Friday, 17 May 2024
สนามบินดอนเมือง

สนามบินดอนเมือง แจ้งปิดซ่อมรันเวย์บางส่วนนาน 3 เดือน

ร.ต.ธานี ช่วงชู ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า สนามบินดอนเมือง มีแผนปรับปรุงพื้นผิวทางวิ่ง (รันเวย์) ฝั่งตะวันตก เพื่อซ่อมแซมรันเวย์ 21R – 03L ความยาว ประมาณ 3,400 เมตร (จากความยาวทั้งหมด 3,700 เมตร) ความกว้าง 60 เมตร โดยจะปิดใช้ทางวิ่ง 21R – 03L เป็นช่วงเวลา และยังคงเปิดใช้งานทางวิ่ง 21L – 03R เป็นปกติ โดยในช่วงแรกจะดำเนินการซ่อมแซม ระหว่างวันที่ 4 พ.ย.64 – 23 ก.พ.65 ความยาวประมาณ 2,400 เมตร

ทั้งนี้หากสายการบินจะเพิ่มปริมาณเที่ยวบิน ทางสนามบินดอนเมืองจะปรับแผนการซ่อมแซม โดยได้กำหนดประชุมแผนการดำเนินงานปรับปรุงพื้นผิวทางวิ่งดังกล่าวทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน และหากมีการเปลี่ยนแปลงจะออกประกาศนักบินอีกครั้ง โดยการปรับปรุงซ่อมแซมทางวิ่งครั้งนี้ จำเป็นที่ต้องเร่งรัดให้มีการดำเนินการตามแผน เนื่องจากในสถานการณ์ปกติ ทดม.มีการรองรับจำนวนเที่ยวบินจำนวนมากในแต่ละวัน เพื่อให้คุณภาพพื้นผิวทางวิ่ง ทางขับ และลานจอดอากาศยานสามารถรองรับน้ำหนักของอากาศยานขนาดใหญ่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และความปลอดภัย

 

ทอท. เพิ่มจุดส่งผู้โดยสารสำหรับ TAXI ใหม่ แก้ปัญหารถติดหน้าอาคาร 2 สนามบินดอนเมือง

เพจโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure ได้โพสต์ข้อความถึงการแก้ปัญหารถติดหน้าสนามบินดอนเมือง อาคาร 2 โดยระบุว่า จุดส่งผู้โดยสารใหม่ Taxi Drop Lane สนามบินดอนเมือง อาคาร 2 

เพิ่มจุดส่งผู้โดยสาร แก้ปัญหารถติดหน้าอาคาร สำหรับ Taxi โดยเฉพาะ!!!

Taxi Drop Lane เป็นการปรับปรุงใหม่ของอาคาร 2 เพื่อมาแก้ปัญหารถติดหน้า Terminal 

ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังกันมาตลอด เพราะการจอดส่งผู้โดยสารหน้าอาคารที่มีปริมาณมาก บางคันใช้เวลามากกว่าปกติ รวมถึงรถบางส่วนที่ต้องการไปจอดรถบนอาคารจอดรถ 7 ชั้นด้วย

ทั้งนี้ AOT มีการจัดจราจรจราจรใหม่ โดยแยกจราจรก้อนหลักคือ รถ Taxi ซึ่งมีจำนวนพอสมควร มาให้ใช้พื้นที่จุดจอดใหม่คือ “Taxi Drop Lane” เพื่อลดปริมาณจราจรหน้า Terminal เพื่อให้คล่องตัวมายิ่งขึ้น และใช้ศักยภาพของถนนหน้าอาคารผู้โดยสารได้เต็มมากยิ่งขึ้น

ซึ่งหลาย ๆ คนคงทราบว่า Terminal 2 สนามบินดอนเมือง มีถนนต่างระดับอยู่หน้า อาคารอยู่ 6 เลน แบ่งเป็น 

- ถนนติดหน้าอาคาร 3 เลน สำหรับส่งผู้โดยสารเดิม ที่รถติดมาก ๆ บางที่ผ่านประตูต้น ๆ กว่าจะถึงประตูด้านหลัก อาจจะต้องใช้เวลา 5-10 นาที (ขึ้นกับปริมาณจราจร) ซึ่งจะมีหางแถวไปกระทบถึงอาคาร 1 และทางขึ้น ต่างระดับเลย

- ถนนต่างระดับ จากอาคาร 1 ลงระดับดิน ซึ่งเส้นนี้ ปกติจราจรน้อยตลอด เพราะ จะรับรถหลักของอาคาร 1 ซึ่งบางส่วนก็ไม่อยากตัดกับจราจรอาคาร 2 เลยยอมผ่านหน้าอาคาร 2 ไปด้วย

ทำให้ทาง AOT เห็นถึงพื้นที่ ๆ สามารถนำมาให้บริการเพิ่มเติมได้ คือ ถนนต่างระดับ จาก อาคาร 1 ลงระดับดิน

ซึ่งตรงนี้จะลดระดับลงจากหน้าอาคาร 2 ประมาณ 3 เมตร ทำให้สามารถทำทางเข้าเสริม เป็น “Taxi Drop Lane” โดยเชื่อมตรงเข้ากับชั้น 2 ของอาคาร 2 ได้เลย

'อ.อ๊อด' ชี้!! ทางเลื่อนสนามบินสุวรรณภูมิปลอดภัยมาก ส่วนที่ดอนเมืองน็อตยึดหลุดเกือบหมดตอนเกิดเหตุ

เมื่อวานนี้ (6 ก.ค. 66) รศ.ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด จาก จากภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “ประชุมวันนี้ที่ดอนเมือง มีความคืบหน้า 80% สรุปสั้น ๆ คืออุบัติเหตุ

โดยแผ่นเพลทหลุดออกจากรางสี่เหลี่ยมโดย น๊อตตำแหน่งที่ A B C ไม่สามารถยึดแผ่นเพลท ในขณะม้วนลงที่ตำแหน่งสิ้นสุดทางเลื่อนไว้ได้ เหลือเพียง ตำแหน่ง D ที่ยึดไว้แล้วห้อยแผ่นเพลทโตงเตงอยู่ด้านล่างเลื่อนไป 10 วินาทีจนเซพตี้สวิตทำงาน ทางเลื่อนจึงหยุด

ในขณะ 10 วินาทีที่ทางเลื่อนพยายามดันไปข้างหน้าขาของผู้โดยสารที่หย่อนลงไปที่ตำแหน่ง E ก็ถูกดันไปเรื่อย ๆ ไปกระแทกกับขอบโลหะที่มีความหนาเกือบ 1 เซนติเมตร จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ขาขาด

หวีสีเหลืองยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ถึงแม้ไม่มีหวี ก็ไม่มีโอกาสที่ขาจะหลุดลงไปขนาดนั้น อาจารย์อ๊อดเสนอให้มีการจำลองเหตุการณ์อีกครั้งและจะมีการประชุมอีกไม่เกินสองครั้งทาง ทอท. ก็จะแถลงข่าว

ในเบื้องต้นผู้บริหารระดับสูงทุกฝ่ายยอมรับว่า เป็นอุบัติเหตุ และขอรับผิดชอบทุกประการและจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ทางเลื่อนนี้ติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2530 และมีเซพตี้สวิตทั้งหมดห้าจุด ปัญหาหลัก ๆ คือมันเก่า และได้ตั้งงบประมาณเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดแล้ว

ทางเลื่อนที่สนามบินสุวรรณภูมิจะเป็นตัวท็อปที่ปลอดภัยมากเพียงแค่สายรองเท้าเกี่ยวเครื่องก็หยุดทันที ขอให้ปลอดภัยและขอให้ทุกอย่างลงเอยด้วยดี”

‘ลูกชายผู้บาดเจ็บ’ จาก ‘ทางเลื่อนดอนเมือง’ เผย!! คุณแม่เดินได้ไกลกว่า 15 เมตร - มีกำลังใจดีขึ้น

(8 ก.ค. 66) ส่งกำลังใจให้ ‘ลูกชายผู้บาดเจ็บ’ จากเหตุทางเดินเลื่อนสนามบินดอนเมือง อัปเดตอาการแม่ เผย เดินได้ไกลกว่า 15 เมตรแล้ว ยังต้องฝึกการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเดินเข้าห้องน้ำ การขึ้นนอนบนเตียง ระบุ แม่แอบบ่นว่า เหมือนกลับมาเป็นเด็กใหม่เลย

จากกรณี ทางเดินเลื่อนสนามบินดอนเมือง ทรุดทำให้ น.ส.สุพรรณี ผู้โดยสารหญิงได้รับบาดเจ็บขาขาดนั้น ล่าสุดนายกฤตย์ กิตติรัตนา ลูกชายของ น.ส.สุพรรณี ผู้บาดเจ็บ โดยระบุว่า วันนี้ 8 กรกฎาคม 2566 แม่ลงมากายภาพที่ยิมของโรงพยาบาล และสามารถเดินได้ไกล กว่า 15 เมตรแล้ว แต่ยังคงต้องฝึกการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเดินเข้าห้องน้ำ การขึ้นนอนบนเตียง

สำหรับในขณะนี้ แม่กำลังใจดีมากๆ ตั้งใจทำกายภาพ ไม่มีอิดออด แม้จะมีอาการเจ็บแผล และ Phantom Limb Pain (กลุ่มอาการความรู้สึกหลอนว่าแขนขายังคงอยู่) ซึ่งคนในครอบครัวเป็นกองเชียร์ช่วยคุณแม่ศึกษาข้อมูลอุปกรณ์ขาเทียม เพื่อเป็นทางเลือกในอนาคต ตอนนี้มีความหวังมากมายรอบตัว และแม่แอบบ่นว่า.. เหมือนกลับมาเป็นเด็กใหม่เลย แต่ไม่เป็นไรให้คุณพ่อและน้องๆ ช่วยกันดูแล อีกแป๊บนึงคุณแม่ต้องวิ่งไวกว่าแน่ๆ

ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายและการสืบสวน ปล่อยให้ตนเองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการต่อไป

‘สุวรรณภูมิ’ ขยับขึ้นสู่อันดับ 58 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ด้าน ‘ดอนเมือง’ ไม่น้อยหน้า!! ติด Top 10 โลว์คอสต์ดีที่สุด

(18 เม.ย. 67) ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) กล่าวว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งเป้าหมายการผลักดันท่าอากาศยานของไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 50 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกภายใน 1 ปี และติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลกภายใน 5 ปี ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สร้างรายได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ นั้น

ในปี 2024 นี้ เว็บไซต์ Skytrax ซึ่งเป็นเว็บไซต์จัดอันดับการให้บริการของสนามบินได้ประกาศสนามบินที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Airport) ประจำปี 2024 ซึ่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ติดอันดับที่ 58 ขยับขึ้นจากอันดับที่ 68 โดยขึ้นมา 10 อันดับจากปี 2023

ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ติดอันดับ 10 ของสนามบินสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Low-Cost Airline Terminals) ซึ่งผลการจัดอันดับดังกล่าวมาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้เดินทางด้วยเครื่องบินทั่วโลก ภายใต้การสำรวจที่ชื่อว่า World’s Airport Survey จัดทำโดยบริษัท Skytrax ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านการบินชั้นนำของประเทศอังกฤษที่มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์คุณภาพการให้บริการของสายการบินและสนามบินทั่วโลก โดยคำนึงถึงหมวดการให้บริการสนามบิน เช่น การเดินทาง สภาพแวดล้อมและการออกแบบ เจ้าหน้าที่สนามบิน สิ่งอำนวยความสะดวก และการให้บริการ เป็นต้น

ทั้งนี้ AOT มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและผลักดันให้บริการท่าอากาศยาน เพื่อให้ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ AOT เป็นท่าอากาศยานที่มีมาตรฐานสากล มีความสะดวกสบาย ผู้โดยสารได้รับการบริการที่รวดเร็ว และปลอดภัย โดยอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) ทสภ.ได้รับการประเมิน 4 ดาว จากด้านสถาปัตยกรรม ความสะอาด บรรยากาศโดยรวม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ตลอดจนมีการนำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติมาอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากสายการบินในการใช้เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service: CUSS) เครื่องโหลดกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) ระบบประตูทางออกขึ้นเครื่องอัตโนมัติ (Self-Boarding Gate: SBG) และระบบตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร (Passenger Validation System: PVS)

นอกจากนี้ ทสภ.ได้มีการปรับปรุงกระบวนการ ณ จุดตรวจค้น และเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ ณ จุดตรวจหนังสือเดินทาง ทำให้สามารถลดระยะเวลารอของผู้ใช้บริการลง โดยระยะเวลาการใช้บริการในกระบวนการผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 26 นาทีต่อคน (เป้าหมายที่ AOT กำหนดไว้ที่ 40 นาทีต่อคน) และกระบวนการผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 37 นาทีต่อคน (เป้าหมายที่ AOT กำหนดไว้ที่ 55 นาทีต่อคน) ขณะที่กระบวนการผู้โดยสารขาเข้าภายในประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 15 นาทีต่อคน (เป้าหมายที่ AOT กำหนดไว้ที่ 35 นาทีต่อคน) และกระบวนการผู้โดยสารขาออกภายในประเทศในภาพรวมเฉลี่ย 25 นาทีต่อคน (เป้าหมายที่ AOT กำหนดไว้ที่ 40 นาทีต่อคน) สำหรับ ทดม. มีให้บริการด้วยการใช้เทคโนโลยีทำให้การเดินทางปลอดภัยและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ตั้งแต่ระบบ CUSS CUBD SBG และ PVS ทำให้ผู้โดยสารไม่ต้องรอคิวนาน ตามคอนเซ็ป ‘Fast and Hassle Free Airport’


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top