กดน้ำดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เติมปรอท คาร์ซีทสำหรับเด็ก ดวงโคมไฟฟ้า ชิ้นส่วนท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ รถยนต์ขนาดเล็กที่ติดตั้งระบบก๊าซเพิ่มเติม ลวดชุบแข็งและอบคืนตัวสำหรับคอนกรีต
อัดแรง เหล็กแผ่นเคลือบอะลูซิงค์ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ท่อยางและท่อพลาสติกสำหรับใช้กับก๊าซหุงต้ม ถังดับเพลิงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กระป๋องสเปรย์ต่าง ๆ ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร และกระดาษสัมผัสอาหาร เป็นต้น และมาตรฐานที่บังคับต่อเนื่องอีก 21 เรื่อง เช่น เหล็กแผ่นสำหรับงานโครงสร้าง เข็มพืด เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับการดูแลผม ขน หรือผิว เครื่องทอดน้ำมันท่วมปริมาณน้ำมันไม่เกิน 5 ลิตร กระทะทอด เตาอบไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศ แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่โน๊ตบุ๊ค สวิตช์ไฟฟ้า เครื่องตัดวงจรกระแสเหลือสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย และเคเบิลเส้นใยนำแสงโทรคมนาคมภายนอกอาคาร เป็นต้น 

โดยในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ สมอ. จะประกาศให้เหล็กแผ่นเคลือบอะลูซิงค์ และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีเป็นสินค้าควบคุมก่อน ตามด้วยสินค้าที่เหลือตามลำดับ จึงขอฝากถึงผู้ประกอบการที่ทำ และนำเข้าสินค้าดังกล่าว เตรียมยื่นขอ มอก. เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เลขาธิการ สมอ. 

‘รมว.ปุ้ย’ ระทึก!! หลังเจอเหตุพาวเวอร์แบงก์บึ้ม ไฟลต์ กทม.-เมืองคอน จี้สนามบินตรวจ ‘มอก.’ ก่อนขึ้นเครื่อง สั่ง ‘สมอ.’ คุมเข้มโรงงานผลิต-นำเข้า

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครื่องบินโดยสารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบิน FD3188 ระหว่างกำลังบินจากสนามบินดอนเมืองมุ่งหน้านครศรีธรรมราช เกิดเหตุการณ์พาวเวอร์แบงก์ของผู้โดยสารระเบิดบนเครื่องบิน ทำให้ผู้โดยสาร 186 ชีวิต ต่างอยู่ในอาการแตกตื่นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนลูกเรือบนเครื่องบินสามารถดับไฟได้สำเร็จ

ทั้งนี้ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หนึ่งในผู้โดยสารที่อยู่บนเครื่องบินลำดังกล่าว ระบุว่า เดินทางคนเดียวเพื่อกลับบ้านที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อไปหาลูกสาว 2 คน โดยนั่งข้างหน้าแถวที่ 2 แต่จุดเกิดเหตุอยู่บริเวณกลางๆ ของเครื่อง อยู่ดีๆ มีคนส่งเสียง ลุกขึ้น เราก็หันดูว่าเกิดเหตุอะไร ได้กลิ่นไหม้ ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น แอร์โฮสเตสบอกให้นั่งลงและเดินไปเดินมาหาตัวดับเพลิง

“ตอนนั้นคิดว่าน่าจะอะไรไหม้สักอย่างแต่ไม่รู้ สักพักแอร์โทรหากัปตันและเข้าไปห้องกัปตันก่อนจะออกมา และเดินไปเดินมาสักพัก ซึ่งตัวเองก็ตกใจและดูนาฬิกาว่าใกล้ถึงหรือยัง ก็เหลือประมาณ 15 นาทีจะถึง แต่ก็สงสัยว่าตกลงเป็นอะไร เพราะไม่มีการพูดอะไร แต่มีคนตกใจยืนอยู่” น.ส.พิมพ์ภัทรากล่าว และว่า จากนั้นแอร์ก็ไปหยิบถังขยะมาและใส่ถุงพลาสติก และหยิบน้ำจากขวดเล็กๆ จากตู้รถเข็นอาหารมาเททีละขวด ส่วนตัวเมื่อเห็นแล้วจึงเข้าไปช่วย เพราะคิดว่าชีวิตเราขึ้นอยู่กับน้ำตรงนี้หรือเปล่า เลยเข้าไปช่วยทันที และมีผู้โดยสารอีก 2 คนไปช่วยกัน ตอนนั้นไม่รู้แอร์จะเอาไปทำอะไร แต่ก็ช่วยไปก่อน จนแอร์ดับไฟสำเร็จ

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า พอลงเครื่องมาก็ยังไม่ได้ถามอะไรกับสายการบิน เพราะเจอเหตุการณ์ของเครื่องบินบ่อย เช่น ล้อไม่กาง แต่ครั้งนี้มีกลิ่นและเป็นไฟเลยกังวลกว่าปกติ จนมารู้ทีหลังว่ามีนักข่าวในพื้นที่นครศรีธรรมราชนั่งอยู่ในเครื่องไปโพสต์และเป็นข่าวออกมา จึงโทรไปถามว่าอยู่บนเครื่องด้วยหรือ จึงทราบว่านักข่าวนั่งข้างหลัง เห็นเหตุการณ์ นักข่าวบอกเห็นประกายไฟ

“เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าแอร์ก็แก้ปัญหาได้ดี มีสติ แต่ไม่มีประกาศอะไรออกมา คนที่ลุกก็คือคนที่เกิดเหตุ ส่วนตัวพอรู้ว่าเป็นไฟ นึกถึงลูกๆ เลย ลูก 2 คน มองว่าเป็นการจัดการของสายการบิน ก็โอเค เพราะทุกคนไม่ตื่นตูม ไม่ช็อกตกใจจนอาจทำอะไรที่อันตรายได้ อย่างผู้โดยสารข้างๆ ก็พยายามถามแอร์ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่แอร์ไม่ตอบ เพราะกำลังพยายามแก้ไขปัญหาตรงหน้า” น.ส.พิมพ์ภัทรากล่าว

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวด้วยว่า เหตุการณ์นี้ในฐานะผู้อยู่ในเหตุการณ์เข้าใจการทำงานของสายการบินแอร์เอเชีย แต่ก็รู้สึกห่วงใยผู้โดยสาร ประชาชน เพราะแทบทุกคนต่างพกพาวเวอร์แบงก์ขึ้นเครื่อง ดังนั้น จะสั่งการให้ นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้าไปดูเรื่องความปลอดภัยที่เข้มข้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนให้มากที่สุด

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า อยากเรียกร้องให้ผู้บริโภค สายการบิน และเจ้าหน้าที่สนามบิน ตรวจสอบพาวเวอร์แบงก์ที่ผู้โดยสารจะนำขึ้นเครื่อง ต้องมีสัญลักษณ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เท่านั้น เนื่องจากพาวเวอร์แบงก์เป็นสินค้าควบคุมของ สมอ.ตั้งแต่ปลายปี 2563 คุณภาพต้องได้มาตรฐาน อาทิ ทนความร้อน ความจุไฟฟ้าที่กำหนด ที่ผ่านมา สมอ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจเข้มโรงงานผลิตรวมถึงผู้นำเข้า

หากพบผู้ใดฝ่าฝืนนำเข้า หรือผลิตพาวเวอร์แบงก์ไม่ขออนุญาตจะมีโทษตามกฎหมาย กรณีที่ทำ หรือนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ล่าสุดสายการบินแอร์เอเชียออกแถลงการณ์ว่า ชี้แจงกรณีเที่ยวบิน FD3188 เส้นทางดอนเมือง-นครศรีธรรมราช ออกเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมือง เวลา 07.20 น. ได้พบเหตุแบตเตอรี่สำรอง (พาวเวอร์แบงก์) ของผู้โดยสารที่เดินทางในเที่ยวบินดังกล่าวเกิดมีควันและไฟลุกไหม้ ซึ่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ได้รับการฝึกนำถังดับเพลิงควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้โดยสารทุกคนปลอดภัย และเที่ยวบินได้ลงจอด ณ ท่าอากาศยานปลายทางอย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ สายการบินขอขอบคุณผู้โดยสารที่นั่งบริเวณดังกล่าวที่ช่วยสังเกต พร้อมให้ความช่วยเหลือร่วมมือกับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบินด้วยความเรียบร้อยเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม สายการบินแนะนำผู้โดยสารทุกคนโปรดตรวจสอบแบตเตอรี่สำรองก่อนนำขึ้นเครื่องให้มีคุณภาพและขนาดตามที่กำหนด โดยแบตเตอรี่สำรองจะไม่ได้รับอนุญาตให้บรรจุลงในสัมภาระใต้ท้องเครื่อง (ถือขึ้นเครื่องตามขนาดที่กำหนดเท่านั้น) เนื่องจากหากพบเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ พนักงานที่ได้รับการฝึกจะสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที

‘สมอ.’ เดินตามนโยบาย Quick win จาก ‘รมว.ปุ้ย’ 6 เดือน กวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพกว่า 220 ลบ.

(26 เม.ย. 67) นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการแถลงผลการดำเนินงานของ สมอ. รอบ 6 เดือน ประจำปีงบประมาณ 2567 ว่า สมอ. ยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานด้านการมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ และคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัย ตามนโยบาย Quick win ของนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ในการกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปจากท้องตลาด โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ได้มาตรฐาน สร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศเป็นวงกว้าง โดย สมอ. ได้ดำเนินการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าที่อยู่ในข่ายการควบคุมของ สมอ. จำนวน 144 รายการ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องในทุกช่องทาง ทั้งการลงพื้นที่ตรวจสอบ การเฝ้าระวังผ่านระบบ NSW และตรวจติดตามการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์

โดยในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2566 - มีนาคม 2567) ได้ตรวจจับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ลักลอบผลิตและนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 191 ราย  ยึดอายัดสินค้าเป็นมูลค่ากว่า 220 ล้านบาท โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) เหล็กและวัสดุก่อสร้าง 87.70 ล้านบาท 2) ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 73.23 ล้านบาท และ 3) ยานยนต์ 54.09 ล้านบาท 

ด้านการกำหนดมาตรฐาน สมอ. ตั้งเป้ากำหนดมาตรฐานในปีนี้ 1,000 เรื่อง ครึ่งปีแรกกำหนดมาตรฐานไปแล้ว 469 เรื่อง เช่น เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ ฝารองนั่งสุขภัณฑ์ไฟฟ้า หลอดฟลูออเรสเซนส์สำหรับเปลี่ยนสีผิวเป็นสีแทน และมาตรฐานวิธีทดสอบยานยนต์ EV เป็นต้น

ทั้งนี้ ได้ประกาศให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชนเป็นสินค้าควบคุมเพิ่มอีก 24 ผลิตภัณฑ์ เช่น บันไดเลื่อน ลิฟท์ คาร์ซีท แบตเตอรี่รถ EV ภาชนะพลาสติก และภาชนะสเตนเลส เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ประกาศใช้มาตรฐานด้านการท่องเที่ยวเพื่อสนับสนุนนโยบาย Soft Power อีกจำนวน 6 มาตรฐาน ได้แก่

1) มาตรฐานการเยี่ยมชมสถานที่ทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ 2) มาตรฐานการดำเนินงานเกี่ยวกับชายหาด 3) มาตรฐานโรงแรมย้อนยุค 4) มาตรฐานร้านอาหารแบบดั้งเดิม  5) มาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และ 6) มาตรฐานการบริการนักท่องเที่ยวเพื่อสาธารณประโยชน์โดยหน่วยงานคุ้มครองพื้นที่คุ้มครองธรรมชาติ

พร้อมทั้งทบทวนมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ที่เชื่อมโยงกับนโยบาย Soft Power จำนวน 10 มาตรฐาน เช่น ข้าวเกรียบกรือโป๊ะ สุรากลั่นชุมชน ไวน์ผลไม้ เป็นต้น และได้จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายฮาลาล จำนวน 3 มาตรฐาน คือ (1) แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด (2) เส้นหมี่ และ (3) โยเกิร์ตกรอบ 

ด้านการออกใบอนุญาต สมอ. ได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการออกใบอนุญาต โดยผลงานครึ่งปีงบประมาณแรกได้ออกใบอนุญาต มอก. จำนวน 7,454 ฉบับ ใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จำนวน 1,597 ฉบับ ใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส จำนวน 132 ฉบับ และใบรับรองระบบงาน จำนวน 212 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 9,395 ฉบับ

ด้านการมาตรฐานระหว่างประเทศ สมอ. ได้เข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) และเจรจาจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ด้านการมาตรฐานกับประเทศต่างๆ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการของไทย รวมถึงปกป้องผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการไทยในเวทีการค้าโลก อาทิ

1) การเจรจาทำ FTA กับศรีลังกา ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังศรีลังกา ปีละกว่า 10,800 ล้านบาท  2) การเจรจาจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) สมอ. - BMSI (ไต้หวัน) เพื่อให้ไต้หวันยอมรับผลทดสอบและรับรอง ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่าย และระยะเวลาในการตรวจสอบสินค้า เป็นการช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าไปยังไต้หวัน ในปี 2566 กว่า 13,000 ล้านบาท

3) การเจรจากับอินเดียให้เลื่อนการบังคับใช้กฎระเบียบควบคุมคุณภาพสำหรับสินค้าแผ่นไม้ของอินเดีย ทำให้ผู้ประกอบการไทยรักษาตลาดส่งออกสินค้าไปยังอินเดีย ปีละกว่า 2,700 ล้านบาท 

และ 4) การเจรจาร่างกฎระเบียบว่าด้วยมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานสำหรับรถยนต์ใหม่ของออสเตรเลีย โดยขอให้ออสเตรเลียพิจารณากำหนดเกณฑ์การปล่อยก๊าซ CO2 อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีเวลาในการเตรียมตัว 

“6 เดือนหลังจากนี้ สมอ. จะเร่งรัดการดำเนินงานในทุก ๆ ด้าน ให้เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อเสริมแกร่งให้ภาคอุตสาหกรรมของไทย รวมทั้ง เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดให้มากยิ่งขึ้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top