Saturday, 22 June 2024
ศปปส

‘ศปปส.’ บุกยื่นหนังสือสอบพฤติกรรม ‘พระพยอม’ ชี้!! ทำประชาชนแตกแยก ส่ออาบัติสังฆาทิเสส

(29 ก.ค. 66) นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) พร้อมตัวแทนประมาณ 10 คน เดินทางมายังวัดบัวขวัญ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เพื่อนำหนังสือร้องเรียนถึงประพฤติกรรมในการเทศน์ของ ‘พระพยอม กัลยาโณ’ ที่ทางกลุ่มมองว่าไม่เหมาะสม เพราะมีการพูดพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์และการเมืองเข้าเกี่ยวข้อง จึงยื่นหนังสือให้กับ พระเทพวชิรนันทาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดบัวขวัญ ในฐานะเจ้าคณะสงฆ์จังหวัดนนทบุรี ตรวจสอบและลงโทษทางวินัยกับพระพยอมต่อไป

นายอานนท์ กล่าวว่า หลังจากก่อนหน้านี้ทางกลุ่มได้เดินทางไปยื่นเรื่องกับสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) มาแล้วอาทิตย์หนึ่งแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ วันนี้จึงรวมตัวกันเดินทางนำหนังสือร้องเรียนพฤติกรรมของพระพยอม กัลยาโณ มายื่นให้กับเจ้าคณะสงฆ์จังหวัดนนทบุรี ในฐานะผู้ปกครอง ดำเนินการสอบสวนในเรื่องนี้ต่อไป

นายอานนท์ กล่าวต่อว่า แต่ปรากฏว่าเมื่อทางกลุ่มมาถึง ทางเจ้าคณะจังหวัดนนทบุรีกลับไม่ออกมารับหนังสือ เดินหนีหายไปไหนก็ไม่รู้ หรือว่าท่านเห็นว่าเรื่องนี้ไม่มีความสำคัญ ทั้ง ๆ พระพยอมซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ไปพูดจาพาดพิงถึงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์และการเมือง ทำให้สังคมซึ่งเกิดความแตกแยกกันอยู่แล้ว แตกแยกกันหนักยิ่งขึ้นไปอีก

นายอานนท์ กล่าวอีกว่า ซึ่งมติมหาเถระสมาคมเมื่อวันที่ 2 ม.ค.2538 มีมติไม่ให้พระสงฆ์ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่พระพยอมกลับไปพูดถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในทำนองชื่นชมราวกับคนที่ฝักใฝ่ทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดและขัดกับคำสั่งของมหาเถระสมาคมเป็นอย่างมาก แต่ทางเจ้าคณะก็ไม่ออกมารับหนังสือจากทางกลุ่ม ทั้ง ๆ ที่ได้มีการประสานเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ทางกลุ่มมาแค่ยื่นหนังสือร้องเรียนไม่ได้มาคุกคาม

นายอานนท์ กล่าวว่า นอกจากนี้ พระพยอมยังไปพูดเห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมาย ม.112 ของพรรคก้าวไกลในทำนองที่เห็นด้วย ทั้ง ๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความออกมาแล้วว่าการไปปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ แล้วยิ่งพระพยอมซึ่งมีผู้คนนับถือเป็นจำนวนมากมาพูดชี้นำแบบนี้ก็ทำให้ผู้คนหลงเชื่อกันไปใหญ่ ยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกตามมาก

นายอานนท์ กล่าวด้วยว่า ซึ่งในกฎของสงฆ์มีข้อห้ามเอาไว้ว่า การทำให้สงฆ์แตกแยกถือเป็นอาบัติสังฆาทิเสส ดังนั้นการที่พระพยอมออกมาพูดแล้วทำให้คนในสังคมเกิดความแตกแยกแบบนี้ถือเป็นอาบัติสังฆาทิเสสหรือไม่ กลุ่มจึงเดินทางมายื่นหนังสือกับเจ้าคณะสงฆ์จังหวัดนนทบุรีเพื่อทำการตรวจสอบพระพยอมในเรื่องนี้

นายอานนท์ ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาพระพยอมเป็ยฝ่ายกองเชียร์คนเสื้อแดงมากว่า 10 ปีแล้ว แต่มาในวันนี้กลับกลายเป็นคนเสื้อส้ม ถึงขั้นเห็นด้วยกับกฎหมายที่พรรคก้าวไกลพยายามจะแก้ไข ม.112 จนถึงขั้นเอานายพิธาไปเปรียบเทียบกับอดีตพระมหากษัตริย์บางพระองค์ เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง แล้วหลังจากที่พระพยอมได้พูดชี้นำ พาดพิง จนกลายเป็นข่าวไปแล้วนั้น ตนยังไม่เห็นเลยว่าพระพยอมจะออกมาขอโทษกับทางสังคมเลย

นายอานนท์ กล่าวว่า มีแต่ไปพูดกับสื่ออีกว่า จะเลิกพูดเกี่ยวกับการเมืองหลังเข้าพรรษาไปแล้วแค่นั้น ตนและกลุ่มจึงเห็นว่าเรื่องนี้ทางเจ้าคณะสงฆ์จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นผู้ปกครองโดยตรงของพระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ควรดำเนินการตรวจสอบเพื่อลงโทษทางวินัยต่อไป แต่ทางเจ้าคณะจังหวัดไม่ออกมารับหนังสือ ทางกลุ่มก็จะเดินทางไปยื่นและติดตามเรื่องกับทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต่อไป

‘ชัยธวัช’ ไม่เห็นด้วย ‘ศปปส.’ ใช้ความรุนแรง หลังปะทะ ‘กลุ่มทะลุวัง’ ชี้!! เห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา แนะเจรจาเพื่อลดช่องว่าง ขจัดความขัดแย้ง

(11 ก.พ.67) นายชัยธวัช ตุลาธน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับกรณีเหตุปะทะกันระหว่าง ‘กลุ่มทะลุวัง’ และ ‘ศปปส.’ ที่บริเวณทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา เนื่องจาก ศปปส. ไม่เห็นที่กลุ่มทะลุวัง จัดทำโพล ‘ขบวนเสด็จฯ’ โดยระบุว่า…

จากกรณีที่หลายฝ่ายมีความเห็นในหลากหลายทิศทาง ต่อการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มกิจกรรมทะลุวัง ที่กำลังเป็นประเด็นขณะนี้ ผมมีความเห็นว่า อันดับแรก เราต้องหันกลับมาทบทวนหลักการสำคัญของสังคมประชาธิปไตย นั่นคือธรรมชาติของทุกสังคม ย่อมมีความเห็นแตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงเรื่องความเห็นต่อบ้านเมือง แต่ความเห็นที่แตกต่างกันเหล่านั้น ต้องไม่ถูกจัดการด้วยการใช้กำลัง การล่าแม่มด หรือการผลักไสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกไป ซึ่งจะยิ่งเพิ่มช่องว่างระหว่างผู้มีความคิดความเชื่อต่างกันให้มากขึ้น แต่ต้องใช้กระบวนการทางประชาธิปไตย เพื่อลดช่องว่างทางความเข้าใจโดยไม่ใช้ความรุนแรง

ในกรณีกลุ่มทะลุวัง ผมเข้าใจดีถึงความคับข้องใจที่พวกเขาแสดงออก แต่ขณะเดียวกัน ผมเชื่อว่าพวกเราทราบดี ว่าเนื้อหาสาระกับวิธีการแสดงออก เป็นสองสิ่งที่สำคัญควบคู่กัน การเลือกวิธีแสดงออกแบบใดแบบหนึ่ง ย่อมมีทั้งฝ่ายที่พอใจ/ไม่พอใจ เข้าใจ/ไม่เข้าใจ จึงพึงพิจารณาว่าการแสดงออกทางการเมืองเช่นนั้น สามารถถ่ายทอดความรู้สึกและเหตุผลภายในใจไปยังประชาชนกลุ่มอื่นในสังคม ให้รับรู้และเข้าใจเหตุผลที่แท้จริงของผู้แสดงออกได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าวิธีการที่แต่ละคนแต่ละฝ่ายเลือกใช้คืออะไร เส้นที่เรา ‘ต้อง’ ไม่ข้ามไป คือการใช้ความรุนแรงตอบโต้ หรือเจตนาทำลายล้างคนที่คิดไม่เหมือนตนให้หมดไปจากสังคม การกระทำของกลุ่ม ศปปส. ที่สยามพารากอนในวันนี้ จึงเป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ผมเห็นว่าสังคมไทยทุกฝ่ายต้องเรียนรู้จากความรุนแรงทางการเมืองในอดีต การปลุกระดมสร้างความเกลียดชังจนนำมาสู่การใช้ความรุนแรง ไม่อาจคลี่คลายความขัดแย้งได้อย่างยั่งยืน มีแต่จะยิ่งเพิ่มช่องว่างระหว่างผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกันในสังคม ให้ยากจะหันหน้ามาคุยกันได้ เวลานี้เป็นเวลาที่ต้องใช้เหตุผล ไม่ใช่อารมณ์ การมีกระบวนการที่โอบรับทุกฝ่ายให้หันหน้าเข้าหากัน เพื่อพูดคุยและพร้อมรับฟังกันและกันอย่างเปิดใจ คือหนทางเดียวที่จะพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้งนี้

ผมเชื่อว่าเรายังพอมีความหวัง สัญญาณของการพาสังคมออกจากความขัดแย้งยังไม่หมดไปเสียทีเดียว เพราะในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างน้อยผมเห็นความพยายามจากหลายฝ่ายในการพูดถึงกระบวนการที่จะนำไปสู่การนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในหนทางเพียงไม่กี่อย่าง ที่จะสร้างพื้นที่ให้เราหันหน้ามาคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ รับฟังกันอย่างมีเหตุผลและอย่างจริงใจ ผมเชื่อว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นการ ‘เจาะหนอง’ ระบายความขัดแย้งทางการเมืองที่เรื้อรัง ให้ทุกฝ่ายเย็นลงมากพอที่จะมานั่งคุยกัน หาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองที่สะสมมายาวนาน

ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ ที่ลานประชาชนรัฐสภา เครือข่าย #นิรโทษกรรมประชาชน จะมีการจัดพื้นที่พูดคุยเพื่อนำไปสู่การลดความขัดแย้งของสังคม ผมจะเข้าร่วมกิจกรรมด้วย จึงอยากเชิญชวนให้ทุกฝ่ายลองเริ่มต้นมาพูดคุย เปิดใจรับฟังเสียงของกันและกันครับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top