Saturday, 18 May 2024
ศาล

'ศาลรวันดา' สั่งจำคุก ผู้จัดการเหมืองชาวจีน 20 ปี เหตุ เฆี่ยนตี-ทารุณ คนงานผิวดำ

กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต เมื่ออาเจ๊ก ผู้จัดการเหมืองชาวจีนวัย 43 ปี คนหนึ่งในรวันดาในสัปดาห์นี้ถูกพิพากษาถึงขั้นถูกลงโทษจำคุก 20 ปี ข้อหาทรมานหลังเขาถูกแอบถ่ายคลิปกำลังเฆี่ยนคนงานเหมืองผิวดำคนหนึ่งที่ถูกผูกอยู่กับเสา

เน็กซ์ชาร์ก (Nextshark) สื่อสหรัฐฯ รายงานวันศุกร์ (22 เม.ย.) ว่า ในวิดีโอคลิปความยาว 45 วินาที อ้างอิงจาก The China Africa Project ในการรายงานของหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ ที่กลายเป็นหลักฐานเล่นงาน ซุน ชูจุน (Sun Shujun) วัย 43 ปี ผู้จัดการเหมืองแห่งหนึ่งทางตะวันตกของรวันดา ถูกแอบถ่ายไว้เมื่อปีที่แล้วขณะที่เขากำลังดุด่าคนงานเหมืองผิวดำรายหนึ่งที่ถูกผูกไว้กับเสา และทำการเฆี่ยนตีด้วยเชือกอย่างหนักเพื่อลงโทษระหว่างที่มีคนงานเหมืองคนอื่นๆ ในเสื้อกั๊กสีส้มกำลังเฝ้ามอง

ทั้งนี้ พบว่าซุน ถูกตำรวจรวันดาจับกุมหลังจากที่คลิปเผยแพร่ไปทั่วเดือนกันยายนปีที่แล้ว และในภายหลังเขาถูกปล่อยตัวภายใต้วงประกัน

ซุน กล่าวว่า เขาจำเป็นต้องโบยคนงานเหมืองเหล่านี้เพราะรู้สึกเหนื่อยอ่อนใจที่พวกเขามักจะขโมยแร่ออกไปเสมอ ซึ่งเขาถูกผู้พิพากษาศาลรวันดา แจ็กเกอส์ เคนยารูคิกา (Jacques Kanyarukiga) ในวันอังคาร พิพากษาว่า ผู้จัดการเหมืองชาวจีนทรมานเหยื่อคนงานเหมืองผิวดำ และออกคำสั่งลงโทษทางร่างกายด้วยเจตนาร้าย และนี่ถือเป็นคดีอุกฉกรรจ์ทางอาญา

ซึ่งขณะที่อัยการกล่าวหาซุน ทำร้ายคนอื่นอีก 4 คน แต่เขากลับยอมรับว่าทำร้ายคนงานเหมือง 2 คนเท่านั้น พร้อมกับให้เหตุผลอ้างว่า คนเหล่านี้ขโมยแร่ในเหมืองออกไปซ้ำหลายครั้ง

พยานขึ้นให้การในศาลว่า คนงานเหมืองต้องสงสัยถูกผูกไว้และโดนโบยตี

อัยการสั่งไม่ฟ้อง 'เพนกวิน'​ คดีโพสต์หมิ่นศาล เหตุ หลักฐานไม่เพียงพอจะเอาผิดได้

25 พ.ค.2565 -​ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมาได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีอย่างเด็ดขาดของพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ในคดีของ “เพนกวิน” หรือนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ถูกกล่าวหาในข้อหา ดูหมิ่นศาล กรณีโพสต์วิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยอัยการวินิจฉัยว่าคดีพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอยืนยันได้ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้โพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหา

คดีนี้มี นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มอบอำนาจให้ ส.ต.ท.มนตรี แดงศรี มาเป็นผู้กล่าวหาพริษฐ์ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 “ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือการกระทำการขัดขวางพิจารณาหรือพิพากษาของศาล” จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กเพจมีข้อความวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ 2 ข้อความ ในช่วงวันที่ 2 ธ.ค. 2563 หลังจากศาลมีคำวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกรัฐมนตรี จากกรณีพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไปแล้ว

‘นพ.รุ่งเรือง’ ขึ้นศาล จ.นนทบุรี เอาผิดคนป่วน กระทรวงสาธารณสุข ทำลายอนุสาวรีย์ สมเด็จย่า

เพจเฟซบุ๊ก โฆษกกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์ ข้อความเกี่ยวกับที่  นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง ได้ไปขึ้นศาลจังหวัดนนทบุรี เพื่อเอาผิดกับคนที่มาป่วนกระทรวงสาธารณสุข และทำลายอนุสาวรีย์ สมเด็จย่า โดยมีใจความว่า ...

ไม่มีใครอยากจะขึ้นศาลหรือเป็นคดีความ 

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11) ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ เปิดเผยว่า เช้าวันนี้ (15 มิถุนายน 2566) หมอมาขึ้นศาลจังหวัดนนทบุรี ในคดีที่มีกลุ่มคนมาทำลายพระบรมรูปอนุสาวรีย์ สมเด็จพระราชบิดา สมเด็จย่า กรมหลวงชัยนาทนเรนทร ด้วยการสาดสีแดง เอาเชือกดึงอนุสาวรีย์ท่านให้พังลงมา  และท่านเป็นศูนย์รวมดวงใจของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกคน นอกจากนี้กลุ่มบุคคลดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน และมีแกนนำ รวมถึงกลุ่มคนที่จัดตั้งขึ้นได้มาประท้วงทำลายข้าวของ ทำลายสถานที่กระทรวงสาธารณสุข ด้วยการสาดสีแดง

ในวันนั้น หมอออกไปรับม็อบพยายามเจรจาด้วยสันติวิธีแต่ไม่เป็นผล กลุ่มบุคคลดังกล่าวทั้งด่ากระทรวงสาธารณสุข ด่าผู้บริหารระดับสูง โจมตีด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หลอกลวงพี่น้องประชาชนให้หลงเชื่อ รวมถึงใช้คำหยาบคาย ด่าบิดามารดาของหมอ ด้วยคำหยาบคายมากๆ เช่น อวัยวะเพศ ซึ่งคดีดังกล่าว หมอได้ติดตามทำงานร่วมกับตำรวจ จนสามารถจับกุมคนร้ายได้ทั้งหมด และส่งฟ้องศาล เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีแก่เยาวชน และพี่น้องประชาชน 

ในตอนนี้ สามารถบังคับใช้กฎหมายจนผู้กระทำผิดถูกลงโทษ (น่าจะถึงขั้น “จำคุก”) แม้ว่าจะเหนื่อยมากๆ นับตั้งแต่วันที่เริ่มรวบรวมพยานหลักฐาน ตามจับกุมผู้ต้องหา จนถึงส่งฟ้องศาล แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรปล่อยให้คนผิดลอยนวล ต่อไปจะเป็นเยี่ยงอย่าง แล้วสังคมจะอยู่ได้อย่างไรหมอขอขอบคุณ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มารักษาความปลอดภัยให้กับทางกระทรวงสาธารณสุข จนถูกทำร้ายร่างกายไปด้วย จนถึงการทำงานอย่างจริงจังของตำรวจ การรวบรวมพยานหลักฐาน และจับตัวผู้กระทำผิดส่งฟ้องศาลจนศาลลงโทษผู้กระทำผิด

แต่สำหรับหมอแล้ว การปราบคนพาล อภิบาลคนดี ดูแลส่งเสริมคนดี และอย่าให้คนชั่ว คนพาล มีอำนาจหรือลอยนวลจากการกระทำความผิดเป็นเรื่องที่ระลึกและต่อสู้มาโดยตลอดชีวิตข้าราชการตั้งแต่เป็นตำรวจจนมาเป็นหมอในปัจจุบัน ครับ

หมออยากฝากถึงทุกๆ ท่าน ตามพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่หมอยึดมั่นปฏิบัติเสมอมา พระองค์ทรงพระราชทานไว้ว่า 

“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...”

รู้จัก ‘บุ้ง เนติพร’ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ‘กลุ่มทะลุวัง’ เติบโตในครอบครัวของนักกฎหมาย แต่สุดท้ายต้องเข้าไปอยู่ใน ‘คุก’

‘บุ้ง เนติพร’ นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง  สมาชิกกลุ่มทะลุวัง วัย 27 ปี ผู้ที่ทำหน้าที่เป็น “ผู้ปกครอง” ของหยก เริ่มเป็นที่รู้จักของสังคมเมื่อตอนที่ได้ทำ 
“โพลสติกเกอร์สำรวจความคิดเห็น” เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมักจะหยิบยกคำถามที่ไม่เหมาะสม ไม่บังควรเช่น คำถามเกี่ยวกับขบวนเสด็จ หรือคำถามเกี่ยวกับงบประมาณสถาบันฯ มาเป็นตั้งโพลสอบถามในที่สาธารณะ โดยเคยทำโพลถามว่า "ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่?" และไปส่งโพลไปที่วังสระปทุมเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565

ในวัยเด็กนั้น บุ้งเติบโตขึ้นมาในครอบครัวของนักกฎหมาย มีพ่อเป็นผู้พิพากษา พี่สาวเป็นทนายความ มี “ศาล” เป็นสนามเด็กเล่น ตัวบุ้งเอง ก่อนหน้านี้ก็เคยถูกคาดหวังว่าให้เรียนกฎหมายเหมือนกับพ่อและพี่สาว เพื่อจะได้เข้าไปนั่งทำงานในศาล แต่ภาพฝันของทางครอบครัวคงจะไม่มีวันเป็นความจริง เพราะปัจจุบันเขาเลือกเส้นทางชีวิตที่ตรงกันข้าม
เขาเลือกที่จะเป็นแกนนำของกลุ่มทะลุวัง และเคลื่อนไหวเพื่อทำลายสถาบันอันเป็นที่รักยิ่งของคนไทยทั้งชาติ   

บุ้ง ถูกตั้งข้อหาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และได้เข้ารายงานตัวที่ สน.ปทุมวันเมื่อ 10 มีนาคม 2565 ศาลได้มีคำสั่งให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์รายละ 200,000 บาท พร้อมคำสั่งติดกำไล EM ศาลยังกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวคือ
1) ห้ามทำกิจกรรมหรือการกระทำใดที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
2) ห้ามโพสต์เชิญชวน ปลุกปั่น ยั่วยุ ชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง
3) ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล

แต่บุ้งก็ยังไม่หยุดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ต่อมาศาลจึงมีคำสั่งให้ ควบคุมตัว บุ้ง 
ไปที่เรือนจำทัณฑสถานหญิงกลาง ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา รวมระยะเวลาที่บุ้งต้องใช้ชีวิตในสถานที่แห่งนั้นเป็นเวลาทั้งสิ้น 94 วัน

‘หมอวรงค์’ ชนะคดีที่ ‘พิธา’ ฟ้อง โดยถือว่า วิจารณ์โดยสุจริต  และทำหน้าที่ ฐานะประชาชน ในการปกป้องสถาบันฯ

นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับเรื่องที่ศาลได้ยกฟ้องในวันนี้ (28 มิ.ย.) โดยระบุว่า ...

ศาลยกฟ้อง
คดีที่พรรคก้าวไกลโดยนายพิธาฟ้องผม ที่กล่าวหาสนับสนุนการล้มล้างฯ พร้อมเรียกค่าเสียหาย 24,062,475 บาท
ศาลยกฟ้องครับ ถือว่าวิจารณ์โดยสุจริต และทำหน้าที่ในฐานะประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ในการปกป้องสถาบันฯ

‘อดีตตุลาการศาล รธน.’ ชี้ ศาลฯ ไม่มีโอกาสชี้แจงผ่านออนไลน์ ทำได้แค่เขียนคำวินิจฉัยให้กระจ่าง วอนสื่อช่วยเชื่อมความเข้าใจ

(25 ก.ค. 66) ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จัดโครงการศาลรัฐธรรมนูญพบสื่อมวลชน ประจำปี 2566 โดยมีนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานเปิดโครงการ โดยมีสื่อมวลชวนจำนวน 25 สำนักข่าวเข้าร่วม

โดยนายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของสื่อมวลชนในการส่งเสริมประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม” ว่า ศาลรัฐธรรมนูญและทุกศาลไม่มีโอกาสพูดแก้ตัวต่อสังคมผ่านช่องทางสื่อของศาล และศาลไม่มีไอโอ งานในฝ่ายตุลาการท่านได้สร้างประเพณีไว้ว่าอยากจะพูดอะไรกับประชาชนก็เขียนลงในคำวินิจฉัยให้กระจ่างให้หมด แล้วไม่ต้องไปโต้แย้งโต้เถียงหรือแก้ตัวอย่างใด ๆ กับประชาชน ขอให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องตั้งใจนำเอาร่างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปวิเคราะห์แล้วจะวิพากษ์วิจารณ์ หรือเสนอแนะโดยถูกต้องสุจริต เป็นธรรมนั้นก็จะเป็นประโยชน์แก่ศาลรัฐธรรมนูญเราเอง เพราะเสียงติติงของผู้มีใจเป็นธรรมในสังคม เหมือนผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์ให้กับศาลเราได้พัฒนาปรับปรุง เพราะไม่มีอะไรในโลกทางวัตถุนี้จะสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือทำอะไรถูกหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ มันก็ต้องมีขาดมีเกิน แต่ขอให้ทำโดยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ตรงไปตรงมา ไม่เบียดเบียน ไม่หลงเชื่อไปตามพยานหลักฐานเท็จ ใช้กฎหมายให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรม

นายจรัญ กล่าวอีกว่า ถ้าเราสามารถพัฒนาระบบงานกฎหมาย ยุติธรรมของประเทศเราให้มั่นคงบนหลักการนี้ได้ก็จะช่วยให้ระบอบการปกครอง ระบบการเมือง ระบบกฎหมายงานยุติธรรม ระบบเศรษฐกิจ ระบบคิดและวิถีของประชาชนจะมีคุณภาพมาตรฐานดีขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้พัฒนาการของศาลรัฐธรรมนูญ และศาลอื่นๆคือเสียงสะท้อนที่ทรงคุณประโยชน์ที่ใช้สติปัญญาความรู้ที่เป็นธรรม และวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ให้เราได้มีโอกาสรับไปปรับพัฒนา ซึ่งความจริงแล้วศาลท่านแทบไม่ได้พูดสื่อสารหลักเกณฑ์พื้นฐานให้ประชาชนได้เข้าใจ ตั้งแต่ก่อนที่คดีจะเข้าสู่ศาล ซึ่งข้อขัดแย้งในสังคมความจริงก็สับสนวุ่นวายอยู่ในโลกเสรี หรือโลกไซเบอร์มาอย่างชุลมุนสับสน อย่างศาลแทบจะไม่มีโอกาสได้เข้าไปร่วมแสดงหลักการอะไรได้เลย เพราะถ้าศาลพูดก่อนที่คดีจะมาศาลนั่นศาลก็จะไม่มีใจที่จะพิจารณาคดีนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายตุลาการต้องระมัดระวังไม่ล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่นั้น

ในระหว่างที่คดีเข้ามายังศาลก็ไม่สามารถไปบอกอะไร ๆ ให้ประชาชนรับรู้ในเชิงลึกในเนื้อหาของคดีได้ แล้วกระแสกดดันในสังคม ในคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครองอาจจะไม่รุนแรงเท่าคดีที่มาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเดิมพัน หรือผลของการแพ้ชนะกันที่ศาลรัฐธรรมนูญมันมหาศาล กระทบคนเป็นล้านเป็นสิบล้าน กระทบสถาบันหลักของชาติ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่แรงกดดันของฟากฝ่ายต่าง ๆ ของสังคมก็จะอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไปในทิศทางที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตน พอแพ้ไม่ได้ก็จะเป็นสถานะยากลำบากของศาล วันนี้เราตั้งประเด็นว่าแล้วสื่อมวลชนมีเสรีภาพที่ยิ่งใหญ่ และถือเป็นเสาหลักเสาหนึ่งของการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตย เป็นปากเป็นเสียงของประชาชน เป็นเวทีเปิดกว้างให้คนที่ไม่มีพื้นที่เป็นของตัวเองสามารถสะท้อนคิดความเห็น ข้อมูล ออกไปสู่การรับรู้ของประชาชนอย่างมาก ดังนั้นถือเป็นวิชาชีพที่สูงมาก มีมาตรฐาน อุดมการณ์และจริยธรรม ที่ไม่ได้ต่ำต้อยน้อยหน้าไปกว่าอาชีพ อื่น นายจรัญ กล่าว

นายจรัญ กล่าวว่า วันนี้เราใช้ระบบการเมืองแบบรัฐสภา เราเลือกที่จะไม่ใช้ระบบแบบประธานาธิบดี และส่วนใหญ่เราก็เลือกใช้ระบบ 2 สภา ระบบกฎหมายก็สำคัญสำหรับสื่อมวลชนที่จะใช้เสรีภาพ เพราะถ้าเราใช้เสรีภาพล่วงละเมิดกฎหมายบ้านเมืองจะมีปัญหา แล้วเราจะไปโทษว่าคนที่มากล่าวหา ดำเนินคดีกับเราเป็นการกลั่นแกล้ง นั่นมันก็ไม่กระจ่าง ฉะนั้นเราก็ต้องมีกรอบมาในระบบกฎหมายและระบบงานยุติธรรม

อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนถือเป็นกลไกลสำคัญในระบอบการปกครอง ระบบการเมือง ระบบกฎหมาย เศรษฐกิจของประเทศเราที่จะช่วยให้วิถีชีวิตของประชาชนค่อยๆพัฒนาขึ้น แต่ต้องระวังอย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า อย่าใจเร็วด่วนได้ว่าต้องดีขึ้นวันนี้พรุ่งนี้เลย ไม่เช่นนั้นแตกหัก ถ้าสื่อใดพลาดไปอย่างนั้นตนว่าน่าห่วง อีกทั้งตัวร้ายที่เรามองข้ามไป  มหาอำนาจจากโลกเสรี ประชาธิปไตย ทุนนิยมสุดโต่งทรงพลังครอบงำการปกครองระบบการเมืองของเรา ระบบกฎหมาย ระบบงานยุติธรรมของเรา มีอย่างที่ไหนศาลกำลังพิจารณาพิพากษาคดีสำคัญอยู่แต่ส่งตัวแทนต่างชาติเข้ามา แม้จะบอกว่าเข้ามาเพื่อประดับรู้ แต่ผลกระทบมันคือการกดดันผู้พิพากษาที่ทำภารกิจนั้นอยู่ เว้นแต่ท่านจะมั่นคง ตรงไปตรงมาจริงๆไม่หวั่นไหว แต่แรงกดดันแบบนี้เป็นไปได้ และเคยเป็นไปแล้วให้เราได้เห็น ไม่มีประเทศไหนเขายอมอย่าว่าแต่ผู้แทนต่างชาติเลยแม้แต่คนในประเทศพอคดีสำคัญเข้าสู่ศาลต้องหยุดกดดัน เพราะเราก็ไม่มั่นว่าผู้พิพากษาท่านจะหวั่นไหวหรือไม่ ถ้าท่านหวั่นไหวก็ทำงานง่ายตัดสินตามกระแสกดดัน แบบนี้แล้วฝ่ายตรงข้ามที่ไม่มีกระแสหนุนหลังเขาจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่

หลักการพื้นฐานเมื่อคดีเข้าสู่ศาลต้องสกัดการกดดันศาลทุกรูปแบบเพื่อหวังว่าเราจะได้คุณภาพของคำวินิจฉัย หรือถ้ากลัวว่าไม่กดดันเราจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่นั้นต้องบอกว่าถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมเราต้องจัดการ ซึ่งมันมีช่องทางมากมาย มีตัวอย่างคนในแวดวงตุลาการที่ดูแลองค์กรนี้อยู่ท่านไม่ปล่อยให้เนื้อร้ายเจริญงอกงามแน่ มะเร็งร้ายจะต้องถูกกำจัดไปโดยกระบวนวิธีการของท่านที่ไม่ต้องการประฌานเชื้อโรคหรือเนื้อร้ายนั้น

“ผมไม่ได้อยู่กับคนไหนฝ่ายไหน ผมไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ทุนนิยม และผมก็ไม่เสรีสุดโต่ง แต่ผมก็ไม่อาจจะยอมรับการกดขี่ข่มเหงของผู้ทรงอำนาจในประเทศ ไม่ว่าจะรูปแบบไหน ทรงอำนาจอาวุธหรือเสียงข้างมาก เพราะในชีวิตผมเติบโตมาในแวดวงการตุลาการไทย เราเคารพเสียงข้างมาก ยอมรับมติให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก แต่เราขอให้เราที่เป็นเสียงข้างน้อยได้แสดงความคิดเห็น เหตุผลหลักวิชาของเราให้ปรากฏไว้ว่า ไม่ใช่เพราะผมเป็นตะบึงตะบอนเห็นแต่ความเห็นของตัวเอง ไม่เคารพความคิดเห็นของคนอื่น นี่คือวัฒนธรรมของการทำงานของฝ่ายตุลาการของประเทศเรา แต่มันก็ไม่ค่อยได้มีการเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ เพราะมันเกินกำลังของศาลที่จะเผยแพร่อะไรต่างๆที่เป็นเรื่องเฉพาะตัว นั่นจึงจะเป็นหน้าที่สื่อมวลชนที่จะได้เป็นตัวกลางเชื่อมสื่อสารให้ประชาชนรับรู้เข้าใจ ความโกธรแค้นต่างๆก็จะได้เบาบางลง” นายจรัญ กล่าว

นายจรัญ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนจะต้องเป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมระหว่างรัฐ กับประชาชน และประชาชนด้วยกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันสื่อจะต้องมีเสรีภาพเพื่อไม่ให้ตัวกลางหายไป ถ้าหายไปประชาชนก็จะถูกปลุกปั่นให้เป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล แล้วจะต้องเป็นตัวกลางระหว่างสองฝ่ายที่มักจะขัดแย้งกันเพื่อให้ไปสู่ศาลกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่ยุยงให้ลงถนนเพราะการลงถนนของประชาชนต้องเป็นเส้นทางสุดท้ายของสังคม เพราะฉะนั้นจะกลายเป็น Mob Rule  หรือกฎหมู่ เป็นภัยอันตรายมหาศาลของระบอบเสรีประชาธิปไตย ไม่ค่อยเป็นภัยต่อระบอบเผด็จการ ซึ่งประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เขาไม่กลัว Mob Rule อีกทั้ง Mob Rule เป็นตัวบ่อนทำลายหลักของหลักธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรมที่ทรงพลังที่สุด รวมถึงทำให้เกิดความสูญเสียในสังคม มีผู้วิจารณ์การเมืองบอกว่าถ้าเลือกตั้งใหม่จะเสียค่าอีก 5- 6 พันล้าน ซึ่งเป็นเรื่องเล็กมากถ้าเปรียบเทียบกับความล้มสลายทางเศรษฐกิจเป็นล้านล้าน ถ้าเกิด Mob Rule ซึ่งเสียหายทุกฝ่ายรวมทั้งม็อบเองก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเดินถนน จึงขอให้นั่นเป็นวิธีสุดท้ายที่หมดปัญญาแล้ว ไม่มีปัญญาจะแก้ปัญหาของประเทศชาติโดยวิธีสันติได้แล้ว

‘บิ๊กโจ๊ก’ แจง เป็นหน้าที่ ตม. คุมตัว ‘ทักษิณ’ ส่งศาลตามหมายจับ เผย ยังไร้ข่าวป่วนของกลุ่มการเมือง กำชับเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเข้ม

(27 ก.ค. 66) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. เปิดเผย ถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับไทยในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ ในฐานะอดีต ผบช สตม. ว่า สำหรับกรณีผู้ที่มีหมายจับและคดียังอยู่ในอายุความ ตามหลักการแล้วหมายจับจะแสดงในระบบฐานข้อมูลของด่านตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินอยู่แล้ว ซึ่งหมายความว่า เมื่อนายทักษิณเดินทางเข้ามาผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในสนามบิน ระบบจะปรากฏข้อมูลหมายจับของศาล ให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองหน้าด่านตรวจนั้นๆ ทราบทันที หน้าที่ของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองคือ จะต้องแจ้งให้บุคคลนั้นทราบ และควบคุมตัวต้องหาส่งให้กับศาลตามหมายจับ

ซึ่งขั้นตอนหลังจากนั้น ก็ขึ้นอยู่กับคำสั่งศาล ว่า มีคำสั่งดำเนินการอย่างไรต่อผู้ต้องหาขณะเดียวกัน ในกรณีเดินทางเข้าเมืองโดยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว แล้วลงจอดในสนามบินอื่น เช่น บน.6 ของกองทัพอากาศ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับสนามบินดอนเมือง ก็จะต้องผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมืองเช่นเดียวกับการทางเข้าเมืองผ่านสนามบินทั่วไป

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เปิดเผยต่อว่า ส่วนด้านการข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ ขณะนี้ยังไม่พบความเคลื่อนไหวของกลุ่มใดและยังไม่พบการข่าวที่น่ากังวล แต่เจ้าหน้าที่จะเฝ้าระวังไปจนถึงช่วงเวลาที่นายทักษิณจะเดินทางกลับ ตลอดจนช่วงเวลาหลังเดินทางกลับไทยแล้ว

‘น้ำ วารุณี’ ผู้ต้องหา ม.112 ประกาศ อดอาหารประท้วง ลั่น!! จะดื่มแค่น้ำนมเท่านั้น หลังถูกงดประกันตัว ขังยาว 55 วัน

(21 ส.ค. 66) ทวิตเตอร์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า น้ำ-วารุณี ผู้ต้องขังคดี ม.112 เริ่มอดอาหารประท้วงวันแรกเพื่อประท้วงศาลที่สั่งไม่ให้ประกันตัว เธอเริ่มงดทานอาหารตั้งแต่เวลาเที่ยงของวันนี้ (21 ส.ค.) และจะดื่มเฉพาะน้ำนมเท่านั้น

วารุณีเล่าว่า เธอทนไม่ไหวกับการที่ศาลสั่งไม่ให้ประกันเรื่อยมา โดยใช้เหตุผลเดิมๆ เธอรู้สึกเหมือนถูกกลั่นแกล้ง การแสดงออกด้วยวิธีนี้เป็นหนทางเดียวที่ทำได้ เพราะเธอบอกว่าไม่เหลืออะไรแล้ว ตอนนี้เหลือแค่เพียงร่างกายเท่านั้น

วารุณี ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2566 จากการที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี แต่ลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน เพราะรับสารภาพในคดี ม.112 กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพ ร.10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรง พระแก้วมรกต เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ Sirivannavari และใส่ภาพสุนัขด้วย

จนถึงปัจจุบันวารุณีถูกคุมขังมากว่า 55 วันแล้ว โดยศาลยังยืนยังไม่ให้ประกันตัว แม้จะยื่นประกันและอุทธรณ์คำสั่งไปแล้วอย่างน้อยถึง 5 ครั้ง ก็ตาม

'โฆษกศาลยุติธรรม' ชี้!! คดี ‘ช่อ พรรณิการ์’ อุทธรณ์ไม่ได้อีก ยัน!! ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยใดแล้ว ผลนั้นถือเป็นอันสิ้นสุด

(21 ก.ย.66) นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึง กรณีที่มีข่าวคดี น.ส.พรรณิการ์ วานิช หรือ ‘ช่อ’ อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาห้ามลงสมัคร สส.หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดไป แต่ไม่ตัดสิทธิ์ การใช้สิทธิ์เลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่า…

“เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไป โดยคดีที่กล่าวหาว่ากระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงเมื่อมีการฟ้องคดีต่อศาลฎีกา และศาลฎีกามีคำวินิจฉัยใดแล้ว ผลนั้นถือเป็นอันสิ้นสุดตามกฎหมาย จะยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกาไม่ได้อีก”

‘การละเมิดอำนาจศาล’ พฤติกรรมน่าละอายที่ไม่ควรกระทำ ‘วิวาท-โวยวาย-ดูหมิ่น-ฝ่าฝืนกฎ’ เสี่ยงนอนคุกนาน 6 เดือน

ประชาชนทั่วไป ถ้าไม่มีความจำเป็นจริง ๆ คงไม่มีใครอยากไปศาล ถึงขนาดมีคำกล่าวที่ว่า ‘ให้กินของไม่ดียังดีกว่าเป็นความหรือมีคดี’ อาจจะเพราะความเชื่อที่ว่า ไปศาลจะได้พบกับบรรยากาศที่น่ากลัว เข้มขลัง มีกฎระเบียบมากมาย หากไปเผลอทำผิดกฎต่าง ๆ ก็อาจจะมีความผิด

คำว่า ‘ศาล’ ในที่นี้มีความหมาย 2 อย่าง หมายถึงตัวผู้พิพากษา และยังหมายถึงสถานที่อันเป็นที่ตั้งของที่ทำการศาลยุติธรรม

การละเมิดอำนาจศาลนั้น หมายถึงการกระทำใด ๆ ที่ไปทำให้ เกิดความวุ่นวาย หรือความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ซึ่งอาจจะเกิดภายในบริเวณศาล หรือเกิดขึ้นภายนอกบริเวณศาล แต่ส่งผลให้เกิดความวุ่นวาย หรือความไม่เรียบร้อยต่อกระบวนการพิจารณาคดีของศาล

กฎหมายเรื่องการละเมิดอำนาจศาล มีขึ้นเพื่อให้การใช้อำนาจตุลาการ มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และรวดเร็ว

โดยมีการกำหนดไว้ว่าศาลอาจออกข้อกำหนดสำหรับคู่ความหรือบุคคลที่มาอยู่ต่อหน้าศาล หรือการละเมิดอำนาจศาลของหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ เช่น การสั่งห้ามโฆษณา ซึ่งข้อความที่เกี่ยวข้องกับคดี ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรม หากผู้ประพันธ์ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ฝ่าฝืนก็จะมีความผิด

บทลงโทษสำหรับข้อหาละเมิดอำนาจศาล มีทั้งการไล่ออกจากบริเวณศาล หรือลงโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรืออาจจะลงโทษทั้งสองวิธีการ 

อย่างไรก็ตามศาลอื่น ๆ เช่น ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลทหาร ต่างมีข้อกำหนดหรือกฎหมายในเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นการเฉพาะของแต่ละศาล แต่ก็มีหลักการคล้าย ๆ กันกับศาลยุติธรรม

ตัวอย่างของการกระทำที่ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล เช่น อ้างว่าจะเอาเงินไปให้ผู้พิพากษา, นำยาบ้าไปส่งมอบให้ผู้ต้องหาในศาล, ฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาล, พกพาอาวุธเข้าไปในบริเวณศาล, ทะเลาะวิวาทชกต่อยกันในห้องพิจารณาคดี, ลงข้อความในสิ่งพิมพ์เปรียบเปรยว่าผู้พิพากษาให้เลื่อนคดีโดยไม่เป็นธรรม, ปลอมลายมือชื่อมาขอประกันตัว ฯลฯ

เนื่องจากในบริเวณพื้นที่ศาลเป็นสถานที่ซึ่งประชาชนทั่วไปผู้มีอรรถคดีเดินทางมาเพื่อแสวงหาความยุติธรรมให้กับตนเอง ซึ่งถือเป็นสถานที่สำคัญ แม้เป็นสถานที่สาธารณะ แต่ก็ต้องมีกฎระเบียบ เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หากมีการประพฤติตน ในบริเวณศาล ซึ่งมีลักษณะไม่เรียบร้อย ตะโกนด่าทอด้วยเสียงดัง อันมีลักษณะเป็นการสร้างความวุ่นวาย และมีผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป ก็อาจถูกลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลได้ ตามที่กฎหมายกำหนด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top