Friday, 17 May 2024
ศิริกัญญาตันสกุล

‘ศิริกัญญา’ ชี้ ปิดประตู ควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ ย้ำชัด ด่านสุดท้าย เหลือแค่กสทช. ‘กล้า’ ฟันธง

"ศิริกัญญา" ส.ส.ก้าวไกล ชี้ แม้ความเห็นกฤษฎีกาจะคลุมเครือ แต่ยังตีความได้ว่าอำนาจพิจารณาอนุญาตควบรวมทรู-ดีแทค อยู่ในมือ กสทช. เต็มร้อย พบพิรุธที่ปรึกษาอิสระ ทำรายงานศึกษามิชอบด้วยกฎหมาย ขาดความเป็นกลาง

วันที่ (21 ก.ย. 65) กรณีที่มีรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่าง ๆ เกี่ยวกับการตีความอำนาจ กสทช. โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวมทรู-ดีแทค ซึ่งหลายสำนักข่าวได้ให้ข่าวไปในทิศทางว่า กสทช. คกก.กฤษฎีกา ปลดล็อกให้การควบรวมทรู-ดีแทค ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตนั้น ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นไปในทิศทางตรงข้ามว่า ความเห็นของกฤษฎีกาครั้งนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า อำนาจในการอนุญาตควบรวมกิจการนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ กสทช. อย่างเต็มที่

“เอกสารความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาครั้งนี้ ตีความแบบที่ต้องตีความอีก และเต็มไปด้วยความคลุมเครือ ทำให้คนอ่านสับสนและต้องมานั่งตีความกันหลายชั้นว่าตกลง กสทช. มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้เกิดการควบรวมหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่คำถามของกสทช.นั้นตรงไปตรงมา”

ถึงจะกล่าวได้คลุมเครือ แต่เอกสารฉบับนี้มีสาระสำคัญที่ต้องพิจารณา 2 เรื่อง

หนึ่ง คือคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกอย่างชัดเจนว่า เรื่องส่วนใหญ่ที่ กสทช. ถามไปนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลยพินิจตามกฎหมาย กสทช. คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่อาจให้ความเห็นในส่วนอำนาจหน้าที่ กสทช. อันเป็นองค์กรอิสระได้

สอง คณะกรรมการกฤษฎีกายังเขียนอย่างชัดเจนว่าเพื่อกำกับดูแลมิให้การรวมธุรกิจมีผลเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันจึงให้อำนาจ กสทช. กำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะตามประกาศ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้อ้างถึง ข้อ 8 ของประกาศปี 2549 และข้อ 9 ของประกาศปี 2561 ส่วนหนึ่งของการให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า

“...เพราะในกรณีที่เข้าข่ายตามข้อ 8 ของประกาศฉบับปี 2549 กสทช.ก็มีอำนาจอนุญาตตามข้อ 8 นั้นได้อยู่แล้ว”

เนื้อความในข้อ 8 ตามประกาศปี 2549 พูดถึงการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน โดยการเข้าซื้อหุ้นเกินกว่าร้อยละสิบ ของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือการเข้าซื้อสินทรัพย์ ไม่ว่าจะกระทำโดยทางตรงหรือทางอ้อมผ่านตัวแทนจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.

'ก้าวไกล' แย้ม!! แผน 5 ขั้น ปีแรกชนนายทุนลดค่าไฟ 70 สตางค์ ใน 4 ปีเปลี่ยนแดดเป็นเงิน เปิดเสรีโซลาร์รูฟทั้งประเทศ

(18 เม.ย.66) ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลฝ่ายนโยบาย และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจก้าวไกล ให้สัมภาษณ์พิเศษกับผู้สื่อข่าวถึงประเด็นค่าไฟหลายๆ บ้านที่แพงขึ้น โดยเปิดเผยถึงแผนบันได 5 ขั้น ที่พรรคก้าวไกลเตรียมเข้าไปผลักดัน หากหลังการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล ซึ่งศิริกัญญาเชื่อว่าถ้าทำได้ทั้งหมดนี้ ค่าไฟประชาชนจะลดลงได้อย่างน้อยหน่วยละ 1 บาท พร้อมฝันเห็นภูมิทัศน์ใหม่ของธุรกิจไฟฟ้าของประเทศไทยที่มีการเปิดเสรี ประชาชนไม่ถูกมัดมือชกให้ซื้อไฟฟ้าจากนายทุน

ศิริกัญญาเปิดเผยว่า บันไดขั้นที่ 1 พรรคก้าวไกลมีนโยบายเปลี่ยนนโยบายจัดสรรก๊าซธรรมชาติ จากเอื้อกลุ่มทุนเป็นเอื้อประชาชน โดยใช้กลไกคณะกรรมการกำกับดูแลนโยบายพลังงาน (กกพ.) กำหนดนโยบาย ซึ่งตัวนโยบายสามารถเปลี่ยนได้เลยใน 100 วัน และเห็นผลในบิลค่าไฟ ลดได้ทันที 70 สตางค์ต่อหน่วยในปีแรก พร้อมกันนั้น ต้องเร่งเจรจาสัมปทานก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทยเพื่อลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากการนำเข้า

ขั้นที่ 2 พรรคก้าวไกลจะเปลี่ยนแดดเป็นเงิน ด้วยการปลดล็อกระบบขายไฟมิเตอร์หมุนกลับจากหลังคาบ้านเรือน (Net Metering) เพื่อให้ทุกบ้านเรือนที่ต้องการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านสามารถทำได้อย่างถูกต้อง และเกิดการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านประชาชนเพื่อลดค่าใช้จ่ายได้เอง เชื่อว่าภายใน 4 ปี จะเห็นการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านของประชาชนเพิ่มขึ้นทั้งประเทศ

'ศิริกัญญา' แจงประเด็น "คลังลงทุนอาบอบนวด...เมื่อไรขาย?" รู้อยู่แล้ว!! ไม่ได้เข้าซื้อหุ้นโดยตั้งใจ แต่ได้จากการยึดทรัพย์ของปปง.

(18 ส.ค.66) น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความชี้แจงจากกรณีที่อภิปรายในสภาฯ ประเด็นลงทุนอาบอบนวด?? ตกลงขายได้มั้ย? ว่า...

เมื่อวันพุธ ดิฉันได้อภิปรายซักถามเกี่ยวกับรายงานการเงินแผ่นดินไป ไล่เรียงคำถามตั้งแต่การบริหารจัดการที่ราชพัสดุ งบประมาณที่ลงบัญชีว่าเบิกจ่ายเกินกว่าที่สภาอนุมัติ ไปจนถึงเงินลงทุนประเภทต่าง ๆ ของแผ่นดินที่กระทรวงการคลังบริหารแทน ซึ่งรวมถึงบริษัทที่ประกอบกิจการอาบอบนวด 5 บริษัท ที่ดิฉันได้สอบถามผู้มาชี้แจงว่าถือไว้ทำไม เมื่อไหร่จะขาย

กลายมาเป็นประเด็นโจมตีตามภาพ จึงขอชี้แจงและให้ข้อมูลที่ถูกต้องดังนี้ค่ะ

> คลังไม่ได้ลงทุนในอาบอบนวด

...ทราบดีค่ะ ว่ากระทรวงการคลังไม่ได้เข้าซื้อหุ้นโดยตั้งใจ และได้มาจากการยึดทรัพย์ของ ปปง. ซึ่งได้อภิปรายเรื่องนี้ไปแล้วด้วย สไลด์ก็เขียนอยู่ว่ามาจากยึดทรัพย์ เราไม่ควรอ่านแต่พาดหัวข่าวนะคะ ควรอ่านเนื้อข่าว หรือย้อนฟังการอภิปรายเต็ม ๆ เพื่อให้เข้าใจ

> การขายทอดตลาดทรัพย์สินใด ๆ เมื่อคดีสิ้นสุดเป็นหน้าที่ของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม

...กรณีนี้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำที่ผิดกฎหมายตกเป็นของแผ่นดิน และให้ตกเป็นของกระทรวงการคลัง ตามมาตรา 51 พ.ร.บ. ปปง.

การบังคับคดีสิ้นสุดตั้งแต่ตอนที่โอนหุ้นมาเป็นของกระทรวงการคลังเมื่อ 11 ปีก่อนแล้วค่ะ

อำนาจการจำหน่ายสินทรัพย์ก็อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ที่ทำหน้าที่หลักทรัพย์

และถ้าฟังจนถึงผู้ชี้แจงจากสคร. ตอบคำถามดิฉัน ก็จะทราบว่าเค้าอยากจะขายค่ะ แต่ขายไม่สำเร็จ ราคาไม่เป็นที่พอใจ

กรมบังคับคดีจะมาขายทอดตลาดได้ยังไงก่อน...!!

เรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งทราบ แต่ได้ซักถามกระทรวงการคลังมาหลายปีเกี่ยวกับหุ้นที่ถือเหล่านี้ทั้งที่ได้จากนโยบาย (ในอดีต) และที่ได้จากการยึดทรัพย์ สคร.ก็พูดตลอดว่าจะพยายามจำหน่ายออก แต่จำหน่ายไม่ออกซักที

ที่ต้องมาเร่งรัด เพราะเมื่อต้นปีก็มีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับบริษัทนี้ ทั้งเรื่องผู้ถือหุ้นใหม่ ที่เกี่ยวพันกับทุนจีน และการจับกุมเพราะเปิดโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จึงไม่อยากให้หน่วยงานรัฐต้องเข้าไปพัวพันกับเรื่องนี้ค่ะ

จึงขออนุญาตชี้แจง เพราะไม่ได้แค่คนเดียวที่เข้าใจผิด คนระดับครูบาอาจารย์ก็ยังกระจายข่าวด้วยอคติไปทั่ว เดี๋ยวประชาชนจะเชื่อข้อมูลที่ผิด ๆ ค่ะ

‘ศิริกัญญา’ อัด!! นโยบาย ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ว่างเปล่า-ไร้เป้าหมาย-ไร้ตัวชี้วัด แถมไม่ตรงปกนโยบายช่วงหาเสียง ลั่น!! ให้อยู่เกรดเดียวกับรัฐบาลบิ๊กตู่

(11 ก.ย. 66) ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นสมาชิกคนแรกที่ขึ้นอภิปรายการแถลงนโยบายในวันนี้ โดยกล่าวถึงนโยบายทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยระบุว่าคำแถลงนโยบายที่ดีต้องบอกเป้าหมายว่ารัฐบาลใน 4 ปีนี้จะเดินทางไปด้วยเส้นทางไหน ด้วยวิธีการใด และจะไปถึงเป้าหมายเมื่อไหร่ ซึ่งคำแถลงนโยบายเมื่อครู่นี้ ไม่แตกต่างไปจากเอกสารที่ออกมาก่อนหน้า ไม่ได้บอกอะไร มีแต่คำพูดกว้างๆ ไม่มีตัวชี้วัดและมีแต่คำขยายเต็มไปหมด ถ้าบอกว่านี่คือจีพีเอส ประเทศก็คงหลงทาง ว่างเปล่า และเบาหวิว

พรรคการเมืองไหนก็ตามที่คิดกลับคำ ไม่ยอมระบุนโยบายที่หาเสียงไว้ในการแถลงนโยบายเมื่อได้เป็นรัฐบาล โดยปราศจากเหตุผลที่รับฟังได้ พรรคการเมืองนั้นก็ย่อมคือผู้ทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน คำแถลงของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ตนขอให้อยู่ในเกรดเดียวกับรัฐบาลประยุทธ์ ที่น่าผิดหวังคือพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมาตรฐานตกจากสมัย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีเป้าหมายชัด มีนโยบายที่หาเสียงบรรจุไว้ตรงเกือบทั้งหมด มีกรอบเวลาตั้งแต่ช่วง 1 - 4 ปี

การแถลงนโยบายที่ดี สิ่งแรกที่ควรจะมีคือเป้าหมายที่ชัดเจน ตัวชี้วัดที่วัดผลได้ มีกรอบเวลาชัดเจน ไม่ใช่แค่บอกว่าอยากให้ประเทศเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่ไม่มีตัวชี้วัดว่าประเทศไทยบรรลุเป้าหมายนั้นหรือยัง ไม่ใช่การเขียนแบบพูดอีกก็ถูกอีก เหมือนพูดว่า ‘น้ำเป็นของเหลว’

ต่อมา คำแถลงนโยบายต้องมีคำอธิบายแต่ละนโยบายที่ชัดเจนให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังจะทำอะไร ไม่ใช่เหมือนเป็นแค่คำอธิษฐานหรือ wish list ที่สำคัญ การหาเสียงเลือกตั้งต้องเป็นสัญญาศักดิ์สิทธิ์ เมื่อได้รับเลือกมาแล้วก็ต้องทำตามสัญญา ไม่เช่นนั้นการเลือกตั้งก็ไร้ความหมาย 

สุดท้ายต้องกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการให้ชัดเจน ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีรายละเอียดชัดเจน ตรงกับนโยบายที่ได้สัญญาไว้ กรอบเวลาก็ชัดมาก แต่ในรัฐบาลปัจจุบัน ก็ไม่เข้าใจว่ามาจากพรรคเดียวกันหรือไม่ เพราะไม่มีทั้งรายละเอียด ไม่มีการกำหนดเป้า ไม่มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน

“คุณเศรษฐาแถลงเป้าหมายของบริษัทแสนสิริด้วยมาตรฐานการแถลงเป้าหมายของบริษัทระดับโลก มีเป้าหมาย กรอบระยะเวลา ตัวชี้วัดที่ชัดเจน แต่พอมาเป็นนายกรัฐมนตรี คุณเศรษฐากลับแถลงเป้าหมายของรัฐบาลเพื่อไทยด้วยมาตรฐานเดียวกันกับรัฐบาลประยุทธ์ คือเลื่อนลอย ไม่ยอมสัญญาอะไรที่เป็นรูปธรรมทั้งนั้น” ศิริกัญญา กล่าว

แต่ที่สำคัญ คือนโยบายตามที่หาเสียงเอาไว้ของพรรคเพื่อไทย เมื่อเทียบกับสิ่งที่อยู่ในเล่มแถลงนโยบาย พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงคำพูดไปอย่างชัดเจน จากที่มีตัวเลขเป้าหมายก็กลายเป็นนามธรรม จากที่มีตัวเลขระยะเวลาก็ตัดทิ้งไป

การแถลงนี้ ยังเป็นการแถลงที่ปราศจากความทะเยอทะยานที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ หลับตาข้างหนึ่งแล้วก้าวข้ามความขัดแย้งเหมือนว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งความขัดแย้งทางการเมือง สามจังหวัดชายแดนใต้ การลดความเหลื่อมล้ำ ไม่กล้าแตะเรื่องยากที่ต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ ทั้งที่ตอนหาเสียงท่านกล้าหาญกว่านี้มาก คล้ายกับตอน พล.อ.ประยุทธ์แถลง ซึ่งตนคิดว่าเป็นเพราะสองเหตุผล กล่าวคือ

1) รัฐบาลกลัวการผูกมัด กลัวทำไม่ได้อย่างที่สัญญา หรือมองว่าบางนโยบายไม่สามารถทำได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ควรหาเสียงกับประชาชนไว้แบบนั้นแต่แรก และ 2) การเป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้วที่นโยบายเป็นคนละขั้ว ซึ่งสุดท้ายหาข้อตกลงไม่ได้จึงต้องเขียนให้ลอยและกว้างไว้ก่อน แถมที่มาของอำนาจต้องเกรงใจกลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มทุน จึงไม่กล้าทำเรื่องยากที่ต้องปะทะกับใครเลย

ส่วนในด้านเนื้อหานั้น มีการแบ่งเป็นตามกรอบระยะสั้น และระยะกลางและยาว โดยในกรอบระยะสั้นมี 6 เรื่อง แต่ยังขาดเรื่องที่สำคัญเร่งด่วนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยแล้ง pm2.5 ความขัดแย้งทางการเมือง และชายแดนใต้ เรื่องเหล่านี้ไม่เร่งด่วนอีกต่อไปแล้วเช่นนั้นหรือ?

ส่วนในระยะกลางและระยะยาว เมื่อไล่ดูนโยบายที่บรรจุไว้เหลือแค่ 3 เรื่อง ที่ตนอยากเน้นเป็นพิเศษคือการลดความเหลื่อมล้ำ ที่ถูกลดทอนเหลือแค่ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ทั้งที่ก่อนเข้าทำงานการเมือง นายกรัฐมนตรีเคยให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ มีความคิดที่ตนสนับสนุนเห็นด้วยหลายประการ แต่ตอนนี้กลับไม่เห็นอยู่ในคำแถลงนโยบายแล้ว จึงอยากถามว่านายกรัฐมนตรียังคิดอยู่แบบเดิมหรือไม่ จุดยืนและอุดมการณ์ของพรรคเพื่อไทยยังคงเดิมอยู่หรือไม่

ต่อมา ตนขอกล่าวถึงแหล่งรายได้และที่มางบประมาณ โดยเฉพาะต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 5.6 แสนล้านบาท ไม่ว่าจะออกแบบให้เป็นแบบใด รัฐบาลจำเป็นต้องมีเงินสดกองไว้เต็มจำนวน เพื่อรับประกันว่า 1 บาทในโลกจริงจะเท่า 1 บาทดิจิทัล ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าแหล่งที่มาของเงินน่าเชื่อถือหรือไม่ หากทำไม่ได้ก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของร้านค้า และอาจเกิดเป็นเงินเฟ้อในโลกดิจิทัลขึ้นได้

การจะมีเงินสดกองไว้เต็มจำนวน 5.6 แสนล้านบาท มีอยู่สองทางเลือกเท่านั้น คือ 1) การใช้งบประมาณแผ่นดิน หรือ 2) เงินนอกงบประมาณ ซึ่งปัญหาของการใช้งบประมาณแผ่นดินปี 2567 จะไม่พออย่างแน่นอน เพราะงบประมาณ 3.35 ล้านล้านบาท มีหลายค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถตัดทอนได้ เช่น งบประมาณชำระหนี้ ดอกเบี้ย เงินคงคลัง เงินอุดหนุนท้องถิ่น สวัสดิการตามกฎหมาย เหลือใช้จ่ายได้จริงๆ ก็แค่ราว 4 แสนล้านบาท ซึ่งไม่สามารถเอามาลงในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้ทั้งหมด

หรือหากจะใช้ดุลเงินสดของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็ต้องลดรายจ่ายจาก 1.2 ล้านล้านให้เหลือครึ่งหนึ่ง คุมเงินนอกงบประมาณให้สมดุล ซึ่งเงินสดก็ยังคงจะไม่พออยู่ดี จะมีการกู้ชดเชยขาดดุลล่วงหน้ามาใช้กับโครงการนี้หรือไม่ ซึ่งหากทำเช่นนั้นก็จะเกิดค่าเสียโอกาสคือค่าดอกเบี้ย หากทำแบบนี้ก็จะสุ่มเสี่ยงว่านอกจากงบประมาณจะไม่พอแล้ว เงินสดก็จะไม่พอด้วย

ส่วนการใช้เงินนอกงบประมาณ ก็ไม่สามารถใช้ได้ถ้าไม่แก้กรอบวินัยการเงินการคลัง หรือหากจะยืมเงินกองทุนหมุนเวียนมาใช้ ก็มีสองอยู่กองเท่านั้นคือกองทุนของผู้ประกันตนหรือข้าราชการบำนาญ ซึ่งก็ไม่สมควรที่จะทำ หรือสุดท้ายหากจะกู้ธนาคารรัฐ ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีกรอบอยู่ที่ไม่เกิน 32% ของรายจ่ายงบประมาณประจำปี ซึ่งวันนี้กำลังจะถึงจุดนั้นแล้ว หากจะกู้จริงก็ต้องแก้ ม.28 ของกรอบนโยบายการเงินการคลัง ซึ่งก็จะไม่สง่างามเท่าไหร่

สุดท้ายนี้ ความเสี่ยงที่รัฐบาลต้องพึงระวังและไม่ได้อยู่ในคำแถลงนโยบาย คือการกระตุ้นเศรษฐกิจสมควรทำ แต่การวินิจฉัยโรคไม่ถูกก็อาจจะนำไปสู่การรักษาที่ไม่ถูกต้อง เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้ถ้าโตเฉพาะส่วนบน การลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรมต้องจัดการระบบภาษีไปพร้อมกัน วิธีคิดนโยบายที่มีแต่การโยกกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา แต่หลีกเลี่ยงการแก้ปัญหาที่ต้นตอ เช่น กลุ่มทุนที่สามารถมีอำนาจเหนือตลาดและผูกขาด ย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน

วันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว ไทยเปลี่ยนไปแล้ว ระดับหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เงินเฟ้อกำลังสูงทั่วโลก ส่งออกก็ไม่รุ่ง ตลาดก็กระจุกตัวขึ้น รัฐบาลจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร

“ดิจิทัลวอลเล็ตย่อมสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้แน่นอน แต่มันไม่เพียงพอให้เกษตรกรขุดแหล่งน้ำบรรเทาภัยแล้ง ไม่สามารถทำให้เกษตรกรได้เอกสารสิทธิในที่ดินทำกิน ไม่สามารถช่วยผู้ส่งออกให้ส่งออกเพิ่มหรือไม่ตัดโอทีในโรงงานได้ จึงขอให้รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญให้ดี จะเทหมดหน้าตักแล้วหวังน้ำบ่อหน้าไม่ได้ แต่ข้อดีของการแถลงกว้างๆ แบบนี้ คือท่านยังมีโอกาสได้แก้ไขในการแถลงงบประมาณ เพื่อส่งมอบนโยบายอะไรบ้างใน 1 ปีข้างหน้าจากนี้” ศิริกัญญา กล่าว

'ศิริกัญญา' เฉลย!! เงินดิจิทัลกู้จากแบงก์ออมสิน ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ แต่เบียดบังงบพัฒนาชาติ

(25 ก.ย.66) นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียล โดยระบุว่า “ปริศนาทุกอย่างกระจ่างแล้ว ที่มาของงบ Digital Wallet จะมาจากการกู้แบงก์รัฐ (ออมสิน) โดยการขยายกรอบวินัยการเงินการคลังขึ้นไปเป็น 45% ของงบปี 67 จากเดิม 32% ไม่ได้มาจากงบประมาณตามที่ได้หาเสียง

ข้อดี : หนี้แบงก์รัฐจะไม่ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะตามกฎหมาย

ข้อเสีย :1) แต่เป็นหนี้ยังไงก็ต้องจ่ายคืน ทุกวันนี้ต้องจ่ายคืนปีละเกือบแสนล้านบาทให้กับ ธ.ก.ส. และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ อยู่แล้ว ถ้าจ่ายคืนออมสินปีละ 5 หมื่น ก็เป็นภาระไปอีก 10 ปี รวมแล้วงบประมาณต้องใช้คืนหนี้ทั้งหมดก็จะพุ่งไปราว 5 แสนล้าน เบียดบังงบประมาณที่ต้องใช้พัฒนาประเทศอื่นๆ

2) ใช้งบประมาณสูงมากโดยไม่ต้องผ่านสภา ใช้แค่มติ ครม. ก็สามารถกู้เงินได้ทันที ไม่ต้องมีการตรวจสอบใดๆ การกู้ผ่าน ม.28 ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะทั้งจำนวน หน่วยงานเจ้าหนี้ และภาระการคืนเงินต้นและดอกเบี้ย

3) กระทบกรอบวินัยการเงินการคลัง ที่ต้องการจำกัดการใช้เงินนอกงบ และนโยบายกึ่งการคลังให้น้อยลง

4) สภาพคล่องของออมสินอาจมีปัญหา ทั้งจากการระดมทุนเวลานี้ และหากรัฐไม่ใช้คืนตามสัญญา (ธ.ก.ส.เจอมาตลอด) จะบริหารเงินสดได้ยากลำบาก

อยากถามนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการการเงินการคลังของรัฐว่าท่านรู้ตัวไหมว่ากำลังทำอะไร”

‘ศิริกัญญา’ มอง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่น’ อาจถึงทางตัน เหตุกู้ออมสินไม่ได้ ชี้!! ขัดต่อ พ.ร.บ.ก่อตั้งธนาคาร

(23 ต.ค. 66) น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมกันอย่างต่อเนื่อง ที่ทิศทางของโครงการอาจจะไปสู่ทางตัน ว่า…

[หรือว่า Digital wallet จะถึงทางตัน...?]

ธนาคารออมสินที่ยืนหนึ่งเป็นแหล่งที่มาของงบที่จะใช้สำหรับ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ 5.6 แสนล้าน อาจจะใช้ไม่ได้เสียแล้ว

ไม่ใช่แค่ว่าออมสินมีสภาพคล่องไม่พอ แต่เป็นเรื่องข้อจำกัดของกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ออมสินปล่อยกู้ให้รัฐบาลได้

ตามมาตรา 7 ของ พรบ.ออมสิน กำหนดวัตถุประสงค์เอาไว้ว่าให้ทำกิจการใดบ้าง ซึ่งก็เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ รับฝากเงิน ปล่อยกู้ ซื้อขายพันธบัตร ลงทุน ไม่มีข้อไหนที่ให้รัฐบาลกู้เงินได้ แต่หากจะทำกิจการอื่น ต้องตราเป็น พรฎ.

ซึ่งเมื่อไปดูใน พรฎ. กำหนดกิจการพึงเป็นงานธนาคาร ระบุกิจการไว้ 13 ข้อ ลงรายละเอียด ไปจนถึงธุรกิจเงินตราต่างประเทศ การออกบัตรเครดิต ที่ปรึกษาการเงิน แต่ก็ไม่มีข้อไหนเลยที่เข้าข่ายจะตีความว่านำเงินให้รัฐบาลกู้ยืมได้ ถ้าไม่เชื่อลองถามกฤษฎีกาดูก็ได้ค่ะ

ความหวังที่จะใช้เงินออมสินมาเป็นแหล่งเงินของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็คงต้องจบลงแค่นี้ ยกเว้นแต่ว่าจะมีการแก้กฎหมาย ซึ่งไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เสียทีเดียว แต่ก็ไม่ควรทำ

สมัยประยุทธ์ทำรัฐประหารใหม่ๆ ก็เคยออกคำสั่ง คสช. แก้ พรบ.กสทช. ว่าด้วยวัตถุประสงค์ กองทุนวิจัยและพัฒนา ของ กสทช. ให้เพิ่มว่ากองทุนสามารถให้กระทรวงการคลังกู้ยืมเงินได้ ซึ่งต่อมากระทรวงการคลังก็มากู้ไปจริงๆ 14,300 ล้านบาท (ที่ตลกก็คือ มีการออกคำสั่ง คสช.อีกฉบับเพื่อแก้ พรบ.กลับไปเป็นเหมือนเดิม พร้อมยกหนี้หมื่นล้านนี้ให้กระทรวงการคลังด้วย) 
เราก็ต้องมาวัดใจกันดูว่าจะถึงขั้นแก้กฎหมายเพื่อให้รัฐฯ สามารถกู้เงินออมสินได้หรือไม่

**ถ้าไม่แก้กฎหมาย เหลือทางเลือกอะไรอยู่บ้าง**

เหลือแค่ใช้เงินงบประมาณ กับออก พรก.กู้เงิน เหมือนช่วงโควิด

Update ข้อมูลงบ 67 ที่ปรับปรุงใหม่ ตามภาพที่ 2 ถึงจะขยายงบเป็น 3.48 ล้านล้าน แต่ก็ต้องจ่ายหนี้เพิ่ม ลงทุนเพิ่มตามไปด้วย เมื่อหักรายจ่ายที่ยังไงก็ต้องจ่าย ทั้งเงินเดือนสวัสดิการบุคลากรภาครัฐ งบใช้หนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เงินชดใช้เงินคงคลัง งบท้องถิ่น และสวัสดิการตามกฎหมาย

งบที่เหลือมาจัดสรรใหม่ได้จริงเพิ่มมาเป็น 476,000 ล้าน ก็จริง แต่ขอย้ำว่านี่คือรายจ่ายประจำที่ต้องแชร์กับพรรคร่วมรัฐบาล 20 กระทรวง ถ้าใช้หมดนี่ก็หมายความว่า แต่ละกระทรวงได้เงินแค่พอจ่ายเงินเดือน กับงบลงทุนโครงการอื่นๆ ไม่ต้องทำกันแล้ว จะตั้งกองทุน Soft Power ก็ไม่ได้ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพิ่มงบไม่ได้ งบอุดหนุนบรรเทาภัยแล้งก็ไม่ได้ งบอุดหนุนดับไฟป่าแก้ PM 2.5 ก็ไม่ได้ โครงการฝึกอบรม Upskill-reskill อะไรก็ทำไม่ได้ทั้งหมด ไม่ต้องพูดถึงค่าตอบแทน อสม. กำนันผู้ใหญ่บ้าน ก็หายหมดเช่นเดียวกัน ซึ่งเท่ากับว่าทางเลือกนี้ก็คงเป็นไปไม่ได้เหมือนเดิม

หรือ... จะให้ผู้ประกอบการเก็บเหรียญดิจิทัลไว้ ยังไม่ให้แลกคืน รออีกซักปี 2 ปี ให้มีงบประมาณพอ ก็อาจเป็นอีกทางเลือก แต่ก็เสี่ยงที่จะทำให้ไม่มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ

ทางเลือกสุดท้าย คือออกเป็น พรก.เงินกู้แบบที่ทำช่วงโควิด ก็จะถือเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองชัดๆ ซึ่งก็ทำไม่ได้อีกเพราะไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนตาม รธน.

น่าคิดนะคะ ว่าอาจจะถึงทางตันจริงๆ

‘ศิริกัญญา’ ชี้!! ออก ‘พ.ร.บ.กู้’ สุ่มเสี่ยงมาก แนะทำแท้งร่าง กม.เงินกู้ เชื่อ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ถึงทางตัน ฟันธง!! สุดท้ายจะไม่มีใครได้เงิน

(10 พ.ย. 66) ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ว่า ขณะนี้ความชัดเจนเริ่มปรากฎแล้ว แต่เป็นความชัดเจนที่ไม่มีเรื่องแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งนายกฯเลือกเส้นทางที่ยากที่สุด คือการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 5 แสนล้าน เพื่อระดมทุนมาแจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แม้วันนี้หลักเกณฑ์จะมีการพูดถึงคนที่รายได้ต่ำกว่า 7 หมื่นบาท แต่ท้ายที่สุดอาจไม่มีใครได้เงินจากโครงการนี้เลย เพราะเสี่ยงขัดต่อกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 และขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงิน การคลัง มาตรา 53 ที่มีการระบุว่า หากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติ จะทำได้กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น แต่วันนี้ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอะไร เราไม่ได้อยากกดดันให้มีการร้องเรียนไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่เราคิดว่านี่เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารอย่างแท้จริงที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้เด็ดขาด ว่ารัฐบาลจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ได้หรือไม่ โดยไม่ต้องไปถึงมือขององค์กรอิสระที่ไม่เป็นวิถีทางประชาธิปไตยสักเท่าไหร่

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า ที่ต้องออกมาพูด เพราะการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท มีความสุ่มเสี่ยงจริงๆ เหมือนกับกรณี พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท อย่างชัดเจน ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ดังนั้น รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ ตนตั้งข้อสังเกตว่าการที่รัฐบาลเลือกทางนี้ เพราะไม่ต้องการให้โครงการนี้สำเร็จ แต่ต้องการให้เข้าทางนักร้องต่างๆ เพื่อหาทางลงให้สวยงามของโครงการที่มาถึงทางตันโดยสมบูรณ์แล้ว ตนไม่ได้เห็นด้วยกับการร้องศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ แต่ขอให้รัฐบาลได้แสดงความรับผิดชอบทางการเมืองโดยการให้กฤษฎีกาตีความ

“รัฐบาลเองน่าจะเห็นแล้วว่าไม่มีทางที่จะไปได้จริงๆ ทางเลือกนี้เป็นการหาทางลงมากกว่าที่จะเดินหน้าโครงการนี้จริงๆ ถ้ากฤษฎีกาตีความเข้าข้างให้ผ่าน และ สส.ในสภาฯ ก็ให้ผ่าน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือภาระหนี้ในแต่ละปีงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 15% ของงบรายจ่ายประจำปี ซึ่งจะเป็นภาระงบประมาณอย่างใหญ่หลวง สิ่งที่รัฐบาลทำวันนี้จะทำภาระดอกเบี้ยเกิน 10% ในงบประมาณปี 68 ทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ได้พูดถึงทั้งเรื่องภาระหนี้ และภาระดอกเบี้ย ความเสี่ยงนี้จะไม่เกิดขึ้นหาก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ถูกทำแท้งตั้งแต่ต้นโดยกฤษฎีกา” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

เมื่อถามว่า แบบนี้เหมือนเป็นการขายผ้าเอาหน้ารอดหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ถ้าจะพูดแบบนั้นน่าจะได้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาจากการที่ไม่ได้คิดนโยบายอย่างถี่ถ้วน ตั้งแต่ก่อนหาเสียง เมื่อถึงทางตันจึงต้องหาทางลงแบบนี้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า เงื่อนไขต่างๆ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเหมือนลอยมาจากฟ้าโดยสิ้นเชิง หากตัดตามสัดส่วนผู้มีรายได้ 20% บนสุดต้องอยู่ประมาณ 6 หมื่นบาท แต่วันนี้เราไม่รู้ว่าตัวเลข 7 หมื่นบาท มาจากไหน จะตัดคน 4 ล้านกว่าคนได้จริงหรือไม่ ตนคิดว่ารัฐบาลต้องการตัวเลขกลมๆ ที่ 50 ล้านคน จึงไม่มีหลักเกณฑ์อะไรมากนัก

‘ศิริกัญญา’ อัด!! รบ.เลือดเข้าตา ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ออกทะเลไปไกล พร้อมเรียกร้องให้เร่งสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมาในระบบเศรษฐกิจ

(3 เม.ย. 67) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

ต่อมาเวลา 12.20 น. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า ตนจะพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจที่พบว่าเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้ารอได้ แต่ปัญหาระยะไกลไม่เห็นทางออก ผลงานของรัฐบาลที่มีการแถลงมาตั้งแต่ 3 เดือนแรก หลายเรื่องต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว หลายเรื่องทำไปตั้งแต่เดือนแรกที่จัดตั้งรัฐบาลได้ เช่น เรื่องการลดรายจ่าย

หลายเรื่องยังไม่มีผลเป็นรูปธรรม แต่หลายเรื่องเป็นเรื่องเล็กน้อยที่งงว่าสามารถนำมาเคลมได้ด้วยหรือ หรือผลงาน 6 เดือนแรกที่พบว่ามีการผลิตซ้ำกับผลงานเมื่อ 3 เดือนก่อน ที่เพิ่มมาก็มีบางเรื่อง เช่น การปราบหมูเถื่อน ยางพาราทะลุ 80 บาท ระยะเวลาจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน

แต่ผลงานที่เพิ่มมามีน้อยมาก เช่น เรื่องการขยายโอกาสที่สามารถตัดทิ้งได้เลย ที่เป็นเช่นนี้ เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นนายกรัฐมนตรีแบบพาร์ทไทม์หรือไม่ อีกส่วนหนึ่งของเวลานำไปใช้เป็นเซลล์แมนของประเทศไทยหรือไม่ จึงทำให้ไม่มีใครมาบริหารราชการแผ่นดินแบบฟลูไทม์ ในรอบ 6 เดือน ทำให้มีผลงานน้อยมาก

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า สิ่งที่เราเฝ้ารอคือการกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่กลับไม่เห็น เช่น เรื่องมาตรการลดรายจ่ายทั้งหมดที่กำลังทยอยหมดอายุ ซึ่งประชาชนก็เฝ้าถามว่าค่าไฟ 3.99 บาทก็เริ่มหมดอายุแล้วจะใส่มาทำไม เพราะทุกวันนี้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และเดือนพฤษภาคมก็เป็นเดือนแรกที่เราต้องจ่ายคืนหนี้ กฟผ. การลดภาษีสรรพสามิตที่หมดอายุไปแล้วตั้งแต่ 31 ม.ค.ไปแล้ว หรือนี่จะเป็นการลดค่าครองชีพแบบชั่วคราว โดยยังไม่มีการแก้ปัญหาแบบระยะยาวตามมา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจากการที่ท่านมีมาตรการลดรายจ่ายเช่นนี้มีต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เช่น เรื่องกองทุนน้ำมันที่ต้องทำหน้าที่เดอะแบกที่ขณะนี้ติดลบไปแล้ว

หากจะกู้เพิ่มก็เชื่อว่าไม่มีธนาคารไหนกล้าให้กู้แล้ว คำถามคือท่านจะมีวิธีการจัดการอย่างไรกับสถานะของกองทุนน้ำมัน จะมีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ขยายวงเงินกู้ยืมให้กับกองทุนน้ำมันหรือไม่ แล้วเราจะมีพื้นที่ทางการคลังเหลือเพียงพอหรือไม่ เพราะการที่เราให้กองทุนน้ำมันกู้ จะกลายเป็นหนี้สาธารณะ เมื่อท่านจำเป็นต้องกันพื้นที่นั้นไว้สำหรับทำดิจิทัลวอลเล็ต

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า หากท่านจะบอกว่ายอดกำลังซื้อก็ดีเลย เพราะเหมาะที่จะทำดิจิทัลวอลเล็ต แต่ดิจิทัลวอลเล็ตไม่ใช่ 30 บาทที่จะรักษาทุกโรคได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วท่านควรทำตั้งแต่ 2 เดือนก่อนหน้านี้แล้วไม่ใช่เพิ่งมาทำหรือมาทำในอีก 6 เดือนข้างหน้า

จึงขอถามว่าภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ในเมื่องบประมาณออกมาแล้ว เราจะได้เห็นมาตรการอะไรที่จะมาช่วยพยุงกำลังซื้อในระยะสั้นของประชาชนตัวเล็กตัวน้อย เพราะในขณะที่เรามีงบไปพรางก่อนท่านอาจบอกว่าเป็นเงินเดือนของข้าราชการหรือการลงทุนอะไรก็ตาม แต่หากเราไปดูในส่วนของงบกลางจะพบว่าท่านมีอำนาจที่จะใช้เพื่อแก้ไขเศรษฐกิจในระยะสั้นได้

“แต่ไม่ว่าประเทศไทยจะมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจมากแค่ไหน อย่างน้อยเราก็โชคดีที่เราไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจอีกต่อไป เพราะรัฐบาลเลิกพูดแล้วว่าประเทศเราเริ่มเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ต้องบอกว่าที่เราผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ ไม่ได้เป็นเพราะรัฐบาลสามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ ไม่ได้เกิดจากการที่พระสยามเทวาธิราชมาปกป้องคุ้มครองเรา

แต่เกิดจากหน่วยงานหนึ่งที่ชื่อว่าคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ที่มาแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจให้กับเรา โดยการออกรายงานมาหนึ่งฉบับเพื่อเป่ากระหม่อมบอกว่าไม่มีวิกฤต

หลังจากนั้นรัฐบาลก็เลิกพูดว่าประเทศเรามีวิกฤตเศรษฐกิจทันที เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการที่เราประโคมข่าวว่าประเทศเรามีวิกฤตเป็นเพียงแค่จะได้ใช้กลไกพิเศษนั่นคือการกู้เงินเท่านั้นเอง” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า หากเราพูดเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ โดยไม่พูดถึงเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้ ซึ่งเป็นหัวใจของปัญหานี้ ล่าสุดที่มีความคืบหน้า แต่ครั้งนี้เป็นการแก้ไขรายละเอียดเรื่องที่มาของเงินเป็นครั้งที่ 5 แล้ว ซึ่งรัฐบาลยิ่งแถลงก็ยิ่งเปลี่ยนแปลงมาเรื่อย ๆ โดยครั้งนี้เราพบว่ามีการใช้แหล่งที่มาของเงินถึง 3 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นงบกลางของปี 67, การเบ่งงบปี 68 และกู้ ธกส.

อย่างไรก็ตาม เราต้องลุ้นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรอบที่ 6 หรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขรายละเอียดอื่น ๆ อีก และเอาใจช่วยให้ทำระบบที่จะใช้กับโครงการนี้เสร็จภายในไตรมาส 4 ของปี 67 หรือไม่ แต่ไม่เป็นอะไรหากไม่เสร็จก็เลื่อนได้อีก

ทั้งนี้ ตนคิดว่ารัฐบาลจะเบ่งงบ 68 มาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเยอะกว่านี้ และคิดว่าจะมีการเก็บภาษีเพิ่มเติมด้วย เพราะเท่าที่ดูก็ไม่น่าจะพอ ส่วนงบกลางปี 67 นั้น จริง ๆ รัฐบาลสามารถออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี หรืองบกลางปีขึ้นมาได้ โดยการกู้เพิ่มหรือกู้ชดเชยขาดดุลเต็มเพดานอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท

หากท่านงงว่าออกงบกลางปี 67 แล้วจะไปใช้ปี 68 ได้อย่างไร ก็จะมีทริคอยู่ว่าให้นำไปใส่ในกองทุนเนื่องจากไม่ต้องส่งคืนคลัง เอาไปใช้ทำอะไรก็ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถกู้ ธกส.มาใช้ก่อนได้ ซึ่งตนก็ยังรอคำตอบในเรื่องนี้ว่าตนจะเดาถูกหรือไม่

“ต้องบอกว่าเป็นความพยายามที่เรียกได้ว่าเลือดเข้าตาแล้ว จากเดิมที่พายเรือในอ่างก็ไปเริ่มที่ศูนย์ วันนี้เรากำลังออกทะเลไปไกลแล้ว เพราะมูลค่า 5 แสนล้านบาทที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็ต้องบอกว่ามาจากการกู้ กู้ และกู้อยู่ดี เพียงแค่จะเป็นการกู้ที่ทำให้ถูกกฎหมายได้ และที่ยังกังวลอยู่คือเรื่องของระบบแต่ยังมีเวลาที่ท่านจะไปสะสางปัญหาว่าจะโอนอย่างไร

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าค่อนข้างเละเทะ จากการที่ต้องเปลี่ยนแหล่งเงินไปมาประมาณ 5 ครั้ง ยังไม่รู้ว่าจะมีรอบที่ 6 หรือไม่ มีการเลื่อนการแจกอย่างน้อยมาแล้ว 4 ครั้ง มีการเปลี่ยนเทคโนโลยีแอพพลิเคชันที่ใช้ เปลี่ยนเรื่องจำนวนคนตลอดเวลา มันทำให้ชวนคิดว่าสรุปแล้วรัฐบาลนี้มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมาก่อนจริงใช่หรือไม่

เรื่องความรู้ความเข้าใจการคลัง ทำให้ดิฉันตกใจว่าทำไมถึงกล้าออกนโยบายเช่นนี้มาได้ และการที่ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเยอะขนาดนี้ ยิ่งแสดงว่าไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมใด ๆ มาตั้งแต่เริ่มต้น ถึงต้องขายผ้าเอาหน้ารอดไปวัน ๆ เช่นนี้ แล้วท่านก็ขยันแถลงมาก เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าอาทิตย์เดียว แถลงไปถึง 2 ครั้งโดยที่ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ประเทศได้รับความเสียหาย เพราะโมเมนตัมหรือพายุหมุนทางเศรษฐกิจที่ท่านอยากให้เกิดขึ้น จะไม่เกิด เนื่องจากต้องได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน จึงเป็นปัญหาที่ตนคิดว่าไม่ใช่เป็นเพราะนโยบายใดนโยบายหนึ่ง

จึงอยากเรียกร้องรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาในระบบเศรษฐกิจได้แล้ว ในฐานะที่ท่านบอกว่าจะอาสามาเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้องให้ประชาชน แต่ตอนนี้ทำได้ไม่กี่นโยบายก็นิ่งสนิท แล้วยังต้องให้ประชาชนรออีกจนถึงไตรมาส 4 โดยที่ยังไม่รู้ว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

‘ศิริกัญญา’ หนุน ‘พิชัย ชุณหวชิร’ คุมคลังแทน ‘เศรษฐา’ จี้!! ปรับครม. แล้วต้องเร่งทำงานทันที ห้ามมีช่วงฮันนีมูน

(20 เม.ย.67) ที่อาคารอนาคตใหม่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระแสข่าวว่านายพิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนี้ จะสร้างความแตกต่างหรือไม่ว่า การที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นเรื่องที่ไม่สมควรมาตั้งแต่ต้น เพราะไม่สามารถที่จะทำงานเต็มเวลาได้ งานของกระทรวงที่ฝากรัฐมนตรีช่วยไว้ ก็อาจทำไม่ได้เต็มที่ และโดยปกติ นายกฯ จะไม่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง เพราะต้องเป็นผู้เสนอแนะ หรือตักเตือนเรื่องการคลังที่น่ากังวล ดังนั้น เป็นเรื่องที่ดี หากมีรัฐมนตรีคลังมาทำงานเต็มเวลา ส่วนนายพิชัย จะมีความเหมาะสมหรือไม่นั้น ต้องให้โอกาสเริ่มทำงานก่อน

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม นายพิชัยก็ไม่ใช่คนหน้าใหม่ เพราะเป็นที่ปรึกษานายกฯ ก็น่าจะคุ้นเคยกับระบบบริหารราชการมาระดับหนึ่ง ดังนั้นทางพรรคก้าวไกล คงจะไม่ให้โอกาสในช่วงทดลองงาน เมื่อเข้าทำเนียบก็ต้องทำงานทันที ไม่มีช่วงฮันนีมูนเหมือนรัฐมนตรีคนอื่น เพราะถือว่ารัฐบาลทำงานมา 7 เดือนแล้ว จึงคาดหวังว่าการปรับ ครม.ครั้งนี้ รัฐมนตรีหน้าใหม่คงไม่มาเรียนรู้งานกันใหม่ ขอให้ทำงานเต็มที่ตั้งแต่วันแรก

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องให้กำลังใจ นายพิชัยหรือไม่ เพราะต้องมาสานต่อนโยบายเรือธง อย่างดิจิทัลวอลเล็ต น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เข้าใจว่านายพิชัยอยู่ในทีมที่ทำงานเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด แต่เข้าใจว่าครั้งนี้จำเป็นต้องใช้ 1 รัฐมนตรี และ 2 รัฐมนตรีช่วย ในการขับเคลื่อนนโยบาย ก็ฝากกำลังใจไปยังกระทรวงฯ และข้าราชการประจำ ที่จะต้องมาแบกรับภาระตรงนี้ เพราะเป็นโครงการที่ใหญ่มาก และมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ประสบความสำเร็จ หรือคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างที่รัฐบาลคาดหวังไว้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top