Sunday, 5 May 2024
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

'ศูนย์ฯ กสิกร' หวั่น!! ความไม่แน่นอนการจัดตั้งรัฐบาล อาจกระทบการเบิกจ่ายภาครัฐในไตรมาส 4/2566

(16 พ.ค.66) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2566 ขยายตัวที่ 2.7% (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน YoY ) ขณะที่เมื่อปรับฤดูกาลแล้วเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2566 ขยายตัวได้ 1.9% เมื่อเทียบ จากไตรมาสที่ผ่านมา ใกล้เคียงกับที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 1/2566 มีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลให้การส่งออกภาคบริการขยายตัวได้ถึง 87.8% YoY

นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ 5.4% YoY ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2566 มีปัจจัยกดดันจากการส่งออกที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ประกอบกับการอุปโภคของรัฐบาลที่หดตัว 6.2% YoY โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายเกี่ยวกับโควิดที่ลดลงอย่างมาก

เมื่อมองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยที่ 3.7%

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ ปัจจัยภายในประเทศยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายภาครัฐในไตรมาส 4/2566 ได้

ทั้งนี้ ทิศทางเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทิศทางนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางหลัก ประกอบกับปัญหาในภาคธนาคารของประเทศตะวันตก ซึ่งส่งผลให้ภาพการค้าโลกในระยะข้างหน้ายังคงเผชิญแรงกดดันอยู่ แม้จะมีแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจจีนที่มีโมเมนตัมขยายตัวได้ดีหลังยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกไทยในภาพรวมในปีนี้มีแนวโน้มที่จะติดลบจากปีก่อนหน้า ในขณะที่ ในด้านปัจจัยในประเทศ ยังมีความเสี่ยงจากประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้การอนุมัติร่าง พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 นั้นล่าช้าออกไป และกระทบการเบิกจ่ายของรัฐบาลในช่วงไตรมาส 4/2566 เป็นต้นไป รวมถึงยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการออกนโยบายต่างๆ ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าได้

‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ เผย ปีนี้คนกรุงกินเจเพิ่ม 3.5% รับเทรนด์สุขภาพ หนุนเงินสะพัด 3 พันล้าน สวนกระแสต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง เหตุน้ำมันแพง

(11 ต.ค. 66) ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ มองว่า เทศกาลกินเจปี 66 จะเริ่มขึ้นวันที่ 15-23 ต.ค. 66 รวมเป็นเวลา 9 วัน ในปีนี้ราคาอาหารเจน่าจะยังคงปรับสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตอาหารเจหลายรายการมีแนวโน้มจะขยับขึ้นจากช่วงเทศกาลกินเจปีก่อน ได้แก่ ผักบางชนิด (อาทิ คะน้า ฟักทอง เต้าหู้) และข้าว จากสภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกหนักและน้ำท่วมในบางพื้นที่ ซึ่งกระทบกับปริมาณผลผลิต นอกจากนี้ กลุ่มโปรตีนเกษตรก็น่าจะปรับขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มในช่วงกินเจ

ขณะที่ราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ล่าสุดเดือน ก.ย. 66 ภาพรวมเงินเฟ้อหมวดอาหารที่บริโภคในบ้านที่เติบโต 1.5%YoY และหมวดอาหารที่บริโภคนอกบ้านที่เติบโต 1.1%YoY สะท้อนให้เห็นว่า ทิศทางราคาอาหารเจทั้งที่บริโภคในบ้านและร้านอาหาร ก็น่าจะปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลกินเจ ขณะที่จำนวนคนกินเจในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากความนิยมอาหารเพื่อสุขภาพและการกลับมาใช้ชีวิตปกติ

อย่างไรก็ดี ด้วยทิศทางราคาอาหารเจที่มีอาจปรับสูงขึ้น ประกอบกับความกังวลต่อค่าครองชีพที่สูง และกำลังซื้อที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการลดภาระค่าครองชีพบางส่วน อาทิ มหกรรมลดราคา แต่ผู้บริโภคยังกังวลกับภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงรายได้ในอนาคต

ทั้งนี้ สะท้อนจากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ระบุว่า คนกรุงเทพฯ ที่วางแผนจะกินเจ พยายามปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย เพื่อควบคุมงบประมาณการใช้จ่ายตลอดเทศกาล โดยการลดวันกินเจลง รวมถึงเลือกใช้บริการช่องทางการจำหน่ายที่ราคาไม่สูง อาทิ ร้านอาหารตักขายข้างทางและนั่งทานในร้าน

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า เม็ดเงินค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลกินเจปี 66 น่าจะอยู่ที่ 3,100 ล้านบาท หรือขยายตัว 3.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นผลมาจากระดับราคาอาหารเจที่อาจปรับขึ้นราว 2.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ปริมาณการบริโภคอาหารเจโดยรวมน่าจะเติบโตเล็กน้อยหรือราว 1.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน

อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปข้างหน้า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังคงไม่สนใจบริโภคอาหารเจ ถือเป็นความท้าทายต่อทิศทางการเติบโตของธุรกิจอาหารเจ ดังนั้น โจทย์สำคัญคงอยู่ที่แนวทางในการกระตุ้นยอดขายและฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้นแม้อยู่นอกเทศกาลกินเจ โดยเฉพาะการชูจุดขายความคุ้มค่าด้านราคาเมื่อเทียบกับอาหารทั่วไป รวมถึงพัฒนาความพิเศษให้กับเมนูอาหาร เพื่อสร้างประสบการณ์การบริโภคที่ดี และนำไปสู่การกลับมาซื้อซ้ำ อาทิ ใช้วัตถุดิบพรีเมียมที่มีคุณค่าทางอาหารสูง (โปรตีนทางเลือก ซุปเปอร์ฟู้ด) พัฒนาเมนูแปลกใหม่ที่แตกต่างกว่าอาหารเจเดิมๆ ที่มีจำหน่ายในตลาด รวมถึงการจัดโปรโมชันหรือส่วนลดให้กับอาหารเจ ทั้งในและนอกเทศกาลกินเจ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top