Friday, 10 May 2024
วิสาหกิจชุมชน

เลขาธิการ ศอ.บต. นำทีมเยือนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า ต.บาตง อ.รือเสาะ

พร้อมการันตีคุณภาพ 'นุ่ม รสชาติดี ศรีบาตง' เตรียมผลักดันให้ชุมชนปลูกกาแฟในสวนผสมผสานมากยิ่งขึ้น ให้เป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นชายแดนใต้ นำไปสู่ห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน    

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วย นางสาวเกษร บุญถนอม ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่แปลงสวนยางพารา หมู่ที่ 5 ตำบลบาตง อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเยี่ยมนางซารีฮะ สะมาวี เกษตรกรต้นแบบในการคิดค้นการปลูกต้นกาแฟโรบัสต้าในพื้นที่บ้านบาตง พร้อมชมต้นกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าที่เน้นการปลูกกาแฟในสวนผสมผสานกับการปลูกยางพาราใช้พื้นที่ในการปลูกปะมาณ 7 ไร่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้พัฒนาสายพันธุ์กาแฟให้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ตำบลบาตงแห่งนี้ ถือเป็นแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟโรบัสต้า ภายใต้ระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมผลัดดันให้ส่งเสริมอาชีพการปลูกกาแฟ เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ประชาชนสามารถสร้างรายได้ได้เป็นอย่างดี รวมทั้ง พัฒนาสายพันธุ์กาแฟที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีและเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และไม่ต้องนำพันธุ์ต้นกาแฟจากพื้นที่อื่นเข้ามาส่งเสริมการเพาะปลูกให้กับเกษตรกร อีกด้วย 

ในการนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร กล่าวว่า วันนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งในการสนับสนุนการปลูกและผลิตกาแฟโรบัสตาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ บริเวณที่เรามาเยือนในครั้งนี้เรียกว่าบ้านบาตง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และที่เห็นต้นกาแฟทั้งหมดนี้คือต้นกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า ซึ่งเมื่ออดีตได้ปลูกกันมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันและได้พัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับตลาดที่ต้องการ และแปลงปลูกกาแฟแห่งนี้มีการปลูกแซมกับต้นยางพารา ถือเป็นสิ่งสิ่งมหัศจรรย์มาก เพราะปกติแล้วกาแฟจะให้ผลผลิตเมื่อเราเริ่มปลูกครั้งแรกคือ 3 ปี แต่พื้นที่ตรงนี้ปลูกแค่ 2 ปีก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว และให้ผลผลิตปีละ 2 ครั้ง ถือเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งในวันข้างหน้าอาจจะมาแทนที่พืชชนิดอื่น ๆ และสามารถสร้างรายได้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี โดยที่ผ่านมา ศอ.บต. ได้เข้ามาส่งเสริมความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ให้ปลูกต้นกาแฟมีคุณภาพ วิสาหกิจชุมชนได้นำไปแปรรูป และนักดื่มกาแฟยืนยันว่าคุณภาพดี โดยการันตีด้วยรสชาติ “นุ่ม รสดี ศรีบาตง” รวมถึงผลผลิตค่อนข้างสูง และมีผลโตทำให้เมล็ดกาแฟมีคุณภาพดีและที่สำคัญในอนาคตภาคเอกชนจะเข้ามาร่วมมือนั่นคือ Cafe Amazon เพื่อช่วยพัฒนาการผลิตในการปลูกบำรุงรักษา หากมีคุณภาพดีก็จะรับซื้อ วันนี้ ศอ.บต. เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุน พร้อมมอบความรู้การปลูกต้นกาแฟให้มีคุณภาพแก่สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เครือข่ายเกษตรกร โดยเน้นกลุ่มที่ทำอยู่แล้วและต้องการคุณภาพมาก่อนปริมาณ หากว่ารวมกลุ่มกันให้เข้มแข็งคิดว่าผลผลิตจะเพียงพอระดับหนึ่งในเชิงพาณิชย์ในอนาคตต่อไป

ด้าน เกษตรกร ผู้ปลูกต้นกาแฟ ในพื้นที่ กล่าวขอบคุณ ศอ.บต. ที่ผ่านมาได้มอบความรู้วิธีการปลูก การรักษา การบำรุง รวมถึงการตกแต่งกิ่งของต้นกาแฟ เพื่อให้เจริญเติบโตให้มีคุณภาพ พร้อมได้สนับสนุนหลายๆ อย่างให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถมีผลผลิตจากต้นกาแฟ และจำหน่ายได้ ปัจจุบันมีการจำหน่ายทั้งในโลกออนไลน์ และในชุมชน ภายใต้ชื่อ SAMAWEE COFFEE มีทั้งแบบคั่วอ่อน คั่วกลางและคั่วเข้ม และเป็นที่ยอมรับของตลาดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะวัยรุ่นในชุมชนนิยมหันมาบริโภคกาแฟมากยิ่งขึ้น ทำให้ตนเองและครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย 

จากนั้น เลขาธิการ ศอ.บต. เยี่ยมสถานที่เพาะพันธุ์ต้นกล้ากาแฟซึ่งเป็นบ้านของนางซารีฮะ สะมาวี เกษตรกรต้นแบบ  เพื่อชมวิธีการนำเมล็ดกาแฟไปเพาะโดยใช้ระยะเวลา 2 เดือนกว่าจะงอกเป็นต้นกล้า และนำไปจำหน่ายให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ร่วมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจนำไปเพาะปลูก ก็สามารถซื้อไปปลูกได้ ในราคาต้นละ 25 บาท จากนั้นได้ชมวิธีสาธิตการบดเมล็ดกาแฟ และนำเมล็ดกาแฟที่บดแล้วไปบรรจุใส่ถุงเพื่อนำไปจำหน่าย ตลอดจนเยี่ยมชนศูนย์วิสาหกิจชุมชนที่กำลังก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆนี้ และศูนย์แห่งนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกต้นกาแฟ และเป็นที่รวมของกลุ่มประชาชนทุกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ชอบดื่มกาแฟ ได้ร่วมพบปะพูดคุยต่าง ๆ   

สำหรับกาแฟโรบัสต้ามีการปลูกอย่างแพร่หลายในภาคใต้ และกาแฟต้นแรกของในภาคใต้ถูกปลูกที่อำเภอสะบ้าย้อย โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำรัสในครั้งเสด็จปฏิบัติพระราชกรณียกิจและเยี่ยมเยียนพสกนิกรและข้าราชการณ์ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเสริมอาชีพการปลูกกาแฟเป็นอาชีพเสริม ในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาพันธุ์กาแฟให้เหมาะสมกับภูมิศาสตร์พื้นที่ ในการสนองพระราชดำรัสสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนโครงการพัฒนา การปลูกและการผลิตกาแฟโรบัสต้า ภายใต้ระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่าง ศอ.บต. สภาเกษตรกรแห่งชาติ และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก โดย Cafe Amazon เพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันนิยมปลูกในสวนที่ผสมผสานกับพืชชนิดอื่น ตามพื้นที่ว่าง ส่วนใหญ่ อยู่ในพื้นที่ อ.เบตง อ.ธารโต จ.ยะลา อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา และอ.รือเสาะ จ.นราธิวาส

‘Darra Adam Khel’ เมืองเล็กๆ ในประเทศปากีสถาน ชุมชนแหล่งผลิต-จำหน่าย ‘อาวุธปืน’ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

Darra Adam Khel แห่งช่องเขา Khyber 
เมืองวิสาหกิจชุมชนของแท้… ผลิตและจำหน่ายอาวุธปืน!!

จากข่าวของนักการเมืองคนหนึ่งถือกระป๋องเบียร์ยี่ห้อที่เอาชื่อจังหวัดมาตั้ง แล้วโฆษณาออกสื่อ* ว่า เป็นของดีประจำจังหวัด แต่เบียร์ดังกล่าวนั้นกลับไม่ได้ผลิตในจังหวัดนั้นแต่อย่างใด เพราะผู้จัดจำหน่ายไปจ้างบริษัทรับผลิต OEM เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผลิตในอีกจังหวัดหนึ่ง เบียร์ที่ว่า จึงไม่ใช่วิสาหกิจชุมชนของจังหวัดแต่อย่างใด เลยขอนำเสนอเรื่องราวของวิสาหกิจชุมชนแท้ ๆ ที่อยู่ในประเทศปากีสถานให้ผู้อ่านได้ทราบพอสังเขป

*การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกสื่อเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

หากพูดถึงร้านค้า โรงงานผลิตอาวุธปืนและกระสุนแล้ว ผู้คนมากมายต่างพากันเข้าใจและนึกถึงแต่ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ประชาชนครอบครองปืนได้อย่างเสรี และมีจำนวนปืนที่ประชาชนครอบครองมากที่สุดในโลก ซึ่งน่าจะมีร้านค้าและโรงงานผลิตอาวุธปืนมากที่สุดในโลกด้วย หรือไม่ว่าจะเป็นจีน และรัสเซีย ต่างก็เป็นประเทศผู้ผลิตอาวุธปืนรายใหญ่เช่นกัน หรือแม้กระทั่ง เยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ หรือตุรกี แต่เปล่าเลย ประเทศที่มีโรงงานผลิตอาวุธปืนมากรายที่สุดในโลก กลับกลายเป็นประเทศปากีสถาน ประเทศมุสลิมในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยเมืองเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า ‘Darra Adam Khel’ อยู่ระหว่าง Kohat และ Peshawar ในเขต Kohat Khyber Pakhtunkhwa ของประเทศปากีสถาน ใกล้ ๆ ชายแดนประเทศอัฟกานิสถาน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ แต่เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของ ‘Federally Administered Tribal Areas’ (FATA) เมืองที่มีพลเมืองไม่ถึงหนึ่งแสนคน แต่มีวิสาหกิจชุมชนและร้านขายปืนมากถึงสองพันแห่ง มีช่างทำปืนราว 25,000 คน (ราวหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งเมือง) จึงน่าจะเป็นเมืองที่มีโรงงานและร้านขายปืนมากที่สุดในโลก และยังเป็นที่ตั้งของตลาดอาวุธปืนที่มีอายุกว่า 150 ปีอีกด้วย

เมือง Darra Adam Khel ประกอบด้วยถนนสายหลักสายหนึ่งที่เรียงรายไปด้วยร้านค้าหลายแห่ง ในขณะที่ตรอกซอยและถนนด้านข้างมีโรงงานผลิตอาวุธปืนอยู่มากมาย มีการผลิตอาวุธปืนหลากหลายประเภทในเมือง ตั้งแต่ปืนต่อสู้อากาศยานไปจนถึงปืนปากกา รวมไปถีงกระสุนปืน อาวุธปืนทำมือโดยช่างฝีมือแต่ละคนที่ใช้เทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิม ซึ่งมักจะตกทอดจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก มีการทดสอบอาวุธปืนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการยิงเข้าบังเกอร์ทรายข้างโรงงานหรือยิงขึ้นฟ้า

เมืองนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายแดนอัฟกานิสถาน และอยู่ไม่ห่างจากทางหลวงที่มุ่งสู่กรุง Islamabad เมืองหลวงของประเทศ และอยู่ห่างออกมาประมาณ 20 นาทีจากเมือง Peshawar ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของภูมิภาคนี้ สันเขาที่อยู่ใกล้เคียงเป็นจุดเริ่มต้นของพื้นที่ชนเผ่ากึ่งปกครองตนเองของประเทศ ซึ่งกลุ่มนักรบที่อาศัยอยู่ท่ามกลางกลุ่มชาติพันธุ์ Pashtuns หรือ บ้านเราเรียกว่า ‘Pathans’ นับตั้งแต่ความพยายามของกองทัพในการจัดระเบียบเมืองใหม่ในยุค 2000 ชาว Darra Adam Khel ที่ถูกหมายหัวหลายคนได้พาไปกันอพยพไปอยู่ตามเทือกเขาต่าง ๆ แต่ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมืองนี้ยังคงเป็นอาวุธปืนและกระสุนปืน

ภาพวาดเหตุการณ์สังหารหมู่ในเมือง Amritsar

เรื่องราวความเป็นมาของการเป็นเมืองที่มีร้านค้าและโรงงานผลิตอาวุธปืนมากที่สุดในโลก ส่วนหนึ่งเกิดจากนักสู้ชาว Pashtuns ผู้หนึ่งที่ชื่อว่า ‘Ajab Khan Afridi’ ซึ่งอาศัยอยู่ในเขต Frontier Tribal (เขต Kohat Khyber Pakhtunkhwa ในปัจจุบัน) ของชนเผ่า Afridi ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ Pashtuns ในยุคที่อินเดียยังเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ และยังไม่แบ่งแยกกันระหว่างอินเดียและปากีสถาน หลังจากการสังหารหมู่ในเมือง Amritsar อันเนื่องมาจากการที่ชาวอินเดียนับหมื่นคนชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามของรัฐบาลอินเดียภายใต้จักรวรรดิอังกฤษ กองทหารอังกฤษ-อินเดีย (British Indian Army) จึงทำการล้อมยิงผู้ประท้วงดังกล่าว ในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) ทำให้ชาวอินเดียเสียชีวิตไปจำนวนมาก โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตไม่ยืนยันชัดเจน (ประมาณ 379 จนถึง 1,500 คน) สร้างความโกรธแค้นให้ชาวอินเดียเป็นอย่างมาก เหตุการณ์ครั้งนั้นยังคงตราตรึงอยู่ในใจของผู้คน อีกทั้งความเกลียดชังต่ออังกฤษก็เพิ่มสูงขึ้น ยาวนานต่อเนื่องหลายสิบปีต่อมาจนกระทั่งอินเดียและปากีสถานได้รับเอกราช

Ajab Khan Afridi

เหตุการณ์สังหารหมู่ในเมือง Amritsar ทำให้กลุ่มต่อต้านอังกฤษกลุ่มเล็ก ๆ จากเผ่า Afridi, Shinwari และ Mohmand เกิดขึ้น ต่อมามีการ บุกเข้าไปในคลังอาวุธของหน่วยทหารม้าของกองทหารอังกฤษ-อินเดียที่ประจำอยู่ในเขต Kohat แล้วขโมยปืนยาวไปราว 100 กระบอก กลุ่ม Afridi ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ปฏิบัติการ ทำให้ Ajab Khan ผู้นำกลุ่ม ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์นี้ ดังนั้น หมู่บ้านของเขาจึงถูกปิดล้อมโดยกำลังทหารและตำรวจของอังกฤษ แต่ Ajab Khan ไม่ได้อยู่ในหมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกในกลุ่มของเขาบางคนพยายามหลบหนี โดยปลอมตัวเป็นผู้หญิง ผู้บัญชาการกองกำลังจึงสั่งให้ทำการตรวจค้นผู้อยู่อาศัยทั้งหมด รวมทั้งผู้หญิงด้วย แต่ก็ไม่พบร่องรอยของปืนที่ถูกขโมย การตรวจค้นผู้หญิงถือเป็นการละเมิด ‘Purdah’ (ความเคารพ) และถูกมองว่าเป็นการดูหมิ่นอย่างยิ่ง

อนุสาวรีย์ Ajab Khan Afrid ในเมือง Darra Adam Khel

Ajab Khan ซึ่งต้องการแก้แค้น จึงร่วมกับพรรคพวกได้บุกเข้าไปในค่าย Kohat เข้าไปในบ้านของพันตรี Ellis แต่เขาไม่อยู่ และภรรยาของพันตรี Ellis ขัดขืนจึงถูกแทงเสียชีวิต และได้ลักพาตัว Molly ลูกสาวของพันตรี Ellis ไป ต่อมา Molly ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่เป็นอันตรายใด ๆ Ajab Khan และพรรคพวกยังได้ต่อสู้กับกองทหารอังกฤษ-อินเดียอีกหลายครั้ง และหลบหนีไปอยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจนวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) Ajab Khan Afridi ได้เสียชีวิตลง ขณะอายุ 95 ปี ในเมือง Mazar-i-Sharif ในจังหวัด Balkh ของอัฟกานิสถาน และเป็นตำนานชีวิตของวีรบุรุษนักสู้ชาว Pashtuns แห่งเมือง Darra Adam Khel นับแต่นั้นเป็นต้นมา

โดยที่เมือง Darra Adam Khel อยู่ในภูมิภาคซึ่งยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของชนเผ่าท้องถิ่น ทำให้เมืองนี้มีกฎหมายพิเศษเกี่ยวกับอาวุธปืน เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนที่เหลือของประเทศปากีสถาน ประชากรส่วนใหญ่ที่นี่ทำหรือขายสิ่งเดียวเท่านั้น นั่นคือ ‘อาวุธปืน’ ในขณะที่ธุรกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของชาวเมืองนี้คือ ‘การขนส่ง’ ไม่ว่าลูกค้าต้องการอาวุธปืนเลียนแบบ Beretta หรือ ปืนยิงเร็ว AK-47 ที่มีการ ‘รับประกัน’ ว่าใช้งานได้ดีเหมือนของแท้ แต่จำหน่ายในราคาเพียงเศษเสี้ยว ไม่ต้องมองหาอาวุธปืนราคาถูกคุณภาพดีจากที่ไหนเลย นอกจากเมือง Darra Adam Khel ซึ่งอยู่ใกล้กับอัฟกานิสถาน ประเทศที่มีความขัดแย้งรุนแรง และมีการใช้อาวุธปืนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ที่นี่ ในเมือง Darra Adam Khel จะสามารถพบกับอาวุธปืนของแท้ ควบคู่ไปกับอาวุธปืนที่ผลิตเลียนแบบเกือบทุกอย่างที่นักรบอิสระอาจต้องการ ไม่ว่าจะเป็น Kalashnikovs (AK-47), M16, Glock ปืนพกกึ่งอัตโนมัติ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ในราคาถูกมาก ในยุครุ่งเรือง เมือง Darra Adam Khel เป็นที่หลบภัยของคนเร่ร่อน พ่อค้ายา และผู้ลี้ภัยต่าง ๆ โดยตำรวจปากีสถานไม่สามารถปฏิบัติการในพื้นที่นี้ได้ กระทั่งมีการปราบปรามโดยกองทัพปากีสถาน จึงทำให้ธุรกิจอาวุธปืนซบเซาลง แต่บรรดาพ่อค้าที่นั่นยืนยันว่า พวกเขาไม่ได้วิตกกังวลแต่อย่างใด ‘Azmatullah Orakzai’ เจ้าของร้านวัย 31 ปี กล่าวกับนักข่าวว่า “ผู้คนมักต้องการปืน”

ปืนไรเฟิลอัตโนมัติ M16 ‘Darra copy’ เลียนแบบและผลิตในเมือง Darra Adam Khel

ปืนไรเฟิลอัตโนมัติ M16 ซึ่งไม่ใช่ปืนดั้งเดิมของอเมริกา แต่เป็นของเลียนแบบจากจีน จะมีราคา 180,000 ถึง 230,000 รูปี ($1,800 ถึง $2,300) แต่ที่เลียนแบบและผลิตในท้องถิ่นเรียกว่า ‘Darra copy’ จะมีราคาเพียง 30,000 ถึง 80,000 รูปี ($300 ถึง $800) เท่านั้น

อาวุธปืน Glock ‘Darra copy’ ที่ทำเลียนแบบ ‘โครงปืน’ (Frame) เป็นพลาสติกใส

Orakzai กล่าวว่า “ปืนเลียนแบบ Glock ราคาเพียง 30,000 ถึง 35,000 รูปี” ปืนพกกึ่งอัตโนมัติของออสเตรียที่สามารถซื้อได้ในราคาต่ำกว่า $350

แล้ว ‘ปืน AK-47’ หรือ ‘Kalashnikov’ ตัวโปรดของกองโจรทั่วโลกล่ะ? Orakzai บอกว่าของแท้จะมีราคา 80,000 ถึง 200,000 รูปี ($800 ถึง $2,000) เขานำปืน AK-47 ยุคโซเวียตออกมาแสดงอย่างภาคภูมิใจ ปืน AK-47 ปี ค.ศ. 1971 ของอดีตสหภาพโซเวียต 8 ปี ก่อนที่อัฟกานิสถานจะถูกกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตรุกราน เครื่องหมายบนปืนเป็นภาษารัสเซีย แต่ของเลียนแบบราคาเพียง 7,000 ถึง 25,000 รูปี ($70 ถึง $250) เทียบกับเคบับแพะหนึ่งกิโลกรัม ซึ่งเป็นอาหารกลางวันสำหรับ 4 คนในราคา $20

โรงงานผลิตปืนแห่งหนึ่งในจำนวนหลายร้อยหรืออาจจะเป็นพันแห่งในเมือง Darra Adam Khel

การใช้เลเซอร์ในการเขียนตัวอักษรและแกะลายบนอาวุธปืน

การผลิตกระสุนปืนในเมือง Darra Adam Khel

ส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมอาวุธปืนของเมือง Darra Adam Khel ยังคงดำรงคงอยู่ได้ เพราะความขัดแย้งที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในประเทศอัฟกานิสถาน อาวุธปืนเหล่านี้ได้รับความนิยมอย่างมากมาย ขายเป็นประจำและขายเป็นจำนวนมากให้กับ ‘มูจาฮิดีน’(ขบวนการประชาชนมุญาฮิดีนอิหร่าน หรือ กองกำลังเพื่อการปลดปล่อยแห่งชาติอิหร่าน) ในอัฟกานิสถาน ช่วงสงครามโซเวียต-อัฟกานิสถาน (พ.ศ. 2522-2532) ทุกวันนี้ ความต้องการก็ยังคงมีอยู่และดำเนินต่อไป พร้อมกับการถือกำเนิดของการผลิตอาวุธปืนที่ทันสมัยมากขึ้น การนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัยเข้ามา อาทิ การใช้เลเซอร์ในการเขียนและแกะลายอาวุธปืน ตลอดจนการผลิตกระสุนปืนอีกด้วย นอกจากนั้นแล้วอาวุธปืนและกระสุนปืนของกองกำลังสหรัฐฯ และ NATO ที่เคยประจำอยู่ในอัฟกานิสถานที่ถูกทิ้งไว้มากมายมหาศาลก็ถูกลักลอบนำออกมาจำหน่ายในปากีสถาน ซึ่งรวมถึงเมืองแห่งนี้ด้วย เพราะรัฐบาลตาลีบันของอัฟกานิสถานห้ามประชาชนชานอัฟกันครอบครองอาวุธปืนและกระสุนปืนที่กองกำลังสหรัฐฯ และ NATO ทิ้งไว้ ด้วยถือว่าอาวุธปืนและกระสุนปืนเหล่านั้นเป็นสมบัติของรัฐบาลโดยปริยาย

อาวุธปืนไทยประดิษฐ์ ขนาด 12 (ลูกซอง) นัดเดียวบรรจุเดี่ยว

สำหรับบ้านเราแล้ว ฝ่ายที่คัดค้านหรือเห็นต่าง ซึ่งเป็นบรรดาผู้ที่ไม่ชอบอาวุธปืนก็จะให้เหตุผลว่า เรื่องของอาวุธปืนเป็นเรื่องไม่ดี เพราะอาวุธปืนถูกนำไปใช้เข่นฆ่าเพื่อคร่าชีวิต ทำร้ายผู้คน แต่ฝ่ายที่เห็นด้วยก็ให้เหตุผลว่า ปืนก็เหมือนกับหลายสิ่งหลายอย่างบนโลกนี้ ตัวอย่างเช่น มีดเล่มหนึ่ง… ถ้านำไปใช้งานต่าง ๆ เพื่อการทำอาหาร หรือทำประโยชน์อื่น ๆ ก็ไม่ได้มีพิษภัยอันตรายแต่อย่างใด แต่เมื่อใดที่มีดเล่มนั้นถูกนำไปใช้ทำร้ายผู้คน เมื่อนั้นมีดเล่มเดียวกันนี้เอง ก็กลายเป็นอาวุธร้ายไป เช่นเดียวกับอาวุธปืน ซึ่งถูกผลิตออกมาโดยความมุ่งหมายเพื่อให้สุจริตชนเอาไว้ใช้ป้องกันชีวิต และทรัพย์สินจากภยันตรายต่าง ๆ รวมไปถึงใช้ในการป้องกันชาติบ้านเมืองจากอริราชศัตรู ซึ่งถือว่ามีคุณประโยชน์ เป็นเรื่องเชิงบวก หากแต่อาวุธปืนถูกทุจริตชนนำไปใช้ก่ออาชญากรรมต่าง ๆ ก็กลายเป็นพิษภัยร้ายแรงต่อผู้คนและสังคมไปได้

วังบูรพาแหล่งรวมร้านค้าอาวุธปืนของไทย

ทุกวันนี้การครอบครองอาวุธปืนอย่างถูกต้องตามกฎหมายในบ้านเราต้องขออนุญาตซื้อ (ป.3) และครอบครอง (ป.4) จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ไม่สามารถพกพานำติดตัวโดยไม่มีเหตุอันควรได้ ซึ่งการพกพาต้องมีใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน (ป.12) จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีแต่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเท่านั้น ที่จะมีสิทธิพกพาอาวุธปืนในขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ อีกทั้งอาวุธปืนที่ขายในประเทศทุกวันนี้ก็มีราคาแพงมาก ๆ ราคาขายปลีกอาวุธปืนในไทยสูงกว่าราคาขายปลีกอาวุธปืนในสหรัฐอเมริกามากกว่า 5 เท่าขึ้นไป อันเนื่องมาจากการจำกัดโควตาการนำเข้าอาวุธปืนของร้านค้าอาวุธปืน ที่สามารถสั่งนำเข้าอาวุธปืนมาจำหน่ายใบอนุญาตร้านค้าละ 30 กระบอกสำหรับอาวุธปืนสั้น และ 50 กระบอกสำหรับอาวุธปืนยาว (รวมปืนลูกซอง) ต่อปี จึงทำให้อุปสงค์ของอาวุธปืนสูงกว่าอุปทานมาก จนส่งผลให้ราคาของอาวุธปืนในบ้านเรามีราคาสูงมาก ๆ

ปืนเล็กกลแบบ 11 (Heckler & Koch HK33) ผลิตอาวุธปืนโดยกรมสรรพาวุธทหารบก กองทัพบกไทย

ประเทศไทยมีการผลิตอาวุธปืนโดยกรมสรรพาวุธทหารบก กองทัพบกไทย โดยได้ซื้อสิทธิบัตรเพื่อนำมาผลิตเอง โดยผลิตปืนเล็กกลแบบ 11 (Heckler & Koch HK33) เอง และเคยผลิตปืนพกทั้งจากการซื้อลิขสิทธิ์และเลียนแบบ แต่ยังมีอุตสาหกรรมเอกชนไทยผลิตอาวุธปืนได้สำเร็จในเชิงธุรกิจ เหมือนกับวิสาหกิจชุมชนของเมือง Darra Adam Khel ประเทศปากีสถานเลย หากพิจารณาจากกรณีวิสาหกิจชุมชนผลิตอาวุธปืนของปากีสถานแล้ว การผลิตอาวุธปืนไม่ใช่สิ่งที่ยากเย็นสำหรับวงการอุตสาหกรรมของบ้านเราแต่อย่างใด เพียงแต่ยังขาดความเข้าใจและการสนับสนุนในการเข้าถึงโอกาส สำหรับอุตสาหกรรมประเภทนี้ของประเทศไทยเท่านั้นเอง

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งในการที่ทางการปากีสถานยังปล่อยให้วิสาหกิจชุมชนผลิตอาวุธปืนและกระสุนปืนของเมือง Darra Adam Khel ดำรงคงอยู่ก็คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างปากีสถานและอินเดีย ซึ่งยังมีอยู่เป็นระยะ ๆ การมีวิสาหกิจชุมชนผลิตอาวุธปืนและกระสุนปืนในประเทศนั้น ถือเป็นการเสริมสร้าง "ศักย์สงคราม" หรือความสามารถในการทำสงครามของปากีสถานไปโดยปริยาย ปากีสถานซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรน้อยกว่าอินเดีย 5 เท่า กองทัพจึงมีขนาดเล็กกว่าไปด้วย แต่กองทัพปากีสถานก็มีความพร้อมบวกกับกองทัพอินเดียโดยตลอด วิสาหกิจชุมชนผลิตอาวุธปืนและกระสุนปืนของเมือง Darra Adam Khel จึงมีทั้งคุณและโทษ โดยที่คุณค่าที่มีนั้นยังคงจำเป็นต่อความมั่นคงของปากีสถานทำให้วิสาหกิจดังกล่าวจึงดำรงคงอยู่ได้จนทุกวันนี้ และต่างจากบ้านเราที่ยังต้องสั่งนำเข้าทั้งอาวุธของกองทัพ ตำรวจ และพลเรือน

‘ปตท.’ ผนึกกำลังวิสาหกิจชุมชน จ.แพร่ เดินหน้าปลูกป่าล้านที่ 2 ตั้งเป้า 8,000 ไร่ ในปี 66

เมื่อไม่นานมานี้ นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้อำนวยการสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาพื้นที่ปลูก และบำรุงรักษา ปี 2566 ในพื้นที่แปลงปลูกป่า อำเภอสอง จังหวัดแพร่ จำนวน 8,000 ไร่ ระหว่าง ปตท. กับ วิสาหกิจชุมชนคนก้นต้อรักษ์ป่าแม่สอง ตำบลเตาปูน จำนวน 5,000 ไร่ และ วิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ส่งเสริมการปลูกป่า ตำบลห้วยหม้าย จำนวน 3,000 ไร่

โดยมี นายวิชัน ใจเขม็ง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนก้นต้อรักษ์ป่าแม่สอง ต.เตาปูน อ.สอง จ.แพร่ นายชัยณรงค์ สุปินะ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ส่งเสริมการปลูกป่า ต.ห้วยหม้าย อ.สอง จ.แพร่ และนางเยาวลักษณ์ ชูโชติ ผู้จัดการฝ่ายปลูกป่าและบำรุงรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ปตท. ร่วมลงนาม โดยมีนายศุภชัย บุญทิพย์ นายอำเภอสอง และนายสงคราม ขาวสะอาด ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 สาขาแพร่ กรมป่าไม้ และนายณัฐพล ทองไหล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีดังกล่าว 

ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนทั้ง 2 กลุ่ม จะดำเนินการปลูก ในปี พ.ศ. 2566 และจะร่วมกันบำรุงรักษาป่าอย่างต่อเนื่อง ในปี 2567 - 2575 รวมระยะเวลา 10 ปี

'รมว.พีระพันธุ์' มอบนโยบายพลังงานสู่ 7 จังหวัดภาคใต้ ช่วยชาวบ้านเข้าถึง 'พลังงานทดแทน' ต่อยอดวิสาหกิจชุมชน

(24 ม.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการมอบนโยบายให้กับพลังงานจังหวัดทั้ง 7 จังหวัดที่เข้าร่วมนำเสนอผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชน โดยให้พลังงานจังหวัดเป็นตัวแทนของกระทรวงพลังงานในการสำรวจพื้นที่ต่างๆ รวมถึงสอบถามความต้องการของประชาชนในส่วนที่กระทรวงพลังงานจะสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้

ทั้งนี้ หลายวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีและความรู้จากพลังงานจังหวัด ทำให้ชาวบ้านสามารถแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จนทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานทดแทนให้กับประชาชน จึงมีความสำคัญ และเป็นหน้าที่ที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานจังหวัดต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ 

ดังนั้น จึงต้องการให้พลังงานจังหวัดทุกจังหวัดช่วยกันสำรวจพื้นที่ ทำหน้าที่ใกล้ชิดประชาชน รวมถึงพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เพื่อให้ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีรายได้จากการใช้เทคโนโลยีพลังงาน 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top