Sunday, 16 June 2024
วรภพวิริยะโรจน์

‘ก้าวไกล’ ผุดไอเดียค่าไฟ ปลดล็อกสายส่ง ตัดวงจรนายทุน เปิดเสรีให้ ปชช.เลือกซื้อไฟฟ้าที่มีราคาถูกที่สุดได้เอง

‘วรภพ’ ชี้ รัฐบาลประยุทธ์ขึ้นค่าไฟ-ทิ้งทวนอนุมัติโรงไฟฟ้าอีก 763 เมกะวัตต์ เยอะเกินจำเป็น ยิ่งปล่อยให้มีรัฐบาลเอื้อทุนพลังงาน ยิ่งสร้างภาระประชาชน ชูนโยบายก้าวไกล ‘ปลดล็อกสายส่ง’ ประชาชนซื้อไฟฟ้าราคาถูกได้เอง-ลดค่าไฟ 70 สตางค์/หน่วย ภายใน 1 ปี

(25 มี.ค.66) นายวรภพ วิริยะโรจน์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ อดีต ส.ส. พรรคก้าวไกล กล่าวถึงปัญหาค่าไฟแพงว่า รัฐบาลเพิ่งประกาศขึ้นค่าไฟบ้านเรือนงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2566 อีก 5 สตางค์/หน่วย ทั้ง ๆ ที่ ราคาก๊าซ LNG นำเข้าที่รัฐบาลชอบอ้าง จะลดลงมาแล้ว 60% จากเมื่อสิ้นปี อีกทั้งปัญหาเดิมเรื่องประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าเยอะเกินความต้องการ 60% ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข รัฐบาลชุดนี้กลับทิ้งทวนก่อนหมดอำนาจด้วยการอนุมัติโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 763 เมกะวัตต์ และทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเอกชนยาวไปถึง 29 ปี ตามเอกสารแจ้งตลาดหลักทรัพย์ของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

นายวรภพ กล่าวว่า ตนต้องทวนย้ำอีกครั้ง เมื่อปี 2562 ก่อนการเลือกตั้ง 2 เดือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งประเคนสัญญาโรงไฟฟ้าให้เอกชนเพิ่ม 1,940 เมกะวัตต์ มาคราวนี้เลือกตั้งปี 2566 รัฐบาลเร่งอนุมัติโรงไฟฟ้าให้เอกชนเพิ่มแบบทิ้งทวนอีก ทั้ง ๆ ที่ปี 2561 และปี 2565 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดไป 58% จนกล่าวได้ว่า ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ 12 โรง แต่ 7 โรง ไม่ได้เดินเครื่องเลยแม้แต่วันเดียว

นายวรภพ กล่าวอีกว่า โรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น สุดท้ายก็จะเป็นประชาชนที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายจากสัญญาที่รัฐบาลทำไว้กับเอกชนตลอดระยะเวลา 29 ปี และยังเป็นการอนุมัติสัญญาโรงไฟฟ้าทิ้งทวนแบบเร่งรีบ โดยที่รัฐบาลเตะถ่วงการทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan) ให้ล่าช้ามาแล้ว 1 ปี จากที่ควรออกมาตั้งแต่ปี 2565 เพราะถ้านำข้อมูลจริงมาทบทวนก็จะรู้ว่ายังไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องอนุมัติโรงไฟฟ้าเพิ่มในวันนี้

ยังไม่นับแผนรับซื้อพลังงานทางเลือกจากเอกชนเพิ่มอีก 5,203 เมกะวัตต์ โดยรับซื้อจากเอกชนที่ทำโซลาร์ฟาร์ม ซึ่งเป็นโครงการโซลาร์ขนาดใหญ่ของเอกชน ไม่ใช่บนหลังคาชาวบ้าน ที่ 2.2 บาท/หน่วย รัฐบาลยังใจดีที่จะรับซื้อแพงกว่าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถผลิตได้เองที่ 1.5 บาท/หน่วย ยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้ต้นทุนของค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นในระยะยาว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top