Friday, 3 May 2024
วีรพงษ์_รามางกูร

ย้อนคำเตือนจาก 'ดร.โกร่ง-ผู้ล่วงลับ' พท. คิดให้ดี ก่อนจะ 'ปลุกผีจำนำข้าว'

คำเตือนจาก 'ดร.โกร่ง-อดีตนักเศรษฐศาสตร์-อดีตรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ' โครงการรับจำนำข้าวเปิดช่องคอร์รัปชัน ทำลายโครงสร้างตลาด ระบุรัฐบาลเสียเงินมากมาย แต่ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ไม่ได้อะไรเลย ชูประกันรายได้-จ่ายส่วนต่างส่งตรงไปยังเกษตรกร ถ้าชาวนา ผู้ใหญ่บ้าน กำนันจะโกง ก็ยังดีกว่าโรงสี ผู้ส่งออก รัฐมนตรีโกง

9 พ.ย. 64 - จากกรณีราคาข้าวตกต่ำ ส่งผลกระทบอย่างสูงต่อเกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าว ทำให้ฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย เตรียมที่จะฟื้นโครงการรับจำนำข้าวที่เคยทำไว้ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น

ล่าสุดสังคมเริ่มมีความกังวลว่าหากมีการฟื้นโครงการรับจำนำข้าวจะเกิดการคอร์รัปชันครั้งใหญ่อีกรอบ ขณะที่โซเชียลมีการแชร์ต่อบทความเรื่อง "จำนำข้าวเปิดช่องทางทุจริต ทำลายโครงสร้างตลาด" เตือนไปยังพรรคเพื่อไทย

บทความนี้เขียนโดย นายวีรพงษ์ รามางกูร หรือ "ดร.โกร่ง" นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปัจจุบัน ดร.โกร่ง ได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา

สำหรับบทความดังกล่าวตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555 โดยมีเนื้อหาดังนี้

นโยบายและมาตรการอันหนึ่งที่น่าห่วงเพราะใช้เงินเป็นจำนวนมากมีปัญหาทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติ โครงการที่ว่านี้คือโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด กุ้ง ฯลฯ

ฟังดูว่าจะใช้เงิน 4 แสนล้านบาท มาหมุนเวียนซื้อสินค้าเกษตรเหล่านี้ นโยบายรับจำนำสินค้าเกษตรนี้เป็นนโยบายที่ล้มเหลวที่สุดตั้งแต่ทำกันมา ตั้งแต่ปี 2529 สูญเสียเงินละลายน้ำไปมากมาย โดยผลประโยชน์ไม่ได้ตกถึงมือเกษตรกรอย่างที่คิด ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับโรงสีผู้ส่งออก ลานตากมัน รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องพรรคพวกของนักการเมือง จึงไม่มีใครยอมเลิกโครงการนี้

เริ่มต้นชื่อก็ผิดแล้ว การรับจำนำนี้ปกติผู้รับจำนำต้องรับจำนำในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโดยคาดว่าผู้จำนำจะมาไถ่คืน แต่การรับจำนำสูงกว่าราคาตลาดก็ไม่น่าจะเรียกว่าการรับจำนำเพราะไม่มีใครมาไถ่คืนในราคาจำนำที่สูงแล้วเอาไปขายในราคาที่ต่ำในตลาด การตั้งซื้อว่าโครงการรับจำนำจึงเป็นการตั้งชื่อหลอกลวงประชาชนเท่านั้นเอง

ในทางทฤษฎี สินค้าเกษตรที่ส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศทุกตัว เราเป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลกของสินค้านั้น ๆ ตลาดภายในของเรากับตลาดโลกเป็นตลาดเดียวกัน เชื่อมโยงถึงกันอย่างใกล้ชิด เพราะเราไม่มีโควตาการส่งออก ไม่มีภาษีขาออก

สินค้าเกษตรทุกตัว ยกเว้น ยางพารากับมันสำปะหลัง เช่น ข้าว จีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในโลก รองลงมา คือ อินเดีย และอินโดนีเซีย ตามลำดับ ในกรณีข้าวโพด อเมริกาเป็นผู้ผลิตมากที่สุด

ข้าวที่ขายหมุนเวียนในตลาดโลกจึงมีสัดส่วนไม่มาก มันสำปะหลังก็เหมือนกัน ผู้ผลิตรายใหญ่ คือ อินโดนีเชีย ในกรณียางพารา แม้ว่าประเทศเราจะยังเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด แต่ก็ยังมีอินโดนีเซีย มาเลเชีย ศรีลังกา จีน และประเทศอื่น ๆ อีกมากมายผลิตด้วย

นอกจากนั้น สินค้าเกษตรทุกตัวยังมีของทดแทนกันได้เป็นคู่แข่ง เช่น ข้าว ก็มีข้าวสาลี ข้าวโพด และธัญพืชอื่น ๆ เป็นคู่แข่ง เพราะถ้าข้าวราคาแพงผู้บริโภคในจีน อินเดีย และที่อื่นก็หันไปบริโภคหม่านโถว จาปาตี บะหมี่ แทนข้าวได้ ยางพาราที่ใช้ผลิตยางรถยนต์ก็มียางเทียมที่ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียมเป็นคู่แข่ง มันสำปะหลังก็มีพืชจำพวกแป้งอื่น ๆ เป็นคู่แข่ง

ด้วยเหตุนี้สินค้าเกษตรทุกตัว ราคาจึงถูกกำหนดโดยตลาดโลก รวมทั้งมันสำปะหลังซึ่งเราเป็นผู้ส่งออกสำคัญเพียงรายเดียวของโลก เราจึงเป็น "ผู้รับราคา" หรือ "price taker" ไม่ใช่ผู้กำหนดราคา หรือ "price maker"

นอกจากนั้นสินค้าเกษตรทุกตัวมีปริมาณออกสู่ตลาดโลกตลอดเวลา การกักตุนเพื่อเก็งกำไรไม่สามารถทำได้ หรือการกักตุนของเราก็ไม่ทำให้ราคาตลาดโลกเปลี่ยนแปลงเพราะจะมีผู้ผลิตรายอื่นเสนอขายในตลาดโลกแทนเราและถ้าเราเก็บไว้นาน 3-4 เดือน ก็จะมีผลผลิตใหม่ออกมาแทนที่ พอเราจะขายราคาก็จะตกทันที การกักตุน จึงมีแต่ขาดทุน นอกจากมีไว้เพื่อค้าขายปกติ

ด้วยเหตุนี้ โครงการมูลภัณฑ์กันชน ระหว่างประเทศ หรือ "International Buffer Stocks" ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมูลภัณฑ์กันชนดีบุก หรือแนวคิดเรื่องมูลภัณฑ์กันชนสินค้าประเภทอาหาร โดยข้อเสนอขององค์การการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNCTAD ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงประสบความล้มเหลว ใครเก็บกักข้าวไว้ก็เท่ากับช่วยให้คู่แข่งขายได้ก่อน ราคาอาจจะดีกว่าตอนที่เราขายทีหลัง เพราะถ้ามีใครกักเก็บ ผู้ซื้อผู้ขายก็รู้ว่ายังมีข้าวรอขายอยู่ก็จะไม่ยอมซื้อในราคาแพง

ฟังว่าจะใช้เงิน 4-5 แสนล้านบาท หมุนเวียนซื้อสินค้าเกษตรมากักตุน ก็เท่ากับคิดจะปั่นราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก หรือที่ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่าจะ "corner the market" ตลาดโลกข้าวมันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด จึงเป็นไปไม่ได้ คนเคยทำแล้วล้มละลายก็มีมาก ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ ที่ล้มก็สืบเนื่องมาจากการพยายามปั่นตลาด หรือจะ corner ตลาดใบยาสูบ ดังนั้น เมื่อผลิตได้เท่าไร รีบส่งออกได้มากเท่าไรยิ่งดี แล้วก็ปลูกใหม่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top