Monday, 20 May 2024
วันแรงงานแห่งชาติ

1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น ‘วันแรงงานแห่งชาติ’ ระลึกถึงความสำคัญผู้ใช้แรงงาน

ทุกวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น 'วันแรงงานแห่งชาติ' หรือที่เรียกว่า 'Labour Day' ถือเป็นวันหยุดประจำปีที่มีผลมาจากการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน เพื่อเฉลิมฉลองผลงานทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ใช้แรงงาน

ในสมัยก่อนประเทศแถบยุโรปจะถือเอา 'วันเมย์เดย์' (May Day) เป็นวันเริ่มต้นฤดูใหม่ทางเกษตรกรรม จึงมีพิธีเฉลิมฉลองและทำการบวงสรวงขอให้ปลูกพืชได้ผลดี รวมถึงขอให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข อีกทั้งทางภาคเหนือของยุโรปก็จะมีการจัดงานรอบกองไฟในวันนี้ด้วย ซึ่งประเพณีนี้ในประเทศอังกฤษก็ยังมีสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ 

จากตอนแรกที่เป็นเพียงวันหยุดพักผ่อนประจำปี ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศจึงถือเป็นวันหยุดตามประเพณีทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตือนใจให้ประชาชนตระหนักถึงผู้ใช้แรงงานที่ได้ทำประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ 

ความหมายของ วันเมย์เดย์ (May Day) จึงเปลี่ยนไปจากเดิม จนเมื่อปี พ.ศ. 2433 ได้มีการเรียกร้องในหลายประเทศทางตะวันตกให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม เป็น 'วันแรงงานสากล' ทำให้หลายประเทศได้เริ่มฉลองวันแรงงานเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 และได้สืบทอดมาจนถึงในปัจจุบัน 

ในประเทศไทย เมื่ออุตสาหกรรมได้ขยายตัวขึ้น ผู้ใช้แรงงานมีปัญหามากขึ้น รวมทั้งแรงงานมีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น จึงทำให้ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยริเริ่มมีการบริหารจัดการแรงงาน เพื่อสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

กระทั่งวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2499 คณะกรรมการการจัดงานที่ระลึก ได้จัดประชุมขึ้น พร้อมทั้งมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็น 'วันที่ระลึกแรงงานไทย'

นายกฯ ส่งความปรารถนาดีถึงผู้ใช้แรงงานทั่วไทย ย้ำ!! ทุกคนล้วนมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

(1 พ.ค. 66) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวปราศรัยเนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ใช้แรงงานทุกคน เผยแพร่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและสถานีโทรทัศน์ต่างๆว่า เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 ขอส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดีมายังผู้ใช้แรงงานทุกคน ย้ำผู้ใช้แรงงานทุกคนถือเป็นบุคลากรที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศที่ต้องได้รับการดูแลเพื่อยกระดับคุณชีวิต พร้อมทั้งพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสร้างความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที

ในนามของรัฐบาลขอชื่นชมทุกภาคส่วนและขอบคุณผู้ใช้แรงงานทุกคน ที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ตลอดจนมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของตน เพื่อเป็นแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคธุรกิจบริการมาโดยตลอด จนทำให้ประเทศของเราเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ พร้อมทั้งสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงท่ามกลางวิกฤติการณ์ของสังคมโลก

ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน ชี้ ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องดูที่ปากท้องของลูกจ้าง ย้ำ!! ไม่ใช่ยึดตามกำลังจ่ายของนายจ้าง มิเช่นนั้น จะไม่ใช่ค่าจ้างขั้นต่ำ 

(1 พ.ค. 67) ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคมของทุกปี กรณีกระทรวงแรงงานประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นครั้งที่ 3 ว่า 

ในความเห็นส่วนตัว มองว่าประกาศกี่ครั้งไม่สำคัญ เพียงแต่การประกาศในครั้งที่ผ่านมา ที่มีผลบังคับเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2567 เกณฑ์การปรับค่าจ้างขั้นต่ำนั้นได้ทำลายหลักการของค่าจ้างขั้นต่ำ คือ 1.การปรับค่าจ้างขึ้นในบางพื้นที่ บางอำเภอ ทั้งๆ ที่ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดนั้นๆ ต่างก็มีค่าครองชีพไม่ต่างกัน และ 2.การปรับขึ้นเฉพาะกิจการที่ทำเงินได้

“ทั้งสองอย่างนี้เป็นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยอาศัยความพร้อมของเจ้าของกิจการ แต่ตามหลักการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องดูจากความจำเป็นของลูกจ้างเป็นตัวตั้ง ถ้าหากเขาเดือดร้อน เจ้าของกิจการก็ต้องจ่ายเงินให้เพียงพอต่อปากท้องของลูกจ้าง อย่างในครอบครัวเดียวกัน คนหนึ่งทำงานในกิจการที่มีการเติบโต อีกคนอยู่ในกิจการที่ไม่เติบโต แต่ทั้งหมดก็ยังอยู่บ้านเดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน แต่ค่าจ้างกลับไม่เท่ากัน เพราะเอาความพร้อมของนายจ้างเป็นตัวกำหนด แบบนี้ไม่ใช่ค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้าจ่ายตามกำลังของนายจ้าง แบบนี้เรียกว่า การขึ้นเงินเดือนตามปกติของนายจ้าง ไม่ใช่ค่าจ้างขั้นต่ำ” ศาสตราภิชาน แล กล่าว

ศาสตราภิชาน แล กล่าวอีกว่า วันนี้กระบวนการแรงงานควรใส่ใจประเด็นนี้ให้มาก เพราะไม่เช่นนั้นการขึ้นค่าจ้างจะกลายเป็นการยึดตามกำลังจ่ายของนายจ้างเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ปากท้องของลูกจ้างเป็นตัวตั้งอีกต่อไป นอกจากนั้น นายจ้างหลายคนยังเอาค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นค่าจ้างขั้นสูงของแรงงาน จะเห็นได้ว่า แรงงานหลายคนทำงานหลายปี แต่เงินค่าจ้างก็ยังได้เท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ

“ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้มีตัวเลขในการกำหนดค่าจ้างที่ต่ำที่สุดที่นายจ้างต้องจ่าย หากจ่ายต่ำกว่านั้น จะผิดกฎหมาย แต่กลับกลายเป็นนายจ้างหลายคนเอาตัวเลขนั้นมาเป็นค่าจ้างขั้นสูงของแรงงาน ดังนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำก็ยังมีความสำคัญอยู่ แต่หลักการถูกบิดเบือนไปมาก โดยเฉพาะหลักเกณฑ์คำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่เอาตัวเลขทางเศรษฐกิจมาเป็นตัวกำหนด แต่หากดูในรายละเอียด พบว่าคนที่มีกำลังซื้อมาก ก็จะได้สินค้าในราคาที่ต่ำลง เช่น แรงงานที่รายได้น้อย มีเงินซื้อข้าวสารได้ทีละลิตร ในขณะที่คนมีรายได้สูง สามารถซื้อข้าวได้เป็นกระสอบ ซึ่งราคากระสอบก็ถูกกว่าราคาลิตร สิ่งเหล่านี้ต้องนำมาคิด เพราะถ้าดูค่าการเติบโตของจีดีพีประเทศที่สูงขึ้นจากรายได้ของนายทุน แต่ขณะที่จีดีพีของชาวบ้านไม่ได้ขึ้นตาม ดังนั้น เราต้องคุยกันในรายละเอียดมากขึ้น เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำก็ต้องมี แต่ไม่ใช่ยึดเป็นค่าจ้างขั้นสูง ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้มีการเรียกร้องของลูกจ้าง” ศาสตราภิชานแลกล่าว

‘ธนกร’ ฟาดใส่ ‘ชัยธวัช’ เอาแรงงานมาอ้าง หวังผลโจมตีทางการเมือง ชี้!! รัฐมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตปชช. ปรับค่าแรงทุกปี แต่ต้องดูให้รอบคอบ

(1 พ.ค. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) กล่าวว่ากระทรวงแรงงาน และรัฐบาลให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนภาคแรงงาน เพราะถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนของภาคอุตสาหกรรม การเกษตรและภาคท่องเที่ยว ล้วนต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือและมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งล่าสุดกระทรวงแรงงานได้ประกาศข่าวดีมาแล้วว่าเตรียมขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศในปีนี้และปรับขึ้นทุกปี โดยผ่านคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งจะดำเนินการเร็วขึ้นจากแผนงานที่วางไว้

นายธนกร กล่าวว่า จากกรณีที่ นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายเซีย จำปาทอง สส.พรรคก้าวไกล ออกมาโจมตีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน และนายกฯว่าให้ความหวังผู้ใช้แรงงานลมๆ แล้งๆ ไม่ทำตามที่หาเสียงไว้นั้น ตนมองว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่มีผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ ดังนั้น ฝ่ายการเมืองหรือ รมว.แรงงาน จึงไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ โดยรัฐบาลต้องดูให้รอบด้านไม่ใช่มองแค่ฝ่ายลูกจ้างอย่างเดียว ต้องดูถึงสภาพคล่องและกำลังทุนของนายจ้างและผู้ประกอบการรวมถึงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กันไปด้วย จึงทำให้คณะกรรมการไตรภาคีต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ อีกทั้งนายกฯและรัฐบาลก็ยึดนโยบายหลักที่ได้แถลงต่อสภาไว้ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องผู้ใช้แรงงานในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกปีอยู่แล้ว

“การที่พรรคก้าวไกล ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาล เร่งขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่หาเสียงไว้นั้น มองว่าเป็นการหวังดีประสงค์ร้าย นำผู้ใช้แรงงานมาบังหน้าเพื่อโจมตีทางการเมืองรัฐบาล เพราะถ้าหากกระทรวงแรงงาน เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซงคณะกรรมการไตรภาคี ให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างรวดเร็ว ย่อมจะถูกก้าวไกลโจมตีอีกเช่นกัน ซึ่งตามหลักการแล้ว ทุกรัฐบาลต้องหารือผ่านคณะกรรมการไตรภาคี และต้องคิดอย่างรอบคอบว่าผู้ประกอบการ จะได้รับผลกระทบแบกรับต้นทุนไหวหรือไม่ หากมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจนทำให้ต้นทุนการผลิตสูงเกินไปจน นายจ้างผู้ประกอบการ แบกรับไม่ไหว สุดท้ายผลกระทบก็จะกลับมาที่ผู้ใช้แรงงานอยู่ดี การโจมตีทั้งขึ้นทั้งล่องแบบนี้ จึงมองว่า ก้าวไกลนำความเดือดร้อนของประชาชนมาบังหน้าเพื่อหวังดิสเครดิตรัฐบาล จึงอยากถามกลับว่า เป็นการหวังดีต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานจริงๆ หรือไม่ หรือหวังผลทางการเมืองเพียงอย่างเดียว” นายธนกร ระบุ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top