Sunday, 19 May 2024
ศบค.ส่วนหน้า

ค้านตั้ง ศบค.ส่วนหน้า 'วิโรจน์' ชี้ โควิดชายแดนใต้ จะคลี่คลายได้ต้องอาศัยความไว้วางใจ ไม่ใช่ความมั่นคง 

ต่อกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  มีคำสั่งจัดตั้ง ศบค.ส่วนหน้า เพื่อเข้าไปจัดการสถานการณ์โควิด-19 ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบไปด้วยจังหวัด นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยระบุว่า จากการหารือกับคณะทำงานของพรรคก้าวไกลในพื้นที่ ทำให้รับทราบว่าอุปสรรคสำคัญในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ขณะนี้ หลักๆ มีอยู่ 2 ปัจจัยด้วยกัน

ปัจจัยแรก คือ การที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ยินยอมฉีดวัคซีน ซึ่งในประเด็นนี้ รัฐบาลไม่ควรมองปัญหาอย่างผิวเผิน และด่วนสรุปว่าประชาชนในพื้นที่ไม่ให้ความร่วมมือ หากรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ กล้าที่จะถามตัวเองว่า “เหตุใดประชาชนถึงไม่ให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีน” ก็จะหาคำตอบได้ไม่ยาก นั่นก็คือ “ประชาชนไม่มีความไว้วางใจในรัฐบาล จากกรณีข่าวการซ้อมทรมาน และการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน ที่ปรากฎตามหน้าสื่ออยู่เป็นระยะๆ” พอประชาชนไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก็เป็นการยากมากๆ ที่ประชาชนจะเต็มใจปฏิบัติตามคำแนะนำจากรัฐบาลในการควบคุมการระบาดของโรค ยิ่งการฉีดวัคซีน เป็นการนำเอาสารชีววัตถุที่เป็นของใหม่ ที่การเข้าถึงข้อมูลยังคงอยู่ในระดับที่จำกัด ยิ่งทำให้ประชาชนที่ไม่ไว้วางใจรัฐบาลอยู่เป็นทุนเดิม มีความระแวงที่จะฉีด ปัญหานี้จะแก้ด้วยการใช้อำนาจบังคับแบบตรงๆ ไม่ได้ ต้องอาศัยความเข้าใจผ่านผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และบุคคลที่ประชาชนในพื้นที่ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นกลไกในการรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่มาเข้ารับการฉีดวัคซีน

"การจัดตั้ง ศบค.ส่วนหน้า แล้วใช้อำนาจบังคับแบบทันทีทันใด เป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น สมมติหากมีการใช้อำนาจบังคับ หรือกึ่งบังคับ ให้ประชาชนในพื้นที่ฉีดวัคซีน จริงอยู่ที่ในระยะสั้นอาจจะบังคับเกณฑ์ประชาชนมาฉีดวัคซีนได้เป็นจำนวนมากได้ แต่ต้องยอมรับว่าการฉีดวัคซีนนั้น แม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่ไม่มากนัก แต่ก็ถือว่ามีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่เมื่อเทียบกับประโยชน์ในการปกป้องชีวิตของทั้งตัวเอง และคนในครอบครัวจากโรคระบาด ก็ยังถือว่าการฉีดวัคซีนนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็น และมีความคุ้มค่าที่จะฉีด ถ้าหากประชาชนที่ถูกเกณฑ์มาฉีดไม่เข้าใจในประเด็นนี้ และเมื่อมีประชาชนจำนวนหนึ่งได้รับผลข้างเคียง หรือมีอาการไม่พึงประสงค์หลังจากที่ฉีดวัคซีน ความไม่เข้าใจที่ถูกรัฐบังคับ ก็จะกลายเป็นความโกรธแค้น และจะทำให้ความขัดแย้ง และความไม่ไว้วางใจในรัฐบาลชองประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ขยายตัวเพิ่มขึ้น"

วิโรจน์ ระบุต่อไปว่า แทนที่รัฐบาลจะจัดตั้ง ศบค.ส่วนหน้า ขึ้นมาใช้อำนาจซ้ำซ้อน รัฐบาลควรใช้กลไกของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่า โดยมีการสนับสนุนทางด้านงบประมาณ และกำลังคนให้แก่ ศอ.บต. อย่างเต็มที่

ปัจจัยที่สอง ที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแตนภาคใต้ ก็คือ ความพร้อมทางด้านทรัพยากรบุคคล ยาและเวชภัณฑ์ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ ศูนย์ดูแลผู้ป่วยและกักกันโรคประจำชุมชน (Community Isolation Center)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top